The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

I SEE U Contemplative Care คืออาสาสมัครกลุ่มเล็กที่ดำเนินภารกิจออกเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และชุมชนต่างๆ มานานกว่า 5 ปี

บนด้ายเส้นบางคั่นระหว่างความเป็นและตายที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าอภิรมย์ ทำไมอาสาสมัครกลุ่มนี้จึงถือกำเนิดขึ้น และปฏิบัติภารกิจแข็งขันอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อาการป่วยไข้ที่มากกว่าแค่ร่างกาย แต่ลึกลงไปยังจิตใจ เมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายรู้ตัวว่าลมหายใจกำลังจะสิ้นสุดลง คนรอบตัวควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยจากโลกนี้ไปอย่างสุขสงบ

I SEE U จึงรับหน้าที่เป็นอาสาข้างเตียงอยู่เคียงข้างผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต

“คำพูดที่เราคิดว่าเสริมกำลังใจอย่าง ‘เข้มแข็งนะ’ กลับเป็นคำเสียดแทงจิตใจ เพราะเขารู้ว่าตัวเองกำลังจะพ่ายแพ้ สิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการอาจเป็นเพียงสัมผัสที่อ่อนโยน ตั้งคำถามชวนให้ผู้ป่วยระลึกถึงความภาคภูมิใจในชีวิต มันจะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้ผ่อนคลายและจากไปอย่างสงบ” คุณชัย-อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม I SEE U Contemplative Care เอ่ยขึ้นในช่วงหนึ่งของบทสนทนา

จากความตั้งใจแรกของเหล่าอาสาสมัครข้างเตียงในการไปให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย สู่การขัดเกลา ฝึกสติให้ตนเองอยู่กับปัจจุบันและตระหนักรู้ว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะไม่ว่าจะเดินอยู่บนเส้นทางใด ถนนแห่งชีวิตทุกสายล้วนสิ้นสุดที่ความตาย 

01

เมื่อมองเห็นคุณ ฉันมองเห็นตัวเอง

“หลายปีก่อน ช่วงที่กำลังดูแลคุณพ่อ ตอนนั้นท่านอายุประมาณหนึ่งร้อยปี เรามีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายธรรมของพระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน ที่พูดถึงธรรมะ การทำกรรมฐาน และการเจริญสติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลคนป่วย

“เราได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเรื่องราวก่อนคนๆ หนึ่งจะจากโลกนี้ไป และเราควรมีปฏิสัมพันธ์กับเขาแบบไหน จึงลองนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กับท่านมาดูแลคุณพ่อ และได้ผลอย่างดีเยี่ยมในการจัดการความรู้สึก 

“จากที่เครียดและหดหู่กับอาการเจ็บป่วยของท่าน องค์ความรู้ ‘ธรรมะกับผู้ป่วย’ ช่วยทำให้จิตใจของ Caretaker อย่างเราตั้งอยู่กับความเป็นจริงที่ว่าร่างกายของท่านต้องเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทำให้คุณพ่อได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างเป็นสุข และจากไปอย่างสงบด้วยอายุหนึ่งร้อยสี่ปี” คุณชัยเริ่มเล่า

ในเวลานั้นพระอาจารย์ครรชิตมีโครงการ ‘การส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย’ โดยเดินสายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่ออบรมพระสงฆ์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในโรงพยาบาลและชุมชนให้มีบทบาทเกื้อหนุนกัน ในการดูแลผู้ป่วยอย่างสอดประสานกัน

“ทีมพยาบาลทำหน้าที่ทางการแพทย์ ให้ข้อมูลการรักษา เฝ้าระวังอาการ ในขณะที่อสม. ช่วยสนับสนุนการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นคนในชุมชนด้วยกัน ส่วนใหญ่จะสนิดชิดเชื้อกับผู้ป่วย ข้อมูลจากความใกล้ชิดนี้ทำให้เยียวยาผู้ป่วยได้ตรงจุดมากขึ้น และพระสงฆ์ก็เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้เชื่อมโยงชุมชนทั้งหมดด้วยกัน

“เรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่ามาก จึงปวารณาตัวกับพระอาจารย์ครรชิตว่าจะช่วยในส่วนนี้ พยายามศึกษาเรียนรู้งาน ช่วยท่านจัดอบรมตามจังหวัดต่างๆ จนวันหนึ่งทางสวนโมกข์กรุงเทพ จัดงานจิตตนครหรือที่คนเรียกกันว่างานวัดลอยฟ้าที่สยามพารากอน มีภาคีเกี่ยวกับการเจริญสติทุกๆ เครือข่ายไปออกบูท ให้คนเมืองได้มาช้อปปิ้งเรื่องทางธรรม และโครงการของเราก็จะไปร่วมออกบูทด้วย

“แต่เนื่องจากชื่อโครงการดั้งเดิมของพระอาจารย์ยาวมาก เกรงว่าชื่อจะเกินป้ายบูท (ยิ้ม) จึงเปลี่ยนเพื่อให้สั้นกระชับและจำง่ายขึ้นโดยใช้ชื่อ I SEE U ที่สื่อถึงเป้าหมายในการเข้าไปหาผู้ป่วย เพื่อรับรู้ รับฟังความรู้สึกของพวกเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ 

“ในขณะเดียวกันก็สื่อถึงประโยค I See You In Me ซึ่งหมายถึงการมองเห็นตัวเองด้วย เพราะการเจริญสติเพื่อดูแลผู้ป่วยนั้น จะทำให้เราได้หันกลับมาพิจารณาตัวเพื่อเยียวยารักษาใจตนเองเช่นกัน”

คุณชัยกล่าวว่า I SEE U ยังพ้องเสียงกับ ICU ซึ่งหมายถึงห้องผู้ป่วยวิกฤติ ที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนไม่น้อยต้องเคยผ่านเข้าไป

02

อาสาสมัครแบบชนบทในบริบทคนเมือง

งานจิตตนครในครั้งนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่คนมาเยี่ยมชมและอาสาสมัครที่มาช่วยงาน 

“แม้จะจัดในกรุงเทพฯ แต่ทีมงานเป็นอาสาสมัครจากต่างจังหวัดแทบทั้งหมด เพราะเขายังมีความกลมเกลียวแบบชุมชนอยู่ ในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลและผู้ป่วยมากมายไม่ต่างจากต่างจังหวัด ถ้าเราจะทำโครงการ I SEE U ในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีอสม. ไม่มีบริบทของชุมชนหลงเหลืออยู่แล้ว จะทำได้ไหม

“จังหวะนั้นทางธนาคารจิตอาสา เปิดอบรมการเป็นกระบวนกรจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Transformative Experience Provider) พอดี จึงไปเข้าอบรมหลักสูตรนี้และเรียนรู้มิติการทำงานจิตอาสา ที่มากกว่าการไปช่วยเหลือคนอื่น แต่เป็นการทำงานข้างในตัวเองและเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้อย่างถูกต้อง”

คุณชัยเล่าว่า หลังเรียนรู้กระบวนการและชุดเครื่องมือในการจัดกิจกรรมจากธนาคารจิตอาสา ก็ลงมือสร้างทีม I SEE U กรุงเทพฯ โดยเปิดรับสมัครคนจากหลากหลายช่วงอายุและอาชีพ เพื่อมาร่วมเวิร์กช็อปที่ผสมผสานองค์ความรู้ ‘ธรรมะกับผู้ป่วย’ ของพระอาจารย์ครรชิตเข้าไปด้วย

อาสาสมัครที่มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับ I SEE U จะได้เรียนรู้การเยียวยาจิตใจผู้ป่วยด้วยวิถีพุทธ โดยใช้กระบวนการอยู่กับปัจจุบันขณะมาดูแลผู้ป่วย 

ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับตัวเอง ทำความเข้าใจสถานการณ์และจิตในสภาวะต่างๆ ของผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่การรับฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่ตัดสิน การสื่อสารทางใจและการสัมผัสที่อ่อนโยนเพื่อส่งพลังให้ผู้ป่วย ไปจนถึงการสังเกตสภาวะอารมณ์ ปฏิกิริยา สีหน้า แววตา เพื่อรับรู้ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา

ในระหว่างการดูแลผู้ป่วย อาสาสมัครก็จะได้ฝึกสติและขัดเกลาจิตใจตนเองไปด้วย ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก เพราะในชีวิตทุกคนย่อมมีวันที่ต้องเผชิญสถานการณ์นี้ ทั้งกับตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง

“I SEE U พัฒนาไปจากเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้มาก จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจไปให้กำลังใจผู้ป่วย ค่อยๆ เพิ่มมิติของการฝึกขัดเกลาตัวเอง เจริญสติเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณด้วยการปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้า ยกตัวอย่างผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่กำลังเป็นทุกข์ เราจะปฏิสัมพันธ์และพูดคุยกับเขาอย่างไร ให้เขารู้สึกถึงความจริงใจว่าเราเป็นเพื่อนที่ยอมรับเขาได้อย่างแท้จริง ไม่รู้สึกด้อยหรือถูกสงสาร”

คุณชัยอธิบายว่า I SEE U จัดเวิร์กช็อปอบรมอาสาสมัครอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยจัดปีละ 2 ครั้ง รับอาสาสมัครครั้งละ 40 คน เท่ากับปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 10 

“อาสาสมัครของเรามีความหลากหลายมาก บางคนมาเพราะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเต็มแล้ว จึงอยากส่งต่อให้คนอื่น บางคนมาหาสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้ตัวเอง บางคนอายุมากแล้ว จึงมาเป็นอาสาสมัครดูแลคนอื่น เพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวเองสำหรับวันนั้น และอาสาสมัครกลุ่มเล็กของเรา มีตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่นไปจนถึงคุณตาคุณยายเลย” คุณชัยเล่าพร้อมรอยยิ้ม

03

เรื่องราวของหัวใจที่ส่งต่อถึงหัวใจ

ในการออกเยี่ยมผู้ป่วยแต่ละครั้ง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลหรือสถานสงเคราะห์ สิ่งแรกที่เหล่าอาสาสมัครต้องทำ คือเช็กสภาวะอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงตั้งสติเพื่อทบทวนถึงเจตนาในการมาที่นี่ มีอะไรที่ได้เรียนรู้จากเวิร์กช็อปและอยากนำมาช่วยเยียวยาผู้อื่นในวันนี้บ้าง

จากนั้นคุณชัยจะชวนทุกคนทำสมาธิสั้นๆ ประมาณ 3 – 5 นาที เพื่อตกตะกอนความกังวลทั้งหลาย เพราะในการออกเยี่ยม ผู้ป่วยบางคนใกล้เสียชีวิต มีสภาพไม่น่าดู มีสภาวะจิตใจหมดสิ้นความหวัง จึงไม่แปลกที่อาสาสมัครมือใหม่จะกังวลกับบทสนทนาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเหล่านั้น

ในการเป็นอาสาข้างเตียงอยู่เคียงข้างผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต

คุณชัยเล่าว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่อาสาสมัคร I SEE U พึงระลึกคือการเปิดใจให้ว่าง “เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย อาสาสมัครต้องเข้าไปแบบไม่คาดหวัง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อรับฟังและอยู่กับเขาตรงนั้นอย่างเต็มร้อย ผู้ป่วยจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจและปรารถนาดีของคุณ

“คุณต้องสื่อสารด้วยหัวใจ เพราะผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรงบางคนถูกเจาะคอ มีสายระโยงระยางรอบตัว ไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดกับเราได้ แต่ประสาทการรับรู้ส่วนอื่นๆ ของเขายังคงทำงานอยู่ เขารับรู้ทุกอย่าง สัมผัสอ่อนโยน คำพูดที่มาจากหัวใจ แม้เขาจะไม่สามารถตอบสนองในสิ่งที่เขาได้ยินแต่เรารับรู้ความรู้สึกของเขาได้ผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง และน้ำเสียง”

คุณชัยอธิบายว่า คำพูดบางคำอย่าง ‘เข้มแข็งนะ’ หรือ ‘สู้ๆ นะ’ บางครั้งกลับเป็นคำที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ยินแล้วยิ่งหมดกำลังใจ “เพราะเขารู้ตัวว่ากำลังจะพ่ายแพ้ ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องการอาจไม่ใช่คำพูดให้กำลังใจ แต่เป็นใครสักคนที่อยู่ตรงนั้น จับมืออยู่ข้างๆ คอยส่งพลังใจให้เขาจนรู้สึกผ่อนคลายและจากไปอย่างสงบ”

ทุกวันนี้อาสาสมัครกลุ่ม I SEE U รวมตัวกันไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และชุมชนต่างๆ อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง โดยมีสมาชิกนับร้อยคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ

04

การเยียวยาต้องการแค่พื้นที่เล็กๆ

ที่ผ่านมางานอาสาสมัครในโรงพยาบาล จะเป็นไปในรูปแบบของงานอำนวยความสะดวกให้บุคลากรการแพทย์ เช่น ช่วยเข็นรถเข็น ป้อนข้าว เช็ดตัวผู้ป่วย 

“โรงพยาบาลแรกที่ไปในกรุงเทพฯ คือ ตึกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เราก็ไปบอกเขาตรงๆ ว่างานจิตอาสาที่อยากจะทำ คือการมาเป็นเพื่อนคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยเรื้อรังตามเตียง ตอนแรกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ค่อยเข้าใจมิติการดูแลรูปแบบนี้ แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ออกมาดีมาก เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ I SEE U เข้าไปไปปฏิบัติภารกิจที่นั่นได้เป็นประจำทุกสัปดาห์

“เราได้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานด้วยใจในโรงพยาบาลหลายแห่ง พวกเขาเป็นคนตัวเล็กที่ทำงานเยียวยาคนอื่น ในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองแบบเงียบๆ มาตลอด พอได้เจอกับอาสาสมัคร I SEE U เลยเหมือนเจอคนที่คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง เข้าใจสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ กลายเป็นการเสริมพลังให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นด้วย”

คุณชัยเล่าว่าล่าสุด I SEE U จัดทอดผ้าป่าเครื่องมือแพทย์อย่างออกซิเจนเคลื่อนที่และเตียงลมสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่อยากยุติการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อกลับไปใช้ลมหายใจช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้าน 

“การรักษาตัวที่โรงพยาบาลของคนๆ หนึ่ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว บางคนต้องลาออกจากงานมาเฝ้าไข้ และมันเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะยืดยาวไปอีกนานแค่ไหน การมีอุปกรณ์เหล่านี้ยังช่วยลดภาระของโรงพยาบาลในการดูแลคนป่วย ที่ทุกวันนี้ปริมาณผู้ป่วยมีมากเกินกว่าความสามารถที่รองรับได้” 

05

ผู้ชนะที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องชนะ

คุณชัยอธิบายว่า ความเจ็บปวดมีทั้งทางกายและทางใจ ที่ผู้ป่วยดิ้นทุรนทุรายส่วนหนึ่งอาจจะเป็นความเจ็บป่วยจากโรค แต่ส่วนที่มีผลมากๆ คือความเจ็บปวดทางใจ 

เคยมีเคสผู้หญิงคนหนึ่งที่ไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายสิบปี เขาไม่ได้กลับมาเมืองไทยเลยเพราะธุรกิจกำลังประสบความสำเร็จกำลังทำเงินได้มากมาย จนในวัยหกสิบต้นๆ​ เธอตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็ตัดสินใจกลับมารักษาต่อที่เมืองไทย เนื่องจากทางนั้นรักษาต่อไม่ได้แล้ว

“สิ่งที่ผู้ป่วยรายนี้รู้สึกคือความพ่ายแพ้ แม้จะมีเงินแต่ก็ไม่สามารถกู้ชีวิตตัวเองกลับคืนมา หรือทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานได้ ความภาคภูมิใจที่เคยมีมาตลอดชีวิตกลับล้มครืนลง​

ดังนั้นแม้ครอบครัวจะอยากเข้ามาช่วยเหลือให้กำลังใจเขาก็ไม่สามารถทำใจยอมรับได้ เพราะเขาเคยเชื่อว่าเขาจะดูแลตัวเองได้ จัดการทุกอย่างได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้ใครเดือดร้อน

ตอนที่อาสาสมัคร I SEE U ไปถึงหน้าห้อง ICU ปรากฏว่าคนในครอบครัวไม่มีใครอยู่ในห้องกับผู้ป่วยเลย เพราะไม่ว่าใครเข้าไป ก็จะโดนไล่ออกมา 

“อาสาสมัครเข้าไปหา โดยเริ่มจากกระบวนการไปเป็นเพื่อน ใช้โอกาสที่ตัวเองเคยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ถามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยตอนอยู่ที่นั่น ในระหว่างบทสนทนา หากต้องการทำอะไรอาสาสมัครจะขออนุญาตก่อนทุกครั้ง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการพูดคุยถึงเรื่องราวที่เขาภาคภูมิใจ เรื่องที่ทำให้เขาเป็นสุข ปรากฏว่าคุยกันเพลินจนผู้ป่วยลืมความเจ็บปวดของร่างกายไปเลย

“ที่ผู้ป่วยคนนี้รู้สึกสิ้นหวัง เพราะยอมรับไม่ได้กับสภาวะที่ต้องตายไปพร้อมกับความพ่ายแพ้แบบนี้ คุยจนผู้ป่วยเหนื่อย อาสาสมัครจึงให้เขาพักผ่อนและขออนุญาตมาเยี่ยมอีกครั้งวันพรุ่งนี้ เธอก็ตอบตกลง เพราะแม้ร่างกายเหนื่อย แต่ภาพที่เห็นคือผู้ป่วยผ่อนคลายมาก สบายใจเพราะได้พูดคุยกับคนรู้ใจ”

ผู้ป่วยคนนี้จากไปด้วยความสงบสบายในเช้าของอีกวันหนึ่ง เป็นสิ่งสุดท้ายที่คนรอบข้างสามารถทำได้ เพื่อส่งใครสักคนหนึ่งให้ลาจากโลกนี้ไปด้วยความสุข

06

จากหนึ่งภารกิจสู่อีกหนึ่งภารกิจ

คุณชัยเล่าต่อถึงคุณยายคนหนึ่งที่บ้านพักคนชราบ้านบางแคที่มักมีท่าทีกระฟัดกระเฟียด ด่าว่าคนนั้นทีคนนี้ที ครั้งหนึ่งอาสาสมัคร I SEE U ได้คุยกับท่าน ก่อนกลับจึงขอกอดลาและเธอรู้สึกว่าคุณยายกอดตอบแบบไม่เต็มมือ นั่นหมายถึงคุณยายยังไม่เปิดใจทั้งหมด อาสาสมัครจึงถามว่า 

‘กอดคุณยายแล้วรู้สึกเหมือนได้กอดคุณยายของหนูที่จากไปแล้ว คุณยายเคยกอดใครไหม’

คุณยายตอบว่า ‘กอดลูกชาย’ และพรั่งพรูเรื่องลูกชายที่ประสบอุบัติเหตุรถชนจนพิการ และถูกส่งไปอยู่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการพระประแดง ก่อนหน้านี้ลูกชายเคยมาเยี่ยมทุกเดือน แต่หลายเดือนหลังมานี้เงียบหายไป ไม่รู้ยังเป็นหรือตายไปแล้ว

ความกระฟัดกระเฟียดของคุณยายคงมาจากสาเหตุนี้แน่ อาสาสมัคร I SEE U จึงช่วยกันหาเบอร์โทรศัพท์นักสังคมสงเคราะห์ พบว่าลูกชายคุณยายยังมีชีวิตอยู่ จึงแจ้งคุณยาย ท่านดีใจมากและเปลี่ยนสภาวะอารมณ์เป็นคนละคนเลย

“เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะแม้จะพบว่าลูกชายคุณยายยังไม่ตาย แต่ด้วยความพิการทำให้เขามาเยี่ยมแม่ลำบาก อาสาสมัครรู้สึกว่าภารกิจของเขายังไม่เสร็จ จึงไปตามหาลูกชายคุณยายที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการพระประแดง เมื่อพบจึงพูดคุยและถ่ายวิดีโอ จากนั้นนำกลับไปให้คุณยายดูเพื่อยืนยันให้คุณยายสบายใจว่าลูกชายยังมีชีวิตจริง รวมถึงประสานงานกับนักสังคมสงเคราะห์ ให้สองแม่ลูกได้คุยโทรศัพท์กันตามสมควร

“เรื่องก็ยังไม่จบแค่นี้” คุณชัยเอ่ยยิ้มๆ

เมื่ออาสาสมัคร I SEE U ได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้พิการด้อยโอกาส​ที่ครอบครัวไม่พร้อมดูแลกว่า 500 คน ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการพระประแดง และมีเจ้าหน้าที่อยู่แค่ประมาณ 80 คน

จึงลงความเห็นกันว่าอะไรที่เราจะช่วยแบ่งเบาภาระให้เจ้าหน้าที่และเพิ่มความสุขให้ผู้พิการได้บ้าง ไม่มากก็น้อยเราจะทำ โดยใช้ชุดเครื่องมือ ‘เปิดใจ’ กับผู้พิการเช่นเดียวกัน

คุณชัยอธิบายว่า ผู้พิการมีหลายระดับตั้งแต่ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ไปจนถึงผู้พิการระยะสุดท้ายที่ใกล้เสียชีวิต แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางคนก็มีสภาวะอารมณ์ที่ดี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

“เราค้นพบว่า ณ สถานที่แห่งนั้น ที่คนข้างนอกคิดว่าคงแห้งแล้งเหี่ยวเฉา สิ่งที่เราค้นพบกลับเต็มไปด้วยมิตรภาพและความอบอุ่นในความไม่สมบูรณ์แบบ เช่น ผู้พิการทางสมองที่ร่างกายยังใช้การได้ดี ช่วยใส่ผ้าอ้อมให้ผู้พิการทางร่างกาย

“หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มพิการ เมื่อถูกส่งมาที่นี่มักมีอาการซึมเศร้า เพราะยอมรับสภาพตัวเองไม่ได้ ผู้พิการที่อยู่ก่อนก็จะเป็นพี่เลี้ยงที่คอยรับฟังและช่วยดูแลจิตใจ เพราะทุกคนล้วนเคยผ่านสภาวะนี้มาก่อน มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความเข้าใจและความใส่ใจจากใครสักคนหนึ่ง และอาสาสมัคร I SEE U ก็เข้าไปช่วยเติมเต็มในจุดนี้ เข้าไปมอบอ้อมกอดที่สร้างความอิ่มใจให้ผู้พิการ” 

07

คุณค่าที่คืนย้อนกลับมาสู่ตัวเอง

หลายปีที่อยู่บนเส้นด้ายบางๆ ระหว่างความเป็นและตายของคนมากมาย สิ่งที่คุณชัยตระหนักคือ ความตายนั้นเป็นเรื่องแสนใกล้ตัว หากเราฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันขณะ และใช้ชีวิตในทุกวันให้ดีที่สุด จะทำให้เราใช้เวลาทุกนาทีได้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น

คุณชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง I SEE U Contemplative Care ฝึกคุณชัยให้เรียนรู้การเป็นผู้นำที่อยู่ข้างหลังมากกว่าอยู่ข้างหน้า รวมถึงเรียนรู้การเป็นผู้ให้ด้วยใจที่นอบน้อม และเป็นผู้รับด้วยความนอบน้อมเช่นเดียวกัน

“เมื่อไหร่ที่เราปฏิเสธการให้ของคนอื่น เมื่อนั้นแสดงว่าเรายังเป็นผู้ให้ที่ไม่ดีพอ เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ให้ที่รับได้ นั่นหมายความว่าเราเข้าใกล้การมีชีวิตอยู่อย่างสมดุลแล้ว ทุกคนต่างเกิดมาเพื่อกันและกัน เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะทุกส่วนของโลกคือโครงข่ายสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงถึงกัน”

ทุกคนที่อยู่ในชีวิต รอบๆ ตัวเรานั้นสำคัญเท่ากับเรา เพราะไม่มีชีวิตใดสามารถอยู่เพียงคนเดียวได้ ดังนั้นเราต้องหัดที่จะดูแลคนอื่น ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เขามาดูแลเราเช่นกัน เพราะไม่ว่าใครก็ต้องตาย และมีวาระสุดท้ายที่ต้องการใครสักคนมาดูแลทั้งนั้น

“เมื่อเราเรียนรู้ที่จะให้อย่างแท้จริงโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่คาดหวัง เราจะรับรู้ถึงความงดงามที่เบ่งบานอยู่ในนั้น มันเป็นความสุขที่ไม่ต้องมีอะไรไปแลก เว้นแค่อัตตาของเราเท่านั้น สิ่งเล็กๆ อย่างรอยยิ้มที่ผู้ป่วยส่งมาให้ สายตาขอบคุณอย่างจริงใจที่เราไปอยู่ตรงนั้น ข้างๆ เขา ไม่ต้องเอ่ยคำพูดใดๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรารู้ว่าตัวเรามีคุณค่า

“คุณไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่ไปยืนอยู่ตรงนั้น ไปรับรู้ว่าเขากำลังลำบากอยู่ แค่นั้นเราก็มีค่ามากสำหรับเขาแล้ว”

Facebook : I SEE U Contemplative Care

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน