27 กุมภาพันธ์ 2019
10 K

เมื่อพูดถึงสถาปนิก คนส่วนใหญ่จะนึกถึงงานออกแบบหรูหรา อาคารสูงเสียดฟ้า และบ้านหลังโตแสนสวย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนมีสตางค์และสไตล์คือลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ประกอบอาชีพนี้ แต่สถาปนิกที่เราจะพาคุณไปทำความรู้จักในบทความชิ้นนี้ทำงานออกแบบให้กับลูกค้าส่วนน้อย นั่นคือคนจน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ คือสถาปนิกชุมชนผู้ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีฐานะยากจน เธอคือผู้ก่อตั้ง CASE Studio ซึ่งย่อมาจาก Community Architects for Shelter and Environment อันมีความหมายตรงตัวกับรูปแบบของงาน ที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจทำมาตลอดระยะเวลา 20 ปี

ปฐมาได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นศิลปาธร ประจำปี 2553 สาขาสถาปัตยกรรม รางวัลสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีผลงานเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม รางวัล Japan Housing Association และเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ รางวัล arcVision ซึ่งมอบให้กับนักออกแบบหญิงที่มีผลงานโดดเด่นจากทั่วโลก

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปฐมาเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเป็นนักเรียนไทยคนแรกของหลักสูตร Development Practices ที่ Oxford Brookes University สหราชอาณาจักร

ด้วยดีกรีและโปรไฟล์ไม่ธรรมดา ปฐมาสามารถเลือกทำงานออกแบบที่เธอรักอย่างสุขสบายได้ แต่เธอกลับเลือกที่จะเดินทางบนเส้นทางที่เหนื่อยยากและแสนลำบาก ด้วยเหตุผลเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ว่า มันมี ‘บางสิ่ง’ ที่สำคัญกว่าเงินทอง

‘บางสิ่ง’ ที่ว่านั้นคืออะไร เราเชื่อว่าคุณจะพบคำตอบในบทสนทนาต่อไปนี้

และนี่คือเรื่องราวชีวิต ทัศนคติ และโครงการมากมายที่ปฐมาทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้อื่น เมื่องานออกแบบต่อยอดไปได้ไกลถึงการสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง

1

วิทยานิพนธ์ทำมือ คู่มือออกแบบสำหรับคนจน

ปฐมาเริ่มเล่าถึงหลักสูตร Development Practices ที่เธอไปร่ำเรียนมาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วว่า คนที่มาเรียนมาจากประเทศในยุโรปล้วนๆ มีนักเรียนจากแอฟริกาและอินเดียบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ทุนการศึกษามาเรียนเพื่อกลับไปพัฒนาประเทศ แต่ประเทศแถบบ้านเราไม่มีเลย เธอคือนักเรียนคนแรกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเรียนหลักสูตรนี้

สิ่งที่หลักสูตรนี้สอนมี 3 คอร์สหลักๆ ด้วยกันคือ

Housing The Poor การสร้างที่อยู่อาศัยให้คนยากคนจน ตั้งแต่สลัมไปจนถึงการเคหะแห่งชาติ ไม่ใช่การออกแบบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่แข่งกันฟู่ฟ่าแบบที่คุ้นตากัน

Refugee Study ศึกษาการจัดการกับผู้อพยพทั้งในเชิงกายภาพและจิตใจ ทำความเข้าใจตั้งแต่ชนวนเหตุของสงคราม ไปจนถึงการสร้างที่พัก (Shelter) ให้กับผู้อพยพ

และสุดท้าย Emergency Planning การจัดการและออกแบบวางผังในภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด หรือสงครามกลางเมือง

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ปฐมาอธิบายว่า “ทั้งสามคอร์สมีการใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แตกต่างกัน หลักสูตรนี้แม้จะอยู่ในโรงเรียนสถาปัตยกรรม แต่ด้วยความที่เป็น Post Graduate นักเรียนที่มาเรียนจึงมีพื้นฐานการทำงานกันมาอยู่แล้ว

  “โดยแต่ละคนก็มีความถนัดและมุมมองที่แตกต่างกัน คนที่พื้นฐานเป็นนักออกแบบหรือสถาปนิกอย่างเรา จะมองเรื่องการออกแบบเชิงกายภาพและเทคนิคในการก่อสร้างเป็นหลัก ในขณะที่คนที่มีพื้นฐานด้านอื่นๆ ก็จะมองต่างออกไปแม้จะเป็นโครงการเดียวกัน เช่น มองเชิงบริหารจัดการการเงิน หรือมองเชิงนโยบายระยะต่างๆ เป็นต้น”

ปฐมาเล่าต่อว่า “เพื่อนๆ ในชั้นเรียนเป็นซูเปอร์แมนกันทั้งนั้นเลย (ยิ้ม) คือเขาอินกับงานเชิงสังคมที่เน้นให้การช่วยเหลือคนจำนวนมากกันสุดๆ คอร์สแบบนี้ที่เมืองนอกเขาให้ความสำคัญกันมานานแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่เน้น

“อย่าง Emergency Planning จริงๆ แล้วสำคัญมากนะ เหตุการณ์ฉุกเฉิน บ้านโดนทำลายพังพินาศหมดแล้ว  ผู้คนสติกระเจิดกระเจิง จะทำอย่างไรต่อ เราควรจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ทำงานอยู่ในระบบมากกว่านี้ แต่เมืองไทยไม่มีหลักสูตรที่สอนเรื่องนี้เลยจนถึงทุกวันนี้”

ปฐมาเล่าว่า สมัยก่อนโน้นเธออ่อนภาษาอังกฤษมาก “เราพูดสื่อสารได้ ดูหนัง ดูละคร อะไรเข้าใจหมด แต่พอต้องมาอ่านและเขียนเอกสารวิชาการ ผลปรากฏว่าตายสนิท ถึงขั้นอาจารย์ฝรั่งเรียกไปถามว่า ยูทำทุกอย่างได้ดีหมด แต่ทำไมยูเขียน Academic ได้เลวร้ายขนาดนี้ (หัวเราะ)

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“จนผ่านมาอีกสักพัก ทางมหาวิทยาลัยจัดภาคสนามไปศึกษางานที่ประเทศเปรู เราสเกตช์และจดเลกเชอร์ทุกอย่างเป็นรูปภาพทั้งหมด อาจารย์จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มาร่วมทริปนี้ด้วยเห็นรูปแบบการทำงานแบบนี้ของเรา เขาก็ทึ่งและบอกว่ามันเป็นงานที่ดีมาก

“คณะอาจารย์เลยประชุมกันแล้วตกลงกันว่าในเมื่อเราเขียน Academic ไม่ได้ งั้นก็ไม่ต้องเขียน แต่ให้บอกเล่าและอธิบายงานออกมาในวิธีที่เราถนัดที่สุด นั่นก็คือการวาดรูป ดังนั้น วิทยานิพนธ์ของเราเลยไม่เหมือนคนอื่นเขา เป็นงานทำมือทั้งหมดตั้งแต่แบบไปจนถึงโมเดล”

วิทยานิพนธ์ปริญญาโทฉบับทำมือของปฐมา คือคู่มือการออกแบบสำหรับคนจนที่อ้างอิงคอนเซปต์จากการสร้างเรือนไทยเดิม ได้รับ Commendation หมายถึงคะแนนดีเป็นอันดับ 2

“ตอนนั้นเพื่อนๆ หมั่นไส้สุดชีวิต ยายคนนี้เขียนหนังสือแย่แต่ได้คะแนนดี ความพีกหลังจากนั้นคืออาจารย์อยากให้เราช่วยมาเป็นติวเตอร์ให้ เราจึงตอบรับและเป็นอาจารย์พิเศษให้ที่มหาวิทยาลัยต่ออีก 7 – 8 ปีเลย” ปฐมาเล่ายิ้มๆ

2

ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง แต่คือความร่วมมือกันของชุมชน

ปฐมากลับเมืองไทยมาตั้งแต่ช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เนื่องจากต้องมาทำรีเสิร์ชจากกรณีศึกษาจริง “พอกลับมาปุ๊บเราก็ไปหา พี่เขียว-สมสุข บุญญะบัญชา เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับงานด้านสังคมในประเทศไทย เราได้นามบัตรพี่เขียวมาจากเพื่อนชาวอินเดีย ที่ได้มาจากเพื่อนชาวอิตาเลียนอีกทีหนึ่ง คิดดูว่าชื่อพี่เขียวตอนนั้นกระจายไปไกลทั่วโลก พี่เขียวบอกว่าไหนๆ ก็มาขอคำปรึกษาแล้ว ทำงานด้วยเลยแล้วกัน (หัวเราะ)”

โครงการแรกของปฐมาภายใต้คำแนะนำของสมสุข บุญญะบัญชา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียในประเทศไทย) คือการปรับปรุงชุมชนบ้านบ่อหว้า จังหวัดสงขลา ใน พ.ศ. 2539

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ตอนที่เรียนคอร์ส Housing The Poor เรามีคำถามอยู่ในใจเยอะมาก จะเรียนทฤษฎีบางอย่างไปทำไม จะเสียเวลาทำความเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่ออะไร แต่เชื่อไหมว่าพอลงมาทำงานกับชุมชนจริง มันตอบคำถามคาใจพวกนั้นไปจนหมด

“อย่างกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Design) หรือการนั่งล้อมวงคุยกันเพื่อหาผลลัพธ์ทางการออกแบบ ที่ทุกคนในชุมชนเห็นพ้องต้องกัน สมัยนั้นถือเป็นอะไรที่ใหม่มากในประเทศไทย เราเองก็เพิ่งเข้าใจพลังมหาศาลของกระบวนการนี้ตอนลงไปทำงานจริงนี่แหละ

ชุมชนบ้านบ่อหว้ามีทั้งหมด 92 หลังคาเรือน ปฐมาและทีมงานอีก 1 คนลงพื้นที่ชุมชนทุกวันเพื่อทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม “โครงการนั้นประสบความสำเร็จในแง่ความร่วมมือมาก คิดดูว่าปกติชาวบ้านเขาติดละครหลังข่าวกัน ตอนหลังเราชนะละครเลยนะ ชาวบ้านอยากมาร่วมกระบวนการมากกว่าดูละคร (ยิ้ม)

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“เพราะชาวบ้านเขาอยากปรับปรุงผังชุมชนกันอยู่แล้ว โจทย์ของเขาชัด ทุกอย่างเลยเป็นไปอย่างรวดเร็ว แค่เดือนเดียว ผังชุมชนเสร็จสมบูรณ์ เป็นผังที่ชาวบ้านภูมิใจและเข้าใจมันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะถามใครในชุมชนตั้งแต่เด็กจนโต ทุกคนตอบได้หมด”

ปฐมาบอกว่า เธอเจออะไรที่เหนือความคาดหมายมากมายเมื่อลงไปทำงานกับชุมชน เธอค้นพบว่าแท้จริงแล้วคนต่างหากที่สำคัญที่สุดในโครงการหนึ่งๆ และความท้าทายที่เธอเจออยู่เสมอในฐานะสถาปนิกที่ทำงานกับคนจน คือไม่ควรพลาด เพราะคนจนไม่มีเงินมาแก้ไขข้อบกพร่องที่เราออกแบบพลาด ทุกอย่างต้องรัดกุม สามารถทำและแก้ไขปัญหาจริงได้อย่างยั่งยืน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

CASE Studio ก่อตั้งในปีต่อมา โดยเน้นการทำงานกับชุมชนแออัด คนยากจน ไปจนถึงผู้ประสบภัยพิบัติ

“เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เงินทอง แต่คือความสุขที่ได้สร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ สวยงามตามงบประมาณจะเอื้ออำนวยให้คนหลากชนชั้น ไม่ใช่แค่คนรวย ไม่ว่าจะเป็นยาม กระเป๋ารถเมล์ แม่ค้าหาบเร่ หรือคนในสลัม เขามีน้อยไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิ์จะอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ดี”

  ปฐมาอธิบายว่า บางครั้งบ้านไม่ใช่ตัวการที่ทำให้คุณภาพชีวิตชาวบ้านย่ำแย่ แต่เป็นสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านต่างหาก “เราไม่ใช่คนในชุมชน เราไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่น เราจึงไม่มีทางเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้ บางทีเรามองเข้าไปในชุมชน โอ้โห แบบนี้คงต้องสร้างใหม่ทั้งหมด แต่ชาวบ้านบอกไม่ใช่ ตัวบ้านมันดีอยู่แล้ว อยู่ได้สบายมาก ปัญหาคือน้ำท่วมขังใต้บ้านต่างหากเล่า น้ำประปาเข้าไม่ถึง ไฟไหม้ทีลามไปครึ่งชุมชน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ดังนั้น การทำงานของ CASE Studio คือการวางแผนและขบคิดร่วมกับชาวบ้าน เพื่อทำความเข้าใจปัญหา และหาทางออกด้วยการออกแบบที่ทุกคนเห็นพ้องและเหมาะสมที่สุด เมื่อโครงการเสร็จสิ้นสิ่งที่ชุมชนได้จากเรา ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่มันคือความร่วมมือกันของชุมชน”

3

คนทุกชนชั้นในสังคม มีสิทธิ์ออกความคิดเห็น

แน่นอนว่าการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก ย่อมต้องใช้เวลา กว่าที่ทีมงานจะลงสำรวจพื้นที่ สำรวจปัญหา จัดทำแผนที่ชุมชน ไปจนถึงออกแบบร่วมกับชาวบ้าน สามารถกินเวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปีได้เลย ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและอุปสรรคของแต่ละชุมชน

หนึ่งในโครงการที่ใช้เวลายาวนานที่สุด ดำเนินการนานกว่า 3 ปีคือ โครงการปรับปรุงชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2546 ที่นี่เป็นชุมชนชาวประมงขนาด 450 หลังคาเรือน บนพื้นที่ดินเพียง 26 ไร่ของกรมธนารักษ์มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 4,000 คน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ปฐมาเล่าว่า ก่อนเริ่มโครงการคนภายนอกมักมองชุมชนเก้าเส้งในแง่ลบ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนไม่ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงภายในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และบางส่วนทรุดโทรม

“แม้สภาพทางกายภาพจะไม่สมบูรณ์ แต่ชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง ชาวบ้านพยายามช่วยกันพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด พอรัฐบาลจะจัดทำ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ขึ้น ที่นี่เลยได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนนำร่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมถึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา”

โครงการบ้านมั่นคงดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดตั้งขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยให้กับคนจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและชุมชนบุกรุก

ปฐมาอธิบายต่อว่า โครงการบ้านมั่นคงมีการดำเนินงาน 3 รูปแบบด้วยกันคือ ย้ายไปสร้างที่อยู่อาศัยใหม่บนที่ดินใหม่ สร้างที่อยู่อาศัยใหม่บนที่ดินเดิม และปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิม โดยชุมชนเก้าเส้งดำเนินการในรูปแบบสุดท้าย “เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พี่เขียว (สมสุข บุญญะบัญชา) ถึงกับบอกว่า Solution พวกนี้เด็ด ชาวบ้านผ่อนเดือนละไม่กี่สิบบาท ได้บ้านเป็นหลังๆ เลย”

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

อีกหนึ่งความท้าทายในการทำงานกับชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีผู้อยู่อาศัยหลักพันคนขึ้นไป คือเรื่องของการสื่อสาร “เวลาเราเรียกประชุมชุมชน ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านมาเป็นร้อย แล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไปนะ บางทีคนมาเยอะก็จริง แต่พูดอยู่กลุ่มเดียวคือกลุ่มที่มีอิทธิพลที่สุด

“ชุมชนก็เหมือนประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง เขามีการแบ่งคลาสกันในสังคม บางทีคนชั้นล่างสุดไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะติดหนี้คนชั้นสูงที่ปล่อยกู้อยู่ อย่างชุมชนที่สงขลาคนชั้นล่างสุดเขาพูดภาษามลายูกัน เลยจะโดนคนชั้นสูงกว่าดูถูกดูแคลนเพราะไม่พูดภาษาไทย”

ดังนั้น เพื่อให้ได้ความคิดเห็นจากคนทุกกลุ่มในชุมชนจริงๆ ปฐมาจึงใช้วิธีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มย่อย จากเดิมที่ชุมชนมีอยู่ 5 เขต ก็แบ่งออกเป็นกลุ่มสีทั้งหมด 33 สี แต่ละสีประกอบด้วยบ้านประมาณ 10 – 15 หลังคาเรือน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“เราลดขนาดและจำนวนชาวบ้านในกลุ่มพูดคุยลงเพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาข้อมูล ปัญหาและแนวทางการแก้ไขจากคนทุกระดับในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่ปกติไม่มีปากสีเสียงในสังคม วันนี้นัดประชุมสีเหลืองโซน 1 วันต่อมานัดประชุมสีชมพูโซน 2 ทำแบบนี้อยู่เป็นปีจนครบทุกกลุ่ม

“สิ่งที่ค้นพบคือ พอเราแบ่งคนออกเป็นกลุ่มย่อย ชาวบ้านก็เริ่มกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไว้ใจเรามากขึ้น ชาวบ้านเขาคิดเป็นกันอยู่แล้ว แค่เขาไม่กล้าพูดและเขาไม่กล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่คิด ยิ่งคนชั้นล่างสุด เขาจะเหมือนเจียมเนื้อเจียมตัวว่าไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกคนมีสิทธิ์ออกความคิดเห็น เพราะมันเป็นบ้านของพวกเขาทุกคน เราต้องทลายกำแพงในใจเขาไปให้ได้”

4

ร้อยพันองค์ประกอบ สู่รายละเอียดการออกแบบ

ปฐมาเล่าต่อว่า “เราเคยทำโครงการที่ทั้งชุมชนมีคนกระตือรือร้นอยู่คนเดียว (หัวเราะ) คนอื่นๆ ไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้ลงมาร่วมไม้ร่วมมือ คือโครงการปรับปรุงชุมชนบ้านกล้วยเมื่อ พ.ศ. 2542 โจทย์คือปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพราะชุมชนตั้งอยู่ใต้พื้นที่ทางด่วนอาจณรงค์ มีน้ำเน่าเสียท่วมขัง สภาพบ้านแต่ละหลังก็รกรุงรังทรุดโทรม

“ตอนนั้นหาลู่ทางในการทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมอยู่หลายวัน เดินในชุมชนจนมาเจอบ้านหลังหนึ่ง เป็นยายแก่ๆ คนหนึ่งอยู่บ้านทั้งวันกับหลานหลายคน ปรากฏว่ายายเป็นช่างก่อสร้าง ราวกันตกรอบบ้านยายก็สร้างเอง เราเลยเล่าเรื่องโครงการให้ยายฟังว่า มันเป็นแบบนี้นะยาย คือมีคนเขามอบงบประมาณและอุปกรณ์มาให้ชุมชนเราปรับปรุงพื้นที่ให้สะอาดขึ้น สวยขึ้น แต่พวกยายต้องทำกันเองนะ

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ยายเป็นคนเดียวที่กระตือรือร้นจะทำตั้งแต่แรก เราก็ช่วยกันทำโมเดล ออกแบบ ก่อสร้าง เก็บกวาด ปลูกต้นไม้ พอบ้านยายทำเสร็จหลังแรก สวยงามตามท้องเรื่อง บ้านอื่นก็เริ่มถาม หลังจากนั้นเราแทบไม่ได้ทำอะไรกันเลย ชาวบ้านคนอื่นๆ เห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เขาก็เริ่มกระตือรือร้นและลงมือทำ ยายเป็นศูนย์กลางในการกระจายข้อมูล ในที่สุดทุกหลังก็ทำจนสำเร็จสมบูรณ์”

ปฐมาบอกว่า การทำงานในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง รายละเอียดของกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ต้องถูกออกแบบใหม่ให้เหมาะสม คนละพื้นที่มีรากฐานและวิธีคิดไม่เหมือนกัน

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หากมีโครงการในต่างประเทศติดต่อมา ปฐมาขอไปในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น “การจะทำโครงการที่ไหนก็ตามในโลก อย่างน้อยๆ เราต้องพูดภาษาเขาได้ ถือเป็นวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานที่เจ้าของโครงการต้องทำความเข้าใจ ขนาดเราทำงานที่สงขลา 2 ปีต่อมาไปทำที่เชียงใหม่ พูดภาษาไทยเหมือนกัน ภาษาหรือวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างเรายังไม่รู้เลย

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“อย่างเช่นคนไทยเดินผ่านศาลพระภูมิปุ๊บยกมือไว้ เป็นการกระทำโดยอัตโนมัติ นี่คือหนึ่งในองค์ประกอบอีกเป็นร้อยเป็นพันที่เรานำไปประกอบการออกแบบ รายละเอียดเล็กๆ พวกนี้แหละที่นักออกแบบจำเป็นต้องรู้ สถาปนิกเลยต้องลงไปฝังตัวในชุมชนเพื่อสังเกตพฤติกรรมไง

“ดังนั้น ดีที่สุดที่เราทำได้ที่ต่างประเทศ คือไปแลกเปลี่ยน Solution ซึ่งเราใช้กับโครงการที่ประเทศไทย เพื่อเป็นไอเดียให้สถาปนิกต่างประเทศนำไปต่อยอดหรือปรับใช้ที่บ้านเขา” ปฐมาอธิบาย

5

เจ้าของบ้าน คือคนที่เข้าใจบ้านมากที่สุด

งานอีกรูปแบบที่ปฐมาและ CASE Studio เข้าไปมีส่วนร่วม คือ Emergency Planning หรือการจัดการและออกแบบวางผังในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะตอนที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547

ปฐมาเล่าว่า “ทันทีที่รู้ข่าวสึนามิ เราเก็บกระเป๋ารอเพราะรู้ว่าเขาต้องเรียกเราลงไปช่วยแน่ๆ และเริ่มโทรหาทีมเตรียมพร้อมเลย กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Design) เป็นเครื่องมือการออกแบบที่ดี แต่มันก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์ด้วย

“สึนามิเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างว่ากระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมไม่ใช่คำตอบเสมอไป เพราะนาทีนั้นไม่มีใครสนใจหรอกว่าจะมีหรือไม่มีบ้านอยู่ ครอบครัวยังกระจัดกระจาย ญาติพี่น้องเป็นตายร้ายดียังไม่รู้ ผู้คนบอบช้ำสภาพจิตใจ และสถานการณ์วิกฤตเกินกว่าจะมานั่งล้อมวงคุย เรื่องการออกแบบทดแทนบ้านที่โดยคลื่นซัดพังไป ทุกอย่างมันกระทบใจทั้งนั้น

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

สิ่งที่ทำคือบ้านชั่วคราว (Shelter) ผู้ประสบภัยแต่ละครอบครัวต้องการพื้นที่ไม่เท่ากัน บางบ้านเหลือกันแค่สองสามีภรรยา บางบ้านโชคดีปลอดภัยทั้งครอบครัว ปฐมาจึงใช้คอนเซปต์การต่อ Modular โดยมีขนาดมาตรฐาน 1.2×2.4 เมตรเป็นที่ตั้ง บ้านที่คนเยอะ ก็ต่อ Modular ขยายออกไปได้เรื่อยๆ และใช้วัสดุเรียบง่ายที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น

“เราออกแบบไว้อย่างปลายเปิด บ้านชั่วคราวนี้ไม่ได้อยู่กัน 2 – 3 เดือน แต่อยู่กันเป็นปีๆ กว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ ผู้อยู่อาศัยก็ค่อยๆ ดัดแปลงให้บ้านเข้ากับการรูปแบบการใช้ชีวิตของครอบครัวเขามากที่สุด บ้านที่ประกอบไปด้วยจำนวน Modular ไม่เท่ากัน หลังเล็กบ้าง ใหญ่บ้างเหล่านี้จะตั้งอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม (Cluster) หันหน้าเข้าหากันไปตามแนวต้นไม้เดิมที่เหลืออยู่ ดึงคนให้มีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อช่วยกันเยียวยาสภาพจิตใจ”

1 ปีผ่านไป จากบ้านชั่วคราว 30 หลังที่ปฐมาออกแบบไว้ เพิ่มเป็น 60 กว่าหลัง โดยที่เธอไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรเลย แถมยังก่อสร้างอยู่เป็นกลุ่มๆ อย่างสวยงาม “คนอยู่อาศัยเขาเข้าอกเข้าใจงานออกแบบ เขาจึงทำซ้ำได้” ปฐมาพูดยิ้มๆ

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

6

สิ่งเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม

ทำงานให้คนยากคนจน คำถามที่หนีไม่พ้นคงเป็นเรื่องเงิน ปฐมาอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายในแต่ละโครงการนั้น สมัยก่อน CASE Studio ได้มาจากหน่วยงาน สถาบัน และมูลนิธิต่างๆ

ปฐมาอธิบายว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลาเรารับเงินมาจากองค์กรใดก็ตาม องค์กรนั้นจะกลายเป็น stakeholders สำคัญที่สำคัญในเชิงอิทธิพล ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าพูด เพราะเกรงใจ องค์กรเขาช่วยเหลือมาเยอะแล้ว เป็นปัญหาปากท้องอีก เราเลยไม่อยากรับเงินจากองค์กรมาทำโครงการ ตอนนี้โครงการส่วนใหญ่ที่เราทำเลยไม่ได้สตางค์ (หัวเราะ)

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“แต่ในอนาคตเราอยากสนับสนุนให้ชาวบ้านหาเงินมาจ่ายสถาปนิกเอง โดยใช้วิธีลงขันกัน ชานบ้านจ่ายไหว สถาปนิกก็อยู่ได้ เช่น ถ้าในชุมชนมีชาวบ้านอยู่ 2,000 คน จ่ายแค่คนละ 5 บาทต่อการประชุม เดือนหนึ่งประชุม 4 – 5 ครั้งก็ได้แล้วค่าออกแบบ และจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมเกือบๆ 50,000 บาทต่อเดือน”

บางโครงการมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ทั้งสถาปนิก ภาครัฐ ภาคสังคมและชาวบ้าน ปฐมาบอกว่า “เราต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าทั้งสี่กลุ่มนี้มันเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ภาครัฐมาสั่งหรือภาคสังคมมาสอน เราต้องทำให้เกิดความเข้าใจให้ได้ว่าแต่ละกลุ่มก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป

“หน่วยงานภาครัฐก็หน้าที่หนึ่ง องค์กรเพื่อสังคมก็อีกหน้าที่หนึ่ง สถาปนิกก็อีกบทบาทหนึ่ง แต่ชาวบ้านคือคนที่รู้ดีที่สุด และเป็นคนที่จะอยู่กับโครงการไปตลอด ถ้าทุกคนเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองคืออะไร แล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดโดยมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ชุมชนและสังคมก็จะพัฒนาต่อไป”

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

แนวคิดที่น่าสนใจของปฐมาและ CASE Studio คือ ในแต่ละโครงการเธอตั้งต้นที่งบประมาณศูนย์บาท โดยพยายามมองหาสิ่งที่ชุมชนมีและสนับสนุนให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเอง ไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่นหรือหน่วยงานจากภายนอก “มีน้อยใช้น้อย เอาเท่าที่มี ไม่ต้องไปกู้ยืมมาเพิ่ม ใช้วัสดุที่มีในชุมชนอยู่แล้ว เราพยายามสอนให้ชุมชนหัดนำมาใช้ซ้ำ ประยุกต์ ดัดแปลง”

ปฐมาอธิบายพร้อมตัวอย่างชุมชนคนต่างด้าวแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนแห่งนี้ประสบภัยน้ำท่วมทุกปี ชาวบ้านในชุมชนต้องลุยน้ำสูงตลอดหน้าฝน กลายเป็นปัญหาด้านสุขอนามัย CASE Studio จึงช่วยชุมชนออกแบบทางเดินที่สูงกว่าระดับน้ำท่วมโดยใช้ขยะเป็นตัวหนุน

“เราต้องสอนให้คนเริ่มซ่อมอะไรเป็นก่อน พอเขาเริ่มเป็น เราค่อยถอยออกมาให้เขาคิดหาหนทางแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไปด้วยตัวเอง เมื่อเขารู้สึกมีคุณค่าและรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง มันจะทำให้เขาเกิดสำนึกรับผิดชอบและรู้สึกรัก หวงแหน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” ปฐมากล่าวทิ้งท้าย

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ขอบคุณ CASE Studio

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan