23 พฤศจิกายน 2020
26 K

โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา แม่น้ำ ภูเขา ทะเลกว้างไกล อย่าไปไหน กลับใต้บ้านเรา

หิว (Hungry.hc) แบรนด์อาหารทะเลแปรรูปที่ทำมือทุกขั้นตอนจากจังหวัดชุมพร ถูกปลุกปั้นขึ้นมาด้วยสองพี่น้อง มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์ การกลับบ้านของเธอทั้งสองคนหวนให้เราคิดถึงเนื้อเพลง ปักษ์ใต้บ้านเรา ที่ขับกล่อมโดยแฮมเมอร์ ใช่-พวกเธอกลับไปหาความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเกิด

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ท้องทะเลแดนใต้รุ่มรวยด้วยทรัพย์จากผืนน้ำสีฟ้า ปลาทู เป็นปลาท้องถิ่นที่พวกเธอเห็นมาตั้งแต่เกิด เมนูปลาทูต้มหวาน พวกเธอก็ลิ้มรสฝีมือคุณย่ามาตั้งแต่วัยเยาว์ เรามั่นใจว่ารสชาตินั้นยังคละคลุ้งอยู่ในความทรงจำ

4 ปีก่อนแบรนด์ชวนหิวจะก่อตัว มะเหมี่ยวคว้าประสบการณ์ต่างแดนด้วยปริญญาโทด้านการตลาด ส่วนหมิวจบหมาดจากเมืองกรุงด้วยดีกรีนักออกแบบ สองพี่น้องจับมือชวนกันกลับชุมพรด้วยหวังอยากมีแบรนด์ของตัวเอง

การกลับมาพัฒนาอาหารทะเลบ้านเกิดสนุกจนเราอยากชวนคุณล้อมวงตักข้าวสวยและคลุกปลาทูต้มหวานมาสนทนาด้วยกัน ทั้งการต่อยอดกิจการเดิมที่มีอยู่ด้วยวิชาของคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนมุมมองความคิดที่แค่ปรับก็เปลี่ยนไปเสียทุกอย่าง ซึ่งพวกเธอเริ่มต้นจากการกลับบ้าน กลับมามองสิ่งใกล้ตัวจนเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ปลาทูต้มหวาน อาหารท้องถิ่นประจำบ้านที่เธอเคยมองผ่านด้วยความเคยชิน ถูกรื้อมาแปลงโฉมด้วยทักษะและความถนัดของสองศรีพี่น้อง โดยมีคุณป้ารับหน้าที่ปรุงรสเองทุกหม้อ จากการครูพักลักจำเสน่ห์ปลายจวักของคุณย่า ถ้าลองนับเล่นดู ก็เป็นผู้หญิง 3 วัยที่ส่งต่อและสืบสอดสูตรเด็ดจากรุ่นย่าถึงรุ่นหลาน ช่างน่ารักเหลือเกิน

หิว ก้าวเดินอย่างช้าทว่ามั่นคง สองพี่น้องลูกทะเลพาอาหารพื้นบ้านไปทำความรู้จักกับคนต่างถิ่นที่ไกลกว่าชุมพรและไกลกว่าประเทศไทย ด้วยการชูวัตถุดิบจากท้องทะเลไทยอย่างภาคภูมิใจ ปลาไทยไม่แพ้ปลาใดในโลก!

หิว

สองพี่น้องที่ทำผลิตภัณฑ์ชวนหิว เติบโตมาท่ามกลางวิถีชีวิตชาวเลและกิจการแพปลาของคุณย่า พวกเธอหยิบปลาทูต้มหวานออกจากปี๊บความทรงจำวัยเยาว์ โดยมีคุณป้าวัย 68 เป็นแม่ครัวใหญ่คอยคุมรสชาติ

“เรากำลังเรียนจบ แต่ไม่อยากทำงานออฟฟิศ ไม่อยากทำงานในกรุงเทพฯ อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง บวกกับเราสนใจด้านอาหารและอยากชูความเป็นไทย เลยออกแบบ CI ของหิวไว้ก่อน” หมิวตั้ง หิว เป็นแบรนด์และสเก็ตช์ตราสินค้า ก่อนเจ้าตัวจะจับของดีจากทะเลชุมพรและสูตรลับความหรอยของครอบครัวมาสร้างแบรนด์เสียอีก

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

“เราคิดเหมือนกันว่าอยากสร้างแบรนด์ เพราะเรียนมาร์เก็ตติ้งมา ตอนแรกไม่ได้นึกถึงสิ่งที่บ้านเรามีเลย แต่พอกลับมาดูว่าบ้านเรามีอะไรที่ต่อยอดได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ บ้านเรามีวัตถุดิบนะ ป้าเราทำอาหารแปรรูปนะ 

“แต่ป้าทำขายโดยไม่มีการทำแบรนดิ้ง ไม่มีดีไซน์ อีกอย่างปลาทูต้มหวานเป็นเมนูท้องถิ่นที่คนไม่ให้ความสนใจ จนวันหนึ่งเราเปลี่ยนการรับรู้ เปลี่ยนความคิด จับเขามาทำแบรนดิ้ง มันขายได้” มะเหมี่ยวเสริม

ปลาทูต้มหวาน เป็นของดีประจำตระกูลที่สองสาวมองเห็นและอยากหยิบมาแปลงโฉม

แต่การยกแผนการตลาดไปกางกลางวงสนทนา จับเข่าคุยเรื่องงานดีไซน์กับคนวัยค่อน 70 ไม่ง่าย

“คุณขายไอเดียให้คุณป้าซื้อได้ยังไง” เราสงสัย

“ป้านั่งส่ายหัว บอกว่าแบบนี้ไม่ได้ ไม่เอา” สาวมาร์เก็ตติ้งเกริ่น

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

“เราเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ที่ป้าสร้างมา เราทำอะไรไม่ได้ และเราโดนตั้งคำถามบ่อยมาก โห พ่อแม่ส่งไปเรียนเมืองนอกกลับบ้านมาเป็นแม่ค้าขายปลาหรอ แต่เราก็ยังอยากทำแบรนด์ของเรา อยากพิสูจน์ความคิดของเรากับน้องสาวที่คิดมาว่ามันจะเวิร์กมั้ย ตอนหลังเรามานั่งตกผลึกว่า สิ่งที่เราเล่าในหัว เขาไม่ได้เห็นภาพเดียวกับเรา การที่จะให้เขาเห็นแล้วยอมรับ คือเราต้องสื่อออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราขอนะ ขอยกแบรนด์ออกมาทำเอง”

“คุณป้ายอมมั้ย” 

“เขายอม” มะเหมี่ยวไขขอสงสัย

หิว ลงมือทำด้วยพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ซึ่งคุณป้ามีสินค้าบรรจุถุงอยู่แล้ว หมิวรับหน้าที่ออกแบบตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ ส่วนมะเหมี่ยวรับหน้าที่ดูแลการตลาด ด้วยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่ Lemon Farm

ปลาทูต้มหวานในความทรงจำ

เส้นทางของปลาทูต้มหวานจากท้องทะเลชุมพรมีที่มาที่ไปจากคุณย่าของสองคนพี่น้องเมื่อ 50 ปีก่อน 

ครอบครัวของเธอทำกิจการแพปลา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทำให้จับปลาได้เยอะ ขายเท่าไหร่ก็ไม่หมด คนโบราณเลยหยิบมาแปรรูปเป็นเมนูอร่อย หมิวกระซิบว่า สมัยนั้นคุณย่าต้องทำปลาทูต้มหวานใส่ปี๊บไปขายบนรถไฟ

สูตรเด็ดความอร่อยเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนมาจากส่วนผสมอย่างง่าย คือ น้ำตาลและน้ำปลา 

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ปลาทูต้มหวานฉบับหิว ถูกปรับสูตรโดยคุณป้า มีการเติมรสชาติของน้ำตาลมะพร้าว กระเทียม หอมแดง มะขาม น้ำปลา และพริกไทย ซึ่งหัวใจที่ทำให้เมนูปลาทูต้มหวานหรอยเหมือนขึ้นสวรรค์คงหนีไม่พ้นปลาทูสด

กระบวนการทำปลาทูต้มหวานของแม่ครัวใหญ่ครูพักลักจำมาจากความทรงจำวัยเด็ก ตอนที่คุณย่าเคยทำเมนูประจำบ้านให้กิน แตกต่างตรงปลาทูต้มหวานเวอร์ชันอัปเดตใหม่หลังต้มหนังปลาสวย กินได้ทั้งตัว แม้แต่ก้าง!

“ป้าเราเหมือนอาร์ตขึ้นมาอีกระดับ เขาจะใส่ใจ พิถีพิถัน ตอนรุ่นย่าเหมือนทำเพื่ออยู่รอด” น้องสาวเล่า

“อย่างการต้มปลาทูต้มหวาน ต้องใช้เวลาสี่วันในการต้มปลา เคี่ยวปลา จนถึงบรรจุปลา ถ้าสังเกตจะรู้ว่าเราต้มนานขนาดนั้นแต่หนังปลาไม่หลุดเลย ซึ่งต่างจากปลาทั่วไป ถ้าต้มนานเนื้อจะยุ่ย หนังปลาจะหลุดหมด

“ในวันที่คนรอบข้างไม่มีใครสนใจสิ่งนี้ แต่ป้าเราคิดวิธีการของเขาอยู่สามปี มันคือแพสชันหนึ่งของเขา”

“ป้าเขารัก” พี่สาวพูดด้วยนัยตาเปี่ยมความสุข

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์
หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากวิธีการทำที่อาศัยการชั่ง-ตวง-วัด ด้วยการกะจากสายตาและน้ำหนักมือถูกเปลี่ยนเป็นการบันทึกสูตรลับครอบครัวที่มีมาตราวัดถูกต้องตามสัดส่วน จากหาบปี๊บขายและตักขายใส่ถุงแกง ถูกปรับเป็นบรรจุภัณฑ์พกพาสะดวก ปราศจากกลิ่นกวนจมูกและไม่หกเลอะเทอะระหว่างทางหิ้วกลับบ้าน

เป็นเพราะคุณป้าผู้มาก่อนกาลของสองสาวเห็นปัญหาของบรรจุภัณฑ์ อายุการเก็บปลาทูต้มหวาน และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป จึงตั้งคำถามว่า จะทำยังไงให้เมนูอร่อยเก็บได้นานโดยไม่ต้องเข้าตู้เย็น

“คนชอบมีคำถามกับแพ็กเกจจิ้งที่เป็นซองสีใสว่าจะเก็บได้นานจริงหรอ เพราะเขามีภาพจำของปลากระป๋องอยู่ อย่างปลาในปลากระป๋อง เขาไม่ได้ใส่สารกัดบูดนะ แต่ผ่านระบบฆ่าเชื้อ ซึ่งปลาทูต้มหวานของเราก็ผ่านวิธีการเดียวกัน แค่แพ็กเกจจิ้งเป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วปลาทูต้มหวานของหิวก็ไม่ต้องเก็บในตู้เย็นด้วยเหมือนกัน”

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

เมื่อ 4 ปีก่อนยังไม่มีอาหารทะเลปรุงสุกพร้อมทานโดยไม่ต้องแช่เย็นวางจำหน่าย บวกกับไอเดียเดิมของคุณป้าที่อยากเก็บความอร่อยไว้ให้ได้นานที่สุดเมื่อสมัยนู้น ทำให้สาวการตลาดมองเห็นลู่ทางที่จะพิชิตใจผู้บริโภค 

ปลาทูต้มหวานผ่านการพาสเจอร์ไรซ์อย่างดี ก่อนบรรจุลงแพ็กเกจจิ้งสีใสที่ทำให้มองเห็นปลาทูตัวโตชวนหิวนอนชุ่มซอสตั้งแต่หน้าซอง แถมสะดวกต่อการกระจายความอร่อยผ่านระบบขนส่งให้ถึงมือผู้รับทั่วประเทศ

ความกลมกล่อมของนักออกแบบกับนักการตลาด

หนึ่งข้อจำกัดของเมนูพื้นบ้านแดนใต้อย่างปลาทูต้มหวาน คือ คนรุ่นใหม่วัยใสไม่รู้จักเมนูนี้ 

“เราเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ อายุยี่สิบสองถึงสี่สิบห้าปี เรารู้อยู่ก่อนแล้วว่าเขาไม่รู้จักปลาทูต้มหวาน คนที่คุ้นชินจะเป็นคนรุ่นป้าเราที่นิยมกินสิ่งนี้ เราเลยอยากเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า เพราะถ้ายังยึดกับกลุ่มตลาดเดิมแล้วไม่เข้าไปเปลี่ยนอะไรเลย เราคิดว่าต่อไปคงไม่มีคนรู้จักเมนูปลาทูต้มหวานแล้วนะ” สาวมาร์เก็ตติ้งเล่าเหตุผลการเลือกกลุ่มลูกค้า

อาหารรุ่นคุณย่าทำความรู้จักกับรุ่นเยาว์ด้วยการเล่าแบรนด์ผ่านงานดีไซน์ทันสมัย สื่อสารผ่านออนไลน์ และอาศัย Storytelling ในการเล่าเรื่องราวของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ โมเดิร์นขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความโลคอล

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

“เราเขียนคอนเทนต์ในสิ่งที่อยากเล่า บางทีเป็นโมเมนต์ที่เราคุยกับน้องสาวแล้วรู้สึกว่ามีคุณค่าจนอยากเล่าให้คนที่ติดตามฟัง” มะเหมี่ยวเล่า ก่อนหมิวจะเสริม “บางทีพี่เขาอยากถ่ายทอดความประทับใจที่บ้าน พระอาทิตย์ที่บ้าน มันคือการ Appreciate ซึ่งเราทั้งคู่รู้สึกชอบที่บ้านมากทั้งที่มันธรรมดา แต่ดันมีคนทั่วไปรู้สึกกับมันด้วย”

เราถามนักการตลาดว่า ทำไมคนถึงเชื่อว่าอาหารพื้นบ้านไทยแท้จะขายได้

“เราว่าอยู่ที่เมสเสจที่ส่ง ภาพที่สื่อให้เห็น บางทีเราเดินตลาดแล้วเห็นปลาทูต้มหวานอยู่ในหม้อ คนขายเขาไม่ได้พยายามส่งเมสเสจอะไรที่มากกว่าปลาในหม้อ แต่ถ้าเราสร้างเมสเสจที่ส่งให้ลูกค้า เช่น นี่ปลาทูต้มหวานของฉันนะ ผ่านกระบวนการนี้ ด้วยวิธีนี้ ดีไซน์แบบนี้ ผ่านการ Storytelling แบบนี้ เราว่าผู้บริโภคเขา Decode ได้”

มีกฎการตลาดที่ควรทำแต่นักการตลาดคนนี้แหกกฎมั้ย

“ตามหลักการตลาด เราต้องรู้ก่อนว่าตลาดชอบแบบไหน แต่พอทำแบรนด์หิว เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราอยากทำอะไร ถ้าเราทำตามตลาดเยอะ เราจะสูญเสียความเป็นตัวเองและกลายเป็นเหมือนแบรนด์อื่น 

“แต่ถ้าเราเริ่มจากความชอบของเราก่อนโดยไม่แย้งกับตลาดมากนัก เรารู้สึกว่าเนี่ยแหละมันคือการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์และสร้างจุดต่างให้กับแบรนด์ด้วย” สาวการตลาดเล่าวิธีการออกนอกกรอบ

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

นักออกแบบสาวช่วยแปลงไอเดียจากพี่สาวเป็นสีและลายเส้น ที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตชาวเลและคนชุมพรผ่านแพ็กเกจจิ้งแต่ละแบบ ที่เห็นแล้วน่ารักดีคงเป็นภาพวาดสาวนุ้ยที่มีทรวดทรงองค์เอวสวมผ้าถุงลายดอกสีสดใส 

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ทุกเทศกาลสงกรานต์และวาระขึ้นปีใหม่ งานออกแบบจะหมุนเวียนไม่ซ้ำกันโดยฝีมือของหมิว ซึ่งเธอแย้มวิธีการทำงานว่า ทุกงานดีไซน์จะตั้งจากความชอบก่อนเสมอ เสริมด้วยเรื่องราวท้องถิ่นและภาพวาดจากดินสอ

“เราอาจมองภาพรวมไม่ชัดเท่าพี่ที่มองในมุมมาร์เก็ตติ้ง เราเชื่อว่างานออกแบบช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ได้ เราประหลาดใจที่มันถูกยอมรับและคนเลือกซื้อมันเพราะงานดีไซน์” หมิวเล่าพลังของงานออกแบบ

เสริมหมวดแพ็กเกจจิ้งอีกนิด ยามต้องส่งของถึงลูกค้า ภายในกล่องจะอัดแน่นด้วยหนังสือพิมพ์เส้นฝอย บ้างก็บับเบิ้ลใส ฯลฯ ทั้งหมดล้วนช่วยลดแรงกระแทก โดยหิวเลือกใช้ใบจากที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีต้นความคิดจากคุณย่าที่แนะให้สองสาวไปหยิบใบจากที่ถูกลอกก่อนกลายเป็นใบยาสูบมาบรรจุลงกล่อง มะเหมี่ยวบอกว่าลูกค้าชอบมาก! แถมเป็นวัสดุราคาศูนย์บาท เพราะชาวบ้านทิ้งส่วนนั้นอยู่แล้ว แต่เธอฟื้นชีพให้มีประโยชน์อีกคร้ัง

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์
หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

ความถนัดของสองศรีพี่น้องดูเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมเหมือนรสของปลาทะเลเคี่ยวซอสรสดี

“เรากับน้องมีประสบการณ์การทำงานข้างนอกไม่เยอะ” พี่สาวออกตัว

“เราไม่มีเลย” น้องสาวเสริมทัพพร้อมรอยยิ้ม

“เรียนจบก็มาทำตรงนี้เลย แพสชันรุนแรงมาก มันดีอย่าง แต่ก็ขาดอย่าง คือประสบการณ์ในการเรียนรู้จากที่ทำงานอื่น เรามีแค่ทฤษฎี ตอนทำจริงจังต้องปรับหน้างานหมดเลย กลายเป็นว่าทุกวันเราต้องลองผิดลองถูก ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียนะ ระหว่างทางเราอาจจะเดินทางช้าหน่อย แต่ก็ดีในแบบของมัน” มะเหมี่ยวเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น

อาหารตาม (ใจ) สั่ง

หิวไม่ได้มีเพียงปลาทูต้มหวานที่ชวนเรียกน้ำย่อยในท้องให้ส่งเสียงดังโครกคราก แต่ยังมีอีก 2 เมนูจากทะเลแดนใต้ที่พวกเธอภูมิใจนำเสนอ กระซิบว่าเป็นเมนูที่ปิ๊งไอเดียจากช่วงวิกฤตโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่พอดิบพอดี

ท้าดา! ขอเสนอ กุ้งโอคักดองและปลาอินทรีย์ดองสาเกซอสญี่ปุ่น แค่ชื่อก็อยากหม่ำ ณ บัดนาว

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

“บ้านเราชอบทำอาหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะพี่ชาย เขาตกปลาเสร็จก็จะเอากลับมาลองทำอาหาร อย่างปลาอินทรีย์ดองสาเก ก็เป็นหนึ่งเมนูที่ทุกคนเห็นว่าอร่อย น่าจะขายได้ แล้วเราชอบที่เป็นปลาท้องถิ่น” หมิวเล่า

“จุดที่น่าสนใจสำหรับเรามันคือปลาอินทรีย์ เป็นปลาท้องถิ่นที่คนยังไม่ได้จับมาทำเมนูพวกนี้ มันเป็นการส่งเมสเสจถึงผู้บริโภคว่า นี่ปลาไทยนะ ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าปลาจากต่างชาติเลยสักนิด” มะเหมี่ยวขยี้ใจความสำคัญ

แม้คาเฟ่ชิกเก๋ในบ้านเกิดจะเสิร์ฟเมนูปลาส้มจากแดนอาทิตย์อุทัย แต่สองสาวยังยืนหยัดชูวัตถุดิบพื้นบ้านจากขุมทรัพย์แห่งท้องทะเลให้นักชิมทั่วประเทศได้ลิ้มคุณค่าที่แท้จริงของวัตถุดิบไทยที่แอบซ่อนผ่านรสชาติ

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์
หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

เราลองชิมไปหลายคำ หรอยจนแสงพุ่งออกปาก เนื้อปลาอินทรีย์แน่นหนึบหนับ หอมกลิ่นสาเก ส่วนกุ้งโอคักตัวเบิ้มกินคู่กับสาหร่ายแผ่นเหยาะน้ำจิ้มซีฟู้ด โอ้ย ใจละลาย! สองสาวว่าทานกับข้าวสวยก็เด็ดไม่แพ้กัน

ความสร้างสรรค์ยังไม่จบ เมื่อเธอและเธอคันไม้คันมืออยากจับทั้งสามเมนูมาแปลงโฉมเป็นอาหารจานเก๋ เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารทะเลแปรรูปโฮมเมด และช่วยเปลี่ยนบรรยากาศการกินให้สนุกและเพลินกว่าเดิม

“พอเราขายผ่านออนไลน์ ถ้าขายแค่โปรดักต์อย่างเดียวมันไม่น่าสนใจ เราเลยอยากเปิดมุมมองให้ลูกค้าเห็นว่าปลาทูต้มหวานทำเมนูอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ซื้อไปแล้วมันจบแค่ฉีกซองหรือเอาไปกินกับข้าว” มะเหมี่ยวอธิบาย

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

แซนด์วิชปลาทูต้มหวาน สลัดโรลปลาทูต้มหวาน มาม่าเกาหลีซอสเผ็ดท็อปด้วยปลาทูต้มหวานสับ กุ้งโอคักดองห่อสาหร่าย ปลาอินทรีย์ดองสาเกราดน้ำยำวาซาบิ และอีกสารพัดเมนูที่พี่สาวน้องสาวและนักทานจากทางบ้านส่งเข้าประกวด ยิ่งทำให้เราเข้าใจความตั้งใจของหิวที่อยากให้ผู้บริโภคเปิดใจและเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออาหาร

กลับบ้านพาปลาทูต้มหวานโกอินเตอร์

หิว ดำเนินกิจการล่วงเข้าปีที่ 4 เจ้าของแบรนด์ยอมรับว่าหิวเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะทุกย่างก้าวของการเดิน สองคนพี่น้องทำเองทั้งหมด ปัจจุบันมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ปลาทูต้มหวานถูกจำหน่ายผ่านร้านค้าสุขภาพ แอปพลิเคชันเดลิเวอรี่อาหาร ช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ และส่งความอร่อยถึงต่างประเทศ

“อนาคตเราอยากส่งออกให้เยอะ เพราะมันเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด ที่จริงหิวมีลูกค้ารับไปขายถึงอเมริกา ออสเตรเลียก็มี เรารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์ มัน On Track นะ สิ่งที่เราทำมาตลอด และเราก็อยากรักษาความเป็นเราให้มากที่สุดด้วย เพราะเคยมีคนบอกให้เราตามเทรนด์

“เรากลับมาถามตัวเองเหมือนกัน คำตอบมันบอกว่าอย่าพยายามฝืนอะไรที่ตัวเองไม่ถนัด อย่าพยายามเหมือนคนอื่น การที่คนอื่นทำแล้วได้ดีเพราะเขาถนัดแบบนั้น เขาก็เป็นตัวเองอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นเราก็จงเป็นเรา”

ในฐานะมะเหมี่ยวและหมิวเป็นคนที่เลือกกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด เราเลยชวนพวกเธอคุยอีกหน่อย

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

มีข้อดีของการเป็นคนกลับบ้านมั้ย คนอยากกลับบ้านโยนคำถาม

“เรามีเวลาเยอะขึ้นกับการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ช่วงนี้เรากำลังลองทำขนมปัง” หมิวชิงตอบก่อน

“เมื่อก่อนเราไม่เคยมองว่าบ้านเราสวยเหมือนที่มันเป็น ไม่เคยซาบซึ้งกับการนั่งดูพระอาทิตย์ตกหลังบ้าน เราพยายามดันตัวเองออกไปหาที่ที่ศิวิไลซ์กว่านี้ แต่การกลับบ้านทำให้เรา Appreciate และเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว”

นอกจาก ‘ความอยาก’ สร้างแบรนด์ จุดประสงค์ในใจของการกลับมาเห็นของดีประจำบ้านคืออะไร

“เรามีแค่ปลาทูต้มหวานธรรมดา แต่เราเล่าเรื่องเพื่อยกระดับสิ่งนี้ได้ เล่าเรื่องให้คนรู้สึกภูมิใจกับวัตถุดิบท้องถิ่น แม้กระทั่งการใช้งานดีไซน์มาจับกับความเป็นไทยหรือของพื้นบ้านด้วยก็ตาม” สาวนักออกแบบเล่า

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตรงกันกับน้องคือ บ้านเราเป็นชนบท และความเป็นชนบทกับเมนูพื้นบ้าน คนไม่ค่อยให้มูลค่า มันน่าสนใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ยิ่งเรามาเจอปลาอินทรีย์ดอง มันทำให้เราเห็นตรงนี้ชัดว่าเราอยากพัฒนาสินค้าจากวัตถุดิบท้องถิ่นบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อให้คนเห็นคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับท้องถิ่น” พี่สาวจบบทสนทนา

หิว Hungry.hc : สองพี่น้องกลับบ้านมาทำแบรนด์ปลาทูต้มหวานจากทะเลชุมพรจนไปไกลถึงอเมริกา, มะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว-โสมประภา อุสายพันธ์

Lesson Learned

หนึ่ง 

“ทุกคนมีของดีอยู่รอบตัว อยู่ที่ว่าจะมองเห็นมันมั้ย Appreciate กับมันมั้ย การพลิกมุมมองหรือหันกลับมามองสิ่งใกล้ตัวจะทำให้เห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่แค่คำว่า ‘แค่’ เหมือนปลาอินทรีย์ ส่วนใหญ่ขายเป็นปลาอินทรีย์แดดเดียว ปลาอินทรีย์หั่นแว่น พอเราเปิดจินตนาการ ปลาอินทรีย์เป็นอย่างอื่นได้อีกเยอะ ฉะนั้นการรับรู้สำคัญมาก”

สอง

“การตลาดบอกว่าเราต้องฟังผู้บริโภคว่าเขาต้องการอะไร เราว่ามันก็ไม่มีถูก ไม่มีผิดหรอก ที่สำคัญเลยเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าฉันอยากขายอะไร ถ้าเรามีความรู้สึกนั้น เราจะมีอินเนอร์และมีแรงในการเล่าเรื่อง”

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล