ธงบอกสภาพอากาศ หน้าผาจำลองขนาดจิ๋ว กล่องรองเท้าติดป้ายชื่อ เครื่องเล่นฝึกประสาทสัมผัส ผักสวนครัวรอบสนาม สติกเกอร์รอยเท้าสัตว์บนทางเดิน ชุดนักเรียนที่ออกแบบให้ส่งเสริมพัฒนาการ ไปจนสมุดพกที่ไม่ได้รายงานว่าวันนี้เรียนอะไร แต่เขียนถึงสุขภาพใจกายของเด็ก

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของโรงเรียนอนุบาลนานาชาติ Hummingbird (Hummingbird International Kindergarten : HBIS) ที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการเด็กเป็นที่สุด โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบอังกฤษ หรือ Early Years Foundation Stage (EYFS) เน้นเรื่องการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-based Learning) และพัฒนาผ่านการเล่น สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 18 เดือนจนถึง 5 ขวบ หรือระดับ Pre-school

แต่สิ่งที่ทำให้โรงเรียนนี้แตกต่างคือ การนำแนวคิดและเทคนิควินัยเชิงบวกมาใช้เพื่อฝึก EF หรือ Executive Functions ทักษะสมองส่วนหน้าที่ควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ มาปรับใช้เพื่อจัดการพฤติกรรมของเด็กอย่างสร้างสรรค์

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

Hummingbird มองว่าโรงเรียนกับผู้ปกครองเหมือนคู่แต่งงานที่ต้องสื่อสาร เอาใจใส่ และร่วมมือกัน ในการสร้างพัฒนาการของเด็กตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเหตุผลที่ครูหมั่นคุยกับผู้ปกครองทุกเช้า-เย็น เอกสารหรือโพสต์บนเฟสบุ๊กของโรงเรียนมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมีการจัดเวิร์กชอปให้ความรู้ โดยต้อนรับผู้ใหญ่ทุกคนในครอบครัวที่มีส่วนช่วยดูแลเด็กๆ

โรงเรียนนี้ทำให้ใครที่มีลูกเล็กอยากส่งลูกไปเรียน ใครที่ยังไม่มีลูกก็น่าจะอยากมี เราขอพาผู้อ่านไปฟังเรื่องราวจากปากผู้ก่อตั้งทั้งสาม ว่าอะไรทำให้คนที่ไม่มีแบกกราวด์ทางด้านการศึกษา ลุกขึ้นมาสร้างโรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่มีเป้าหมายใหญ่ คือสร้างเด็กๆ ให้พร้อมเติบโตไปเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen)

ชื่อโรงเรียนมาจากนก Hummingbird ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่กลับปราดเปรียวและสามารถบินถอยหลังได้ เปรียบเสมือนเด็กเล็กที่แม้จะตัวเล็ก ก็มีความสามารถซ่อนอยู่ข้างใน

ถ้าพร้อมแล้วเดินตามรอยเท้าสัตว์ เข้าห้องเรียนกันเลย

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก
Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

Lesson 1 : Start from Scratch

โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ Hummingbird เกิดจากเพื่อน 3 คน

เก-เกศินี วัฒนะวีระชัย สถาปนิกและภูมิสถาปนิกผู้มีประสบการณ์การทำงานในเมลเบิร์น เคยมีประสบการณ์ทางด้านการออกแบบ Educational Institution โดยเฉพาะ Early Learning Centre และ Primary School เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเด็ก ซึ่งยังไม่มีให้เห็นในเมืองไทยมาก 

โบ-อารยา ทองใบ ทายาทธุรกิจโรงแรมผู้รักการบริการและเชื่อเรื่องการพัฒนาคน เธอเจอเหตุการณ์หนึ่งสมัยเรียนต่างประเทศ อาจารย์เปิดให้ถามคำถามแล้วไม่มีนักศึกษาเอเชียคนไหนถามเลย จึงกลับมาตั้งคำถามกับการศึกษาบ้านเรามากขึ้น 

ชิน-ทศพล ชัยชนะวิชชกิจ คุณพ่อลูกสามที่ยอมรับว่าตัวเองคือแพตเทิร์นเด็กไทยแท้ๆ เลือกเรียนตามที่ผู้ใหญ่เห็นชอบ จนกระทั่งได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วเกิดคำถามกับระบบการศึกษาของบ้านเรา

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

“เราเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้เสมอ” โบเล่า “อย่างครอบครัวเราทำธุรกิจโรงแรม เป็นเรื่องปกติที่พนักงานอยู่กับเราแล้วเดี๋ยวก็ไป แต่สุดท้ายถ้าเราฝึกเขาได้ดี เขาก็จะไปพัฒนาที่อื่นต่อ เช่นเดียวกันกับเด็ก ถ้าเราสร้างให้เขาดี ประเทศเราก็จะดี อาจดูเป็นเป้าที่ใหญ่มากสำหรับโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ แต่มันคือจุดเริ่มต้น”

โรงเรียนไทยแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ระบบ คือ ระบบวิชาการไทย โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนทางเลือก ชินเลือกโรงเรียนอินเตอร์ให้ลูกคนโต เพราะเห็นถึงความสำคัญของหลักสูตรและโอกาสของลูกจากทักษะการใช้ภาษา แต่ก็พบว่าลูกยังขาดทักษะบางอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งเขาเชื่อว่าประสบการณ์คือสิ่งที่ยิ่งมีเยอะ เราจะยิ่งตัดสินใจทำอะไรได้ง่ายขึ้น จนได้มาเจอกับทักษะ EF และวินัยเชิงบวก จุดเริ่มต้นของ Hummingbird ที่ได้เปลี่ยนความคิดพวกเขาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กไปตลอดกาล 

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

Lesson 2 : EF + Positive Discipline

“เราอยากพัฒนาประเทศ โดยการหยิบจับเรื่องเด็กและครอบครัวขึ้นมา ตอนที่จะทำ มีคนถามเราเยอะว่า ‘โรงเรียนมีเยอะแล้ว ทำไมต้องทำอีก’ ผมตอบว่า โรงเรียนมีเยอะแล้ว เพิ่มโรงเรียนดีๆ อีกสักที่ไม่ดีเหรอ เราทำเรื่องที่ดี ไม่เห็นต้องไปคิดว่ามันมีเยอะหรือไม่เยอะ” ชินเล่าให้ฟัง

แม้จะมีเกที่เคยทำงานออกแบบโรงเรียนและสถานศึกษาที่เมืองนอกมาก่อน แต่ทั้งสามคนไม่เคยทำโรงเรียนมาก่อน พวกเขาใช้วิธีเข้าไปขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง ครูใหม่-ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร, ครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร, คุณติ่ง-สุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหารสถาบันรักลูกกรุ๊ป (RLG) และ ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) จนเห็นภาพว่าอยากให้ Hummingbird เป็นโรงเรียนแบบไหน 

ทักษะ EF และวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) คือสิ่งที่ผู้ก่อตั้งเลือกมาใช้ประกอบกับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบอังกฤษ (EYFS) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

EF หรือ Executive Functions คือการฝึกทักษะสมองส่วนหน้า โดยสมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนสัญชาตญาณที่เราใช้หายใจ กะพริบตา รวมถึงกระบวนอัตโนมัติต่างๆ ของร่างกาย และจะโตเต็มที่ตั้งแต่แรกเกิด

ส่วนที่สองคืออารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น การที่เราเจอใครแล้วรู้สึกไม่ถูกชะตาโดยไม่มีเหตุผล เติบโต 80 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่แรกเกิด และสุดท้าย สมองส่วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า EF คือความอดทน รอคอย คิด วิเคราะห์ สมองส่วนนี้โตเต็มที่ตอนอายุ 25 ปี

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก
Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

“EF จะทำงานเมื่ออีกสองส่วนปิด ถ้าตอนนั้นกลัวอยู่ หิวอยู่ ง่วงอยู่ งอแงอยู่ สมองส่วนนี้จะไม่ทำงาน ไม่มีสติ ไม่ใช้เหตุผล สมองส่วนนี้ทำให้เราเป็นมนุษย์และแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ซึ่งกว่าเด็กจะเปลี่ยนจากการใช้อารมณ์มาเป็น EF ได้ต้องใช้เวลา”

ส่วนวินัยเชิงบวก คือ การจัดการพฤติกรรมของเด็กอย่างสร้างสรรค์ เช่น ถ้าลูกวิ่งการบอกว่า ‘หยุด อย่าวิ่ง’ คือวินัยเชิงลบ เพราะเป็นการออกคำสั่งให้ทำโดยไม่อธิบายเหตุผลและไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกคิด ที่นี่ใช้วินัยเชิงบวกโดยบอกสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ เช่น เดินนะคะ หรือ ถ้ามีโอกาสก็สอนเด็กให้คิดตามได้ว่าวิ่งแล้วอันตราย ถ้าล้มแล้วจะเจ็บตัว

การใช้คำพูดที่เปิดโอกาสให้เด็กคิด รู้จักรับผิดชอบตัวเองจะค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ โดยเริ่มจากดูแลตัวเองไปถึงการดูแลคนอื่น

“สมมติถามว่า ถ้าไม่มีตำรวจแล้ว เราจะขับฝ่าไฟแดงไหม คำตอบในใจของแต่ละคนไม่เหมือนกันแต่ถ้าถามเด็ก Hummingbird จะตอบเหมือนกันว่าไม่ทำ เพราะมันไม่ถูกต้อง เกิดฝ่าไฟแดงแล้วเราและผู้อื่นได้รับอุบัติเหตุจะทำยังไง ของแบบนี้เราต้องปลูกฝังและสร้างโอกาสให้เขาฝึกฝน ให้เขามีจิตสำนึกต่อส่วนรวม”

Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก
Hummingbird โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่สมุดพกไม่ได้บอกเกรด แต่รายงานสุขภาพใจกายของเด็ก

Lesson 3 : Communication is the Key

การส่งลูกมาโรงเรียนก็เหมือนการแต่งงานระหว่างผู้ปกครองกับครู โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุระหว่าง 0 – 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วง Golden Period ที่สำคัญที่สุดในชีวิต และพัฒนาการของวัยนี้ไม่สามารถแบ่งแยกที่บ้านหรือโรงเรียนได้ 

Hummingbird นำแนวคิด EF และวินัยเชิงบวกมาปรับใช้ พยายามออกแบบทุกอย่างในโรงเรียน ตั้งแต่อาคารเรียน บทเรียน ชุดนักเรียน สมุดพกรายงานสุขภาพกายใจ ไปจนถึงการย่อตัวให้สายตาของครูอยู่ในระดับเดียวกันกับนักเรียนทุกครั้งที่พูดคุย ให้ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็กได้มากที่สุด ที่สำคัญ ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าใจธรรมชาติในการพัฒนาของเด็กตามช่วงวัยอย่างแท้จริง 

แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีการสื่อสารระหว่างกันที่ดีก่อน

ชินเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่เขาเจอจากโรงเรียนอื่นคือ ผู้ปกครองกับครูเป็นคนละส่วนกัน ทำให้การเข้าถึงโรงเรียนเป็นเรื่องยาก การขอนัดคุยกับครูดูจะเป็นปัญหามากกว่าเรื่องดี Hummingbird อยากแก้ไขข้อจำกัดตรงนั้น เลยสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่เอื้อต่อการหารือระหว่างผู้ปกครองกับครู ทั้งช่วงเช้า ก่อนเข้าโรงเรียน หรือหลังเลิกเรียน อย่างน้อยๆ ครูต้องถาม 3 คำถาม คือ เด็กนอนกี่โมง เด็กนอนพอไหม และทานข้าวเช้าหรือยัง

หลังเลิกเรียน มีสมุดพกรายงานสุขภาพกายใจ โดยครูจะนำสมุดพกนี้มาพูดคุยกับผู้ปกครอง เป็นบันทึกเรื่องราวประสบการณ์รายวันของเด็กแต่ละคน ให้ผู้ปกครองรู้ว่าลูกของพวกเขาเรียนรู้ประสบการณ์อะไรใหม่ๆ ทานอะไร นอนพักพอไหม มีสภาวะทางอารมณ์เป็นอย่างไร

นอกจากนี้ การสื่อสารทั้งหมดของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก หรือครูประจำแต่ละห้อง ต้องมี 2 ภาษา ไทยและอังกฤษ สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ หรือคุณปู่คุณย่าที่ดูแลหลานเป็นหลัก Hummingbird มอบความเอาใจใส่ไปถึงที่บ้าน เพราะรู้ว่าพัฒนาการเด็กไม่ได้เกิดขึ้นแค่ช่วงกลางวันที่โรงเรียน

“จะมีคำถามคลาสสิก ‘ทำไมอยู่โรงเรียนทำได้ อยู่บ้านทำไม่ได้’ เราเลยสร้างโรงเรียนที่ไม่ได้สร้างพัฒนาการของเด็กแค่ในโรงเรียน เราต้องการให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยด้วย เราจะบอกผู้ปกครองเสมอว่า เด็กเติบโตตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพราะบางคนคิดว่า ส่งลูกเข้าโรงเรียนพ้นรั้วปุ๊บ ก็เป็นหน้าที่ของโรงเรียนแล้ว แต่ในความเป็นจริง เด็กโตตลอดเวลา ตอนเขาหายใจ ตอนกินข้าว แม้กระทั่งตอนนอน เราก็ต้องใส่ใจเขา

“กลับมาที่การสื่อสาร ครูโดยปกติจะไม่ค่อยอยากคุยกับผู้ปกครอง เพราะเดี๋ยวคุยแล้วมีปัญหา แต่ถ้าให้เด็กเป็นที่ตั้ง เขาจะอยากคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ และมันจะเป็นประโยชน์ทั้งหมด เช่น มีผู้ปกครองมาบอกว่าลูกดื้อ ไม่ยอมทำตามเหมือนเมื่อก่อน บางวันเขาไม่ยอมเรียน เราก็จะบอกเลยว่าการปฏิเสธของเด็กคือพัฒนาการของเขา เราตัดสินใจกันไปเองว่าพัฒนาการต้องเป็นเรื่องดีเสมอ พัฒนาการมีหลายแบบ ทั้งการรู้คิดและการมีตัวตน

“การที่ลูกสามารถพูดได้ว่า ‘ไม่อยากเรียน’ แสดงว่าเขาคิดอะไรบางอย่างได้ ซึ่งถือเป็นการโชว์พัฒนาการ การสื่อสาร และความคิดเห็นของตัวเด็ก หน้าที่ของเราคือทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและรับมือตรงนี้ด้วย”

โรงเรียนนานาชาติ Hummingbird ที่นำเอาทักษะสมองส่วนหน้ากับวินัยเชิงบวกมาใช้ในการพัฒนาเด็ก และในอนาคตจะไปพัฒนาชาติ

Lesson 4 : Caring on Details Design

เพราะมีหุ้นส่วนเป็นนักออกแบบ ทุกอย่างใน Hummingbird จึงดีไซน์จากการใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายง่ายๆ คือ พื้นที่ที่ให้เด็กได้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ภายใต้การดูแลของคนที่เข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก ทุกตารางเมตรในโรงเรียนแห่งนี้จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ไม่รู้จบ

โรงเรียนนานาชาติ Hummingbird ที่นำเอาทักษะสมองส่วนหน้ากับวินัยเชิงบวกมาใช้ในการพัฒนาเด็ก และในอนาคตจะไปพัฒนาชาติ

บริเวณทางเข้ามีพื้นที่สำหรับผู้ปกครองให้ได้เจอกับครู ด้านหน้ามีหน้าผาจำลองขนาดจิ๋ว ให้เด็กได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และการวางแผน ที่สำคัญ เกิดเป็นความภาคภูมิใจเมื่อทำได้จริง รอบๆ สนามเด็กเล่นแทนที่จะเป็นต้นไม้สวยงามดูแลง่าย ก็เลือกเป็นผักสวนครัว เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวและนำมาต่อยอดกับกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ของห้องเรียน Cooking Class ในหลักสูตรได้ เกิดเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ของเขา ในสนามเด็กเล่นมีเครื่องเล่นฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตา (Eye-Hand Coordination)

ชุดนักเรียนก็สำคัญมากสำหรับพัฒนาการ เมื่อโรงเรียนต้องการฝึกให้เด็กช่วยตัวเองได้ จึงต้องออกแบบชุดนักเรียนให้ใส่ง่าย ถอดง่าย กระดุมต้องเม็ดใหญ่พอเหมาะสำหรับมือเล็กๆ กระเป๋าถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่ตรงกับสรีระของเด็กวัยนี้มากที่สุด ตะเข็บต้องอยู่ตรงไหน ยางยืดต้องหนาเท่าไหร่ กระโปรงผู้หญิงเปลี่ยนเป็นกระเปรงให้ใช้ งานได้สะดวกสบาย ชุดพละต้องมีหมวกที่ปิดคอเผื่ออยู่กลางแจ้ง มีชุดกันเปื้อน และชุดนอนที่ทำจากเนื้อผ้า Egyptian Cotton

“ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ก็จะไม่ยอมให้ลูกนอนกลางวัน เพราะเดี๋ยวกลางคืนไม่ยอมนอน การนอนเหมือนการเอาข้อมูลใส่ลิ้นชัก ถ้าเด็กๆ ได้นอนกลางวันเต็มอิ่ม ก็เปรียบเหมือนลิ้นชักที่มีการแยกและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ ทำให้เขาเป็นคนละเอียดและคิดวิเคราะห์ได้ดีไปด้วย เราเลยอยากให้ชุดนอนของนักเรียนสบายที่สุด เตียงนอนก็ต้องเบา เพราะเด็กต้องปูเอง เก็บเอง มีชื่อของใครของมัน เพราะเรากำลังสอนเรื่องความรับผิดชอบต่อของของตัวเอง (Belonging)”

การเลือกเฟอร์นิเจอร์ของ Hummingbird ไม่ได้ดูที่ความสวยงามเป็นหลัก ทั้งสามชี้ให้ดูที่เก็บรองเท้าซึ่งเป็นกล่องๆ ติดชื่อเด็กแต่ละคน ไม่สวยเรียบเป็นตู้ปิดสนิทเหมือนที่อื่นๆ แต่มันมีเหตุผล 

“อย่างกระเป๋า ถ้าเป็นตู้เก็บยากๆ ถามว่าใครเก็บ ก็ต้องเป็นพ่อแม่ไม่ก็ครู แล้วถามต่อว่า ตั้งแต่เดินเข้าโรงเรียนจะให้ลูกสะพายกระเป๋าไหม ถ้ารู้ว่าสุดท้ายคุณก็ต้องเก็บใส่ตู้ให้เขาอยู่ดี ผู้ปกครองแปดสิบเปอร์เซ็นต์จะถือมาให้จากที่รถเลย โดยไม่ได้มองว่านี่จะเป็นโอกาสให้เด็กได้ฝึก

“กระเป๋าต้องมีไซส์ที่พอเหมาะ น้ำหนักเบา เด็กสามารถถือได้ด้วยตัวเอง ชื่อหน้ากล่องรองเท้า เขาอาจจะยังอ่านไม่ออก แต่จำได้ว่าลักษณะชื่อตัวเองเป็นแบบนี้ เป็นตัว R มี R หลายกล่อง แต่ของฉันเป็น R สีเขียว เพราะฉันชอบสีเขียว 

“วัตถุประสงค์ของเราคือ เด็กควรรู้ว่าความรับผิดชอบของตัวเองคือการเก็บรองเท้า ดูแลตัวเองและของของตัวเองได้ จะสวยไม่สวย จะนานไม่นาน ไม่เป็นไร ขณะเดียวกัน เด็กที่เก็บได้แล้ว บางวันเก็บได้ บางวันเก็บไม่ได้ อาจจะไม่พร้อม เราเคยไหมครับ บางวันกลับบ้านเหนื่อย ทิ้งตัวไม่เก็บอะไร ครูก็จะรู้แล้ว โอเค วันนี้อารมณ์ไม่ดี ดังนั้น ก่อนเข้าห้องไปเสริมทักษะให้เขา ก็ต้องช่วยปรับระดับอารมณ์เขาก่อน”

ห้องธุรการอยู่ด้านหน้าและถูกออกแบบให้มองเห็นคนเข้าออกได้ดี เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าถึงได้ และถ้าสังเกตดีๆ จะมีธงสีต่างๆ ติดหน้าโรงเรียนและตามจุดต่างๆ ด้านใน ซึ่งเป็นเครื่องมือบอกสภาพอากาศประจำโรงเรียน เหมือนที่ผู้ใหญ่อย่างเราเช็กค่า PM 2.5 ในแอปพลิเคชันนั่นแหละ

“นักเรียน Hummingbird ใส่หน้ากากมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 นะ” เกยิ้ม “เราอยู่เมลเบิร์นมาก่อนเห็นฟ้าเป็นสีฟ้า กลับมาฟ้าสีขุ่น ถ้าจะเป็นสถาปนิกที่ดีได้ ต้องรู้จักประเมินสิ่งเหล่านี้

“ซึ่งคุณภาพอากาศที่ดีสำคัญต่อการพัฒนาสมองของเด็กๆ โรงเรียนเราเลยออกแบบให้มีพัดลมระบายอากาศ มีเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์ มีเครื่องฟอกอากาศ ทีนี้กลับมาโจทย์ยาก จะสื่อสารกับเด็กยังไง ถ้าบอกเป็นค่า AQI (Air Quality Index) ด้วยวัยเขายังไม่เข้าใจหรอก เราเลยแปลออกมาง่ายๆ เป็นสีเขียว เหลือง ส้ม แดง แล้วเปลี่ยนมลภาวะอากาศ แล้วสอนเขาก่อนว่า แต่ละสีหมายถึงอะไร การที่เขาทำหรือไม่ทำ มันมีประโยชน์หรือโทษต่อเขายังไง และใส่หน้ากากก็มีระยะเวลาของมันอยู่

“ก่อนลงจากรถหรือออกจากห้อง เขาจะเช็กก่อนเลยว่าธงสีอะไร ถ้าสีเหลือง วิ่งเล่นใส่หน้ากากได้ แต่มีเวลาจำกัด จากสิ่งที่เราสอนก็กลายเป็นหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบไปโดยปริยาย”

Lesson 5 : Find the Right People

ห้องเรียนของ Hummingbird จัดครูเป็นทีม ในทีมประกอบด้วย Lead Teacher เป็นครูเจ้าของภาษา (Native Speaker) พร้อมด้วย Co-Teacher และ Teaching Assistant ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นหลัก โดยใช้อัตราส่วนคุณครู 1 คนต่อนักเรียน 3 คน สำหรับชั้นเตรียมอนุบาล 1-2 และคุณครู 1 คน ต่อนักเรียน 4 คน สำหรับชั้นอนุบาล 1-3

ครูทุกคนมีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กเล็ก ได้ผ่านการเข้าอบรมเรื่อง EF และวินัยเชิงบวก อีกทั้งมี ครูใหม่-ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสมองและศักยภาพเด็กด้วยวินัยเชิงบวก วันโอวัน เอ๊ดดูแคร์ เซ็นเตอร์ (101 Educare Center) เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบหลักสูตรอีกด้วย

“โรงเรียนทั่วไปจะมี Lead Teacher แล้วครูผู้ช่วยต้องทำตาม แต่เราเชื่อว่าทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมของเด็ก ทุกคนจึงต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเดียวกัน ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่จะสอนคืออะไร ที่นี่ไม่มี Nanny ใช้คุณครูทั้งหมด และครูทุกคนต้องเข้าใจว่า วินัยเชิงบวกในการพูดกับเด็ก ต้องพูดยังไง ถ้าเตรียมการเรียนการสอนด้วยกัน คุณก็ต้องฟังความคิดเห็นของเพื่อน เช่น น้อง A เป็นแบบนี้ ช่วงนี้ที่บ้านมีน้องใหม่ เราจะช่วยปรับยังไง เพราะฉะนั้น เวลาเตรียมบทเรียน ไม่ได้เตรียมสำหรับหนึ่งเทอมแล้วจบ ครูต้องกลับมารีวิวอยู่เรื่อยๆ เพราะเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

โรงเรียนนานาชาติ Hummingbird ที่นำเอาทักษะสมองส่วนหน้ากับวินัยเชิงบวกมาใช้ในการพัฒนาเด็ก และในอนาคตจะไปพัฒนาชาติ

ครูที่ Hummingbird มองหา คือ ครูที่มีองค์ความรู้ด้าน EYFS ของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็เปิดใจรับในทักษะโรงเรียนอยากเสริมเป็นพิเศษ และถ่ายทอดออกมาเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุดได้ ครูผู้นั้นต้องมีความเข้าใจในทัศนคติที่ดีต่อเรื่อง EF และวินัยเชิงบวก และต้องผ่านการสัมภาษณ์หลายรอบจนกว่าจะมั่นใจว่ามีปลายทางเดียวกันคือ เด็กนักเรียน

‘เวลาเด็กดื้อ คุณลงโทษยังไง’

นั่นคือคำถามสุดหินที่ทั้งสามยกตัวอย่าง พวกเขาเว้นจังหวะให้เราตอบคำถาม

1

2

3

“แนวทางของโรงเรียนเราคือ ไม่ลงโทษ แต่ใช้วินัยเชิงบวกพูดคุยถึงเหตุผลและชี้แนะวิธีการ เด็กดื้อไม่มีอยู่จริง มีแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี ครูของเราจะหาว่าพฤติกรรมนั้นเกิดจากอะไร แล้วให้เด็กๆ ใช้ความคิด ทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะแก้อย่างไรดี เช่น โกรธแล้วปาข้าวของ เราจะบอกว่าเขาโกรธ คราวหน้าเวลาโกรธแทนที่การปา เราจะทำอะไร ใช้คำพูดดีไหม”

โรงเรียนนานาชาติ Hummingbird ที่นำเอาทักษะสมองส่วนหน้ากับวินัยเชิงบวกมาใช้ในการพัฒนาเด็ก และในอนาคตจะไปพัฒนาชาติ

Lesson 6 : Survive the Crisis

โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้เข้าอย่างจัง ค่าเทอมลดลงกว่าครึ่ง แต่วิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลแค่สภาวะทางการเงิน บุคลากรครู และพนักงาน แต่รวมถึงสิ่งที่เรียกย้อนกลับมาไม่ได้ นั่นคือพัฒนาการของเด็กที่เติบโตขึ้นทุกวัน

“อย่างที่บอกว่าหกปีแรกสำคัญมาก โรงเรียนปิดสองปี เท่ากับว่าหายไปสองในหกแล้ว การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผลเท่าการเรียนปกติแน่นอน แต่เราในฐานะโรงเรียน ต้องออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพที่สุดภายใต้เงื่อนไขนี้ เราต้องดูตั้งแต่เด็กอยู่หน้าจอได้นานแค่ไหน สร้างกิจกรรมที่ต้องเกิดการโต้ตอบทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่แค่ให้เขาดูจอเฉยๆ”

โรงเรียนนานาชาติ Hummingbird ที่นำเอาทักษะสมองส่วนหน้ากับวินัยเชิงบวกมาใช้ในการพัฒนาเด็ก และในอนาคตจะไปพัฒนาชาติ

Home-based Learning ของที่นี่ต้องตอบวัตถุประสงค์ 2 ข้อ

หนึ่ง เด็กต้องได้ความรู้และเสริมสร้างพัฒนาการ แม้จะไม่เท่าการเรียนในห้อง 

สอง ต้องง่ายพอที่คนที่ไม่ใช่ครูจะทำได้ ไม่หนักเกินรับมือสำหรับผู้ปกครอง โดยแจกคู่มือทำกิจกรรมที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การคาดหวังให้เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน หรือเปลี่ยนผู้ปกครองเป็นครู จะทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด Hummingbird คิดไปไกลกว่านั้น เพราะเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้ส่งผลแค่ชีวิตเด็ก แต่กระทบชีวิตผู้ปกครองด้วยเช่นกัน และเมื่อมองว่าโรงเรียนต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง จึงจัดให้มี Session 1 on 1 ความยาว 20 นาทีในช่วงบ่าย ให้ผู้ปกครองจองเข้ามาโดยสามารถทำอะไรก็ได้ จะปรึกษาครูประจำชั้น ให้ลูกทำกิจกรรมกับครู หรือคุยเล่นกับเพื่อน ผู้ปกครองจะได้มีเวลาส่วนตัวเพื่อพักผ่อนบ้าง

ในวันนี้ Hummingbird ยังถือเป็นน้องใหม่ในแวดวงโรงเรียนนานาชาติ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กจิ๋วแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจแน่วแน่ พวกเขาหวังว่าวันหนึ่งจะสร้าง Global Citizen ที่มีคุณภาพ โบยบินไปในโลกกว้างด้วยปีกและจิตใจที่แข็งแรง

และแล้วเสียงเพลงประจำโรงเรียน Hummingbird ก็ดังขึ้น เป็นสัญญาณเลิกเรียน ณ บัดนี้

Lessons Learned

  • ประสบการณ์อาจช่วยให้การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งราบรื่นขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่มีประสบการณ์ หากมีความตั้งใจแน่วแน่และเป้าหมายที่ชัดเจน ก็สามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพาร์ตเนอร์ ปลุกปั้นให้ถึงปลายทางได้เหมือนกัน
  • คิดให้รอบคอบ คิดให้ทุกด้าน ทำธุรกิจแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา หาผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบจากสิ่งที่เราทำ และช่วยเขาแก้ปัญหาตรงนั้น
  • เข้าใจเป้าหมายของตัวเองอย่างดีที่สุด แล้วออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้นำไปสู่เป้าหมายนั้น
  • หาจุดเด่นของหุ้นส่วนแต่ละคนให้เจอ แล้วใช้พัฒนาธุรกิจให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น

ใครที่สนใจโรงเรียนอนุบาลนานาชาติสำหรับลูกน้อยช่วงอายุ 18 เดือน ถึง 5 ปี สามารถนัดหมายเยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ โทรศัพท์ : 095 193 2615 LINE : @hummingbird_school หรือนัดหมายเยี่ยมชมผ่านทาง Virtual School Tour (นัดหมายล่วงหน้า 1 วัน) ที่ https://bit.ly/Virtual_School_Tour
Official Website www.hummingbird.ac.th

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

สิทธิพงษ์ ติยะวรากุล

ชอบถ่ายรูป แต่ชอบฟังนักเขียนขณะสัมภาษณ์มากกว่า