สถาปนิกและวิศวกรมักจะออกแบบระบบที่อยู่อาศัยโดยเอา ‘คน’ เป็นตัวตั้ง

พวกเราอาจจะตกใจเมื่อรู้ว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์ในร่างกายของเราไม่ใช่เซลล์มนุษย์ แต่เป็นเซลล์ของแบคทีเรียและจุลชีพ โดยรวมแล้วเรียกกันว่าไมโครไบโอม (Microbiome)

นอกจากนี้แล้วเรายังมียีน (Genes) ของจุลชีพที่มากกว่ายีนของมนุษย์ประมาณ 500 เท่า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบต่างๆ ของร่างกาย – รวมไปถึงอารมณ์และความคิด

อะไรคือ ‘คน’ 

นักวิจัยทางชีวภาพคำนวณว่าเรามีเซลล์จุลชีพ (Microbes) ถึง 39 ล้านล้านเซลล์ ที่ทำงานคล้าย ‘อวัยวะ’ ขนาดใหญ่ในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะทำหน้าที่ควบคุมภูมิต้านทานของร่างกายไปจนถึงความรู้สึก ความผอม หรืออ้วน รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของเรา

สถาปนิกและวิศวกรจำนวนหนึ่งเริ่มให้ความสนใจแนวคิดการผสมผสานระหว่างจุลชีพกับระบบที่อยู่อาศัย

ผมเสนอว่า เราน่าจะทดลองวิจัยว่า ทำยังไงให้ส้วม (Smart Toilet) บอกเราได้ว่า เรามีจุลชีพประเภทที่ทำให้อ้วน หรือประเภทที่ทำให้ผอม หรือแม้แต่ประเภท Microbiome ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น เหมือนในการทดลองของ Stephen Collins ที่ผมกำลังจะกล่าวถึง

อาจมีระบบเซ็นเซอร์ในส้วมที่บอกเราได้ว่า มีแบคทีเรียประเภทไหนในลำไส้ โดยส่งตรงไปที่แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียในลำไส้ชื่อ Helicobacter Pylori เป็นหนึ่งในแบคทีเรียพันธุ์สำคัญที่ทำให้คนผอม

สถาปัตยกรรม ชุมชนแบคทีเรีย หนทางสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทุกจุลชีพในร่างกายมนุษย์, ไมโครไบโอม
ภาพ : www.huffpost.com

อาจารย์ Martin Blaser จากมหาวิทยาลัย New York University มองว่าแบคทีเรีย Helicobacter Pylori เป็นตัวสำคัญในการควบคุมฮอร์โมนที่ทำให้เราหิว หากเราขาดแบคทีเรียตัวนี้ไป เราจะมีอาการหิวโหยมากกว่าคนปกติ

แต่ในสภาพเมืองที่สะอาด เต็มไปด้วยคราบน้ำยาฆ่าแบคทีเรีย (เช่นในสหรัฐอเมริกา) เขาเตือนว่ามนุษย์กำลังสูญเสียแบคทีเรียพันธุ์นี้ไปจากลำไส้ ซึ่งเมื่อ 100 ปี ที่แล้วยังมีอยู่ทั่วไปในคนทุกหมู่เหล่า

แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ดูจากสภาพเมืองและอาหารข้างถนน ผมไม่แน่ใจว่าเราได้สูญเสีย Helicobacter Pylori ไปจากร่างกาย มากเท่าคนอเมริกันแล้วหรือยัง

สถาปัตยกรรม ชุมชนแบคทีเรีย หนทางสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทุกจุลชีพในร่างกายมนุษย์, ไมโครไบโอม
Smart Toilet จากสำนักข่าว AP โดย Mark Schiefelbein

ผมมองว่าการวิจัย Smart Toilet ในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่การใช้ตรวจว่าเป็นโรคร้าย หรือโรคเรื้อรังมากเกินไป ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่แพทย์เป็นผู้ตรวจและกำกับมากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันทุกเช้า-เย็น

แต่เรื่องการควบคุมความอ้วน (ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค) ทำได้ตลอดเวลาโดยการวิจัยส้วมที่ติดเครื่องตรวจหาพันธุ์เฉพาะของแบคทีเรีย หรือลักษณะเฉพาะของ Microbiome

สถาปัตยกรรม ชุมชนแบคทีเรีย หนทางสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทุกจุลชีพในร่างกายมนุษย์, ไมโครไบโอม
ภาพ : www.health.harvard.edu

นอกจากเรื่องของการควบคุมความอ้วนหรือผอมแล้ว จุลชีพและแบคทีเรียเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมสมองและอารมณ์เราด้วย

แบคทีเรียเหล่านี้มักจะอาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งมีเซลล์ของระบบประสาทที่เชื่อมต่อโดยตรงกับสมอง นอกจากนี้นักชีววิทยายังสันนิษฐานว่า ระบบประสาทในลำไส้ (บางครั้งเรียวว่า ‘สมองที่สอง’) วิวัฒนาการมาก่อนสมอง (บนหัวเรา) ด้วยซ้ำ

อาจารย์ Harald Gruber-Vodicka สังเกตว่าลำตัวของไส้เดือนชื่อว่า Paracatenula เต็มไปด้วยแบคทีเรีย 90 เปอร์เซ็นต์ของตัวมันคือแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนไส้เดือน และมีอิทธิพลในการทำให้ไส้เดือนสามารถ ‘งอกใหม่’ กลับมาเป็นตัวเดิมได้เมื่อถูกตัดขาด

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ หากตัดหางไส้เดือนออก ส่วนหางมันจะ ‘สร้าง’ หัวใหม่ (และสมอง) ขึ้นมาเองได้… แต่ถ้าตัดหัวออก หัวนั้นจะไม่สามารถงอก ‘ตัว’ ออกมาใหม่ได้

แต่อาจารย์ Harald Gruber-Vodicka เตือนว่าส่วนที่ถูกตัดออกนั้น ต้องมีแบคทีเรียจำนวนมากพออยู่ในตัวจึงจะงอกใหม่ได้ ถ้ามีจำนวนแบคทีเรียมากไม่พอ ตัวที่ถูกตัดออกไปก็จะตาย งอกใหม่ไม่ได้

เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า สมองของไส้เดือนประเภทนี้อาจจะเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาทีหลังแบคทีเรียในลำไส้และระบบประสาท รวมถึง ‘สมอง’ ในลำไส้ด้วยซ้ำ

มีงานวิจัยที่น่าตื่นเต้นจากแคนนาดาเกี่ยวกับหนูทดลองที่ไร้แบคทีเรียในตัว อาจารย์ Stephen Collins และ Premysl Bercik พบว่า หนูที่ไร้แบคทีเรียเหล่านี้ไร้ความอยากรู้อยากเห็น และจะไม่ตั้งคำถามใหม่ๆ ในการสำรวจเส้นทาง ในเขาวงกต ต่างจากหนูทดลองกลุ่มที่มีแบคทีเรียในตัว นอกจากนี้หนูที่ไร้แบคทีเรียในตัวยังไร้ความกลัวใดๆ พวกมันจะออกมาเดินท่ามกลางแสงสว่างอย่างโจ่งแจ้งกลางลาน ต่างกับหนูที่มีแบคทีเรียในตัว ซึ่งมักจะซุ่มๆ หลบๆ ซ่อนๆ เดินตามซอกมุม และจะออกมาเฉพาะเวลาที่ไม่มีแสงสว่างมากเท่านั้น

เมื่อเขาทดลองใส่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกลุ่มหนูทดลองที่ไม่เคยมีแบคทีเรียในตัว หนูกลุ่มนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงนิสัยและความอยากรู้อยากเห็นอย่างน่าตกใจ พวกมันเริ่มสำรวจเส้นทางใหม่ๆ และตั้งคำถามใหม่ๆ ที่มันไม่เคยทำมาก่อน รวมทั้งเริ่มมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นเวลาออกสำรวจเส้นทาง

ผมมองว่า เราควรออกแบบครัว ที่บอกเราได้ว่า สิ่งที่เรากินอยู่มีแนวโน้มจะสร้างชุมชนแบคทีเรียพันธุ์ไหนในร่างกายเราได้บ้าง โดยมีแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงข้อมูลที่ได้จากส้วมด้วย เป็น Big Data ของชุมชนแบคทีเรียในคนคนนั้น ว่ามีแนวโน้มไปทางไหน

สถาปัตยกรรม ชุมชนแบคทีเรีย หนทางสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทุกจุลชีพในร่างกายมนุษย์, ไมโครไบโอม
ภาพ : www.recycling.com

ครัวในอเมริกามักจะมีที่เครื่องปั่นเศษอาหารเหลือ (Kitchen Sink Disposal) ที่มาจากจานก่อนจะเอาเข้าเครื่องล้างจาน ถ้าเราเพิ่มตัวเซ็นเซอร์เข้าไปในถังรองเศษอาหารหลังถูกปั่น เราก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังกินในสัปดาห์นั้น จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของชุมชนแบคทีเรียประเภทไหนในตัวเรา และเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ได้จากส้วม เราก็จะได้ภาพ ‘สถาปัตยกรรมชุมชนแบคทีเรีย’ ที่ชัดขึ้น

นอกจากการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ (ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์ในร่างกายไม่ใช่เซลล์มนุษย์) เรายังเริ่มเห็นการใช้แบคทีเรียในการสร้างวัสดุใหม่ๆ ด้วย

สถาปัตยกรรม ชุมชนแบคทีเรีย หนทางสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทุกจุลชีพในร่างกายมนุษย์, ไมโครไบโอม

มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Colorado Boulder ใช้แบคทีเรีย Cyanobacterium สร้างอิฐที่เจริญเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยมันจะใช้การสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างหินปูน (Calcium Carbonate) ขึ้นมาเอง ทำให้เพิ่มวัสดุได้ถึงสองเท่าโดยอัตโนมัติ

ในอนาคตผมมองว่าการศึกษาสถาปัตยกรรมจะต้องควบคู่ไปกับการศึกษาทางสายวิศวกรรมชีวภาพ (Genetic Engineering) และอาจจะเริ่มต้นด้วยการเอานักศึกษาสายชีววิทยา มาทำโครงการร่วมกันกับนักศึกษาสายสถาปัตย์ แล้วตั้งคำถามร่วมกัน

เพราะจริงๆ แล้ว แม้แต่มนุษย์ก็ยังไม่ใช่มนุษย์ทั้งตัว ระบบสถาปัตยกรรมอาจจะต้องคิดรวมไปถึงระบบ ‘อวัยวะ’ ที่ไม่ใช่คนในตัวเราด้วย ว่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Big Data) เหล่านี้อย่างไร


อ่านเพิ่มเติมได้ที่

Writer

Avatar

ยรรยง บุญ-หลง

จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley เป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ปัจจุบันทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบโรงเรียนสาธารณะในย่าน Silicon Valley