เชื่อว่าในบ้านของคุณผู้อ่านหลายคนคงมีเฟอร์นิเจอร์ของอิเกียวางอยู่ อาจเป็นชั้นวางของ เก้าอี้ หรือแจกันดอกไม้ใบสวย แบรนด์สวีดิชรายนี้ช่วยให้คุณภาพชีวิตในบ้านของเราดีขึ้น ผ่านสินค้าที่ใช้แนวคิด Democratic Design ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม คุณภาพดี ความยั่งยืน และราคาจับต้องได้
แต่มากกว่าบ้านของมนุษย์แต่ละคน อิเกียยังสนใจบ้านหลังที่ใหญ่กว่านั้น
“เกือบแปดสิบปีแล้วที่อิเกียช่วยให้คนมีชีวิตประจำวันในบ้านที่ดีขึ้น แต่บ้านของเราไปไกลกว่าผนังสี่ด้าน บ้านของเราหมายถึงโลกที่อาศัยอยู่ด้วย” โคเวอร์ พัว (Kaave Pour) ไดเรกเตอร์ของ SPACE10 หน่วยวิจัยและออกแบบสุดเก๋ของอิเกียกล่าว
หนึ่งในโปรเจกต์ที่เป็นรูปธรรมของคำพูดนี้คือ Bee Home โปรเจกต์แสนน่ารักจาก SPACE10 ที่ชวนคนรักโลกผ่านการคืนบ้านให้ผึ้ง สัตว์ชนิดสำคัญที่ช่วยผสมเกสรให้พืช หรือพูดอีกอย่างคือแหล่งอาหารของมนุษย์

Bee Home นำเสนอข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ไว้ว่า เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของพืชที่มีดอกต้องอาศัยสัตว์ช่วยผสมเกสร คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของแหล่งอาหารโลก อย่างไรก็ตาม ผึ้งในปัจจุบันกำลังเสี่ยงที่จะสูญหาย เพราะเราทำลายบ้านของพวกเขาด้วยการทำเกษตรเคมีและปลูกพืชเชิงเดี่ยว
รังผึ้ง Bee Home ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับวาระวันผึ้งโลกขององค์การสหประชาชาติ (UN) จึงตั้งใจช่วยแก้ปัญหานี้ โดยเป็นงานออกแบบที่ผสมผสานแนวคิด Democratic Design ฉบับอิเกียและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้าไป กลายเป็นผลงานสวยและดีที่คนทั่วโลกร่วมสร้างสรรค์ได้แบบ Open Source
รายละเอียดบ้านผึ้งสไตล์อิเกียจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย
บ้านที่ปลูกตามใจผู้อยู่
Bee Home ตั้งใจออกแบบรังผึ้งให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ Solitary Bees หรือผึ้งจำพวกที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันในรังใหญ่รังเดียว แต่แยกกันอยู่แบบบ้านใกล้เรือนเคียง
ผึ้งกลุ่มนี้เป็นประชากรผึ้งส่วนใหญ่ของโลก ถึงไม่ได้สร้างน้ำผึ้ง แต่โดดเด่นที่ประสิทธิภาพ ทั้งในการผสมเกสรที่ผึ้งสันโดษ 1 ตัวทำงานได้มากเท่าผึ้งที่ผลิตน้ำผึ้ง 120 ตัว แถมผึ้งตัวเมียทุกตัวยังเป็นนางพญาในบ้านตัวเอง การสร้างรังผึ้งที่เหมือนคอนโดฯ 1 แห่งจึงหมายถึงการช่วยขยายพันธุ์ผึ้งได้หลายร้อยตัว

รังผึ้งของ Bee Home ตั้งอยู่บนโจทย์ของผึ้งกลุ่มนี้ที่ชอบอยู่ในโพรงตามต้นไม้หรือบนพื้นดิน และทำให้เหล่าผึ้งรู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้าน โดยแต่ละรูของรังออกแบบเพื่อให้เหล่าผึ้งได้เก็บอาหารและวางไข่ได้สะดวก ไม่ใช้กาวที่เป็นพิษ และกะขนาดรูที่ผึ้งจะเข้าไปวางไข่ให้พอดี

บ้านที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ
รังผึ้งของ Bee Home ได้รับการออกแบบให้สร้างได้จากไม้เนื้อแข็งในท้องถิ่น เช่น ไม้โอ๊กและมะฮอกกานี (ยิ่งเนื้อแข็งเท่าไหร่ รังยิ่งทนเท่านั้น) ทำให้การผลิตเป็นไปอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ตัวรังยังได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคช่างไม้ญี่ปุ่น ให้ประกอบได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างตะปู ช่วยให้ทั้งประกอบสะดวกและถอดรื้อไปรีไซเคิลได้ง่าย เห็นแล้วนึกถึงแคมเปญล่าสุดของอิเกียที่ออกคู่มือการถอดรื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล นับว่าคงเส้นคงวาความเป็น Democratic Design จริงๆ


บ้านที่ชวนทุกคนร่วมสร้างสรรค์

Bee Home เป็นรังผึ้งที่ Bee Host หรือคนที่จะนำไปใช้ปรับเปลี่ยนหน้าตา จำนวนชั้นของรัง และรูปแบบตามสถานที่ที่จะเอาไปวางได้ โดยเป็นงานออกแบบชนิด Parametric Design ที่มีการกำหนดตัวแปรไว้ล่วงหน้า ทำให้ถึงมีการปรับเปลี่ยน ค่าหลักสำคัญจะยังคงเดิม
การทำแบบนี้นอกจากช่วยให้คนที่ไม่ใช่นักออกแบบได้มีส่วนร่วมและสร้างรังผึ้งแบบที่ชอบ ยังทำให้รังผึ้งตอบโจทย์พื้นที่ที่จะไปอยู่ที่สุด
แล้วเมื่อออกแบบเสร็จ เราก็ดาวโหลดไฟล์แบบรังผึ้งไปสร้างจริงได้ที่ Maker Space ใกล้บ้าน เรียกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าสนใจอยากช่วยดูแลผึ้งก็ทำได้ไม่ยากเลย


บ้านที่สร้างความเป็นชุมชน
ถึงแม้จะเป็นโปรเจกต์ Open Source ที่เราแต่ละบ้านโหลดไฟล์แล้วแยกย้ายไปสร้างบ้านให้ผึ้งได้ แต่ Bee Home ยังมีการสร้างชุมชน โดยมีแมปสำหรับปักหมุดแหล่ง Maker Space ตำแหน่งบ้านของเหล่า Bee Host พร้อมหน้าตารังผึ้งแต่ละบ้าน และพิกัดของ Bee Advocate หรือผู้ที่สนับสนุนการเลี้ยงผึ้ง (เราแอบเห็น Bee Host ชาวไทยด้วย เท่มากๆ)

เมื่อมองดูแมป เราจึงเห็นชุมชนที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และแม้ Bee Home จะเป็นเพียงงานออกแบบชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็จะได้เห็นบ้านของผึ้งที่ช่วยทั้งผึ้ง โลก และเราปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง
ดังที่ประโยคแรกในเว็บโปรเจกต์ Bee Home บอกเอาไว้
“ออกแบบรังผึ้ง และช่วยฟื้นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก”
ข้อมูลอ้างอิง
www.space10.com/project/bee-home
www.beehome.design
www.archdaily.com