หลายคนเคยบอกว่าพิษณุโลกเป็นมืองทางผ่าน ขนาด ตาล-พญ.ทวินันท์ ฉิมนาค ลูกหลานคนพิดโลกก็บอกกับเราเช่นนั้น แต่วันนี้ไม่เป็นดังคำบอกเล่า เพราะการเกิดขึ้นของ ‘หุ่น ไร่ กา’ รีสอร์ตและคาเฟ่กลางผืนนาของคุณย่า สร้างปรากฏการณ์ใหม่ กลายเป็นแลนด์มาร์กสร้างชื่อของจังหวัด ดึงดูดผู้คนต่างถิ่นแวะเวียนมาพักไม่ขาดสาย

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาสีเขียวขจีขนาด 13 ไร่ ก่อร่างความคิดจากตาล เธอชักชวนคนในครอบครัวมาร่วมลงแรงกายและแรงใจพัฒนาพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือความยั่งยืนที่มาพร้อมการรักษาสมบัติชิ้นสุดท้ายของคุณย่า

ที่สำคัญ หุ่น ไร่ กา ยังนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชนนอกเมือง และเติบโตไปพร้อมๆ กับเพื่อนบ้าน

เพียงระยะเวลาไม่ถึงขวบปี ที่พักพ่วงคาเฟ่แห่งนี้เคยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากถึง 1,000 คน ต่อวัน แม้สถานการณ์วิกฤตโรคระบาด หุ่น ไร่ กา ก็ยังคงยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง และคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ

อะไรเป็นเหตุผลให้หลานสาวของคุณย่าทุ่มเทพลังใจได้มากมายขนาดนี้ นี่คือคำตอบ

หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก

จากหุ่นไล่กา สู่ หุ่น ไร่ กา

ก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าของกิจการที่พัก หมอตาลเปิดคลินิกความงามอยู่ในตัวเมืองพิษณุโลกนานกว่าสิบปี จนมีความคิดอยากทำโปรเจกต์ที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า โดยเธอมีที่ดินหนึ่งผืนที่คุณพ่อมอบให้เป็นมรดก

“ความตั้งใจจริงๆ เราไม่อยากให้ที่ดินผืนนี้หายไป เพราะมันเป็นผืนสุดท้ายของย่าที่เก็บไว้ให้ลูกๆ เมื่อก่อนย่ามีที่ดินเยอะกว่านี้ แต่ต้องขายเพื่อเลี้ยงลูกทั้งหมดเก้าคน ที่ดินผืนนี้เลยมีคุณค่าที่ควรจะรักษาไว้” หลานย่าเล่า

หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก

เดิมทีผืนนานี้ถูกปล่อยเช่าให้คนในชุมชนมาทำนา ตาลมองว่าถ้ายังทำแบบเดิม ก็ไม่เกิดการพัฒนาของชุมชนและพื้นที่ เธอปิ๊งความคิดทำเป็นคาเฟ่บนท้องนาของคุณย่า และรีสอร์ตขนาด 4 ห้องพักบนท้องนาของคุณป้า 

ความคิดในหัวถูกแปลงออกมาเป็นจริงด้วยการร่วมมือกันกับ ภูริทัต ชลประทิน จาก ธรรมดา อาร์คิเทค ตาลให้โจทย์สถาปนิกไปว่า ‘เรียบง่าย ไม่ธรรมดา มีลูกเล่น’ โดยบริบทเกิดขึ้นกลางทุ่งนา ภูริทัตก็ตีความหมายออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ไม่ธรรมดา จนกลายมาเป็น หุ่น ไร่ กา ที่เกิดจากการเริ่มต้นมองหาบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในท้องนาสีขจี

“หุ่นไล่กา คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทุ่งนา เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหา จนเราเข้าใจว่าหุ่นไล่กาเป็นหนึ่งเดียวกับทุ่งนาไปแล้ว เราเลือกแทนการคงอยู่ของหุ่นไล่กาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบครั้งนี้

“เราแทนค่าเพลนของอาคารเป็นหุ่นไล่กา ที่วางตัวอยู่ในทุ่งนาอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ภาพรวมของรีสอร์ตจะเห็นเพลนอยู่แปดเพลน เรียงตัวในมุมที่ต่างกัน เกิดที่ว่างระหว่างแต่ละเพลน ที่ว่างส่วนหนึ่งก่อตัวเป็นที่พัก และอีกส่วนหนึ่งปล่อยให้ทุ่งนาไหลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ที่เหลือคือหน้าที่ของแสง ทำให้เห็นมุมมองที่ต่างไปในแต่ละช่วงเวลา ฉะนั้น หุ่นไร่กาจึงเป็นการเปรียบเปรยสิ่งที่มีอยู่แล้วในทุ่งนา เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และพยายามให้ตัวเองดูกลมกลืนกับความเรียบง่ายที่สุดของบริบทรอบข้าง แต่ก็ยังมีความต่างในตัวเอง” สถาปนิกอธิบายความคิด

หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก

วัสดุที่ใช้ก่อร่างเป็นกำแพงสูง มาจากอิฐบล็อกฉาบพร้อมสีฝุ่นสีส้ม ได้แรงบันดาลใจจากดิน ซึ่งเด่นชัดตัดกับสีเขียวจากธรรมชาติ แถมมีเท็กซ์เจอร์เป็นเส้นตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ลากยาวจากบนสุดถึงล่างสุด ตาลกระซิบว่ามีไอเดียน่ารักมาจากรอยไถคราด หรือกระบวนการเตรียมดินก่อนปักดำ ทั้งหมดเป็นฝีมือของช่างก่อสร้างในจังหวัดพิษณุโลก

ส่วนคาเฟ่ก็งดงามไม่น้อยหน้า ใช้อิฐบล็อกและบล็อกช่องลมหลายรูปแบบมาก่อจนเป็นผนังสูง 

หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก
หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก

“กำแพงช่องลมตรงหน้าของโครงการ เราเปรียบเป็นกริดของทุ่งนาที่เราจับมันตั้งขึ้นมาอีกที แล้วมันก็คล้ายลายผ้าขาวม้าที่ชาวบ้านเขาใช้กัน” ภูริทัตเล่า ก่อนตาลจะเสริมต่อ “เราใช้กระจกมาใส่บริเวณทุ่งนาด้วย เพื่อให้กระจกสะท้อนภาพวิวรอบข้างทั้งหมด คนที่ไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ จะรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไกลสุดลูกหูลูกตา”

หัวใจสำคัญที่ภูริทัตและตาล หนุ่ม-สาวพิษณุโลกเห็นพ้องต้องกัน และอยากสื่อสารกับผู้มาเยือนก็คือ

“เราอยากให้คนรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในทุ่งนาแต่ละฤดูกาล บางช่วงทุ่งนาเป็นสีเขียว บางช่วงทุ่งนาเป็นสีทอง เราไม่อยากให้คนยึดติดว่าทุ่งนาต้องเขียวเสมอ แต่เรามองว่าทุ่งนาก็มีความน่าสนใจต่างกันในแต่ละฤดู และสถาปัตยกรรมจะคงอยู่ เพื่อรอให้ธรรมชาติมาทำหน้าที่แต่งแต้มให้มันมีชีวิตที่ต่างกันไป” ภูริทัตขยายความ

เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงงดงามเสมอ ธรรมชาติก็เช่นกัน

หุ่น ไร่ กา รีสอร์ตกลางทุ่งนาที่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักจนเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลก

จากทางผ่าน สู่แลนด์มาร์ก

“ตอนเช้าคุณจะถูกปลุกด้วยฝูงนกกลุ่มใหญ่ที่ลงมากินน้ำค้างยอดข้าว จนคุณต้องตื่นมาดู ส่วนตอนกลางวัน สายลมเอื่อยๆ ชวนให้คุณเอนตัวลงตามร่มเงา และตอนค่ำ คุณจะถูกขับกล่อมด้วยเสียงกบ เสียงเขียด” 

คำบรรยายบรรยากาศของสถาปนิกจาก ธรรมดา อาร์คิเทค ทำเอาเราอยากจะพุ่งตัวไปยืนหน้ารีสอร์ตแห่งนี้เสียจริงๆ ขอพิสูจน์ว่ากลิ่นดิน กลิ่นโคลน สายลม แสงแดด และทุ่งนาเขียวขจี จะเพลินตา เพลินใจ ขนาดไหน 

ที่พัก 4 ห้องกลางท้องนา ถูกออกแบบให้ทันสมัยและสะดวกสบาย ต่างกันตรงวิวธรรมชาติ แต่ละห้องจะไม่เหมือนกัน ตามแต่องศาที่ถูกบิดไปบิดมา เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว ที่เก๋ไก๋ใกล้ชิดท้องทุ่งคือ หุ่น ไร่ กา จะมีแปลงนาอยู่หน้าห้องพัก ให้คุณสัมผัสกลิ่นต้นข้าวอ่อนๆ ตั้งแต่หน้าประตู ซึ่งนาข้าวทั้งหมดก็ทำจริง ขายจริงด้วยนะ

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน
รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

ส่วนอาหารการกินไม่ต้องห่วง อิ่มท้อง นอนอุ่น! เพราะอาหารเช้าทางที่พักจัดเตรียมให้ ถ้าอยากได้อาหารท้องถิ่น ปาท่องโก๋ ก็กระซิบบอกพี่ๆ พนักงานได้เลย พร้อมจับจ่ายจากตลาดถึงหน้าห้อง อ้อ อาหารไทยของที่นี่ก็ได้รับความนิยมจนต้องยกนิ้ว คุณพ่อของตาลจ่ายตลาดและเข้าครัวต้ม ผัด แกง ทอด ร่วมกับป้าๆ น้าๆ เองด้วย แต่ละเมนูชื่อน่าลิ้ม อย่างยำหัวปลีทอด สำรับคุณปู่ สำรับคุณย่า รวมของโปรดคุณปู่ คุณย่า ไว้ในสำรับ หรือ ไข่พะโล้โบราณ มีที่มาจากสูตรของคุณป้าที่เคยทำขายอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 50 ปี ซึ่งเมนูส่วนใหญ่คิดขึ้นจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเป็นหลัก

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน
รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

เมื่อพักผ่อนเต็มตื่น ถึงเวลาท่องเที่ยว ตาลแนะนำว่า ตื่นเช้าๆ มาใส่บาตร ทำบุญ แล้วไปไหว้พระพุทธชินราช วัดใหญ่ เที่ยวในเมืองจนหนำใจแล้วมุ่งหน้าสู่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างเนินมะปราง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ภูหินร่องกล้า ฯลฯ หรือจะเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงอย่างสุโขทัย ขับสบายๆ 50 กิโลเมตรก็ถึงปลายทาง

“ปกติพิษณุโลกเป็นเมืองผ่าน เขาจะไม่แวะนอนกันเลย กลายเป็นว่าเขาเลือกแวะนอนที่นี่สักคืนแล้วค่อยเดินทางต่อ บางคนมาจากเชียงรายจะเข้ากรุงเทพฯ ก็แวะพิษณุโลกก่อน หรือมาจากกรุงเทพฯ ก็แวะพักที่เราก่อนแล้วค่อยเข้าเชียงใหม่ ลูกค้ารู้สึกว่า หุ่น ไร่ กา เป็นส่วนตัว มาพักที่นี่แล้วปลอดภัย มันเป็นการมาพักผ่อนจริงๆ

“ตอนนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กของพิษณุโลกไปแล้ว” เจ้าบ้านเล่ายิ้มๆ 

การเกิดขึ้นของ หุ่น ไร่ กา พาผู้คนจากทั่วสารทิศมาหยุดที่ (อดีต) เมืองทางผ่าน แวะชมธรรมชาติ สนุกกับวิถีท้องถิ่น อุดหนุนกิจการเล็กๆ ในจังหวัด กำไรที่ได้คือเมืองพิษณุโลกเป็นที่รู้จักและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

จากท้องนา สู่ความเจริญ 

เราชวนตาลย้อนวัยเด็กถึงพื้นที่ก่อนจะมาเป็น หุ่น ไร่ กา, สมัยนู้น ณ ตำบลมะขามสูง พื้นที่ของ หุ่น ไร่ กา เป็นท้องนา ไม่มีแม้กระทั่งบ้านเรือน ส่วนฝั่งตรงข้ามติดกับแม่น้ำน่าน มีคนอาศัยและบ้านหลายหลังคาเรือน หากพูดกันตามตรง ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่มากนัก และชุมชนละแวกนั้นยังไม่มีใครกล้าสร้างกิจการใดๆ ขึ้นมา

จนวันที่ หุ่น ไร่ กา เริ่มก่อร่างจากศูนย์ถึงร้อย ชาวบ้านรู้สึกถึงสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทุกคนลุ้นและรอคอย

“มันเป็นปรากฏการณ์จริงๆ นะ” ตาลพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “ช่วงแรกที่เปิด รถจอดจนล้น คนแถวนั้นตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา คนมาเป็นพันต่อวัน ผลที่ตามมาทำให้คนแถวนั้นรู้สึกว่าชุมชนของเขาเจริญขึ้น มีการพัฒนา และแถวร้านเราก็มีตลาดนัดเกิดขึ้น ลูกค้าบางคนแวะมากินกาแฟที่ร้าน แล้วไปทานข้าวในร้านอาหารละแวกนั้นต่อ ซึ่งปกติมันไม่เคยเกิดการกระจายรายได้ขนาดนี้มาก่อน” ความตั้งใจของเธอทำให้ชุมชนกลับมาคึกคัก

ไม่เพียงนำสิ่งสวยงามมาสู่ท้องถิ่น แต่ หุ่น ไร่ กา กลายเป็นมาตรฐานใหม่ให้คนพิษณุโลก

ตาลเล่าด้วยความดีใจ (มาก) ว่า มีสถาปนิกท่านหนึ่งบอกว่าคาเฟ่ของ หุ่น ไร่ กา เป็นมาตรฐานให้คาเฟ่น้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพิดโลก ถ้าจะทำ ต้องทำให้ดีและมีเรื่องราว นอกจากคาเฟ่แล้ว สถานที่กลางทุ่งนาแห่งนี้ยังเป็นไอเดียตั้งต้นให้คนพิดโลกหยิบที่ดินมรดกของครอบครัว มาแปรเปลี่ยนเป็นกิจการเล็กๆ ในท้องถิ่นของตัวเองด้วย 

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

“เราภูมิใจนะที่ได้ยินแบบนั้น เพราะเราพยายามสู้ พยายามสร้าง จนมันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนในบ้านภูมิใจ อีกอย่าง การสร้างคาเฟ่เราว่าไม่ยากหรอก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ตอนดำเนินการต่างหากที่ยาก มันต้องใช้ใจ”

ความแน่วแน่ที่จะพัฒนาพื้นที่ก็ยังเป็นพลังคอยผลักดันเธออยู่เสมอ ตอนนี้เธอและภูริทัตกำลังคิดโปรเจกต์ใหม่ สร้างอาคารขนาดย่อมใน หุ่น ไร่ กา เพื่อแบ่งปันความรู้ในการออกแบบร้านกาแฟในสถานการณ์โควิด-19

“เราพยายามแชร์กับสถาปนิกเพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ กัน แล้วก็อยากดึงธรรมชาติเข้ามาด้วย” 

ทำไมต้องคิดสร้างสิ่งใหม่ในพื้นที่อยู่ตลอด-เราถามทันที 

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

“เพราะเราไม่อยากให้มันตายไปหรือเป็นแค่กระแส ถ้าไม่เกิดการพัฒนา ร้านจะอยู่ได้แค่เดือนแรก เลยต้องพัฒนาเรื่อยๆ ให้เข้ากับยุคสมัย เมื่อเลือกจะทำแบบนี้แล้วก็ไม่ควรหยุดนิ่ง ควรจะเป็นธุรกิจที่ส่งต่อให้คนอื่นได้”

การมีหัวใจที่คิดจะส่งต่อ เป็นหนทางหนึ่งที่จะพาท้องนาบ้านย่าสู่ความยั่งยืนในอนาคต

จากการรักษา สู่การแบ่งปัน

เป็นอันรู้กันว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลต่อกิจการที่พัก ร้านอาหาร และสารพัดธุรกิจ

“ตอนตั้งโจทย์ เราขายคนต่างจังหวัดที่มาท่องเที่ยว คิดว่าจะขายยากเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว เราอยู่ในอำเภอเมือง มีบริบททุ่งนาเป็นจุดขาย เพราะพิษณุโลกก็ยังไม่มีที่พักกลางทุ่งนาที่ชัดเจนแบบนี้ 

“แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าคนมาพักจากจังหวัดพิษณุโลกเยอะเหมือนกัน บางคนก็มาพักซ้ำ ในช่วงโควิดแบบนี้ เขาบอกว่ามันเครียด อยากพักผ่อน ขอแค่ออกมาเปลี่ยนที่นอน ได้มองดูธรรมชาติ แค่นี้เขาก็สบายใจแล้ว”

แม้คลื่นระลอกสามจะพัดพารายได้และลูกค้าลดลง แต่เธอยังรักษาพนักงานไว้ครบ กิจการอยู่ได้อย่างมั่นคง ส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของคนในพิษณุโลก ที่แวะเวียนมาเปลี่ยนบรรยากาศและสูดอากาศบริสุทธิ์

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

“แล้วก็ความจริงใจ” ตาลเผยเคล็ดลับที่ทำให้ หุ่น ไร่ กา เป็นรีสอร์ตและคาเฟ่ที่เหนือความคาดหมาย

“เคยมีคนถามเราถึงแผนธุรกิจว่าคืนทุนหรือยัง เราบอกว่าเราไม่ได้คิด คิดแต่จะทำเพิ่มมากกว่า แล้วก็คิดว่าจะทำยังไงให้ธุรกิจยั่งยืนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเรามองว่าการพัฒนาจะพาเราไปถึงจุดนั้นได้ และเราก็ไม่ได้โตแค่คนเดียว 

“เราโตไปพร้อมๆ กับชุมชนรอบข้าง สิ่งที่เราทำเป็นการดึงความเจริญเข้ามาสู่นอกเมือง พอมีคนรู้จักหรือพูดถึง หุ่น ไร่ กา นั่นแสดงถึงการมีตัวตนของ หุ่น ไร่ กาด้วย ความภูมิใจของเราคือการให้ ให้คนในชุมชนมีอาชีพ”

การทำธุรกิจด้วยใจที่แบ่งปันและเดินหน้าพร้อมกันกับกิจการเพื่อนบ้าน แม้ช้า แต่ชัวร์

“ส่วนความสุขของเราคือการรักษา เติบโต และพัฒนาที่ดินของคุณย่า” หลานย่าเล่าหัวใจสำคัญ

หุ่น ไร่ กา ไม่ได้มีตัวตนแค่ในประโยคที่คนพูดถึง ตาลและท้องนาบ้านคุณย่าพิสูจน์แล้วว่า สถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผู้คน ชุมชน และจังหวัดพิษณุโลก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถึงขวบปีนี่ ‘เป็นปรากฏการณ์จริงๆ’

รีสอร์ตและคาเฟ่กลางทุ่งนาพิษณุโลก ที่ตั้งใจรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของคุณย่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่และนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน

หุ่น ไร่ กา 

ที่ตั้ง : 99 ตำบลมะขามสูง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000

คาเฟ่และร้านอาหารเปิดบริการทุกวัน เวลา 09.30 – 18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา 09.00 – 19.00 น.

โทรศัพท์ : 06 2927 5155

Facebook : หุ่น l ไร่ l กา

ภาพ : หุ่น ไร่ กา

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย