2 มิถุนายน 2022
2 K

“อามีกู้ อามีกู้…หนีห่าว หนีห่าว” เสียงเล็ก ๆ ทักทายผมอย่างร่าเริงเป็นภาษาโปรตุเกส 

คำว่า Amigo แปลว่า เพื่อน ส่วน หนีห่าว ก็พอเดาได้ว่าเจ้าหนูทึกทักว่าผมเป็นชาวจีน

ผมมาถึง อียา ดือ โมซัมบิก (Ilha de Moçambique) 4 – 5 วันเข้าไปแล้ว ทุก ๆ เช้าที่ผมเดินออกจากโรงแรมเพื่อสำรวจเกาะก็เจอเด็กกลุ่มนี้ ทักทายแบบนี้เป็นประจำ เด็ก ๆ ไม่เพียงทักทายเฉย ๆ แต่คอยเดินตามตื๊อชนิดถึงเนื้อถึงตัว เพื่อขอเศษสตางค์ ลูกอมหรือขนมต่าง ๆ รวมทั้งของใช้ ไม่ว่าปากกา สมุดจด แม้กระทั่งเสื้อและรองเท้าที่เรากำลังใส่อยู่

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก
อียา ดือ โมซัมบิก เต็มไปด้วยอาคารสวยงามในสถาปัตยกรรมยุโรปและอีกหลากหลาย

อีย่า ดือ โมซัมบิก เป็นเกาะขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 3 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ กล่าวคือ พื้นที่ยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตรแรกที่อยู่ปลายติ่งของเกาะ ยื่นออกไปในทะเลนั้น เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า Stone Town ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นเขตที่มีอาคารสร้างจากหิน เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปอันงดงาม โอ่โถง ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ทำการรัฐบาล อดีตจวนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของกษัตริย์โปรตุเกส ที่ทำการศุลกากร โรงพยาบาล โบสถ์ วิหาร และตลาด 

ในอดีต บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครอง สงวนไว้สำหรับคนผิวขาวเท่านั้น คนผิวสีชาวแอฟริกันมักถูกกีดกันให้อยู่อีกส่วนหนึ่งของเกาะ ในพื้นที่ 1.5 กิโลเมตรที่เหลืออยู่ใกล้แผ่นดิน บริเวณนั้นเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่เรียกว่า ‘มากูตี (Macúti)’ แน่นอนว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มาจากมากูตีนั่นเอง

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก
นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก

“อามีกู้ อามีกู้…หนีห่าว หนีห่าว”  เด็ก ๆ ยังคงตามตื๊ออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผมทำเป็นไม่สนใจ

“Não. Sou Tailandês – ไม่ใช่ พี่เป็นคนไทย” ผมชักเหลืออดจนต้องหันหน้ากลับมาสวนด้วยภาษาโปรตุเกสสั้น ๆ

“อามีกู้ไม่ได้มาจาก Japão เหรอ จริง ๆ แล้วมาจาก Japão ใช่ไหม”  

โอย ยังไม่เลิกอีก ก็บอกแล้วไงว่าเป็นคนไทย ไม่ใช่คนจีน คนญี่ปุ่น หรือชาติไหน ๆ

“มีปากกาไหม มีสมุดไหม อยากได้ อยากเอาไว้ไปเรียนหนังสือ หรือเซนยอร์จะให้รองเท้าแตะก็ได้นะ 

“ขอนะ ขอนะ ไม่ก็เสื้อของเซนยอร์ก็ได้” น้อง ๆ ยังคงตื๊อต่อไปเรื่อย ๆ

“Não ปากกาไม่มี สมุดก็ไม่มี และจะไม่ให้อะไรทั้งนั้น” ผมเริ่มหงุดหงิดขึ้นเรื่อย ๆ

ความจริงใจก็แอบสงสารและอยากให้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้ แต่เมื่อคิดว่าเราอาจจะกำลังสร้างขอทานอาชีพก็ต้องใจแข็ง ตลอด 4 – 5 วันที่ผ่านมาผมเลือกที่จะเดินหนี ไม่สนใจและไม่โต้ตอบใด ๆ 

ทำเหมือนน้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นเพียงอากาศธาตุ แต่วันนี้ผมไม่อยากทำแบบเดิมอีกต่อไป

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก
เซนยอร์ไตลานเด๊ช และอาสาสมัครมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก

“ฟังพี่นะ” ผมหันกลับไปพูดกับเด็กกลุ่มนี้อย่างจริงจัง “ถ้าวัน ๆ เอาแต่มาเดินตื๊อขอข้าวของจากนักท่องเที่ยวแบบนี้ อีกหน่อยจะไม่มีใครมาเที่ยวที่อียา ดือ โมซัมบิก อีก เพราะมันน่ารำคาญมาก ๆ พี่จะไม่ให้เด็ดขาด เลิกตื๊อได้แล้ว” 

เด็ก ๆ ดูอึ้งไปทันทีเมื่อผมพยายามอธิบายข้อความนี้ด้วยภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นภาษาที่ผมเพิ่งเริ่มเรียน ผสมภาษาอังกฤษกับสเปน พร้อมทำมือทำไม้ออกอาการให้วุ่น แต่ผมคิดว่าเด็ก ๆ เข้าใจ

“ถ้าอยากได้ของ ก็ต้องทำงานแลก เข้าใจใช่ไหม” ผมพยายามสื่อสารต่อพร้อมกับปิ๊งไอเดียขึ้นมาหนึ่งอย่าง 

“เอาอย่างนี้ ถ้ามาพาพี่เดินเที่ยวอียา ดือ โมซัมบิก ให้ทั่ว แล้วพี่จะพาไปซื้อขนมที่ตลาด เอ่อ ที่แมรกาดู เซนตราล” และผมก็ตั้งใจจริง ๆ ที่จะพาพวกน้อง ๆ ไปเลือกซื้อขนมที่ Mercado Central เมื่อพวกเขาทำภารกิจสำเร็จ

ดังนั้น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’ จึงเกิดขึ้นในตอนสายของวันนั้นนั่นเอง โดยผมและน้อง ๆ มีข้อตกลงร่วมกันว่า เราไปกันแค่ 5 คนนี้เท่านั้น ห้ามไปชวนคนอื่นมาอีก น้อง ๆ ต้องพยายามอธิบายสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก แต่ถ้าหากผมถามเป็นภาษาอังกฤษ ก็ขอให้พยายามตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ผมจะได้ฝึกภาษาโปรตุเกสที่กำลังร่ำเรียนอยู่ ในขณะที่น้อง ๆ ก็ได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย และเมื่อการเที่ยวของเราจบลง น้อง ๆ ก็จะได้ไปเลือกขนมที่ตัวเองชอบจากแผงในตลาดมาเป็นรางวัล โดยผมกำหนดมูลค่าเอาไว้ในใจ

น้อง ๆ ดูกระตือรือร้นขึ้นมาทันทีที่รู้ว่าถ้าเขาได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่บางอย่าง และเขาก็ทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด เวลามีเด็กอื่น ๆ เดินรี่เข้ามาหาผม พวกน้อง ๆ จะรีบไปกันทันที 

“ไม่ต้อง ไม่ต้องยุ่งกับเซนยอร์คนนี้” อันนี้เป็นไปตามข้อตกลงข้อแรกที่เราไปกันแค่ 5 คนเท่านั้น

เด็ก ๆ พยายามอธิบายสถานที่ต่าง ๆ เท่าที่ทำได้ด้วยภาษาโปรตุเกสแบบช้า ๆ ชัด ๆ สำหรับเซนยอร์ไตยลานเด๊ชคนนี้ และเวลาที่ผมลองถามพวกเขาเป็นภาษาอังกฤษ น้อง ๆ ก็พยายามตอบกลับมาด้วยภาษาเดียวกัน 

อันนี้เจ๋งมาก ๆ ผมนี่แอบปลื้มจนยิ้มตาหยีเลย 

เกาะอียา ดือ โมซัมบิก (Ilha de Moçambique) สถานที่ที่ วาชกู ดา กามา (Vasco da Gama) นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ชาวโปรตุเกสได้ย่างเท้าขึ้นสัมผัสแผ่นดินแอฟริกาตะวันออกเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1498 หลังจากรอนแรมฝ่าพายุในท้องมหาสมุทรกว้างใหญ่มาเป็นเวลานาน ขณะนั้นสุลต่านอาหรับนามว่า Ali Musa Mbiki ยังเป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้อยู่ ต่อมาเมื่อโปรตุเกสเข้ายึดเป็นอาณานิคม นามของท่านสุลต่านซึ่งออกเสียงว่า มูซา อึมบิกิ จึงได้กร่อนจนกลายเป็นคำว่า ‘โมซัมบิก (Moçambique)’ อันเป็นชื่อของประเทศนี้อย่างเป็นทางการมาจนปัจจุบัน

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก

เกาะอียา ดือ โมซัมบิก นอกจากมีความสำคัญในฐานะอดีตเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศแล้ว ยังเป็นจุดกำเนิดที่พัฒนาให้โมซัมบิกกลายเป็นดินแดนพหุสังคมที่หลอมรวมผู้คนหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน 

บนเกาะเล็ก ๆ ความยาวเพียง 3 กิโลเมตรแห่งนี้ อัดแน่นด้วยอาคารเก่าสถาปัตยกรรมแบบยุโรปอันสวยงาม สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแอฟริกัน อาหรับ และเอเชีย เราจึงพบเห็นทั้งโบสถ์คาธอลิก มัสยิดอิสลาม วิหารฮินดู และบ้านดินแบบแอฟริกัน ตั้งอยู่ปะปนกันเป็นจำนวนมาก จนยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเกาะอียา ดือ โมซัมบิก ให้เป็นพื้นที่มรดกโลก (World’s Heritage Site) มาตั้งแต่ ค.ศ. 1977

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก

คณะทัวร์ของเราเริ่มที่ปลายสุดของเกาะ นั่นคือที่ป้อมเซา เซบาชเตียว (São Sebastião) ป้อมปราการหินโบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่บนหน้าผา เด็ก ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน จึงทำได้แค่ส่งผมตรงปากประตูทางเข้าเท่านั้น

“ต้องดูอะไรบ้างที่พวกนายคิดว่าเจ๋งสุด” ผมกระซิบถามไกด์ตัวน้อย

“เซนยอร์ต้องไปดูโบสถ์เล็ก ๆ ที่ปลายแหลม นั่นคือโบสถ์บาลูอาร์ตือ (Baluarte Chapel) เชื่อกันว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินแอฟริกา แล้วก็อย่าลืมไปดูห้องโถงเก็บน้ำ เป็นห้องโถงที่ใหญ่มาก ๆ สูงมาก ๆ ใช้กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้บนเกาะมาตั้งแต่โบราณ และด้วยการออกแบบที่ชาญฉลาด น้ำฝนที่ตกบนหลังคาหรือบนตัวป้อมปราการทุกเม็ดจะไหลมารวมกันในห้องโถงแห่งนี้ มันเป็นโถงที่สูงเหมือนตึกหลายชั้น และทุกวันนี้ก็ยังเป็นแหล่งสะสมน้ำจืดที่สำคัญที่สุด เซนยอร์ต้องเดินไปทั่ว ๆ นะ วิวสวยมาก ๆ เซนยอร์จะต้องชอบแน่ ๆ” หัวหน้าทัวร์ตัวน้อยแนะนำ

แน่นอนว่าเซนยอร์ลูกทัวร์อย่างผมก็ทำตามแต่โดยดี

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก
โบสถ์บาลูอาร์ตือ (Baluarte Chapel)

เมื่อผมสำรวจป้อมเซา เซบาชเตียว เสร็จเรียบร้อย ผมก็รีบออกมาพบน้อง ๆ เพื่อเที่ยวต่อ สารภาพตรง ๆ เลยนะครับว่าผมจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่าประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่นั้นเป็นอย่างไร แต่ผมเดินเที่ยวกับน้อง ๆ อย่างสนุกสนานมาก พวกเขาแย่งกันเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เท่าที่จำได้ และถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มความสามารถ

“นี่วาชกู ดา กามา นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่เดินทางจากยุโรปมาแอฟริกาแล้วมาค้นพบอียา ดือ โมซัมบิก ก่อนข้าทะเลต่อไปยังเมืองโกอา (Goa) ในอินเดียและมาเก๊า (Macau) ในจีน แล้วชื่อประเทศโมซัมบิก ก็มาจากอีย่า ดือ โมซัมบิก นี่แหละ” เด็ก ๆ เล่าเมื่อพาผมมาหยุดยืนที่หน้าอนุสาวรีย์ของ Vasco da Gama

นักท่องเที่ยวไทยชวนเด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ตะลอนทัวร์เกาะโบราณ 204 ปีของโมซัมบิก
อนุสาวรีย์ของวาชกู ดา กามา

“นี่โบสถ์ซานตู อันโตนีอู รู้จักซานตู อันโตนีอูไหม เป็นนักบุญศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร ๆ มักจะมาขอพรท่านเพื่อให้กำเนิดบุตรชายหญิงที่แข็งแรง” เรื่องเล่านี้มาที่หน้าโบสถ์ชื่อเดียวกัน

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’
โบสถ์ซานตู อันโตนีอู (Santo Antonio) 

“นี่โรงพยาบาล และนี่ก็ศาลาว่าการเมือง” อาคารโรงพยาบาลเก่าของอียา ดือ โมซัมบิก ยังคงงดงามแม้ยืนท้าแดดท้าฝนมาหลายศตวรรษจนดูเหมือนโบราณสถานปรักหักพัง แต่ที่ผมประหลาดใจก็คือ เมื่อผมลองเดินไปด้านหลังของอาคาร ผมก็พบว่าบางส่วนยังเปิดใช้เป็นคลินิกอยู่ มีหมอ มีคนไข้ มีนางพยาบาลอยู่ครบ

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’
โรงพยาบาล

“อันนี้สถานีตำรวจ… อ๊ะ ๆ เซนยอร์อย่าถ่ายรูปนะ เอากล้องลงเดี๋ยวนี้ เอาลงกล้องลงเดี๋ยวนี้เลย ตำรวจที่นี่โหดจริงอะไรจริงนะ” นี่เป็นคำเตือน และอย่างที่น้อง ๆ บอกนะครับ นักท่องเที่ยวอย่างเราอย่าได้เผลอไปถ่ายภาพสถานที่ราชการเข้าโดยเด็ดขาด เพราะเรื่องอาจลุกลามบานปลายได้ ว่าแล้วผมก็เก็บกล้องลงทันที

“เวลาออกมาเดินกลางคืน เซนยอร์อย่าเอามือถือออกมาจากกระเป๋านะ เอาออกมาแค่ตอนถ่ายรูป แล้วต้องเก็บลงกระเป๋านะ อย่าถือไว้ในมือตลอดเวลาแบบนี้ มันอันตรายมาก ๆ” อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำเตือนจากเด็ก ๆ

เราเดินเล่นเลาะเมืองสวยแห่งนี้ไปตามตรอกซอกซอย จนผ่านประตูบ้านที่ทำจากไม้สลักเสลางดงาม

“โห ประตูบานนี้สวยจัง บ้านใครน่ะ” ผมถาม

“อันนี้คือบ้านของกามอยช์ เขาเป็นกวีคนสำคัญของโปรตุเกส และเคยอาศัยอยู่ที่นี่นานหลายปี” เด็ก ๆ กำลังพูดถึง Luís Vaz de Camoẽs ผู้ที่นอกจากเป็นกวีคนสำคัญของโปรตุเกสแล้ว ยังนับว่าเป็นกวีคนสำคัญของโลกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีนามว่า Os Lusíadas ที่เขาเขียนพรรณนาถึงเกาะอียา ดือ โมซัมบิก แห่งนี้ไว้อย่างซาบซึ้งใจ

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’
ประตูบ้านของกามอยช์

อียา ดือ โมซัมบิก เป็นเมืองที่มีเสน่ห์มาก ๆ อาคารเก่าในสถาปัตยกรรมยุโรปผสมผสานอาหรับและแอฟริกันสวยงามชวนหลงใหล สีพาสเทลที่ฉาบอาคารอาจดูเก่าและทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของเมืองลดลงเลย เราเดินสำรวจเกาะกันจนบ่ายและมาจบที่ตลาดปลา วันนี้ไม่มีปลาขายสักตัว และผมคิดว่าน้อง ๆ ควรได้รับรางวัลกันแล้ว

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’
ตลาดปลา ที่หมายสุดท้าย

“ไป แมรกาดู เซนตราล กัน ไปเลือกขนมที่ชอบเลย แถมน้ำคนละกระป๋องนะ” 

เด็ก ๆ ดีใจ และผมก็ได้ทำตามสัญญาก่อนเราแยกย้ายจากกัน

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’
ตลาดกลางหรือแมรกาดู เซนตราล (Mercado Central)

บันทึกฉบับนี้คงจะจบลงไม่ได้ ถ้าผมไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้น 

เมื่อผมได้มีโอกาสพบกับเด็กน้อยคนหนึ่งในกลุ่มมัคคุเทศก์ยุวชนที่พาผมเดินเที่ยวเมื่อวานนี้ 

เขาคือ เด็กชายเฟาชตีนู่ (Faustino) 

ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ผมไปดำน้ำตามเกาะแก่งต่าง ๆ รอบอียา ดือ โมซัมบิก เสร็จเรียบร้อยและกลับมาที่โรงแรมเมื่อตอนบ่ายแก่ ๆ ผมก็พบว่าเด็กชายเฟาชตีนู่กำลังยืนรอผมอยู่ที่หน้าโรงแรม

หนูน้อยเฟาชตีนู่ไม่ได้มามือเปล่า แต่เขานำเอาภาพวาดมาด้วยจำนวนหนึ่ง

“เซนยอร์ ไตยลานเด๊ช…. เซนยอร์ ไตยลานเด๊ช… หนีห่าว” เฟาชตีนู่เรียกผมแบบเขิน ๆ 

เฮ่อ หนีห่าวอีกละ ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ยังเรียกประเทศถูก

“ผมวาดรูปมา นี่วาชกู ดา กามา นี่โรงเรียนผม แล้วนี่รูปบ้านผมที่มากูตี” 

เฟาชตีนู่ค่อย ๆ แอบหยิบภาพออกมาที่ละภาพสองภาพไปเรื่อย ๆ

“เฮ้ย” ผมแอบตกใจ “นี่ไปวาดรูปเอามาให้พี่เหรอ ซึ้งใจ ๆ”

“เปล่าครับ ผมเอามาขายเซนยอร์รูปละ 100 เมติไกช์ครับ”  

เฟาชตีนู่ทำเอาหยาดน้ำตาแห่งความซึ้งใจของผมแห้งลงทันที แต่ผมกำลังแอบยิ้ม

ชวนเด็ก ๆ บนเกาะ Ilha de Moçambique เป็นไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว ตั้งเป็น ‘โครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก’

เจ้าหนูนี่เซ็งลี้ฮ้อมาก ๆ เพราะวาดรูปมา 8 รูป เพื่อนำมาขายผมรูปละ 100 เมติไกช์ ตกประมาณรูปละ 50 บาท

“เซนยอร์ ไตยลานเด๊ช บอกว่าต้องทำงานแลกเงินไง” เฟาชตีนู่พูดต่อ “ผมเลยวาดรูปมาขาย” ผมถึงกับฮาสนั่น

“100 เมติไกช์แพงไปนะ เฟาชตีนู่” ผมเริ่มต่อราคา

“เซนยอร์จะซื้อกี่รูปล่ะ” เฟาชตีนู่รุก

“ถ้าเหมาหมด 300 เมติไกช์ล่ะ” ผมชิงบอกราคาแบบมั่ว ๆ ไปก่อน

“350 ละกัน นะ ๆ เซนยอร์” เฟาชตีนู่ไม่ยอมแพ้

“ได้ งั้นเหมา 8 รูป 350 เมติไกช์” ผมตกลง และยื่นเงินให้ในราคารูปละ 20 บาทโดยประมาณ

ผมรีบเดินเข้าไปหาพนักงานต้อนรับในโรงแรม ให้มาช่วยแปลประโยคที่ผมกำลังจะบอกเขาว่า

“เฟาชตีนู่ นายเจ๋งมาก ๆ ขอให้นายหัดวาดรูปให้เก่ง พูดภาษาอังกฤษให้เก่ง ๆ จะได้พานักท่องเที่ยวเดินเที่ยวอียา ดือ โมซัมบิก หรือไม่ก็วันหนึ่งนายอาจจะได้เป็นศิลปินและทำงานศิลปะสวย ๆ มาขายนักท่องเที่ยวนะ”

ผมรู้ดีว่ามันอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจนที่หมักหมมอยู่ในประเทศนี้แบบถาวร แต่ผมหวังว่ามันจะทำให้เด็กชายคนหนึ่งพยายามดิ้นรนให้มากขึ้นกว่าการเดินขอเงิน ขอขนม ขอปากกา ขอสมุดไปวัน ๆ

หากมาอียา ดือ โมซัมบิก แล้วเจอเฟาชตีนู่แถว ๆ หน้าโรงแรม Villa Sand เดินเข้ามาขายภาพหรือเดินเข้ามาขออนุญาตพาคุณเที่ยวอียา ดือ โมซัมบิก แล้วล่ะก็ ผมฝากให้อุดหนุนเขาด้วยนะครับ

สิ่งสุดท้ายที่ผมทำก่อนจะเดินทางออกจากเกาะแสนสวยแห่งนี้คือ ผมได้ฝากโครงการมัคคุเทศก์ยุวชนแห่งอียา ดือ โมซัมบิก ไว้กับมาร์กุส เจ้าของโรงแรมที่ผมไปพักอยู่ด้วย และผมหวังว่าโครงการนี้จะยังมีอยู่ตราบจนถึงวันนี้

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK