นาทีนี้จะมีอะไร ‘แส้บ’ ไปกว่าการปรากฏตัวของยัยพริ้นส์ แห่ง WEBTOON ‘ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม’ ทุกคืนวันอาทิตย์

หลังจากที่ ‘พริ้นส์’ นักแสดงชื่อดังประสบความสำเร็จในฐานะ LGBTQIA+ ของวงการบันเทิงได้ไม่นาน เขาก็ตื่นขึ้นในร่างของท่านขุนยุคกรุงธนบุรีอย่าง ‘ขุนวรเดช’ ที่ ‘รักผู้ชาย’ เช่นเดียวกันกับเขา

การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้มีดีแค่ขายจิ้น ขายแฟนตาซีของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายที่ไม่มีอยู่จริง แต่นักเขียนยังมาพร้อมกับความตั้งใจจะสื่อสารเรื่องสิทธิเท่าเทียมของเพศหลากหลาย พ่วงมาด้วยประเด็นหนัก ๆ อย่างประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ความเป็นธรรมในสังคม ชนชั้น และเรื่องแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างเจเนอเรชัน

แม้ตอนเปิดตัวมาจะมีการสับขาหลอกว่าเป็นการ์ตูนตลกเบาสมอง แต่ยิ่งหลายตอนยิ่งดุเด็ดเผ็ดมัน จนเราเริ่มอยากรู้ว่าคนที่นั่งผลิตการ์ตูนอยู่หลังจอเป็นใคร วัน ๆ เขาเสพอะไร และมีเบื้องหลังการทำงานกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เบนซ์-อริสรา ผาโคตร หรือ ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ นักเขียนการ์ตูนเจน Z ดาวรุ่ง อยู่ตรงนี้กับเราเพื่อตอบคำถามทั้งหมด

ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม : WEBTOON ของเจน Z ที่นำเสนอการเมืองและเรื่องเพศ

วัน ๆ ของ ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’

แนะนำตัวเองก่อน คุณเป็นใครกันนะ

สวัสดีค่ะ ชื่อเบนซ์ อายุ 24 ปี นามปากกาสำหรับงานเขียนการ์ตูนชื่อ ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ ส่วนงานภาพประกอบจะใช้นามปากกาว่า ArisaraFANART

เพิ่งเรียนจบมา 3 ปี จากสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนด้านกราฟิก ทำภาพประกอบ เราสนใจในด้านงานวาดการ์ตูน งานสื่อภาพยนตร์ แล้วก็งานเขียนด้วย ตั้งแต่เรียนจบมาก็เริ่มศึกษาด้านงานเขียนจริงจังค่ะ

เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์เหรอ

มันเริ่มมาจากเราสนใจพวกประเด็นการเมืองก่อนค่ะ แล้วทีนี้เราก็ไปรู้จักกับแชนแนลที่เขาพูดเกี่ยวกับประเด็นสังคมต่าง ๆ ชื่อแชนแนล พูด ในช่องเขามีการนำเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์ในอีกมุมหนึ่งมาด้วย เราว่าประวัติศาสตร์ที่เขานำเสนอดูน่าสนใจดี เพราะต่างจากที่เรารู้มา เราเลยลองศึกษาด้านนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็อยากนำเสนอประวัติศาสตร์อีกมุมให้คนทั่วไปได้รู้ด้วย

ไอเดียเริ่มต้นของเรื่องนี้คืออะไร เริ่มจากเป็นการ์ตูนการเมือง การ์ตูนย้อนยุค หรือการ์ตูนวาย

ไอเดียเริ่มต้นมาจากที่เราดูซีรีส์เกาหลีแนวตลกการเมือง เรื่อง Mr. Queen แล้วเราก็คิดว่าถ้าแนวการเมืองของไทยเป็นพีเรียดน่าจะสนุกเหมือนกัน ถ้าเล่าในมุมตลกก็น่าจะย่อยง่าย เข้าถึงง่ายด้วยค่ะ

ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม : WEBTOON ของเจน Z ที่นำเสนอการเมืองและเรื่องเพศ

ตั้งใจจะสื่อสารประเด็นอะไรในการ์ตูนเรื่องนี้บ้าง

ตั้งใจจะสื่อเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ตามที่เสนอตัวละครหลักเป็น LGBTQIA+ เลยค่ะ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความต่างของเจเนอเรชัน แล้วก็นำเสนอความเชื่อแนวคิดยุคก่อนที่สามารถสะท้อนมาให้เห็นถึงยุคนี้

เราสนใจเกี่ยวกับเรื่องสังคม มนุษย์ การเมือง และความเชื่อค่ะ

ที่เขียนวายนี่เป็นสาววายรึเปล่า

ใช่ค่ะ (หัวเราะ) งานก่อน ๆ ก็มีเขียนวายด้วย สมัยมัธยมเราเสพพวกสื่อบันเทิงวายญี่ปุ่น พอโตขึ้นมาก็พบว่าโลกความจริงมีอะไรที่กว้างกว่านั้น เราได้เจองานเขียนแนวต่าง ๆ ได้เจอความเป็นจริงที่ไม่ได้สวยหรู แฟนซี เหมือนการ์ตูนวายที่เราอ่านวัยเด็ก ช่วงหลังก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแนววายแล้วค่ะ เริ่มเสพอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าเราสนุกและเอ็นจอยไปกับมัน

ทุกวันนี้เสพอะไรบ้าง

ปกติเสพสื่อหลายรูปแบบมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ การ์ตูน หรือแม้แต่เกมต่าง ๆ ตามประเด็นที่เราสนใจ ไม่จำกัดชาติ มีทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฝรั่ง ไทย ลาว หมดทุกชาติเลยค่ะ

เวลาร่างหรือตัดเส้น เราเปิดสื่ออื่น ๆ เสพไปด้วยได้ ก็จะเปิดพวกซีรีส์หรือหนังกับผู้ช่วยดู แล้วก็วิเคราะห์โครงสร้างบทกันว่าเขาเล่าเรื่องยังไง เพื่อเอามาใช้ในงานค่ะ ล่าสุดก็ดูเรื่อง The Mist ไป แล้วชอบการนำเสนอประเด็นในเรื่องและการออกแบบโครงสร้างเรื่อง กับ Attack On Titan ที่มีการแทรกความเป็นมนุษย์ สังคม การเมือง ความเชื่อในเรื่องเหมือน The Mist ด้วยค่ะ

ส่วนเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจด้านการเล่าเรื่องมาจากเรื่องพีเรียดเกาหลี แล้วก็มีศึกษาจาก WEBTOON เกาหลี อย่างเรื่อง ชิงชีวิตพลิกลิขิตชะตา ที่เขาเล่าประเด็นการเมืองได้สนุก และผสมความแฟนซีเข้าด้วยกันค่ะ

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

ทำไมถึงเลือกเซ็ตติ้งเป็นธนบุรี ปกติเขาไม่ค่อยย้อนไปธนบุรีกันเท่าไหร่ เหมือนเป็นยุคสมัยที่ถูกลืม

เซ็ตติ้งเรื่องจริงอยู่ที่ประมาณยุค ร.4 ขึ้นไปค่ะ แต่เราไม่อยากเขียนทับยุครัตนโกสินทร์ ก็เลยเลี่ยงเป็นโลกคู่ขนาน สร้างโลกขึ้นมาว่าเป็นยุคธนบุรีที่ราชวงศ์ดำเนินต่อมาได้เรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ไม่เหมือนกับของจริง มีการนำปมปัญหาการเมืองในยุคนั้นมาใช้เพื่อจุดชนวน นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เคยเกิดในยุคต่อมามารวมกันในเรื่อง ทำให้คนคาดเดาเนื้อหาจากประวัติศาสตร์จริงไม่ได้

เล่าให้ตอบโจทย์อุดมการณ์คนรุ่นใหม่?

ใช่ค่ะ อยากจะนำเสนอสื่อแนวพีเรียดที่คนรุ่นใหม่สนใจ เป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่

ได้อ้างอิงตัวละครในเรื่องมาจากใครในประวัติศาสตร์บ้างไหม

มีได้แรงบันดาลใจบางส่วนมาค่ะ

‘พระไชยเชษฐ์’ เราเอามาจากสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดที่ขึ้นมาปกครองในยุคกรุงศรีอยุธยา แล้วก็ถูกสมเด็จเจ้าพระยากลาโหมชิงอำนาจไป เป็นเด็กที่โดนให้อยู่ในเกมการเมืองโดยที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ

ส่วน ‘หม่อมโกศล’ เอามาจากกรมหลวงรักษ์รณเรศค่ะ เป็นเสด็จในกรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกประหารในคดีกบฏ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเล่นสวาทเพราะว่าเป็น LGBTQIA+ ในยุคนั้นด้วย

ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม : WEBTOON ของเจน Z ที่นำเสนอการเมืองและเรื่องเพศ

เห็นเขียนว่ามีการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ด้วย ยังไงบ้าง

ใช่ค่ะ เพราะวัฒนธรรมไทยแท้ มีเรื่องกินหมาก พิธีกรรมทางศาสนา หรือการใช้ราชาศัพท์ ชื่อ ตำแหน่งขุนนางในยุคนั้น เราไม่ได้เขียนรายละเอียดตรงตามแบบนั้นเป๊ะค่ะ ก็เลยเขียนกำกับไปว่ามีการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา

แล้วตอนแรกที่เริ่มเขียนต่างชาติสนใจมากเลย เราเลยรู้สึกว่าต้องดัดแปลงให้มีความเป็นสากล เข้าใจง่ายขึ้น บริบทการเมืองอะไรในเรื่อง เราก็เลยไปรีเสิร์ชการเมืองของประเทศอื่น ๆ มาอ้างอิงให้เป็นสากลขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากบริบทเรื่องการเมืองที่เป็นสากลขึ้น ก็มีเรื่องแนวคิดตัวละคร เรื่องมุกตลก คำศัพท์ในเรื่องที่เอามาเล่นให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น และเรื่องชุดที่ไม่ไทยตามแบบเป๊ะ มีการดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยสากลมากขึ้น ให้คนทั่วไปรวมถึงต่างชาติเห็นแล้วรู้สึกสนใจ เคยอ่านพวกโรแมนซ์แฟนซีเกาหลีที่เขาเอาชุดยุโรปมาดัดแปลงให้สวยงาม เราเลยอยากให้เป็นแบบนั้น

ก็คือมีจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง

ใช่ค่ะ แต่รวม ๆ ค่อนข้างจะไม่จริง

เห็นพูดเรื่องประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนด้วย ถึงตัวเอก ‘พริ้นส์’ จะเป็นลูกอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ก็ใช่จะรู้ว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้น

ใช่ค่ะ ต้องการเล่นเรื่องประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนของไทยที่ไม่ได้ให้เห็นแง่มุมอื่น ๆ เท่าไหร่ ยังนำเสนอแค่ในแง่มุมเดียวคือมุมของราชาชาตินิยม

เอาตามตรงเราอยากให้มีการชำระประวัติศาสตร์ คนจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมอื่นด้วย เกิดการคิดหลายด้าน สามารถถกเถียงกันในหลายแง่มุม เพื่อที่จะได้เรียนรู้ต่อไปด้วย

ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม : WEBTOON ของเจน Z ที่นำเสนอการเมืองและเรื่องเพศ

แล้วก็ไม่ได้ย้อนไปเฉย ๆ พริ้นส์พยายามที่จะ ‘พลิกประวัติศาสตร์’ ด้วย

ตอนแรกที่เปิดเรื่องมา เราต้องการให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าคนนั้นจะสนใจการเมืองหรือไม่ก็ตาม แล้วพอเขาตามอ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะพบว่าสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์หรือการเมืองเข้าไป ให้ได้เห็นภาพชัดขึ้นแล้วอินไปกับตัวละครที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นั้น ๆ 

พริ้นส์ เป็นเหมือนตัวแทนคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ในตอนต้น แล้วถูกโยนเข้าไปในปัญหานี้ ก็เลยพยายามที่จะทำอะไรสักอย่าง เพราะว่าตัวละครได้รับรู้แล้วว่าการเมืองมีผลกับตัวเอง ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างตัวเองก็จะเสียประโยชน์

ทำไมถึงให้พริ้นส์เป็นดารา และให้วรเดชเป็นลูกเจ้าพระยา ดูเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมทั้งคู่เลย

คนที่มีพริวิเลจบางคนอาจจะไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหาและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว การที่เราโยนปัญหานี้ให้ตัวละครที่มีพริวิเลจเลยเกิดเป็นคอนฟลิกต์ในเรื่อง ทำให้เห็นว่ามันมีปัญหาอยู่นะ

เปิดเรื่องมา พริ้นส์มองว่าตัวเองอยู่ในโลกที่ทุกคนยอมรับเพราะมีพรีวิลเลจอยู่ พอย้อนมาในอดีตก็ทำให้เห็นถึงปัญหามากขึ้น

ส่วนตัววรเดชในยุคก่อน เห็นถึงปัญหาแต่แรก เพราะต่อให้มีพริวิเลจ ก็เจอปัญหาที่กฎหมายก็บอกว่าตัวตนเขาเป็นเรื่องผิด เพราะในเรื่องเราเซ็ตให้ LGBTQIA+ มีความผิดทางกฎหมายค่ะ

เรารู้สึกว่าทั้งพริ้นส์ทั้งวรเดชก็เหมือนกัน ตรงที่มองว่าการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศด้วย เหมือนคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ที่มองมันเป็นเรื่องเดียวกัน

ในเรื่องเราเซ็ตว่าชนชั้นปกครองใช้ความเชื่อในการปกครองคนและทำให้ชาวบ้านเชื่อตาม เลยมาผูกกับเรื่องเพศ เพราะความอคติทางเพศทั้งหลายมันก็เกิดจากความเชื่อที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เท่าที่ดู มีหลายวัฒนธรรมในโลกนี้ที่มองว่า LGBTQIA+ เป็นเรื่องปกติ แล้วก็มีบางวัฒนธรรมที่เขาปลูกฝังคนของเขาให้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เราว่าเรื่องนี้มันเกิดมาจากอคติที่สอนกันมารุ่นต่อรุ่นค่ะ

เลยอยากทำให้คนเริ่มรู้สึกตั้งคำถามกับความเชื่อเดิมที่มีอคติต่อกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และลองคิดทบทวนด้วยตัวเองว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น มากกว่ายอมเชื่อตามที่เขาบอกมาไปเลย

คุณอยากเห็นอะไรในเรื่องของ LGBTQIA+

อยากเห็นการที่ LGBTQIA+ ได้รับสิทธิเท่าเทียมเหมือนเพศชายหญิงทุกอย่าง อยากให้คนมอง LGBTQIA+ เป็นเพศของมนุษย์ทั่วไป ไม่อยากให้มองว่าแปลกแยก

เมื่อเจน Z จับ (เมาส์) ปากกา

หาข้อมูลเยอะไหม

ค่อนข้างเยอะค่ะ หาข้อมูลประมาณ 1 ปี พื้นฐานเราเป็นคนไม่ได้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ เลยต้องรีเสิร์ชตั้งแต่ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์รอบโลกอ้างอิงบริบทในไทยยุคนั้นด้วยค่ะ

ตอนนี้รีเสิร์ชข้อมูลแล้ววางโครงสร้างเรื่องรวม ๆ เสร็จแล้วค่ะ แต่ระหว่างนี้ก็มีไปเรียนเพิ่มเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง การเขียนบท เพื่อให้งานออกมาดีมากขึ้น แล้วก็มีการศึกษาตามเพจของนักเขียนบทที่แชร์เทคนิคการเขียน ระหว่างทำงานก็ดูยูทูบเบอร์ที่ทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์มาแชร์ทริคการเล่าเรื่องไปด้วย ก็เลยต้องมีปรับแก้งานเพิ่มระหว่างทาง เพื่อให้ให้เมสเสจที่อยากจะเล่ามันชัดขึ้น งานสนุกขึ้น คนจะได้รับสารได้ง่ายขึ้นด้วย

มีฟีดแบ็กแง่ลบบ้างรึเปล่า

ฟีดแบ็กตอนลงมีแค่ส่วนน้อยเลยค่ะ ที่เขาไม่พอใจ LGBTQIA+ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่การ์ตูนวายจะโดนค่ะ ก็เลยทำใจ (หัวเราะ)

เรื่องประวัติศาสตร์ทั้งหลายนี่ไม่โดนทัวร์ลงเหรอ

ประวัติศาสตร์มีแค่คนมาถกเถียงประเด็นในเรื่องกัน แต่ในเรื่องก็ยังไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งที่ตัวละครทำถูกหรือผิด เขาก็เลยดีเบตกันเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอแนวคิดตัวเองเฉย ๆ ค่ะ ไม่ได้ติที่ตัวเรื่อง เหมือนดีเบตเพื่อแชร์ข้อมูลให้คนอ่านคนอื่น ๆ ด้วย

ที่จริงเรื่องนี้ ตอนต้นทัศนคติค่อนข้างไปทางคนรุ่นใหม่เพราะเล่าเรื่องผ่านตัวพริ้นส์ แต่ช่วงหลัง ๆ ตัวละครก็จะได้เห็นหลาย ๆ ทัศนคติของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าควรจะให้พื้นที่สื่อสำหรับคนที่คิดต่างจากเราในการนำเสนอแง่มุมของเขาด้วย

ระหว่างทำเรื่องนี้เราก็รีเสิร์ชข้อมูล โดยการไปคุยกับคนกลุ่มที่เขามีแนวคิดคนละอย่างกับเราตามกลุ่ม ตามเพจประวัติศาสตร์ในเฟซบุ๊กด้วย เพราะอยากรู้มุมมองของเขาบางจุดค่ะ บางทีเราก็ชอบไปดูคนแชร์แนวคิดกันตามกระทู้ บางทีก็ไปฟังสัมมนาที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาดีเบตกันในประเด็นประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้เห็นหลาย ๆ มุมน่าสนใจดีค่ะ

แล้วคุณก็เสนอหลาย ๆ มุม ไม่ได้เฉลยใช่ไหมว่าตัวเองมีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องต่าง ๆ

ใช่ค่ะ ให้คนอ่านสามารถตีความตัดสินในแบบของตัวเอง ไม่ได้ชักจูงไปทางใดทางหนึ่ง เพราะส่วนตัวเรามองว่าแนวคิด กระแสโลกมันเปลี่ยนตลอดเวลา เรื่องที่เรามั่นใจว่าคิดถูกอาจจะไม่เสมอไป และพร้อมจะรับแนวคิดใหม่ ๆ ตลอดค่ะ

นักเขียน ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ เล่าเบื้องหลัง WEBTOON เรื่องดัง และมุมมองเกี่ยวกับเหล่านักอ่านรุ่นใหม่เจน Z

คนอ่านเรื่องนี้เป็นใครกันบ้าง

มีบ้างที่เป็นกลุ่มที่สนใจการเมืองเข้ามาอ่าน แต่จะรองลงมาจากกลุ่มหลัก ๆ ที่เป็นกลุ่มสาววาย หรือกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งยินดีนะคะที่ได้ให้ความบันเทิง แล้วได้แชร์เรื่องการเมืองหรือเมสเสจบางอย่างจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวให้เขารับรู้ไปด้วย เป็นการช่วยสื่อสารในแบบของเราค่ะ

แล้วก็มีกลุ่มวัยเด็ก ๆ ที่เข้ามาอ่านอีก อย่างหลานเราเขาก็อ่าน ทั้งที่น้องยังอยู่ประมาณประถมอยู่เลย น้องบอกไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาในเรื่อง แต่เห็นภาพสวยดีเลยเข้ามาอ่าน (หัวเราะ)

ดีใจที่แม้คนอาจจะยังไม่เข้าใจประเด็นในเรื่อง แต่ก็เข้ามาเสพความบันเทิงในเรื่องได้ ไว้ในอนาคตถ้าเขาโตขึ้นแล้วมาอ่านอีกรอบ เขาก็อาจจะได้รับเมสเสจอื่น ๆ นอกจากความบันเทิงด้วยค่ะ เหมือนพวกการ์ตูนที่อ่านในวัยเด็ก เราอ่านตอนแรกเพื่อความบันเทิง อาจจะไม่เข้าใจเรื่องในเชิงลึก แต่พอมาอ่านตอนโตที่เห็นโลกมากขึ้น ก็จะได้รับความรู้สึกอีกแบบค่ะ

มีการ์ตูนเรื่องไหนในชีวิตคุณที่เป็นแบบนั้นเหรอ

ล่าสุดเลยที่เพิ่งดูก็คือ Attack On Titan ค่ะ ตอนออกมาแรก ๆ เราก็ยังอยู่วัยมัธยม พอมาตอนนี้มาเสพอีกที นอกจากเรื่องไททันไล่กินคนแล้วก็เห็นแง่มุมการเมือง ความเชื่อ ความเป็นมนุษย์ ที่นักเขียนใส่มา

นักเขียน ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ เล่าเบื้องหลัง WEBTOON เรื่องดัง และมุมมองเกี่ยวกับเหล่านักอ่านรุ่นใหม่เจน Z

ผู้บริโภคหลักของ WEBTOON คือเจน Z คุณคิดยังไงกับคนรุ่นนี้

พอเราเป็นคนเจน Z เหมือนกันเลยเข้าใจคนกลุ่มนี้ค่ะ ในอนาคตกลุ่มนี้ต้องเป็นคนที่ขับเคลื่อนประเทศ หลายคนที่อาจจะดูสุดโต่งไป เขาแค่ต้องการนำเสนอแนวคิดของตัวเองค่ะ คนเจนอื่น ๆ อาจจะไม่ชินกับการนำเสนอแนวคิดด้วยวิธีแบบนี้ แต่ว่าเจตนาก็คือต้องการให้สังคมดีขึ้นเหมือนทุกเจนค่ะ ก็เลยคิดว่าต้องลองเปิดใจฟัง ไม่ว่าจะเป็นเจน Z กับเจนอื่น หรือเจนอื่นกับเจน Z ค่ะ

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่คนเจน Z ต้องการจะเสพ

เท่าที่เห็นตามทวิตเตอร์ กลุ่มที่ขับเคลื่อนสังคมต้องการเสพสื่อที่บันเทิงและเชื่อมโยงกับชีวิตเขา กับสังคม กับการเมือง แล้วก็ให้แง่มุมใหม่ ๆ กับเขาได้ ทำให้เขาต่อยอดทางความคิดได้ งานของเราก็ตั้งใจให้เขาก็ถูกใจ ทั้งในแง่ความบันเทิงและในแง่อื่น ๆ ด้วยค่ะ

ถ้าเรื่องนี้ปล่อยออกมาเมื่อ 5 ปีก่อนหรือ 20 ปีก่อน กระแสจะต่างจากตอนนี้ไหม

อืม… (นิ่งคิด) ตอนนี้คนที่อ่านส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว แต่ถ้าปล่อยเมื่อ 5 ปีก่อน คนอาจจะยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้ามาอ่านประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องอาจรู้สึกขัดกับความเชื่อที่บางคนยังยึดถืออยู่ อาจเกิดความสงสัยและตั้งคำถามกับงานก็ได้นะคะ คิดว่าเป็นอย่างนั้น

ส่วน 20 ปีก่อนอาจจะมีดราม่าหนักค่ะ เพราะเราเห็นจากคนเขียนหนังสือเรื่องหนึ่งที่เขานำเสนอในแง่มุมที่ไม่ตรงกับความคิดของคนในสังคมส่วนใหญ่ในตอนนั้น เขาเล่าว่าเขาโดนอะไรมาบ้าง ก็ค่อนข้างน่ากลัวและรุนแรงอยู่ค่ะ

เห็นในเครดิตมีผู้ช่วยหลายคนเลย

ใช่ค่ะ มีผู้ช่วยคนหนึ่ง เป็นเลขาจัดการทุกอย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะงานแก้ฟอนต์ ช่วยอัปโหลดงาน หรือช่วยลงสี แต่งเอฟเฟกต์ หาพร็อพ วาดพร็อพให้ ปั้นโมเดล ทำทุกอย่าง ช่วยเหมือนเป็นตัวเราอีกคนหนึ่งเลยค่ะ

ส่วนผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง จะเช็กพวกตัวอักษร เนื้อหา ดูสตอรี่บอร์ด แล้วก็มีให้ช่วยลงสี เพราะว่าสเกลงานหลัง ๆ มันเริ่มเยอะขึ้น

แล้วก็มีผู้ช่วยคนอื่นที่ไม่ได้จ้างประจำค่ะ เป็นเพื่อนและรุ่นน้องที่รู้จักกันมาช่วยงาน

กระบวนการวาด ต้องมีการปั้นโมเดลด้วยเหรอ

ใช่ค่ะ เพราะว่าเราเซ็ตติ้งเป็นไทยพีเรียด ถ้าจะให้ไปวาดวังเองเลยก็เหนื่อย ก็เลยปั้นโมเดลขึ้นมาใช้ได้หลาย ๆ ฉากดีกว่า ปกติฉากทั่วไปก็มีคนปั้นโมเดลให้เราซื้อใช้อยู่แล้ว แต่พอมาทำเซ็ตติ้งไทยพีเรียดเลยต้องทำขึ้นมาเองบางส่วน บางส่วนก็ใช้จาก คุณมุ (นักเขียน วันทองไร้ใจ) ที่ทำโมเดลฉากลงขายไว้ให้อยู่

พวกวัตถุดิบต่าง ๆ ลายไทย ชุดไทย ฉากที่เราทำบางส่วน ในอนาคตที่จบเรื่องนี้แล้ว ก็จะเอามาแจกจ่ายให้คนได้เอาไปใช้กันค่ะ กลุ่มคนอยากทำพีเรียดไทยจะได้มีเครื่องทุ่นแรงเหมือนฝั่งพีเรียดยุโรป เกาหลี ที่เขามีฉาก มีพร็อพ ให้พร้อม

นักเขียน ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ เล่าเบื้องหลัง WEBTOON เรื่องดัง และมุมมองเกี่ยวกับเหล่านักอ่านรุ่นใหม่เจน Z

รู้สึกยังไงบ้างที่คนอ่านเรื่องนี้เยอะมาก

รู้สึกดีใจค่ะและตกใจค่ะ ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ทั้งที่เพิ่งลง ตอนแรกก็กังวลว่าจะโดนติเรื่องเนื้อหาที่ไปยกพวกประวัติศาสตร์ในมุมใหม่มามั้ย แต่พอลงแล้วทุกคนชอบก็ดีใจค่ะ

สุดท้ายนี้ อยากบอกอะไรคนอ่าน

ขอบคุณนะคะ คิดอะไรไม่ออกแล้วนอกจากขอบคุณที่ตามอ่าน (ยิ้ม)

นักเขียน ‘ยืนกินปากกาที่ท่าพระ’ เล่าเบื้องหลัง WEBTOON เรื่องดัง และมุมมองเกี่ยวกับเหล่านักอ่านรุ่นใหม่เจน Z

 ภาพ : ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน