น้ำยาปรับผ้านุ่มที่บ้านของคุณกลิ่นอะไร?
หอมสะอาดสดชื่น หอมละมุนเหมือนแดดยามเช้า หรือหอมเหมือนอยู่ในทุ่งดอกไม้
ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นไหน กลิ่นที่อยู่บนเสื้อของคุณตอนนี้อาจเป็นผลงานออกแบบของ ก้อย-ชลิดา คุณาลัย Scent Designer ที่ดีไซน์กลิ่นให้สินค้าสารพัดอย่างมากว่า 20 ปี นับรวมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ซักผ้าภาคพื้นเอเชีย ไปจนถึงอาหารและสถานที่
“กลิ่นที่คนแต่ละชาติชอบแตกต่างกัน เราต้องเข้าใจว่าคนไทยชอบไม่ชอบกลิ่นอะไร คนอินโดนีเซียชอบไม่ชอบกลิ่นอะไร ส่วนคนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่อยู่ในกลุ่มนี้ เพราะเขาชอบกลิ่นแนวเดียวกับคนยุโรป”
นักออกแบบกลิ่นอธิบายการออกแบบสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยจมูก
“หรือถ้าชอบกลิ่นเดียวกันก็ไม่เหมือนกันเรื่องความแรง เอาง่ายๆ อย่างจีนกับอินเดีย ถ้าเอากลิ่นผลิตภัณฑ์จากจีนไปให้คนอินเดียดม เขาจะไม่ได้กลิ่น เพราะหนึ่ง อาหารการกินของคนจีนจืดกว่า สอง เขากลัวสารเคมีมาก สมมติถ้าหยดน้ำหอมลงไป อาจจะใช้ประมาณ 0.2% เท่านั้น ในขณะที่ชีวิตคนอินเดียอยู่กับกลิ่น อยู่กับเครื่องเทศ ดังนั้น ถ้าเอากลิ่นของอินเดียไปให้คนจีนดม เขาก็รู้สึกว่าฉุนเกินไป”
ก้อยเสริมว่านอกจากออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ การออกแบบกลิ่นหรือ Scent Marketing ยังใช้ได้กับพื้นที่ เช่น ห้าง โรงแรม จะปล่อยกลิ่นหอมเพื่อเพิ่มยอดขาย เพราะเมื่อกลิ่นหอมถูกใจ กลิ่นจะทำให้ลูกค้าเพลิดเพลิน ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ขายนานขึ้น และมีอารมณ์อยากจับจ่ายมากขึ้น
นอกจากออกแบบกลิ่นเพื่อการค้า ก้อยยังใช้พลังของกลิ่นทำโครงการสนุกอื่นๆ เช่น เปิดคลาสสอนการปรุงกลิ่นให้คนทั่วไป ทำแผนที่กลิ่นกรุงเทพฯ กับ TEDxBangkok จับคู่วิจัยเรื่องกลิ่นและสมองกับวิศวกรชีวการแพทย์ ไปจนถึงใช้กลิ่นทำงานศิลปะกับคนตาบอด
เราพูดคุยกันเบื้องหน้ากล่องหัวน้ำหอมชั้นดีเกือบร้อยขวด คุยไปดมไปอย่างตื่นใจตื่นจมูก เส้นทางสายกลิ่นของดีไซเนอร์หอมหวนชวนสนุก เสียดายที่เราส่งกลิ่นจรุงใจผ่านหน้าจอไม่ได้ จึงขอรินสุคนธรสผ่านตัวอักษรมาทดแทน
What is Scent Designing
อาชีพนักออกแบบกลิ่น (Scent Designer) ไม่ใช่นักปรุงกลิ่น (Perfumer)
งานของก้อยคือทำความเข้าใจแบรนด์สินค้า ทำความเข้าใจผู้บริโภค และใช้ความรู้เรื่องน้ำหอม ดีไซน์กลิ่นที่เหมาะกับโจทย์ แล้วอธิบายไกด์ให้นักปรุงกลิ่นใน Perfume House เข้าใจ พวกเขาคือคนที่รับไม้ต่อ ผสมวัตถุดิบในแล็บให้ได้กลิ่นที่ต้องการ ก่อนจะนำกลับมาให้ก้อยใช้จมูกตัดสิน
“หลักในการออกแบบกลิ่นคือพอได้บรีฟมา เราต้องตีเป็นคำก่อน ตอนที่เปิดร้านอาหาร หุ้นส่วนบรีฟมาว่าอยากให้เวลาลูกค้าเดินเข้ามาในร้านแล้วเขารู้สึกว่าเหมือนเดินอยู่ในป่าโปร่งๆ ตามชนบทของยุโรป ความเย็นประมาณ 10 องศา เราก็ตีโจทย์ว่าป่าฝรั่งมีสน มีมอส มีความเย็นเฉียบๆ พอเราได้คำพวกนี้ออกมา เราก็ดูว่ากลิ่นนี้คืออะไร และเราจะหยิบตัวไหนออกมาจากกระเป๋าเราได้บ้าง
“เรื่องของคาแรกเตอร์แบรนด์ก็สำคัญ ถ้าเราทำแบรนด์ผงซักฟอก 3 แบรนด์ในประเทศเดียวกันหมด แล้วทุกคนพูดเรื่องความสะอาด เราก็ต้องสะอาดไม่เหมือนกัน สะอาดแบบธรรมชาติ สะอาดแบบผู้หญิงฟรุ้งฟริ้ง เราต้องมีวิธีบอกนักปรุงกลิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ สมมุติว่าเขาเอาน้ำหอมมาให้ดมทั้งหมด เราบอกได้ว่ากลิ่นนี้ Smell like a nun กลิ่นเหมือนแม่ชี ดีแต่ไม่น่าสนใจ เราไม่ได้ว่านะ คือเรารู้ว่ามันดี แต่ฉันไม่เห็นคาแรกเตอร์ในนั้น ถ้าคนคนนี้เดินอยู่บนถนนแล้วฉันได้กลิ่นนี้ เขาจะไม่โดดเด่นขึ้นมา
“แต่เราเชื่อมั่นในการทำงานของแต่ละคนนะ หน้าที่ของเราคือเป็นคนไกด์ บอกว่ากลิ่นนี้ได้หรือไม่ได้ เหมือนเวลาเรากินก๋วยเตี๋ยว เราแค่บอกพ่อครัวว่าชามนี้เค็มไป แต่ไม่บอกให้เอาน้ำปลาจากประเทศนั้นมาใส่ ไม่ข้ามเส้นกัน”
เปิดจมูก
ดีไซเนอร์คนนี้เรียนจบด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารมวลชน แต่ได้โอกาสทำงานที่บริษัท International Flavors & Fragrances (IFF) หนึ่งในสามบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตน้ำหอมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอมในสินค้าทั่วไปหรือหัวเชื้อกลิ่นอาหารสารพัด การอยู่ในบริษัทเกือบ 10 ปี ทำให้เธอได้ทดลองทำทุกอย่าง ตั้งแต่ทดลองในแล็บ ออกไปขายงานกับลูกค้า จนถึงวิจัยข้อมูลผู้บริโภค 10 กว่าปีให้หลัง ก้อยเปลี่ยนมาเป็นดีไซเนอร์ด้านกลิ่นให้บริษัทใหญ่ที่ขายสินค้าทั่วเอเชีย โดยไปเรียนคอร์สน้ำหอมที่ฝรั่งเศสเพิ่มเติมทุกปี
“พอทำงานมากๆ เข้า เราก็รู้สึกว่าเราทำอย่างอื่นได้มากกว่านี้ เราเชื่อว่ากลิ่นมันมีพลัง แทนที่จะออกแบบกลิ่นที่หอมสวยงามอย่างเดียว เราทำงานในนาม Nose Story ซึ่งเหมือนเป็นความรู้สึก ความฝันของเราเอง โอกาสครั้งแรกคือเปิดร้านอาหารที่ทำให้อาหารและเครื่องดื่มมีกลิ่น เราใส่น้ำหอมกินได้ในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ใส่กลิ่นช็อกโกแลตในไวน์แดง ใส่กลิ่นพริกไทยในอาหารให้คนไม่กินเผ็ดทานได้ แต่ไม่รู้สึกเผ็ดร้อน”
ก้อยหยิบขวดสีชาหลายขวดมาให้เราลองเปิดดม กลิ่นกุหลาบ ลาเวนเดอร์ ไปจนถึงช็อกโกแลตน่ากิน เหล่านี้เป็นหัวน้ำหอมรับประทานได้ที่เธอใช้ในงานออกแบบอาหาร
“คนเรามักจะลืมว่าจมูกมันติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เรามักใช้แค่ตาแค่หูแค่การสัมผัส แต่จริงๆ แล้วจมูกมันเป็น Sense เดียวที่หยุดไม่ได้ เราปิดตาปิดหูไม่แตะอะไร ก็หยุดสัมผัสอื่นๆ ได้ แต่ถ้าเราอุดจมูก สุดท้ายเราก็ต้องเปิด ต้องดมอยู่ดี เหม็นก็ต้องดม เพราะมันคือส่วนนึงของลมหายใจ
“ถ้าพรุ่งนี้คุณตื่นมา ตายละ ไม่ได้กลิ่น จะเกิดอะไรขึ้น คุณจะกินข้าวไม่อร่อย เพราะว่าในปากรับรสเปรี้ยว หวาน เค็ม ขม ที่เหลือจมูกคุณแต่งรสชาติหมดเลย อีกอย่างถ้าเราดมกลิ่นไม่ได้ เราจะสังเกตสิ่งรอบข้างได้น้อยลง สมมติไฟไหม้ เราก็ต้องรอให้เห็นควัน ให้รู้สึกร้อนก่อนถึงจะรู้ตัว หรือถ้าแก๊สรั่ว จริงๆ แล้วแก๊สไม่มีกลิ่น แต่เคยเกิดอุบัติเหตุแก๊สระเบิดครั้งใหญ่ที่ประเทศอเมริกาแล้วคนเสียชีวิตเยอะมาก เขาจึงต้องใส่กลิ่นในแก๊ส เพื่อเตือนให้คนระวังอันตราย”
หอมกลิ่นกรุงเทพฯ
‘จงใช้ชีวิตด้วยสุนทรียะแห่งกลิ่น’ เป็นหัวข้อการขึ้นเวที TEDxBangkok ของก้อยในปี 2015 (ลองเข้าไปดูเต็มๆ แล้วจะสนุกกับการดมกลิ่นมากกว่าเดิม)
ความหลงใหลแรงกล้าที่มีต่อกลิ่นทำให้ก้อยทำโปรเจกต์สนุกๆ อื่นกับ TEDxBangkok ในปีต่อมา นักออกแบบสร้าง ‘แผนที่มากเรื่องราว’ หรือ Scent map of Bangkok ให้คนทำความรู้จักกรุงเทพฯ ผ่านกลิ่น
“เราทำแผนที่กรุงเทพฯ แล้วปักหมุดที่สำคัญ เช่น วัดแขก สวนสัตว์ดุสิต คลองแสนแสบ ปากคลองตลาด สวนจตุจักร แล้วเอากลิ่นต่างๆ ให้เขาดมแล้วเลือกว่าแต่ละกลิ่นอยู่ที่ไหน เพราะเราอยากรู้ว่าแต่ละคนรู้จักกรุงเทพผ่านกลิ่นยังไง สิ่งที่น่าสนใจคือการรับรู้กลิ่นขึ้นอยู่กับวัยคน เช่น เยาวราชตามความรู้สึกเราคือกลิ่นยาจีน แต่รุ่นหนุ่มสาวบอกว่าเยาวราชเป็นกลิ่นซีฟู้ด
“อย่างจตุจักรในความรู้สึกเราคือ กลิ่นต้นไม้เขียวๆ สบายๆ แต่หลายคนหยิบกลิ่นแบบ Floral ของปากคลองตลาดมา เราก็งงเลย เป็นจตุจักรได้ไง เขาบอกว่าในตลาดจตุจักรขายเครื่องหอมเยอะ แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดจนน่าตกใจมากคือคลองแสนแสบ ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ ดมแล้วตรงกันคิดตรงกันหมด (หัวเราะ)
“การทำกลิ่นเหม็นยากกว่ากลิ่นหอมมาก มันเป็นงานทดลอง คิดจนเที่ยงคืนยังคิดไม่ออกว่ามันจะเหม็นยังไง จนถึงจุดที่คิดว่าฉันต้องออกไปตักน้ำคลองมาใส่ขวดให้คนดม แต่ทำไม่ได้เพราะมันอันตราย เชื้อโรคทั้งนั้น สุดท้ายเลยคิดออกว่าการที่คลองเน่าหรือเหม็นมาจากโคลน เพราะคลองมันตื้น เวลาใบพัดเรือตีก็มีโคลนขึ้นมา แล้วก็มีคนทิ้งของเน่า อาหารเน่าเสียก็ต้องเปรี้ยว มีคนอึ คนฉี่ เราก็นั่งคิดๆ ของเราไป อ๋อ มันต้องมีกลิ่นแบบนี้ กลิ่นอาหาร กลิ่นควัน มันถึงได้ออกมาและสะท้อนปัญหากรุงเทพฯ”
นักออกแบบหยิบกลิ่นหอมสดชื่นของ Galbanum และมอสมาให้เราดม เธอบอกว่าคนไทยหลายคนไม่ชอบกลิ่นเขียวๆ ขนาดศัพท์ภาษาไทยยังมีคำว่าเหม็นเขียว สะท้อนวัฒนธรรมว่าเราไม่ชอบกลิ่นพืชกันสักเท่าไหร่ แต่จะหอมหรือเหม็น มันก็เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น สิ่งที่จริงคือมลพิษที่ชาวกรุงเทพฯ กำลังดมอยู่ทุกวันต่างหาก
“ถ้าเราเลือกกลิ่นในอุดมคติให้กรุงเทพฯ ได้คือกลิ่นเขียวๆ เฟรชๆ แบบญี่ปุ่นหรือยุโรป ถ้ากลิ่นเย็นๆ แบบนั้นเป็นของกรุงเทพฯ ได้ก็คงจะดี”
ดมกลิ่นศิลปะ
ดมกลิ่นรอบตัวไปแล้ว ก็ได้เวลากลับมาสำรวจการดมของตัวเอง นักออกแบบกลิ่นจับมือกับ ผศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นสปีกเกอร์ของ TEDxBangkok 2016 ทำโครงการ Brain Smells เพื่อสำรวจการรับรู้กลิ่นของสมอง
“อาจารย์เชนเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมอง เราคุยกันว่ากลิ่นเป็นประสาทสัมผัสเดียวใน 5 ประสาทของมนุษย์ที่ต่อตรงถึงสมอง ส่วน ตา หู ปาก สัมผัสทุกอย่าง ต้องผ่านต่อมใต้สมองเพื่อแปลงสัญญาณออกมาก่อน แต่กลิ่นมันถึงเลย เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตดู เวลาเราเห็นอะไร ได้ยินอะไร เราจะนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ได้ แต่ถ้าเราจำด้วยจมูก มันไม่ได้มีแค่ภาพจำอย่างเดียว แต่มันมีความรู้สึกมาด้วย
“คิดง่ายๆ มีหลายคนที่ได้กลิ่นน้ำหอมบางกลิ่นแล้วนึกถึงแฟนเก่า ไม่ได้แค่นึกหน้า มันคิดถึงความทรงจำที่ดีต่อกลิ่นนี้ตอนนั่งข้างๆ กัน หรือไม่ก็นึกถึงความทรงจำไม่ดีตอนที่เราอกหัก เราเลยทดลองวัดคลื่นสมองคนด้วยกัน เราดีไซน์กลิ่นคู่กับสี อาจารย์ดีไซน์โปรแกรมจับคลื่นสมอง”
ผลของการทำงานระหว่างสองศาสตร์คืองานศิลปะ Installation Art ผู้เข้าร่วมต้องใส่เครื่องมือจับคลื่นสมองที่ศีรษะ เมื่อดมกลิ่นแล้วกดปุ่ม สีจะหยดลงมาบนผืนนมสีขาวเหมือนผืนผ้าใบ เนื่องจากเเต่ละคนมีความทรงจำไม่เหมือนกันหรือมีวิธีการรับกลิ่นที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภาพของทุกคนจึงต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์
ก้อยหยิบกลิ่นที่เธอจับคู่กับสีต่างๆ มาให้ดม สีขาวให้ความรู้สึกแป้งๆ สะอาดๆ สีแดงคล้ายกุหลาบ สีเหลืองสนุกสนานเหมือนกลิ่นขนม สีฟ้ากลิ่นเย็นสงบ ความน่าสนใจคืองานนี้ให้คนตาบอดมาร่วมกิจกรรมด้วย และก็ทายสีได้ไม่ผิดกับคนตาดี เพราะแม้จะมองไม่เห็น แต่การรับรู้บริบทสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมของพวกเขาไม่ต่างกับคนที่ตามองเห็น
ปิดตาดม
จากงานศิลปะหนึ่งชิ้นต่อยอดกลายเป็นโครงการต่อเนื่อง นักออกแบบกลิ่นร่วมทำงานกับ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ผู้ก่อตั้งคณะละครเวที Blind Theatre สำหรับทั้งคนตาบอดและคนตาดี
ละครเวทีที่ทุกคนปิดตาชม ก้อยออกแบบกลิ่นสำหรับการเปลี่ยนฉาก เมื่อเรื่องเคลื่อนจากป่าไปโรงพยาบาลก็เปลี่ยนกลิ่น เป็นงานศิลปะที่ปิดสัมผัสหนึ่ง เพื่อเปิดอีกสัมผัสให้เราสนุกกับศิลปะได้อย่างเท่าเทียม
จากนั้นก้อยและหลุยส์ก็ร่วมมือกับนักศิลปะบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ว่าคนตาบอดทำงานศิลปะแบบ Visual Art ไม่ได้ ในนาม The Nose Thailand
“โลกของศิลปะคือโลกของการใช้ตาเห็น ทุกอย่างใช้ทฤษฎีสี สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีขาว สีดำ เราเลยคิดว่าใช้กลิ่นเป็นตัวบ่งบอกสีได้มั้ย เราคุยกับนักศิลปะบำบัดว่าสีแต่ละสีในทางศิลปะบำบัดหมายถึงอะไร อารมณ์ความรู้สึกอะไร แล้วออกแบบกลิ่นให้ตอบโจทย์นั้น ซึ่งปรากฎว่าน้องๆ ตาบอดเก่งกว่าเรามาก”
ในโลกมืดและโลกสว่าง กลิ่นพาทุกคนไปหาศิลปะทั้งสิ้น โครงการนี้จึงทำให้เยาวชนคนตาบอดฝึกงานปั้นหรือศิลปะจากกระดาษได้สม่ำเสมอ
“ตอนนี้เราตั้งใจทำเรื่องกลิ่นที่เป็นสีให้น้องๆ คนตาบอด แต่งานถัดไปที่อยากทำมากเลยคือออกแบบกลิ่นให้โรงพยาบาล เรานึกถึงคนป่วยหรือเด็กๆ ที่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ พอเขาไปก็ต้องดมแต่กลิ่นโรงพยาบาล แล้วเราก็เห็นการใช้กลิ่นช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่สิงคโปร์ กลิ่นช่วยกระตุ้นความจำได้ เราหวังว่าถ้าได้ไปนั่งคุยกับคนในครอบครัวของผู้ป่วย แล้วออกแบบกลิ่นที่เขาผูกพันมาให้ มันน่าจะช่วยความจำในสมองและทำให้เขากลับมาคุยกับคนในครอบครัวได้ และมีความสุขมากขึ้น”
เส้นทางสายกลิ่นของนักออกแบบคดเคี้ยวและยังทอดยาวไปอีกไกล ก่อนเราจะกล่าวลาเธอและกลิ่นน้ำหอมของเธอ สุดท้ายที่ก้อยฝากไว้ให้ดมไม่ได้อยู่ในขวด แต่เป็นกลิ่นเมื่อเราเดินทางกลับบ้าน
“ตอนขึ้นรถไฟฟ้าขากลับ ถ้าได้กลิ่นอะไร ลองนึกดูว่าคนที่อยู่ข้างๆ เราหน้าตาเป็นยังไง บางทีคนละเรื่องกับที่ตาเห็นเลยนะ”
ก้อยหัวเราะ
เราสูดลมหายใจเฮือกใหญ่ สิ่งที่ติดจมูกตลอดทางกลับคือโลกที่ต่างไปจากเดิม