ในวาระงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เราเห็นหนังสือใหม่ๆ หลายร้อยปกอวดเนื้อตัวและเนื้อหาด้านในกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านเลือกซื้อกลับบ้าน

ในจำนวนหนังสือมากมายเหล่านั้น มีปกหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ถูกออกแบบโดยนักออกแบบปกหนังสือมืออาชีพคนหนึ่ง-ใช่, ประเทศนี้นั้นมีอาชีพนี้อยู่ หรือถึงแม้ว่ายังไม่มีเวลาไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือร้านหนังสือ ด้วยผลงานการออกแบบปกหนังสือมากว่า 15 ปี ออกแบบปกมาแล้วรวมกว่า 500 ปก ครอบคลุมมากมายหลากหลายประเภท ทั้งการ์ตูน นิยาย วรรณกรรม Non-fiction ประวัติศาสตร์ เรื่องสั้น และอีกมากมาย ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าในชั้นหนังสือที่บ้านเราแทบทุกคนน่าจะมีผลงานการออกแบบปกของ Wrongdesign หรือ เบิ้ม-กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล วางบนชั้นอยู่อย่างแน่นอน

Wrongdesign Wrongdesign

นอกจากการเป็นนักออกแบบปกหนังสือที่ทำงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องยาวนานแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือเรื่องราวความเป็นมาก่อนจะมาเป็นนักออกแบบของเขา นักเขียนบางคนกล่าวไว้ว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้พ่ายแพ้ ชีวิตของเบิ้มก็คงเป็นเช่นนั้น

จากนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่เคยทำงานออกแบบ ทำหนังสือไม่เป็น หางานทำไม่ได้ จนจับพลัดจับผลูมาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในนิตยสาร ช่วงทำงานเดือนแรกก็ทำงานไม่ได้จนเกือบจะถูกไล่ออก จนวันหนึ่งกลับกลายมาเป็นนักออกแบบปกหนังสืออันดับต้นๆ ของบ้านเราได้ ด้วยผลงานที่โดดเด่นและมีสมดุลที่ดีระหว่างงานศิลปะกับพาณิชย์บนพื้นที่ของปกหนังสือเล่มอยู่เสมอ

ก็อย่างประโยคทองของวงการหนังสือนั่นแหละ Don’t judge a book by its cover. สำหรับนักออกแบบปกก็คงจะไม่ต่างกัน ถ้าเราอยากจะรู้จักนักออกแบบปกหนังสือให้ดีกว่านี้ ก็คงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าลองเปิดหน้าปกแล้วเริ่มต้นอ่านความคิดและชีวิตของเขาดูกัน

WRONGDESIGN

‘a cover design studio & a single room with many books’

สติกเกอร์ที่แปะอยู่หน้ากระจกออฟฟิศแถวประดิพัทธ์บอกว่าผมมาไม่ผิดที่ หลังจากเข้าไปทักทายกับเบิ้ม และรอเจ้าบ้านที่กำลังชงชาร้อนมาให้ ผมมองสำรวจรอบๆ ห้องขนาดเล็กที่เปี่ยมไปด้วยหนังสือจำนวนมหาศาลรอบๆ ตัว ใช่-นี่คือผลงานการออกแบบที่เบิ้มทำมาตลอด 15 ปี ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครในยุคสมัยนี้ที่ออกแบบปกหนังสือจำนวนมากกว่านี้อีกหรือเปล่า ถ้าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ค่าของนักออกแบบชื่อ Wrongdesign นี้ก็ควรได้รับการยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ หลังจากจิบชาร้อนรสชาติดี ก็ถึงเวลาที่จะได้เริ่มพูดคุยกับนักออกแบบปกหนังสือคนนี้

กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล

ห้องทำงาน

Wrongdesign ไม่ว่าอ่านยังไงก็แปลออกมาได้ว่า ‘ออกแบบผิด’ ถือว่าเป็นชื่อที่ดูไม่ค่อยจะเป็นมงคลเท่าไหร่กับอาชีพนักออกแบบ ก่อนที่เราจะคุยกันเรื่องอื่น ผมจึงขอสอบถามถึงที่มาของชื่อนี้

“เวลาเรารับงานนอกตอนทำงานประจำที่ Open ทางสำนักพิมพ์อื่นที่ติดต่อมาเขาไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าใช้คนที่ Open ทำงานให้ เลยอยากให้ใช้นามปากกาแทน แล้วทีนี้งานครั้งแรกที่ทำตอนนั้นมันไม่ค่อยดี คือถูกแก้อยู่เจ็ดหรือแปดรอบ จนสุดท้ายเขาก็เลือกแบบแรกสุดที่ทำไป ตอนที่พี่เขามาขอให้ใส่นามปากกาก็เลยใส่ไปในไฟล์ โดยไม่บอกเขาว่า Wrongdesign-ดีไซน์ผิด ก็ตั้งใจกวนตีนเขาแหละ และไม่คิดว่าเขาจะติดต่อให้เราทำงานให้อีกนะ แต่เขาก็ติดต่อมา เลยใช้มาเรื่อยๆ คิดว่าถึงจะเป็นชื่อที่แปลกๆ หน่อย แต่มันก็อยู่หลังปก คงไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่มั้ง (หัวเราะ)”

ลองผิด

จากที่เป็นคนไม่ค่อยอ่านหนังสือ ไม่เคยทำหนังสือ ไม่เคยทำงานออกแบบ จนได้งานแบบบังเอิญ ซึ่งตอนทำงานเดือนแรกก็เกือบถูกไล่ออก แล้วสุดท้ายกลับกลายมาเป็นนักออกแบบปกหนังสือมืออาชีพได้ยังไง

“เราเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลผลิตที่ล้มเหลวจากระบบการศึกษาไทย ที่จบมาแล้วไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร”

เบิ้มเล่าอดีตสมัยเรียนจบให้เราฟังว่า หลังจากที่เรียนจบจากสาขาโฆษณาและเริ่มหางานทำ ก็เจอกับปัญหาใหญ่ของชีวิตตอนนั้น คือนอกจากจะไม่รู้ว่าชอบอะไรแล้ว ตัวเองยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ความถนัดอะไร กับสิ่งที่เรียนมา ผสมกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เบิ้มก็เลยหางานทำไม่ได้ ช่วงที่ว่างก็ไปลงเรียนคอร์สโปรแกรมออกแบบบนคอมพิวเตอร์ ด้วยความคิดที่ว่าสิ่งนี้จะช่วยให้หางานง่ายขึ้น

พอเรียนจบคอร์สก็โชคดีที่เจอเพื่อนที่ทำงานอยู่นิตยสาร Open ซึ่งกำลังหากราฟิกดีไซเนอร์อยู่ เลยชวนให้มาสมัครงาน แล้วหลังจากยื่นพอร์ตก็ได้ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์คนเดียวของนิตยสารทางเลือกแห่งยุคนั้น ซึ่งในเดือนแรกก็มีปัญหา เพราะเขาไม่ถนัดใช้เครื่อง Mac ทำงาน แต่สุดท้ายด้วยความตั้งใจและทำงานอย่างหนัก เลยทำให้เบิ้มผ่านช่วงเวลานั้นมาได้

“เราจับพลัดจับผลูมาทำงานแมกกาซีน เรารู้สึกว่ามันคือโลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ เพราะได้อ่านเรื่องราว ได้อ่านบทสัมภาษณ์ ได้แรงบันดาลใจ ได้ค้นหาชีวิตใหม่ เรารู้สึกอินและเชื่อมโยงกับเรื่องพวกนี้ เลยทำให้ยอมลงทุน ทุ่มเททำงานหนัก และให้เวลากับมัน นอกจากตัวงานแล้ว บรรยากาศสิ่งแวดล้อมของที่ Open มันก็ไม่เหมือนกับการทำงานที่อื่น

“สำหรับเรา ทุกๆ วันที่ไปทำงานคือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งงานที่ได้คุย ประชุมกองฯ คำถามที่ได้เจอในชีวิตมันมักจะมีคำตอบออกมาเสมอ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นที่ทำงานที่แรกที่ดี เลยเป็นคำตอบของปัจจุบันว่า จากคนที่ทำงานไม่เป็น เรามาจนถึงปัจจุบันได้ก็เพราะเราทำงานหนักมาก (เน้นเสียง) เรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดในทุกๆ วัน และอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องกับชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น”

คำว่าเส้นทางที่ถูกต้องนั้นเป็นยังไง แล้วรู้ได้ยังไงว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่ถูกต้อง-ผมถาม

“คือตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าเราชอบอะไร แต่คนในวัยนั้นทุกคนน่าจะตอบได้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไร สำหรับเรา เราเป็นคนไม่ชอบทำงานกับคนเยอะๆ ประสานงานไม่เก่ง ตัวเลขก็ไม่ถนัด พอมาทำงานออกแบบ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ มันอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องรึเปล่า แต่รู้สึกว่างานแบบนี้มันไม่ฝืนกับธรรมชาติของเรา

“พอเราได้งานเขียนกับรูปมาก็มานั่งทำงานอยู่หน้าคอมฯ ได้อ่านเนื้อหาก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะออกแบบออกมายังไง ได้โฟกัสกับงานโดยไม่มีใครมาจับจ้องดูผลงานของเรา อันไหนทำไม่เป็นก็ค่อยๆ หัดลองทำ ด้วยความที่งานหนังสือหรือนิตยสารมันมีรอบเวลาของมัน ทำให้ไม่ต้องเร่งอะไรมาก ถึงแม้ตัวตนที่ผ่านมาของเราอาจจะไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือนัก แต่ว่าเราสามารถทำงานละเอียดๆ พวกนี้ได้ เลยรู้สึกว่าอยู่ในที่ทางที่เหมาะสม”

แต่การเป็นดีไซเนอร์เพียงคนเดียวในองค์กรนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ทั้งในส่วนของการคิดออกแบบ ไปจนถึงการพัฒนาความสามารถในระยะยาว ซึ่งความโชคดีอีกอย่างที่เบิ้มได้เจอในตอนนั้นก็คือ การเข้ามาร่วมทุนใน Open ของผู้ชายที่ชื่อ ปราบดา หยุ่น

“ตอนเราทำงานได้ประมาณ 7 เดือนก็เริ่มเกิดการตันทางด้านความคิด เราไม่สามารถแปลงข้อความมาเป็นภาพได้ ต้องบอกว่าเราโชคดี เพราะตอนนั้น พี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น เข้ามาเป็นหุ้นกับ Open พอดี และแกก็มาดูแลด้านการออกแบบ เรานี่เหมือนถูกลอตเตอรี่เลย เพราะพี่คุ่นแกเรียนออกแบบมา เป็นนักเขียน อ่านหนังสือมาเยอะ เราเลยสามารถเรียนรู้จากงานที่แกทำได้โดยใช้วิธีแบบครูพักลักจำ สิ่งที่ช่วยให้เราพัฒนาอย่างมากก็คือไฟล์งานของพี่คุ่น เราจะเอามาแกะดูเหมือนคนแกะคอร์ดดนตรี นั่งดูไฟล์ นั่งแยกเลเยอร์ ดูองค์ประกอบ ดูฟอนต์ที่แกใช้ ถ้าสงสัยว่าทำยังไงอีกวันหนึ่งก็ถามแก มันช่วยเราได้มากเหมือนเจอกับทางลัด”

กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล หนังสือ

ลองถูก

หลังจากทำงานกับนิตยสารอยู่สักพัก เบิ้มก็เริ่มจับงานพ็อกเก็ตบุ๊ก เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของนิตยสารนั้นไม่ได้เยอะมาก หลายๆ สำนักพิมพ์ที่ทำนิตยสารจึงเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ในการนำบทความในนิตยสารมารวมเล่มพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กขาย

“ตอนแรกที่ทำนิตยสารก็ว่ายากแล้วนะ พอมาเริ่มทำพ็อกเก็ตบุ๊กนี่มันกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เหมือนเป็นโจทย์งานใหม่ เพราะเป็นสื่อคนละธรรมชาติกัน การออกแบบก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง จังหวะการอ่าน การวางภาพประกอบก็แตกต่างกัน แล้วตอนนั้นนิตยสาร Open และ openbooks จะพิมพ์ปกที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็คือ พิมพ์ปกแบบ 2 สี เพราะต้องการให้ต้นทุนต่ำที่สุด การออกแบบก็จะใช้ภาพขาวดำผสมกับสีอะไรอีกสีหนึ่ง

“ปกแรกที่ทำเป็นหนังสือรวมบทสารคดีของนักเขียนชื่อ ชายขายตัว บาร์เกย์ หญิงคาบาเรท์ ตลกคาเฟ่ กะหรี่สนามหลวง หลังจากได้ลองออกแบบปกพ็อกเก็ตบุ๊กไปสักพักก็เริ่มอยู่มือ จนทำมาเรื่อยๆ แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่มีคนข้างนอกติดต่อมาให้ออกแบบปกหนังสือด้วย ทีนี้ด้วยความเป็นสำนักพิมพ์เล็กของ Open ทำให้เรามีพื้นที่ในการออกแบบในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน งานที่ Open มันก็เลยส่งเสริมเรา ทำให้มีคนเริ่มติดต่อให้ออกแบบปกหนังสือเยอะขึ้น เหมือนเราเริ่มจับต้นชนปลายเอาส่วนผสมบางอย่างในการออกแบบมาผสมกันจนเริ่มเจอวิธีการออกแบบปกอย่างมีศิลปะ”

พอพูดถึงเรื่องศิลปะ ผมสนใจที่เบิ้มเรียกขานพื้นที่บนปกหนังสือว่า ‘พื้นที่สุดท้ายของงานออกแบบกราฟิก ที่ยังคงเอื้อให้ศิลปะอยู่ควบคู่ไปกับงานพาณิชย์ได้ในพื้นที่เดียวกัน’ หลังจากที่พื้นที่แบบนี้ค่อยๆ หายไปจากทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรี ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หนังหรือปกซีดีเพลง แล้วสำหรับในยุคสมัยนี้ ดูเหมือนพื้นที่ของปกหนังสือดูจะเน้นไปที่ความงามและศิลปะมากยิ่งกว่าเดิมเสียด้วย ผมจึงถามนักออกแบบปกหนังสือถึงสาเหตุของสิ่งนี้

“โครงสร้างของสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเล่มมันไม่ได้มีขนาดใหญ่โตแบบอุตสาหกรรมหนังหรือเพลงที่มีคนจำนวนมากมาเกี่ยวข้อง ซึ่งพอมีคนจำนวนมากมาแชร์ไอเดียกันมากก็มีโอกาสสูงที่ปกแบบที่มีศิลปะจะถูกแทนที่ด้วยปกที่มันสื่อสารกับคนหมู่มากแทนได้ อย่างพ็อกเก็ตบุ๊ก 1 เล่มมันสามารถใช้คนแค่ 3 – 4 คนในการทำให้จบออกมาเป็นเล่มได้ คือมีแค่บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล กราฟิกดีไซเนอร์ ช่างภาพ แค่นี้เอง

“ถ้าเทียบให้เห็นสเกลของมันก็คือ ในการพิมพ์หนังสือเล่ม 1 ครั้ง จำนวนพิมพ์มาตรฐานมักจะอยู่ที่ 3,000 เล่ม ถ้าขายดีมากๆ ก็ 10,000 เล่ม เทียบกับภาพยนต์ที่ประสบความสำเร็จคือระดับร้อยล้านบาทนั้นก็คือมีคนดูอยู่ห้าแสนคน จะเห็นเลยว่าขนาดของตลาดมันแตกต่างกันเยอะมาก แล้วธรรมชาติของธุรกิจนี้มันไม่ได้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วแบบนั้น ค่อนข้างจะเป็นเหมือนนิชมาร์เก็ต มันเลยเอื้อให้พื้นที่ของงานศิลปะยังคงอยู่บนปกหนังสือและค่อยๆ แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”

ลองดีไซน์

หลังจากถามเบิ้มถึงธรรมชาติและทิศทางของการออกแบบปกหนังสือแล้ว อีกเรื่องที่น่าสนใจคือวิธีการออกแบบปกหนังสือของนักออกแบบอย่างเขา ผมอยากรู้วีธีทำงานและขั้นตอนการออกแบบของเขาในการออกแบบปกหนังสือเล่มหนึ่งๆ ว่ามีขั้นตอนและวิธีทำอย่างไร

“ขั้นตอนการออกแบบมักจะไม่ค่อยเปลี่ยน อย่างแรกเลยคือเราจะเริ่มด้วยการอ่านบทคัดย่อ หรืออ่านหนังสือทั้งเล่มถ้าเป็นไปได้ พูดคุยกับบรรณาธิการซึ่งเป็นคนดูแลหนังสือเล่มนั้นๆ ว่าเห็นภาพหนังสือเล่มนี้ไปในทางไหน แล้วเราก็จะร่างปกขึ้นมา หนังสือบางประเภทเราจะเห็นภาพชัด อย่างพวกประวัติศาสตร์ก็อ่านสนุก เพราะเราเห็นทั้งคนอ่าน ต้นฉบับ ไปจนถึงคนทำ ภาพปกในหัวมักจะชัดเสมอ พอภาพมันชัดเราก็จะไม่ใช้เวลาดีไซน์ปกหลายแบบ เพื่อเอาเวลามาลงลงรายละเอียด ไดคัตรูป เลือกองค์ประกอบมาวางบนปกแทน

“แต่โจทย์บางอย่างที่เป็นนามธรรม เช่น ความเท่าเทียม ความยุติธรรม พวกนี้ เราจะทำดราฟต์ดีไซน์ขึ้นมาก่อนสัก 4 – 5 แบบ แล้วเอาไปคุยกับทางทีมงานก่อน และจะพยายามทำให้มันหลากหลาย คือใช้ทั้งตัวหนังสือ ทั้งภาพถ่าย กราฟิก ให้แบบมันมีความหลากหลายมากที่สุด ทีนี้ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนออกแบบมา เราเลยไม่ได้มีวิธีคิดแบบคนที่เรียนออกแบบ เราไม่มีสมุดสเกตช์ แต่เรามักจะเปิดคอมแล้วทำงานเลย ไม่มีการสเกตช์ก่อน

“แต่ก็ไม่ได้แปลว่าภาพแรกที่โผล่ขึ้นมาจะเป็นปกเสมอนะ เราให้เวลางานค่อนข้างเยอะ อยู่กับมันนาน หลายๆ ปกบางทีก็เพี้ยนเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่นเยอะ ด้วยธรรมชาติของการทำหนังสือมันเอื้อให้เราได้สะสมงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปเรื่อยๆ ปกหลายปกที่เราทำเกิดจากการหยิบเอาชิ้นส่วนที่ไม่ได้ใช้ในงานชิ้นก่อนๆ มาผสมรวมกันออกมาเป็นปกใหม่ เวลาทำงานเราเป็นคนไม่เซฟไฟล์ทับเลย เวลาทำแบบเพิ่มจะเซฟแยกไว้ต่างหาก และเราเป็นคนจำชิ้นงานตัวเองได้ เวลามีโจทย์ที่ต้องการชิ้นส่วนแบบนี้เราจึงรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วเอามาใช้งาน”

ปกหนังสือ

ถ้าการอ่านหนังสือเล่มที่จะต้องออกแบบปกเป็นสิ่งสำคัญ หนังสือบางเล่มที่อ่านไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่อง ปกหนังสืออาจจะไม่ตรงกับที่คนเขียนคิดไว้ แล้วจะออกแบบได้ยังไง-ผมสงสัย เพราะนึกถึงเวลาที่ตัวเองอ่านงานวรรณกรรมแล้วพบว่าไม่รู้เรื่องเลย

“บางทีเราไม่ได้อ่านวรรณกรรมเพื่อเอาความเข้าใจ แต่เราอ่านเพื่อเอาความรู้สึก ซึ่งมันจะต่างกับพวก Non-fiction ที่ต้องอ่านเพื่อจับประเด็น ซึ่งเราถูกฝึกมาตั้งแต่ตอนทำนิตยสาร มันจำเป็นต้องอ่านทุกเรื่องและต้องอ่านอย่างเร็ว พอมาทำหนังสือ Non-fiction ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหา ทีนี้เวลาเจอวรรณกรรมหรือนิยาย ซึ่งโดยธรรมชาติเราไม่ค่อยชอบอ่านนิยาย เราเลยรู้สึกว่ามันยากเสมอ

“เวลามีหมวดนี้ติดต่อมาจะเกร็งทุกครั้ง สิ่งที่ช่วยในการทำงานก็คือการคุยกับทางบรรณาธิการ เพราะเขาคือคนที่เห็นต้นฉบับทั้งเล่ม หรือไม่ก็คุยกับคนแปล หลังจากนั้นก็จะอ่านแล้วพยายามหา Mood & Tone ที่อยู่ในเล่มนั้นๆ โดยจะพยายามแปลข้อความและตัวอักษรให้เป็นภาพที่มันยังดูเข้าใจได้อยู่ โดยมากปกที่เราออกแบบมักจะไม่ออกมาเป็นภาพนามธรรมสักเท่าไหร่ ไม่ใช่ไม่อยากทำนะ เราก็อยากทำ แต่สมองเราทำงานออกมาเป็นภาพที่ชัดมากกว่าเป็นแบบนามธรรม”

ด้วยความที่เบิ้มออกแบบหนังสือหลายประเภทหลายหมวดหมู่มานาน ผมจึงก็สังเกตเห็นเอกลักษณ์บางอย่างในการออกแบบของเบิ้มบนปกหนังสือเหล่านั้นอยู่เสมอ ทั้งการจัดวาง องค์ประกอบ ลวดลาย สีสัน ผมจึงชวนเขาคุยถึงแนวคิดในการออกแบบ ที่แม้บางครั้งจะเป็นหนังสือคนละประเภทกันแต่ก็มีลายเซ็นหรือเอกลักษณ์ของคนออกแบบอยู่ในนั้นแทบทั้งหมด

“เราคิดว่าน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ดีไซเนอร์คนหนึ่งสะสมมาตลอดชีวิต เวลาเราทำอาชีพอะไรก็ตาม พอเราอยู่กับอาชีพนั้นนานๆ วิธีคิดของเราก็จะเปลี่ยนตามอาชีพมาเรื่อยๆ เวลามีคนมาถามหรือสัมภาษณ์ว่าอะไรคือลายเซ็นของงานเรา เรามักจะตอบไม่ได้ แต่คิดว่ามันคือ ‘การออกแบบปกให้สวยงามอย่างเรียบง่าย’ เพราะเรามักให้ความสำคัญกับ ‘ที่ว่าง’ เสมอ ที่ว่างไม่ได้แปลว่าพื้นที่ขาวๆ นะ แต่อาจจะเป็นพื้นสีเรียบๆ หรือองค์ประกอบเล็กๆที่ไม่ได้ฉูดฉาดนำสายตา เราจะพยายามมองหาสมดุลให้มันไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ระหว่างชื่อหนังสือและที่ว่างเหล่านี้อยู่เสมอ”

ปกหนังสือ

กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล

ลองเป็นสำนักพิมพ์ควบคู่กับนักออกแบบปก

นอกจากขาข้างหนึ่งจะเหยียบบนส่วนของการเป็นนักออกแบบปกหนังสือแล้ว ขาอีกข้างหนึ่งของเบิ้มเหยียบอยู่บนส่วนของการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds อีกด้วย การที่เป็นทั้งนักออกแบบปกหนังสือและเจ้าของสำนักพิมพ์นั้น มันส่งผลกระทบหรือให้แนวคิดอะไรในการออกแบบปกหนังสือบ้างหรือเปล่า-เราถาม

“การเป็นทั้งนักออกแบบและเจ้าของสำนักพิมพ์นั้นส่งผลต่อการออกแบบของเราอยู่พอสมควร เพราะมันคือการที่นักออกแบบที่ออกแบบของขึ้นมาแล้วต้องมาขายของที่เราออกแบบด้วย โดยปกตินักออกแบบส่วนมากจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของความสวยไม่สวย และจะจบงานเมื่อชิ้นงานเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต แต่เราต้องแบกมันออกไปขายให้กับคนอ่าน แล้วเราก็จะได้เห็นชีวิตจริงๆ ของหนังสือที่เราทำ

“ธุรกิจหนังสือเล่มมันเป็นธุรกิจที่อยู่บนตัวโปรดักต์โดยแท้จริง ตรงไปตรงมา อย่างหนังสือที่เนื้อหาไม่หนีกันแต่ดีไซน์ของปกต่างกัน บางทีตัวเลขยอดขายก็ออกมาต่างกันโดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่การออกแบบปกที่นักออกแบบเห็นมันอยู่บนจอคอมพิวเตอร์เพียงปกเดียว แต่พอพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้วก็ต้องไปอยู่บนชั้นหนังสือที่มีเล่มอื่นๆ จากสำนักพิมพ์อื่นประกบซ้ายขวาเต็มไปหมด แล้วพอผ่านไป 2 อาทิตย์มันก็จะถูกพลิกเอาสันออกมาแทนปก รวมไปถึงการได้เจอคนอ่านเองด้วย เพราะพอทำสำนักพิมพ์เองก็ต้องไปงานหนังสือเอง ก็จะได้พบเจอคนอ่าน คนที่มาซื้อ คนที่มาหยิบ โดยปกติดีไซเนอร์มีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นคนซื้อ ข้อมูลในการออกแบบพวกนี้มันจะถูกเอามาปรับใช้ในการออกแบบปกอยู่ตลอด

“เรามองว่าการเป็นนักออกแบบควรจะทำตัวเป็นพาร์ตเนอร์ให้กับคนจ้างมากกว่า คือสามารถแชร์ไอเดียกันได้ในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ออกแบบอย่างเดียว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ โปรยปก (ตัวหนังสือที่อยู่บนหน้าปกเพื่ออธิบายเล่าเรื่องเนื้อหาภายในเล่ม) เมื่อก่อนปกหนังสือจำเป็นต้องมีโปรยปกอยู่ 4 – 5 บรรทัด

“ทุกวันนี้เราพบว่าโปรยปกไม่ได้ทำงานในแง่การขายเสมอไป แต่เราก็ไปพูดกับสำนักพิมพ์ไม่ได้หรอกว่า พี่เอาโปรยปกออกเถอะ มันรก ไม่สวย พูดแบบนี้มันจะเถียงกันไม่รู้จบ แต่เราจะบอกเขาว่า โลกการสื่อสารมันเปลี่ยนไป สำนักพิมพ์สามารถหยิบเอาโปรยปกของหนังสือไปเล่าในโซเชียลมีเดียก่อนที่หนังสือจะไปถึงแผงได้ กว่าหนังสือจะวางแผงคนอ่านก็ตัดสินใจซื้อได้ล่วงหน้าแล้ว เราอธิบายให้เห็นว่าโครงสร้างการใช้สื่อมันเปลี่ยน การออกแบบปกจึงสามารถลดทอนองค์ประกอบอย่างโปรยปกให้น้อยลงได้ จนเหลือแต่พื้นที่ในการทำงานเชิงศิลปะ เพื่อให้ปกมันสื่อสารและทำงานให้ดีที่สุด”

ปกหนังสือที่อธิบายการทำงานของ Wrongdesign ในแต่ละช่วงที่ผ่านมา

ชายขายตัว บาร์เกย์ หญิงคาบาเรท์ ตลกคาเฟ่ กะหรี่สนามหลวง (openbooks, 2545)

ชายขายตัว บาร์เกย์ หญิงคาบาเรท์ ตลกคาเฟ่ กะหรี่สนามหลวง

ปกพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกที่ได้รับมอบหมายให้ทำ หมายถึงทำไฟล์งานปกตามมอบหมาย ไม่เข้าใกล้คำว่าออกแบบแม้แต่น้อย แต่ก็เป็นงานที่ทำให้เริ่มเข้าใจธรรมชาติของหนังสือเล่ม ได้เรียนรู้พื้นฐานของงานปกหนังสือ ไม่ต่างอะไรกับนักฟุตบอลที่ก่อนจะคิดโชว์ลีลาก็ควรผ่านการฝึกทักษะพื้นฐาน การจับบอล ควบคุมบอล วิ่งไปกับลูกบอล ฯลฯ ปกนี้ให้คุณค่าและความหมายแบบนั้น

อย่าอ่านเลยก็แล้วกัน (ออกแบบโดย ปราบดา หยุ่น, openbooks, 2545)

อย่าอ่านเลยก็แล้วกัน

ตอนนั้นพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) เริ่มเป็นแขกประจำของนิตยสาร Open วันหนึ่งพี่คุ่นแวะมาพร้อมกับอาร์ตเวิร์กปกหนังสือรวมบทความที่จะตีพิมพ์กับ openbooks เราเห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก มันสวยอย่างประหลาด จึงเริ่มมองดีไซน์ของปกหนังสือด้วยการศึกษาโครงสร้าง เช่น สามารถใช้ตัวอักษรขนาดเล็กกับชื่อหนังสือก็ได้ มีกราฟิกทับหน้าก็เป็นภาพปกได้ ข้อความโปรยปกวางตั้งฉากอ่านยากก็ทำได้ ปกนี้มันทำให้เราเห็นพื้นที่ที่กว้างขึ้นของการดีไซน์ปกหนังสือ การได้มีโอกาสเรียนรู้งานออกแบบจากพี่คุ่นก็คือการได้พบครูแห่งหน้าที่การงาน

FUTURE WAR (มติชน, 2547)

FUTURE WAR

.. เล่มบอกว่าไม่อยากให้ใช้ชื่อจริงในเครดิตงานออกแบบ ไม่ค่อยอยากให้คนรู้ว่าใช้คน openbooks มาออกแบบให้ คิดชื่ออยู่ 2 – 3 วัน สุดท้ายก็ส่งไฟล์งานไปพร้อมกับชื่อคนออกแบบปกในหน้าเครดิตว่า ‘Wrongdesign’

ผู้ชายที่กำลังสืบพันธ์ และ หูหาเรื่อง (openbooks, 2549)

ผู้ชายที่กำลังสืบพันธ์ และ หูหาเรื่อง

2 ปกนี้เป็นผลลัพธ์จากการทำงานหนักและทุ่มเทเรียนรู้งานออกแบบปกหนังสือในช่วงเริ่มต้น มีการทดลองใช้ทางเลือกใหม่ๆ ในการดีไซน์ภาพ เช่นการใช้ภาพเทกซเจอร์ของผิวไม้แทนการใช้สีพื้นในโปรแกรม การออกแบบ Typography ของชื่อหนังสือภาษาไทย การใช้กระดาษพิเศษสำหรับพิมพ์ปก การไม่ใช้ข้อความโปรยปกในการสื่อสาร ฯลฯ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบแบบ Wrongdesign แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็น 2 ปกสุดท้ายที่ออกแบบไว้ก่อนหยุดทำงานออกแบบไป 3 ปี

ไม่มีโทรศัพท์ และเครื่องปรับอากาศ (openbooks, 2549)

ไม่มีโทรศัพท์ และเครื่องปรับอากาศ

หนังสือเล่มที่ 8 หนังสือเล่มที่สวยที่สุดตั้งแต่ทำมา ดีใจที่ได้ทำด้วยกัน
พี่หนึ่ง วรพจน์

06.11.49

JUSTICE (openworlds, 2554)

JUSTICE

หนังสือก็จัดว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็วัดความสำเร็จจากยอดขาย เพียงแต่กับหนังสือที่ขายดีคนก็จะสรรเสริญว่าเพราะหนังสือดีเนื้อหามันดี แต่กับหนังสือที่ขายไม่ได้ คนก็จะสรรเสริญว่าเพราะปกหนังสือเล่มนั้นมันห่วย โชคดีที่ JUSTICE เล่มนี้ผลลัพธ์คืออย่างแรก แน่นอนว่ามันเป็นหนังสือที่เนื้อหาดี แต่ส่วนหนึ่งที่คนออกแบบเชื่อว่าคือครึ่งหนึ่ง ก็คือการตัดสินใจให้น้ำหนักของงานออกแบบปก (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกภาพซ้าย) ไปที่การสื่อสารมากกว่าการพยายามดีไซน์พอหนังสือมันขายดีถึงได้มีโอกาสในการเปลี่ยนปก แล้วค่อยวนมาใช้น้ำหนักแบบดีไซน์ในปก edition ต่อมา (ภาพขวา)

What Caesar Did for My Salad (openworlds, 2557)

What Caesar Did for My Salad

การออกแบบปกหนังสือคือการออกแบบภาพให้กับตัวอักษร

Ernest Hemingway: อหังการแห่งชีวิตห้าว (แสงดาว, 2559)

Ernest Hemingway: อหังการแห่งชีวิตห้าว

สำนักพิมพ์แสงดาวเป็นสำนักพิมพ์เก่าแก่ ยืนหยัดในวงการมามากกว่า 30 ปี การได้มีโอกาสเข้าไปออกแบบปกหนังสือให้กับแสงดาว ทำให้เราเจอสมดุลอีกแบบในงานออกแบบปกหนังสือ เพราะฐานคนอ่านของแสงดาวนั้นคือผู้ใหญ่ที่หลายคนก็อายุราว 40 – 50 ปี ในขณะที่อีกฝั่งก็คือการสร้างคนอ่านรุ่นใหม่ที่อายุราว 20 ปีขึ้นไป บ่อยครั้งที่คนอ่าน 2 กลุ่มของแสงดาวคือพ่อกับลูก การออกแบบปกให้กับแสงดาวก็คือการพยายามออกแบบให้ปกหนังสือเล่มหนึ่งสามารถพูดคุยกับคนได้ทั้งบ้าน วัยผู้ใหญ่ก็ยังสนใจจะหยิบอ่าน และวัยลูกหลานก็ถือปกพกพาได้อย่างไม่เขินอาย เป็นโจทย์ที่ท้าทายการออกแบบปกหนังสือมาก

A Very Short Introduction Book Series (openworlds, 2553-ปัจจุบัน)

A Very Short Introduction Book Series

วิธีคิดของการออกแบบปกหนังสือชุดนั้นไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย คือนอกจากออกแบบให้สวยเมื่อวางอยู่เล่มเดียว หนังสือเล่มนั้นยังควรจะต้องทำงานร่วมกันเมื่อวางร่วมกับเล่มอื่น เข้าใจง่ายแต่ก็ทำให้สำเร็จในการขายได้ค่อนข้างยาก เพราะถึงจะออกแบบให้เข้าชุด แต่เนื้อหาของแต่ละเล่มก็ต่างกลุ่มความสนใจ สำหรับหนังสือชุด VSI นี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารและการขาย เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะมีครอบครองราวคนละ 3 เล่มขึ้นไป ซึ่งซื้อเกิน 2 เล่มก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับหนังสือชุดแบบนี้

พระมหาชนก เวอร์ชันอักษรเบรลล์  (2561)

พระมหาชนก

ทำงานมาระยะหนึ่ง มีความมั่นใจว่าได้ออกแบบหนังสือมาทุกหมวดหมู่แล้ว เจอคนอ่านทุกรูปแบบแล้ว เข้าใจงานออกแบบปกหนังสือ (เกือบ) ทุกประเภท แต่เมื่อมีโอกาสได้ออกแบบปกหนังสือ พระมหาชนก เวอร์ชันอักษรเบรลล์ ก็ทำให้ได้ทบทวนว่าโลกของการอ่านนั้นยังกว้างกว่าที่มั่นใจ ยังมีอีกหลายพื้นที่หรือกลุ่มคนอ่านที่งานออกแบบปกหนังสือยังไม่เคยไปถึง เช่น การออกแบบปกหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา การออกแบบปกหนังสือเล่มนี้ช่วยดึงเรากลับไปสู่พื้นฐานของการออกแบบปกหนังสือ การทำความเข้าใจกับผู้อ่านของหนังสือเล่มนั้นๆ การศึกษาธรรมชาติการใช้งาน และการพยายามคงไว้ซึ่งความสวยงามของงานออกแบบปกแม้ผู้ที่อ่านไม่มีโอกาสเห็น

นักออกแบบที่เชี่ยวชาญเรื่องของกระบวนการพิมพ์

ปกหนังสือหลายๆ เล่มที่ออกแบบโดยเบิ้มนั้น เรามักจะเห็นความชำนาญในระบบการพิมพ์สะท้อนออกมาอยู่เสมอ อย่างปกหนังสือพิมพ์สองสีที่เลือกจะพิมพ์ด้วยสีที่ต่างกัน 2 เฉด การใช้สีพิเศษที่โดดเด่นมากๆ หรือการใช้เทคนิคการพิมพ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างน่าสนใจ ผมถามถึงความสนใจในกระบวนการผลิตจากเบิ้มดูว่ามีที่มาจากอะไร

“เราเชื่อว่าพ่อครัวควรจะรู้จักวัตถุดิบพื้นฐานที่ตัวเองทำ” เบิ้มยกตัวอย่างให้เราฟังก่อนจะเล่าถึงความบังเอิญที่ช่างพิมพ์ทำงานตัวอย่างออกมาสีเพี้ยนจากที่คุยกัน ทำให้เบิ้มขอไปดูที่โรงพิมพ์ว่าเกิดอะไรขึ้น โชคดีที่โรงพิมพ์ที่เบิ้มใช้งานเป็นประจำอย่างโรงพิมพ์ที่ชื่อ ภาพพิมพ์ หรือที่อื่นๆ ต่างเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็กทั้งหมด ซึ่งต่างจากโรงพิมพ์ใหญ่ๆ ที่ต้องควบคุมการผลิตให้ออกมาเยอะตรงตามเป้าหมาย และไม่มีเวลามาคุยกับนักออกแบบ ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล (เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์คนปัจจุบัน) มารับช่วงกิจการต่อจากที่บ้านพอดี ซึ่งจ๊อกเป็นคนที่อ่านหนังสือและอยากเห็นงานพิมพ์คุณภาพสูงเกิดขึ้น เลยทำให้มีการแชร์ไอเดียกันระหว่างนักออกแบบปกและโรงพิมพ์

ปกหนังสือ

ปกหนังสือ

“พอเราไปโรงพิมพ์ก็ได้เห็นเครื่องจักรและการทำงานต่างๆ ไปคุยกับช่างพิมพ์ ได้คุยขั้นตอนการทำงาน เพลตหรือแม่พิมพ์ว่าเป็นยังไง ทำงานยังไง บางครั้งเราก็จะสามารถหาเทคนิคการพิมพ์ใหม่ๆ ได้จากขั้นตอนนี้ ซึ่งความคิดแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไมไ่ด้ไปเห็นขั้นตอนการทำงานจริง แล้วโรงพิมพ์อย่างภาพพิมพ์เขาก็อยากเรียนรู้งานใหม่ๆ เหมือนเรา เขาอยากทำงานที่มันท้าทายช่างของเขา หรือสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นเดียวกัน

“เวลามีกระดาษตัวใหม่มาก็มักจะส่งมาให้เราดูเสมอๆ เราก็เลยได้ทำงานลองผิดลองถูกกันมาเยอะมาก ซึ่งการลองผิดลองถูกพวกนี้ทำให้หนังสือของ openbooks หน้าตาแตกต่างจากชาวบ้าน ทั้งจากการออกแบบ การใช้กระดาษแปลกใหม่ การเข้าเล่ม ซึ่งพอพิมพ์ออกมามันก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสือไปอย่างสิ้นเชิง แล้วเวลาหนังสือขึ้นบนแผง ตัวกระดาษและการพิมพ์มันก็สื่อสารกับคนอ่านและสะท้อนผลลัพธ์ของการออกแบบได้ดี เหมือนมันสร้างความหมายของสำนักพิมพ์ทางเลือกได้อย่างแท้จริง”

แพสชันในการทำงานออกแบบปกหนังสือในขวบปีที่ 15

“หนังสือไม่ใช่สิ่งที่เป็นแพสชันหรือความสนใจของเรา”

คำตอบที่เบิ้มพูดออกมาเมื่อเราถามเขาถึงเรื่องแพสชันในงานที่ทำ ทำเอาผมประหลาดใจ

“บางทีคนก็สะดุ้งเวลาเราพูดว่าหนังสือไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ เราแค่อยู่กับธรรมชาติของมันได้ เพราะเรามักจะถูกสื่อพูดกรอกหูว่าให้ทำงานที่ตัวเองรักจะได้มีความสุขเหมือนไม่ได้ทำงาน เรื่องแพสชันสำหรับเราในปัจจุบันมันเปลี่ยนรูปไปมากจากในช่วงแรกๆ ที่เราทำงานหนักมากแบบเอาเป็นเอาตาย

“แต่หลังจากกลับจากไปเรียนต่อ เรารู้สึกว่าแพสชันสำหรับเราคือการทำงานอย่างมืออาชีพ แค่เอาตัวเองไปอยู่หน้าคอมแล้วก็ทำงานออกมา ต้นทุนและแรงบันดาลใจทุกอย่างก็อยู่ในหนังสือเล่มที่เราจะออกแบบนี่แหละ คิดไม่ออกก็เปิดอ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เจอ และเราก็พยายามตั้งคำถามในงานออกแบบปกหนังสือที่ทำอยู่เสมอว่า ทำมาแล้วเรายังตื่นตาตื่นใจกับมันรึเปล่า ถ้างานที่ออกมามันสวยแบบธรรมดาๆ เราจะพยายามไม่ใช้งานชิ้นนั้น เราจะพยายามสำรวจหาความเป็นไปได้ใหม่ ตั้งคำถามใหม่ และพยายามหาทิศทางใหม่ๆ ในการออกแบบปกหนังสืออยู่ตลอดเวลา”

ก่อนจากกันเราชวนเขาคุยถึงอนาคตของหนังสือ เบิ้มนิ่งคิดไม่นานก่อนตอบ

“เราเคยคุยกับพี่ๆ ในวงการหลายๆ คน เราคิดว่าหนังสือไม่ควรถูกจัดให้เป็นของสูงส่ง คือเราก็ขายของแหละ ไม่ได้ทำอะไรที่พิเศษหรือทางคุณค่า แต่สิ่งที่เราทำขายกันนั้นเป็นของที่มีคุณค่าและพัฒนาความคิด พื้นฐานจิตใจของคน เราควรจะปรับทัศนคติการอ่านหนังสือให้มันยืดหยุ่นมากขึ้น ปัญหาของประเทศนี้คือใครที่อ่านหนังสือจะดูฉลาดทรงภูมิ อาจเพราะทุกคนมักถูกสั่งให้อ่านหนังสือตั้งแต่วัยเด็ก สังเกตดู ถ้ามีใครอ่านหนังสือในมหาวิทยาลัยจะถูกแซวว่าฉลาดทรงภูมิ ใช่มั้ย

“หนังสือไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือคำตอบสูงสุดของการอยากเป็นคนดีหรือมีความรู้ทั้งนั้นแหละ หนังสือมันควรจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษาหาความรู้หรือความบันเทิงให้กับชีวิต ไม่ต่างจากเพลงหรือหนัง

“เราควรทำให้หนังสือมันเรียบง่าย มองหนังสือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งในชีวิต เป็นความสนุกแบบพื้นฐาน ถ้าหนังยังให้แรงบันดาลใจไม่พอ หนังสือคือสิ่งที่จะให้คำตอบกับคุณได้ เรื่องพวกนี้ต่างหากคือเรื่องที่คนในวงการควรจะสื่อสารออกมาให้มากๆ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ข้อความ การอ่าน ความรู้สึก มันจะไม่เปลี่ยนไป แล้วเราจะออกแบบและผลิตหนังสือออกมายังไงให้ตอบโจทย์ของคนอ่านให้มากขึ้น ถ้าทุกคนทำแบบนั้นได้ หนังสือก็จะมีที่ทางของมันและอยู่ได้อย่างเข้มแข็งต่อไป”

กรมัยพล ศิริมงคลรุจิกุล

ลองมาดูอุปกรณ์ประจำโต๊ะทำงานของนักออกแบบปก

 

1. iPod Classic Gen 2

เราเอาไว้ฟังเพลงด้วย แล้วก็ใช้เก็บไฟล์งาน เป็นเหมือน External Harddrive ไปในตัว

2. กาน้ำชา

เราเป็นคนชอบกินชากินกาแฟ ก็เอาไว้ชงกินเวลาทำงาน แล้วงานอย่างเรามันเป็นงานนั่งติดโต๊ะ

ทำงานหน้าคอมนานๆ ก็เอาไว้เบรกให้ตัวเองไม่นั่งทำงานนานเกินไป

3. CD เพลง

เราฟังเพลงเยอะ แล้วงานออกแบบที่เห็นแรกๆ ก็คือแผ่นซีดี เวลาชอบเพลงที่ฟังก็จะเอาปกมาดูอาร์ตเวิร์ก ดูดีไซน์ แล้วเวลาทำงานไปด้วยฟังเพลงไปด้วยมันก็ช่วยให้ทำงานออกมาง่ายขึ้น

 

4. หนังสือออกแบบ

ช่วงหลังๆ พอมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นก็มักจะแวะเข้าไปร้านหนังสือ พลิกดูปกหนังสือเล่มต่างๆ ว่าใครออกแบบ ก็เริ่มเห็นคนออกแบบปกหนังสือแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ เราชื่นชอบนักออกแบบอยู่สองสามคนที่เหมือนเป็นครูบางอย่างของการทำงาน คือ Wang Zhi Hong  คนไต้หวันที่เป็นเหมือนตัวแทนนักออกแบบจากตะวันออก กับ Peter Mendelsund ที่เหมือนเป็นนักออกแบบจากฝั่งตะวันตก พอได้เห็นทั้งสองคนก็เหมือนได้เห็นวิธีคิดและประวัติศาสตร์ของการออกแบบหนังสือ

5. เลโก้

เราเป็นเด็กที่ชอบเล่นเลโก้ โชคดีที่ที่บ้านซื้อเลโก้ให้เล่น เรารู้สึกว่ามันช่วยเชฟไอเดียและความคิดในการออกแบบ เราเพิ่งค้นพบตอนโตว่าอาชีพที่เราอยากเป็นคือสถาปนิก เวลาเห็นตึกเห็นโครงสร้างหรือรายละเอียดของอาคารเรารู้สึกว่าคล้ายกับงานออกแบบหนังสือเลย เวลาไปต่างประเทศเราก็ดูอยู่ 2 อย่าง คือบ้านเมืองเก่ากับร้านหนังสือ แล้วทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสและเป็นไปได้ เวลาเจอเลโก้คอลเลกชันต่างๆ ก็จะซื้อเก็บไว้

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan