11 โมงตรงแดดเปรี้ยงร้อนผ่าว ผมเดินเหงื่อหยดอยู่แถวย่านวัดดาว ปิ่นเกล้า เพื่อหาสถานที่ตามนัดหมาย ผมไม่ได้มาตามหา เน วัดดาว ผู้ที่ได้รับเกียรติเอาย่านนี้มาเป็นนามสกุล แต่ผมมาเพราะถูกนางกวัก กวักเรียกให้มาหาผู้ออกแบบต่างหาก มีนักออกแบบกลุ่มหนึ่งลงมือออกแบบนางกวักออกมาใหม่ ใช่ครับ นางกวักที่เป็นของขลังเรียกลูกค้าประจำร้านค้าของสังคมไทยนี่แหละ ผมเคยเห็นนางกวักรูปแบบใหม่นี้มาได้สักพัก แล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจมากๆ มากขนาดที่ตัวนักออกแบบคนนี้นั้นได้ถูกเสนอชื่อให้เป็น Designer of the Year ประจำปี 2017 มาแล้วอีกด้วย และตอนนี้ ด้วยการช่วยเหลือของแผนที่ในโทรศัพท์หรือพลังงานบางอย่างของนางกวักก็ไม่ทราบได้ ผมเดินมาถึงจุดนัดหมายแล้ว ป้ายด้านหน้าทาวน์เฮาส์ห้องนั้นติดตัวอักษรไว้ว่า THIS.MEAN.THAT

นางกวัก

THIS.MEAN.THAT เป็นสตูดิโอที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักออกแบบ 2 คน คือ นก-ธันย์ชนก ยาวิลาศ และ ไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร ทั้งคู่เรียนจบจากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พอเรียนจบทั้งสองคนต่างก็ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ นกศึกษาด้านการสื่อสารและกราฟิกดีไซน์ ส่วนไผ่เลือกเรียนด้านการออกแบบเครื่องประดับ โทษฐานที่รู้จักกันมาตั้งแต่ที่ลาดกระบัง จึงทำให้ระหว่างที่อยู่อังกฤษทั้งคู่ได้ไปช่วยทำโปรเจกต์ของคอร์สเรียนปริญญาโทให้กันและกันอยู่เสมอ พอนำความถนัดเรื่องการสื่อสารและกราฟิกมาผสมการออกแบบเครื่องประดับ ทำให้เกิดไอเดียและแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้

นางกวัก นางกวัก

พอเรียนจบกลับมาไทย ทั้งคู่ต่างก็เข้าทำงานในสายงานที่ตัวเองเรียนมา แล้วก็พบปัญหาว่า ตอนเริ่มโปรเจกต์เรามักใส่ไอเดียลงไปในงานเต็มร้อย แต่ด้วยข้อจำกัดของตลาดทำให้ไอเดียเหล่านั้นค่อยๆ ลดลง จนตอนที่ออกสู่ตลาดอาจจะเหลือไอเดียแรกแค่ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“เรารู้สึกว่ามันน่าจะมีงานออกแบบอะไรสักอย่างที่มี content ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับการตลาด แล้วก็อยากลองทำอะไรสนุกๆ เหมือนเป็นที่ทดลองงานแปลกๆ ของเรา พอเราหาพื้นที่ไม่ได้ก็เลยคิดว่างั้นเราสร้างพื้นที่ขึ้นมาเองเลยละกัน ด้วยโจทย์ที่เราชอบตีความเรื่องการสื่อสาร เราก็เลยอยากทำของแต่งบ้านแบบที่มีเรื่องราว มี content ซ่อนอยู่ในนั้น เพราะถ้าทำของแต่งบ้านแบบทำแจกัน กรอบรูป ก็ไม่รู้เราจะทำไปทำไม เพราะคนอื่นทำกันเต็มไปหมดแล้ว”

สิ่งที่ทั้งสองคนคิดจะทำคือ ของแต่งบ้านที่มีเรื่องราวซ่อนอยู่ในนั้น โดยมีแนวความคิดหลักๆ คืิอ ทำสิ่งที่คนคุ้นเคย แต่ทำให้มันเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ได้ สิ่งแรกที่ทั้งสองคนหยิบมาออกแบบคือ นางกวัก

“เพราะเป็นงานออกแบบชิ้นแรก เราเลยนึกถึงคำว่า welcome หรือ ยินดีต้อนรับ เหมือนเป็นการเปิดตัว การเชื้อเชิญ เราก็มองหาว่าอะไรที่สื่อถึงการเชื้อเชิญของคนไทย บ้านของไผ่อยู่แถววัดราชบพิตร ย่านร้านขายพระองค์ใหญ่กับพวกเครื่องสังฆภัณฑ์ พอเราไปเดินรอบๆ บ้านก็บังเอิญเห็นนางกวัก เลยเริ่มคุยกันว่า นางกวักเป็นของแต่งบ้านไทยรึเปล่า ถ้าเราตัดเรื่องความเชื่อออกไป เวลาเราเห็นนางกวักที่ไหนก็รู้สึกว่าเป็นบ้านคนไทยเลย ก็เลยคิดว่าคอลเลกชันแรกทำของแต่งบ้านที่เป็นนางกวักดีกว่า”

นางกวัก พระ นางกวัก

ขั้นตอนแรกของการทำงานเริ่มต้นโดยการที่ทั้งคู่ซื้อนางกวักจากร้านนั้นกลับมา แล้วเอาตะไบมาค่อยๆ ลดทอนรายละเอียดส่วนที่ไม่ชอบออกไป ระหว่างที่ทำก็เจอทั้งผ้ายันต์ข้างในนางกวัก และถูกนางกวักจ้องหน้ากลับมาตลอด จึงทำให้ทั้งสองคนหวาดผวาตอนทำงานอยู่บ่อยๆ ทั้งคู่เลยเปลี่ยนไปหาช่างปั้นให้ขึ้นแบบนางกวักจากขี้ผึ้งมาใช้ทำงานแทน เพื่อลดความน่ากลัวของนางกวักลง จากความตั้งใจแรกที่อยากให้นางกวักเปลี่ยนรูปทรงไปมากๆ ให้คล้ายพริตตี้มอเตอร์โชว์ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะสมและไม่สื่อสารความหมายที่ตั้งใจไว้ สุดท้ายทั้งสองคนตัดสินใจเก็บรูปทรงเดิมๆ ทั้งหมดไว้ แต่เปลี่ยนสิ่งของที่นางกวักถือให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นแทน

นางกวัก นางกวัก

นางกวัก

“เราไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ สิ่งที่เราทำเป็นเหมือนการบันทึกเรื่องราวของยุคสมัย นางกวักที่ทำในปี 2014 ความร่ำรวยที่นางกวักถือก็จะเป็นของยุคนั้น ส่วนนางกวัก 2017 ก็จะมีของแสดงความร่ำรวยที่เปลี่ยนแปลงไป กระเป๋าถือจะเป็นอีกแบบ แว่นจะเป็นอีกทรง ตามที่ในยุคนั้นๆ เขาชอบกัน ลูกค้าที่ซื้อไปเขาก็ถวายมาการง ถวายน้ำแดง ให้นางกวักกันปกติ ตอนนกทำงานที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยได้เห็นงานที่หลากหลาย เลยไม่รู้สึกว่าการแตะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องน่ากลัว วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถ้าวัฒนธรรมไม่เปลี่ยนแปลงมันก็จะตายและหายไป”

ผมทึ่งที่เห็นการหยิบเอาความเป็นไทยแบบบ้านๆ มาทำงานออกแบบ บ้านๆ ในที่นี้ไม่ใช่การดูถูก แต่หมายถึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบส่วนมากไม่ได้สนใจจะหยิบจับมาใช้ ผมเลยถามถึงที่มาในการใช้สิ่งนี้มาออกแบบ

“การหยิบเอาของจักสาน ลายกระหนก หรือลายรดน้ำ มาใช้ มีคนทำเยอะแล้ว เราอยากทำสิ่งที่ยังไม่มีคนทำ มีคนถามศิลปินคนหนึ่งว่า คุณเป็นคนออสเตรีย ก็ต้องนำเสนอความเป็นออสเตรียออกมาสิ เพราะตอนนั้นมีกระแสแรงมากว่าศิลปินไทยต้องนำเสนอความเป็นไทย เขาตอบว่า เขาไม่รู้หรอกว่าอะไรคือคำว่า ความเป็นออสเตรีย แต่มันคือสิ่งที่เขาเห็นและอยู่ด้วยทุกวัน มันคือการดำเนินชีวิตของเขา เราก็รู้สึกแบบนั้น เราอยู่กันแบบนี้ สิ่งแวดล้อมเราเป็นอย่างงี้ งานก็เลยออกมาประมาณนี้ เราไม่ได้อยากทำเพราะมันคือความเป็นไทย”

นางกวัก

นกและไผ่เปิดตัวนางกวักในงานแฟร์แสดงสินค้างานหนึ่งจากการเชิญชวนของรุ่นพี่ที่รู้จัก และฟีดแบ็กที่ได้มาก็ถือว่าน่าตื่นเต้นและตกใจ

“หลังจากเราได้ต้นแบบแล้วก็ให้ทางโรงงานผลิตนางกวักขึ้นมาให้ แต่ตอนที่ได้รับมาพบว่าดูเล็กเกินไป เพราะมาแค่ตัวนางกวักอย่างเดียว เราก็ไปซื้อฐานที่เขาวางพระจริงๆ มาต่อ แล้วก็เอาแก้วครอบพระนี่แหละมาครอบไปอีกชั้น ตอนนั้นคนก็ค่อนข้างชอบกัน และคนจำนวนมากก็นึกว่ามันจะมีกลไกอะไรไหม แบบนางกวักที่ขยับแขนได้แบบแมวกวัก”

“ต่อมาเราไปออกงาน BIG+BIH ก็ขายดีเลย ส่วนหนึ่งคือร้านที่มาออกบูทขายของดัวยกันเขาซื้อกันไปตั้งหน้าร้าน คนที่เห็นก็ถามว่า คุณซื้อนางกวักมาจากไหน เหมือนโฆษณาให้เราด้วย ซึ่งมันคือฟังก์ชันของนางกวัก แต่ไม่ได้แค่กวักคนเข้าร้านนั้นๆ ร้านเดียว แต่เผื่อแผ่มาถึงคนทำนางกวักอย่างเราด้วย”

หลังจากไปออกงานแฟร์แสดงสินค้าบ่อยเข้า ทั้งคู่ก็พบบัญหาว่าการมีสินค้าเพียงแค่ชิ้นเดียวในบูททำให้คนไม่ค่อยสนใจ เลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะออกผลิตภัณฑ์เพิ่มเป็นคอลเลกชันที่ 2 ซึ่งควรจะแสดงถึงความเป็นไทยที่แตกต่าง

นิตยสาร

นิตยสาร

“ตอนนั้นเราย้ายมาอยู่แถววัดดาว แถวนี้มีแผงหนังสือที่นิตยสารแทงหวยเยอะมาก แบบบอกให้เราไปที่นี่ ขูดต้นไม้ตรงนั้น ขอพรกับศาลที่นั่น สอนวิธีการขูด สอนวิธีการขอ เจ๋งมาก เป็นเหมือนนิตยสาร Kinfolk ของวงการหวย

“เราสนใจเรื่องของความเชื่อของคนไทย เหมือนเป็น Pop Culture อย่างหนึ่ง เลยคิดคอนเซปต์ของคอลเลกชันนีี้ว่า Made in Thailand พอพูดถึงการขอหวย เรานึกถึงสัตว์ที่มีรูปร่างผิดปกติ หมูสองหัว จิ้งจกสองหาง วัวสิบขา ถ้าเป็นประเทศเจริญแล้วจะถูกนำไปวิจัย แต่ในบ้านเราจะถูกเอาไปตีเป็นหวยแทน เราทำตัวหมูสองหัวออกมา แต่พอปล่อยออกมาแล้วเงียบกริบ คนไม่เข้าใจกัน เราต้องเล่าเรื่องราวการขอหวยให้คนที่มาถามฟัง เล่าจบคนก็หัวเราะแล้วเดินออกไปหมด คนใหม่มากูก็ต้องเล่าอีกแล้ว (หัวเราะ) เล่าเรื่องเดิมทั้งวันเลย แต่คนที่เก็ตเนี่ยไม่ถามอะไรเลย อย่างแม่บ้านที่ทำความสะอาดในงานเนี่ย เดินมาเจอก็มาลูบหมูเราเลย แล้วถามว่า จะมีเลขไหมเนี่ย แบบชอบมากเลย”

“พอดีตอนนั้นในสตูดิโอมีน้องมาช่วยงานอยู่ 2 คน เราก็ให้น้องช่วยออกแบบต่อยอดจากของที่เรามีให้เป็นของชิ้นเล็กๆ แต่ยังคงเชื่อมโยงกับของที่เราเคยทำไปแล้ว คนแรกนำเสนอผ้ายันต์กับพระเครื่อง เอาโปรดักต์ที่เราทำไปใช้เป็นลายของทั้งผ้ายันต์และตัวพระเครื่อง ส่วนอีกคนไปทำการบ้านมาว่าคนสมัยนี้ต้องการอะไรในโลกออนไลน์ ก็พบว่าเราต้องการให้คน Like ให้คน Love และก็ต้องการรวย พอสรุปมาแบบนี้เราก็หยิบเอามือ เอาท่าทาง ของนางกวักมาต่อยอดทำเป็นเข็มกลัดชิ้นเล็กๆ ก็ช่วยให้บูทมันไม่เหงาเกินไป”

นางกวัก

นางกวัก

หลังจากคอลเลกชันที่ 2 ผ่านไป และเริ่มเข้าสู่เทศกาลไปออกงานแฟร์ในอีกหลากหลายที่ ก็ถึงเวลาที่ต้องออกคอลเลคชันใหม่อีกครั้งนึงแล้ว

“เราคุยกันว่าน่าจะทำคอลเลกชันใหม่ที่ฉีกออกมาจากที่เคยทำ เพราะภาพลักษณ์เราตอนนั้นดูเป็นสำนักทำของขลังไปแล้ว (หัวเราะ) เลยพยายามออกแบบสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อของขลังอีก เราเห็นวินมอเตอร์ไซค์ ที่วินมีโซฟา มีโต๊ะ มีปลั๊กที่เป็นโคมไฟด้วย มันแปลกมาก เพราะมันคือการเอาพื้นที่สาธารณะมาทำเป็นพื้นที่ส่วนตัว มันเป็นความย้อนแย้งกันเองที่รุนแรงมาก เราเคยเห็นฝรั่งมาถ่ายรูปพื้นที่แบบนี้แล้วไปจัดเป็นนิทรรศการ โด่งดังที่เมืองนอกเลยนะ เราตัดสินใจเอาไอเดียนี้เป็นคอลเลกชันที่ 3 คือ ‘Feeling like a home’ เริ่มออกแบบเลยจากของที่เราไปเจอมา อย่างพานที่เชื่อมติดกับแก้ว หรือปลอกหมอนที่ลอกลวดลายกราฟิกมาจากเก้าอี้พลาสติก และอีกอันที่ชอบมากก็คือโคมไฟที่เอารูปทรงของกรวยจราจรมาทำ คือตอนนั้นบ้านเราฮิตเอา Cactus มาแต่งบ้านกัน ก็เลยเอาผิวและรูปทรงของ Cactus มาผสมกับกรวยจราจรและออกมาเป็นโคมไฟ ปรากฏว่าปล่อยออกมาปุ๊บ เงียบ อ่าว ฉิบหายละ ลงทุนไปตั้งเยอะ (หัวเราะ)”

THIS.MEAN.THAT THIS.MEAN.THAT

THIS.MEAN.THAT

“ถึงไม่อยาก แต่ก็ต้องเรียกนางกวักกลับมา ตอนนั้นถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง คือเราไปรู้จักกับช่างปั้นคนนึง คือพี่บรรลือธณวรรฒ วงษ์เจริญธรรม จาก Tarabunya ด้วยความที่เราเคารพและนับถือในงานฝีมือช่างอยู่แล้ว ก็เลยไปคุยกับเขาว่าอยากทำนางกวักด้วยกันแบบเป็น co-project เราบอกไอเดียให้ช่างขึ้นรูปด้วยสไตล์ของพี่เขา เป็นแนวอ่อนช้อยหน่อย เขาทำออกมาสวยมาก จนเรารู้เลยว่าคอลเลกชันอื่นจบสิ้นแน่นอน เพราะทุกคนจะสนใจที่นางกวักอย่างเดียว”

THIS.MEAN.THAT

หลังจากทำมา 3 คอลเลกชัน ผมอยากรู้ว่าทั้งคู่ได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง ทั้งในด้านการออกแบบสื่อสารและด้านการตลาด ซึ่งสิ่งหลังเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งสองคนได้เริ่มก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้ขึ้นมา

“เรื่องการอยู่รอดทางธุรกิจ การที่เราทำทุกอย่างเองเป็น SME แบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียของเราคือถ้ามียอดสั่งซื้อมากๆ เราไม่สามารถทำให้ได้ แต่ข้อดีของรูปแบบนี้ก็เป็นจุดแข็งของเราเหมือนกัน ด้วยความที่มันไม่ได้มีจำนวนเยอะ ลูกค้าก็พร้อมจะจ่ายให้กับของที่ไม่ซ้ำแบบใคร ร้านค้าที่เป็น concept store หรือ selected shop เลยมาสั่งซื้อกับเราแทน ลูกค้าก็จะแฮปปี้ เพราะเขาไม่อยากได้ของซ้ำกับใคร มันเป็นเรื่องมูลค่ากับคุณค่า ถ้าเราเน้นผลิตเยอะๆ ขายเยอะๆ ราคาก็จะถูกลง แต่พอเราทำเองทุกขั้นตอน ทำด้วยความใส่ใจมันก็มีมูลค่าที่สูงกว่า แต่การที่เรามาทำอะไรแบบนี้ในตลาด มันไม่ได้อยู่ง่ายนะ การที่เราทิ้งเงินเดือนประจำออกมาทำสิ่งนี้ ก็เหมือนเป็นการตามหาคุณค่าของตัวเราเองเหมือนกัน”

“ส่วนเรื่องของการออกแบบ หลังจากเราทดลองทำงานมาหลากหลายอย่าง เราก็พบว่าการสื่อสารกับคนหมู่มากเป็นเรื่องยาก ยังไงเราก็ต้องออกแบบในสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่ดี เพราะเข้าถึงได้ง่ายกว่า บางครั้งไม่ได้หมายถึงแค่คนไทยอย่างเดียว อย่างนางกวักของเราถ้าเป็นฝรั่งที่เคยไปญี่ปุ่นมาเขาก็เก็ตเลย เพราะเคยเห็นแมวกวักมาก่อน คนญี่ปุ่นก็ชอบมากเพราะมันเหมือนแมวกวัก เหมือนมันมีเรื่องเชื้อชาติ วัฒนธรรม มาเป็นกำแพงด้วย”

THIS.MEAN.THAT THIS.MEAN.THAT

THIS.MEAN.THAT

สุดท้ายก่อนจากกันไปในวันนี้ ผมถามถึงก้าวต่อไปของสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ ว่าจะเป็นยังไงต่อไป

“อยากให้ที่นี่เป็น artist residency หรือเป็น co-working space ให้เหล่าศิลปินคนอื่นๆ เพื่อจะได้มาร่วมกันแชร์ไอเดีย แชร์การทำงานหรือแนวคิดบางอย่างให้กันและกันได้

“แต่ในส่วนของการออกแบบของแต่งบ้าน มันยังคงเป็นการทดลองการสื่อสาร สื่อความหมาย แต่ตอนนี้การทดลองยังคงอยู่ที่ไทยเป็นหลักเพราะบ้านเราอยู่ที่เมืองไทย แต่สุดท้ายปลายทาง จุดหมายสูงสุดของเราที่ยากมากๆ แต่จุดที่เราจะพยายามไปให้ถึงก็คือ เราอยากทำงานออกแบบที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม มันคือภาษาสากลที่ใครๆ บนโลกนี้ก็เข้าใจ คือเหมือนเอางานไปวางที่ไทยก็เข้าใจ ฝรั่งเศสก็เข้าใจ เยอรมนีก็เข้าใจ เหมือนเป็นภาษาสากลอีกภาษานึงในโลกใบนี้”

ผมมั่นใจว่าโอกาสเหล่านั้นก็คงจะถูกกวักให้เข้ามาในชีวิตของทั้งสองคน แบบเดียวกันกับที่กวักผมให้มาเจอพวกเขากันในวันนี้

THIS.MEAN.THAT

Website: www.thismeansthatstudio.com
Facebook:  thismeansthat

นอกจากตัวสตูดิโอ this.mean.that แล้ว ไผ่ยังเป็นนักออกแบบเครื่องประดับที่มีดีกรีได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด Talente ในสาขานักออกแบบเครื่องประดับของประเทศเยอรมนี และเพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year ของไทยในสาขานักออกแบบเครื่องประดับประจำปี 2017 มาหมาดๆ สนใจไปเยี่ยมชมงานของไผ่ได้ที่ panjapolkulp.com

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan