01

ปฐมบท

ด้วยความสนใจในสิ่งพิมพ์ทุกแขนงเป็นทุนเดิม เมื่อรู้ว่าจะได้สัมภาษณ์ ศุภชัย ราชพิตร คุณตาวัยเกษียณผู้มอบของสะสมส่วนตัว คือนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์จำนวน 7,000 กว่าเล่ม ตั้งแต่ชนิดที่เก่าสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงนิตยสารภาษาทมิฬ ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ ก็แทบจะอดรนทนรอไม่ไหว อยากให้ถึงเวลานัดหมายเร็วๆ

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

เราเดินทางไปพบนักสะสมรุ่นใหญ่ที่บ้านพักของท่านย่านรามคำแหง พร้อมพกความคาดหวังว่าจะได้สนทนากับคนผู้สนใจเรื่องเดียวกันอย่างถูกคอใส่ไปเต็มกระเป๋า

ทันทีที่พบคุณตา ความกระฉับกระเฉงแข็งแรงซึ่งสวนทางกับอายุของเขา ทลายกรอบภาพจำที่เราเคยมีต่อคนในช่วงวัยนี้ไปโดยราบคาบ เรานั่งลงสนทนากันในห้องทำงานส่วนตัวของศุภชัย ที่เพียงปราดตามองก็รู้ว่าเดิมน่าจะเต็มไปด้วยสิ่งของเป็นพะเรอเกวียน

ก่อนจะทันเอ่ยปากถาม ชายสูงอายุตรงหน้าผู้อ่านสายตาของเราออก ก็ชิงอธิบายว่านิตยสารซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่เพิ่งได้รับมาใหม่ และยังไม่ได้นำไปบริจาคให้แก่หอสมุดแห่งชาติเท่านั้น

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

แปลว่ายังไม่หยุดสะสม

“ตาจะหยุดได้ยังไงล่ะ” ศุภชัยปฏิเสธด้วยน้ำเสียงถ้อยที “มันมีมาใหม่เรื่อยๆ ก็ต้องเก็บไว้ แต่เก็บไว้เพื่อส่งต่อนะ”

หลังอาศัยความซุกซนสำรวจห้องนี้ในระยะเวลาอันสั้น เราพบว่าศุภชัยคือนักสะสมขนานแท้ เพราะยังมีสิ่งละอันพันละน้อยที่เขาสนใจเก็บเอาไว้อีกมากจนเกินนับนิ้ว ทั้งหนังสืออัตชีวประวัติ ป้าย Do Not Disturb’ ป้าย Make Up Room คีย์การ์ดโรงแรม ไปจนถึงฉลากขวดน้ำพลาสติก

ต่อไปนี้คือบทสนทนาซักถามอันเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและความหลงใหลเกี่ยวกับการสะสม ‘ฉบับปฐมฤกษ์’ ของคุณตาศุภชัย ขออภัยล่วงหน้าถ้าหากว่ามีอะไร ‘อินเกิน’ เล็ดรอดไปในบทความ

02

ปฐมกาล

“ตาชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วตั้งแต่เด็ก และเก็บหนังสือที่เคยอ่านอยู่เรื่อยมา” คุณตานักสะสมเริ่มเท้าถึงความหลังในอดีต

“สมัยอยู่มอเจ็ด มอแปด ชอบนิตยสาร สตรีสาร ที่คุณหญิงนิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ ต่อมาเขาทำแผนกหนังสือเยาวชนแยกออกมาชื่อ ดรุณสาร ตาก็ติดตาม

“ตอนนั้นสำนักพิมพ์ตั้งชมรมขึ้นเพื่อพาผู้อ่าน ดรุณสาร มาพบปะชุมนุมกัน มีกลุ่มต่างๆ แยกไปตามความสนใจ เช่น ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมนักสะสม ชมรมบำเพ็ญประโยชน์ ตาก็ไปสมัครสมาชิกอยู่บางชมรม มีจัดงานทุกสองสามเดือน หาองค์ปาฐกมาบรรยาย เสียดายที่ต่อมาทั้ง สตรีสาร และ ดรุณสาร ต้องยุติไป” คุณตาศุภชัยขยับปากมุ่ยม่ายเอื้อนเอ่ยเรื่องราวออกมาโดยไม่ต้องรีดเค้น ราวกับในห้วงคำนึงของเขา เหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

งานอดิเรกข้อนี้ทำให้เขามีโอกาสก้าวเข้ามาสัมผัสแวดวงนิตยสาร ซึ่งมีส่วนปลูกฝังและเร่งเร้าความสนใจในสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่วัยรุ่น

“ตาคลุกคลีอยู่ในวงการ จนตอนหลังอาจารย์นิลวรรณท่านก็เลือกตากับเพื่อนๆ เข้าไปทดลองช่วยงานในกองบรรณาธิการ ตอบจดหมายบ้าง ช่วยงานด้านอื่นบ้าง เลยพอมีโอกาสได้ร่วมจัดทำนิตยสาร”

หลังเรียนจบ ศุภชัยเข้ารับราชการในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจนเกษียณ แม้ได้ย้ายถิ่นฐานไปประจำที่ต่างประเทศ ทั้งสำนักงานแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และสำนักงานกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่คุณตาก็สมาทานนิสัยรักการอ่านเอาไว้อยู่ไม่ขาด

03

ปฐมเหตุ

มูลเหตุแห่งการเริ่มไล่ล่าตามหาวารสารและนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ของนักสะสมท่านนี้ คือ หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับฉลองครบรอบ 40 ปีที่หนาถึง 108 หน้า (ใช่ หนังสือพิมพ์หนาถึง 108 หน้า)

“ตอน พ.ศ. 2532 ไทยรัฐทำฉบับพิเศษปีที่สี่สิบ ทันทีที่ได้รับก็มีความคิดขึ้นมาเลยว่าแล้วฉบับแรกๆ จะมีสักกี่หน้า รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง ตอนนั้นก็สี่สิบปีล่วงไปแล้ว คิดว่าตามหาคงยาก แล้วทางไทยรัฐเองเขาก็ยังหาฉบับแรกของเขาไม่เจอเหมือนกัน ตาเลยตัดสินใจเริ่มสะสมฉบับปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนั้น เผื่อว่าอีกห้าปีสิบปีข้างหน้า เกิดเราหรือใครคิดอยากตามหาย้อนหลัง ก็จะได้มีหลักฐานให้ได้ดู”

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

“อีกประเด็นสำคัญ” นักสะสมรุ่นใหญ่หยุดพักครู่สั้นเพียงให้ความสงสัยเราทำงาน ก่อนเล่าต่อด้วยน้ำเสียงอันสุขุม “ตาคิดว่านิตยสารฉบับปฐมฤกษ์เป็นฉบับหนึ่งซึ่งผู้จัดทำตั้งใจและใส่ใจมากที่สุด เป็นสุดยอดแห่งอะไรทั้งปวง เพราะหากไม่บรรจงพิถีพิถันคัดสรรมา ตีพิมพ์ไปแล้วก็ไม่ติดตลาด ต้องทำออกมาเพื่อให้ขายได้ ฉบับปฐมฤกษ์มีส่วนชี้เป็นชี้ตาย”

นั่นอาจพอนับเป็นหมุดหมายแรกเริ่มแห่งการเป็นนักสะสมนิตยสารฉบับแรกของศุภชัยได้ แต่ใครเลยจะทราบว่า ก่อนหน้านี้ หากเห็นว่าสิ่งพิมพ์ใดมีค่าและน่าจะมีประโยชน์ในภายภาคหน้า ก็เก็บรวบรวมเอาไว้ทั้งสิ้น

04

สนุกกว่าการได้มา คือการตามหา

คุณตาเริ่มสะสมวารสารและนิตยสารฉบับแรก ตีพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง อย่างจริงจัง โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังว่าปกไหนเล่มใดไม่เข้าตาก็คัดทิ้ง

“ในหลักการ ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นฉบับปฐมฤกษ์คือเก็บหมด บางคนเขาคัดเฉพาะที่เขามองว่าสวยว่างามถูกใจ ทีนี้งามแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เราเลยจะเลือกเฉพาะบางเล่มไม่ได้ เล่มไหนออกมาตอนเราเริ่มสะสมแล้วก็ซื้อไว้ เล่มไหนออกมาแล้วก็พยายามตามหา”

เราเชื่อว่าในประสบการณ์การสะสมไม่ว่าสิ่งใด การได้มาครอบครองแล้ว ยังสนุกน้อยกว่าวิธีการตามหาจนได้มา ซึ่งนั่นเป็นเหมือนส่วนไคลแมกซ์ของเรื่องเสียอีก

แล้วคนยุคนั้นตามหาหนังสือเก่ากันอย่างไร-ขวบวัยที่น้อยกว่าคู่สนทนาหลายขุมทำให้คำถามนี้ผุดขึ้นมาในหัวเราทันที

“นอกจากการซื้อให้ทันตามแผงหนังสือหรือไปเดินหาตามร้าน ก็ติดต่อไปยังสำนักพิมพ์ แต่ไม่ง่ายนะ เช่น โทรศัพท์ไปสอบถามกับ Operator ซึ่งไม่ได้อยู่คลัง เขามักตอบปัดไปว่าไม่มีแล้ว หรือบางครั้งถ้ามีโอกาสแวะไปถึงสำนักพิมพ์ก็เข้าไปคุยเลย ถ้าเจอบรรณาธิการก็ดีไป บางคนใจดีหาให้ บางคนไม่ว่างก็ไม่หาให้ แต่ถ้าไม่เจอโดยตรง เราต้องไปนั่งอธิบายให้คนอื่นฟังอีกว่าเราสะสมอะไรอยู่ เรื่องราวยังไง มันพูดยาก

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ
ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

“วิธีหนึ่งคือเขียนจดหมายไปหากองบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์เลย อันนี้ค่อนข้างจะได้ผลดี พอมาถึงยุคที่มีอินเทอร์เน็ตเลยส่งเป็นอีเมลไปแทน ถ้ามีก็ตอบกลับมา”

แน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้ขวากหนาม แต่ด้วยใจรักและความมุ่งมั่น อุปสรรคเพียงเล็กน้อยจึงเป็นเสมือนกรวดในรองเท้าที่ไม่อาจขัดขวางเขาได้

“ตอนหลังพอรู้ว่าเราสะสมอยู่หรือเป็นเล่มปฐมฤกษ์ เขาก็ขึ้นราคา ถ้าไม่แพงมากตาก็ซื้อไว้ บางเล่มไม่ขายแยกเฉพาะเล่มแรก ขายยกชุดสิบเล่ม สิบสองเล่ม ถ้าสู้ไหวก็เอามาหมดเลย”

เหล่านี้คือความท้าทายที่ศุภชัยมองอย่างนักสะสมโดยสายเลือดว่าเป็นเรื่องสนุก หนังสือบางเล่มก็อาศัยมิตรภาพและสายสัมพันธ์กว่าจะได้มาครอบครอง ในขณะที่บางเล่มเดินทางมาพร้อมกับความประทับใจ

“ตาไม่ได้เก็บเฉพาะภาษาไทยหรือเฉพาะสำนักพิมพ์ไทย ถ้าเป็นนิตยสารต่างประเทศที่พิมพ์ในไทย ไม่ว่าจะภาษาไหนก็เก็บหมด ขอแค่เป็นปฐมฤกษ์ บางทีก็ไปไล่ตามหาของภาษาอื่นจากเมืองนอกมาด้วย หรือถ้ารู้ข่าวว่ามีหนังสือออกใหม่ เราก็ไหว้วานให้เพื่อนฝูงที่อยู่ที่นั่นซื้อเก็บไว้ให้

“มีครั้งหนึ่งติดต่อไปฮ่องกง ขอหนังสือ Children’s Digest ฉบับปฐมฤกษ์ เขาบอกว่าไม่มี แต่ส่งฉบับพิเศษซึ่งพิมพ์ด้วยอักษรเบรลล์ทั้งเล่มมาให้เราแทน คล้ายๆ รางวัลปลอบใจ อันนี้แม้ไม่นับรวมในลิสต์ที่ต้องการแต่เป็นความประทับใจ ทำให้เรายิ่งอยากตามหามากขึ้นไปอีก”

ถ้อยคำเดินทางออกมาจากความทรงจำของเขาโดยไม่ตกหล่นไประหว่างทางแม้แต่น้อย

05

ปฐมฤกษ์

30 ปี ดูเหมือนเป็นช่วงเวลาอันแสนยาวนานสำหรับหนึ่งชีวิตมนุษย์ที่จะสรรหาสิ่งใดๆ มาเก็บเอาไว้เป็นของส่วนตัว แต่สำหรับศุภชัย อายุอานามอันล่วงไปไม่อาจลดทอนความมุ่งมั่นที่มีต่อการสะสมได้เลย เราสัมผัสได้ถึงแรงไฟแห่งความคลั่งไคล้ ซึ่งไหลเวียนอยู่ในสุภาพชนท่านนี้ได้มากในระดับที่ไม่แพ้วัยรุ่น

‘Young at heart’ น่าจะเป็นหนึ่งประโยคที่ใช้กล่าวถึงชายรุ่นใหญ่ผู้นั่งสนทนาตอบโต้กับเรามาโดยสนุกสนานไม่ขาดจังหวะแม้แต่น้อยท่านนี้ได้

ตลอดระยะเวลาที่สะสมมา คุณตาเห็นเสน่ห์อะไรของนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์-เราถามคำถามซึ่งคิดว่าเขาน่าจะได้ยินบ่อยสุดออกไป

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

“นอกเหนือจากความตั้งใจที่คนทำใส่ลงไปมากเป็นพิเศษ ภาพรวมคงเป็นรายละเอียดต่างๆ ในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนจากนักเขียน ภาพประกอบทั้งภาพศิลป์หรือภาพถ่าย การจัดองค์ประกอบ โฆษณา แฟชั่น สีสัน รวมทั้งเทคโนโลยีในการผลิตตั้งแต่ประเภทกระดาษ ถึงวิธีการเข้าเล่ม

“ถ้าวิเคราะห์โดยละเอียด ข้อมูลเหล่านี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เราต้องยอมรับว่าองค์ความรู้มันอาจล้าสมัยไปบ้าง แต่ครั้งหนึ่งสิ่งเหล่านี้มันเคยมีและเคยเกิดขึ้นมาไม่ใช่หรือ ถ้าอายุขนาดนี้ไม่ถือว่าแก่เกินเรียนแล้ว ตาก็อยากลองรวบรวมข้อมูลทำวิจัยดูบ้าง”

คำอธิบายซึ่งแล่นออกมาจากปากอย่างพรั่งพรูดุจสายธาร คือเครื่องยืนยันว่าไม่มีใครอายุมากเกินไปสำหรับการลุกขึ้นมาทำอะไรจริงจังสักครั้ง

06

ปัจฉิมบท

“แน่นอนว่ามันคือความชื่นชมยินดีส่วนตัวของเราที่ได้ครอบครองหรือประสบความสำเร็จในการตามหาสิ่งที่เรียกว่าหาได้ยาก ทำให้ชีวิตเรามีจุดมุ่งหมายว่าจะทำอะไร

“แต่อีกด้านหนึ่ง การสะสมปฐมฤกษ์บังคับให้ตาต้องหมั่นติดตามวงการหนังสืออยู่เสมอๆ นั่นทำให้เห็นว่ารายละเอียดทั้งหลายที่ปรากฏบนนิตยสาร รวมทั้งความเป็นไปของนิตยสารและสำนักพิมพ์นั้น ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พอได้รู้ว่าฉบับใดปิดตัวลงไปตอนไหนก็ทำให้เข้าใจโลกมากขึ้น นิตยสารก็เหมือนกับชีวิตคน บางคนอยู่ได้ไม่นาน เสียชีวิตตอนหนุ่มสาว แต่บางคนก็เสียชีวิตตอนแก่ เป็นวัฏจักรของมัน”

นี่คือคำตอบของคำถามสุดแสนธรรมดา ที่ไม่ว่าใครๆ หากได้นั่งลงสนทนากับคนผู้หลงใหลได้ปลื้ม สะสมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้มาก ต้องคิดฉงนสนเท่ห์ว่าทำไปแล้วได้เรียนรู้อะไร

แต่ถ้อยแถลงนี้ดูจะเหนือความคาดหมายของเราอยู่มากทีเดียว

“บางทีตาว่านะ” เขาเงียบไปเสี้ยววินาที คล้ายครุ่นคิด

“คำว่า ‘สมบัติ’ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเพชรนิลจินดาหรือของที่มีมูลค่ามากมายเสมอไป นิตยสารเหล่านี้ เรียกว่าเป็นสมบัติได้เหมือนกัน เพราะมันมีคุณค่าสำหรับตา”

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

5 ที่สุดแห่งปฐมฤกษ์

ในฐานะน้องใหม่ผู้เพิ่งตกหลุมรักหนังสือเก่าได้ไม่กี่ขวบปี เราจึงขอให้คุณตาศุภชัยยกตัวอย่างนิตยสารที่เป็นที่สุดสำหรับเขามา 5 เล่ม 

ต่อไปนี้คือลิสต์สิ่งพิมพ์รุ่นพ่อแม่ (หรืออาจจะตายาย) ซึ่งเราเชื่อว่ามีชื่อคุ้นหู แต่รูปร่างไม่คุ้นตาแน่ๆ

เก่าที่สุด

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

“ถ้าเอาเก่าที่สุดที่ได้สะสมมาคือ สมุทสาร เป็นนิตยสารของราชนาวีสมาคมซึ่งรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับทหารเรือในยุคนั้น เล่มนี้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2457 ในรัชสมัยรัชกาลที่หก นับถึงปีนี้มีอายุได้ร้อยเจ็ดปีแล้ว”

ผูกพันที่สุด

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

อนุสาร อ.ส.ท. เป็นนิตยสารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่สมัยยังเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) พิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางการท่องเที่ยวของไทย ฉบับปฐมฤกษ์นี้เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 ราคาหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ เล่มนี้คือหนังสือของหน่วยงานที่เราทำงานมา เลยผูกพันมากเป็นพิเศษ”

อ่านสนุกที่สุด

“ตาประทับใจ วรรณคดีสาร เพราะเป็นนิตยสารที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาภาษาวิบัติ เพราะรัฐบาลสมัยนั้นได้ปรับปรุงให้พยัญชนะไทยเหลือเพียงสามสิบเอ็ดตัว (จากของเดิมซึ่งมี 44 ตัว) ตัวสะกดหรืออักขรวิธีเปลี่ยนไป อ่านสนุกดี”

เคยฮิตที่สุด

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

“ในยุคนั้นต้องเล่มนี้เลย คู่สร้าง คู่สม เล่มนี้ผลิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2523 ราคาแปดบาท ปัจจุบันได้ยุติการผลิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง”

แปลกใหม่ที่สุด

ศุภชัย คุณตาวัยเก๋านักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์กว่า 7,000 เล่ม จาก 18 ภาษา 35 ประเทศ

นะยะ (N’YAH!) นี่ถือได้ว่าแปลกใหม่มากสำหรับยุคนั้น เพราะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยพูดถึงความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว เล่มนี้ผลิตเมื่อ พ.ศ. 2539 ตอนนั้นราคาฉบับละเก้าสิบบาท ปัจจุบันเหลือแต่ชื่อไม่ได้ผลิตแล้ว”

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน