จากวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา เราเห็นธุรกิจเล็กใหญ่หันมาวางแผน Digital Transformation ให้กับองค์กร ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นอย่างการเปิดหน้าโซเชียลมีเดียของร้านค้า ไปจนถึงการติดตั้งระบบ Telemedicine ที่เปลี่ยนแปลงการทำงานของแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง

เงื่อนไข Work From Home ที่หลายบริษัทส่วนใหญ่ต้องเผชิญ เป็นตัวเร่งให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมากขึ้น

ไม่ใช่แค่จะเอาเทคโนโลยีอะไรมาใช้

แต่จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศว่า คุณปฐมา จันทรักษ์ จะเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ สร้างเสียงฮือฮาให้กับคนในวงการ เพราะเธอผู้นี้มาพร้อมประสบการณ์กว่า 20 ปีในบริษัท Microsoft ที่สหรัฐอเมริกา และเคยทำงานใกล้ชิดกับ 3 ผู้บริหารระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates), สตีฟ บัลเมอร์ (Steve Ballmer) และ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)

สามแม่ทัพ IBM Thailand กับแนวคิดบริหารในการพาองค์กรก้าวสู่ Digital Transformation ได้สำเร็จ

เธอเข้ามาบริหารในยุคที่องค์กรต้องการการเปลี่ยนแปลง ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ในวันนี้ให้บริการเรื่องดิจิทัลโซลูชันแก่องค์กรต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ และระบบนิเวศทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเป็นที่หนึ่ง เพราะเชื่อว่าต่อให้เทคโนโลยีล้ำสมัยแค่ไหน ถ้าไม่ตอบโจทย์ปัญหาของผู้ใช้ และผู้ใช้งานไม่ได้เติบโตไปพร้อมกันก็ไม่มีประโยชน์

 ไอบีเอ็มจึงจัดตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อ Technology Group รับผิดชอบดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีฝ่าย Technical Community เข้าไปทำงานกับคนในองค์กรลูกค้า ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า สอนการใช้งาน และทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกรักเทคโนโลยีในที่สุด

คุณปฐมาไม่ได้มาคนเดียว เธอนั่งตรงข้ามเราพร้อม คุณสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ดูแล Technology Group ที่เติบโตในไอบีเอ็มมาเกือบ 25 ปี และ คุณรัชนีกร เทวอักษร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่าย Technical Community ผู้ผันตัวจากการเป็นลูกค้ามาเป็นพนักงานในองค์กรเมื่อ 15 ปีก่อน

สำหรับเธอ ผู้นำที่ดีต้องกล้าเลือกผู้นำคนอื่นๆ เข้ามาทำงานที่เขาถนัด เชี่ยวชาญ และมีความสนใจอย่างแรงกล้า ผู้นำที่ดีต้องพร้อมปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้นำที่ดีต้องพร้อมลองผิดถูก ยินดีเรียนรู้แก้ไขทันทีจากสิ่งนั้น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่เสมอ

วันนี้ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย บริหารองค์กรแบบแม่ทัพหลายคน เพราะเชื่อว่าองค์กรไม่มีทางขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าเวทีข้างในยังตกเป็นของคนแค่คนเดียว

สามแม่ทัพ IBM Thailand กับแนวคิดบริหารในการพาองค์กรก้าวสู่ Digital Transformation ได้สำเร็จ

เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยอะไรในธุรกิจ

ปฐมา : เทคโนโลยีจะเข้าไปช่วยสามอย่าง อย่างแรกคือ ช่วยลดต้นทุน ด้วยสถานการณ์และวิกฤตที่เกิดขึ้น หลายๆ โรงงานปิด หลายๆ โรงงานมีการเลย์ออฟพนักงาน ถ้าเทคโนโลยีไม่สามารถลดต้นทุนได้ก็เก็บไว้ก่อน ยังไม่ต้องลงทุน 

ข้อที่สอง เทคโนโลยีควรช่วยให้ธุรกิจแข่งขันในตลาดได้ นั่นหมายความว่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อะไรที่แต่ก่อนใช้คนก็เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ แล้วให้คนไปทำสิ่งที่ท้าทายขึ้น

ข้อที่สาม ความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ วันนี้อาชญากรมาในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเรียกค่าไถ่ข้อมูลสำคัญขององค์กร องค์กรจึงต้องป้องกันก่อนเกิดเหตุ

สามข้อนี้คือปัญหาที่เชื่อว่าทุกองค์กรเจอเหมือนกัน บางองค์กรเจอข้อแรก บางองค์กรเจอข้อสอง บางองค์กรเจอข้อสาม แล้วเราก็เลือกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้น

ถ้าถามแทนเจ้าของกิจการ เราจะรู้ได้ยังไงว่าธุรกิจเราต้องการเทคโนโลยี

ปฐมา : เริ่มต้นที่มุมมองของลูกค้า ส่วนใหญ่คนล้มเหลวเพราะใช้ระบบ Technology-centric จริงๆ แล้วมันควรจะเป็น Customer-centric เราเริ่มต้นทุกอย่างที่ Pain เอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง แล้วบอกได้ว่ากระบวนการไหนเป็น Pain ของลูกค้า

อย่างที่สอง ถ้าคุณต้องการขยายธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กรมศุลกากร คุณใช้คนสามร้อยคนตั้งแต่เรือมาจอดเทียบท่าจนถึงพัสดุออกมา การสเกลด้วยการเพิ่มคนขึ้นเรื่อยๆ อาจไม่ใช่คำตอบ คุณจึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามา

และสาม ถ้าคุณต้องเจอกับกฎต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธุรกิจ Financial หรือ Banking หากทุกอย่างไม่สามารถตรวจสอบได้ คุณจบเลยนะ เทคโนโลยีช่วยสร้างให้เกิดความโปร่งใส ความแม่นยำ ลดความผิดพลาด 

นี่คือสามข้อหลักๆ ที่หากคุณเป็นเจ้าของกิจการและต้องการเอาเทคโนโลยีมาใช้ ให้ดูตรงนี้ก่อน

รัชนีกร : เรามีเครื่องมือช่วยลูกค้า ทดสอบก่อนเลยว่า Business Process มีปัญหาหรือเปล่า แล้วมีปัญหาค้างอยู่ตรงไหน สมมติเราส่งเอกสารไปให้อนุมัติ รอคนคนนี้อยู่สองวันเพราะงานล้นมือ ซึ่งเป็นงานเอกสารแพตเทิร์นเดิมๆ ออโตเมชันจะเข้าไปแก้ได้ ลดจากเวลาเป็นวันเหลือหลักวินาที เมื่อแก้ได้แล้วแน่นอนว่าต้นทุนลดลง คนไม่ต้องเสียเวลากับงานแอดมินที่กินเวลา สามารถนำคนคนนี้ไปเรียนรู้สกิลล์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไปได้

สุรฤทธิ์ : หรือเคสที่เพิ่งเจอวันนี้เป็นธนาคาร ถ้าลองมอง Customer’s Journey ทั้งหมดจะพบว่า เรื่องง่ายๆ อย่างขั้นตอนเปิดบัญชี จะยืนยันตัวตนยังไง ต้องมีสมุดบัญชีไหม ต้องไปสาขาหรือเปล่า แม้จะมีเทคโนโลยีที่ดูทันสมัย แต่ลูกค้าก็ยังเจอขั้นตอนเดิมๆ อยู่ ถ้าจะพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น เราแก้ที่ระบบดิจิทัลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูการออกแบบขั้นตอนต่างๆ ด้วย จะปรับขั้นตอนไหนยังไง ตรงไหนที่มีการทำงานซ้ำๆ เกิดความผิดพลาดเพราะใช้คนทำงานอยู่ ก็อาจเอาระบบ RPA (Robotic Process Automation) เข้ามาช่วยเสริม อย่างการที่พนักงานต้องเปิดสองหน้าจอเพื่อเอาข้อมูลจากจอหนึ่ง ไปคีย์ใส่อีกจอหนึ่ง แล้วมาคีย์ผลลัพธ์อีกทีหนึ่ง พอใช้ออโตเมชันก็ช่วยลดขั้นตอน ทำให้การประมวลผลเร็วขึ้น ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และตรวจสอบได้ด้วย มันคือการเอาปัญหาของ End User หรือลูกค้าเป็นที่ตั้ง

สิ่งที่ผู้บริหารยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในองค์กรคืออะไร

ปฐมา : การคิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่มีได้ วันนี้พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีเป็นแค่ Enabler สิ่งที่เราพยายามจะทำคือ กลับไปอยู่จุดที่เป็น Pain Point ของลูกค้าก่อน ตัวเทคโนโลยีลูกค้าเลือกใครก็ได้ ใกล้เคียงหรือเทียบเท่า แต่สิ่งที่ไอบีเอ็มมีวันนี้ คือทัพด้านในที่จะตอบโจทย์ และบอกปัญหาของลูกค้าได้ อย่างเคสที่โด่งดังไปทั่วโลกของแบงก์ชาติ แต่ก่อนเวลาคนไทยจะซื้อพันธบัตรรัฐบาล กว่าจะไปแบงค์หนึ่ง กว่าจะซื้อ กว่าจะได้รับการยืนยันว่าซื้อได้ ได้แล้วได้จำนวนเท่าไหร่ กลับไปเช็กอีกที เบ็ดเสร็จทั้งหมดใช้เวลาสิบห้าวัน มาวันนี้ห้าหมื่นล้านใบขายได้หมดภายในสองสัปดาห์ ได้พันธบัตรภายในสองวัน เพราะเอาขึ้นมาบน Blockchain ถามว่าแต่ละธุรกิจจะเอาเทคโนโลยีอะไรมาซัพพอร์ต ต้องกลับไปที่จุดแรกก่อนว่า Pain คืออะไร

Pain ของแบงก์ชาติคือ หนึ่ง ความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอง แน่นอนตรงนี้กลายเป็นต้นทุน สาม ไม่สามารถซื้อพันธบัตรเต็มสิทธิ์จากแบงค์เดียว ซึ่งเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ สามารถตรวจสอบได้ คือ Blockchain

คุณต้องเลือกเทคโนโลยีให้ถูก ไม่ใช่เริ่มจากบอกว่า วันนี้จะใช้ Cloud จิ้มเลย เอาอันนี้ที่เคยได้ยินคุ้นเคย ซึ่งเราจะไม่บอกลูกค้าให้ไป Cloud แต่จะบอกให้ไป Hybrid Cloud มีเหตุผลนะ สมมติวันนี้ลูกค้าเลือก Cloud ถ้าคุณใช้งานถ่ายรูปเก็บไว้ในนั้น โอเค แต่ถ้าเป็นรายการทางธุรกิจที่ต้องเอาขึ้นแล้วก็เอาลงมา มันมีค่าใช้จ่ายที่เราไม่รู้ตอนแรก ยิ่งถ้ามีเยอะๆ และต้องเอาข้อมูลขึ้นลง Cloud ตลอดเวลา ไม่คุ้มหรอกค่ะ คนที่บอกว่าไป Cloud แล้วถูก เร็ว ไม่จริงอย่างนั้นเสมอไป สุดท้ายโดนล็อกอิน มีค่าใช้จ่ายซ่อนเร้น ย้ายก็ไม่ได้ แถมแพงกว่าเดิม 

สุรฤทธิ์ : สุดท้ายต้องกลับมาเป็นแบบ Hybrid คือข้อมูลสำคัญ Core Applications เก็บอยู่ในองค์กร ประมวลผลในองค์กร ส่วนไหนที่ต้องใช้ AI, Blockchain หรือ Edge ก็เชื่อมขึ้น Cloud ขึ้นไปใช้ Solution บนนั้น ใช้ Open Source หรือมี Cloud เฉพาะสำหรับอุตสาหกรรม ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มี Regulations กำกับอยู่ อย่างธนาคาร ประกัน วันนี้ต้องมี Cloud Satellite เชื่อมระบบในองค์กรกับ Cloud แบบไร้รอยต่อ เชื่อมทุกยี่ห้อทุกค่าย ผู้ใช้มีเสรีที่จะใช้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง

หรือการเลือกใช้ AI ก็มีหลายค่าย แต่ก่อนเลือก ต้องดูก่อนว่าจะเอามาใช้ทำอะไร วันนี้เอไอพัฒนามาถึงจุดที่อภิปรายกับคนได้ หรือเป็นเอไอที่ฟังเสียงเครื่องจักรแล้วบอกได้ว่าเครื่องมีปัญหาหรือไม่ เป็นเสียงที่หูคนธรรมดาไม่ได้ยิน นี่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาจริงๆ แต่วันนี้คนไม่ได้มองตรงนั้น คนมองว่าจะเลือกเทคโนโลยีที่ถูก จะเอาเข้ามาช่วยงาน 

Mindset ของผู้บริหารที่จะพาองค์กรผ่าน Digital Transformation สำเร็จต้องเป็นแบบไหน

ปฐมา : เทคโนโลยีมันไปไกลกว่าเราเยอะแล้ว หากคนในองค์กรยังมี Mindset เดิมๆ และไม่ยอมเปลี่ยน ก็ขยับต่อไปไม่ได้เหมือนกัน

เวลานำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในธุรกิจ สิ่งแรกที่คนกลัวคือ กลัวจะถูกแทนที่ พอทราบว่าตัวเองจะต้องอยู่กับมัน สิ่งที่กลัวเป็นอย่างที่สองคือ กลัวใช้ไม่เป็น คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ถ้าใครชอบการเปลี่ยนแปลง มาคุยกับพี่ (หัวเราะ)

งานที่ทำมาตลอดทำให้คนมี Comfort Zone ทำสบายๆ อยู่แล้ว ทำได้เรื่อยๆ และอย่างสุดท้าย กลัวความล้มเหลว มีสามเรื่อง ถ้ามีความคิดแบบนี้ในองค์กร การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย มันยากกว่าการเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้ในองค์กรอีกนะ

สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือ คุณต้องทำให้คนในองค์กรเข้าใจก่อนว่าเราเปลี่ยนเพื่ออะไร มันย้อนกลับไปการแก้ไขปัญหาสามข้อที่บอกไปตั้งแต่แรก ถ้าใช้เพื่อลดต้นทุน องค์กรอยู่ได้ คุณก็อยู่ได้ ถ้าทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานคุณก็สบายขึ้น

คนที่อยู่ในองค์กรต้องพร้อมที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร งานที่ต้องทำซ้ำๆ ก็ปล่อยให้เทคโนโลยีทำไป คนสามารถคิดได้แอดวานซ์กว่านั้น การที่องค์กรรับเทคโนโลยีเข้าไปแล้วเป็น Technolody-centric ก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่การที่คนข้างในไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน โดยตอบรับเทคโนโลยีมาปรับใช้ อันนี้น่ากลัวกว่า เพราะฉะนั้น ทั้งคนและเทคโนโลยีต้องไปด้วยกัน โจทย์ใหญ่คือทำยังไงให้คนชอบเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ และจะดีมากถ้าเป็นเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม (หัวเราะ)

รัชนีกร : ผู้บริหารส่วนใหญ่อยากนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้อยู่แล้ว แต่พอไปคุยกับทีมมักมีกระแสต่อต้าน การ Transformation ของ IT มีคนมาเกี่ยวเสมอ เราเองเวลาเข้าไปคุยกับลูกค้าก็ต้องทำให้เขาสบายใจ เชื่อใจ และเราต้องคุยกับผู้บริหารด้วยว่า เวลาไปอธิบายทีมต้องบอกว่านี่จะไม่ได้เอามาแทนที่ แต่เอามาช่วย

เวลาเราคุยกับเขา จะบอกว่า พี่ครับ ถ้าเอาสิ่งนี้มาช่วยขั้นตอนตรงนี้ งานพี่จะเสร็จไวขึ้น พี่อาจจะได้กลับบ้านเร็วขึ้น ยิ่งถ้าเอาไปให้ทดลองเขาจะเห็นเลยว่า ปกติที่งานนี้มันลำบาก ใช้เวลาพิมพ์เป็นชั่วโมงๆ มาตอนนี้คลิกดูรีพอร์ต เขาไปแนะนำเจ้านายได้ว่า จากรีพอร์ตที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าตัวนี้ขายดี เราควรทำอย่างนี้ต่อไป หรืออันนี้ขายไม่ดีก็สั่งน้อยลงไหม มันเป็น New Way of Working หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นทาสเทคโนโลยี จริงๆ เทคโนโลยีทำงานให้เรา

ยังไงคนก็จะยังสำคัญอยู่

ปฐมา : คนยังสำคัญอยู่

อีก 50 ปีคนก็จะสำคัญอยู่

ปฐมา : ยังไงคนก็สำคัญมาก คนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่ได้ เทคโนโลยีมาลดสิ่งที่เป็นอคติ ชัดเจน โปร่งใส่ เทคโนโลยีไม่บอกว่า “ฉันรู้จักคนนี้ เพราะฉะนั้น ฉันจะให้คนนี้ก่อน” ไม่มีการลัดคิว แต่เรื่องสร้างสรรค์ เรื่องการตัดสินใจที่มีวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่างๆ เข้ามา เรายังต้องใช้คนอยู่

จะเห็นได้ว่า เทรนด์การซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นๆ แต่คุณก็ยังชอบมีคนคอยบริการ เข้าไปในร้านปุ๊บ เขารู้เลยว่าคุณชอบอะไร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนที่มี E-commerce สุดท้ายแล้วเขาก็มีหน้าร้านขายปลีก Alibaba ก็ไปซื้อร้านออฟไลน์ Amazon ก็ไปซื้อร้านขายของชำ ทุกคนอยากมี Human Touch ทั้งนั้น

ถ้าใครบอกว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่มนุษย์ อีกนานค่ะ คนยังชอบการติดต่อสื่อสาร แต่เราจะเลือกเอาเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับคนยังไงเท่านั้นเอง

สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจอย่างไรบ้าง

ปฐมา : วิกฤตนี้ช่วยเร่งให้องค์เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เรื่อง Digital Transformation เราพูดกันมานานแล้วสามถึงสี่ปีได้ ที่บอกว่า You can work from anywhere. ก็พูดกันมานานแล้ว แต่พอมันเกิดเหตุการณ์จริงๆ วันที่ทุกคนต้องทำงานจากบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งแรกที่ต้องถามคือ ระบบที่องค์กรมีมันรองรับกับการทำงานรูปแบบนี้หรือเปล่า แล้วถ้าทุกคนเข้าถึงข้อมูลบริษัทจากที่ไหนก็ได้ ระบบเราปลอดภัยพอไหม

ข้อสอง แล้วพนักงานที่ทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพหรือเปล่า แต่ก่อนเคยเห็นหน้ากันแบบนี้ คุยกันจบ วันนี้ไม่เห็นหน้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนรุ่นใหม่จะชอบ Co-working Space วันนี้ไม่รู้จะ Co กับใคร เราจะทำยังไงให้เขาคุยกันได้ง่ายๆ ให้การทำงานเป็นทีมร่วมกันง่ายมากขึ้น ข้อสาม ทำยังไงให้เขาบริการลูกค้าได้โดยไม่มีความเสี่ยง ทุกอย่างต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยหมดเลย เราไม่สามารถให้พนักงานออกไปพบลูกค้าอย่างปกติแล้วเสี่ยงติดเชื้อกลับมา 

หรืออย่างในวงการแพทย์ วันนี้คุณใช้เทคโนโลยีติดต่อสื่อสารผ่าน Telemedicine มีข้อมูลหลังบ้านที่ให้หมอทำงานง่ายขึ้น อย่างตอนนี้เราร่วมกับ INET เอา AI ไปช่วยรังสีแพทย์อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดว่ามีปัญหาไหม ปวดบวม ปอดรั่ว ปอดติดเชื้อ หรือแม้แต่การตรวจสอบอาการเริ่มต้นของโรค COVID-19 ก็ยังได้ แต่สุดท้าย คนที่ฟันธงก็คือคุณหมอจริงๆ เพียงแต่เทคโนโลยีเหล่านั้นเข้ามาช่วยหมอที่อาจจะขาดแคลนอยู่แล้ว ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้หมอได้  

ในบ้านเรา ถ้าคุณหมอในต่างจังหวัดหรือเขตรอบนอกต้องส่งคนไข้มาหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเมืองจะลำบากแค่ไหน วันนี้เราเอาเทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ ตอบโจทย์อะไรบ้าง หนึ่ง อำนวยความสะดวกให้คนไข้ จากที่ต้องรอส่งฟิล์มเอกซเรย์เข้ามาตรวจสอบที่โรงพยาบาลใหญ่สองอาทิตย์ ตอนนี้ AI สแกนทีเดียว รู้ผลได้ในไม่กี่วินาที สอง ทำให้คุณหมอตรวจคนไข้ได้มากขึ้น จากปกติตรวจได้ไม่กี่เคสต่อวัน และสาม เทคโนโลยีเข้ามาเป็น Enabler ให้ข้อมูลรอบด้าน ช่วยให้คุณหมอรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำงานได้อย่างรวดเร็ว

มันคือ New Way of Working

ในฐานะผู้บริหาร คุณเรียนรู้อะไรจากวิกฤตที่ผ่านมา

ปฐมา : ทุกองค์กรต้องเตรียมความพร้อมเสมอ เพราะเราไม่ทราบหรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรามักพูดอยู่อย่างหนึ่ง ‘Don’t waste a good crisis.’ เวลาเกิดสถานการณ์แบบนี้ เราอาจจะพูดกันมานานแล้วเรื่องเตรียมความพร้อม วันนี้ได้ทำ เราพูดมานานเรื่องการเรียนหนังสือออนไลน์ วันนี้ก็ได้ทำ ทีมของเราบางคนลูกต้องเรียนออนไลน์ ไหนๆ ก็ต้องเรียนผ่านออนไลน์อยู่แล้ว เขาจ้างครูที่อินเดียที่เก่งเลขมาสอนเลย

คำว่าโลกไร้พรมแดนใช้ได้จริงๆ แล้วตอนนี้ ทุกองค์กรต้องเตรียมความพร้อมและมองไปข้างหน้าตลอดเวลา คุณหยุดไม่ได้ เพราะถ้าคุณหยุด คนอื่นก็แซงคุณ 

ถ้าวันนี้ ธุรกิจของเรายังปรับให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ คนทำงานยังอยู่ในคุ้นเคยกับวิธีการทำงานเก่าๆ วิธีคิดแบบเดิม ประเทศข้างบ้านเราเขาพูดได้หลายภาษา คนของเขาใช้เทคโนโลยีเก่งเหมือนดีดนิ้ว สุดท้ายลูกค้าก็ไปที่โน่น

แม้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะอยู่มานาน 69 ปี เราก็ต้องปรับ เราต้องปรับวิธีการขาย เราต้องปรับวิธีการให้บริการลูกค้า ถ้าไม่เปลี่ยน เราก็อยู่ไม่ได้

เวลาคุณเลือกคนมาทำหน้าที่เป็นผู้นำ ดูจากอะไรบ้าง

ปฐมา : ผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติสามข้อ ข้อแรกคือ ปรับเปลี่ยนได้ไว (Agile) ตื่นเช้าขึ้นมาไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่เราต้องพร้อม เราต้องพร้อมที่จะบอกว่าวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องพร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเข้ามา 

ข้อสองคือ You know who to choose to lead. เราเลือกคนให้มาเป็นผู้นำจากจุดแข็งของเขา และข้อสาม พร้อมที่จะลองผิดลองถูก ไม่ใช่เฉพาะตัวเองคนเดียว แต่ทุกคนในทีมต้องพร้อมเรียนรู้จากความผิดพลาด คุณสุรฤทธิ์และคุณรัชนีกรคือคนที่บอกว่า ไม่เป็นไร ลองดู ผิดพลาดเป็นครูและกลับขึ้นมาใหม่ เราทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะสั่งงานไปแล้วรีวิวกลับมาไม่ได้ โลกมันไปข้างหน้าแล้ว 

เวลาเจอสถานการณ์คับขัน ผู้นำที่โดดเด่นจะเกิดขึ้นมาเสมอ วันนี้เลือกคุณสุรฤทธิ์มาบริหารทีมที่ไม่เคยมีมาก่อนเพราะความเชื่อมั่น ถ้าเราบอกว่าเป้าหมายขององค์กรในวันนี้คืออะไร คนคนนี้คือผู้นำที่พร้อมจะกระโดดและทุ่มเทไปด้วยกัน ถามว่าทำไมคุณรัชนีกรมาอยู่ตรงนี้ เขาคือคนที่ต้องไปสร้างคอมมูนิตี้ต่อ คนที่พูดภาษาเดียวกับลูกค้า และมีความเข้าใจผู้คน

คุณปลูกฝังวัฒนธรรม ‘พร้อมลองผิดลองถูก’ ในทีมยังไง

ปฐมา : เมื่อก่อนคนกลัวความผิดพลาด แต่วัฒนธรรมของไอบีเอ็ม ประเทศไทย วันนี้ You can make mistakes. แต่ต้องเรียนรู้จากมัน และคราวหน้าต้องไม่ผิดอีก เราต้องกระตุ้นให้เขาคิด ให้เขาทำ ให้เขาเฟล แล้วค่อยเรียนรู้ เฟลบ่อย แต่เขาเรียน และทุกครั้งที่เขาเรียนคือ การที่ลูกค้าหรือคู่ค้าได้ประโยชน์ ถ้าเรามองแบบนั้น การขับเคลื่อนในองค์กรก็จะเป็นแบบนั้น และคนในองค์กรก็จะคิดแบบเดียวกัน

สามแม่ทัพ IBM Thailand กับแนวคิดบริหารในการพาองค์กรก้าวสู่ Digital Transformation ได้สำเร็จ

เวลาทีมทำอะไรผิดพลาด คุณจะถามอะไรเป็นอันดับแรก

ปฐมา : ปกติเวลามีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราจะมีประชุมที่เรียกว่า Post Mortem เราจะถามว่า เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วถ้ามองย้อนกลับไปคุณจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นยังไง

ในองค์กรทุกคนมุ่งแต่ไปข้างหน้าอย่างเดียวจนลืมย้อนมองกลับมาข้างหลัง การทำงานของเราจึงมีการย้อนดูตลอดเวลา แต่ไม่ใช่จมอยู่กับอดีตจนไปต่อไม่ได้ แต่มองกลับไปเพื่อเรียนรู้ ถ้าเราทำดีแล้ว จะทำยังไงให้ดีขึ้น ถ้าเราผิดพลาด เราเรียนรู้อะไรจากมัน หลายครั้งเราลืมเพราะยุ่งมากจนไม่มีเวลากลับมาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เราใช้คำว่า ‘ดีขึ้น’ ทุกครั้งที่ทีมเกิดการเรียนรู้ เกิดการทำงานร่วมกัน มีวัฒนธรรมที่ฟังกันมากขึ้น ไม่ใช่ฟังเราคนเดียว แต่เราต้องฟังซึ่งกันและกัน 

การทำงานจะครบถ้วนได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดประกอบด้วย 3 Ds เราต้องมีการ Discuss (หารือ) เราต้องมีการ Debate (โต้เถียง) และ Decide (ตัดสินใจ) ร่วมกัน เราต้องคุยกัน เปิดใจ ถ้าไม่ชอบบอกตรงนี้เลย ไม่ชอบเพราะอะไร หรือมีตรงไหนที่ปรับปรุงได้ หลังจากที่ตัดสินใจร่วมกันแล้ว ถ้าพลาดคือทั้งทีม และจะไม่มีการชี้นิ้วหาคนผิดหลังจากนั้น 

คุณผ่านการทำงานกับผู้บริหารระดับโลกจากตอนทำงานอยู่ Microsoft หลายคน แนวทางในการทำงานที่เอามาปรับใช้กับทีมของตัวเองคืออะไร

ปฐมา : วันนี้เรามักจะบอกทีมว่า เราไม่มีเวลาที่จะมาคิดอะไรนานๆ อีกแล้ว โลกมันขับเคลื่อนไปข้างหน้าเยอะมาก ตอนที่เราเข้ามาทำงานที่นี่ ซีอีโอของเราเป็นผู้หญิงด้วยนะคะ (ยิ้ม)

เราเรียนรู้จาก Top Leaders มีห้าคนที่เป็น Role Model ตั้งแต่ บิล เกตส์, สตีฟ บัลเมอร์ และสัตยา นาเดลลา อันนั้นคือโลกแรกของเรา ถัดมาคือช่วงของ จินนี โรเม็ตตี (Ginni Rometty) อดีตซีอีโอของ IBM และ อาร์วินด์ กฤษณะ (Arvind Krishna) เป็นซีอีโอคนปัจจุบันด้วย สิ่งหนึ่งที่ผู้นำเหล่านี้มีเหมือนกันคือ Conviction หรือความเชื่อมั่น เขาสอนให้เห็นว่าทุกครั้งที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า เขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำ

วันที่จินนีตัดสินใจซื้อบริษัท Red Hat แพงมากนะ ทุกคนถามว่าคุ้มไหม แต่เขาเชื่อมั่น เขาเห็นโอกาสที่ไอบีเอ็มจะขึ้นนำตลาด Hybrid Cloud มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ Hybrid Cloud เป็นเส้นทางที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องเลือกในที่สุดเพราะสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เขาเชื่อมั่นว่าเราจะเป็นเบอร์หนึ่งด้าน Hybrid Cloud และ AI

ข้อที่สอง ผู้นำเหล่านี้มองว่าการแข่งขันทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ วันนี้ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้น เราอาจจะแข่งกันในบางเวที เช่นเดียวกัน เราก็สร้างพันธมิตรได้ อย่างไอบีเอ็มยุคนี้ เราไปจับมือกับคู่ค้าหรือแนวร่วมเยอะมาก Ecosystem สำคัญที่สุดในยุคนี้

ข้อที่สาม ข้อนี้คิดให้สดๆ (หัวเราะ) ทั้งห้าลีดเดอร์ เขาพร้อมที่จะเลือกผู้นำเข้ามานำทีม ใครเหมาะที่จะมาทำตรงไหน เราพร้อมที่จะเปลี่ยน ลองนึกภาพว่าวันนี้ทุกอย่างถูกถ่ายทอดลงมา เขากล้ามากที่จ้างตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เป็นคนนอกอย่างเรา แต่เขาเลือกคนที่พร้อมจะเข้ามาทำงาน ในร้อยเก้าปี ไอบีเอ็มผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เช่นเดียวกัน เขาพร้อมที่จะสละตำแหน่ง จินนีส่งไม้ต่อให้อาร์วินด์ หรือบิลซึ่งเป็นคนก่อตั้ง ก็ส่งต่อให้สตีฟ สตีฟบอกว่าวันนี้ต้องส่งต่อให้สัตยาแล้ว ทุกคนเลือก The right leader at the right time. และข้อสำคัญ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

เราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เราโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ มี Role Model

มันไม่ใช่เวทีสำหรับคนคนเดียวอีกต่อไป

ปฐมา :  ผู้นำต้องหาคนให้ถูก ให้งานคนให้เป็น เราอยู่ในวงการไอทีมาสามสิบกว่าปี จากที่เคยเห็นผ่าน Global Lens วันนี้กลับมาประเทศไทยหลังจากไม่ได้อยู่นานยี่สิบกว่าปี แม้จะไม่ได้คุ้นเคยกับชีวิต ไม่ได้อยู่ไอบีเอ็มมาสิบห้าหรือยี่สิบห้าปี แต่มุมมองที่เรานำเข้ามาคือ Lead by Example เราต้องการวัฒนธรรมที่ทีมจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า “ไม่เห็นด้วยกับพี่เจี๊ยบนะ” เรื่องนี้สำคัญมากๆ เพราะองค์กรที่ผู้นำถูกอย่างเดียวมันไปข้างหน้าไม่ได้หรอก เราไม่ต้องการผู้ตาม เราต้องการผู้นำ เพราะฉะนั้น คนคนนั้นจะต้องนำ

เราให้โอกาสคนที่จะโตโดยดูจากความสนใจและความสามารถ หน้าที่ของเราคือบอกว่าต้องเปลี่ยนอะไร (What) ทำไมถึงต้องเปลี่ยน (Why) หน้าที่ผู้นำอย่างสองคนนี้และทีมคือหาวิธีการ (How) และเราจะไม่ไปชี้นำ How ของเขา คุณสุรฤทธิ์หรือคุณรัชนีกรมีประชุมกับทีม เราไม่เคยไปนั่งควบคุม เรามอบอำนาจให้เขาแล้ว และนั่นคือเวทีของเขา

ดังนั้น แม่ทัพทางเทคโนโลยีจริงๆ คือสองคนนี้ เราเป็นแค่หางเสือที่จะคอยบอกว่าเขาไปถูกแนวทางหรือเปล่า คนที่เป็นแม่ทัพจริงๆ จะต้องบอกได้ว่าเขาจะพาทีมไปสู่จุดนั้นอย่างไร องค์กรมีแม่ทัพได้หลายคนนะ ไม่ใช่ One man / Woman Show อีกต่อไป

Questions Answered by Leaders of IBM Thailand

1. แอปพลิเคชันที่ใช้บ่อยที่สุดตอนนี้คืออะไร

ปฐมา : Slack พออยู่ในองค์กร เครื่องมือที่ใช้ต้องมีความปลอดภัย เพราะข้อมูลที่จะโพสต์บางครั้ง Confidential มีความสำคัญ

สุรฤทธิ์ : Webex เป็นแอปฯ ประชุมทางไกลที่ปลอดภัยมาก 

รัชนีกร : Clubhouse ชอบเพราะมีการถกเถียงเยอะ ชอบฟังเรื่องทิศทางของเทคโนโลยีต่างๆ 

2. เทคโนโลยีในโลกที่ตื่นเต้นที่สุดที่ได้เห็นคืออะไร

ปฐมา : Blockchain เพราะมันมาแก้ปัญหาโลกแตกหลายอย่าง โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ก่อนคนรู้จักเทคโนโลยีนี้จาก Cryptocurrency แต่วันนี้สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ มีการนำ Blockchain มาใช้ในธุรกรรม แบงก์ชาติเอามาซื้อขายพันธบัตร มีการใช้แทนหนังสือค้ำประกัน หรือใช้ในการขนส่ง Supply Chain การทำพาสปอร์ตวัคซีน

สุรฤทธิ์ : Quantum Computing ตอนนี้ IBM Research เอา Quantum Physics มาอยู่บน Cloud ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้เกิดเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริง วันนี้มันแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปแก้ไม่ได้หรือใช้เวลานานมาก แต่เทคโนโลยีนี้แก้ได้ภายในเสี้ยวเวลา 

รัชนีกร : Hybrid Cloud กับ AI เพราะเป็นกุญแจของ Digital Transformation ในวันนี้ และยิ่งเมื่อไหร่ที่สองเทคโนโลยีนี้ขึ้นไปทำงานกับ Quantum Computing เราจะแก้ปัญหาได้ภายในวินาที ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาอยู่ วันนี้ทุกคนต้องเริ่มศึกษาแล้วว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจาก Quantum

3. หนังสือที่อยากแนะนำ

สุรฤทธิ์ : Mindset ของ Carol S. Dweck ได้บทเรียนเยอะจากเล่มนี้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนมีแรงต้าน บางครั้งถ้าเราทำอะไรที่ดีอยู่แล้ว พอต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เราก็จะบอกว่าเราเก่งเรื่องนี้ ขอทำต่อได้ไหม แต่ถ้าคุณจะโต คุณต้องกล้ารับความท้าทายใหม่ๆ 

รัชนีกร : จริงๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่มีเล่มหนึ่งที่ชอบมาก คือ วิถีแห่งโนบิตะ : ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน ของ Yokoyama Yasuyuki คือทุกคนจะมองว่าโนบิตะขี้แพ้ แต่สุดท้ายเค้าได้ทุกอย่างที่เค้าฝันไว้ เพราะเค้าพยายาม โฟกัส ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง ไม่เคยยอมแพ้ เขาทำโดยไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า แต่เค้าไม่เคยหยุด พอได้มาทำงานตำแหน่งนี้ก็เอามาปรับใช้กับตัวเองหลายอย่าง แต่จริงๆ จะอ่านเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ (หัวเราะ)

ปฐมา : เราชอบอ่านหนังสือมาก ชอบซื้อหนังสือมาก ถ้าไม่มีเวลาต้องซื้อไว้ก่อน หนึ่งในเล่มโปรดคือ Grit เขียนโดย Angela Duckworth ในวันที่แต่ละคนมีโลกของตัวเอง เขาไปสัมภาษณ์ซีอีโอ ทุกคนมีความกล้าในตัวเอง แล้วก็เอาสิ่งนี้มาเขียน ถ้าอ่านเล่มนี้จบ เราจะไม่คิดว่าความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่ติดตัวมาอยู่แล้ว แต่มันฝึกกันได้

4. ถ้าเปรียบเป็นสี แนวทางการบริหารของคุณเป็นสีอะไร

รัชนีกร : สีเทา เราไม่มองโลกเป็นขาวหรือดำ เราจะไม่ตอบ No แต่จะขอลองดูก่อน มันอาจจะทำได้

สุรฤทธิ์ : คิดว่าสีเขียว แต่ไม่รู้ว่าสีเขียวหมายถึงอะไรนะ สำหรับผมมันคือการเปิดกว้าง เปิดโอกาส

ปฐมา : เราชอบสีน้ำเงิน น้ำเงินม่วง ม่วงคราม มองว่ามันคือสีแห่งความหวัง หลายคนบอกว่าเรามองโลกในแง่ดี ถ้าเปิดตู้เสื้อผ้าจะมีเสื้อผ้าสีนี้เยอะมากๆ 

5. เวลาคุณภาพของแต่ละคนเป็นยังไง

ปฐมา : เราชอบเล่นกับสองคนตายาย คุณพ่ออายุแปดสิบสาม คุณแม่เจ็ดสิบหก ความสุขของเราคือได้มีเวลาพาเขาไปทานของอร่อยๆ มีเวลาเล่นแบตมินตันกับเขา ใช้เวลากับเขา และนั่นคือสาเหตุที่เรากลับมาอยู่ประเทศไทย

สุรฤทธิ์ : ผมชอบวิ่งระยะไกล ตอนเริ่มใหม่ๆ ก็จะได้ Pace ระดับหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่เราไป อีกหนึ่งร้อยเมตรที่ก้าวไปคือการเอาชนะลิมิตของตัวเอง มันสนุกตรงนี้

รัชนีกร : เราชอบวิ่งเทรล มันเสี่ยงดี เมื่อก่อนก็วิ่งถนน แต่พอวิ่งเทรลเราจะคาดเดาเส้นทางไม่ออก เราไม่รู้หรอกว่าทางข้างหน้าจะเจออะไร ทางขึ้นเราคิดว่าแค่นี้ ปรากฏมันสาหัสกว่านั้นเยอะ ถ้าอากาศเปลี่ยนฝนตกอาจจะลงไม่ได้ด้วยซ้ำ มันสนุก กลับมาทุกครั้งจะบอกกับตัวเองว่าไม่มาแล้วๆ แต่ก็ไปอีกทุกครั้ง

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล