ก้มหน้าก้มตาเดินขึ้นไปทีละก้าวตามบันไดหินที่เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ลมหายใจหอบแฮก ๆ บ่งบอกถึงระยะทางและความชันของระดับพื้น เมื่อถอนหายใจพร้อมกับเงยหน้าขึ้น จะพบซุ้มประตูทางเข้าชั้นนอกของวัด แข้งขาที่อ่อนล้ากลับแข็งขันขึ้นมาอีกครั้ง 

ความรู้สึกนี้หรือเปล่า ที่ทำให้การเดินทางมานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนพิเศษ และมีความหมายที่แตกกันออกไป

คอล์ม Set Design ครั้งนี้ ขอพาทุกท่านไปตามรอยสถาปัตยกรรมวัดพุทธนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น ผ่านฉากในการ์ตูนย้อนวัยเรื่อง ‘อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา’ เมื่อหลักคำสอน ปรัชญา พิธี และวิถีปฏิบัติในพุทธศาสนาหลอมรวมเข้ากับธรรมชาติ บริบทของภูมิประเทศ และสถาปัตยกรรม มากไปกว่านั้น สิ่งที่สะท้อนผ่านพุทธศาสนสถานแบบดั้งเดิมอย่างวิถีแห่งพุทธนิกายเซน ยังมีอิทธิพลในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็น Soft Power ต่อวัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงสถาปัตยกรรม ซึ่งบ่งบอกและสร้างวิถีความเป็นญี่ปุ่นยุคใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย 

เมื่อศาสนาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับจิตใจผู้คน วัดหรือศาสนสถานก็เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สื่อสารอย่างทรงพลัง ราวกับสถาปัตยกรรมนั้นพูดได้ มีตัวตน และมีพื้นที่ของตัวเอง

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก

สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ อาอิชิเตรุ หรือจะเป็น “อิค-คิว-ซางงงง…” “คร๊าบผม…จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวนึงสิครับ” 

เพลงเปิดและคำพูดก่อนตัดเข้าโฆษณาที่หลาย ๆ คนจดจำได้เป็นอย่างดีจาก อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา มาพร้อมกับการถาม-ตอบเชิงปัญญาทางธรรมแบบปุจฉาวิสัชนา แฝงด้วยเกร็ดธรรมะและข้อคิดในการดำเนินชีวิตในทุกตอน ดังความหมายของคำว่าอิคคิว ( 一休 ) ที่แปลว่าการพักครู่หนึ่ง เหมือนกับการชะลอความคิด สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ “ใช้’หมอง นั่ง’มาธิ” เพื่อเรียกสติ สร้างสมาธิเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหานั่นเอง

อนิเมะ อิคคิวซัง (一休さん) ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2518 อำนวยการผลิตโดยโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) และฉายครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2525 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ทั้งหมด 296 ตอน การ์ตูนเรื่องนี้อ้างอิงประวัติศาสตร์บ้านเมืองญี่ปุ่นยุคมูโรมาจิ (Muromachi) (ค.ศ. 1336 – 1573) ยุคที่รัฐบาลโชกุนอยู่ภายใต้การนำของ โชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ มีอำนาจในการปกครองเหนือพระจักรพรรดิ และยังนำชีวประวัติของ พระอิคคิว โซจุน หรือชื่อในวัยเด็กคือ เซงกิกุมารุ ในช่วง ค.ศ. 1394 ถึง ค.ศ. 1481 มาเป็นต้นแบบของอิคคิวซังในการ์ตูน เณรน้อยเจ้าปัญญา อีกด้วย 

เมื่อศึกษาดูแล้ว พบว่าตัวตนของพระอิคคิว โซจุน นั้น เป็นพระสายอินดี้พอตัว ท่านไว้หนวดเครา ไม่โกนผม มักต่อต้านจารีตประเพณีและยศศักดิ์ โดยมองว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งสมมติ ท่านยึดแก่นของพระธรรมและสัจจธรรมของชีวิตที่ไม่แน่นอนเป็นที่ตั้ง

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก

ตามท้องเรื่องในอนิเมะ พระมารดาส่งอิคคิวซังให้ออกบวชเป็นสามเณรที่วัดอังโคะกุจิ ( 安国寺, Ankoku-ji) เพื่อหนีราชภัยในวัย 5 ขวบ โดยมีเจ้าอาวาสไกคังเป็นผู้อุปสมบทให้ (ในความเป็นจริง ณ ขณะนั้นได้รับสมญานามว่า สามเณรชูเคน) และโชกุนโยชิมิตสึก็ยังสั่งการให้ซามูไรชินเอมอนซังคอยเฝ้าติดตามอิคคิวซังไปทุกที่

ในแต่ละตอนเรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น บ้างถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันและปัญหาต่าง ๆ ของเหล่าเพื่อนเณรและซาโยจัง (เด็กหญิงที่อาศัยอยู่บริเวณวัด) ภายในวัดอังโคะกุจิ บ้างถ่ายเรื่องราวในละแวกเมือง อย่างร้านขายของชำของคิเคียวยะซังและลูกสาวยาโยย ที่มักจะตั้งคำถามทดลองเชาว์ปัญญาของอิคคิวอยู่เป็นเนือง ๆ

I
วัดอังโคะคุจิ

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก

วัดอังโคะคุจิ คือหัวใจสำคัญของฉากในการ์ตูนเรื่องนี้ ก่อตั้งโดยตระกูลโชกุนอาชิคางะ ซึ่งสร้างขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เครือข่ายวัดอังโคะคุจิได้รับการสนับสนุนปัจจัยจากเหล่าขุนนางและพ่อค้าเป็นอย่างดี ในขณะที่เป้าหมายดั้งเดิมคือสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่อีกนัยหนึ่ง ตัววัดก็ทำหน้าที่สนับสนุนการปกครองของโชกุนไปโดยปริยาย

วัดอังโคะคุจิได้ต้นแบบมาจากเมืองยามาชิโระที่สามเณรชูเคนออกบวชและจำวัด ซึ่งถูกเผาทำลายไปแล้วในช่วงสงคราม ทางทีมงานผู้สร้างจึงต้องถอดแบบจากวัดอังโคะคุจิในเมืองอายาเบะ จังหวัดเกียวโต แม้ว่าจะไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระอิคคิว โซจุน โดยตรงก็ตาม

ภายในเต็มไปด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายของฉากในวัดตามแบบฉบับการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูไม้หน้าทางเข้าวัด (Sōmon) และตัวห้องโถงพระใหญ่ (Hondo) ที่ปกคลุมด้วยหลังคาหน้าจั่วมุงหญ้าขนาดใหญ่ สร้างด้วยโครงสร้างเสาคานไม้ขนาดใหญ่ในรูปแบบ Post and Lintel ก่อนปิดตัวอาคารด้วยผนังปูนสีขาว โดยอาคารตั้งอยู่บนแท่นหิน ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติและต้นไม้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนนั่นเอง 

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก
สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก
วัดชูองอัน อิคคิวจิ

รูปแบบพุทธสถาปัตยกรรมของจีนเข้ามามีอิทธิพลต่อวัดในญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ทั้งการวางผังที่ยึดตามแกนกลาง ซุ้มประตูทางเข้าจะตรงกับโถงหอพระใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูป การแยกแบ่งฟังก์ชันของอาคารออกไปเป็นส่วน ๆ ซุ้มระฆัง ส่วนที่อยู่อาศัยของพระและสามเณร ห้องซักล้าง ห้องน้ำ และอื่น ๆ การจัดวางผังอาคารตามกายภาพภูมิประเทศ การสร้างลานกว้าง (Courtyard) และสวนหินจากพื้นที่ระหว่างอาคารแต่ละหลัง ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของศาสนสถานแบบพุทธเซน

อีกหนึ่งวัดที่ไม่ได้ปรากฏในการ์ตูนเรื่องนี้ ทว่าเป็นวัดที่พระอิคคิว โซจุน เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต คือ วัดชูองอัน อิคคิวจิ (Shuonan Ikkyuji Temple) ตัววัดโอบล้อมไปด้วยต้นไม้และสวนหินแบบเซน จากซุ้มประตูทางเข้า ต่อเนื่องเป็นทางเดินลายหินทอดยาวผ่านแนวต้นไม้ ก่อนจะเข้าถึงภายในวัด ช่วยสร้างพื้นที่เปลี่ยนผ่านจากความวุ่นวายของโลกภายนอกให้แก่ผู้มาเยือน 

ตัวสวนหินเซนที่อยู่ภายในวัดก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การกวาดหินเป็นลวดลายเหมือนกระแสน้ำลื่นไหลผ่านพื้นดินนิ่งสงบ เป็นการลอกเลียนความสมบูรณ์ของธรรมชาติเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้

II
วัดคินคะคุจิ

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก

อีกหนึ่งฉากที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ตอน คือ ปราสาทคินคะคุ (Kinkaku The Gloden Pavillion) ศาลาพลับพลาทองที่หลายคนจดจำได้ ในตอนที่โชกุนท้าทายให้อิคคิวซังจับเสือในภาพวาดบนฉากกั้น ตัวอาคารสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1398 โดยโชกุนรุ่นที่ 3 อาชิคางะ โยชิมิตสึ เพื่อใช้เป็นวิลล่าคอมเพล็กซ์สำหรับอยู่อาศัยและว่าราชการ ตั้งบนเนินเขาคิตะยามะ (Kitayama) ต่อมาหลังจากโชกุนโยชิมิตสึถึงแก่อสัญกรรม สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็น วัดคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple) หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการในชื่อ วัดโรกูอนจิ (Rokuon-ji) ตามความประสงค์ของท่าน

ความหรูหราสวยงามของตัวศาลาเปรียบเหมือนสวรรค์บนดิน โครงสร้าง 3 ชั้นของศาลาทองสร้างขึ้นบนฐานหินเหนือสวนสระน้ำอันกว้างขวาง สะท้อนและทอดเงาสีทองลงผิวน้ำ ล้อมรอบด้วยต้นไม้เปลี่ยนสี ผลัดและผลิใบไปตามวัฏจักรฤดูกาลของมัน 

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก
วัดคินคะคุจิ

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ชั้นหนึ่งเป็นสไตล์ที่อยู่อาศัยแบบชินเด็น (รูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง) เรียกกันว่าหอน้ำพระธรรม (Hosuiin) มีชานระเบียงล้อมรอบห้อง เปิดเผยโครงสร้างเสาไม้ธรรมชาติ ผนังปูนสีขาว และประตูและหน้าต่างบานเลื่อนไม้ เมื่อกวาดสายตามองไป ก็แทบกลมกลืนหายไปกับบริบทแวดล้อม ขับให้ตัวอาคารชั้นสองและชั้นสามที่ภายนอกห่อหุ้มผิวผนังด้วยทองคำเปลวโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก

หอคอยแห่งเสียงคลื่น (Choonkaku) คือส่วนชั้นบนของศาลา เป็นที่ประดิษฐานรูประโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม สร้างขึ้นในสไตล์บุกเกะ ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยของซามูไร ส่วนบนสุดสร้างเป็นทรงคิวโพลา เรียกว่า Kukyocho สถาปัตยกรรมโถงเซนแบบจีน มีหน้าต่างโค้งขนาดใหญ่ กลางห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พื้นที่ภายในและภายนอกปูด้วยแผ่นทองคำเปลว บนยอดหลังคามีรูปปั้นนกฟีนิกซ์สีทอง สัญลักษณ์ของราชวงศ์ อันเป็นตัวแทนของไฟและดวงอาทิตย์

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ Soft Power ของอัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลก

ภายหลังใน ค.ศ. 1950 ศาลาหลังนี้ถูกวางเพลิงเผาทำลาย และสร้างขึ้นมาให้เหมือนเก่าอีกครั้งใน ค.ศ. 1955 นอกจากศาลาทองหลังนี้ โดยรอบอาณาเขตบริเวณยังมีสิ่งปลูกสร้างในรูปสถาปัตยกรรมเซนหลังอื่น ๆ อาทิ ศาลาเงิน (สร้างขึ้นเกือบ 1 ศตวรรษให้หลัง) วิลล่า ห้องพักพระสงฆ์ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นในยุคต่อมา

III
อวัจนภาษา

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ ที่หลอมรวมสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติ และมีบทบาทต่ออัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงคราม

อวัจนภาษาในการออกแบบพุทธสถาปัตยกรรมแบบเซน ถ่ายทอดแก่นคำสอนของการตื่นรู้ การตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต อัตตา และการลดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป ภาษาที่สื่อสารผ่านวัดเซน กลมกลืนหลอมรวมไปกับธรรมชาติ ความงามและสุนทรียภาพที่ไม่ยั่งยืนตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย เปลือย และตรงไปตรงมา เผยสัจจะวัสดุในแบบโครงสร้างตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง

การทำความสะอาด เป็นอีกสิ่งที่มักพบเห็นในหลาย ๆ ฉาก ทั้งการถูพื้นหรือกวาดลานวัด หรือแม้แต่ในวัดชูองอัน อิคคิวจิ ก็มีรูปปั้นของพระอิคคิว โซจุน ถือไม้กวาดอยู่ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่การทำความสะอาดเป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของพุทธเซนในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล 

ความงามที่เกิดจากการขัดถู ทำความสะอาด การตัดแต่งกิ่งของต้นบอนไซ หรือแม้แต่การกวาดลวดลายในสวนหิน 

ความงามประณีตเกิดขึ้นจากความอดทน และความพยายามผ่านกระบวนการอันยาวนานเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ 

สิ่งนี้หรือเปล่าที่วัดนิกายเซนพยายามรักษา ผ่านการทำความสะอาดด้วยความเพียรในแต่ละวัน

สถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนใน ‘อิคคิวซัง’ ที่หลอมรวมสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติ และมีบทบาทต่ออัตลักษณ์ญี่ปุ่นหลังสงคราม

เมื่อนั่งพิเคราะห์ถึงแก่นพื้นฐานของพุทธนิกายเซน และเชื่อมโยงกับหลักการปรัชญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในวงการงานออกแบบ สถาปัตยกรรม หรือหลักการใช้ชีวิตและการทำงาน เราจะพบว่าแก่นคำสอนของเซนนั้นเป็นหนึ่งใน Soft Powre ที่สร้างอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกขึ้นมา 

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบอิคิไก (Ikigai) ซึ่งช่วยหาจุดสมดุลของการดำรงอยู่และการทำงาน แนวคิดการลดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไปในงานออกแบบและสถาปัตยกรรม อย่าง Minimalism แนวคิดในการตกแต่งภายในแบบ Wabi-sabi ที่ค้นหาความงามในความเรียบง่ายผ่านสัจจะวัสดุและธรรมชาติ หรือจะเป็นแนวคิด No-frills ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นต้น 

คำถามน่าคิดในวันนี้ที่เราอาจมองย้อนกลับมาว่า แก่นของพุทธแบบไทย ๆ นั้น กำลังสื่อสารอะไรกับวิถีการดำเนินชีวิต รวมถึงการออกแบบพุทธสถาปัตยกรรมของเรา ในยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ รูปทรงหลังคาวัดแบบดั้งเดิมวางอยู่บนผนังกระจกขอบอะลูมิเนียม เต็นท์สำเร็จรูปกางที่ลานวัด ปกคลุมอยู่บนองค์พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รายล้อมไปด้วยกล่องรับบริจาค จนกลายเป็นภาพชินตาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาของภาพประกอบ :

Kimio Yabuki (Director). Chiaki Imada (Producer). 1978. 一休さん Ikkyū-san (TV series) . Toei Animation (Production Studio)

Nishi, K., & Hozumi, K. (1983). What is Japanese architecture?. Kodansha international.

Hara, K. (2017). Back to White. In White. essay, Lars Muller Publishers.

www.youtube.com/watch?v=rf9yQ2Hh5ac

www.posttoday.com/ent/news/428318

mgronline.com/japan/detail/9640000129536

www.mangozero.com/ikkyu-san-place-history/

www.ikkyuji.org

www.shokoku-ji.jp/en/kinkakuji/about/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ