เคยไหม เล่นโทรศัพท์แล้ว แอปพลิเคชันค้าง บางครั้งล่ม ไม่ก็ขึ้นอัปเดตบ่อย

เคยไหม เวลาคุยกับเพื่อนเรื่องอาหาร โฆษณาอาหารก็ขึ้นมาทันใจเหมือนนั่งฟังอยู่ในห้องเดียวกัน

ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน การจัดการข้อมูลหลังบ้าน ระบบรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงความร่วมมือทางธุรกิจ และการจัดการความยั่งยืนในองค์กร

ฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัวและยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าคุณประสบปัญหาด้านบน รับรองว่าเรื่องนี้ไม่ไกลอย่างที่คิด ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจับตาในปี 2023 เพื่อเตรียมปรับตัวและเตรียมตัวให้ทันโลกสากล

ครั้งนี้ The Cloud มาหาคำตอบและความเชื่อมโยงผ่านบทสนทนากับ สวัสดิ์ อัศดารณ Managing Director ของ IBM ประเทศไทย และ Managing Partner ของ IBM Consulting เพื่ออัปเดต 5 เทรนด์น่าสนใจที่อยากให้คนรู้จักก่อนก้าวไปสู่ปีใหม่อย่างเป็นทางการ

IBM เปิด 5 เทรนด์ปี 2023 เมื่อข้อมูลหลังบ้าน ระบบความปลอดภัย และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

2022

ปีแห่งการ ‘เร่ง’ การเติบโตของการใช้ดิจิทัลในประเทศไทย

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการและความตื่นตัวของผู้คน แต่ไม่ใช่ทุกแอปฯ ที่เสถียร ปราศจากการล่ม และไม่ใช่ทุกคนที่อ้าแขนรับสิ่งใหม่

ผู้ใหญ่ในหลายครอบครัวก็เช่นกัน ข้อจำกัดด้านอายุส่งผลต่อศักยภาพของสายตา ไหนจะความกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหลและความลำบากในการเรียนรู้ แต่หลังจากได้ลอง ปู่ย่ากลับซื้อของออนไลน์ไม่หยุด ใครจะคิดว่าจะเกิดสิ่งนี้

เหมือนที่เราไม่เคยคิดว่า ชีวิตหนึ่ง พนักงานทั้งหมดจะถูกบอกให้ Work from Home และนักเรียนไทยจะได้เรียนหนังสือออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นการทลายกำแพง ‘อย่างรุนแรง’ และเป็นการเปิดโอกาสครั้งใหญ่ให้ทุกวงการ

IBM เปิด 5 เทรนด์ปี 2023 เมื่อข้อมูลหลังบ้าน ระบบความปลอดภัย และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

2023

ปีแห่งการ ‘ตอบสนอง’ ตัวเร่ง

ปี 2022 หลายองค์กรทำงานแบบเผชิญหน้า ต้องพุ่งชนปัญหา แต่ปีถัดไปจะเป็นการทำงานอย่างมีแบบแผน และต้องทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

สวัสดิ์ยกตัวอย่างว่า สมัยก่อนเมื่อไปธนาคาร ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในธนาคารนับเป็นหนึ่งครั้ง เราคาดการณ์ได้ว่าธุรกรรมจะเกิดขึ้นเยอะช่วงปลายเดือนเนื่องจากมีการจ่ายเงินเดือน แต่ตอนนี้ ธุรกรรมเกิดตามความต้องการนับไม่ถ้วนจนคาดการณ์ไม่ได้ แม้กระทั่งโปรโมชัน 11.11 หรือ 12.12 ก็ทำให้เงินสะพัดมากกว่าที่คิด

“เมื่อก่อนเหมือนน้ำขึ้นน้ำลงที่พอทำนายได้ แต่ตอนนี้มันคือน้ำท่วมหลังบ้าน ถ้าบริษัทไหนจัดการข้อมูลได้ทันก็มีโอกาสมหาศาล ระบบหลังบ้านติดขัดก็ให้บริการได้ไม่ทันใจ เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับเทรนด์ที่ 1 คือ Automation (การใช้เทคโนโลยีทำงาน) และ AI”

IBM เปิด 5 เทรนด์ปี 2023 เมื่อข้อมูลหลังบ้าน ระบบความปลอดภัย และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

5

Top Tech Trends

01 Pervasive Organization-wide Automation
การเชื่อมกระบวนการหลังบ้านรับโอกาสใหม่

ถึงเวลาในการกลับมาดูหลังบ้านอย่างจริงจังเพื่อปรับกระบวนการ ซึ่งไม่ใช่แค่ย้ายจากงานเอกสารมาสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะถ้ากระบวนการบางส่วนยังซับซ้อน และซ้ำซ้อนหลายขั้นตอนโดยไม่จำเป็น 

ทำไมต้องคงไว้

“เราเอา Customer Journey เป็นที่ตั้ง ถ้าจะทำให้เวิร์กมันต้องสมบูรณ์ทุกระดับ สมมติมี 7 ขั้นตอน ไม่ต้องคงไว้ทั้งหมด อะไรไม่จำเป็นก็ตัดทิ้ง จากนั้นค่อยนำเทคโนโลยีมาจับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง IBM เราใช้ AI ช่วยคำนวณเงินเดือน ช่วงแรกงงมาก แต่เพราะเราจัดการข้อมูลเป็นระบบ และสอน AI จนเก่งจึงใช้งานได้จริง

“ปีหน้าจะถึงเวลาที่องค์กรต้องกลับมาดูเรื่อง Process Reinvention และไม่ใช่การปรับทีละกระบวนการ แต่ต้องดูภาพใหญ่ ปรับทั้งองค์กร Automate เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ลดงานซ้ำ ๆ ที่ใช้ AI ทำแทนได้ และที่สำคัญ ระบบเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน ระบบบัญชี การขาย การตลาด ต้องเชื่อมกัน ต้องมีการ Governance

“บางคนอาจกดยอมรับให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวด้วยความรีบ ในอดีตเราอ่านสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ตอนนี้รีบกดให้ผ่าน ๆ ไป นั่นแปลว่าข้อมูลของเราไหลเข้าระบบไปแล้ว แต่ถ้าองค์กรไม่รู้จะทำอย่างไรกับข้อมูล มันก็เปลืองที่เก็บเปล่า ๆ เทรนด์ที่ 2 จึงเป็นการจัดการข้อมูลให้เป็นระเบียบและใช้ประโยชน์ได้จริง”

02 AI and Trust on Data 
ข้อมูลหลังบ้านกับการจัดการให้มีประโยชน์

AI ไม่ลา ไม่ป่วย ไม่พัก และไม่งอน มันดูจะเป็นเครื่องมือที่เพอร์เฟกต์ แต่ถึงอย่างนั้น มนุษย์ยังคงต้องสอน และ AI ยังต้องเรียนรู้ เพื่อจัดการข้อมูลอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ 

สวัสดิ์เล่าว่า ข้อมูลในอดีตค่อนข้างเป็น Structured Data และไม่เรียลไทม์ ขณะที่ปัจจุบันเป็นการอัปเดตพฤติกรรมทันที ไม่ว่าจะเราเดินเข้าห้าง เปิดแผนที่นำทาง หรือค้นหาข้อมูลในโทรศัพท์ บางทีก็ถูกบันทึกอายุหรือความชอบโดยไม่รู้ตัว 

การเก็บข้อมูลเหล่านี้ไม่ว่าจะธุรกิจใด ร้านค้าปลีกหรือร้านค้าส่งก็เปลี่ยนมันเป็นแคมเปญหรือโปรโมชัน เพื่อตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดได้

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่มี Bias ไม่มี Bad Data เราอาจเคยได้ยินกรณีที่ AI แนะนำให้ปล่อยกู้ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือเลือกคนจากมหาวิทยาลัย A มากกว่าที่อื่น แล้วลองคิดต่อว่า หากหนึ่งใน resume ที่ไม่ได้รับเลือกนั้นเป็นของเรา หรือคนที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อคือเรา

“กลับมาในมุมองค์กร ถ้าเราเชื่อข้อมูลที่เรามีไม่ได้ แล้วถ้าข้อมูลนั้นคือตัวแปรการตัดสินใจสำคัญที่อาจพลิกอนาคตบริษัท สิ่งที่องค์กรต้องทำคือหาจุดบอดของข้อมูลให้เจอหรือ Data Observability เพื่อให้ AI ประมวลผลบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ก็จะแม่นยำไปด้วย”

IBM เปิด 5 เทรนด์ปี 2023 เมื่อข้อมูลหลังบ้าน ระบบความปลอดภัย และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

03 Embedded and Connected Security
ความปลอดภัยที่ต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีและคน

“แก๊งคอลเซนเตอร์โทรมา ข้อมูลผู้บริโภครั่ว ระดับองค์กรก็มีโอกาสโดนโจมตีเหมือนกัน วันนี้เอเชียเป็นเป้าโจมตีทางไซเบอร์อันดับหนึ่ง ทุกที่จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

แต่ระบบหลังบ้านขององค์กรที่ไม่เชื่อมต่อ คือช่องโหว่ของการโจมตี ที่ยิ่งนับวันยิ่งโตเท่าทวี ทางเดียวที่ทำได้คือใช้เทคโนโลยีช่วยมอนิเตอร์ จับแพทเทิร์น ชูธงแจ้งเมื่อพบความผิดปกติ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ภาพการณ์และหาแนวทางรับมือต่อไป

“เรื่อง Cybersecurity คือเรื่องที่ต้องอยู่ในจิตสำนึกของทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น HR Marketing หรือฝ่ายขาย ทุกคนต้องเรียน ต้องรู้ว่าเมลแบบไหนคือสแปม เจอแล้วต้องทำยังไง หรือหากโดนโจมตี สิ่งที่ต้องทำอันดับ 1, 2, 3 คืออะไร เพราะยิ่งแก้ได้เร็ว หยุดได้เร็ว ยิ่งสูญเสียน้อย”

วันนี้ปัญหาคือเราขาดบุคลากรที่ดูแล Cybersecurity ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เป็นทั่วโลก องค์กรใหญ่เปิดรับบุคลากรใหม่หลายร้อยตำแหน่ง แต่พวกเขาจะหาบุคลากรจำนวนมากจากไหน เรื่องนี้เชื่อมไปถึงการศึกษา ซึ่ง IBM ได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ให้พนักงานอยู่แล้ว พวกเขาจึงขยายผลความร่วมมือไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย โดยเพิ่มช่องทางในการสร้างคนรุ่นใหม่เข้าวงการ หนึ่งในนั้นคือหลักสูตร Global University Programs

“คำว่า ความยั่งยืน ในทางเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วและเปลี่ยนเรื่อย ๆ จึงต้องคอยติดตามอยู่เสมอ บ้านเราเป็น Fast Adopter ที่รับเร็ว ไม่ว่าจะเป็น Blockchain Cryptocurrency NFT หรือ Quantum Computing ความต้องการด้านนี้จึงมาแน่นอนในอนาคตทั้งในแง่เทคโนโลยีและคน”

IBM เปิด 5 เทรนด์ปี 2023 เมื่อข้อมูลหลังบ้าน ระบบความปลอดภัย และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

04 Partnership and Ecosystem
ความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคต

เมื่อเข้าสู่โลกแห่งความเร็ว องค์กรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นใหม่ หรือทำด้วยตัวเอง แต่วันนี้คือโลกของการพาร์ทเนอร์กัน โลกของ Business Model Reinvention

เช่นเดียวกับระบบไอทีที่รองรับ วันนี้องค์กรไม่จำเป็นต้องสร้างโปรแกรมขึ้นใหม่เสมอไป แต่ใช้การเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นที่มีโปรแกรมหรือดำเนินการอยู่แล้วผ่านระบบ API (Application Programming Interface) เปรียบเสมือนการนำหัวอะแดปเตอร์ไปเสียบในรางปลั๊กที่มีหลายรู ใครต้องการเซอร์วิสอะไรก็เสียบปลั๊กนั้นได้ทันที

“เมื่อก่อนถ้าต้องการเชื่อมสององค์กรต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ ให้สองทีมคุยกัน ร่วมพัฒนาแอปฯ ต่อเชื่อม ซึ่งใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ สมมติใช้แอปฯ ซื้อของออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธนาคารที่ใช้จ่ายเงินให้เลือกเยอะขึ้น นั่นคือการร่วมมือกันทำ Open API เพื่อรองรับการต่อเชื่อมระหว่างองค์กร 

“ที่เห็นชัดคือการใช้จ่าย การเชื่อม wallet หรือการปล่อยกู้ การกู้เงินซื้อคอนโดอาจใช้เอกสารเยอะ มีหลายขั้นตอน แต่ตอนนี้เหมือนเรามีรางปลั๊กไว้รอ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้เสียบปลั๊กเชื่อมต่อกับธนาคาร หรือแอพรีเทลเองก็เชื่อมต่อกับธนาคารหรือแม้แต่ค่ายมือถือ ปรับตามเทศกาลหรือปัจจัยที่มากระทบได้ทันที นี่คืออีโคซิสเต็ม เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ในอนาคตอาจเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ร่วมมือกันก็ได้”

05 Sustainability Mandate 
ความยั่งยืนกับข้อมูลมหาศาลที่ต้องวัดผลได้

ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพูดเรื่องความยั่งยืนอย่างกว้างขวาง และในอนาคตเรื่องนี้จะกลายเป็นรายงานสากลที่ทุกองค์กรต้องกางให้เห็น 

IBM มีโปรแกรมเก็บสถิติและจัดการข้อมูลหลังบ้านจำนวนมหาศาลให้เป็นระบบระเบียบ ทั้งยังละเอียดชนิดที่เห็นว่า องค์กรใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไหร่ สร้างขยะไปกี่กิโลกรัม ใช้น้ำกี่ลิตร โดย AI ตัวนี้มีชื่อว่า Envizi

“ในอนาคต เราอาจต้องดูว่าอาหารหนึ่งจานสร้างปริมาณคาร์บอนเท่าไหร่ หรืออย่างเราดูภาพยนตร์ผ่านแล็ปท็อปสักเครื่อง ลองเอาวางไว้บนตัก เราจะรู้ได้ว่ามันร้อนมาก นั่นคือพลังงานที่ถูกปล่อยออกมา ดังนั้น Data Center ใหญ่ ๆ ในองค์กรขนาดยักษ์จึงปล่อยความร้อนสูงมาก” เขาเล่าให้เห็นผลกระทบ

IBM ในฐานะองค์กรแนวหน้าของโลกเรื่องคอมพิวเตอร์ทำรายงานสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปีแรกที่สวัสดิ์เข้าทำงานคือปี 1990 ต่อมาในปี 2000 ได้ออกเป้าหมายแรกในการลดคาร์บอน ผ่านไปอีก 10 ปี มีการออกข้อตกลงร่วมกันว่า องค์กรที่ร่วมงานกับ IBM จะต้องมีการเปิดเผยรายงานการปล่อยคาร์บอนด้วย

ส่วนปี 2030 พวกเขามีเป้าหมายใหญ่คือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยใช้เทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยก๊าซในปริมาณที่เท่ากันหรือมากกว่าคาร์บอนที่ปล่อยไป ตั้งเป้าไว้ที่ 350,000 เมตริกตัน หรือน้อยกว่านั้น

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของ IBM ขยับขึ้นทุกปี พร้อมด้วยการพัฒนา Green IT ทั้งในรูปแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ยกตัวอย่าง การวิจัยชิปขนาด 2 นาโนเมตร เพื่อให้การใช้พลังงานใน Data Center ในอนาคตลดน้อยลง ไม่แน่ว่าอีกหน่อย แบตเตอรี่โทรศัพท์อาจใช้ได้นานถึง 4 วัน ด้วยชิปตัวนี้

“IBM ทำงานวิจัย มีเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเยอะมาก ยกตัวอย่าง แบตเตอรี่ที่เราใช้ในปัจจุบันทำจากลิเธียมและนิกเกิล แต่มันมีราคาสูงและเริ่มหายาก ขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังมาและยังต้องการแบตเตอรี่ เราจึงต้องมองไปยังอนาคตที่ไกลกว่าว่า จะหาแร่อะไรมาทดแทนลิเธียมและนิกเกิลได้บ้าง”

5 เทรนด์ปี 2023 โดย 'สวัสดิ์ อัศดารณ' จาก IBM ไขข้อข้องใจทำไมข้อมูลหลังบ้าน ความปลอดภัย และความยั่งยืน ถึงเกี่ยวกับเรา

ข้อมูลจาก International Energy Agency ประมาณการณ์ว่า ทุกวันนี้ 1 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั่วโลกถูกใช้ไปกับ Data Center และภายในปี 2025 Data Center จะใช้ 1 ใน 5 ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก

ส่วน United Nations Environment Programme ประเมินว่าอาคารต่าง ๆ ใช้พลังงาน 40 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั่วโลก 25 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั่วโลก และ 40 เปอร์เซ็นต์ของทรัพยากรโลก ซึ่งนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ฟังจากสถิติดังกล่าว สวัสดิ์บอกทันทีว่า อีกหน่อยเรื่องเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องของการตลาด การปลูกต้นไม้ หรือการประหยัดไฟอีกต่อไป แต่เป็นความจริงจัง กลายเป็นการแข่งขันที่ผู้บริโภคต้องดูฉลากก่อนซื้อสินค้าว่า โรงงานปล่อยคาร์บอนไปมากน้อยแค่ไหน หากประเทศไทยต้องการทำงานกับต่างชาติคงหลีกหนีข้อตกลงเรื่องนี้ไม่ได้

การเตรียมตัวเดินทางสู่อนาคต

สวัสดิ์บอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินทางสู่อนาคตผ่านสิ่งสำคัญ 5 อย่าง หรือ 5S คือ Speed, Smart, Simplify, Scale และ Security ซึ่งเกี่ยวพันตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการและการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์

(Speed) เมื่อคนใจร้อน แอปฯ โหลดนาน องค์กรจึงต้องหันมาจัดการข้อมูลหลังบ้านใหม่ ลดกระบวนการที่ซับซ้อน (Simplify) และร่วมมือกับองค์กรอื่นที่ทำงานด้านนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ

ตัวอย่างคือ การปล่อยเงินกู้ที่ในอดีตต้องผ่านหลายขั้นตอน มีการให้ Credit Scoring ซึ่งช่วยแจกแจงข้อมูลให้เห็นว่า สถานะทางบ้านของผู้กู้เป็นอย่างไร ทำงานอะไร รายได้เท่าไหร่ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณเงินกู้ที่ควรปล่อยให้ ขณะที่ปัจจุบัน มีการนำ AI เข้ามาทำ Cognitive Scoring จึงรู้ผลลัพธ์ได้เร็วกว่าเดิม (Smart)

“สำหรับเด็กที่โตมาพร้อมเทคโนโลยี เป็น Digital Native ก็ต้องทำความเข้าใจหลังบ้านสักหน่อย เพื่อให้ตามทันและเกิดความระมัดระวัง ระวังทั้งตนเองและระวังเผื่อพ่อแม่

“ส่วนคนเจน Y, X และ Baby Boomer ก็ต้องปรับตัว อัปสกิลล์ เพื่อใช้สิ่งเทคโนโลยีอย่างเข้าใจ เรื่องนี้ควรเริ่มต้นที่บ้าน พอมาเจอที่ทำงาน ซึ่งเป็นแบบไฮบริดมีคนหลายช่วงวัย สุดท้ายเราจะเชื่อมเข้าหากันได้อย่างราบรื่น เพราะยังไงโลกก็ยังต้องอยู่ด้วยคนหลากหลายเจนเนอเรชันแบบนี้ต่อไป” สวัสดิ์ทิ้งท้าย

เทรนด์เหล่านี้มีไว้ให้องค์กรใหญ่ดูกระแสโลกและปรับตัว แต่ในอีกทางก็มีไว้ให้ผู้บริโภคเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโทรศัพท์และชีวิตของพวกท่านเช่นกัน

อย่างน้อยหลังอ่านบทความนี้จบ ท่านอาจทำใจให้สุขุมและอ่านข้อความขอความยินยอมเข้าถึงข้อมูลอย่างถี่ถ้วนกว่านี้

5 เทรนด์ปี 2023 โดย 'สวัสดิ์ อัศดารณ' จาก IBM ไขข้อข้องใจทำไมข้อมูลหลังบ้าน ความปลอดภัย และความยั่งยืน ถึงเกี่ยวกับเรา

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ