18 กุมภาพันธ์ 2021
7 K

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

นานๆ ทีจะฝันกับเขาบ้าง แต่พอจะเล่าความฝันให้ใครสักคนฟัง กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรยายฉากในความฝันออกมา บางคนฝันถึงสิ่งที่ตนปรารถนา บางคนฝันเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับตัวเลข บางคนฝันถึงสิ่งที่ตัวเองกลัว พื้นที่ความฝันในบางครั้งถูกมองว่าไร้สาระ ไม่มีตรรกะและเหตุผล แต่ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ ลึกลับ และแปลกประหลาด ในเวลาเดียวกัน 

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

ภาพวาดจากความฝันในงานศิลปะ อาจถูกมองว่าเป็นเพียงการถ่ายทอดจินตนาการไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ เพื่อหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงของตัวศิลปิน แต่แท้จริงแล้วพื้นที่ความฝันมีพลังมากกว่าที่เราคิด ครั้งหนึ่งพื้นที่ความฝัน หรือ Dreamscape ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การประท้วงและเคลื่อนไหวการปฏิวัติรูปแบบทางสังคมในยุโรปในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในกรุงปารีส ค.ศ. 1920 จากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบทางสังคม ไม่ว่าเครื่องแต่งกาย หรือกิริยามารยาททางสังคม 

แนวคิดศิลปะเหนือจริงหรือที่รู้จักในนามศิลปะยุคเซอร์เรียลิสม์’ (Surrealism) ว่าด้วยการปลดแอกกฎเกณฑ์ทางความคิด และการตั้งคำถามกับวิถีชีวิตและศิลปะชั้นสูง ศิลปะเซอร์เรียลิสม์ขับเคลื่อนจากจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) โดยมีแนวคิดยึดโยงกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักประสาทวิทยาชาวออสเตรียที่ได้อธิบายในไดอะแกรมภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่บนทะเล แต่มียอดภูเขาเพียงส่วนน้อยลอยอยู่พ้นระดับน้ำ ว่าสมองมนุษย์ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นประกอบด้วยส่วนจิตไร้สำนึก สมองส่วนนี้ทำงานเวลาเราหลับในรูปแบบความฝัน เขาเชื่อว่าสมองส่วนนี้มีส่วนสำคัญด้านการขับเคลื่อนลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความปรารถนา และความคิดของแต่ละบุคคล

0

อินเซ็ปชัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ใน ค.ศ.2010 ภาพยนตร์เรื่อง Inception หรือชื่อภาษาไทย จิตพิฆาตโลก ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ได้ถ่ายทอดแนวคิดจิตใต้สำนึกผ่านเรื่องราวกลุ่มอาชญากรที่วางแผนจารกรรมข้อมูลทางความคิดผ่านความฝัน ทำให้เห็นว่ามนุษย์นั้นใช้ศักยภาพของสมองเพียงเสี้ยวเดียวในขณะที่ตื่น แต่ในขณะที่เราหลับ สมองของเราทำได้ทุกอย่างในความฝัน 

พื้นที่ในความฝันกลายเป็นตัวชูโรงเสมือนตัวละครหลัก สถาปนิกกลายเป็นผู้สร้างฝันที่ทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง เมื่อโลกแห่งความฝันเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของโลกแห่งความจริง อะไรคือองค์ประกอบที่โนแลนใช้สร้างพื้นที่ความฝัน ที่ทำให้ผู้คนนอนหลับเพื่อที่จะตื่น เพราะความฝันได้กลายเป็นโลกแห่งความเป็นจริงของพวกเขาไปเสียแล้ว

เรื่องราวการปล้นในความฝันเริ่มขึ้นจากการเทคโนโลยีฝันร่วมกัน (Dream Sharing) พัฒนาขึ้นเพื่อการฝึกฝนทางการทหาร โดย โดมินิก คอบบ์ (Dominick Cobb) รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) และทีมของเขาได้รับการว่าจ้างให้วางแผนจารกรรมครั้งนี้ แม้ว่าเขาเป็นผู้เชื่ยวชาญการแทรกซึมเข้าไปในจิตใต้สำนึกและขโมยความลับของเหยื่อออกมา แต่ปฏิบัติการครั้งนี้ท้าทายกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะการว่าจ้างครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อขโมยข้อมูลของเป้าหมาย แต่เป็นการปลูกฝังความคิดในจิตใจหรือที่เรียกว่า ‘อินเซ็ปชัน’ ในสมองของเหยื่อ เพื่อให้ไอเดียนั้นแพร่กระจายไปเหมือนไวรัส ค่อยๆ เติบโตและเปลี่ยนความคิดของคนคนนั้นเมื่อตื่นขึ้นมา

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

ปฏิบัติการครั้งนี้ พวกเขาต้องสร้างความฝันในความฝันที่ลึกลงไปถึง 3 ระดับ ซึ่งรวมเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีที่พวกเขาต้องอยู่ในความฝัน ในโลกของอินเซ็ปชัน การบุกรุกเข้าในจิตใต้สำนึกของเป้าหมายต้องเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนที่สุด เพื่อไม่ให้จิตใต้สำนึกของเหยื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกจารกรรมอยู่ และสร้างระบบป้องกันตัวเองจากจิตใต้สำนึกขึ้นมาโจมตีผู้บุกรุก และนั่นคือหน้าที่สำคัญของ Ariadne นำแสดงโดย เอลเลียต เพจ (Elliot Page) สถาปนิกผู้ออกแบบสภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรมในความฝัน ที่ต้องสร้างพื้นที่ซับซ้อนมากเพียงพอสำหรับลดช่องว่างระหว่างโลกความฝันจากโลกแห่งความจริง เพื่ออำพรางและซ่อนตัวจากระบบนิรภัยของจิตใต้สำนึกบุคคลเป้าหมาย

1

เขาวงกต

ตามตำนานกรีกโบราณ กษัตริย์ไมนอสสั่งให้สร้างเขาวงกตขึ้นเพื่อกักขังมิโนทอร์ สัตว์อสูรหัวเป็นวัวแต่มีร่างเป็นมนุษย์ นี่อาจเป็นที่มาของการนำชื่อ Ariadne บุตรสาวของกษัตริย์ไมนอสมาใช้ในหนังเรื่องนี้ และหากยังจำกันได้ ก่อน Ariadne จะเข้าร่วมทีม เธอถูกทดสอบให้ออกแบบเขาวงกต ซึ่งเขาวงกตทรงกลมที่เธอวาดออกมาก็ใกล้เคียงกับต้นฉบับกรีกโบราณ 

เขาวงกตถูกนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การวางแปลนอาคารสิ่งปลูกสร้าง ลายพื้นหรือผนังกระเบื้องโมเสก ไปจนถึงสวนเขาวงกตกลางแจ้งในยุโรป

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

ในพื้นที่ความฝัน หนึ่งในชั้นเชิงที่ช่วยพรางตัวผู้บุกรุกจากจิตใต้สำนึกของเป้าหมาย คือการออกแบบพื้นที่ในความฝันให้เป็นเขาวงกต และมันคือหัวใจสำคัญในปฏิบัตการครั้งนี้ บลูพรินต์ของเขาวงกตเชื่อมระดับความฝันทั้งสามเข้าด้วยกัน จากฉากบนท้องถนนในเมือง ฉากในโรงแรม และฉากโรงพยาบาลสุดส่วนตัวที่มีป้อมปราการคอยป้องกันอย่างแน่นหนา เขาวงกตนอกจากช่วยชะลอเวลาและสร้างความสมจริงให้กับความฝันแล้ว ยังช่วยกำหนดตำแหน่งที่เป้าหมายน่าจะนำความลับไปเก็บรักษาไว้ได้อีกด้วย 

การออกแบบเขาวงกตให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย เช่น ห้องนิรภัยของธนาคาร ห้องหลบภัยในบ้าน หรือในการจารกรรมครั้งนี้คือโรงพยาบาลส่วนตัวที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติและประตูนิรภัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป้าหมายจะได้พูดคุยกับพ่อของเขาเป็นครั้งสุดท้ายนั้นเอง

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้เขาวงกตเป็นอาวุธชั้นยอดของปฏิบัติการครั้งนี้ คือการสร้างเขาวงกตที่ไม่มีทางออก การสร้างสถาปัตยกรรมที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง (Paradoxial Architecture) การสร้างภาพลวงตาทางกายภาพที่ผิดไปจากธรรมชาติ Ariadne เรียนรู้เทคนิคนี้จาก Arthur รับบทโดย โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (Joseph Gordon-Levitt) หนึ่งในสมาชิกของทีมที่สอนให้เธอโกงสถาปัตยกรรมด้วยการสร้างบันไดวนลูปที่เรียกกันว่า บันไดเพนโรส (Penrose Stairs) เพื่อใช้อำพรางขอบเขตของความฝัน โดยเธอได้นำเทคนิคนี้มาใช้สร้างภูมิทัศน์แห่งความฝันที่ซับซ้อนสำหรับภารกิจในครั้งนี้ 

หากจะพูดให้ง่าย เขาวงกตที่เธอสร้างเปรียบเหมือนมินิแมป 2 มิติที่ปรากฏอยู่ในเกมคอมพิวเตอร์ที่ฉากต่างๆ นั้นเชื่อมเข้ากัน ทำให้บุคคลจากจิตใต้สำนึกของเป้าหมายเดินวนไปอยู่ในแมปนั้นเอง

2

แรงโน้มถ่วง

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception
(ซ้าย) Ascending and Descending – 1960, (ขวา) Relativity – 1953, lithograph, M. C. Escher

ฉากบันไดวนที่ไม่มีวันสิ้นสุดในหนังชวนให้คิดถึงภาพพิมพ์หินผลงานศิลปะในยุคปลายของเซอร์เรียลิสม์ อย่าง Relativity (สัมพัทธภาพ) และ Ascending and Descending (ขึ้นและลง) ใน ค.ศ. 1953 และ 1960 ของ เมาริตส์ กอร์เนลิส แอ็ชเชอร์ (M.C. Escher) ศิลปินชาวดัตช์ ได้ถ่ายทอดแนวคิด Paradoxical Architecture ไว้ในผลงานหลายชิ้น แน่นอนว่าภาพพิมพ์เหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลให้ภาพยนต์หลายๆ เรื่องอ้างอิงอีกด้วย 

รายละเอียดที่น่าสนใจของภาพทั้งสอง คือการที่ชิ้นส่วนและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นบันได หน้าต่าง ประตู รั้ว เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ ถูกจัดวางโดยแต่ละด้านมีแรงโน้มถ่วงคนละจุด การเคลื่อนไหวไปมาของผู้คนที่ไร้ซึ่งใบหน้า เหมือนหุ่นกระบอกไม้ที่เดินไปๆ มาๆ เข้าๆ ออกๆ สร้างความคลุมเครือว่าพื้นไหนคือภายใน และพื้นที่ไหนคือภายนอกกันแน่

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception
Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

เมื่อพื้นที่ในความฝันไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกฎฟิสิกส์ของโลกแห่งความเป็นจริง สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ถ่ายทอดพื้นที่ความฝันหลายๆ ซีนของภาพยนตร์เรื่องนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังจดจำได้อย่างแน่นอน หนึ่งในฉากแรกๆ ของเรื่อง เกิดขึ้นขณะที่ Cobb กำลังสอน Ariadne ถึงบทเรียนเบื้องต้นในการสร้างโลกแห่งความฝัน โดยเธอได้จินตนาการเมืองปารีสที่ไม่ยึดโยงกับกฎแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อถนนและพื้นที่ในแต่ละโซนต่างมีจุดกำเนิดของแรงโน้มถ่วงแตกต่างกัน ปรากฏการณ์ที่เหมือนกระจกเงา สร้างภาพสะท้อนให้แก่เมืองปารีส เมืองที่ทิศเหนือใต้ออกตกไม่มีมีความสำคัญอีกต่อไป เมืองที่เราสามารถเดินกลับหัวไปมาได้ เหมือนในภาพพิมพ์ของ Escher

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

อีกซีนหนึ่งที่โนแลนใช้แรงโน้มถ่วงเพื่อแยกความฝันออกจากโลกความเป็นจริง คือฉากในบาร์ของโรงแรม Cobb บอกเป้าหมายเรื่องภัยจากอาชญากรที่กำลังเข้ามาขโมยความลับในความฝันของเขา และหลอกว่าตนเองคือระบบรักษาปลอดภัยจากจิตใต้สำนึกที่เข้ามาช่วยเหลือ เมื่อจิตใต้สำนึกรู้สึกถึงการบุก น้ำในแก้ว โคมไฟ และ แก้วไวน์ที่แขวนอยู่ ค่อยๆ แกว่งและเอียงไปในองศาแปลกๆ ราวกับว่ามีอะไรเปลี่ยนทิศทางของแรงโน้มถ่วง ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่เป้าหมายไว้ใจและเชื่อสิ่งที่ Cobb โน้มน้าว 

เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์ที่น้อยแต่มากนี้ ทางทีมงานต้องสร้างฉากของบาร์แห่งนี้บนแพลตฟอร์มโครงเหล็กขนาดใหญ่ และติดตั้งกลไกที่ทำให้ฉากห้องนี้เอียงได้ 20 ถึง 25 องศา ส่วนเฟอร์นิเจอร์ กล้อง และสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่ต้องการให้เอียงนั้นจะถูกติดยึดไว้กับตัวฐาน เมื่อแรงโน้มถ่วงค่าคงที่เป็นความจริงของของดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็สร้างพื้นที่ความฝันขึ้นมาได้แล้ว

3

ยูโทเปียและดิสโทเปีย 

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception
Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

เมื่อคุณตายในความฝันที่ทับซ้อนกันอยู่กัน ลิมโบซิตี้ (Limbo City) หรือ ปรภพ (ภูมิของจิตที่ล่องลอย) อาจกลายเป็นคุกที่จองจำจิตใต้สำนึกของคุณไปตลอดกาล ในโลกของ Inception ดินแดนปรภพคือระดับความฝันที่ลึกที่สุด เวลา 24 ชั่วโมงในโลกแห่งความจริงอาจยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษในที่แห่งนี้ มันคือโลกว่างเปล่าของจิตใต้สำนึกที่หลงทาง พื้นที่แห่งความฝันไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่สิ่งปลูกสร้างที่หลงเหลือไว้จากผู้ที่เคยติดอยู่ที่นี่มาก่อน ฉากของความฝันที่ลึกที่สุดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเมืองในจินตนาการของ Cobb และภรรยาของเขา ซึ่งทั้งคู่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยในเมืองแห่งความฝันนี้ยาวนานกว่า 50 ปี 

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception
Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

พวกเขาได้ช่วยกันออกแบบเมืองในอุดมคติ ‘ยูโทเปีย’ (Uptopia) โดยสร้างรูปแบบที่อยู่อาศัยตามที่พวกเขาปรารถนาอย่างไม่มีขีดจำกัด หลายส่วนของเมืองนี้สร้างขึ้นจากสถานที่ในความทรงจำ เหมือนเป็นห้องเก็บสะสมสถาปัตยกรรม จากบ้านของพ่อแม่ในวัยเด็ก อพาร์ตเมนต์หลังเก่าที่เคยอยู่อาศัย บ้านเดี่ยวหลังแรก บ้านหลังแต่งงาน ไปจนถึงเพนต์เฮาส์สุดหรูใจกลางเมือง 

ยูโทเปียกลายลักษณะทางกายภาพของเมืองที่สร้างความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความเป็นจริง เมืองที่ถูกขับเคลื่อนด้วยจินตนาการ เมืองที่ไม่ยึดติดกับกฎหมายอาคารและผังเมือง เมืองที่นำสถาปัตยกรรมต่างชนิดมาพบกัน เมืองที่บ้านเดี่ยวสองชั้นก็เป็นเพื่อนบ้านกับตึกสูงระฟ้าได้ ในทางตรงกันข้าม สภาพเมืองที่ผุพังและทรุดโทรม ตึกและอาคารกำลังถล่มลงมาจากการกัดเซาะของน้ำทะเล เผยสภาพเมืองในรูปแบบ ‘ดิสโทเปีย’ (Distopia) สื่อถึงพื้นที่ในความฝันที่ค่อยลบเลือนหายไป ซึ่งเป็นฉากในช่วงท้ายๆ ที่ Cobb ได้หวนมากลับมาที่ Limbo อีกครั้ง เมืองที่เขาร่วมกันสร้างกับภรรยาที่ล่วงลับกำลังค่อยหายไปในจิตใต้สำนึกของเขา หลังจากที่เขาได้อภัยและเลิกโทษตัวเองถึงการจากไปของเธอ

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception
ส่วนหนึ่งของ Radiant City ‘Plan Voisin. ’- 1920s, Masterplan, Le Corbusier

ในวงการสถาปัตยกรรม เรามักคุ้นชินกับแนวคิดของเมืองแบบยูโทเปีย เมืองที่คาดหวังว่าทุกอย่างนั้นจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบ เมืองที่ออกแบบในลักษณะการวางศูนย์อำนาจจากบนสู่ล่าง (Top-Down) เมืองที่สถาปนิกอยากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน เมืองแห่งโลกอนาคต 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมือง Cobb และภรรยาของเขาก็ออกแบบในลักษณะนั้น ฉาก Limbo เผยการออกแบบผังเมืองรูปแบบยูโทเปียในยุคโมเดิร์นนิสม์ ยกตัวอย่างมาสเตอร์แปลน การออกแบบผังเมือง ของ La Ville Radieuse (Radiant City) หนึ่งในผลงานของ Le Corbusier สถาปนิกชาวฝรั่งเศส บุคคลที่ไม่มีใครในวงการไม่รู้จัก เขาได้ออกแบบมหานครแห่งอนาคตใจกลางเมืองปารีสประเทศฝรั่งเศสไว้ ในข่วงทศวรรษที่ 1920 โดยเมืองนี้รองรับประชากรได้ถึง 3 ล้านคน การออกแบบเน้นไปที่การแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ใช้งานอย่างชัดเจน เมืองที่มีทุกอย่างครบในตัวเอง แผนผังเมืองในอุดมคติของ Le Corbusier อาจเป็นสวรรค์ของผู้รักคอนกรีต แต่ก็อาจจะเป็นดิสโทเปียสำหรับใครอีกหลายๆ คน ถ้าผังเมืองนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้น

Dreamscape สถาปัตยกรรมความฝันสุดเซอร์เรียลในหนัง Inception

04

สุญญากาศ

แน่นอนว่าพื้นที่ในความฝันนั้นถ่ายทอดออกมาได้หลากหลายรูปแบบ เหมือนกับภาพวาดแนวความฝันที่พบเห็นในผลงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ไม่มีผิดไม่มีถูก เพียงขอให้ผลงานเหล่านั้นออกมาจากจิตใต้สำนึกก็เป็นพอ โลกแห่งความฝันจากภาพยนตร์ของโนแลนเรื่องนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบความฝัน ที่ตั้งใจถ่ายทอดออกมาให้กลมกลืนกับโลกแห่งความเป็นจริง 

การทำน้อยแต่มาก พื้นที่ความฝันที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของโลกแฟนตาซี ฟุ้งๆ หรือมืดดำ ลึกลับ และน่ากลัวเสมอไป แต่ยึดโยงกับภาพจำของโลกแห่งความเป็นจริง โดยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนและบิดเบือนตามจินตนาการของผู้สร้างฝันอย่างช้าๆ พื้นที่ความฝันแบบเขาวงกตถูกสร้างขึ้นเพื่อการจารกรรมข้อมูลทางความคิด โลกความฝันที่แรงโน้มถ่วงไม่เป็นไปตามหลักธรรมชาติของโลก ดินแดนแห่งความฝันคือห้องเก็บสถาปัตยกรรมที่รวบรวมความทรงจำ ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกผิด และเรื่องราวในอดีตเอาไว้ เสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการใช้ชวนผู้ชมให้แยกแยะความแตกต่างระหว่างความฝันและความจริง 

ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่นำเรื่องราวของความฝันมาตีแผ่ แต่ผมก็เชื่อว่าหนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดแนวคิดที่ว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ จินตนาการที่ไม่โดนครอบกรอบด้วยขนบธรรมเนียม แนวคิด กระบวนการ กฎเกณฑ์ หรือความกลัวไหนๆ ที่บอกว่าอะไรคือศิลปะและอะไรไม่ใช่ศิลปะ หรืออะไรสวยไม่สวย 

ทุกวันนี้โลกแห่งความเป็นจริงมีกฎเกณฑ์มากมาย เพื่อบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรไม่ดี พวกเราดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของตรรกะและเหตุผล จนบางครั้งเราอาจไปกดทับจิตใต้สำนึก ความคิดสร้างสรรค์ และความฝันของตนเอง แนวคิดของศิลปะเซอร์เรียลลิสม์เชื่อว่าหากเราปลดปล่อยชีวิตออกจากความซ้ำซากจำเจของตรรกะและเหตุผล เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ เราอาจจะค้นพบว่าสิ่งที่เหนือกว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้นมีอยู่

Film Citation :

Nolan, Christopher. Inception. Warner Bros., 2010.

Inception (2010); runtime: 148 min

Written & directed by Christopher Nolan

Cinematography: Wally Pfister

Production Design: Guy Hendrix Dyas

Visual Effects: Paul Franklin, Chris Corbould, Andrew Lockley, Peter Bebb, et al.

ข้อมูลอ้างอิง :

www.simplypsychology.org/Sigmund-Freud.html

scenesofarchitecture.com/2017/11/09/drawing-lines/

www.fondationlecorbusier.fr

99percentinvisible.org/article/ville-radieuse-le-corbusiers-functionalist-plan-utopian-radiant-city/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ