เดือนมีนาคมนี้ ดิฉันต้องไปทำงานที่เกาะคิวชู และตั้งใจอยู่เที่ยวต่อเล็กน้อย

ทริปหนึ่งที่ดิฉันอยากไปมากๆ คือ รถไฟ 7 ดาว หรือ Seven Stars in Kyushu ขบวนรถหรูที่วิ่งในเกาะคิวชู

รถไฟขบวนนี้ให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 …4 ปีมาแล้ว

ขณะที่ดิฉันกำลังหวังว่า ยอดจองจะซาลงไปบ้างแล้ว ณ ตอนนี้ เมื่อไปที่หน้าเว็บของรถไฟ JR Kyushu ดิฉันก็พบกับข้อความว่า

ทางบริษัทได้เปิดให้จองขบวนรถไฟ 7 ดาวช่วงเดือนมีนาคมถึงกันยายนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ขณะนี้ ยอดจองเต็มหมดแล้ว ขออภัยในความไม่สะดวก และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านกรุณาสนใจ’

ร้านอาหารมิชลินสามดาวนี่จองยากแล้ว รถไฟเจ็ดดาวนั้นจองแสนยากยิ่งกว่า

ภายใน 1 เดือน…ยอดจองขบวนรถไฟขบวนนี้เต็มยาวไปถึงเดือนกันยายนของปีถัดไป และดิฉันก็ไม่แน่ใจว่า เขาจะเปิดให้จองรอบถัดไปเมื่อใด

รถไฟขบวนนี้พิเศษอย่างไร

 

ที่มาของ ‘เจ็ดดาว’

รถไฟขบวนนี้มีเพียง 14 ห้อง รับแขกได้สูงสุด 28 คน ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะคิวชู ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่าจะขึ้นแบบ 2 วัน 1 คืน หรือ 4 วัน 3 คืน ราคามีตั้งแต่ 1.5 ถึงเกือบ 4 แสนเยน

Seven Stars in Kyushu

www.cruisetrain-sevenstars.jp

ที่มาของชื่อ ‘7 ดาว’ ไม่ได้หมายถึงระดับความหรู แบบโรงแรมห้าดาว หกดาว แต่เลข 7 หมายถึง ทั้งเจ็ดจังหวัดในเกาะคิวชู และยังหมายถึงทรัพยากรการท่องเที่ยว 7 อย่างของเกาะ ตลอดจนจำนวนของขบวนรถที่มี 7 ขบวน

เจ้าของคือ บริษัท JR Kyushu

ทำไมบริษัทที่เหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องมาทำรถไฟท่องเที่ยว

สาเหตุคือ การขาดทุนนับพันล้านเยน คิวชูต่างจากเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้า จำนวนประชากรลดลงเรื่อยๆ ทุกปี ประกอบกับเจอคู่แข่งอย่างรถประจำทางและสายการบินราคาถูกเข้ามาตีตลาด ทำให้คนขึ้นรถไฟน้อยลง การหวังพึ่งรายได้จากค่าโดยสารเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้

บริษัท JR Kyushu จึงหันมาใช้ทรัพยากรที่ตนเองมี คือรถไฟ และแปลงเข้าสู่ธุรกิจใหม่… จากการขนส่งโดยสาร สู่การท่องเที่ยว

คอนเซปต์ในตอนนั้นมีแค่สร้าง ‘Cruise Train’ รถไฟที่สร้างประสบการณ์เหมือนนั่งเรือสำราญได้

รถไฟ 7 ดาว

www.1101.com

ความท้าทายของดีไซเนอร์

บุคคลสำคัญผู้แปลงคอนเซปต์บนแผ่นกระดาษให้กลายเป็นรถไฟของจริง คือ เอจิ มิโตะโอะกะ ดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น

มิโตะโอะกะ ต้องเผชิญกับ 4 โจทย์สำคัญด้วยกัน

  1. รถไฟต้องสวยงาม มีความเป็นเรือสำราญ ทั้งที่พื้นที่มีจำกัด ขบวนรถกว้างเพียง 2.7 เมตร เมื่อหักลบกำแพงหน้าต่างออกแล้ว เขาเหลือความกว้างเพียง 1.9 เมตรเท่านั้น ในพื้นที่เล็กๆ นี้ เขาต้องออกแบบห้องอาบน้ำ อ่างล้างหน้า และพื้นที่ที่วางเตียงได้ 2 เตียง
  2. ต้องสร้างประสบการณ์อันสุดยอดให้ลูกค้า ลูกค้าต้องทานอาหาร ใช้ชีวิต และพักอยู่ในรถไฟได้ โดยไม่รู้สึกอึดอัด
  3. ต้องออกแบบภายใต้งบประมาณอันจำกัด เพราะ JR Kyushu ในขณะนั้นประสบปัญหาขาดทุนอยู่ ไม่สามารถใช้เงินลงทุนเยอะเกินตัวได้
  4. ต้องชูเสน่ห์ของคิวชูให้โลกรู้

เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารรู้สึกอึดอัด มิโตะโอะกะออกแบบหลังคาทรงโค้ง และใช้วัสดุที่ทำจากไม้ ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น

เพื่อไม่ให้งบประมาณสูงเกินไป เขาใช้รถไฟขบวนเก่ามาตกแต่งใหม่ ทำให้ไม่ต้องสร้างขบวนรถไฟตั้งแต่ต้น

เหลืออีกสองโจทย์… คือสร้างประสบการณ์สุดยอดให้กับลูกค้า และชูเสน่ห์ของคิวชู

มันยากกว่าออกแบบรถไฟขบวนอื่นๆ เป็นสิบเท่าเลย” มิโตะโอะกะถึงกับเปรยออกมา

ห้องโดยสาร

www.japantimes.co.jp

ดีไซน์ที่ทำให้ช่างฝีมืออยากแสดงฝีมือ

ว่ากันว่า รถไฟ 7 ดาวขบวนนี้ ทำให้ใครหลายต่อหลายคนประทับใจจนน้ำตาไหล …ทั้งผู้โดยสารรวมถึงตัวพนักงานเอง

เครื่องประดับแต่ละชิ้น เฟอร์นิเจอร์แต่ละอย่าง ล้วนเกิดจากช่างฝีมือระดับสุดยอดของญี่ปุ่นทั้งนั้น

เคล็ดลับของ ‘งานศิลปะ’ ชิ้นนี้ อยู่ที่การออกแบบ

รถไฟขบวนนี้เป็นผลงานของ JR Kyushu และช่างฝีมือทุกคน แต่การจะแค่ขอความร่วมมือจากทุกคนเพื่อสร้างรถไฟขบวนนี้อย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ผมและทีมต้องออกแบบแบบที่ช่างฝีมือเห็นแล้วรู้สึกว่าอยากแสดงฝีมือ (อยากโชว์ของ) ของตัวเอง ต้องเป็นงานออกแบบที่ปลุกวิญญาณของศิลปินแต่ละคนขึ้นมา

ดีไซน์แบบไหนกันที่ทำให้ช่างอยากโชว์ฝีมือ

ยกตัวอย่าง …ประตูและหน้าต่างไม้ในรถไฟแกะสลักโดยช่างไม้จากเมืองโอกาวะ จังหวัดฟุกุโอกะ ลวดลายบางแห่งเป็นเส้นเล็กบางละเอียดถึง 0.1 มิลลิเมตร

ไม้ฉลุ

minkara.carview.co.jp

หรืออ่างล้างมือ โคมไฟ ลูกบิดประตู ทั้งหมด ใช้ช่างฝีมือจากเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ เป็นผู้วาดลาย

อ่างล้างมือ

nanatsuboshi-in-kyushu.jp

ส่วนเพดานไม้แกะสลักปิดทอง มาจากฝีมือของช่างแกะสลักและปิดทองเมืองไซตามะ

ตู้เสบียง

www.cruisetrain-sevenstars.jp

รถไฟที่ทุกคนรักและภูมิใจ

เมื่อขบวนรถสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พนักงานที่ให้บริการต่างรู้สึกถึงความพิเศษของขบวนรถ ทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกพิเศษในงานของตนเอง และมุ่งมั่นให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่

ในเมื่อ ‘เวที’ ของพวกเราพิเศษขนาดนี้ พวกเราก็ต้อง ‘แสดง’ กันอย่างเต็มที่

การดูแลของพนักงานรถไฟ 7 ดาวนั้น ไม่ได้เริ่มแค่ที่เลานจ์ในห้องพักรับรอง แต่เริ่มตั้งแต่ตอนโทรศัพท์ไปหาลูกค้า

ท่านชอบหมอนแบบไหนเป็นพิเศษหรือเปล่าคะ แบบนิ่มหรือแบบแข็ง

ในรถมีการแสดงดนตรีด้วย มีเพลงไหนที่อยากขอเป็นพิเศษไหมคะ”

เดินทางมาที่สถานีฮากาตะอย่างไรคะ มีอะไรให้ดิฉันช่วยไหมคะ”

พนักงานพูดคุยและใส่ใจความชอบของลูกค้าละเอียดจนในวันออกเดินทาง ถึงกับมีผู้โดยสารบางคนซื้อของฝากมาฝากพนักงานดูแลเลยทีเดียว

ในวันเดินทาง พนักงานทุกคนรู้สึกว่าพวกเขากำลังจะร่วมสร้างเรื่องราวแห่งความประทับใจไปพร้อมๆ กับผู้โดยสาร

สำหรับเด็กๆ ในท้องถิ่นนั้น พวกเขาพร้อมใจกันโบกมือให้จนกลายเป็นธรรมเนียมกันไปแล้ว

สำหรับคนในท้องถิ่น พวกเขาขอบคุณที่ขบวนรถไฟสายนี้พาคนที่สนใจในเกาะคิวชูมา ขอบคุณที่รถไฟซื้อวัตถุดิบจากท้องถิ่นไปปรุงอาหารรสเลิศ ขอบคุณโอกาสที่ให้พวกเขาได้แสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่ผู้โดยสาร ขอบคุณที่ให้โอกาสพวกเขาได้เล่าเรื่องท้องถิ่นที่พวกเขาภูมิใจ

สุดท้ายนี้ ขอจบเรื่องราวของรถไฟขบวนนี้ด้วยเรื่องราวของผู้โดยสารท่านหนึ่งค่ะ

ดิฉันมาเที่ยวรถไฟขบวนนี้กับคุณยาย ตอนคุยกับพนักงานทางโทรศัพท์ ดิฉันก็เผลอเล่าไปว่า คุณยายไม่ค่อยสบาย อาจทานอาหารไม่ได้เยอะมาก พอถึงวันที่ขึ้นรถไฟจริงๆ พนักงานดูแลก็มาถามคุณยายว่า ปริมาณอาหารพอดีไหม จะให้ลดหรือเพิ่มสิ่งใดหรือเปล่า คุณยายของฉันรู้สึกประทับใจจริงๆ ตัวฉันเองก็ไม่นึกว่าพนักงานจะสื่อสารกันขนาดนี้

“ส่วนตอนที่เราแวะลงสถานีหนึ่ง มีเด็ก ๆ ในเมืองมาเต้นรำแสดงให้พวกเราดู ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับคุณแม่เด็กคนหนึ่ง ดิฉันชมว่า ‘เด็กๆ เต้นเก่งจังเลยนะคะ’ คุณแม่ท่านนั้นบอกว่า เด็กๆ ตื่นเต้นและรอวันนี้มานานมาก พวกเขาตั้งใจซ้อมกันใหญ่เลยค่ะ

“ดิฉันเพิ่งเข้าใจความหมายของการเดินทางในครั้งนี้ว่า มันไม่ใช่แค่ทริปหรูราคาแพง มิใช่แค่อาหารดี หรือรถไฟนั่งสะดวกสบาย แต่เป็นประสบการณ์และความทรงจำที่จะคงอยู่ไปในตลอดชีวิตดิฉัน

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย