ถ้าคุณพ่ายแพ้ทุกครั้งที่เห็นผ้าพิมพ์ลายสีสวย… พวกเราคือเพื่อนกัน

นอกจาก Marimekko ของฟินแลนด์ SOU SOU ของญี่ปุ่น Kitty Bunny Pony ของเกาหลี และ โขมพัสตร์ ของไทย

เราขอแนะนำให้คุณรู้จัก ‘in Blooom’ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายจากไต้หวัน

ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความฝันที่อยากทำแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายด้วยสีสันและลวดลายที่สะท้อนความเป็นไต้หวัน เหมือนแบรนด์รุ่นพี่อย่าง Marimekko

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา in Blooom ใช้ลายผ้าสื่อสารประเด็นในสังคม ตั้งแต่สร้างการรับรู้เรื่องนกท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ จนกลายเป็นลายผ้าประจำแบรนด์ วัฒนธรรมความเป็นไต้หวันผ่านกราฟิกสถาปัตยกรรม ลายลวดดัด กระเบื้อง แก้ว ไปจนถึงการสร้างวัฒนธรรมใช้ชีวิตรื่นรมย์นอกบ้าน ด้วยลายผ้าและสินค้าที่เหมาะกับการใช้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และปัญหาขยะพลาสติกในทะเลที่ส่งแรงกระเพื้อมจนรัฐบาลออกมาตรการลดพลาสติกผ่านเครื่องดื่มประจำชาติอย่างชานมไข่มุก

สิ่งที่น่าสนใจคือ ท่าทีของ in Blooom ที่หยิบเรื่องเหล่านี้มาเล่าด้วยท่าทีเป็นมิตรและร่วมสมัยจนดังไกลไปทั่วประเทศ เปิดร้านที่ญี่ปุ่นประเทศต้นตำรับผ้ากุ๊กกิ๊ก และมีแฟนๆ อยู่ทั่วเอเชีย จนแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald’s และร้านสะดวกซื้อ FamilyMart อยากร่วมงานด้วย

The Cloud มีนัดพิเศษกับ ชิว ฉงยู่ (Chiu Chiung-Yu) หรือเพนกวิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ in Blooom เพื่อพูดคุยเรื่องราวการสร้างแบรนด์ วิธีคิดเบื้องหลังการสร้างลายผ้าที่สาวๆ ทั่วเอเชียรัก

นอกจากเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ตั้งใจดี บทสนทนานี้ยังชวนให้เห็นบรรยากาศการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมของรัฐบาลไต้หวันจนอิจฉาคนที่นั่น ไม่แปลกใจแม้แต่น้อยว่าทำไม 2 – 3 ปีหลังมานี้ไต้หวันกลายเป็นเมืองกุ๊กกิ๊กเทียบชั้นโซลและโตเกียว

รู้ตัวอีกทีก็กดสั่งกระเป๋าลายใหม่ที่ Emiumigumi แบรนด์รักจากเกียวโต Collaborate พิเศษกับ in Blooom

คบคนให้ดูหน้า ออกแบบลายผ้าให้ดูเนื้อ

“ที่ไต้หวัน รัฐบาลมีเงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการและกิจการขนาดเล็ก โดยกำหนดให้จดบริษัทก่อนยื่นเสนอขอรับทุน” เพนกวินเล่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ in Blooom เมื่อปี 2008 ที่ก่อตั้งพร้อมเพื่อนสนิทสมัยมัธยมอีก 2 คนทันทีที่เรียนจบมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กับที่เพนกวินทำงานเป็นอาจารย์ เพื่อนคนหนึ่งเรียนต่อปริญญาโท และอีกคนทำงานเป็นนักออกแบบเทรนด์ให้บริษัทเอกชน

3 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งสามใช้ช่วงเวลาว่างจากงานประจำทุกวันพุธและวันเสาร์สำหรับการประชุม ออกแบบลายพิมพ์ และลงมือพิมพ์ผ้ากันเองด้วยมือ จนกระทั่งเปิดร้านสาขาแรกที่ Dadaocheng (ต้าเต้าเฉิง) ย่านท่าเรือเก่าของไทเป ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างเยาวราชและพาหุรัด ในปี 2011

ทำไมต้องเป็นงานผ้าพิมพ์ลาย พวกเธอสนใจอะไร เราสงสัย

เพนกวินเล่าว่า งานออกแบบของ in Blooom มาจากการตั้งคำถาม

คำถามที่ว่า ถ้าพูดถึงฟินแลนด์คนจะคิดถึงแพตเทิร์นลายดอกไม้สีสันสดใสของ Marimekko ถ้าพูดถึงญี่ปุ่นคนจะคิดถึงสีคลาสสิก แต่เมื่อพูดถึงไต้หวันคนจะคิดถึงสีสันและลวดลายของอะไร

เมื่อเห็นตรงกันว่าอยากลงมือทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ผู้ก่อตั้งทั้งสามจึงเริ่มจากสิ่งที่พวกเธอทำได้ ความรู้เรื่องผ้าจากงานของนักกำหนดเทรนด์ และศาสตร์การออกแบบที่อยู่ในความสนใจก่อร่างสร้างแบรนด์ in Blooom

เล่าเรื่องไต้หวันผ่านลายพิมพ์

เพราะคุ้นเคยกับย่านต้าเต้าฉิงมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนออกแบบ

เพนกวินและเพื่อนพบว่าตลาดผ้าในไต้หวันแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มที่เป็นโรงงานรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศ และกลุ่มที่เป็นโรงงานผลิตลายผ้าเลียนแบบแบรนด์ดัง

เมื่อไม่มีร้านหรือแบรนด์ที่นำเสนอลายผ้าตอบความต้องการของนักออกแบบ เหล่าคุณแม่ และคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบงานฝีมือ in Blooom จึงเป็นแบรนด์แรกในย่านที่นำเสนอสีสันและลวดลายที่แตกต่างในราคาที่เอื้อมถึง เป็นคำตอบว่าชาว in Blooom เอาความมั่นใจมาจากไหน จึงตัดสินใจเปิดร้านสาขาแรกแข่งกับร้านผ้าเจ้าถิ่น

เนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ไต้หวันในยุคนั้นมีแบรนด์ของดีไซเนอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในความเชื่อและจุดยืนของ in Blooom คือการเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีดีแค่ออกแบบสินค้าสวย

นอกจากการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ คิดทำสินค้าเป็นคอลเลกชันจริงจังแทนการออกสินค้าเป็นชิ้นตามรายสะดวก in Blooom ยังตั้งใจหยิบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันออกมาสื่อสารผ่านงานออกแบบ อย่างลายนก Formosan Crested Myna ซึ่งมาจากภาษาโปรตุเกส แปลว่า เกาะที่สวยงาม ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องนกพื้นเมืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ให้คนรุ่นใหม่รู้จักก่อนที่จะสายเกินไป หรือการหยิบลวดลายหน้าต่าง เหล็กดัดประตู เครื่องเซรามิกโบราณ ที่คนไต้หวันคุ้นเคย มาลดทอนแบบและจัดวางให้เป็นลายผ้าที่ร่วมสมัยมากขึ้น

โดยกระบวนการทำงานเริ่มจากการกำหนดสิ่งที่แสดงความเป็นไต้หวัน ก่อนหาข้อมูลเชิงลึกว่าทำไมนกชนิดนี้จึงสูญพันธุ์ ไปจนถึงทำไมคนสมัยก่อนออกแบบหน้าต่างหน้าตาแบบนี้ แล้วจึงตีความเข้าสู่กระบวนการออกแบบอีกครั้ง

กระบวนการทำซ้ำที่กลายเป็นข้อดีของแบรนด์

เพนกวินเล่าว่า สิ่งที่น่าสนใจของกระบวนการเปลี่ยนจากดีไซเนอร์มาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวคือ กระบวนการทำงานซ้ำ

“เป็นเรื่องปกติของดีไซเนอร์ที่จะไม่ชอบทำงานซ้ำๆ ในช่วง 3 ปีแรก เราเองก็ยังไม่รู้แนวทางของแบรนด์ เรารู้สึกชอบงานออกแบบของเราแต่ไม่รู้ว่าแบบไหนคือแบบที่ดีที่สุด จึงปรึกษารุ่นพี่ ก็ได้คำตอบว่า เราจำเป็นต้องมีลายเซ็นของแบรนด์ ซึ่งก็คือลายพิมพ์รูปนก Formosan Crested Myna” เพนกวินเล่าสิ่งที่พวกเธอเรียนรู้

เมื่อได้คำตอบแน่ชัดว่าแพตเทิร์นหลักของแบรนด์คือ ลายนก Formosan เราจึงได้เห็นแพตเทิร์นและสีสันของเจ้านกบนผืนผ้า และสินค้าชิ้นน้อย ชิ้นใหญ่ ในทุกๆ คอลเลกชันใหม่ของ in Blooom

จากที่เป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ผู้ก่อตั้งทั้งสามพบว่าเรื่องซ้ำๆ ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ของแบรนด์เติบโตมาถึงวันนี้

นอกจากผ้าพิมพ์ลาย in Blooom ยังมีสินค้าที่จับต้องได้อย่างกระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า หมวก และของใช้จุกจิกสารพัด ใครมีโอกาสแวะเวียนไปที่ร้านสาขาไต้หวันต้องไม่พลาดเข้าร่วมเวิร์กช็อปออกแบบและพิมพ์ลายด้วยตัวเอง

Print of Taiwan

McDonald’s, SHISEIDO และ FamilyMart คือตัวอย่างแบรนด์ที่ทำงาน Collaborate ร่วมกับแบรนด์ลายผ้าสัญชาติไต้หวันแบรนด์นี้

เพนกวินเล่าเหตุผลที่ทำให้แบรนด์ดังทั้งหลายอยากทำงานร่วมกับ in Blooom ว่า นอกจากเป็นการสนับสนุนแบรนด์ของดีไซเนอร์ท้องถิ่นแล้ว การร่วมงานกับ in Blooom ยังทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ เพราะ in Blooom รู้ความต้องการของตลาด รู้ว่าสินค้าชนิดใด ประเภทไหน ดีไซน์อย่างไร จึงจะเข้าไปถึงหัวใจ เช่น ในคอลเลกชันที่ 2 ของ McDonald’s x in Blooom นั้นนอกจากสนับสนุนงานออกแบบแล้ว McDonald’s ยังช่วยเหลือโรงงานทอผ้าเจ้าใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น

สิ่งที่ in Blooom ตั้งใจจะทำต่อไปคือ นอกจากร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ออกแบบลายผ้าและผลิตสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องเขียน พวกเธออยากให้ลายพิมพ์ของแบรนด์อยู่ตามอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่และการตกแต่งภายใน หรือมีโอกาสทำงานร่วมกับผู้ผลิตท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับโรงงานทอผ้าในเกียวโต หรือโรงงานทำหนังของญี่ปุ่น ซึ่งการที่ in Blooom มีหน้าร้านและตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่นช่วยเปิดโอกาสให้พวกเธอเจอวัสดุหรือโรงงานผู้ผลิตที่น่าสนใจมากมาย

Screen Saver

เวลาผ่านไป หลังจากพาแบรนด์ in Blooom ไปถึงจุดที่สื่อสารความเป็นไต้หวันผ่านลายผ้า

in Blooom กำลังพูดถึงเรื่องที่ไกลกว่านั้น อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เพนกวินเล่าว่า ในเมื่อสิ่งที่พวกเธอทำได้ดีคือการออกแบบ คงจะดีถ้างานออกแบบนั้นช่วยสื่อสารให้ประเด็นยากๆ ในท่าทีที่ไม่เครียดและจริงจังเหมือนที่ผ่านมา

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดภายในประเทศไต้หวันเล็กมาก ในวันที่เราอยากเติบโต เราจำเป็นต้องสื่อสารกับตลาดต่างประเทศ เราอยากทำให้คนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมรับรู้ถึงสิ่งที่ควรสนใจ โดยจะไม่ได้ทำด้วยวิธีการบีบบังคับเช่น คุณต้องซื้อนะ ถ้าคุณไม่ซื้อถุงผ้าเราแปลว่า คุณไม่ได้รักโลก กลับกันเราอยากให้คนซื้อสินค้าเราไปใช้เพราะชอบมันจริงๆ” เพนกวินเล่า

ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม วิธีอันดับต้นๆ ที่คนทั่วไปนึกออกคือรณรงค์ลดการใช้พลาสติก แล้วเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่คนถกเถียงกันอยู่ว่า การผลิตถุงผ้าจำนวนมหาศาลก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย เพราะย่อยสลายช้ากว่าพลาสติกบางชนิด และขณะที่ชาวสแกนดิเนเวียใช้ถุงผ้าในชีวิตปกติจริงๆ คนเอเชียอย่างเราใช้ถุงผ้าเพราะหน้าตาสวยเก๋ดี เราสงสัยว่าที่ไต้หวันประสบปัญหาเรื่องนี้เหมือนกันหรือไม่

เพนกวินตอบว่า สิ่งที่ in Blooom ทำได้คือการทำให้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ที่ไต้หวันกำลังรณรงค์ลดการใช้แก้วและหลอดพลาสติกในเครื่องดื่มชานมไข่มุก ด้วยการสนับสนุนหลอดแก้วจากการรีไซเคิลขวดเบียร์เพื่อใช้สำหรับกินชานมไข่มุก

“ยิ่งมีคนตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้ ก็ยิ่งทำให้โรงงานผู้ผลิตกลับมาคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำอีกครั้ง ในมุมของ in Blooom ไม่ว่าปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เกิดการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ด้วยวิธีการแบบไหน เป็นเรื่องที่เราไม่อาจควบคุม เพียงแต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร” เพนกวินเล่าเสริม

Blooom-erang

ในวันที่แบรนด์เติบโตไประดับนานาชาติ เพนกวินเล่าว่า แต่ละการตัดสินใจในธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะพวกเธอทั้งสามคนเป็นดีไซเนอร์ ไม่มีใครรู้เรื่องการเงินหรือบริหารมาก่อน คำแนะนำจากพวกเธอคือ จงหาเครือข่ายที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่แบรนด์ขาด และศึกษาความสำเร็จของแบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งดูว่าเขาทำสาขา จัดการหน้าร้าน ออกแบบสินค้า และออกแบบคอลเลกชันใหม่อย่างไร

“อะไรคือสิ่งสำคัญที่คุณเรียนรู้จากการทำ in Blooom ตลอด 10 ปี” เราถาม

“ความสามารถในการแก้ปัญหา” เพนกวินตอบ

“ทุกครั้งที่ทำงาน นักออกแบบอย่างเราไม่รู้หรอกว่าเราชอบคนเดียวหรือเปล่า พอมีลูกค้าเดินเข้ามาบอกว่าชอบเหมือนกันก็ทำให้รู้สึกประทับใจมากๆ จากวันที่เริ่มต้นบริษัทเรามีกันอยู่แค่ 3 คน จนวันนี้มีคนที่รัก in Blooom มากๆ เหมือนกันกับเราตั้ง 30 คน พวกเขาเชื่อและทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจไม่ต่างจากเรา” เพนกวินทิ้งท้าย สิ่งที่ in Blooom ทำให้เขาพบความหมายของชีวิต

ขอบคุณรูปจาก : in Blooom และ Pinkoi

Lesson Learn

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีความลังเลในเรื่องต่างๆ เพนกวินบอกว่า ดีไซเนอร์อย่างพวกเธอก็เป็น “เราจะทำแบรนด์ดีไหม ทำสินค้าของตัวเองดีหรือเปล่า” เป็นคำถามที่ต้องพบเจอเสมอ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ in Blooom มี 10 ปีแรกอย่างทุกวันนี้ได้คือ พวกเขาไม่เคยลังเลเลย

“ถ้าเราตั้งคำถามขึ้นมา ก็มีแต่การลงมือทำเท่านั้นที่จะทำให้เราได้คำตอบ ไม่งั้นเราจะได้แต่ตั้งคำถาม” ชิว ฉงยู่ (เพนกวิน) หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ in Blooom

 

 

in Blooom 印花樂

Facebook : in Blooom 印花樂

Pinkoi : in Blooom 印花樂

www.inblooom.com

 

 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธิรารัตน์ พุทธวงศ์

มีเชียงใหม่เป็นบ้านเกิด หลงใหลธรรมชาติ รักสีบลู แมวดำ และชอบกินผลไม้สีเหลือง Facebook | Out of Tune