เคยสังเกตไหมว่าเวลาหมดพลัง ไม่ว่าจะจากงานหรือความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เรารู้สึกพังทลายหรือไม่มั่นคงภายในจิตใจ หลายครั้งที่เราลุกขึ้นใหม่เพื่อเดินต่อได้ เกิดขึ้นเมื่อได้รับการโอบกอด ไม่ว่าจากคนที่เรารัก เพื่อนสนิท สัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งการโอบกอดตัวเอง

คอลัมน์นี้เลยอยากชวนล้อมวงพูดคุยและสำรวจความหมายของ ‘การโอบกอด’ ในฐานะผัสสะที่สำคัญในการฟื้นคืนธรรมชาติ ธรรมชาติที่ว่านี้หมายรวมถึงธรรมชาติดั้งเดิมภายในตัวเรา และธรรมชาติทางกายภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยร่วมกับชีวิตอื่น ๆ

พลังแห่งการ ‘โอบกอด’ ที่เป็นทั้งยา พลังชีวิต และสัญลักษณ์แห่งการกลับคืนสู่เผ่าพันธุ์

กอด’ เป็นยา

เวลานึกถึงสัมผัสของการโอบกอดหรือพลังงานที่ได้รับจากการกอด เราคิดและรู้สึกถึงอะไรกันบ้าง

เชื่อว่าหลายคนอาจมีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน เพียงแต่รูปแบบของการกอดนั้นอาจแตกต่างกันไป สำหรับผมเวลานึกถึงมัน สิ่งแรก ๆ ที่นึกถึงคือการกอดลูกชาย สัมผัสของการกอดคนรัก และความทรงจำของการโอบกอดที่ได้จากแม่สมัยที่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ

ส่วนการกอดคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกเขิน ๆ และทำตัวไม่ถูก เพราะในครอบครัวที่เติบโตมา น้อยครั้งนักที่จะกอดกันหรือเปิดเผยความรู้สึกอ่อนไหวเปราะบางให้กัน เท่าที่จำความได้ก็มีแต่แม่เท่านั้นที่กอดเรา พอโตมาเป็นวัยรุ่น สัมผัสนี้กับคนในครอบครัวก็ค่อย ๆ หายไป ความหมายของการกอดในช่วงวัยรุ่น จึงหมายถึงความรักและความปรารถนาแบบหนุ่มสาว แต่พอผ่านช่วงชีวิตมาประมาณหนึ่ง เมื่อได้รับการโอบกอดและเป็นคนสวมกอดกับชีวิตอื่นที่ไม่ใช่แม่ ลูก และคนรัก ก็รู้สึกได้ว่ามันมีความหมายหลากหลายรูปแบบมาก และที่สำคัญ รู้สึกได้ถึงพลังของมันในฐานะสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่จะให้แก่กันได้

ลองนึกถึงภาพการแข่งขันของทีมวอลเลย์บอลในสนาม การโอบกอดหรือการตบเอวกันของสมาชิกในทีมทุกครั้งหลังกรรมการเป่าเสียงนกหวีด ให้พลังฮึดสู้ไม่ว่าแต้มจะนำหรือตาม ลองนึกถึงภาพขององค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ที่สมาชิกขององค์กรฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันจนงานสำเร็จ มันมีการกอดกันและการตบบ่าให้กำลังใจเป็นส่วนประกอบสำคัญของทีมเสมอ รวมถึงในวันที่เสียน้ำตาและต้องการกำลังใจด้วย

สัมผัสแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในผู้คน แต่ยังเห็นได้ในโลกของสัตว์ ผ่านการคลอเคลียกัน การเลียหรือการเอาจมูกดุน รวมทั้งการโอบกอดกันทั้งฝูงยามหวาดกลัว ความรู้สึกที่ได้รับจากการโอบกอดและสัมผัสแบบนี้แหละมั้งที่ทำให้รู้สึกพิเศษ ผ่อนคลายจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ รวมทั้งเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยความไว้วางใจและไม่รู้สึกแปลกแยก ทุกการกอดต่างเชื่อมโยงกันจากภายใน โดยไม่ต้องมีคำพูดเพื่ออธิบาย ราวกับว่ามันเป็นภาษาสากล เป็นภาษาที่เราปรารถนาจะสื่อสารกับชีวิตอื่น ๆ รวมถึงกับตัวตนของเรา

พลังแห่งการ ‘โอบกอด’ ที่เป็นทั้งยา พลังชีวิต และสัญลักษณ์แห่งการกลับคืนสู่เผ่าพันธุ์

ระหว่างผมกับลูกชาย เราจะมีพิธีกรรมหนึ่งเรียกว่า ‘กอดสมาธิ’ มันเป็นพิธีกรรมเล็ก ๆ ที่เราคิดค้นและทำในแบบของเราตั้งแต่เขาอายุสัก 2 ขวบ ผ่านมา 4 ปีแล้วที่พิธีกรรมนี้กลายมาเป็นการกระทำอัตโนมัติ ที่เราจะรู้กันเวลาใครในบ้านต้องการการกอด ไม่ว่าจะรู้สึกเศร้า หมดพลัง โกรธ เสียใจ หรือไม่พอใจกับเรื่องใด ๆ ที่เข้ามาขณะนั้น เราแค่บอกอีกฝ่ายหนึ่ง (ส่วนใหญ่จะเป็นลูก) ว่า “ขอกอดสมาธิหน่อย” แล้วเราก็จะกอดกันแบบให้หน้าอกสัมผัสกัน เพื่อให้รู้สึกถึงการเต้นของหัวใจของอีกฝ่าย เราจะกอดกันจนสัมผัสได้ถึงหัวใจที่เต้นช้าลง ลมหายใจผ่อนคลายลงเพื่อตั้งหลักกับตัวเอง

ผมสังเกตว่า เวลาลูกผมโกรธหรือเสียใจจากการไม่ได้อะไรตามที่หวัง หัวใจเขาจะเต้นแรงและไม่โฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราบอกหรืออธิบาย เหมือนประตูการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ถูกปิดจากอารมณ์ขณะนั้น และผมก็เรียนรู้ว่า การกอดทำงานได้ดีมากกว่าคำพูดปลอบโยนหรือสั่งสอนด้วยเหตุผลดี ๆ หลายครั้งที่ผมหมดพลังในชีวิตจากงานและความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง ผมก็สัมผัสได้ว่าหัวใจที่เต้นตุ้บ ๆ ของลูกและร่างกายอุ่น ๆ ของเขา ทำให้จิตใจของผมสงบลงเช่นกัน และกลับมาอยู่ในที่ทางตามธรรมชาติของมัน โดยไม่ต้องพยายามเรียบเรียงสิ่งต่าง ๆ ให้ดูเป็นเหตุเป็นผลเพื่ออธิบายใด ๆ

มีคำอธิบายทางการแพทย์ถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการกอดนี้ว่า มันเกิดจากการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตที่จะให้กำเนิดลูก เพราะน้ำนมและสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกเกิดขึ้นได้ด้วยฮอร์โมนนี้ ออกซิโตซินทำให้ร่างกายของผู้ให้และผู้รับการกอดผ่อนคลาย เห็นอกเห็นใจกัน และช่วยสานสัมพันธ์ความเป็นพวกพ้อง ฮอร์โมนออกซิโตซินจึงมีชื่อเล่นว่า ‘Love Hormone’ และมีฐานะเสมือนยารักษาร่างกายและจิตใจดี ๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องหาจากภายนอก เพราะมันอยู่ภายในร่างกายของเรานี่เอง แต่อาจต้องมีชีวิตอื่น ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเพื่อให้ความรู้สึกของการกอดชัดเจนและสัมผัสได้

พลังแห่งการโอบกอดที่ช่วยฟื้นคืนธรรมชาติในตัวเรา และช่วยให้เราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้

กอดและสัมผัสของพลังชีวิต

หลายปีมานี้ ผมมีโอกาสเรียนรู้จากครูหลาย ๆ คน รวมถึงสังเกตจากร่างกายตนเองในสภาวะต่าง ๆ ว่าเราต่างมีพลังชีวิต พูดแบบนี้อาจทำให้นึกถึงอะไรที่ดูเป็นเรื่องลึกลับ และต้องเป็นคนมีของถึงจะเข้าใจ ตรงกันข้ามมันเป็นอะไรที่เรียบง่ายและอยู่กับเราตลอดเวลา เพียงแต่ด้วยจังหวะชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เราพลาดความรู้สึกสำคัญนี้ไป

ก่อนจะเล่าถึงสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการกอดในฐานะสัมผัสของพลังชีวิต ผมอยากเล่าเรื่องราวของ ดร.วินท์ เวอร์กา (Dr.Vint Virga) สัตวแพทย์คนสำคัญ ที่พาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ของสัตว์ที่มีต่อเราในแง่มุมที่เราอาจคาดไม่ถึง ในหนังสือชื่อว่า The Soul of All Living Creatures: What Animals Can Teach Us About Being Human ประสบการณ์ที่ทำให้ ดร.วินท์ กลายเป็นสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของสัตว์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรที่ดูแลรักษาสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติ เกิดขึ้นสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 4

คืนนั้นเขาต้องเข้าเวรรักษาสัตว์ในวอร์ดที่วุ่นวายจากสัตว์ต่าง ๆ ที่ได้รับอุบัติเหตุ แร็กคูนที่จมูกเป็นแผล สุนัขที่บาดเจ็บ นกโรบินที่บินชนกระจก และ ‘ปองโก้’ สุนัขรีทรีฟเวอร์ที่ให้บทเรียนสำคัญกับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงหน้า เจ้าปองโก้ปลุกความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ผ่านการสัมผัส การมองเห็น และการฟังเพื่อจะได้ยินจริง ๆ จากสัญชาตญาณภายในของเขาขึ้นมา การรักษาเยียวยาสัตว์ไม่ได้ดูแค่ผลการวิเคราะห์จากเครื่องมือที่ไร้ชีวิตต่าง ๆ มากมาย อย่างผลอัลตราซาวนด์ ผลเลือดหรือข้อมูลจากการสแกน MRI

เพราะสิ่งที่เขาทำกับปองโก้ในคืนนั้น แม้อาการของปองโก้จะยังไม่ดีและไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น คือการเชื่อในสัญชาตญาณของเขา เขาห่มผ้านอนกับปองโก้เพื่อเฝ้าไข้ดูอาการ 1 ชั่วโมงที่เขาเผลอหลับไปกับปองโก้ แม้ผลการวิเคราะห์จากค่าต่าง ๆ ของเครื่องมือจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป แต่สภาพร่างกายและจิตใจของเจ้าปองโก้ค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ที่สำคัญปองโก้สัมผัสเขาตอบ พลังชีวิตที่ค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมาแบบนี้ อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ‘ปราณ’ ของทางอินเดีย ‘ชี่’ ของจีน หรือ ‘ขวัญ’ ของไทยเรา แต่สาระที่น่าจะเหมือนกันคือ สัมผัสที่เรารับรู้ได้ถึงการมีชีวิตของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ต้นไม้ รวมทั้งบรรยากาศของสถานที่

ผมยังจำแบบฝึกหัดง่าย ๆ ซึ่งพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งสอนให้กอดต้นไม้ แต่ก่อนที่จะกอดมัน เราต้องรับรู้ถึงพลังงานชีวิตของตัวเองก่อน แล้วค่อยเอาพลังงานที่ว่านี้สัมผัสกับต้นไม้หรือสิ่งต่าง ๆ

พลังแห่งการโอบกอดที่ช่วยฟื้นคืนธรรมชาติในตัวเรา และช่วยให้เราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้

หากใครนึกสนุกอยากลองทำตามก็เชิญได้เลย เริ่มต้นคือการหาพื้นที่สงบที่จะไม่ถูกรบกวน จากนั้นหายใจสบาย ๆ ค่อย ๆ ผ่อนคลายร่างกายและเสียงสนทนาในความคิดลง ถ้าร่างกายผ่อนคลายดีแล้ว ค่อย ๆ ยกมือทั้งสองข้างขึ้นระดับหน้าอกหรือท้อง และให้ปลายนิ้วมือหรือฝ่ามือทั้งสองข้างอยู่ใกล้กันแต่ไม่แตะกัน ลองนำความรู้สึกไปอยู่ที่บริเวณนั้น เหมือนกับว่าเราใช้มันหายใจ แล้วลองสัมผัสความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อน ๆ ทดลองทำแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

หลายคนอาจรู้สึกถึงความอุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างปลายนิ้วมือและฝ่ามือ บางคนอาจรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวเบา ๆ ของเลือด ชีพจร หรืออะไรที่ไหลเวียนในร่างกาย บางคนอาจรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่หาคำมาอธิบายได้ยากก็ไม่เป็นไร ผมขอเรียกความรู้สึกของสัมผัสที่เกิดขึ้นด้วยชื่อเล่น ๆ นี้ว่า ‘พลังงาน’ และสำหรับใครที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นไรเช่นเดียวกัน

ใครที่รับรู้ถึงความอบอุ่นหรือการเคลื่อนไหวของพลังงานนั้น ผมอยากชวนให้ค่อย ๆ ขยายฝ่ามือออกโดยยังคงรักษาความรู้สึกของพลังงานนั้นอยู่ ลองขยับมือทั้งสองเหมือนปั้นดินน้ำมัน เพื่อรักษาพลังงานหรือสร้างความคุ้นเคยกับพลังงานนี้ไว้ และค่อย ๆ ขยายที่ว่างระหว่างมือทั้งสองออกเพื่อขยายพลังงานนี้ให้ใหญ่ขึ้น นี่คือพลังงานและความรู้สึกอบอุ่นที่เรามีให้กับชีวิตอื่น ๆ ผ่านการกอดหรือสัมผัส เรากอดคนที่เรารักด้วยพลังงานแบบนี้

กอดเพื่อนและผู้คนที่กำลังอ่อนล้าหรือหมดพลังในห้วงเวลาที่เขาต้องการการกอด กอดสัตว์เลี้ยงของเรา กอดต้นไม้ใหญ่ที่เราคุ้นเคยและเดินผ่าน กอดและสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ด้วยพลังงานในตัวของเรา ในวันที่เราเหนื่อยล้าและหมดพลัง จนไม่อาจสัมผัสได้ถึงพลังงานภายในตนเอง การโอบกอดและสัมผัสแบบนี้ก็เพื่อให้เรากลับมาสัมผัสและสัมพันธ์กับพลังงานในตัวเองได้อีกครั้ง

พลังแห่งการโอบกอดที่ช่วยฟื้นคืนธรรมชาติในตัวเรา และช่วยให้เราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้

ภาพ : unsplash.com

Writer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding