สินค้าญี่ปุ่นที่ดีมากๆ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ (และคงไม่ค่อยมีโอกาสใช้) คือ ชอล์ก ค่ะ

จำได้ว่า ตอนดิฉันช่วยอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น การเขียนกระดานดำกลายเป็นโมเมนต์ที่ฟินเล็กๆ เพราะ

หนึ่ง ชอล์กญี่ปุ่นไม่ฟุ้งกระจาย ผงชอล์กแทบไม่มีร่วงออกมา

สอง เขียนแล้วเส้นสวยชัดมาก

ชอล์กแห่งความสุข

www.rikagaku.co.jp

สาม มือไม่เลอะ เพราะแท่งชอล์กมีการเคลือบมันอยู่ด้านนอก

บริษัทที่ใส่ใจในการผลิตชอล์กแสนวิเศษนี้เป็นบริษัทแรกคือ บริษัท Nihon Rikagaku Industry (NRI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชอล์กที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในญี่ปุ่น

ชอล์กแห่งความสุข

www.bungu-order.jp

ปัจจุบันมีชอล์กสีสันสดใสหลายสีทีเดียว

ชอล์กแห่งความสุข

www.amazon.co.jp

ความพิเศษของบริษัทนี้ มิได้มีแค่การใส่ใจชอล์กที่ผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังใส่ใจพนักงานผู้ผลิตด้วย

ร้อยละ 70 ของพนักงานบริษัทนี้เป็น ‘ผู้มีความต้องการพิเศษ’

เดิมทีพนักงานบริษัท NRI เป็นพนักงานธรรมดาทั่วไป แต่ใน ค.ศ. 1959 มีอาจารย์จากโรงเรียนสอนผู้มีความต้องการพิเศษมาหาคุณโอยาม่า ประธานบริษัท NRI เพื่อขอให้รับเด็กของตนเข้าฝึกงาน คุณโอยาม่าเกรงว่าในโรงงานมีเครื่องจักร อาจเป็นอันตรายได้ ขณะเดียวกัน งานทำชอล์กก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เกรงว่าเด็ก ๆ จะไม่สามารถทำได้ จึงกล่าวปฏิเสธอาจารย์ท่านนั้น

แต่อาจารย์ก็ไม่ลดละ ท่านแวะมาหาคุณโอยาม่าอีก 2 ครั้ง ในครั้งที่ 3 อาจารย์บอกว่า “ไม่ต้องถึงขั้นจ้างงานก็ได้ อย่างน้อยแค่ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสลองทำ และได้ลองสัมผัสความสุขจากการทำงานสักครั้งในชีวิตก็พอแล้ว”

ปกติเรามักจะมองว่าการทำงานเป็นความเหนื่อยล้า ลำบาก แต่อาจารย์กลับพูดว่า ให้เด็กๆ สัมผัสความสุขจากการทำงาน…มันเป็นอย่างไรนะ

คุณโอยาม่าจึงลองให้โอกาสเด็กผู้หญิง 2 คนมาทำงานที่โรงงาน 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าเด็กๆ มีสมาธิดีมาก แม้ผู้จัดการเรียกให้ไปกินข้าว เด็กๆ ก็ยังทำงานอย่างไม่ลดละ ไม่แสดงอาการเบื่อหรืออู้งานใดๆ พี่ๆ พนักงานคนอื่นจึงเอ็นดูเด็กสองคนนี้เป็นอย่างยิ่ง เด็กสองคนนี้กลายเป็นศูนย์รวมความรักของพนักงานทุกคนในโรงงานชอล์กเล็กๆ แห่งนี้

เมื่อเด็กๆ ฝึกงานครบกำหนด พนักงานทั้งบริษัทรวมตัวกันไปขอร้องให้คุณโอยาม่ารับเด็กสองคนเข้าทำงาน

1 ปีถัดมา เด็กสาว 2 คนก็ได้มาทำงานที่บริษัท NRI

อันที่จริง ประเทศญี่ปุ่นมีสถานที่รับดูแลผู้มีความต้องการพิเศษเช่นนี้อยู่แล้ว หลังจากเรียนจบ เด็กๆ ไม่ต้องไปทำงานก็ได้ พวกเขาสามารถเลือกไปร้องรำทำเพลง ดูโทรทัศน์ เล่นเกม กับเด็กพิเศษคนอื่นที่ศูนย์ดูแล แต่ทั้งคู่ก็เลือกมาทำงานที่นี่

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่คุณโอยาม่าไม่เข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

แทนที่จะใช้ชีวิตสบายๆ ทำไมเด็กๆ ถึงอยากทำงาน?

เขาเก็บคำถามนี้ไว้ในใจมาตลอด

วันหนึ่ง คุณโอยาม่าได้คุยกับพระเซนรูปหนึ่งในงานศพ เขาเปรยเรื่องนี้ให้ท่านฟัง พระท่านจึงเอ่ยว่า “คุณโอยาม่าครับ ความสุขมนุษย์เราจะเกิดขึ้นเมื่อมี 4 อย่างต่อไปนี้ การได้รับความรัก การได้รับคำชม การรู้สึกว่าตนเองเป็นประโยชน์กับคนอื่น และการรู้สึกว่าคนอื่นต้องการตนเอง ทุกอย่างนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ ได้รับจากการทำงานที่บริษัทของท่านครับ”

หากแค่เล่นเกม เด็กๆ คงแค่สนุกไปวันๆ แต่ที่โรงงานทำชอล์กเล็กๆ แห่งนี้ มีคนเรียกให้เด็กๆ ไปช่วยงาน มีคนชมเมื่อพวกเขาทำงานได้ และพวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้ช่วยงาน ได้สร้างประโยชน์ให้กับพี่ๆ ในโรงงาน นั่นคือความสุขที่ทำให้เด็กๆ อยากมาทำงาน

เมื่อเห็นเช่นนี้ คุณโอยาม่าก็รับผู้มีความต้องการพิเศษเข้ามาทำงานเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ร้อยละ 70 ของพนักงานเป็นผู้มีความต้องการพิเศษ

ชอล์กแห่งความสุข

http://13131313.com

ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป ผู้มีความต้องการพิเศษหลายคนอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่เข้าใจคำสั่งยากๆ หรือซับซ้อน ทำให้บริษัทต้องพยายามปรับกระบวนการทำงานต่างๆ เป็นอย่างมาก เช่น

เด็กบางคนไม่สามารถติดเทปกาวให้เป็นเส้นตรงได้ ทางบริษัทจึงตัดสินใจพิมพ์ลายเส้นตรงลงบนฝากล่อง เพื่อให้เด็กๆ สามารถปิดเทปตามรอยได้

ชอล์กแห่งความสุข

www.rikagaku.co.jp

เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจง่ายว่าชอล์กแต่ละกล่องเป็นสีอะไร ทางบริษัทจึงพิมพ์กล่องกระดาษเป็นสีชอล์กสีนั้น พร้อมติดกระดาษเป็นป้ายวงกลมสีต่างๆ ตัวโตๆ แม้เด็กๆ จะอ่านตัวอักษรไม่ค่อยได้ แต่พอเห็นป้ายและสี ก็จะเข้าใจได้ทันที

ชอล์กแห่งความสุข

www.rikagaku.co.jp

ส่วนภาพด้านบนนี้เป็นแผนกควบคุมคุณภาพ ป้ายที่ติดที่กล่องแสดงถึงช่องสำหรับใส่ชอล์กที่ไม่ได้คุณภาพ กับชอล์กที่เด็กๆ ไม่แน่ใจว่าควรให้ผ่านดีหรือไม่ รอให้เจ้านายตรวจอีกรอบ ป้ายสองป้ายนี้แค่มองปราดเดียวเด็กๆ ก็เข้าใจได้อย่างง่ายดาย

พนักงานบริษัท NRI ใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้มีความต้องการพิเศษสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ ทุกคนสนุกกับการช่วยกันออกไอเดียเพื่อปรับปรุงกระบวนการที่ทำให้เด็กๆ ทำงานได้ง่ายที่สุด ไอเดียป้ายสีต่างๆ ก็มาจากพนักงานคนหนึ่งที่สังเกตว่า เด็กๆ เดินทางมาโรงงานได้ และรู้จักหยุดเวลาเห็นไฟแดงไฟเขียว แสดงว่าพวกเขาแยกสีออก จึงใช้ป้ายสีนี้มาเป็นสัญลักษณ์ แทนการบอกกล่าวหรือทำตัวอักษรอธิบาย

ผลที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทั่วไปหรือพนักงานผู้มีความต้องการพิเศษทำงานได้ง่ายขึ้น สื่อสารเข้าใจได้ตรงกัน และทำงานมีประสิทธิภาพ แน่นอน พวกเขารักกัน และช่วยเหลือกันและกัน ไม่มีแบ่งแยกว่าใครปกติหรือใครมีความต้องการพิเศษ ทุกคนล้วนมุ่งมั่นทำชอล์กเป็นอย่างดี เพราะพวกเขารู้ว่า ชอล์กแต่ละแท่งจะทำให้คุณครูได้สื่อสารกับนักเรียน หรือร้านอาหารจะสามารถแต่งแต้มป้ายเมนูหน้าร้านได้

แม้แต่งานผลิตชอล์กอันเรียบง่าย แต่หากได้รับการออกแบบและใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง การทำงานนี้ก็สามารถทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับความรัก ได้รับคำชม ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น และรู้สึกว่า ผู้อื่นต้องการตนเอง

ชอล์กแห่งความสุข ถูกสร้างด้วยพนักงานที่มีความสุขเปี่ยมหัวใจเช่นนี้นี่เองค่ะ

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย