เจ้าวาฬ Moby Whale สีน้ำเงินเข้มน่ารักตรงหน้าเรานี้ ผลิตจากขวดพลาสติกราว 28 ขวด

นอกจากเป็นเครื่องใช้ประดับบ้าน หน้าที่สำคัญอีกประการของคุณ Moby คือการสื่อสารกับมนุษย์อย่างเราว่า ได้โปรดช่วยเก็บพลาสติกไว้ในท้องเขาและใช้หลายๆ รอบ ไม่ทิ้งพร่ำเพรื่อจนกลายเป็นขยะด้วยเถิด ไม่เช่นนั้นเพื่อนของเขาอาจสูญหายตายไปจากการเผลอกินพลาสติกเหล่านี้จนหมดท้องทะเล

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน
Moby Whale

คงจะดีหากมีอำนาจแปลงโฉมเศษซากพลาสติก ให้เกิดมามีชีวิตเพื่อบอกให้เราใช้พลาสติกน้อยลง 

ด้วยแนวคิดแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน The Cloud นัดหมายพูดคุยกับ คุณวิโรจน์ สุภาสูรย์ รองกรรมการผู้จัดการสายโรงงานอิชิตัน และ คุณใจ๋-ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy ตัวแทนจาก 2 องค์กรผู้ริเริ่มและจับมือกันผลักดันผลิตภัณฑ์ในโครงการ ‘Ichitan Green Factory Zero Waste’ ให้เป็นรูปร่าง เพื่อเรียนรู้แนวคิดและจุดประกายให้คนตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตที่แตกต่างทั้งสองนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเรามีส่วนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นระดับโลกได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ วิโรจน์และใจ๋พร้อมบอกเล่าแนวทางของพวกเขาให้เราและคุณ Moby พอใจชื้น

หากร่วมมือกันแล้ว เรายังมีความหวังเสมอ และหนทางข้างหน้า…ยังไม่ตัน

โจทย์คือลดแก๊สเรือนกระจกและพลาสติกปีละหลายพันตัน

อิชิตันเป็นธุรกิจเครื่องดื่มกำลังการผลิตมหาศาล ตอบโจทย์คนอยากลิ้มลองเครื่องดื่มหลากรสชาติ แน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจนี้ควบคู่ไปกับการผลิตขวดพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก แต่อิชิตันไม่นิ่งนอนใจต่อผลกระทบต่อส่วนรวมแต่อย่างใด

ตั้งแต่วันแรกของธุรกิจ พวกเขาตั้งใจออกแบบโรงงานผลิตให้เป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งเทคโนโลยีระดับสูงที่ลดทั้งน้ำ แก๊สเรือนกระจกและพลาสติกได้มากถึงปีละ 5,500 ตัน

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน
Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเราต้องรบกวนสิ่งแวดล้อม แต่หากปฏิเสธการใช้งานไม่ได้ เรามีแนวคิดที่จะใช้เขาให้น้อยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” วิโรจน์เล่าให้ฟังถึงความเชื่อที่เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญขององค์กร

อย่างไรก็ตาม มีพลาสติกบางส่วนที่พวกเขาไม่อาจหาวิธีสร้างคุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วยตัวเอง ในกระบวนการผลิตย่อมมีขวดที่ไม่ตรงมาตรฐานข้อกำหนดบ้าง เครื่องจักรจะตรวจสอบและแยกแยะขวดเหล่านี้ซึ่งมีประมาณ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมดออกไป ไม่ให้หลุดถึงมือผู้บริโภค 

ข้อจำกัดคือขวดเหล่านี้นำกลับมาทำขวดใหม่ไม่ได้ด้วยเหตุผลกฎหมาย

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการคัดแยกไปรีไซเคิลเป็นอย่างอื่น ผลลัพธ์ที่ได้คือเสื้อผ้า วัสดุพื้นผิว หรือภาชนะ มูลค่าไม่สูงมากนักและไม่บ่งบอกเรื่องราวอะไรนอกเหนือการใช้งานทั่วไป ซึ่งวิโรจน์เชื่อว่ายังมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าซ่อนอยู่

“การรีไซเคิลเป็นเรื่องดี แต่ไม่เพิ่มคุณค่าเท่าไหร่ น่าจะมีวิธีในการสร้างสรรค์ให้ขวดมีคุณค่ามากขึ้น” วิโรจน์ขบคิดและเก็บความสงสัยไว้ในใจ เขาเดินทางเข้าร่วมโครงการทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อค้นหาคำตอบ

Create with Creativity

ตัดภาพมาที่ Qualy แม้ชื่ออาจไม่คุ้นหูเท่าอิชิตัน แต่พวกเขาเป็นโรงงานที่มีพลังวิเศษ เข้าขั้นหาตัวจับได้ยากในประเทศนี้

พวกเขามีพลังงานความสร้างสรรค์ที่เนรมิตเศษพลาสติกที่ใครต่างเมินให้เป็นผลงานคุณภาพ สร้างความสุขและรอยยิ้มที่ยั่งยืนต่อผู้คนและโลกใบนี้ เผลอๆ คุณอาจเคยหมายปองผลงานของพวกเขาตามที่ต่างๆ แล้วก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้สุดเก๋หรืออุปกรณ์ตกแต่งบ้านน่ารักชวนยิ้ม

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

“สิ่งที่ Qualy ทำได้คือการเยียวยาธรรมชาติ เราเป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นงานสร้างสรรค์จากพลาสติก เปลี่ยนวัสดุที่คนอื่นมองว่าเลวร้าย กลายเป็นของที่สร้างประโยชน์ อายุการใช้งานยาวนาน ไม่กลับไปเป็นขยะได้ง่ายๆ เปลี่ยนจากสร้างเพื่อทำลาย เป็นสร้างเพื่อช่วยและรักษา นี่คือพันธกิจของเรา” ใจ๋เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลของการมีอยู่ของ Qualy

ใจ๋ให้ความสำคัญกับการสร้างผลงานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมาก เขารู้ดีว่าเป็นเรื่องยากในการกำจัดพลาสติกที่ใครหลายคนมองเป็นผู้ร้ายให้หมดไปจากโลกนี้ เพราะพลาสติกยังคงเป็นส่วนประกอบตามข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ 

แต่เขารู้ว่าเราพอบริหารจัดการพลาสติกเหล่านี้ได้ พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไปหากเราทุกคนเข้าใจวิธีการและช่วยกันดูแลแก้ไข

“กำลังของเรานับเป็นเศษฝุ่นถ้าเทียบกับกำลังการผลิตบนโลกนี้ แต่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจได้ เพื่อให้คนสนใจและมองเห็นปัญหา แล้วไปแก้โดยใช้วิธีการที่ถนัด เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม” ใจ๋เล่า

จะทำอย่างไรให้คนในวงกว้างสนใจได้ล่ะ ใจ๋คิดว่าต้องมีกำลังสนับสนุนจากองค์กรขนาดใหญ่ที่เชื่อเหมือนกัน และเป็นกระบอกเสียงช่วยสื่อสารได้

ณ ตอนนั้นใจ๋ไม่มีคำตอบว่าที่ใดบ้างมีความเชื่อตรงกัน เขาจึงเก็บความตั้งใจนี้ไว้ จนกว่าจะเจอใครที่พร้อมต่อสู้ไปด้วยกัน

กฎแห่งแรงดึงดูด

คนที่มีความเชื่อเหมือนกัน มักโคจรมาพบเจอกันเสมอแม้ไม่ตั้งใจ

อิชิตันและ Qualy ก็เช่นกัน พวกเขาไม่รู้จักกันมาก่อน แต่โชคดี อาจารย์ที่ให้คำปรึกษาโครงการ Carbon Footprint ของอิชิตันเห็นแนวคิดขององค์กรแล้วแนะนำทันทีว่าคู่นี้สมควรมาทำงานร่วมกัน

อิชิตันมีความตั้งใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดผ่านกระบวนการทางวิศวกรรมภายใน แต่ยังขาดวิธีสื่อสารด้วยความสร้างสรรค์ที่จับใจคนภายนอกได้

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

ส่วน Qualy มีพันธกิจยิ่งใหญ่ มีศักยภาพในการผลิต แปรสภาพขยะให้มีคุณค่าได้อย่างสร้างสรรค์ (Upcycling) แต่ยังขาดวิธีการขยายผลสู่วงกว้าง ใจ๋มีโอกาสได้คุยกับโรงงานอื่นบ้าง แต่พวกเขาไม่ได้เห็นภาพความเป็นไปได้แบบเดียวกัน

เหมือนกฎแห่งแรงดึงดูด พวกเขาได้พบกันผ่านการแนะนำ โครงการนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เรามีความฝันเหมือนกัน เพียงแต่เราขาดกันคนละอย่าง ถ้าเราไม่มาเจอกัน คงสร้างผลสำเร็จไม่ได้” วิโรจน์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ยิ่งเยอะ ยิ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมไม่ได้จินตนาการเลยว่าจะมีเป็นล้านขวด” เป็นความรู้สึกแรกของใจ๋เมื่อเข้าเยี่ยมชมโรงงานของอิชิตันและเห็นขวดกองพะเนินที่ถูกเครื่องจักรปฏิเสธ

โจทย์ที่เขาได้รับคือการแปรสภาพขวดเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญ คนต้องยินดีจับจ่ายใช้สอยสิ่งนี้มากพอๆ กับบรรจุภัณฑ์ชั่วคราวอย่างขวดน้ำดื่ม ไม่เช่นนั้นขยะปริมาณมหาศาลที่อิชิตันช่วยคัดแยกให้ตามข้อกำหนดของ Qualy จะถูกพักทิ้งไว้รอการผลิต

สิ่งแรกที่ใจ๋ตัดออกไปจากความคิดทันทีคือบรรจุภัณฑ์อาหาร ในต่างประเทศ อาจผลิตได้และคนยินดีซื้อเพื่อสนับสนุนสินค้ารีไซเคิลด้วยความเต็มใจ แต่ด้วยบริบทสังคมไทย ใจ๋เข้าใจว่าบางคนยังเคลือบแคลงใจว่าสินค้ารีไซเคิลไม่สะอาด เอาขวดพลาสติกเก่ามาล้างหรือเปล่า ซึ่งที่จริงขั้นตอนการทำต้องผ่านการบดและหลอมด้วยความร้อนสูง แล้วนำกลับมาขึ้นรูปใหม่ให้เรียบร้อย

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน
Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

หลังจากทดลองไปมา คำตอบที่ได้คือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับต้นไม้ เช่น กระถาง ถาดปลูกต้นไม้ให้น้ำอัตโนมัติที่ใช้ขวดราว 56 ขวดในการ upcycle

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

“ต้นไม้เป็นสิ่งหนึ่งที่บ้านหลังหนึ่งมีได้มากกว่าหนึ่งชิ้น โดยไม่รู้สึกว่าฟุ่มเฟือยหรือสิ้นเปลืองเกินไป มีต้นไม้เยอะๆ ไม่เสียหาย จริงไหม” ใจ๋อธิบายแนวคิด เขาเริ่มลงมือใช้พลังวิเศษที่มีไขปัญหาไปทีละขั้น

เสียงเรียกจากทะเล

เพื่อให้คนรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้น ใจ๋คิดต่อว่าจะสะท้อนผ่านเรื่องอะไรได้อีกบ้าง

ข่าวที่เราเริ่มเห็นถี่ขึ้นทุกเดือนมอบคำตอบให้เขา มีปัญหาใหญ่ที่บ่งบอกได้ดีว่ามนุษย์เราละเลยสิ่งแวดล้อมจนกระทบสิ่งมีชีวิตอื่นเกินไปแล้ว

“สัตว์ทะเล” ใจ๋เอ่ยถึงธีมที่ทำให้เขาคิดคุณ Moby ขึ้นมาได้

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน
Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน
Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

“เมื่อก่อนคนเห็นวาฬในมุมที่น่ารัก พอคนเห็นวาฬตอนนี้ก็จะนึกถึงพลาสติกที่ลอยเข้าไปติดในท้อง จนวาฬเกยตื้นตาย นี่คือความหมายเชิงสัญลักษณ์ใหม่ ไม่ใช่แค่วาฬด้วย ยังมีพะยูน ม้าน้ำ อีกหลายตัวเลย ซึ่งคนทั่วไปเริ่มรู้ข่าวพวกนี้มากขึ้น” ใจ๋อธิบาย พร้อมชี้ไปที่คุณ Moby วาฬสำหรับเก็บถุงพลาสติกไว้ใช้ซ้ำ ให้พลาสติกหยุดอยู่ที่วาฬในบ้านคุณ ดีกว่าลอยล่องเป็นอาหารวาฬตัวจริงในท้องทะเล

ไม่เพียงแค่วาฬเท่านั้น Qualy ยังสร้างสรรค์ม้าน้ำเป็นที่ใส่คอตตันบัด และสัตว์ขั้วโลกเหนือติดแม่เหล็กจิ๋วที่มีเพนกวิน เต่า และหมีขาว ผู้เคราะห์ร้ายจากการละลายของน้ำแข็งในแถบขั้วโลก จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เพื่อมาร่วมแจม แถมมีตัวอักษรกำกับถึงสาเหตุการเสียชีวิตด้วย

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

  และถ้าอยากสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ใจ๋เชื่อว่าคนไม่ควรรู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนอะไรเลย คนไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเขาคืนชีพมาจากพลาสติกถึงซื้อเพื่อสนับสนุน แต่ซื้อเพราะเป็นสิ่งของที่ดี อยากซื้ออยู่แล้ว ดูรื่นรมย์น่าใช้งาน จากนั้นจะมีคนเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงเอง

นี่เป็นสาเหตุที่ Qualy ระดมกำลังกันพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หน้าตาน่ารักเป็นมิตร ชวนหยิบจับเป็นเจ้าของเสียเหลือเกิน

แล้วทางอิชิตันรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อเห็นผลงานครั้งแรก เราถาม

“ชอบเลย เราดีใจมาก มันน่ารัก มีเรื่องราวที่สื่อสารได้ เข้าถึงคนแน่นอน” วิโรจน์ตอบอย่างพึงพอใจ “ก่อนหน้านี้เราใช้ชีวิตวิศวกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานและไม่สร้างภาระให้แก่ธรรมชาติ แต่ไอเดียที่ได้จาก Qualy คือการใช้ดีไซน์ส่งต่อแรงบันดาลใจที่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่าเยอะ”

ไม่สมบูรณ์ก็สวยงามได้

หากคุณตื่นเต้นและจับจองซื้อผลิตภัณฑ์สุดน่ารักจากโครงการนี้ก่อนถึงบรรทัดนี้ เราคงดีใจเป็นอย่างมาก แต่เราคิดว่ายังมีอีกหนึ่งสิ่งที่คุณควรรู้

ทำไมผลิตภัณฑ์ที่คุณได้รับถึงไม่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว และมีลวดลายที่ดูเหมือนผลิตได้ไม่เรียบร้อย 100 เปอร์เซ็นต์ คุณอาจสงสัย และใจ๋มีคำตอบ

“ขวดพลาสติกโดยปกติไม่ได้เหมาะกับการขึ้นรูปและผลิตใหม่ ด้วยอุปสรรคของตัวโครงสร้างภายในวัสดุ การออกแบบนี้จึงมีข้อจำกัดที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหา” ใจ๋อธิบาย

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

เขาร่วมมือกับสถาบันวิจัยหลายแห่งเพื่อคิดค้นกระบวนการที่ดีที่สุด แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบสุดท้ายตายตัว เพราะไม่ค่อยมีใครนำมาแปรสภาพเช่นนี้ ผลผลิตสุดท้ายจึงอาจมีริ้วรอยเล็กน้อยบ้าง แต่ในเชิงการใช้งานนั้นใช้ได้ดีปกติ

สาเหตุที่ใจ๋ยังคงลุยพัฒนาหาคำตอบต่อ เป็นเพราะเขาเชื่อว่าอย่างน้อยต้องทำอะไรสักอย่างให้คนเห็นก่อน การเปลี่ยนแปลงขั้นต่อไปจึงจะเกิดขึ้นได้

Ichitan x Qualy คอลเลกชันของใช้ในบ้านที่ผลิตจากขวดพลาสติกชนิด PET จากโรงงานอิชิตัน

“การที่ขวดพลาสติกกลายเป็นอย่างอื่นนอกจากเสื้อผ้าหรือภาชนะได้ เรามองว่าเป็นการเปิดประตูใหญ่ๆ บานหนึ่งเลย ให้คนได้รู้ว่าขวดก็ทำเป็นแบบนี้ได้นะ มาช่วยเปลี่ยนขวดเหล่านี้กัน งานอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบเท่าพลาสติกใหม่ๆ เท่าวัสดุที่เหมาะทำของประเภทนี้โดยตรง แต่คนที่เห็นและเข้าใจกระบวนการผลิต ความยากลำบากในการคิดค้น เขาชื่นชมและประหลาดใจว่าเศษพลาสติกทำได้ขนาดนี้เลยหรอ” ใจ๋เล่ามุมมอง

การบ้านของ Qualy และอิชิตันคือไม่หยุดพัฒนาไปพร้อมๆ กัน และช่วยกันออกแบบวิธีสื่อสาร ทำให้คนเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบถือเป็นความงามได้เช่นกัน

รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง

ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ค่อยมีใครลองในตลาด ทั้งคู่กังวลเรื่องกำไรทางธุรกิจบ้างหรือเปล่า เราสงสัย

“เราไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อหวังผลกำไรมากมายอยู่แล้ว” วิโรจน์ยืนยันทันที พวกเขาหวังการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

“เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นะ มันท้าทายและเสี่ยงอยู่แล้ว แต่เรามองว่าเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า กำไรถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรามีพลังในการดำเนินธุรกิจและสร้างสรรค์ปณิธานพวกนี้ต่อไปได้เฉยๆ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนเทียนที่ติดวูบเดียวแล้วดับหายไป แบบนี้ไม่ยั่งยืน เราจะต้องเป็นเทียนที่ต่อเชื้อเพลิงและจุดให้คนอื่นสว่างขึ้นอีก แต่เราไม่รู้หรอกว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ” ใจ๋เสริม

Qualy

แล้วถ้าไม่สำเร็จ พวกเขาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

“ถ้าไม่สำเร็จ เราบอกคนอื่นได้ว่าคุณไม่ต้องก้าวมาทางนี้แล้ว เราลองทำแล้วไม่ได้ผล คุณต่อยอดจากความรู้ตรงนี้ดีกว่า จะได้มีวิธีแก้ที่สมบูรณ์มากขึ้น อันนี้แหละคือความคุ้มค่าของเรา” ใจ๋ตอบอย่างมั่นใจ เรื่องบางเรื่องแม้เสี่ยง แต่คุ้มค่าที่จะลอง

พูดโดยไม่ต้องพูด

โครงการ Ichitan Green Factory Zero Waste ยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะเป็นปีแรก เราอยากรู้ว่าในปีต่อไปพวกเขาเห็นภาพโครงการนี้อย่างไร แล้วจะอยู่อย่างไรให้ยั่งยืน

“เราทำต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง เรายินดีสนับสนุนโครงการนี้ ส่วนปีหน้าเราก็มีโครงการที่จะหาวิธีเปลี่ยนกากใบชาให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ จุดได้เปรียบของเราคือมีสถานที่และโรงงานที่ให้ความรู้คนเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เราจะผลักดันโครงการที่มีประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ” วิโรจน์ตอบ

Qualy

“ปีนี้ทำ ปีต่อไปเราก็จะทำ ทำ ทำ ทำ ใช้การกระทำ แม้อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ด้วยศักยภาพเราที่มี ณ เวลานั้นๆ เราได้พยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว” ใจ๋ตอบ เขารู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว แต่เขาเห็นความเป็นไปได้ว่าต่อไปจะมีคนมาร่วมขบวนการมากขึ้นจนสามารถเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจรได้จริง เมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เราอาจเป็นคู่แรกๆ ที่ร่วมมือกันได้ลงตัว แต่ไม่ได้มีคู่เดียวแน่นอน” วิโรจน์และใจ๋เห็นพ้องต้องกัน

Qualy

คู่คิด

หากองค์กรต่างๆ อยากร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ควรทำอย่างไรบ้าง อะไรเป็นบทเรียนที่ทั้งคู่อยากส่งต่อให้คู่อื่นที่กำลังจะจับมือร่วมทุกข์สุขไปด้วยกัน เราถาม

“เปิดใจ อย่าปิดกั้น จะประสบผลสำเร็จหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสาธารณชน เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญแตกต่างกันด้วย ต่างคนต่างความสามารถ แต่มาร่วมมือกัน จะไปได้ไกล” วิโรจน์สรุปสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับ Qualy น่าดีใจที่องค์กรใหญ่เช่นนี้ยินดีเปิดประตูให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ

“เราต้องมีเหตุผลของการลงมือทำที่เหมือนกัน ถ้าเหตุผลไม่ตรงกันจะยากมาก อย่างเรากับอิชิตันมีความเชื่อที่ตรงกัน บางคนทำโครงการนี้เพื่อการค้า ทำตามกระแส นับเงิน นับตัวเลข เขาจะมองอีกแบบ แต่เรื่องพวกนี้ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ทั้งหมดหรอก ส่วนวิธีการทำนั้นเราเชื่อว่าเรียนรู้ได้ แต่จุดเริ่มต้นสำคัญคือเราทำไปทำไม” ใจ๋สรุป โชคดีที่เขาเจอเพื่อนคู่คิดที่มีพันธกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกัน

สุดท้าย วิโรจน์และใจ๋อยากฝากให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้และหมั่นศึกษาพัฒนาเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ พลาสติกไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวบนโลก ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอคอยการแก้ไข

หากมีศักยภาพและเพื่อนคู่คิดที่ความเชื่อตรงกันแล้ว อย่ารอช้า

โลกนี้กำลังต้องการความร่วมมือของคุณ!

คุณวิโรจน์ สุภาสูรย์ รองกรรมการผู้จัดการสายโรงงานอิชิตัน และ คุณใจ๋-ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan