1 กุมภาพันธ์ 2020
24 K

..เวลาสโนว์จะละลายมีอยู่สามเดือน คือยูไล, ออคัสต์, เซปเต็มเบอร์, จำเดิมตั้งแต่เดือนออกโตเบอร์ไปสโนว์ก็ตกทวีขึ้น ปกคลุมที่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งขาวแข็งไม่ไหลมีแต่จะทวีมากขึ้น สิ้นเวลาเก้าเดือน น้ำที่ขังอยู่บนแผ่นดินโดยลำดับเช่นนั้นจะมากน้อยเท่าใด ไหลทลายลงมาในเวลาเดียวในระหว่างสามเดือนนี้ จะไม่มีแรงมากอย่างไร เพราะเหตุฉะนั้นจึงทลายศิลาฝั่งฝาเป็นจุณวิจุณไป ที่ว่านี้ว่าตามเวลาที่น้ำละลาย แต่ใช่ว่าสโนว์จะละลายหมดไม่มีเหลืออยู่เลยนั้นก็หาไม่ บางแห่งสโนว์อยู่เป็นนิรันดร เวลาร้อนก็เป็นน้ำไหลลงมาเป็นน้ำพุน้ำตก เวลาหนาวมีหมอกมีควันมีฝน ก็มาแข็งเกรอะกรังอยู่ต่อไปอีก เพราะฉะนั้นน้ำตกที่ไหลพร่าๆ อยู่รอบฟยอร์ดทั้งปวง ไม่มีเวลาที่สุด ไม่มีเวลาน้ำตกแห้งไปได้ เป็นเครื่องที่จะให้เห็นชัดว่า กำลังน้ำมีแรงอย่างยิ่งซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แต่พื้นดินจนภูเขาก็เปลี่ยนได้…

hundred years between

ภาพ : รูปทรงถ่าย เดือนหนึ่งในนอร์เวย์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 29 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวที่ทรงทราบและสิ่งต่างๆ ที่ได้ทอดพระเนตรแต่ละวัน พร้อมด้วยพระราชวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ พระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ขณะเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 และกลายมาเป็นพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน

ร้อยกว่าปีต่อมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน มีโอกาสเดินทางตามรอยเสด็จประพาสที่นอร์เวย์ และเขียนจดหมาย 4 ฉบับ ถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีข้อความบางส่วนว่า

…ภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของนอร์เวย์นั้นน่าเกรงขามยิ่ง บรรยากาศเปี่ยมมนต์ขลังเช่นนี้ ดูราวกับว่าแม่พระธรณีอาจเผยให้เห็นความงดงามหรือความโหดร้ายของธรรมชาติก็ได้ทั้งสองอย่าง แต่ครั้นธรรมชาติแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ เราจึงได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ แก่นสารนี้เองที่เชื่อมโยงระหว่างข้าพระพุทธเจ้าและใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ที่นอร์เวย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกราวกับตัวหดเหลือนิดเดียวเมื่ออยู่ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าช่างมีพลังอำนาจล้นเหลือ จนต้องยอมน้อมรับโดยดุษฎี

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้จดหมายและภาพถ่ายเหล่านี้ เพื่อตามหาสายสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่ได้รับจากเดินทางของข้าพระพุทธเจ้าและการเสด็จประพาสของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในราชอาณาจักรที่แสนห่างไกลดินแดนมาตุภูมิ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มุ่งหมายจะทำการนี้ในฐานะนักประวัติศาสตร์หรือช่างภาพ แต่ในฐานะผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์จักรี หน่อเนื้อเชื้อไขในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท…

hundred years between

ภาพ : ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวในนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-นอร์เวย์ พ.ศ. 2563 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ The Cloud สนับสนุนโดย DTAC และ U City จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่โรงภาษีร้อยชักสาม ในเทศกาล Bangkok Design Week 2020

ก่อนจะไปชมงาน เราอยากบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งอยู่เบื้องหลังการเดินทางและนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ในช่วงที่ท่านผู้หญิงฯ กำลังทำโครงการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชอาคันตุกะจากทวีปเอเชียพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนนอร์เวย์หลังการประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2448 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาทางเหนือจนถึงนอร์ดแคปป์เพื่อทอดพระเนตรพระอาทิตย์เที่ยงคืน และทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้บนหินที่หน้าผานอร์ดแคปป์ เวลาล่วงไปหลายสิบปี มีชาวนอร์เวย์ค้นพบหินก้อนนี้และศึกษาจนทราบที่มา ทางรัฐบาลนอร์เวย์และไทยจึงร่วมกันจัดทำพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ เมื่อ พ.ศ. 2532 ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานไทยแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศไทย

hundred years between

ภาพ : รูปทรงถ่าย เดือนหนึ่งในนอร์เวย์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการมาครบ 30 ปี กระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากรจึงร่วมกันปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ และเรียนเชิญท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

เรื่องราวหลักในพิพิธภัณฑ์ คือนิทรรศการภาพถ่าย ‘เดือนหนึ่งในนอร์เวย์’ (One Month in Norway) ช่วงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสนอร์เวย์ พระองค์ประทับในนอร์เวย์นานถึง 28 วัน ตลอดเส้นทางเสด็จประพาส พระองค์ได้ทรงบันทึกภาพสถานที่ ภูมิประเทศ ผู้คน และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทรงประสบ ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมภาพถ่ายจากการเสด็จประพาสนอร์เวย์เพื่อจัดทำเป็นอัลบั้มภาพ และพิมพ์ชื่อบนปกว่า ‘รูปทรงถ่าย เดือนหนึ่งในนอรเวย์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๖’

เริ่มแรกทางสถานเอกอัครราชทูตอยากเรียนเชิญท่านผู้หญิงสิริกิติยาและ The Cloud มาถ่ายทอดเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อทีมงานได้รับฟังเรื่องราวการเสด็จประพาสนอร์เวย์ของรัชกาลที่ 5 ก็เห็นพ้องว่าน่าเชิญท่านผู้หญิงฯ ใช้เวลา 1 สัปดาห์เดินทางตามรอยรัชกาลที่ 5 พบปะพูดคุยกับชาวนอร์เวย์ เพื่อหาคำตอบว่าการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นมีความหมายกับชาวนอร์เวย์และประเทศนอร์เวย์อย่างไร

hundred years between
hundred years between

จึงเกิดเป็น One Week in Norway วิดีโอซีรีส์ 4 ตอน เริ่มเผยแพร่ตอนแรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทาง The Cloud ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในมุมของ The Cloud

ส่วนท่านผู้หญิงสิริกิติยาก็มีเรื่องที่ท่านอยากเล่าผ่านภาพถ่าย ซึ่งก็คือนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ครั้งนี้

อัลบั้มภาพทรงถ่าย

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 คุณมธุรวีร์ วิสุทธกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เชิญท่านผู้หญิงสิริกิติยาและทีม The Cloud ไปชมอัลบั้มภาพ ‘รูปทรงถ่าย เดือนหนึ่งในนอร์เวย์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๖’ เล่มจริงที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พอทราบว่าพวกเราจะได้เดินทางไปตามสถานที่ในภาพ รวมถึงยังได้ใช้บริการบริษัททัวร์บริษัทเดียวกับที่จัดให้รัชกาลที่ 5 เมื่อ 113 ปีก่อน ท่านผู้หญิงก็เกิดความคิดว่า การเดินทางครั้งนี้น่าจะเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายด้วย

hundred years between

“ช่วงที่ทำงานวังหน้าเรากำลังอินกับภาพถ่าย” ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเล่าถึงที่มาของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย “เราอยากให้ภาพถ่ายสะท้อนความเชื่อของเราที่ว่าประวัติศาสตร์ประกอบด้วยมุมมองของคนในหลายมิติเวลา ภาพจากกล้องดิจิทัลสมบูรณ์แบบเกินไป พอเราเห็นภาพของ บีม (ภากร มุสิกบุญเลิศ) ในงานวังหน้าฯ ที่ถ่ายด้วยกล้อง Hasselblad ซึ่งเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมต เรารู้สึกว่ามันมีมิติเวลาอยู่ในรูป มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าที่ตาเห็น”

hundred years between

“การเล่าเรื่องผ่านอัลบั้มภาพถ่ายของรัชกาลที่ห้าเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แล้วภาพถ่ายก็มีพื้นที่และความยืดหยุ่นที่จะเอาอารมณ์ของหลายๆ คนเข้าไปได้ และถึงแม้ว่าเรากับรัชกาลที่ห้าจะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ก็ห่างกันด้วยเวลาและสถานที่ เราพยายามหาความเชื่อมโยงจนพบว่าเราชอบเดินทาง เป็นนักผจญภัย และชอบถ่ายรูปเหมือนกัน ก็เลยเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ลองถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม”

สะสมข้อมูล

“สามสี่ปีที่ผ่านมาเราทำแต่เรื่องเกี่ยวกับรัชกาลที่สี่ ไม่เคยทำเกี่ยวกับรัชกาลที่ห้าเลย ก็กังวลเหมือนกัน แต่ถ้ามัวแต่กังวลตลอดเวลา งานก็จะไม่ออกมาสมบูรณ์ เราเลยไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ห้า เพื่อสะสมข้อมูลแล้วหาทางเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน ก่อนออกเดินทางก็ยังกังวล เพราะยังไม่เห็นภาพชัดว่าจะเล่าเรื่องอะไร ตอนที่เพิ่งไปถึงนอร์เวย์ก็รู้สึกว่ามีเรื่องราวเยอะแยะไปหมด เรื่องความรู้สึกของรัชกาลที่ห้า เรื่องของคนที่อยู่รอบท่าน ข้อมูลประวัติศาสตร์

hundred years between
hundred years between

“เราทำงานอย่างตั้งใจ ไม่ได้อยากถ่ายรูปสวยๆ แล้วเอามาแสดง แต่อยากเล่าเรื่อง สะสมเรื่องเพิ่มขึ้นทุกวัน เราหวังว่าจะพบสิ่งที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทำให้เรื่องนี้ครบสมบูรณ์ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร บางครั้งในการทำงานก็ไม่ควรมีคำตอบสำเร็จรูป เพราะมันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้

“สุดท้ายเราก็เชื่อมโยงได้หลังจากได้คุยกับฮันส์ เพื่อนใหม่ชาวนอร์เวย์ เราถามเขาว่าการอยู่ที่นอร์ดแคปป์ยากไหม เพราะสภาพอากาศโหดร้ายมาก เขาบอกว่าธรรมชาติมีความโหด แต่ก็มีความงามในตัวเอง มีสองมิติในเรื่องเดียวกัน แล้วเขาก็พาไปหมู่บ้านชาวประมงที่เกาะเล็กๆ เขาบอกว่าตอนเด็กๆ หลังจากฤดูหนาวผ่านไป หน้าร้อนเขาจะมาเก็บลูกคลาวด์เบอร์รี่ที่นี่ มันเป็นการคิดบวก ธรรมชาติมีฤดูหนาวที่ยาวนาน แต่ก็มีหน้าร้อนที่มีลูกเบอรี่ให้กิน เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน”

hundred years between
hundred years between

แนวคิดของภาพถ่าย

“ในที่สุดเราก็พบว่า การเสด็จประพาสนอร์เวย์ของรัชกาลที่ห้ามีหลายวัตถุประสงค์ แล้วก็ยังมีอีกมิติที่เราอยากให้คนเข้าใจก็คือ ความรู้สึกส่วนพระองค์ ท่านเป็นกษัตริย์ เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ท่านก็เป็นมนุษย์ เราอยากให้ทุกคนเห็นมุมนี้ของท่าน เราอยู่ในยุคที่อยู่ห่างรัชกาลที่ห้าร้อยกว่าปี เป็นญาติที่ไม่เคยพบกัน แต่เราพยายามเชื่อมโยง เราจะทำให้ท่านเห็นเราในมุมของมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไร และทำให้เราเห็นท่านในมุมของมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไร แล้วเราก็พบว่า สิ่งที่ท่านสนใจกับสิ่งที่เราสนใจคือสิ่งเดียวกัน

“ถ้าดูจากจดหมายของท่าน จะพบว่าท่านมองว่าธรรมชาติมีความสวยงามและความโหดร้าย เป็นสองมิติในเรื่องเดียวกัน แล้วท่านก็สนใจว่าคนนอร์เวย์อยู่กับธรรมชาติด้วยความเคารพและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไร ธรรมชาติไม่ได้อยู่เหนือเรา แต่อยู่ก่อนเราและอยู่หลังเรา เมื่อเราตายไปแล้วธรรมชาติก็ยังมีอยู่ต่อไป ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วยกันอย่างเคารพ ท่านสนพระทัยเรื่องนี้อย่างยิ่ง”

hundred years between
hundred years between

มองสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

“ตอนแรกเราไม่ได้กังวลเรื่องรูปถ่ายเท่าไหร่ เพราะไม่รู้ว่าจะเอามาจัดนิทรรศการ (หัวเราะ) เราบอก The Cloud ว่า เราไม่ได้เป็นช่างภาพนะ ทริปนอร์เวย์เพิ่งเป็นครั้งที่สามที่เราถ่ายกล้องฟิล์ม เรากลัวคนจะคิดว่าเราเป็นช่างภาพ ถ่ายภาพเก่ง แต่กังวลไปสองสามชั่วโมงก็ไม่กังวลแล้ว ช่างมัน ทำไมเราต้องทำงานด้วยความกลัวว่าคนอื่นจะคิดอะไร เราจะเป็นศิลปินจริงหรือไม่จริงก็เป็นเรื่องของเรา (หัวเราะ) ไม่ต้องให้ใครมาบอก เราแค่อยากแสดงความรู้สึกของเราผ่านภาพถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเขาไม่ชอบก็เป็นเรื่องของเขา เราตั้งใจทำงานของเราดีกว่า

“คนที่ดูรูปของเราบอกว่า สไตล์ภาพของเราชัดมาก คือเราไม่ชอบถ่ายสิ่งที่คนอื่นถ่าย เราชอบให้คนมองเห็นสิ่งที่มองข้าม เห็นว่าแต่ละคนมีมุมมองว่าสวยไม่สวยต่างกัน ในโลกไม่มีอะไรที่เป็นมิติเดียว อย่างตอนเข้าไปในป่าที่ออสโลซึ่งมีธรรมชาติอยู่รอบตัว บางคนอาจจะถ่ายดอกไม้ข้างหลัง แต่เราอาจจะถ่ายกิ่งก้านต้นไม้ที่อยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นจุดที่คนมองข้าม”

hundred years between
hundred years between

ปัญหากล้องฟิล์ม

“กล้อง Hasselblad ใช้ยากหน่อย เวลาถ่ายหมดม้วนต้องหมุนฟิล์มกลับมาให้หมด บางทีเราก็เผลอเปิดกล้องโดยลืมไปว่าในกล้องยังมีฟิล์ม ก็กังวลว่าแสงที่เข้าไปจะทำให้ฟิล์มเสียทั้งม้วนไหม ปรากฏว่าโชคดีไม่เสีย หรือตอนใช้กล้อง Nikon ก็มีปัญหาหมุนฟิล์มจนได้ยินเสียงคลิก เรานึกว่ามันสุดแล้ว แต่ยังไม่สุด พอเปิดออกมาฟิล์มที่โดนแสงก็เสีย เราใช้ฟิล์มหนึ่งสามห้าไปสามสี่ม้วน แล้วใช้ฟิล์มหนึ่งสองศูนย์ร้อยไปสี่ห้าม้วน

“กลับมาเมืองไทยระหว่างรอล้างรูปก็กลัว นอนไม่หลับเลย ไม่รู้ว่ารูปจะออกมาดีไหม ถ้าออกมาไม่ดีแล้ว The Cloud จะทำยังไง (หัวเราะ) แต่โดยรวมก็ออกมาค่อนข้างพอใจ”

hundred years between
hundred years between

โรงภาษีร้อยชักสาม อาคารในสมัยรัชกาลที่ 5

hundred years between

“ภัณฑารักษ์ที่ทำงานสายพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ชอบทำงานในห้องขาว เพราะเรื่องราวของสิ่งที่จัดแสดงจะได้ไม่ตีกับเรื่องราวของห้อง ถ้าเป็นห้องเก่าก็ยิ่งมีเรื่องราวมีจิตวิญญาณของห้องที่ยิ่งแรง ตอนทำงานวังหน้าเลยยากมาก แต่เราก็ยังชอบทำงานในตึกเก่า ชอบทำให้สถานที่นั้นกลับมามีชีวิต มีคนเข้าไปใช้งาน เชื่อมโยงสถานที่ในอดีตกับคนในปัจจุบัน ทำให้เรื่องราวมีมิติขึ้นไปอีก

hundred years between

“ภาพถ่ายของเราพูดถึงแนวคิดของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ เราก็อยากแสดงในอาคารเก่าที่สร้างในยุครัชกาลที่ห้า เราเลือกโรงภาษีร้อยชักสาม (ศุลกสถาน) ก็เพราะตอนที่เรากลับมาเมืองไทยเมื่อสี่ปีที่แล้ว เรามาเดินเล่นแถวนี้ ก็มาถ่ายรูปตึกนี้เหมือนทุกคน แล้วก็สงสัยว่าข้างในเป็นอะไร ทำไมถึงร้างแบบนี้ อยากเข้าไปดู พอดีว่าตอนนี้บริษัท U City ผู้ได้รับสิทธิ์พัฒนาตึกกำลังจะปิดอาคารเพื่อบูรณะหกปีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เลยอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่คนทั่วไปจะได้เข้าไปเห็นความสวยงามของตึกแบบเดิมก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบไป

hundred years between
hundred years between
hundred years between

“เราพยายามทำให้เรื่องราวของภาพถ่ายเชื่อมโยงไปกับตึก เวลาถ่ายภาพตึกนี้ออกมาสีจะอมเขียว เราเลยพยายามปรับภาพที่จะแสดงให้เป็นคูลโทนเพื่อให้เข้ากับตึก คนที่เข้ามาดูจะรู้สึกสงบ และรู้สึกว่าเรื่องราวของภาพกับอาคารมีความเชื่อมโยงกัน”

ภาพถ่ายที่ต่างกันไปในแต่ละชั้น

“เราแสดงภาพถ่ายภายในอาคารสามชั้น ชั้นล่างเป็นรูปที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เป็นภาพที่เกี่ยวกับความรู้สึก ดูแล้วรู้สึกว่าอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เหมือนได้ไปเดินทางในนอร์เวย์ด้วยกันแบบที่รัชกาลที่ห้าและเราได้ไป

hundred years between

“ชั้นสอง แสดงภาพที่มีความเป็นเราเยอะ เป็นเรื่องราวและความทรงจำของเราที่สะสมอยู่ในสิ่งก่อสร้างและธรรมชาติ

hundred years between

“ชั้นสาม เป็นเรื่องของฮันส์และนอร์ดแคปป์ เราไปนอร์เวย์เพื่อไปนอร์ดแคปป์ สุดท้ายก็กลับไปจบที่จุดเริ่มต้น เป็นภาพของฮันส์ที่นอร์ดแคปป์ และเล่าเรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้”

hundred years between

รูปที่รัชกาลที่ 5 ทรงถ่าย

ที่ชั้นสามของอาคารมีห้องบอลรูมที่ใหญ่และสวย เหมาะกับการแสดงรูปปิดเรื่อง เราเลือกภาพถ่ายของรัชกาลที่ห้าซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปของเรามายี่สิบกว่ารูปแล้วฉายผ่านโปรเจกเตอร์ เพื่อให้เห็นว่าเรื่องราวของพระองค์ท่านกับเราเชื่อมกัน”

hundred years between

จดหมายถึงรัชกาลที่ห้า

“ความคิดแรกสุดเราจะเอาจดหมายของรัชกาลที่ห้าเข้าไปแสดงในงานตรงๆ ให้คนอ่าน แต่ถ้าทำแบบนั้นดูเหมือนเราขี้เกียจไปหน่อย (หัวเราะ) แนวคิดของงานนี้เราเล่าถึงความรู้สึกของคนสองคนที่อยู่ห่างกันร้อยกว่าปี ซึ่งได้เข้าไปในสถานที่เดียวกัน ถ่ายรูปจุดเดียวกัน ถ้ามีแต่จดหมายของรัชกาลที่ห้าก็น่าจะผิด เพราะเป็นแค่เรื่องเดียว

“เราอยากให้คนที่ดูงานเข้าใจง่ายขึ้น เลยเขียนเนื้อหาในรูปแบบจดหมายส่วนตัวเขียนถึงญาติที่อยู่ในอดีต ซึ่งทุกคนเข้าใจได้หมดเพราะทุกคนก็มียายมีตา เข้าถึงได้และมีอารมณ์ร่วม เราจึงเขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ห้า เพื่อสะท้อนถึงเนื้อหาในจดหมายของท่าน เราเขียนถึงการผจญภัยของท่านและของเราซึ่งขนานกัน ทำให้คนเห็นว่า เราอยู่คนละยุค แต่ทุกคนในทุกยุคก็เชื่อมกันหมด เป็นจดหมายที่มีเนื้อหาคู่ขนานกับจดหมายของรัชกาลที่ห้า แต่สถานการณ์และบรรยากาศไม่เหมือนกัน”

hundred years between

เนื้อความในจดหมายถึงรัชกาลที่ห้าส่วนหนึ่งเป็นเช่นนี้

“…ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงประสบสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจเช่นนี้คล้ายกับที่ข้าพระพุทธเจ้าพบ แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะในพระราชหัตถเลขา ทรงบันทึกถึงความทรหดอดทนและยืดหยุ่นของชาวนอร์เวย์ไว้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอันเปี่ยมความหมายร่วมกับแม่พระธรณีอย่างไร ก่อนถึงแหลมเหนือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงแวะที่เกาะต๊อร์คแฮตเตน และตรัสถามหญิงชาวท้องถิ่นด้วยคำถามที่เกือบจะเป็นคำถามเดียวกับที่ข้าพระพุทธเจ้าเอ่ยถามฮันส์ หญิงผู้นั้นทูลตอบว่า ‘1บรรดาเกาะเหล่านี้ไม่มีที่ไหนสู้ เพราะมีหญ้าบริบูรณ์กว่าที่อื่น เลี้ยงวัวได้ถึง ๖ ตัว สารพัดนมเนยอะไรใน ๖ ตัวนั้น พอเลี้ยงกัน’

“ข้าพระพุทธเจ้านึกสงสัยว่า ความคิดเช่นนี้หยั่งรากฝังลึกในจิตวิญญาณไวกิ้งของชาวนอร์เวย์หรือไร เพราะพวกเขาเชื่อในความเชื่อมโยงระหว่างทวยเทพและธรรมชาติ เมื่อฟ้าคำราม สำหรับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและข้าพระพุทธเจ้า นั่นก็เป็นเพียงเสียงฟ้าร้องฟ้าลั่นตามธรรมชาติ แต่สำหรับชาวไวกิ้งในอดีต เมื่อท้องฟ้าแผดเสียงกึกก้องกัมปนาท พวกเขาจะบอกว่า เทพเจ้าธอร์กำลังเกรี้ยวกราดฟาดค้อนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์…”

ออกแบบนิทรรศการให้คนมีความรู้สึกร่วม

“ถ้าเราถ่ายรูปสวยๆ แล้วเอารูปไปติดอย่างเดียวให้คนเข้าไปดู งานจบคนกลับบ้านก็จบ แต่เราต้องการให้คนดูเข้าใจจริงๆ ว่ารัชกาลที่ห้าเสด็จไปนอร์เวย์เพราะอะไร ท่านได้แลกเปลี่ยนอะไรในพื้นที่นั้น ท่านสร้างความประทับใจให้คนนอร์เวย์อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์สำคัญเพราะอะไร ถ้าทำแบบนี้งานของเราจะไม่จบในหนึ่งสัปดาห์ แต่จะกระตุ้นให้คนดูไปหาข้อมูลเพิ่ม คิดต่อว่าทุกอย่างที่ท่านทำไปมีเหตุผลอย่างไร

hundred years between

“เราอยากให้คนมองว่าท่านในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกส่วนพระองค์ ถ้าเล่าแบบนี้เด็กในยุคนี้ซึ่งอยู่ห่างจากท่านหนึ่งร้อยสิบสามปีก็จะเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่ท่านทำก็จะถูกถ่ายทอดต่อเนื่องไป นี่คือวิธีคิดและวิธีทำงานของเรา

hundred years between

“เรามีเรื่องที่อยากเล่าทั้งหมดอยู่ในหัว ต่อมาก็ต้องออกแบบบรรยากาศเพื่อให้เรื่องนั้นครบสมบูรณ์ คุณทิพย์ (ใจทิพย์ ใจดี-ผู้กำกับศิลป์และออกแบบนิทรรศการ) ช่วยทำให้สิ่งที่อยู่ในหัวเรามีชีวิต เธอออกแบบนิทรรศการให้ภาพเล่าเรื่องได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ชมก็ยังได้เห็นเรื่องราวของอาคาร

นิทรรศการที่มีแสงเปลี่ยนไปตลอดทั้งวัน

“เราคุยกับแอน (กนกพร นุชแสง-นักออกแบบแสงสว่าง) ว่าอยากให้เข้ามาในงานแล้วรู้สึกว่างานอยู่รอบตัว ทำให้ขนลุก พอขึ้นไปชั้นที่สูงขึ้น บรรยากาศที่เล่นกับความรู้สึกคนก็เบาบางลง แต่ก็ต้องไม่มืดจนมองไม่เห็นรายละเอียดของอาคาร งานนี้จึงมีทั้งออกแบบไฟเพื่อส่องภาพ และสร้างบรรยากาศในอาคาร ถ้ามาในช่วงกลางวันก็จะรู้สึกแบบหนึ่ง แต่ถ้ามาช่วงกลางคืนจะรู้สึกเหมือนเป็นอีกงานหนึ่งเลย”

hundred years between
hundred years between
hundred years between
hundred years between

115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-นอร์เวย์

“หลายคนไม่รู้ว่าไทยกับนอร์เวย์มีความสัมพันธ์กันถึงขนาดนี้ เราอยากให้คนเข้าใจว่าความสัมพันธ์กับนอร์เวย์ส่งผลกับเราตั้งแต่แรกถึงตอนนี้ อย่างบริษัทผลิตปุ๋ยยารา เราไม่เคยรู้เลยว่ารัชกาลที่ห้าคือลูกค้าต่างชาติคนแรกของบริษัท ท่านซื้อปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นของใหม่มากในยุคนั้นแล้วส่งกลับมาที่ไทย จากนั้นยาราก็เข้ามาขายในประเทศไทย dtac ก็ใช่

hundred years between

“รัชกาลที่ห้าไปนอร์เวย์ในช่วงเวลาพิเศษ คือนอร์เวย์เพิ่งได้เอกราชสองปี เราไม่รู้เลยว่าคนนอร์เวย์ให้ความเคารพรัชกาลที่ห้าค่อนข้างมาก ถ้าไปพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในนอร์เวย์จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับรัชกาลที่ห้าและประวัติศาสตร์ไทย พิพิธภัณฑ์และอนุสาวรีย์รัชกาลที่ห้าหลายแห่งคนนอร์เวย์ก็ทำกันเอง เพราะเขาศึกษาประวัติศาสตร์แล้วเจอว่ารัชกาลที่ห้าเสด็จไปเยือนจุดนี้ เขาคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษมาก พวกเขาไม่ได้คิดว่าประวัติศาสตร์ไทยเป็นสิ่งที่แยกจากประวัติศาสตร์นอร์เวย์ แต่เป็นสิ่งที่เชื่อมกันมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน ประวัติศาสตร์ของเขาก็เป็นประวัติศาสตร์ของเราในอีกมิติหนึ่ง

“เราอยากให้คนเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ว่าทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมด เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะตัวเราคนเดียว แต่เป็นเพราะหลายๆ ฝ่าย ประวัติศาสตร์ของทุกคนจึงสำคัญและเชื่อมถึงกันเป็นก้อนเดียว”

hundred years between

รายละเอียดการเข้าชม

นิทรรศการจัดแสดงวันที่ 1 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 11.00 – 20.30 น. และ วันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 11.00 – 21.30 น. ที่โรงภาษีร้อยชักสาม ซอยเจริญกรุง 36

เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยในการเข้าชมนิทรรศการ ผู้จัดงานจึงเปิดรับผู้ชมรอบละ 20 ท่าน และให้เวลาชมรอบละ 30 นาที ถ้าไม่อยากมาต่อคิวหน้างาน ก็จองคิวล่วงหน้าได้ที่ www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between แล้วมารับสัญลักษณ์เข้าชมงานที่หน้าอาคารก่อนเวลาเข้าชม 15 นาที หากไม่มารับบัตรคิวภายในเวลาที่กำหนด ขอสงวนสิทธิ์ให้คิวต่อไปชมก่อน

สำหรับท่านที่ไม่ลงทะเบียนล่วงหน้า ลงทะเบียนหน้างานได้

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographers

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล