ก้มหน้าก้มตาเดินขึ้นไปทีละก้าวตามบันไดหินที่เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ลมหายใจหอบแฮก ๆ บ่งบอกถึงระยะทางและความชันของระดับพื้น เมื่อถอนหายใจพร้อมกับเงยหน้าขึ้น จะพบซุ้มประตูทางเข้าชั้นนอกของวัด แข้งขาที่อ่อนล้ากลับแข็งขันขึ้นมาอีกครั้ง
ความรู้สึกนี้หรือเปล่า ที่ทำให้การเดินทางมานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนพิเศษ และมีความหมายที่แตกกันออกไป
คอล์ม Set Design ครั้งนี้ ขอพาทุกท่านไปตามรอยสถาปัตยกรรมวัดพุทธนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น ผ่านฉากในการ์ตูนย้อนวัยเรื่อง ‘อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา’ เมื่อหลักคำสอน ปรัชญา พิธี และวิถีปฏิบัติในพุทธศาสนาหลอมรวมเข้ากับธรรมชาติ บริบทของภูมิประเทศ และสถาปัตยกรรม มากไปกว่านั้น สิ่งที่สะท้อนผ่านพุทธศาสนสถานแบบดั้งเดิมอย่างวิถีแห่งพุทธนิกายเซน ยังมีอิทธิพลในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็น Soft Power ต่อวัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงสถาปัตยกรรม ซึ่งบ่งบอกและสร้างวิถีความเป็นญี่ปุ่นยุคใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
เมื่อศาสนาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับจิตใจผู้คน วัดหรือศาสนสถานก็เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สื่อสารอย่างทรงพลัง ราวกับสถาปัตยกรรมนั้นพูดได้ มีตัวตน และมีพื้นที่ของตัวเอง

สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ สึกิ อาอิชิเตรุ หรือจะเป็น “อิค-คิว-ซางงงง…” “คร๊าบผม…จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวนึงสิครับ”
เพลงเปิดและคำพูดก่อนตัดเข้าโฆษณาที่หลาย ๆ คนจดจำได้เป็นอย่างดีจาก อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา มาพร้อมกับการถาม-ตอบเชิงปัญญาทางธรรมแบบปุจฉาวิสัชนา แฝงด้วยเกร็ดธรรมะและข้อคิดในการดำเนินชีวิตในทุกตอน ดังความหมายของคำว่าอิคคิว ( 一休 ) ที่แปลว่าการพักครู่หนึ่ง เหมือนกับการชะลอความคิด สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ “ใช้’หมอง นั่ง’มาธิ” เพื่อเรียกสติ สร้างสมาธิเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหานั่นเอง
อนิเมะ อิคคิวซัง (一休さん) ฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2518 อำนวยการผลิตโดยโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) และฉายครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2525 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ทั้งหมด 296 ตอน การ์ตูนเรื่องนี้อ้างอิงประวัติศาสตร์บ้านเมืองญี่ปุ่นยุคมูโรมาจิ (Muromachi) (ค.ศ. 1336 – 1573) ยุคที่รัฐบาลโชกุนอยู่ภายใต้การนำของ โชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ มีอำนาจในการปกครองเหนือพระจักรพรรดิ และยังนำชีวประวัติของ พระอิคคิว โซจุน หรือชื่อในวัยเด็กคือ เซงกิกุมารุ ในช่วง ค.ศ. 1394 ถึง ค.ศ. 1481 มาเป็นต้นแบบของอิคคิวซังในการ์ตูน เณรน้อยเจ้าปัญญา อีกด้วย
เมื่อศึกษาดูแล้ว พบว่าตัวตนของพระอิคคิว โซจุน นั้น เป็นพระสายอินดี้พอตัว ท่านไว้หนวดเครา ไม่โกนผม มักต่อต้านจารีตประเพณีและยศศักดิ์ โดยมองว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งสมมติ ท่านยึดแก่นของพระธรรมและสัจจธรรมของชีวิตที่ไม่แน่นอนเป็นที่ตั้ง

ตามท้องเรื่องในอนิเมะ พระมารดาส่งอิคคิวซังให้ออกบวชเป็นสามเณรที่วัดอังโคะกุจิ ( 安国寺, Ankoku-ji) เพื่อหนีราชภัยในวัย 5 ขวบ โดยมีเจ้าอาวาสไกคังเป็นผู้อุปสมบทให้ (ในความเป็นจริง ณ ขณะนั้นได้รับสมญานามว่า สามเณรชูเคน) และโชกุนโยชิมิตสึก็ยังสั่งการให้ซามูไรชินเอมอนซังคอยเฝ้าติดตามอิคคิวซังไปทุกที่
ในแต่ละตอนเรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น บ้างถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันและปัญหาต่าง ๆ ของเหล่าเพื่อนเณรและซาโยจัง (เด็กหญิงที่อาศัยอยู่บริเวณวัด) ภายในวัดอังโคะกุจิ บ้างถ่ายเรื่องราวในละแวกเมือง อย่างร้านขายของชำของคิเคียวยะซังและลูกสาวยาโยย ที่มักจะตั้งคำถามทดลองเชาว์ปัญญาของอิคคิวอยู่เป็นเนือง ๆ
I
วัดอังโคะคุจิ

วัดอังโคะคุจิ คือหัวใจสำคัญของฉากในการ์ตูนเรื่องนี้ ก่อตั้งโดยตระกูลโชกุนอาชิคางะ ซึ่งสร้างขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เครือข่ายวัดอังโคะคุจิได้รับการสนับสนุนปัจจัยจากเหล่าขุนนางและพ่อค้าเป็นอย่างดี ในขณะที่เป้าหมายดั้งเดิมคือสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่อีกนัยหนึ่ง ตัววัดก็ทำหน้าที่สนับสนุนการปกครองของโชกุนไปโดยปริยาย
วัดอังโคะคุจิได้ต้นแบบมาจากเมืองยามาชิโระที่สามเณรชูเคนออกบวชและจำวัด ซึ่งถูกเผาทำลายไปแล้วในช่วงสงคราม ทางทีมงานผู้สร้างจึงต้องถอดแบบจากวัดอังโคะคุจิในเมืองอายาเบะ จังหวัดเกียวโต แม้ว่าจะไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระอิคคิว โซจุน โดยตรงก็ตาม
ภายในเต็มไปด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายของฉากในวัดตามแบบฉบับการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูไม้หน้าทางเข้าวัด (Sōmon) และตัวห้องโถงพระใหญ่ (Hondo) ที่ปกคลุมด้วยหลังคาหน้าจั่วมุงหญ้าขนาดใหญ่ สร้างด้วยโครงสร้างเสาคานไม้ขนาดใหญ่ในรูปแบบ Post and Lintel ก่อนปิดตัวอาคารด้วยผนังปูนสีขาว โดยอาคารตั้งอยู่บนแท่นหิน ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติและต้นไม้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบพุทธนิกายเซนนั่นเอง


รูปแบบพุทธสถาปัตยกรรมของจีนเข้ามามีอิทธิพลต่อวัดในญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ทั้งการวางผังที่ยึดตามแกนกลาง ซุ้มประตูทางเข้าจะตรงกับโถงหอพระใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูป การแยกแบ่งฟังก์ชันของอาคารออกไปเป็นส่วน ๆ ซุ้มระฆัง ส่วนที่อยู่อาศัยของพระและสามเณร ห้องซักล้าง ห้องน้ำ และอื่น ๆ การจัดวางผังอาคารตามกายภาพภูมิประเทศ การสร้างลานกว้าง (Courtyard) และสวนหินจากพื้นที่ระหว่างอาคารแต่ละหลัง ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของศาสนสถานแบบพุทธเซน
อีกหนึ่งวัดที่ไม่ได้ปรากฏในการ์ตูนเรื่องนี้ ทว่าเป็นวัดที่พระอิคคิว โซจุน เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต คือ วัดชูองอัน อิคคิวจิ (Shuonan Ikkyuji Temple) ตัววัดโอบล้อมไปด้วยต้นไม้และสวนหินแบบเซน จากซุ้มประตูทางเข้า ต่อเนื่องเป็นทางเดินลายหินทอดยาวผ่านแนวต้นไม้ ก่อนจะเข้าถึงภายในวัด ช่วยสร้างพื้นที่เปลี่ยนผ่านจากความวุ่นวายของโลกภายนอกให้แก่ผู้มาเยือน
ตัวสวนหินเซนที่อยู่ภายในวัดก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การกวาดหินเป็นลวดลายเหมือนกระแสน้ำลื่นไหลผ่านพื้นดินนิ่งสงบ เป็นการลอกเลียนความสมบูรณ์ของธรรมชาติเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้
II
วัดคินคะคุจิ

อีกหนึ่งฉากที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ตอน คือ ปราสาทคินคะคุ (Kinkaku The Gloden Pavillion) ศาลาพลับพลาทองที่หลายคนจดจำได้ ในตอนที่โชกุนท้าทายให้อิคคิวซังจับเสือในภาพวาดบนฉากกั้น ตัวอาคารสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1398 โดยโชกุนรุ่นที่ 3 อาชิคางะ โยชิมิตสึ เพื่อใช้เป็นวิลล่าคอมเพล็กซ์สำหรับอยู่อาศัยและว่าราชการ ตั้งบนเนินเขาคิตะยามะ (Kitayama) ต่อมาหลังจากโชกุนโยชิมิตสึถึงแก่อสัญกรรม สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็น วัดคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple) หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการในชื่อ วัดโรกูอนจิ (Rokuon-ji) ตามความประสงค์ของท่าน
ความหรูหราสวยงามของตัวศาลาเปรียบเหมือนสวรรค์บนดิน โครงสร้าง 3 ชั้นของศาลาทองสร้างขึ้นบนฐานหินเหนือสวนสระน้ำอันกว้างขวาง สะท้อนและทอดเงาสีทองลงผิวน้ำ ล้อมรอบด้วยต้นไม้เปลี่ยนสี ผลัดและผลิใบไปตามวัฏจักรฤดูกาลของมัน

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ชั้นหนึ่งเป็นสไตล์ที่อยู่อาศัยแบบชินเด็น (รูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง) เรียกกันว่าหอน้ำพระธรรม (Hosuiin) มีชานระเบียงล้อมรอบห้อง เปิดเผยโครงสร้างเสาไม้ธรรมชาติ ผนังปูนสีขาว และประตูและหน้าต่างบานเลื่อนไม้ เมื่อกวาดสายตามองไป ก็แทบกลมกลืนหายไปกับบริบทแวดล้อม ขับให้ตัวอาคารชั้นสองและชั้นสามที่ภายนอกห่อหุ้มผิวผนังด้วยทองคำเปลวโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก
หอคอยแห่งเสียงคลื่น (Choonkaku) คือส่วนชั้นบนของศาลา เป็นที่ประดิษฐานรูประโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม สร้างขึ้นในสไตล์บุกเกะ ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยของซามูไร ส่วนบนสุดสร้างเป็นทรงคิวโพลา เรียกว่า Kukyocho สถาปัตยกรรมโถงเซนแบบจีน มีหน้าต่างโค้งขนาดใหญ่ กลางห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พื้นที่ภายในและภายนอกปูด้วยแผ่นทองคำเปลว บนยอดหลังคามีรูปปั้นนกฟีนิกซ์สีทอง สัญลักษณ์ของราชวงศ์ อันเป็นตัวแทนของไฟและดวงอาทิตย์

ภายหลังใน ค.ศ. 1950 ศาลาหลังนี้ถูกวางเพลิงเผาทำลาย และสร้างขึ้นมาให้เหมือนเก่าอีกครั้งใน ค.ศ. 1955 นอกจากศาลาทองหลังนี้ โดยรอบอาณาเขตบริเวณยังมีสิ่งปลูกสร้างในรูปสถาปัตยกรรมเซนหลังอื่น ๆ อาทิ ศาลาเงิน (สร้างขึ้นเกือบ 1 ศตวรรษให้หลัง) วิลล่า ห้องพักพระสงฆ์ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นในยุคต่อมา
III
อวัจนภาษา

อวัจนภาษาในการออกแบบพุทธสถาปัตยกรรมแบบเซน ถ่ายทอดแก่นคำสอนของการตื่นรู้ การตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต อัตตา และการลดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป ภาษาที่สื่อสารผ่านวัดเซน กลมกลืนหลอมรวมไปกับธรรมชาติ ความงามและสุนทรียภาพที่ไม่ยั่งยืนตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย เปลือย และตรงไปตรงมา เผยสัจจะวัสดุในแบบโครงสร้างตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง
การทำความสะอาด เป็นอีกสิ่งที่มักพบเห็นในหลาย ๆ ฉาก ทั้งการถูพื้นหรือกวาดลานวัด หรือแม้แต่ในวัดชูองอัน อิคคิวจิ ก็มีรูปปั้นของพระอิคคิว โซจุน ถือไม้กวาดอยู่ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่การทำความสะอาดเป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของพุทธเซนในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล
ความงามที่เกิดจากการขัดถู ทำความสะอาด การตัดแต่งกิ่งของต้นบอนไซ หรือแม้แต่การกวาดลวดลายในสวนหิน
ความงามประณีตเกิดขึ้นจากความอดทน และความพยายามผ่านกระบวนการอันยาวนานเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
สิ่งนี้หรือเปล่าที่วัดนิกายเซนพยายามรักษา ผ่านการทำความสะอาดด้วยความเพียรในแต่ละวัน

เมื่อนั่งพิเคราะห์ถึงแก่นพื้นฐานของพุทธนิกายเซน และเชื่อมโยงกับหลักการปรัชญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในวงการงานออกแบบ สถาปัตยกรรม หรือหลักการใช้ชีวิตและการทำงาน เราจะพบว่าแก่นคำสอนของเซนนั้นเป็นหนึ่งใน Soft Powre ที่สร้างอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบอิคิไก (Ikigai) ซึ่งช่วยหาจุดสมดุลของการดำรงอยู่และการทำงาน แนวคิดการลดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไปในงานออกแบบและสถาปัตยกรรม อย่าง Minimalism แนวคิดในการตกแต่งภายในแบบ Wabi-sabi ที่ค้นหาความงามในความเรียบง่ายผ่านสัจจะวัสดุและธรรมชาติ หรือจะเป็นแนวคิด No-frills ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นต้น
คำถามน่าคิดในวันนี้ที่เราอาจมองย้อนกลับมาว่า แก่นของพุทธแบบไทย ๆ นั้น กำลังสื่อสารอะไรกับวิถีการดำเนินชีวิต รวมถึงการออกแบบพุทธสถาปัตยกรรมของเรา ในยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ รูปทรงหลังคาวัดแบบดั้งเดิมวางอยู่บนผนังกระจกขอบอะลูมิเนียม เต็นท์สำเร็จรูปกางที่ลานวัด ปกคลุมอยู่บนองค์พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รายล้อมไปด้วยกล่องรับบริจาค จนกลายเป็นภาพชินตาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป
ข้อมูลอ้างอิงและที่มาของภาพประกอบ :
Kimio Yabuki (Director). Chiaki Imada (Producer). 1978. 一休さん Ikkyū-san (TV series) . Toei Animation (Production Studio)
Nishi, K., & Hozumi, K. (1983). What is Japanese architecture?. Kodansha international.
Hara, K. (2017). Back to White. In White. essay, Lars Muller Publishers.
www.youtube.com/watch?v=rf9yQ2Hh5ac
www.posttoday.com/ent/news/428318
mgronline.com/japan/detail/9640000129536