เชื่อว่าในบ้านของคุณผู้อ่านหลายคนคงมีเฟอร์นิเจอร์ของอิเกียวางอยู่ อาจเป็นชั้นวางของ เก้าอี้ หรือแจกันดอกไม้ใบสวย แบรนด์สวีดิชรายนี้ช่วยให้คุณภาพชีวิตในบ้านของเราดีขึ้น ผ่านสินค้าที่ใช้แนวคิด Democratic Design ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม คุณภาพดี ความยั่งยืน และราคาจับต้องได้ 

แต่มากกว่าบ้านของมนุษย์แต่ละคน อิเกียยังสนใจบ้านหลังที่ใหญ่กว่านั้น

“เกือบแปดสิบปีแล้วที่อิเกียช่วยให้คนมีชีวิตประจำวันในบ้านที่ดีขึ้น แต่บ้านของเราไปไกลกว่าผนังสี่ด้าน บ้านของเราหมายถึงโลกที่อาศัยอยู่ด้วย” โคเวอร์ พัว (Kaave Pour) ไดเรกเตอร์ของ SPACE10 หน่วยวิจัยและออกแบบสุดเก๋ของอิเกียกล่าว

หนึ่งในโปรเจกต์ที่เป็นรูปธรรมของคำพูดนี้คือ Bee Home โปรเจกต์แสนน่ารักจาก SPACE10 ที่ชวนคนรักโลกผ่านการคืนบ้านให้ผึ้ง สัตว์ชนิดสำคัญที่ช่วยผสมเกสรให้พืช หรือพูดอีกอย่างคือแหล่งอาหารของมนุษย์ 

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

Bee Home นำเสนอข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ไว้ว่า เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของพืชที่มีดอกต้องอาศัยสัตว์ช่วยผสมเกสร คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของแหล่งอาหารโลก อย่างไรก็ตาม ผึ้งในปัจจุบันกำลังเสี่ยงที่จะสูญหาย เพราะเราทำลายบ้านของพวกเขาด้วยการทำเกษตรเคมีและปลูกพืชเชิงเดี่ยว 

รังผึ้ง Bee Home ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับวาระวันผึ้งโลกขององค์การสหประชาชาติ (UN) จึงตั้งใจช่วยแก้ปัญหานี้ โดยเป็นงานออกแบบที่ผสมผสานแนวคิด Democratic Design ฉบับอิเกียและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้าไป กลายเป็นผลงานสวยและดีที่คนทั่วโลกร่วมสร้างสรรค์ได้แบบ Open Source 

รายละเอียดบ้านผึ้งสไตล์อิเกียจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย

บ้านที่ปลูกตามใจผู้อยู่

Bee Home ตั้งใจออกแบบรังผึ้งให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ Solitary Bees หรือผึ้งจำพวกที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันในรังใหญ่รังเดียว แต่แยกกันอยู่แบบบ้านใกล้เรือนเคียง 

ผึ้งกลุ่มนี้เป็นประชากรผึ้งส่วนใหญ่ของโลก ถึงไม่ได้สร้างน้ำผึ้ง แต่โดดเด่นที่ประสิทธิภาพ ทั้งในการผสมเกสรที่ผึ้งสันโดษ 1 ตัวทำงานได้มากเท่าผึ้งที่ผลิตน้ำผึ้ง 120 ตัว แถมผึ้งตัวเมียทุกตัวยังเป็นนางพญาในบ้านตัวเอง การสร้างรังผึ้งที่เหมือนคอนโดฯ 1 แห่งจึงหมายถึงการช่วยขยายพันธุ์ผึ้งได้หลายร้อยตัว

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

รังผึ้งของ Bee Home ตั้งอยู่บนโจทย์ของผึ้งกลุ่มนี้ที่ชอบอยู่ในโพรงตามต้นไม้หรือบนพื้นดิน และทำให้เหล่าผึ้งรู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้าน โดยแต่ละรูของรังออกแบบเพื่อให้เหล่าผึ้งได้เก็บอาหารและวางไข่ได้สะดวก ไม่ใช้กาวที่เป็นพิษ และกะขนาดรูที่ผึ้งจะเข้าไปวางไข่ให้พอดี

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

บ้านที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

รังผึ้งของ Bee Home ได้รับการออกแบบให้สร้างได้จากไม้เนื้อแข็งในท้องถิ่น เช่น ไม้โอ๊กและมะฮอกกานี (ยิ่งเนื้อแข็งเท่าไหร่ รังยิ่งทนเท่านั้น) ทำให้การผลิตเป็นไปอย่างยั่งยืน 

นอกจากนั้น ตัวรังยังได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคช่างไม้ญี่ปุ่น ให้ประกอบได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างตะปู ช่วยให้ทั้งประกอบสะดวกและถอดรื้อไปรีไซเคิลได้ง่าย เห็นแล้วนึกถึงแคมเปญล่าสุดของอิเกียที่ออกคู่มือการถอดรื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล นับว่าคงเส้นคงวาความเป็น Democratic Design จริงๆ

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source
Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

บ้านที่ชวนทุกคนร่วมสร้างสรรค์

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

Bee Home เป็นรังผึ้งที่ Bee Host หรือคนที่จะนำไปใช้ปรับเปลี่ยนหน้าตา จำนวนชั้นของรัง และรูปแบบตามสถานที่ที่จะเอาไปวางได้ โดยเป็นงานออกแบบชนิด Parametric Design ที่มีการกำหนดตัวแปรไว้ล่วงหน้า ทำให้ถึงมีการปรับเปลี่ยน ค่าหลักสำคัญจะยังคงเดิม 

การทำแบบนี้นอกจากช่วยให้คนที่ไม่ใช่นักออกแบบได้มีส่วนร่วมและสร้างรังผึ้งแบบที่ชอบ ยังทำให้รังผึ้งตอบโจทย์พื้นที่ที่จะไปอยู่ที่สุด 

แล้วเมื่อออกแบบเสร็จ เราก็ดาวโหลดไฟล์แบบรังผึ้งไปสร้างจริงได้ที่ Maker Space ใกล้บ้าน เรียกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าสนใจอยากช่วยดูแลผึ้งก็ทำได้ไม่ยากเลย

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source
Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

บ้านที่สร้างความเป็นชุมชน

ถึงแม้จะเป็นโปรเจกต์ Open Source ที่เราแต่ละบ้านโหลดไฟล์แล้วแยกย้ายไปสร้างบ้านให้ผึ้งได้ แต่ Bee Home ยังมีการสร้างชุมชน โดยมีแมปสำหรับปักหมุดแหล่ง Maker Space ตำแหน่งบ้านของเหล่า Bee Host พร้อมหน้าตารังผึ้งแต่ละบ้าน และพิกัดของ Bee Advocate หรือผู้ที่สนับสนุนการเลี้ยงผึ้ง (เราแอบเห็น Bee Host ชาวไทยด้วย เท่มากๆ)

Bee Home เมื่อ IKEA ชวนคนทั่วโลกแก้ปัญหาผึ้งสูญพันธุ์ผ่านงานออกแบบรังผึ้ง Open Source

เมื่อมองดูแมป เราจึงเห็นชุมชนที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และแม้ Bee Home จะเป็นเพียงงานออกแบบชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็จะได้เห็นบ้านของผึ้งที่ช่วยทั้งผึ้ง โลก และเราปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง 

ดังที่ประโยคแรกในเว็บโปรเจกต์ Bee Home บอกเอาไว้

“ออกแบบรังผึ้ง และช่วยฟื้นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก”

ข้อมูลอ้างอิง

www.space10.com/project/bee-home

www.beehome.design

www.archdaily.com

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S