เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก

เสียงลูกพลับที่สุกจนนิ่มตกให้ได้ยิน ถ้าไม่ใช่กระรอกหรือนกกางเขนมากิน เจ้าลูกพลับคงร่วงตกลงมาเอง ส่วนลูกพลับสีส้มที่แก่แล้ว รอให้เราไปเด็ดมาใส่ถุง นำสำลีชุบเหล้าใส่ลงไปในถุง มัดปากถุงให้แน่นเพื่อให้แอลกอฮอล์ไล่ความฝาดออกจากลูกพลับ 4 วันผ่านไป เราก็จะได้รสชาติหวานกรอบของลูกพลับมาแบ่งกันกิน

ต้นพลับในสวนนี้เคยเป็นต้นพลับป่ามาก่อน ก่อนที่จะถูกตัดเสียบยอดด้วยพันธุ์ใหม่เพื่อให้มันขายได้ นอกจากต้นพลับแล้ว ยังมีพืชผักอื่นๆ อีกมากมาย ที่นำเข้าไปปลูกเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ มานานหลายสิบปี ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ผลข้างเคียงจากการมาถึงของพืชผักที่ปลูกขาย เราจะพบเห็นการใช้ปุ๋ยใช้ยาเป็นเรื่องปกติ มันถูกออกแบบให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนัก

ขณะที่การเข้ามาของเมล็ดพันธุ์ต่างถิ่น เมล็ดพันธ์ุพื้นเมืองกำลังถูกละเลยจนหลายพันธุ์ได้หายไปจากชุมชน เช่น ข้าวโพดหลากสี ข้าวโพดดำ เป็นต้น คนสมัยก่อนเชื่อมั่นว่าเมล็ดพันธุ์คือทางรอด คืออิสรภาพของการดำรงชีวิต พวกเขาจึงได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ และส่งต่อให้ลูกหลานมาอย่างยาวนาน

เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู

เมล็ดพันธุ์ของป่า

ช่วงบ่ายของวันนี้ ก้อนเมฆกำลังรวบรวมพลังเพื่อการปล่อยฝนให้ต้นข้าวในนา การเข้าป่าวันนี้จึงเป็นการเข้าป่าที่ยินดีกับการเปียกฝน ระหว่างทางมีลูกพลับสีส้มกำลังรอให้เจ้าของมาเก็บ ถัดไปไม่ไกล ลูกของต้นส่าลิโปะสีเหลืองตกใต้ต้นเต็มไปหมด รสเปรี้ยวอมหวานนิดๆ ที่จำได้ดีทำน้ำลายสอ จนต้องเก็บขึ้นมากินทักทายกับเจ้าถิ่นผู้สูงใหญ่ บางลูกได้กลายเป็นต้นกล้าเล็กๆ ที่รอวันเติบใหญ่เหมือนแม่ บางลูกที่เพิ่งตกยังดูใหม่ยังดูสด ส่วนลูกที่ตกไปก่อนหน้านั้นมีรามาช่วยย่อยบนเปลือกผิว เมล็ดที่เหลือมากมายจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ป่า บ้างก็โตไปเป็นสมาชิกของป่าต่อไป

ต้นนางพญาเสือโคร่งป่าสูงชะลูดขึ้นไปบนฟ้ายืนเรียงรายเป็นแถบ ต้นเด็กๆ ค่อยๆ เติบโตใต้ต้นผู้ใหญ่ที่ ข้างๆ มีต้นสนต้นเล็กกะจ้อยร่อย ที่งอกขึ้นมายังไม่ถึงคืบไม่ไกลจากต้นแม่ของมัน ต้นบุกป่าต้นแก่กำลังออกดอก ขณะที่ต้นกล้าเล็กๆ ก็กำลังชูแขนยื่นใบออกไป ต้นต้างป่าต้นเล็กก็ขออวดใบด้วยคน

ฝนเริ่มตก ไม่มีกระท่อม เสื้อกันฝนก็เอาไม่อยู่ ใต้ใบต้นกระดาษต้นใหญ่ หรือขื่อ ปก่า ทอ (เผือกป่าสูง) ที่แผ่ใบกว้างเกือบหนึ่งเมตรหลบฝนได้สบาย เสียงเม็ดฝนที่ตกใส่เจ้าใบไม้ยักษ์ข้างๆ หูให้ฟังเพลิน

เมล็ดพันธุ์ที่เราใช้ทุกวันนี้ ยุคหนึ่งมันเคยอยู่ในป่า อย่างเช่นข้าว คนปกาเกอะญอเชื่อว่าข้าวเป็นตระกูลเดียวกันกับไผ่ การทำไร่หมุนเวียนในป่าเบญจพรรณที่เป็นป่าไผ่จึงให้ผลที่ดีที่สุด

ฝนหยุดได้เวลาเดินทางต่อ แสงแดดตอนบ่ายส่องทะลุลงมาบนดินบนทางเดินที่มีใบสนปกคลุมไปทั่ว อากาศเย็นสบาย ใบกระดาษที่ขึ้นสองข้างทางดูสว่างขึ้นมาทันตา หายใจเอาอากาศสดชื่นเข้าปอด ได้ยินนกร้องเพลงฉลองรับแสงแดด ยืนดูและฟังเสียงธรรมชาตินิ่งๆ ก็เพียงพอแล้วสำหรับวันนี้

ป่าจึงเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ผู้ใจดี เมื่อไหร่ที่เราต้องการความเชื่อเหลือ เราไปขอป่าได้ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคือการดูแลไม่บุกรุกป่า เท่านี้ลูกหลานก็จะมีธนาคารอากาศ น้ำ และเมล็ดพันธุ์ไว้ให้พึ่งพาต่อไป

เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู

เมล็ดพันธุ์ในบทกวี

มีการพูดถึงเมล็ดพันธุ์ในบทเพลงเก่าแก่ ที่ยังถูกขับร้องและพูดถึงให้ได้ยินได้ฟัง แม้เสียงของมันจะแผ่วลงไปมากเหมือนเสียงของผู้เฒ่าที่นับวันจะโรยราไปทุกที แต่คุณค่าของเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ลดน้อยลงไป 

มีบทกวีที่ได้รับการส่งต่อมาหลายชั่วคนได้พูดฝากความรักความห่วงใยต่อคนรุ่นหลังว่า

ความอุดม ครั้งแม่ยังมี ความสมบูรณ์ ครั้งพ่อยังอยู่

รักษา พันธุ์เผือกให้เรา ดูแล เมล็ดข้าวให้เรา

รักษาให้ครบสามสิบ แม้ยามขัดสน เราก็ไม่กลัว

ผู้เฒ่าเคยพบกับความยากลำบาก คือความหิวโหย ที่เป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุดแล้วในความเป็นมนุษย์ การมีเมล็ดพันธุ์ในมือคือความหวังที่จะต่อลมหายใจได้อีกหนึ่งฤดู

เมล็ดข้าวเหลือเพียงหนึ่งกำมือ ถึงแร้นแค้นเราก็ไม่หวั่น

เอาเข้าจริง ถ้าเรามีพืชผัก 30 ชนิด ชนิดละ 30 ต้น เราอาจไม่ใช่เศรษฐี แต่เราจะรู้สึกสบายใจมากทีเดียว

เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู
เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู

เมล็ดพันธุ์ในบ้าน

โจน จันได ครูของพวกเรา มักจะบอกกับเราเสมอว่า 

เมล็ดพันธุ์คือมรดกอันล้ำค่า

หลายร้อยปีก่อนที่หมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองในแถบอเมริกา ขณะที่เกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดนกันนั้น มีใครบางคนที่หวงแหนเมล็ดพันธุ์ของเขาได้ขุดผนังบ้านดิน และซ่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของเขาไว้ในนั้นก่อนจะฉาบทับไว้ตามเดิม

เวลาผ่านไป เมล็ดข้าวโพดในผนังดินก็ถูกหลงลืม ผนังบ้านถูกกัดกร่อนด้วยการเวลานานพอ เกิดเป็นรอยแตกและเผยโฉมเมล็ดข้าวโพดของชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังอยู่ในสภาพดี เมล็ดข้าวโพดฝักนั้นได้รับการปลูกขยายพันธุ์ใหม่ และลูกหลานของเมล็ดข้าวโพดเก่าแก่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายแห่งบนโลก จนกระทั่งมันเดินทางมาถึง สวนพันพรรณ ที่อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ก่อตั้งโดย โจน จันได

“นี่เป็นเมล็ดข้าวโพดที่ค้นพบในผนังบ้านดินเมื่อหลายร้อยปีก่อน” 

พี่เกรก เป็นชาวอเมริกันที่มาอยู่ที่พันพรรณได้หลายปีแล้ว เขายื่นถุงเมล็ดพันธุ์ให้ผมพร้อมกับเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของเมล็ดข้าวโพด ผมปลูกมันเมื่อต้นฝน ตอนนี้กำลังเติบโตในสวน ผมหวังว่ามันจะได้เห็นเมล็ดของมันหลังจากนี้

ห้องครัวที่ยังมีเตาไฟก็เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีมากที่หนึ่ง เมื่อมีการเผาไหม้ของฟืน ควันที่เกิดขึ้นลอยขึ้นไปรมควันเมล็ดพันธุ์ที่แขวนไว้ด้านบน ควันจะช่วยป้องกันไม่ให้แมลงมากินเมล็ดพืชผัก จนกว่าฤดูเพาะปลูกของปีต่อไปจะมาถึง เมล็ดพันธุ์จะถูกแกะและไปฝากไว้ในดินต่อไป

ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองหรือชนบทท้องถิ่นต่างรับรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าของเมล็ดพันธ์มาช้านาน การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์โดยวิถี ที่ให้ผืนดินเป็นผู้เลือกเมล็ดพันธุ์ เช่น ทุก 5 ปีต้องมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในชุมชน เพื่อให้ข้าวพันธุ์ก่อนได้พัก เพราะมันคุ้นกับผืนนาผืนเดิมมากพอแล้ว ถ้าเราปลูกโดยใช้พันธุ์ข้าวชนิดเดิมไปนานๆ ข้าวจะอ่อนแอลง และให้ผลผลิตน้อยลงเช่นกัน 

เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู
เราต่างเป็นเมล็ดพันธ์ุบนโลก, ปกาเกอะญอ, Lazy man collage, โอชิ จ่อวาลู

เราคือเมล็ดพันธุ์ของโลก

วันที่ 8 – 9 เดือนสิงหาคมของทุกปีถูกประกาศให้เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ที่เราจะได้ยินได้ฟังเสียงของคนชายขอบ คนตัวเล็กๆ ที่กำลังดูแลเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมไว้ในมือ เหมือนกับชุมชนชนบทของไทยทั่วไป 

ตั้งแต่ภาคเหนือบนยอดดอยสูงจรดทะเลทางภาคใต้ยังมีชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 56 กลุ่มภาษา ที่เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายบนโลก กำลังร่วมเฉลิมฉลองกันในวันที่เป็นวาระแห่งการพูดถึง รับฟัง เรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก 

ปัญหามีอยู่มากมาย ไม่เลือกว่าเราเป็นใคร ชาติพันธุ์ ศาสนาอะไร แต่การได้ลองกลับไปสืบค้นดูว่า จริงๆ แล้วนอกจากคำว่า ไทย เรามีรากมาจากไหน ชุมชน ท้องถิ่นอะไร อาจจะไม่ต้องเพื่ออะไร

คนปกาเกอะญอเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกมาจากครอบครัวเดียวกัน เหมือนเครือของฟัก แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป เครือฟักได้แยกขาดจากกัน ทำให้เรามองคนตรงหน้าว่าเป็น ‘คนอื่น’ 

ตอนเด็กๆ ผมและเพื่อนๆ มักจะรู้สึกแย่เวลาได้ยินคำว่า ‘ชาวเขา’ ถึงแม้คนพูดอาจไม่มีเจตนาพูดให้รู้สึกไม่ดี เพราะคำว่า ‘เขา’ มีนัยยะที่ไม่ใช่เรา มันเหมือนการถูกผลักออก เมื่อโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วการขึ้นไปยืนบนเขาแล้วมองลงไปด้านล่าง มันมีความรู้สึกโชคดีลึกๆ อยู่ไม่น้อย และการอ้าแขนรับในสิ่งที่เราได้รับมาอย่างเต็มใจ ก็ทำให้เราตัวเบาขึ้น

ชาวเขาเป็นเพียงนามสกุลของเรา ชาวอาข่า ลีซู ลาหู่ ม้ง เมี่ยน ดาระอั้ง และอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดบนภูเขา บ้างก็ไม่ได้ใช้ชีวิตบนเขาอีกต่อไป เดี๋ยวก็มีเพื่อนๆ ชาวเมืองมาเป็นชาว (บน) เขามากขึ้น คงเป็นเพราะภูเขาหรือทะเลก็มีพลังให้เราได้รับ

สิ่งที่รวมเราเข้าไว้ด้วยกันคงเป็นโลกใบนี้ เราปกป้องสิทธิให้มนุษย์และสัตว์แล้ว ในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกนี้ ขอให้เมล็ดพันธุ์ได้รับการปกป้องไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของใครเพียงไม่กี่คน

เรื่องของเมล็ดพันธุ์อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าลองนึกดูดีๆ อาหารในจานข้าวของเราย่อมมีที่มาที่ไปที่เดินสวนกับเราทุกวัน 

การเข้าป่าวันนี้ผมได้เมล็ดส่าลิโปะกลับบ้าน ผมจะลองเพาะดู เผื่อวันหนึ่งมันจะได้โตจนมีลูกไว้เป็นเพื่อนกับลูกพลับ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง