13 มิถุนายน 2017
2 K

โพสต์อิทถูกออกแบบมาเพื่อให้ดูสะดุดตา และสื่อสารเนื้อหาบางอย่าง

ใครๆ ก็ใช้โพสต์อิทหน้าที่นั้น รวมถึงชายคนนี้ แม้ว่าวิธีการของเขาจะแปลกประหลาดสักหน่อย แต่ใครๆ ก็สะดุดตากับโพสต์อิทของเขา และใครๆ ก็ได้รับสารจากโพสต์อิทนี้แม้จะอยู่ห่างออกไปหลายสิบเมตร เพราะเขาไม่ได้เขียนเนื้อหาบนโพสต์อิท แต่เอาโพสต์อิทมาเรียงเป็นเนื้อหา

วีร์ วีรพร คือชายคนนั้น เขาเป็นนักออกแบบกราฟิก มีสตูดิโอออกแบบของตัวเองชื่อ Conscious Studio ชอบขี่จักรยานสีแดง ชอบใส่เสื้อลายดอก ชอบการออกแบบหลายหลายแขนง ชอบพูดคุยกับนักออกแบบคนอื่นๆ เคยทำรายการ Podcast และรายการทีวีชื่อ design ไป บ่นไป ชอบผสมผสานความสนุกแบบไทยๆ ลงไปในงานออกแบบ

ชอบโพสต์อิท และชอบแปะโพสต์อิท

นี่คือเรื่องราวของนักออกแบบที่หลายคนเรียกเขาว่า นักแปะโพสต์อิท

ที่เราเอามาแปะให้อ่าน

post-it

post-it

post-it

post-it

จุดเร่ิมต้นความสนใจในงานออกแบบกราฟิกของ วีร์ วีรพร เร่ิมต้นจากหน้าปกอัลบั้มเพลง

ช่วงเรียน ม.4 เขาได้อ่านนิตยสาร Music Express ฉบับที่ 100 ซึ่งรวบรวมอัลบั้มเพลงที่น่าสนใจตั้งแต่ยุค 60 เอาไว้เต็มเล่ม เมื่อเขาเดินเข้าไปตามหาอัลบั้มเหล่านี้จากร้านโดเรมี (ร้านขายเทปเพลงในสยามสแควร์ที่โด่งดังมากในยุคนั้น) หนุ่มน้อยคนนี้ก็สะดุดตากับหน้าปกอัลบั้มเพลงในตำนานมากมาย สองสามปีหลังจากนั้นเขาก็โดนฮุกด้วยการออกแบบหน้าปกอัลบั้มของค่ายเพลงเบเกอรี มิวสิค ซึ่งแตกต่างจากค่ายอื่นอย่างชัดเจน เช่น ภาพปกโมเดิร์นด็อกชุดแรกเป็นงานคอลลาจ ปกของบอย โกสิยพงษ์ ก็เป็นภาพถ่ายสิ่งของต่างๆ ที่ไม่เห็นหน้าตาคนร้อง แต่สื่อสารอารมณ์ของอัลบั้มได้ดีมาก วงการโฆษณาในยุคนั้นก็เริ่มใช้ภาพภาพเดียวมาประกอบกับข้อความที่มีคาแรกเตอร์ของตัวอักษร วีร์เร่ิมสัมผัสได้ว่า การเล่าเรื่องด้วยการใช้ภาพและตัวอักษรมีพลัง จึงเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์และ Visual Communication ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนที่มาของการแปะโพสต์อิท ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นไกลกว่านั้น

“ผมโตมากับเกมแฟมิคอม เสน่ห์อย่างนึงของเกมยุคนั้นคือ มันเว้นช่องว่างไว้ให้จินตนาการมากกว่าเกมยุคนี้ ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีภาพยุคนั้นทำให้การออกแบบสิ่งต่างๆ ในเกมต้องลดทอนรายละเอียดลง แต่คนยังดูรู้เรื่อง เช่น คาแรกเตอร์ของมาริโอ้ถูกสร้างขึ้นจากจุดสี (pixel) เล็กๆ ไม่กี่จุดเท่านั้น แต่ดูแล้วรู้ว่า เขาเป็นช่างประปา มีหนวด ใส่เอี๊ยม ใส่หมวก ส่วน type ของตัวอักษรชื่อเกมก็อยู่ในข้อจำกัดนี้เช่นกัน แต่ก็ยังคงอารมณ์และความรู้สึกไว้ได้อย่างดี ผมโตมากับความงามของการออกแบบที่ลดทอนรายละเอียดแบบนี้ ถึงทุกวันนี้ก็ยังชอบคาแรกเตอร์แบบนี้อยู่”

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

เจ้าหนูอะตอม

good design award

good design award

post-it

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย วีร์เร่ิมต้นทำงานออกแบบกราฟิกในบริษัทชั้นนำของประเทศ ก่อนจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ พอกลับมาได้สักพักก็ตัดสินใจเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเองที่ซอยพหลโยธิน 8 ซึ่งทำให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นนักแปะโพสต์อิทเต็มตัว…โดยบังเอิญ

“ผมไม่ได้มีเงินทุนมากนัก เลยเช่าออฟฟิศอยู่ชั้นล่างสุดของอพาร์ตเมนต์ ติดกับร้านซักรีด พอคนมองเข้ามาเห็นมีคอมพิวเตอร์เยอะๆ ก็ชอบเดินเข้ามาถามว่า รับพรินต์งานไหม หรือคิดว่าเป็นร้านเน็ตก็มี

“ผมเลยคิดว่าต้องตกแต่งอะไรบางอย่างให้คนรู้ว่านี่คือบริษัทออกแบบ จะตัดสติกเกอร์มาติดก็มีราคาสูง แล้วก็คงเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ได้ ผมเห็นโพสต์อิทบนโต๊ะก็เลยอยากลองเรียงเป็นข้อความอะไรบางอย่าง”

วีร์เล่าต่อว่า งานแรกของเขาคือการแปะโพสต์อิทเป็นรูปโลโก้บริษัท Concious หลังจบงานเขาก็พบว่า ความสนุกการแปะโพสต์อิทคือการที่คนในออฟฟิศได้ใช้เวลาแปะร่วมกัน เขาก็เลยชวนทีมงานแปะโพสต์อิทกันอีกเรื่อยๆ ซึ่งดูเหมือนโจทย์จะท้าทายขึ้นตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่แปะรูปร่มและฝนต้อนรับหน้าฝน แปะเป็นคำว่า We want you ตอนเปิดรับสมัครงาน แล้วก็แปะเป็นรูปแอปเปิ้ลในวาระการจากไปของสตีฟ จ๊อบส์

post-it

ภาพและวิดีโอเบื้องหลังการแปะโพสต์อิทของวีร์ไปเตะตาเอเจนซี่ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จึงชวนเขาไปแปะโพสต์อิทในงาน ‘งานวัดลอยฟ้า’ ที่ห้างสยามพารากอน

“ถือเป็นการก้าวกระโดดอย่างมาก เราเคยติดบนกระจกหน้าออฟฟิศแค่ไม่กี่ตารางเมตร อยู่ดีๆ ได้ไปติดกลางห้างในพื้นที่ใหญ่ขึ้นเป็นสิบเท่า มันใหญ่เกินกำลังทีมงานที่มีเลยคิดว่า น่าชวนให้ผู้ร่วมงานมาช่วยติด ผมกับทีมงานเลยช่วยกันระดมไอเดียออกมาได้ว่าให้ผู้ที่มาร่วมงานนี่แหละเป็นคนติด โดยโยงเข้ากับกิจกรรมในงาน ผ่านคำสอนของท่านที่ว่า ‘ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา’

“ด้วยการชวนเขียนคำสัญญาว่าจะทำความดีลงบนโพสต์อิทสีต่างๆ แล้วทีมงานของเราจะแนะนำว่าต้องติดตรงไหน พอจบงานก็จะเห็นโพสต์อิทคำสัญญาของผู้ร่วมงานเรียงเป็นรูปหน้าพระพุทธเจ้า”

งานวัดลอยฟ้า

เส้นทางการแปะโพสต์อิทของวีร์ยังไปได้ไกลกว่านั้น

ผมสงสัยตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่า ทำไมนักออกแบบไทยถึงไม่กล้าเล่นหรือดัดแปลงตัวอักษรไทยในงานออกแบบเลย อย่างป้ายหินยักษ์หน้าสถานที่ราชการก็เอาตัวอักษรไทยพื้นฐานทั่วไปมาขยายขนาดวางเรียงต่อกันเฉยๆ ไม่มีการประดิดประดอยอะไรเลย ต่างจากตัวอย่างงานกราฟิกเก่าๆ ในหนังสือ สิ่งพิมพ์สยาม ซึ่งมีการประดิษฐ์ตัวอักษรที่เหมาะสมกับสารที่ต้องการสื่อ ดูแล้วงดงาม ละเมียดละไม

สิ่งพิมพ์สยาม

สิ่งพิมพ์สยาม

ผมพยายามหารูปทรงใหม่ๆ ให้ตัวอักษรไทยอยู่เสมอ การที่เรามีตัวอักษรเป็นของตัวเองคือวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยชาติเดียว ไม่มีนักออกแบบชาติไหนจะใช้เก่งกว่าเราแน่ๆ แต่เราไม่เคยหยิบเอามาใช้เลย น่าเสียดายมาก ช่วงนั้นผมเจอคุณสุหฤท สยามวาลา ที่กำลังจะลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ

“ผมเลยทำโลโก้แบบ fan art ขึ้นมา จนกลุ่มผู้สนับสนุนเอาไปใช้กันจริงจัง แล้วก็มาแปะเป็นโพสต์อิทโปรโมตชื่อและเบอร์ของแก ซึ่งผมพอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาพอสมควร”

วีร์ วีรพร

สถานะนักแปะโพสต์อิทของเขาเด่นชัดขึ้น เมื่อคอมมูนิตี้มอลล์ชื่อดังอย่าง The COMMONS เชิญเขามาร่วมแปะโพสต์อิทเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เคียงข้างศิลปินชื่อดังมากมาย ผลตอบรับจากผู้ชมก็ดีมาก จนวีร์ขอใช้พื้นที่นี้แปะโพสต์อิทสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ไปตลอดทั้งปี

Post-it for The King #2

The making of our second Post-it art for HeArt for The King at The COMMONSDesigned by Panya MatanangkoonTime-lapse video by Zrs Gamboa#consciouspostit

Gepostet von conscious am Dienstag, 20. Dezember 2016

แล้วงานของวีร์ยังไปเตะตาเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่าง 3M จนได้คุยกันและได้ส่งโพสต์อิทมาให้ใช้

แล้วก็ยังชวนไปแปะโพสต์อิทในร้าน B2S อีกหลายที่

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

เส้นทางสายนักแปะโพสต์อิทของวีร์ยังมีทางให้ก้าวไปอีกยาวไกล วีร์บอกเราว่า “ผมอยากเพิ่มสถานะจากนักออกแบบ อาจารย์ นักแปะโพสต์อิท ให้ไปเป็นศิลปินที่ทำงานสื่อสารประเด็นที่อยากเล่าผ่านภาพแบบพิกเซล วัสดุอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราจับมาเรียงกัน

“ส่วนวิธีการก็ไม่จำกัด อย่างเช่นมีคอนเสิร์ตติดต่อเข้ามาว่าอยากชวนแปะโพสต์อิทแบบสดๆ ให้เป็นฉากด้านหลังของนักดนตรีในระหว่างเล่น เหมือนเป็น performance art อาจจะแปะเพลงละภาพ หรือทั้งคอนเสิร์ตเป็นภาพใหญ่ภาพเดียวก็ได้ ถ้าเราซ้อมคิวดีๆ มันเป็นไปได้ทั้งนั้น เสน่ห์ของโพสต์อิทคือ มันจับต้องได้ เราเห็นมันค่อยๆ เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราทีละแผ่นจนเสร็จ

“แล้วก็มีโรงเรียนบ้านดอยช้าง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ Design for Disaster ไปช่วยสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนที่เสียหายจากแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย

“เราก็ได้ทำงาน Pixel Art จาก EVA foam ประมาณ 16,000 ชิ้น เล่าเรื่องชาติพันธุ์ที่หลากหลายของนักเรียนในโรงเรียนนี้ และการพัฒนาดอยช้างโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปลูกกาแฟต้นแรกที่นี่ จนกาแฟกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งงานทั้งหมดจะถูกขนขึ้นไปติดตั้งตอนต้นเดือนกรกฎาคมนี้”

ในโลกที่ทุกอย่างอยู่บนหน้าจออันแสนจะคมชัด เราจะมาดูงานโพส์ตอิทพิกเซลไปทำไม

“ทุกอย่างรอบตัวเราอยู่บนจอภาพหมดแล้ว แต่เราไม่ได้วิวัฒนาการให้เป็นเหมือนแมลงเม่าที่วิ่งเข้าหาแสงโดยอัตโนมัตินะ เรายังถวิลหาสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส จับต้องได้ หนังอย่าง Transformers เมื่อก่อนสมัยผมเด็กๆ เวลาหุ่นยนต์แปลงร่างก็แค่หมุนๆ ขยับๆ ทีสองทีรถก็กลายเป็นหุ่นยนต์แล้ว ซึ่งในทางวิศวกรรมมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เรามองว่านั่นคือพื้นที่ของจินตนาการไง

“แต่ในหนังยุคนี้ฉากแปลงร่างถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกแบบสมจริงมาก เห็นลูกสูบ เห็นโช้กอัพ แต่มันไม่เหลือพื้นที่ให้เราจินตนาการอีกแล้ว เพราะผู้ผลิตหนังเขาคิดมาให้เราหมด

“ความซูเปอร์ละเอียดอย่างจอ 4K อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนถวิลหาตลอดไป เพราะมันจับต้องไม่ได้ แล้วเราก็เร่ิมเหนื่อยและล้าเกินไปแล้ว ผมเลยเชื่อในสิ่งที่จับต้องได้ แม้จะไม่ละเอียดมากเท่า แต่มันมีคุณค่าบางอย่างอยู่ในนั้น คุณค่าที่เรารับมันได้โดยไม่เหนื่อยและล้าจนเกินไป และยังเว้นที่ว่างให้จินตนาการได้ทำงาน

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมนักออกแบบกราฟิกคนนี้ถึงพยายามหาเวลาว่างหนีจากหน้าจอมาจับกระดาษแปะผนังอย่างสม่ำเสมอ

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

วีร์ วีรพร

ขอบคุณ Conscious

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan