‘idendrophile 54’ (ไอเดนโดรไฟล์ 54) คือที่พักแนวแกลมปิ้ง (Glamping) ที่ให้คุณทำกิจกรรมแคมปิ้งและพักผ่อนกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวได้อย่างเป็นส่วนตัว ท่ามกลางเสียงลำธารในป่าเขียวขจีของดอยเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในที่พักซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะซ่อนตัวอยู่ภายในหุบเขาของดอยเทพเสด็จ มีธารน้ำไหลผ่าน ล้อมรอบด้วยป่าอุดมสมบูรณ์ และมีความเป็นส่วนตัว ติ๊กถูกทุกข้อให้กับความเหมาะสมในการเป็นที่พัก


เรื่องราวของที่พักแห่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีแนวคิดแบบไหนถึงทำให้มีผู้คนสนใจติดต่อเข้าพักเป็นจำนวนมาก โดยที่ทางที่พักแทบไม่ต้องโปรโมตตัวเอง เตรียมของใส่กระเป๋าและเดินทางเข้าป่าดอยเทพเสด็จ ฟังเสียงธรรมชาติ ชมใบไม้ไหวเริงระบำกับสายลม เคล้าเรื่องราวของ idendrophile 54 กัน

idendrophile 54 เริ่มต้นขึ้นจากความฝันของ กาย-วริทนันท์ ตาวงค์ ชายหนุ่มจากขอนแก่นที่ตกหลุมรักธรรมชาติของเชียงใหม่ เขาฝันอยากจะมีที่พักสักแห่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และเพื่อทำให้ฝันนั้นเป็นจริง เขาจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ค่อย ๆ เริ่มต้นทำธุรกิจต่าง ๆ ขยับมาสู่การเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ใช้เวลาอยู่หลายปีจนเขาเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง
วันหนึ่งความฝันก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า เมื่อนายหน้าขายที่ดินคนหนึ่งติดต่อมาเสนอขายที่ดินกลางป่าแห่งหนึ่งกับเขา ในคราวแรก กายไม่ได้สนใจข้อความที่ดินที่นายหน้าส่งมาให้นานนับปี กระทั่งนายหน้าลองพยายามอีกครั้ง โดยที่คราวนี้ ข้อความนั้นมาพร้อมกับคำว่า “ที่ดินแห่งนี้มีโฉนด”
“เราก็ ห้ะ เป็นโฉนดด้วยเหรอ!?” กายพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นถึงความแปลกใจในวันนั้น
“ที่ผ่านมามีนายหน้าส่งรูปที่ดินแถวนี้มาให้เราเยอะมาก ส่งมาตลอด 1 ปีเต็ม ๆ แต่เราไม่เคยสนใจกดดูเลยว่ามันคือที่ไหน เพราะไม่คิดว่าที่ดินกลางป่าเหล่านั้นจะมีโฉนด จนมาวันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว เขาส่งมาให้ดูอีกครั้ง คราวนี้เขาพิมพ์มาว่า ที่ผืนนี้มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดนะ”

วันเดียวกันกับที่นายหน้าส่งข้อมูลมา กายหันไปปรึกษากับ เบสท์-นรากร ภัทระปัญญ์ธร ผู้ร่วมก่อตั้ง และชวนกันขับรถขึ้นดอยเทพเสด็จไปดูที่ดินแห่งนั้นโดยทันที
“พอเรามาเห็นปุ๊บ มันสวยมาก ระหว่างเดินชมเราก็คอยสะกิดเตือนเบสท์ อย่ากระโตกกระตากนะ ทำตัวนิ่ง ๆ ไว้ เก็บความอยากได้ไว้ในใจ อย่าพูด เดี๋ยวราคามันโดด” กายหัวเราะสนุก
“เรารู้เลยว่าต้องซื้อที่นี่แน่นอน เพราะก่อนหน้านี้เรากับเบสท์เดินทางไปดูงานของที่พักดี ๆ ที่ต่างประเทศมาเยอะมาก เราพบว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยมีที่พักอารมณ์ Airbnb ในธรรมชาติมากนัก พอมาเห็นที่ดินผืนนี้วันนี้ ทำให้เรารู้ตัวเองทันทีว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะปล่อยของ ที่ตรงนี่แหละจะเป็นที่ตั้งที่พักในแบบของเรา หลังจากต่อรองราคากันเรียบร้อย อีกวัน 2 วันถัดมาก็ตัดสินใจซื้อ”


นอกจากตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว ที่นี่ยังสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน
“เราซื้อที่ตรงนี้วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561 แล้วเริ่มก่อสร้างโซนแรกวันที่ 15 ตุลาคม ก็คือก่อนวันโอนเรานัดทีมก่อสร้างเรียบร้อยหมดแล้ว” กายหยุดหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “เราเริ่มสร้างวันที่ 15 ตุลาคม แล้วเสร็จวันที่ 15 พฤศจิกายน ใช้เวลาเพียง 1 เดือนก็พร้อมเปิดให้ลูกค้าเข้าพักได้เลย
“อย่างที่บอก เราไปดูงานมาเยอะ และถึงเวลาที่เราต้องปล่อยของ เหมือนอัดอั้น ก็เลยสร้างเลยทันที ส่วนหนึ่งเราต้องแข่งกับเวลา เพราะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และที่นี่ฝนตกเยอะ อาจเป็นอุปสรรคในการสร้าง อีกอย่างเรามองว่าเราไม่พร้อมเดินทางมาที่นี่ทุกวัน เลยพยายามย่นเวลาให้เสร็จได้เร็วที่สุด ซึ่งเราโชคดีที่มีสถาปนิกเก่ง ๆ อยู่รอบตัว เป็นสถาปนิกที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และยังเป็นสายแคมปิ้งเหมือนกับเรา โปรเจกต์นี้จึงไม่ได้เป็นแค่โปรเจกต์ในฝันของเรา แต่เป็นของสถาปนิกด้วย เพราะเราแทบจะปล่อยให้เขาทำได้ตามใจเต็มที่ เรามีหน้าที่แค่บอกโจทย์ที่อยากได้”
ที่ดินแห่งนี้เดิมเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเล็ก ๆ ของคนในพื้นที่ แต่ด้วยความยากลำบาก ถนนค่อนข้างเล็ก ในหน้าน้ำหลาก สัญจรออกไปข้างนอกค่อนข้างลำบาก อีกทั้งยังไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาเข้าถึง ในเวลาต่อมาชาวบ้านจึงตัดสินใจย้ายออกไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียงที่สะดวกสบายกว่า
นั่นเป็นเหตุผลให้ที่ดินแห่งนี้มีโฉนดและรอคนเข้ามาพัฒนา


“เรามองว่าที่นี่ไม่ได้มีเรื่องราวพิเศษ เพราะความพิเศษของที่นี่คือ ธรรมชาติ นี่แหละคือความพิเศษที่สุดสำหรับเรา ส่วนเรื่องราวในที่แห่งนี้เป็นของลูกค้าที่มาพัก” กายอธิบายวิธีคิดของพวกเขา
เมื่อมีธรรมชาติเป็นพระเอก สถาปนิกจึงพยายามออกแบบโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เราเอาต้นไม้เป็นหลัก ห้ามตัดต้นไม้ ต้นไม้ทุกต้นของที่นี่คือต้นที่มีอยู่เดิม และเราปลูกเพิ่มเข้าไป เพราะมองว่าเรามาอยู่กับเขา เขาดีอยู่แล้ว เราแค่มาทำให้พื้นที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้แต่ก้อนหินเราก็เก็บไว้ ไม่มีการปรับระดับพื้นดินแต่อย่างใด” กายอธิบายแนวทางการก่อสร้าง
“กายกับเบสท์เป็นคนรักต้นไม้ ชอบธรรมชาติ ชอบแคมปิ้ง แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบาย และที่ตรงนี้คือพื้นที่ในฝันของคนที่ชอบเหมือน ๆ กับเรา ท้ายชื่อ idendrophile 54 เราเลยต่อด้วยคำว่า Experience เพราะเราอยากให้ทุกคนที่มาได้ประสบการณ์ดี ๆ กลับไป และที่นี่มีความกึ่ง Airbnb ต้องดูแลตัวเอง กึ่งความเป็นรีสอร์ตที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ และกึ่งความเป็นโรงแรม คือข้างในห้องพักมีอุปกรณ์วางให้ครบหมด เพราะฉะนั้น เหมือนเอาที่พัก 3 ประเภทมารวมอยู่ในสถานที่เดียว
“พวกเรายังให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ลูกค้าเพลิดเพลินได้ ลากเก้าอี้มานั่งชิลล์ เล่นน้ำ ใครอยากทำอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย ไม่ต้องมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ต้องนั่งอยู่ในบ้านอย่างเดียว เพราะเราค้นพบว่าที่พักส่วนใหญ่คนที่มาพักไม่ค่อยกล้าไปใช้อะไรข้างนอกห้องเพราะมีคนอื่นอยู่ แต่ที่นี่เหมือนงานเหมา เราให้ลูกค้าไปเลยเต็ม ๆ เขาอยากทำอะไร อยากดูหนัง นั่งชิลล์ตรงไหนได้หมด เรามีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์ ที่พัก ห้องครัว ซึ่งเราจัดเต็ม มอบของที่ดีที่สุดให้กับเขา เพื่อเป็นส่วนเสริมให้เกิดประสบการณ์ดี ๆ ที่คนมาพักจะได้รับ” เบสท์เล่าถึงแนวคิดที่พักของพวกเขา

พวกเขาใช้เวลาสร้างที่พักโซนแรก 1 เดือน โดยเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่การทำถนนเข้ามาใหม่ พัฒนาระบบน้ำใต้ดินให้สะอาด นำเสาไฟฟ้าเข้ามาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต และติดไฟให้แสงสว่างตลอดทางเข้ามาเพื่อความปลอดภัยระหว่างทางเดินเข้าสู่ที่พัก ด้วยความที่ไม่อยากปรับระดับพื้นและไม่อยากให้หญ้าหรือต้นไม้เล็ก ๆ เสียหาย พวกเขาจึงทำทางยกจากพื้นให้ลูกค้าเดินเข้ามาสะดวก
ที่พักโซนแรกกายและเบสท์ตั้งใจทำขึ้นมาให้มีกลิ่นอายของกระท่อมริมลำธาร ซึ่งเจ้าลำธารก็เป็นจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ เสริมด้วยลานแคมปิ้ง จุดกางเต็นท์ ที่มีห้องครัวเพื่ออำนวยความสะดวก
“การออกแบบเราจะอิงจากตัวเราเอง เราชอบทำอาหาร แต่ไม่ชอบให้อาหารอยู่ในบ้าน ก็เลยทำเป็นครัวด้านนอกแยกออกมา และความเป็นบรรยากาศแคมป์มันก็ต้องมีเต็นท์ โซนแรกเราเลือกที่จะทำงานกับบริษัทสถาปนิกชื่อ ‘แม่คะนิ้ง ครีเอทีฟ’ เราบรีฟไปว่าอยากได้ลานแคมปิ้ง อยากได้บ้าน 1 หลังที่นอนได้ 2 คน เป็นกระท่อมเล็ก ๆ น่ารักกลางป่า ใกล้กับสายน้ำ
“พอสถาปนิกมาถึง เขาเริ่มวางแผน หินก้อนนี้เก็บ ก้อนนี้เก็บ อันนี้เก็บ อะพี่ว่ามาเลย มันจะต้องเป็นแบบไหนพี่พูดมาเลย พี่ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราจำไว้ในหัวละ ตื่นเช้ามา ปึ้ง! เราก็สั่งช่างทันที ให้ขุดแบบนี้นะ สถาปนิกก็งง อ้าว กูเพิ่งพูดไป มันเริ่มทำแล้วว่ะ” กายหัวเราะสนุก “ทุกอย่างเร็วมาก ถ้ากายถามสถาปนิก ส่งไลน์ไปปุ๊บต้องตอบทันที ถ้าตอบช้าเราจะเริ่มเอง จะนำไปก่อนแล้ว”


พวกเขาเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในการก่อสร้าง ด้วยเหตุผลว่ามันขยับปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ได้สะดวก ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนตัวพื้นที่มาก โซนแรกจึงเสร็จออกมาเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ยกสูงจากพื้น มีระเบียงและหน้าต่างหันหน้ารับกับลำธารใสที่ไหลตลอดทั้งปี นอนพักได้ 2 คน บริเวณใกล้ ๆ กันมีลานกางเต็นท์ขนาดใหญ่สำหรับ 6 คน มีลานแคมปิ้งสำหรับจุดกองไฟ มีจอฉายหนังกลางแปลง มีโซนครัวพร้อมอุปกรณ์ทำอาหารอย่างดี ทั้งหมดนี้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดือนเดียวเท่านั้น


โซนสอง เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้เร่งรีบให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
“โซนสองช้า เพราะเราตั้งใจทำถนนเข้ามาใหม่ ลูกค้ามาพักจะได้สะดวก และแยกจากโซนหนึ่งชัดเจน คราวนี้จะได้มีเวลาให้สถาปนิกได้ทำงานเต็มที่ สำหรับโซนสอง มันเกิดขึ้นเพราะว่าตั้งแต่เราเปิดให้พัก มีลูกค้าโทรเข้ามาเยอะมาก แต่หลายครั้งเขาต้องการมาพักแค่ 2 คน ซึ่งเราให้ไม่ได้
“เพราะเรามองว่าที่พักโซนแรกเหมาะสำหรับเข้าพัก 8 คน ด้วยขนาดพื้นที่เกือบไร่กลางป่า ถ้าลูกค้ามาแค่ 2 คนจะต้องวังเวงมากแน่ ๆ ภาพลักษณ์ที่สื่อออกไปจะไม่ดีแน่นอน เขาจะบอกว่าที่นี่น่ากลัว เพราะอย่าลืมว่าพอมีความเป็นส่วนตัว ตอนกลางคืนจะเงียบมากเช่นกัน ไม่มีใครมารบกวน เลยเกิดไอเดียว่า โซนสองเราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายในบ้านหลังเดียว รองรับคนได้ 2 – 4 คน เหมาะสำหรับคนที่มาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ” กายอธิบายแนวคิดการสร้างที่พักโซนสองของพวกเขา


“ครั้งนี้เราเลือกใช้สถาปนิกจาก บริษัท แผลงฤทธิ์ จำกัด ซึ่งเป็นเพื่อนกับกลุ่มสถาปนิกที่ออกแบบโซนแรก เขาเป็นสายแคมปิ้งกันทั้งคู่ เราบรีฟไปว่าอยากให้ทุกอย่างอยู่ในบ้าน อยากให้ลูกค้าจำนวนน้อย ๆ มาแล้วสะดวกสบาย แล้วอยากได้ที่พี่คิดว่าเด็ดที่สุดของพี่ สเป็กมาเลย เราไม่มีข้อกำหนดเรื่องงบประมาณ พอทำออกมาปุ๊บก็เลยมีลิฟต์โผล่ขึ้นมา ด้วยความที่อาคารค่อนข้างสูง 4 – 5 เมตร คนที่อายุมากมาเขาจะลำบาก เลยออกแบบให้มีลิฟต์สำหรับขนของหรือขึ้นไปห้องพักโดยไม่ต้องหิ้วกระเป๋าขึ้นบันได
“เหตุผลที่ทำให้ที่พักโซนสองต้องสูง เพราะพื้นที่ตรงนั้นต่ำกว่าโซนหนึ่ง แล้วเราลองเอาโดรนบินขึ้นไปดู ปรากฏว่าภาพมุมสูงสวย และเราอยากให้คนที่มาพักในแต่ละโซนได้สัมผัสกับหลากหลายมุมมอง อันแรกติดลำธาร อันที่สองเลยเป็นเหมือนบ้านต้นไม้ที่เห็นภาพป่าและลำธารจากมุมสูง”

“ไฮไลต์ของโซนสองที่เราอยากแนะนำมาก ๆ คืออ่างแช่น้ำอุ่นที่ทำความร้อนจากฟืน”
อ่างแช่น้ำอุ่นอ่างนี้คืออ่างแรกของประเทศไทย และเป็นอ่างที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มสุดตัว
“อย่างที่บอกว่าอะไรก็ตามที่จัดเต็มให้ลูกค้าที่มาพักได้ เราทำหมด เราเห็นอ่างนี้ตอนสถาปนิกวางมาในสเกตช์ เป็นแบบนี้เลย เราก็ถามเขาว่าอ่างที่พี่เอามาวางเอามาจากไหน เขาก็เปิดยูทูบให้ดูว่า นี่ไง อยู่ที่สวีเดน เราก็เลยให้เบสท์ลองติดต่อไปหาบริษัทที่ทำอ่าง ปรากฏว่าเขาไม่ส่งมาที่เอเชีย เขาส่งแค่โซนยุโรปเท่านั้น เพราะอ่างนี้เป็นอ่างที่เขาไว้แช่บนทะเลสาบ มันลอยน้ำได้ อยู่ท่ามกลางหิมะได้ เขาเลยมองว่าเอเชียคงไม่ใช้หรอก แต่พอเห็นในแบบมันโคตรสวยเลย เราเลยหันไปบอกเบสท์…
“งั้นเราไปนู่นกัน”
“ไปที่ไหน” เบสท์ถาม
“ก็สวีเดนไง!” กายหัวเราะเมื่อเล่าย้อนถึงความทุ่มเทของพวกเขา ก่อนอธิบายเหตุผลให้ฟัง
“เรามองว่าที่ผ่านมา เราเห็นที่พักต่าง ๆ ในประเทศชอบทำเป็นอ่างขาว ซึ่งอ่างขาวมีเยอะจนไม่รู้จะเยอะยังไงแล้ว สอง เรามองว่าอ่างขาวต้องแต่งตัวสวยงามลงไป เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูสวยงาม แต่เรามีมุมมองกลับกันว่า อ่างพวกนี้ควบคุมความร้อนด้วยหม้อต้มหรือระบบไฟฟ้า แต่ที่นี่เราทำความร้อนด้วยฟืน นั่นคืออีกประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับกลับไป คุณจะได้ลองเอาฟืนมาต้มน้ำอาบเองเป็นครั้งแรก ชีวิตดูคืนสู่เบสิกและดูน่าสนุก
“สอง คือคุณจะใส่ชุดอะไรลงไปในอ่างใบนี้ก็ได้ อ่างนี้จึงไม่ได้มีเงื่อนไขมากมายในการใช้ คุณจะได้สนุกร่วมกัน เหมือนคอนเซปต์เราที่อยากให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ ไม่ใช่มีทุกอย่างให้พร้อมไปหมด เราเลยตัดสินใจลงทุนไปซื้อกันถึงสวีเดน”
“พอไปถึง เราติดต่อซื้ออ่างจนเสร็จ ทีนี้ก็ต้องหาวิธีส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่กายกลัวที่สุด เพราะเราไม่เคยใช้บริการขนส่งข้ามประเทศมาก่อน เราใช้วิธีค้นในกูเกิลแบบโง่ ๆ เลยว่า ‘ส่งของจากสวีเดนมาไทย’ มันก็ขึ้นมาเลย เรางงว่าบริษัทไหนจะไว้ใจได้บ้าง เพราะอ่างราคาแพงมาก เราก็เลยเลือกจิ้ม ๆ เป็นดวงของเราด้วยเพราะมีแค่บริษัทเดียวที่รับสาย เขาเป็นบุคคลธรรมดาที่รับจ้างบริการจัดการขนส่งระหว่างประเทศ เราก็ลองดู และทำใจไว้แล้วว่าถ้ามาไม่ถึงก็ช่างมัน ปล่อยวาง เราถามเขาว่าค่าส่งเท่าไหร่ สรุปแล้วค่าส่งกับค่าอ่างราคาเดียวกันเลย” กายหยุดหัวเราะอีกครั้ง
“พอกลับถึงไทย เราก็ลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าอ่างจะมาถึงไหม ผ่านไป 2 เดือน ในที่สุดอ่างก็มาถึงเมืองไทย ตอนที่มาถึงเรายังรู้สึกอยู่เลยว่าจริงหรือเปล่า จนบริษัทขนส่งที่เราสนิทกับเขาที่กรุงเทพฯ ติดต่อมา ‘คุณกายครับ เขาเอาอ่างมาฝาก’
“เท่านั้นแหละ เรารู้สึกว่ามาถึงบ้านแล้ว” กายกับเบสท์หัวเราะให้กับความบ้า
“ขอบอกเลยว่าการแช่น้ำในอ่างอันนี้มันดีมากกกกกกก” เบสท์ลากเสียงเน้นย้ำ
“สิ่งที่เราชอบคือการได้นอนแช่ในอ่างที่มีควันขึ้นมา ให้ความรู้สึกถึงความร้อนจริง ๆ ไม่ต้องใช้ฟองมาประดับ และมันนอนหลับได้เลยนะ ด้วยความที่คนสวีเดนเขาเจออากาศหนาวค่อนข้างเยอะ เขามีประสบการณ์สูง การออกแบบของเขาเลยมีระแนงไม้วางไว้ให้หลังเราไม่โดนเหล็กโดยตรง และยังรองรับสรีระได้พอดี นอนแล้วสบายมาก ๆ คุ้มค่ากับสิ่งที่พวกเราทำลงไปแล้วล่ะ” กายเสริมปิดท้าย

เมื่อทุกอย่างถูกนำมาจัดวางและสร้างจนเสร็จสิ้น ในที่สุดที่พักในฝันของพวกเขาก็เป็นที่พักติดลำธารกลางป่าเขียว มีต้นไม้ใหญ่รายล้อม มาพักในฤดูไหนก็สวยแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ป่าเขียวขจีและดอกไม้กำลังจะบาน หรือเดือนมีนาคม ช่วงเวลาที่ดอยเทพเสด็จระบายด้วยสีขาวแซมชมพูของดอกเสี้ยวที่บานสะพรั่งเต็มต้น เป็นฤดูกาลหนึ่งที่มีเสน่ห์ที่สุด
สำหรับคนที่ต้องการมาพัก ณ idendrophile 54 เราอยากให้คุณรีบวางแผนและจองที่พักล่วงหน้าสักนิด หนึ่ง เพราะที่แห่งนี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก สอง กายและเบสท์ตั้งใจให้ที่พักและธรรมชาติของที่นี่ยังสมบูรณ์สวยงามอยู่เสมอ พวกเขาจึงรับแขกเพียง 12 คืนต่อเดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ตรงกับความตั้งใจแรกของพวกเขาที่อยากเข้ามาช่วยให้ที่ตรงนี้มีคุณค่า ไม่ใช่แค่ในทางมูลค่า แต่รวมถึงธรรมชาติด้วย เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสมาสัมผัสธรรมชาติที่สวยงามต่อไปในอนาคต

3 Things
you should do
at idendrophile 54

01
ชิมกาแฟจากเมล็ดกาแฟของดอยเทพเสด็จที่มีคุณภาพและชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ

02
เล่นซิปไลน์ห้อยโหนท่ามกลางธรรมชาติ ชมความสวยงามของดอยเทพเสด็จ

03
เที่ยววิถีชุมชนโดยทัวร์ท้องถิ่น และสัมผัสวิวเมืองเชียงใหม่จากมุมสูงที่กิ่วลม