SAMMANKOPPLA เป็นภาษาสวีดิช อ่านว่า ซัม-มัน-คอป-ล่า

แปลว่า เชื่อมต่อ หรือรวมกัน ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจที่ทำให้คำนี้ฟังดูคล้ายคำว่า สมัครสมานสามัคคี สมกับเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของคอลเลกชันพิเศษ IKEA x Greyhound Original การทำงานร่วมกันครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับโลกอย่าง IKEA กับ Greyhound Original แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์สัญชาติไทย

ถุงอิเกียลายผ้าขาวม้า ชั้นวางของที่หน้าตาเหมือนนั่งร้านขนาดย่อ ที่กั้นฉากจากบานเฟี้ยมห้องแถว หมอนสามเหลี่ยม เสื่อไทยกับลายกราฟิกเท่ๆ คือตัวอย่างของสินค้าในคอลเลกชันที่จะวางขายในร้านอิเกียทั่วโลกในเดือนสิงหาคมปีหน้า ไม่เกินจริงเลยที่จะบอกว่า เรารู้สึกตื่นเต้นกับคอลเลกชันนี้มากกว่าทุกงานที่ผ่านมาของอิเกีย

IKEA x Greyhound Original

ความสวยงามคลาสสิกแบบสแกนดิเนเวียของอิเกีย เมื่อรวมกับความสนุกและซนเพราะรู้จักพลิกแพลงของที่ดูธรรมดาให้ไม่ธรรมดาของเกรฮาวด์ ซึ่งถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาได้อย่างลงตัวไม่ขัดเขิน ทำให้การพบกันครั้งนี้น่าสนใจ

ทำไมต้องประเทศไทย และทำไมต้องเกรฮาวด์ คนยุโรปจะเข้าใจความเป็นเอเชียแค่ไหน คนเอเชียจะคิดถึงสิ่งเหล่านี้เหมือนกันหรือเปล่า

IKEA x Greyhound Original

The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ ไมเคิล นิโคลิก Creative Leader จาก IKEA of Sweden ภาณุ อิงคะวัต Executive Creative Director กลุ่มบริษัทเกรฮาวด์ และ วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ Assistant Creative Director จาก Greyhound Original เพื่อพูดคุยถึงการทำงานเบื้องหลังคอลเลกชันซัมมันคอปล่าที่เชื่อมต่อและหลอมรวมสองวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ได้อย่างสนุก จนเราอยากยื่นเรื่องต่ออิเกียสวีเดน ขอเปลี่ยนวันวางจำหน่ายสินค้าให้เร็วขึ้น

Basic with a Twist

Greyhound Original คือแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่เชื่อในความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาหรือ Basic with a Twist แม้จะเป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปีแล้ว ก็ยังคงนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการอยู่เสมอตามตัวตนที่ทั้งซนและสุขุม ชอบหยิบของที่มีอยู่มาพลิกแพลงใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนเกิดความร่วมสมัยเหนือการเวลา ขณะเดียวกันก็มีความเป็นศิลปินที่มีความกบฏในตัว

เกรฮาวด์เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 1980 จากแบรนด์เสื้อผู้ชาย ตามด้วยแฟชั่นเสื้อผู้หญิงและเครื่องประดับ ก่อนเปลี่ยนเป็นไลฟ์สไตล์ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารในปี 1988 ปัจจุบันมีร้านเกรฮาวด์คาเฟ่ในต่างประเทศถึง 18 สาขา ตามเมืองใหญ่ในเอเชียอย่าง ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ จาร์กาต้า และยังข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ยุโรป โดยเปิดสาขาแรกที่ลอนดอน

ครั้งแรกที่ได้รับอีเมลจากคนของอีเกียที่สวีเดนเพื่อชวนมาทำงานร่วมกัน ภาณุบอกว่า เขาไม่คิดว่านั่นจะเป็นอีเมลของจริง จนกระทั่งได้รับอีเมลฉบับที่ 2 จึงสอบถามไปทางอิเกียประเทศไทย ปรากฏว่ามีคนชื่อนี้ตำแหน่งนี้อยู่จริงที่สวีเดนและเขาอยากทำงานร่วมกัน

To create a better everyday life for the many people

อิเกียไม่ได้เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านราคาถูก แต่เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ราคาประหยัดที่ให้ความสำคัญกับทุกแง่มุมของชีวิตที่ดีขึ้น ภาณุเริ่มเล่าให้เราฟัง

อิเกียยึดมั่นในเรื่อง Democratic Design พวกเขาเชื่อว่าคนเรามีสิทธิ์เข้าถึงสินค้าสวยงามและคุณภาพดีอย่างเท่าเทียมกัน นั่นทำให้งานออกแบบทุกชิ้นของอิเกียจะคำนึงถึง 5 มิติที่สำคัญ ได้แก่ รูปทรงที่สวยงามน่ารื่นรมย์ ประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต คุณภาพที่คงทน การแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำคัญที่สุดคือในราคาที่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้  

แม้จะมีภาพจำเป็นแบรนด์ของแต่งบ้านจากสแกนดิเนเวียที่เป็นที่รักของคนทั้งโลก แต่น้อยคนจะรู้ว่าอิเกียวันนี้ก็มีโจทย์ยากเป็นของตัวเอง

ความเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสินค้าครอบคลุมทุกการใช้ชีวิต ทำให้การปรับปรุงหรือออกสินค้าใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ยากเพราะเต็มไปด้วยข้อระวัง ผู้บริโภคเริ่มคาดหวังกับสินค้าและราคาของอิเกีย และเริ่มคาดเดาได้ อิเกียซึ่งก็รู้ปัญหานี้ดีจึงมีโครงการที่ชื่อว่า Speed Boat Project หรือโครงการพัฒนาสินค้าคอลเลกชันพิเศษร่วมกับนักออกแบบและแบรนด์ที่น่าสนใจ เพื่อเสริมทัพให้คอลเลกชันหลักสนุกและตื่นเต้นขึ้น

“เรากำลังพูดถึงการเข้าถึงงานออกแบบคุณภาพดีและสวยอย่างเท่าเทียมกันในโลก โดยไม่ได้หมายรวมแค่สแกนดิเนเวียแม้จะเป็นรากเหง้าของเรา เป็นสาเหตุที่เราสนใจเรียนรู้วิถีชีวิตจากที่ต่างๆ ในโลก เราไปที่แอฟริกาเพื่อค้นคว้าถึงสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนักเพื่อสื่อสารแอฟริกาในมุมที่ไม่ได้มีเพียงแค่อียิปต์และโมรอกโก ยิ่งอิเกียในตลาดเอเชียกำลังเติบโตได้ดี เราจึงผลักดันงานดีไซน์ที่มาจากเอเชีย ไม่ใช่แค่นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบแล้วเปลี่ยนเพียงสีสัน แต่เราสนใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้ วิธีที่เขาใช้แต่งบ้าน มุมมองของงานออกแบบในชีวิตประจำวัน” เป็นเหตุผลให้หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์จากอิเกียสวีเดนคิดถึงแบรนด์ไทยอย่าง Greyhound Original เป็นชื่อแรก

IKEA x Greyhound Original

Fan Meeting 2016

หนึ่ง ทำไมต้องเป็นนักออกแบบและแบรนด์จากประเทศไทย

และสอง ทำไมต้องเป็นเกรฮาวด์ คือ 2 คำถามหลักที่ภาณุถามไมเคิลและชาวอิเกียสวีเดน

คำตอบจากไมเคิลทำให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาตื่นเต้นกับประเทศไทยมาก ทุกคนชอบความแปลกและคาดเดาอะไรไม่ได้ของเมืองนี้ อยากมีโอกาสเดินทางมาที่นี่สักครั้งในชีวิต นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมชื่อของประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง

ยังไม่นับเรื่องที่ไมเคิลเองก็เป็นแฟนของเกรฮาวด์มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว

“อิเกียทำงานกับผู้ผลิตในประเทศไทยเยอะ ทำให้ผมใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมานาน จนเมื่อปี 1997 ที่เริ่มรู้จักและติดตามแบรนด์เกรฮาวด์ ทั้งวิธีคิดและงานออกแบบ ซึ่งผมชอบการสื่อความหมายเหล่านั้น เมื่อมีโครงการที่อิเกียตั้งใจจะทำงานกับนักออกแบบทั่วโลก ผมจึงติดต่อพวกเขาไปทันที” ไมเคิลเล่าจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกัน

“ตั้งแต่วันแรกที่พบกัน ไมเคิลเล่าว่า เขาชอบงานไหน ชอบกราฟิกหรือลายแบบไหนของเกรฮาวด์ แล้วเขายังไปถึงร้านอาหารและคาเฟ่ รู้ว่าเก้าอี้ที่ร้านมีเสื้อกระดุมติดอยู่ข้างหลัง หรือรู้รายละเอียดของเข็มขัดที่ติดอยู่บนกำแพง พวกเราก็ยิ่งดีใจ” วิชชุกรเล่า

“สิ่งสำคัญคือสไตล์ที่คล้ายกันระหว่างอิเกียและเกรฮาวด์ โดยเฉพาะเรื่องการหยิบของที่เป็นเบสิกและคลาสสิกมาใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เช่น การพัฒนาเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกของสแกนดิเนเวียให้ออกมาสวยทันสมัย” ภาณุเล่าและทันทีที่เขาตอบตกลง ไมเคิลก็พาชาวเกรฮาวด์ไปรู้จักอิเกียอย่างละเอียดผ่านเมืองเอล์มฮุลท์ (Älmhult) ประเทศสวีเดน

เราเชื่อว่าทุกคนคงคุ้นชินกับร้านอิเกียทรงกล่องสีน้ำเงิน แต่ที่ร้านอิเกียแห่งแรกซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์นี้กลับเป็นตึกโทนสีขาว เทา และดำ เท่มาก

นอกจากเป็นที่ตั้งของร้านอิเกียสาขาแรกในโลกแล้ว ที่เมืองอิเกียแห่งนี้ยังเป็นออฟฟิศกลางที่มีแผนกต่างๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร มีตึกของฝ่ายสื่อสารการตลาดที่เข้าไปแล้วเป็นโรงถ่ายขนาดใหญ่ ทุกมุมจัดเป็นบ้านแบบที่เห็นในแคตตาล็อกของอิเกีย มีตึกที่ดูแลเฉพาะเรื่องการเงินการลงทุนอย่างเดียว มีตึกขนส่งและโลจิสติกส์

IKEA X Greyhound Original

หลังจากทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนมุมมองและฟังความคิดเห็นกันและกัน ไมเคิลมอบบรีฟจากสิ่งที่เขาคิด ซึ่งเขาอยากให้งานออกมาสื่อสารตัวตนของทั้งเกรฮาวด์และอิเกียอย่างเหมาะสม

โจทย์ของอิเกียคือ อยากสื่อสารวิถีชีวิตคนเมืองยุคใหม่ที่มีแนวโน้มอยู่อาศัยในพื้นที่จำกัด ซึ่งเป็นเทรนด์การใชัชีวิตในอนาคต รวมถึงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะขายเสื้อผ้า เปิดร้านอาหารก็สามารถทำได้เลย โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ทุกคนมีอิสระสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจภายในข้ามคืน นักเรียนออกแบบสกรีนเสื้อขายตามตลาดนัด อิเกียก็เห็นช่องทางการตลาดว่าคงจะดีถ้ามีสินค้าหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเหล่านี้

เมื่อสรุปโจทย์เป็นคำสามคำอย่าง Small Space, Small Business และ Asian Flavor

เหล่านักออกแบบของเกรฮาวด์ก็แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ เตรียมเสนอคอนเซปต์ Pitching กันเอง

“เกรฮาวด์กลับมาพร้อมคอนเซปต์ที่น่าสนใจถึง 5 รูปแบบ โดยเฉพาะคอนเซปต์ที่ชื่อว่า ‘สบายสบาย’ ซึ่งสะท้อนเรื่องราวความเป็นไทยที่ไม่มีในสแกนดิเนเวีย เพราะที่นี่ทุกอย่างเป็นระเบียบแบบแผนมากๆ ขณะที่สิ่งที่เราพบเห็นได้มากในประเทศไทยพัฒนาและสื่อสารออกมาผ่านคอลเลกชันนี้สะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรม” ไมเคิลเล่าผลการตัดสินใจ

แม้จะเป็นแบรนด์แฟชั่น แต่จะให้ทำแค่ออกแบบถุงผ้าก็คงน่าเสียดาย

“จากเดิมที่อยากให้เราทำเพียง 6 ชิ้นสำหรับโครงการ Collaboration Speed Boat หลังจากเห็นคอนเซปต์เขาก็ขอให้เราทำ 25 ชิ้น เราก็รู้สึก เอาวะ ลองดู แม้ไม่เคยทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อนเลย โชคดีที่เราได้ทีมออกแบบผลิตภัณฑ์จากบริษัท o-d-a มาช่วยอีกแรง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาเกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องผ้าเราชำนาญ ก็สามารถขึ้นตัวอย่างได้ทันที แต่กว่าแบบจะลงตัวก็ใช้เวลาปรับแก้เป็นปี” ภาณุเล่า

แม้จะชื่อ ‘สบายสบาย’ แต่ถ้าได้ฟังกระบวนการจะรู้ว่าคอลเลกชันนี้ไม่ได้ทำ ‘ง่ายง่าย’ ‘สบายสบาย’ เลย แต่เรารับรองว่าเรื่องราวระหว่างนั้น ‘สนุกสนุก’ สมเป็นเกรฮาวด์แน่ๆ

สบายสบาย

SABAI SABAI อธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่า Truly Thai’s Way of Life

เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ที่เกรฮาวด์เสนอ และอิเกียก็ชอบในทันที

สบายสบายที่เป็นคนติดพื้นติดดิน คนไทยเราทำทุกอย่างบนพื้น กิน นอน มีความสุข บนพื้นที่เล็กๆ แต่มีความหมาย

สบายสบายที่เกิดจากการผสมผสานความแตกต่าง

สบายสบายเพราะคนไทยยืดหยุ่น ชอบแก้ปัญหา คิดและพลิกแพลงสถานการณ์เก่ง ตัวอย่าง แม้เก้าอี้จะเก่าจวนพังเราก็ยังจะใช้เชือกผูก หาวัสดุอื่นมาทดแทนแต่งเติมทำให้เกิดใหม่ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายรอบตัวเรา ขณะที่คนต่างประเทศเปลี่ยนของใหม่ตามซีซั่น คนไทยเราไม่ค่อยทิ้งของแต่รู้จักทำให้ของหมดค่ากลับมามีคุณค่า

สบายสบายเพราะไม่ว่าใครก็เป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์งานตามโจทย์ของตัวเองได้ ตัวอย่างการออกแบบร้านซ่อมกุญแจ แผงขายลอตเตอรี่ แปลงล้อรถเก่าเป็นป้ายห้ามจอดรถ หรือฝาพัดลมเก่าให้กลายเป็นที่ตากเนื้อ

สำหรับคนไทยความสบายสบายอาจจะเป็นเรื่องเฉยเฉย แต่สำหรับชาวต่างชาติ ทุกคนที่ได้เห็นตื่นเต้นกับงานเหล่านี้จนเก็บอาการไม่อยู่

จากคอนเซปต์ กลายมาเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในคอลเลกชันซัมมันคอปล่า (SAMMANKOPPLA) อย่างไร มาดูกัน

SAMMANKOPPLA

เมื่อวันที่ 4 – 5 มิถุนายนที่ผ่านมา The Cloud มีโอกาสเดินทางตามชาวเกรฮาวด์ไปร่วมงาน Democratic Design Day 2019 ที่เมืองเอล์มฮุลท์ ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นงานสำคัญประจำปีของชาวอิเกียที่เล่าโครงการที่กำลังทำอยู่และจะเปิดตัว Collaboration Project ต่างๆ ในอนาคต รวมถึงหยิบเรื่องเทรนด์สำคัญมาแลกเปลี่ยนมุมมองสอดคล้องกับความเชื่อของแบรนด์ที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงงานออกแบบที่ทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากจะเป็นงานที่รวมนักออกแบบ นักการตลาด และสื่อมวลชน จากทั่วโลกแล้ว ในฐานะทีมไทยตัวเล็กๆ ที่ไปสังเกตการณ์ อดภูมิใจแทนชาวเกรฮาวด์และคนไทยที่อยู่ทางบ้านไม่ได้ ไหนๆ ก็มีโอกาสเป็นคนกลุ่มแรกที่เห็นคอลเลกชันซัมมันคอปล่าก่อนใคร ขอเล่าถึงตัวอย่างงาน 8 ชิ้นจาก 25 ชิ้นที่จะวางขายจริงในเดือนสิงหาคมปีหน้า

เริ่มจากพรมหรือเสื่ออย่างไทยที่ทอจากพลาสติกรีไซเคิลจากหลอดพลาสติก ซึ่งออกแบบให้ใช้ได้ทั้งสองด้าน แค่ได้เห็นก็อยากทิ้งตัวลงไปกับพื้นอย่างที่เคยทำที่บ้าน

หมอนอิงทรงสามเหลี่ยมของไทยเดิม ไอเทมที่ฮือฮาสมเป็นตัวแทนจากประเทศไทย คอนเซปต์น่ารักตรงที่ขายปลอกหมอนไม่ขายไส้หมอน เพราะอยากให้คนหาเสื้อยืดที่ไม่ใช้แล้วหรือหลอดมายัดใส่เป็นไส้หมอนแทน

กระเป๋า frakta ของอิเกียกับลายผ้าขาวม้าแบบเกรฮาวด์ ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งทำให้เราอยากซื้อและใช้อวดเพื่อนเดี๋ยวนั้นเลย

ตามด้วยโคมไฟ และขาตั้งโคม ที่ได้แรงบันดาลใจจากสายไฟที่ยุ่งเหยิงบนเสาไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งออกแบบเป็นสายไฟยาวเหยียดคล้องกันไปมา ซึ่งมาพร้อมโคมไฟจากขวดพลาสติกแรงบันดาลใจจากการดัดแปลงขวดน้ำยาล้างจาน

โต๊ะและชั้นวางของที่ได้แรงบันดาลใจจากนั่งร้านในเขตพื้นที่ก่อสร้าง มาพร้อมล้อลากให้เคลื่อนย้ายสะดวกตอบโจทย์สาวโสดอย่างเรา หรือใครจะใช้ไปเป็นชั้นวางของที่ร้านขายของก็เข้ากันเหมาะสมเป็นที่สุด

เสื้อสำหรับเก้าอี้ ไอเทมที่แฟนเกรฮาวด์จะต้องเสียใจหากไม่มีไว้ติดบ้าน นอกจาก Typography คำว่า Original บนอกเสื้อแล้ว ยังมีรายละเอียดที่ใส่ของมากมายจนงงว่าสรุปเป็นเสื้อ เป็นกระเป๋า เป็นชั้นใส่ของ หรือเป็นเก้าอี้กันแน่

ปิดท้ายด้วยแผงกั้นห้องที่ได้แรงบันดาลใจจากบานพับของประตูบ้านห้องแถว ซึ่งออกแบบสำหรับกั้นและปรับห้องขนาดสตูดิโอให้เป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ตามการใช้งานซึ่งปรับให้ข้างหลังกลายเป็นที่เก็บของได้ด้วย เห็นแล้วคิดถึงประตูบ้านเก่าที่ต่างจังหวัด

Scandinavia – Asian Style

อิเกียจริงจังกับการเลือกโรงงานผลิตสินค้ามากๆ ทั้งดูมาตรฐานการผลิตและคุณภาพชีวิตของคนในโรงงานเป็นสำคัญ สมมติอยากทำเสื่อต่อให้มีโรงงานที่ใช้ประจำและไว้ใจได้ พวกเขาก็จะถามข้อมูลและมาตรฐานการผลิตเบื้องต้นและถ้าหากผิดไปเพียงข้อเดียวก็ลืมไปได้เลย นั่นเป็นเพราะจำนวนที่ผลิตขายต่อแบบคือ 5 – 7 แสนชิ้น ทำให้ชิ้นที่ต้องใช้ฝีมือในการผลิตถูกปัดตกหรือแก้แบบกันพัลวัน

“หนึ่งในนั้นคือศิลปะการตัดเย็บของหมอนอิงสามเหลี่ยมโบราณ สำหรับเรามันสวยที่ฝีมือการจัดวางชิ้นสามเหลี่ยมเล็กๆ ให้ซ้อนกันพอดีเพื่อรวมกันเป็นสันด้านข้างแบบหมอนอิงของไทย นั่นทำให้มีรายละเอียดที่ยากเกินกว่าจะควบคุมคุณภาพและราคาต้นทุนที่เหมาะสม หากยังยืนยันที่จะทำเราก็ต้องปรับแบบใหม่ให้เรียบง่ายขึ้น ทุกอย่างต้องรัดกุมที่สุด นี่แหละครับ ปัญหามักนำไปสู่ทางออกใหม่ๆ เราเลยจบลงโดยใช้เป็นลายพิมพ์สามเหลี่ยมขาวสลับดำแทน ทำให้หมอนอิงของไทยดูทันสมัยขึ้น ดูกราฟฟิกกว่าสไตล์โบราณที่มักทำจากผ้าทอลายไทยๆ” ภาณุเล่า

“กว่าจะสรุปเป็นสินค้าทั้ง 25 ชิ้นในคอลเลกชัน ทีมงานคิดไปเสนอทั้งหมด 50 แบบ เป็นงานที่สนุกมากแต่ก็ยอมรับว่าหลายอย่างมีข้อจำกัดด้านการผลิต เช่น เก้าอี้พลาสติกที่เราเห็นเกลื่อนกลาดตามแผงลอยขายอาหารข้างทาง สีแดง สีน้ำเงิน เราออกแบบโดยเอาเก้าอี้พลาสติกนี้มาตัดขา เปลี่ยนจากขาพลาสติกเป็นขาไม้ ตั้งใจให้ดูไม่เข้ากัน จับความคลาสสิกมาเจอกับโมเดิร์น แต่เมื่อทำตัวอย่างขึ้นมาเราก็พบความจริงว่า เก้าอี้พลาสติกข้างทางแบบไทยๆ นี้ ถ้ามีฝรั่งที่ตัวใหญ่มากมานั่งเก้าอี้คงหัก ทางอิเกียถือว่าไม่ปลอดภัยตามมาตรฐานของอิเกียในสุดก็ต้องเปลี่ยนแบบใหม่ เสียดายเหมือนกันแต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเรานับถือการทำงานของเขามากๆ ที่คิดถึงผู้บริโภคก่อนตลอดเวลา” วิชชุกรเล่ากระบวนการทำงาน

“ตอนที่ออกแบบแผงกั้นห้องเดิมเราตั้งใจทำเป็นประตูพับแบบบานเฟี้ยม ซึ่งวันที่ไปตรวจงานต้นแบบก่อนผลิตจริงทีมกฎหมายมีความเห็นถึงความปลอดภัย คิดเผื่อเพราะกลัวว่าหัวเด็กจะติดในนั้น เราจึงต้องรีบเปลี่ยนแบบทันที” ภาณุเล่าความยากระหว่างการทำงานร่วมกันก่อนจะเล่าเสริมเรื่องลายเสื่อ

“ตอนที่ออกแบบลายเสื่อ มีกราฟิกที่เราลดทอนจากลายดอกจันของไทยให้กลายเป็นเส้นตัดกันง่ายๆ ทีมกฎหมายก็ให้ความเห็นว่าลายแบบนี้ละเอียดอ่อน อาจสร้างความเข้าใจผิดเพราะคล้ายกับสัญลักษณ์ทางศาสนาคริสต์บางนิกาย โชคดีที่ทีมโปรดักชันและครีเอทีฟที่สวีเดนช่วยต่อสู้มาให้ เพราะหากต้องเปลี่ยนแบบจะมีผลต่องานชิ้นอื่นด้วย เพราะเป็นลายเดียวกับที่อยู่บนจาน ชาม และแก้ว ในคอลเลกชัน”

หากว่าเรากำลังสบาย จงปรบมือพลัน

มีงานชิ้นไหนบ้าง ที่แม้จะถูกปรับเปลี่ยนงานออกแบบแต่ก็ต่อสู้เพื่อให้คงตัวตนของเกรฮาวด์ครบถ้วน เราถาม

“เดิมเสื่อของไทยจะออกแบบเป็นลายเดียวเหมือนกันทั้งผืน แต่พอเป็นเกรฮาวด์ที่เป็นคนยึกยักชอบทวิสต์ ชอบแก้โครงสร้างเดิม เราก็ทำให้หนึ่งผืนหลายลายมาชนกัน ซึ่งสร้างปัญหาให้โรงงานทอเสื่อมาก พอดีก่อนไปสวีเดนรอบนั้นดูหนังเรื่อง Bohemian Rhapsody พอดี ฉากที่โปรดิวเซอร์ไม่ยอมให้ทำเพลง 6 นาทีเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนแต่วง Queen ยังคงอยากจะทำออกมาให้ได้

IKEA x Greyhound Original

เราก็บอกทีมสวีเดนเลยว่าถ้าลายของเสื่อเรียบง่ายเป็นลายเดียวในหนึ่งผืนมันก็จะออกมาเป็นแค่เสื่อสวยผืนหนึ่ง เราขอให้เขาลองให้โรงงานขึ้นตัวอย่างมาก่อน ถ้าโรงงานทำไม่ได้จริงๆ ค่อยหาทางแก้ไขกันอีกที และในที่สุดโรงงานก็ทำออกมาได้ และพวกเขาก็ชอบมันมากๆ จนต่อยอดเป็นลายบนจาน ชาม และแก้ว” ภาณุเล่าติดตลกว่าโชคดีที่เขาไม่ต้องเผลอทุบโต๊ะแบบในหนัง เพราะทีมอิเกียพร้อมรับฟังเสมอหากพวกเขายืนยันในตัวตนของแบรนด์

“ทำงานกับเกรฮาวด์แล้วไม่มีอะไรยาก คนที่ทำให้เรื่องนี้ยากคือพวกเราเอง เรามีข้อกำหนด มีกฎระเบียบและมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยเยอะ” ตัวแทนฝั่งอิเกียสวีเดนตอบคำถามบ้าง

เขาบอกว่า ที่ผ่านมา ความเป็นบริษัทใหญ่ทำให้อิเกียขยับตัวช้า นั่นคือขณะที่แบรนด์อื่นเคยชินกับการออกคอลเลกชันใหม่ 2 ครั้งต่อปี อีเกียใช้เวลา 2 – 3 ปีต่อการพัฒนาคอลเลกชันใหม่ 1 ครั้ง ไมเคิลเล่าสิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันครั้งนี้ให้ฟังว่า เขาเรียนรู้วิธีที่ทำบางสิ่งให้เร็วกว่า เรียบง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นต้องซับซ้อนและใช้ทรัพยากรมากมาย

ขณะที่ทีมเกรฮาวด์ได้เรียนรู้วิธีฝึกแก้ปัญหาทำให้พวกเขาเจอทางออกใหม่ๆ ที่ดีและตอบโจทย์มากกว่าวิธีการเดิม ไปจนเปลี่ยนความคิดบางเรื่องไปตลอดกาล “โดยเฉพาะเรื่องการทำของคุณภาพดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป เราจะภูมิใจมากกว่าถ้าหาวิธีที่ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกทำให้ได้ของคุณภาพดีในราคาถูกลง” ภาณุเล่าสิ่งที่เกรฮาวด์เรียนรู้ ก่อนทิ้งท้ายความประทับใจในการทำงานร่วมกัน

“อิเกียจะเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เจ้าใหญ่ในโลก ซึ่งเขาจะเป็นแค่นั้นต่อไปก็ได้ แต่เขาพยายามเปลี่ยนให้แบรนด์ทำสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตผู้คนจริงๆ เขาไม่ได้แค่ขายของ แต่สร้างคุณค่าของชีวิต เรื่องของอิเกียทำให้เห็นว่าการสร้างแบรนด์ทำได้หลายอย่าง เพียงนิยามให้ถูกว่าเราคือใคร มีความเชื่ออะไร และยืนหยัด มุ่งมั่นทำให้ฝันไปถึงฝันได้จริงแค่ไหน

“ในขณะเดียวกันอิเกียไม่เคยปฏิเสธว่าเขาคือธุรกิจที่ต้องสร้างผลกำไรเสมอ ตอนที่ผมเห็นป้ายราคาที่ติดบนสินค้าต้นแบบของคอลเลกชันซัมมันคอปล่าที่วางโชว์อยู่ ผมถามไมเคิลว่า โอโห้มีราคาแล้วด้วยเหรอ เพราะกว่าจะวางขายก็อีกตั้งปีกว่า เขาตอบว่า ทุกอย่างที่อิเกียจะวางโชว์ได้ต้องมีราคา เพราะถ้าไม่มีราคาแปลว่าของที่เห็นไม่สมบูรณ์แบบ การไม่มีราคาแปลว่าของชิ้นนั้นไม่มีชีวิต และคงไม่มีประโยชน์หากจะทำของที่คนเข้าถึงมูลค่าที่แท้จริงนั้นไม่ได้”

IKEA x Greyhound Original

ขอบคุณ ภาณุ อิงคะวัต, วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์

Writer & Photographer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ