ใน 10 ปีนี้…ร้านหนังสือในญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงไปกว่า 5,000 ร้าน

คนญี่ปุ่นอ่านหนังสือน้อยลง เพราะลูกค้าที่เป็นนักอ่านหันไปซื้อหนังสือทางออนไลน์

ร้านหนังสือใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นพยายามปรับตัวด้วยการตกแต่งร้าน การจัดหนังสือตามธีมที่น่าสนใจ ตลอดจนนำเครื่องเขียนเข้ามาขาย เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

ส่วนร้านหนังสือเล็กๆ ก็กลายเป็นผู้แพ้ในสนามนี้ เพราะเงินทุน ทำเล ขนาดร้าน และจำนวนหนังสือ นั้นสู้ร้านหนังสือขนาดยักษ์ใหญ่ไม่ได้เลย

แต่ก็ยังมีร้านหนังสือเล็กๆ ขนาดห้องแถวเดียวร้านหนึ่ง ณ เมืองเล็กๆ ในจังหวัดฮอกไกโดที่ยืนหยัดมาได้กว่า 60 ปี จนบัดนี้มีแฟนๆ นับพันคนเฝ้ารอหนังสือจากร้านแห่งนี้ส่งไปถึงมือพวกเขา

ร้านหนังสือแห่งนี้ชื่อว่า ร้านอิวาตะ-โฉะเต็น

อิวาตะ-โฉะเต็น

เจ้าของร้านคนปัจจุบันคือ คุณโทโอรุ อิวาตะ ซึ่งสืบทอดร้านหนังสือจากคุณพ่อ

ร้านสีเขียวอ่อนแห่งนี้ตั้งอยู่หน้าสถานีซุนากาว่า สถานีเล็กๆ ซึ่งอยู่ไกลจากเมืองใหญ่อย่างซัปโปโร 1 ชั่วโมง

สมัยก่อน หากร้านค้าส่งส่งหนังสืออะไรมาฝากขายที่ร้านอิวาตะ อิวาตะก็ขายได้หมดเสมอ แต่ในช่วง 20 – 30 ปีหลังเริ่มมีห้างสรรพสินค้า ร้านเช่า DVD เข้ามาแย่งลูกค้าที่อ่านหนังสือไปมากขึ้น

นอกจากนี้ จำนวนประชากรในเมืองซุนากาว่าก็มีจำนวนลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมถ่านหินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักประจำเมืองหายไป

อิวาตะพยายามสุดความสามารถเพื่อยื้อชีวิตของร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ไว้ให้ได้

เขาลองเพิ่มบริการจัดส่งหนังสือถึงบ้านลูกค้า

ลองขยายเวลาเปิด-ปิดร้านให้นานขึ้น

ลองจัดสัมมนา เชิญนักเขียนดังๆ มาพูด

แต่สุดท้าย ยอดขายก็มิได้กระเตื้องขึ้นเลย

อิวาตะทำงานหนักมากจนป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

ในวันที่เขาฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาล เขาถามตัวเองว่า “อะไรคือคุณค่าของงานที่เขาทำอยู่ มันเป็นแค่การซื้อหนังสือมาแล้วก็ขายทอดต่อเท่านั้นเองหรือ”

อิวาตะจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีการขายหนังสือใหม่… จากการขายหนังสือที่ขายดี มาเป็นการขายหนังสือที่ตนเองคิดว่าดี และต้องการจะขาย

โทโอรุ อิวาตะ

เขามองว่างานของเขาเหมือนการโยนลูกบอล นักเขียนเขียนผลงานดีๆ สำนักพิมพ์นำไปเข้าเล่ม จัดรูปแบบ ออกแบบหนังสือให้สวยงาม ร้านหนังสืออย่างเขาจึงควรมีหน้าที่ส่งผลงานดีๆ เช่นนี้ต่อไปให้ลูกค้า

แม้กระนั้น ยอดขายร้านหนังสืออิวาตะก็ยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไร

วันหนึ่งเขาไปทานข้าวกับรุ่นพี่ที่โรงเรียน รุ่นพี่ยื่นเงินให้เขา 10,000 เยน (ประมาณ 3.5 พันบาท) แล้วบอกว่า “ช่วยเลือกหนังสือที่น่าจะเหมาะกับพี่ให้หน่อย”

อิวาตะจึงกลับไปที่ร้าน นั่งคิดถึงชีวิต นิสัย ความสนใจ ของรุ่นพี่ แล้วคัดหนังสือมาให้สิบกว่าเล่ม

ปรากฏว่ารุ่นพี่อ่านแล้วชอบใจมาก จึงบอกต่อแก่คนอื่นๆ

หลังจากนั้น ทุกเดือนจะมีลูกค้ามาขอให้อิวาตะช่วยจัดหนังสือที่เหมาะกับตนเองให้เดือนละ 2 – 3 คน

จนวันหนึ่งมีรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดเกี่ยวกับ ‘บริการการเลือกหนังสือในงบ 10,000 เยน’ นี้ ทำให้มีผู้สนใจร้านอิวาตะเป็นจำนวนมาก ในช่วงนั้นอิวาตะได้รับอีเมลขอรับบริการนี้ถึงวันละ 300 ฉบับเลยทีเดียว

บริการเลือกหนังสือในงบ 10,000 เยน

ผู้ที่สมัครรับบริการนั้นมาจากทั่วประเทศ และเป็นคนที่อิวาตะไม่เคยรู้จักมาก่อน

เขาจะจัดหนังสือให้คนไม่รู้จักได้อย่างไร

อิวาตะทำแบบสอบถามง่ายๆ ชุดหนึ่ง

ภาษาญี่ปุ่น

คำถามมีตั้งแต่คำถามทั่วไป เช่น อายุ จำนวนสมาชิกในครอบครัว อาชีพ หนังสือที่ประทับใจ

ตลอดจนคำถามที่สะท้อนทัศนคติและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น ชอบตัวเองตอนอายุเท่าไรมากที่สุด สำหรับคุณแล้วความสุขหมายถึงอะไร หรือในชีวิตนี้มีเรื่องที่มีความสุขมากๆ หรือทุกข์มากๆ อะไรบ้าง

เมื่ออ่านแบบสอบถามจบอิวาตะจะค่อยๆ เลือกหนังสือให้กับลูกค้า

ลูกค้าท่านหนึ่งต้องคอยดูแลคุณแม่ที่ป่วยหนัก ทำให้เธอไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่ทุกข์ที่สุดในชีวิต คือตอนที่คุณแม่ของเธอเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน อิวาตะเลือกหนังสือบทกวีสั้นๆ หนังสือสอนการถักนิตติ้ง และนิยายที่ตัวละครสู้ตามความฝันของตัวเอง

ลูกค้าหลายคนแปลกใจกับหนังสือที่อิวาตะส่งมาให้ เนื่องจากเป็นหนังสือที่ตนเองไม่เคยนึกหยิบมาอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือประเภทโคลงกลอน แต่พอได้อ่านแล้วก็ประทับใจ

ขณะที่หยิบหนังสือแต่ละเล่มขึ้นมาอ่าน ทุกคนมักจะเดาเสมอๆ ว่าอิวาตะต้องการส่งข้อความให้กำลังใจหรือให้คำแนะนำตนผ่านหนังสือว่าอะไรบ้าง

นั่นเป็นเสน่ห์ของบริการเลือกหนังสือให้ในงบหมื่นเยนของอิวาตะ

สิ่งที่ร้านหนังสือเล็กๆ ทำ (ได้)

อิวาตะเป็นคนเลือกและห่อหนังสือให้ลูกค้าเองทั้งหมด

นอกจากนี้ เขาพยายามติดแสตมป์ลายต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่เห็นห่อพัสดุ

หนังสือญี่ปุ่น ซองจดหมาย

เมื่อลูกค้าเปิดกล่องออกมาพวกเขาจะพบหนังสือและจดหมายจากคุณอิวาตะ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเป็นจำนวนมาก เช่น ฉบับล่างนี้คุณอิวาตะเขียนว่า

แด่คุณ XXX

ตอนที่ผมอายุ 20 – 30 ปีนั้นผมเองก็ทำอะไรผิดพลาดมาเยอะ ทำอะไรก็รู้สึกทำไม่ค่อยดี และชอบโทษคนอื่นๆ เสมอๆ แม้ชีวิตในช่วงนั้นจะเป็นประสบการณ์แย่ๆ ของผม แต่หันกลับไปมองดูอีกที ประสบการณ์เหล่านั้นก็กลายเป็นเรื่องบวกได้

สิ่งที่ยากที่สุดคือการทบทวนตัวเองครับ สิ่งที่ผมคิดว่าทำแล้วดีมากๆ คือ การเขียนไดอารี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์หรือสุข หากได้ลองเขียนออกมา คุณจะพบตัวตนอีกคนของคุณที่คอยชี้ให้เห็นแนวทางที่แตกต่างครับ

หากมีหนังสือเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับคุณ XXX ผมจะดีใจมากครับ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

ภาษาญี่ปุ่น

อิวาตะไม่ได้พยายามเลียนแบบร้านหนังสือขนาดใหญ่ …และเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วย

เงินทุนก็ไม่พอ พนักงานก็ไม่มี จำนวนลูกค้าที่อยู่ในเมืองก็ไม่ได้มีมากนัก

แต่เมื่ออิวาตะพยายามทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อลูกค้า พยายามทำสิ่งที่ร้านอื่นๆ มองว่า ‘ดูยุ่งยาก ดูยากลำบาก’ ในที่สุด สิ่งที่อิวาตะทำก็กลายเป็นสิ่งที่มีเพียงแค่อิวาตะเท่านั้นที่ทำได้

ปัจจุบัน มีลูกค้าสมัครเข้ามารับบริการเลือกหนังสือถึงรอบละ 6,000 คน อิวาตะต้องจับสลากและเลือกลูกค้าเพียงแค่ 300 คนเท่านั้น เนื่องจากเขาจะค่อยๆ อ่านข้อมูลลูกค้า ค่อยๆ คิด และคัดสรรหนังสือ พร้อมห่ออย่างประณีต วันหนึ่งจึงทำออร์เดอร์ได้เพียง 5 รายเท่านั้น

แต่อิวาตะก็ยินดี เพราะเขาอยากส่งมอบหนังสือดีๆ ที่เหมาะกับคุณผู้อ่านแต่ละคน ที่สำคัญ บริการ 10,000 เยนนี้มีแค่ค่าหนังสือกับค่าส่งเท่านั้น ไม่มีค่าคัดเลือกหนังสือใดๆ เลย

สุดท้ายนี้ คุณอิวาตะกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า

“ร้านอิวาตะเป็นร้านหนังสือที่มีความสุขที่สุดครับ (ถึงจะไม่ค่อยทำกำไรก็เถอะ)”

อิวาตะ โฉะเต็น

Writer & Photographer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย