มีร้านขนมญี่ปุ่นเล็กๆ แห่งหนึ่งในโตเกียวที่คงวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม รักษารสชาติเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน และจนบัดนี้ ก็ยังมีคนมาต่อแถวเพื่อซื้อวุ้นถั่วแดงของร้านนี้อย่างต่อเนื่อง

ร้านนี้ชื่อร้าน ‘โอซาสะ’ อยู่ในย่านคิชิโจจิ กรุงโตเกียว

สินค้าร้านนี้มีแค่ 2 ชนิด คือวุ้นถั่วแดง (โยกัง) และขนมโมนากะ (ขนมแป้งบางกรอบประกบกัน ข้างในไส้ถั่วแดง) แต่ก็มีคนมาเข้าแถวรอแต่เช้าทุกวัน วันเสาร์-อาทิตย์บางคนต้องมารอตั้งแต่ตี 1 หรือตี 2 เคยมีผู้คำนวณว่า หากคิดยอดขายต่อตารางเมตรของโอซาสะแล้ว ทางร้านทำรายได้สูงกว่าร้านแอปเปิ้ลสโตร์กว่า 20 เท่า

วุ้นถั่วแดง
ภาพ : cdn-ak.b.st-hatena.com

ในเว็บ Tabelog (เหมือน Wongnai ของญี่ปุ่น) นอกจากรีวิวรสชาติแล้ว ลูกค้ามักมารีวิวเรื่องการเข้าคิวเสมอ

“ฉันออกจากสถานีมาถึงคิชิโจจิตอนตี 5 ครึ่ง ได้รับบัตรคิวเบอร์ 38”

“ผมหนีบเก้าอี้พับขึ้นจักรยานแล้วไปคิชิโจจิ ตอนแรกว่าจะออกตอนตี 4 ครึ่ง แต่กว่าจะออกจริง ๆ ก็เกือบตี 5 พอไปถึงก็เป็นคิวที่ 22 แล้ว ผมตั้งใจไปซื้อให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนพ่อที่อุตส่าห์สละตั๋วดูเบสบอลให้”

เหตุผลที่โอซาสะเป็นที่นิยมอย่างยาวนานและลูกค้ายังคงเข้าคิวจนถึงบัดนี้ คือวุ้นถั่วแดงรสหวานกลมกล่อมอย่างมีเอกลักษณ์ และมีจำหน่ายเพียงวันละ 150 แท่งเท่านั้น คนหนึ่งซื้อได้ไม่เกิน 3 แท่ง (ใครที่ซื้อไม่ทันก็ไปซื้อขนมโมนากะแทน ซึ่งร้อยละ 90 ของยอดขายก็มาจากขนมโมนากะนี่เอง)

วุ้นถั่วแดง
ภาพ : tabico.jp

โอซาสะไม่ใช้เครื่องจักรในการทำ …ไม่สิ ใช้เครื่องจักรในการทำวุ้นถั่วแดงไม่ได้ เพราะคุณป้าเจ้าของร้านยืนยันว่ารสชาติจะแตกต่าง ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์เท่านั้น ถึงจะสร้างรสชาติที่พิเศษเช่นนี้ได้

วุ้นถั่วแดงมีส่วนประกอบแค่ 3 อย่าง คือถั่วแดง น้ำตาล และผงวุ้น ขั้นตอนนั้นก็แสนเรียบง่าย เริ่มจากล้างถั่วแดง ต้มถั่ว และกวนไปเรื่อยๆ จนถั่วแดงเริ่มเหนียวแล้วจึงค่อยใส่ส่วนผสมอื่นๆ

แต่สำหรับคุณป้าอินาคากิแล้ว วุ้นถั่วแดงมีความละเอียดอ่อนมาก หากอุณหภูมิอากาศหรือความชื้นเปลี่ยน ก็ต้องปรับความแรงของไฟและแรงที่ใช้เคี่ยว

สมัยก่อน ตอนที่คุณพ่อเธอยังอยู่นั้น ทุกเช้าสองพ่อลูกจะตัดวุ้นถั่วแดงที่จะจำหน่ายในวันนั้นมาวางไว้บนโต๊ะ หลับตาและทานวุ้นถั่วแดงอย่างเงียบๆ ทั้งคู่จดจ่อกับสัมผัสและรสชาติของวุ้นถั่วแดงตั้งแต่ในปากจนถึงตอนวุ้นผ่านลำคอไป

วุ้นถั่วแดง
ภาพ : lritsdesign21.com

ในช่วงแรก อินาคากิคิดว่าวุ้นชิ้นนั้นอร่อยดีอยู่แล้ว แต่คุณพ่อก็จะบอกว่า เธอล้างถั่วยังไม่ดีหรือต้มถั่วนานไป แม้แต่คนทำขนมเป็นอาชีพอย่างเธอยังไม่รู้ถึงความแตกต่าง ลูกค้าก็คงไม่ทราบแน่ แต่พ่อก็ยังบอกให้เธอแก้ขั้นตอนการทำต่างๆ อยู่เสมอ ตัวเธอเองก็งงว่าพ่อรู้ได้อย่างไร

หากสินค้ารุ่นไหนที่ทำออกมาได้ไม่ดีจริง พ่อก็จะสั่งให้เททิ้งทั้งหมด ห้ามจำหน่ายเด็ดขาด

“เรามิได้มุ่งสะสมตัวเลขในบัญชีธนาคาร แต่เรากำลังสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อลูกค้า”

เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อินาคากิก็เริ่มรู้สึกถึงความแตกต่าง พ่อและเธอจะทำเช่นนี้ทุกวันจนถึงวันก่อนที่พ่อจะจากไป จนวินาทีสุดท้าย วันที่น้ำตาลในเลือดของพ่อเธอพุ่งขึ้นไปถึง 450 พ่อของเธอก็ยังยืนยันที่จะชิมขนมวุ้นถั่วแดงก่อนจำหน่ายให้ลูกค้า

ลูกค้าที่ได้มีโอกาสทานวุ้นถั่วแดงเลอค่านี้มักบอกตรงกันว่า

“รสหวานละมุน ไม่หวานบาดคอ”

“ครั้งหนึ่งทานหลายๆ ชิ้นก็ได้ ทานได้ไม่เบื่อเลย”

“กลิ่นหอมมาก”

วุ้นถั่วแดง
ภาพ :  www.ozasa.co.jp

แม้จะมีลูกน้องอยู่สามสิบกว่าคน แต่คนที่จะกวนถั่วแดงสำหรับวุ้นถั่วแดงนั้นจะมีแค่คุณอินาคากิคนเดียว

“ตอนที่ฉันกำลังกวนถั่วแดงในหม้อนั้น จะมีบางจังหวะที่ถั่วแดงกลายเป็นสีม่วงประกาย เป็นสีที่สวยมาก ฉันรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงของถั่วแดงเหล่านั้นเลยทีเดียว มันเป็นช่วงเวลาที่ฉันได้อยู่เงียบๆ คนเดียวโดยไม่มีใครรบกวน มีแค่ฉันกับขนม เป็นช่วงเวลาเดียวที่ฉันรู้สึกเหมือนจิตว่าง หากจิตใจฉันว้าวุ่นมันจะสะท้อนออกมาในขนม และไม่มีทางทำได้ดีเลย”

คุณอินาคากิพูดเหมือนเธอกำลังทำพิธีอะไรบางอย่างด้วยจิตตั้งมั่น

“ฉันคิดว่า สุดท้ายแล้ว ฉันหลงรักการทำวุ้นถั่วแดงนี้จากก้นบึ้งหัวใจของฉันจริงๆ”

ด้วยความรักที่เธอผสมลงไปในขนม ทำให้ลูกค้าต่างหลงรักรสชาติของโอซาสะและแวะเวียนกลับมาเป็นประจำ โดยที่เธอแทบไม่ต้องทำการตลาดเลย

วุ้นถั่วแดง
ภาพ :  triipgo.com
พิกัด : สถานี JR Kichijoji ออกประตู North Gate เดินไป 1 นาที https://goo.gl/XgKwtN หรือ www.ozasa.co.jp/guide.php
www.ozasa.co.jp

Save

Save

Save

Save

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย