2 – 3 ปีที่ผ่านมา การถ่ายภาพแบบแอนะล็อกกลับมาฮิตอีกครั้งหลังจากหายไปนานเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ด้วยความสนุกของการกรอฟิล์มและการจดจ่อรอภาพ ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทำให้การถ่ายภาพกลายเป็นงานอดิเรกของใครหลายคนทันที รวมถึงกลายเป็นกระแสที่มีคนให้ความสนใจอย่างล้นหลามมาถึงตอนนี้

แล้วการถ่ายภาพไปต่ออย่างไรได้บ้าง หลายคนอาจจะเคยเดินชมนิทรรศการตามหอศิลป์ พบการจัดแสดงภาพถ่ายที่น่าสนใจทั้งจากช่างภาพคนไทยและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปะภาพถ่ายครบวงจรจริงๆ

เมื่อไม่นานมานี้ มีการรวมตัวช่างภาพจากต่างสาขามาร่วมสร้างความหวังและความฝันของช่างภาพไทยหลายๆ คนให้เกิดขึ้นจริง เราชวน ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพเจ้าของผลงาน ‘The Last Farewhale’ เซ็ตภาพถ่ายแฟชั่นกับซากวาฬบรูด้า ที่เรียกให้ผู้คนหันมาสนใจชีวิตของสัตว์ทะเลในไทยใกล้สูญพันธ์ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพผู้หลงใหลภาพถ่ายขาว-ดำ ผู้ร่วมก่อตั้ง GroundControl และ อีฟ-มาริษา รุ่งโรจน์ ช่างภาพท่องเที่ยวจากเพจ ABOVE THE MARS ผู้ผ่านการเดินทางมานับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาทั้งสามคนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Hub of Photography’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า HOP ที่จะมาร่วมสนทนาถึงสถานที่แห่งความฝัน ซึ่งซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในใจของพวกเขา

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชื่นชอบภาพถ่าย หรือชื่นชอบการถ่ายภาพ HOP อยากชวนคุณเดินเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ของชุมชนคนรัก ‘ภาพถ่าย’ และมากไปกว่านั้น ที่นี่ยังอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนช่างภาพไทยให้พัฒนาศักยภาพ เพื่อไปสู่เวทีระดับโลกผ่านการใช้พื้นที่ ทั้งแลกเปลี่ยนความคิดและเติมเต็มความรู้จากช่างภาพด้วยกันเอง ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน รวมถึงสมุดภาพราคาแพงที่เราอาจจะไม่กล้าเปิดอ่านในร้านขายหนังสือทั่วไป แต่ที่นี่ยินดีให้คุณเปิดอ่านมันอย่างเต็มที่ ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พื้นที่นี้จะกลายเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์แสนสบายใจสำหรับเหล่าช่างภาพ และเป็นมิตรสำหรับคนใหม่ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าไปทำความรู้จักกับศิลปะภาพถ่าย

Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน
Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน

กำเนิดชุมชนคนรักภาพถ่าย

จุดเริ่มต้นของพื้นที่แห่งนี้มาจากความตั้งใจของผู้บริหาร Seacon Development เจ้าของพื้นที่บริเวณชั้น 3 ของ MUNx2 ซีคอนแสควร์ ศรีนครินทร์ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาพื้นที่ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กระแสที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาพถ่าย ซึ่งผู้บริหารชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และอยากสนับสนุนศิลปะแขนงนี้ให้ทุกคนสัมผัสความงามได้มากยิ่งขึ้น

“ความน่าสนใจคือ การทำพื้นที่ของ HOP ไม่ได้เกิดจากแพสชันของเรากับผู้บริหารเท่านั้น แต่มาจากความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ด้วยที่ชอบงานภาพถ่าย แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ายุคนี้ทุกคนถ่ายภาพด้วยตัวเองได้ มันก็กลายมาเป็นหมุดหมายของการพัฒนาที่อยากให้เกิดพื้นที่สำหรับช่างภาพขึ้นมาให้ได้” ทอมเกริ่นเข้าประเด็น

เมื่อมีพื้นที่และคนที่สนใจ ขั้นต่อไปเป็นการตามหาคนที่มีความรู้มาเติมเต็มความสมบูรณ์ของพื้นที่

“พวกเราสามคนจับพลัดจับผลูฟอร์มทีมขึ้นมาจากการชักชวนของอีฟ เป็นการรวมตัวช่างภาพจากคนละแขนง คนละความเห็น และคนละแง่มุม แต่มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือพวกเราเป็นช่างภาพ ฉะนั้นชุมชนนี้จึงเกิดขึ้นจากมุมมองของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จริงๆ” ผ้าป่านเล่าจุดเริ่มต้นของการโคจรมาเจอกัน

ผ้าป่านเองมาจากสายช่างภาพสตรีท อีฟมาจากสายช่างภาพออนไลน์ เน้นสื่อสารกับคนอย่างกว้างขวาง ส่วนทอมมาจากสายแฟชั่นและสารคดีที่สื่อสารประเด็นชัดเจนลงไปในงาน การมาจากสายที่ต่างกันนี้เอง ทำให้เพื่อนหรือชุมชนที่พวกเขาอยู่นั้นมีความหลากหลาย จึงสำรวจปัญหาและความต้องการของช่างภาพได้อย่างทั่วถึง

เมื่อองค์ประกอบพร้อมแล้ว ทั้งสามคนก็เริ่มแบ่งปันปัญหาและประสบการณ์ที่พบเจอจากการทำงานช่างภาพ รวมถึงสำรวจชุมชนภาพถ่ายจากต่างประเทศ นั่งทบทวนแล้วนำบทสรุปที่ได้ไปสร้างพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน
Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน

ความเป็นไปของอุตสาหกรรม

ถึงแม้ว่าการเสาะหาความรู้บนโลกอินเทอร์เน็ต มีเนื้อหาจำนวนมากให้เหล่าช่างภาพเลือกศึกษาตามความสนใจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจทำให้พวกเขามีตัวเลือกในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ช่างภาพมือใหม่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจในแนวทาง ประเภทของภาพถ่ายที่ตัวเองสนใจ และอยากเจาะจงทำงานต่อ เพราะประเทศไทยไม่มีพื้นที่หรือชุมชนเกี่ยวกับภาพถ่ายปรากฏตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ช่างภาพหลายคนก็อาจจะต้องการวงสนทนา สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน

“จุดนี้เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ของ Hub of Photography เรื่องการพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านเวิร์กชอป เราพยายามดึงหลายคนจากหลายวงการมาเจอกัน ณ พื้นที่ที่เราพยายามทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย หวังว่าจะปลอดภัยกับทุกคน อยากให้คนมาเจอกัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะว่าวงการภาพถ่ายไทย เรามีคอมมูนิตี้ที่มีช่างภาพเก่งๆ เยอะมาก” ทอมชูเป้าหมายหนึ่งของการสร้างพื้นที่ขึ้นมา

นอกจากปัญหาที่ช่างภาพต้องเผชิญ ภาครัฐไม่ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนงานศิลปะมากพอ ส่งผลให้ระบบอุตสาหกรรมภาพถ่ายในไทยไม่อาจสร้าง ‘ศิลปิน’ ให้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากระบบไม่เอื้อให้ผู้คนเห็นคุณค่าและความงามของงานศิลปะ ผลลัพธ์จึงกลายเป็นว่ามีผู้ผลิตอยู่มาก แต่ผู้ซื้อกลับมีจำนวนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด 

“จริงๆ มันต้องเป็นไปด้วยกันในองค์รวม มี HOP อย่างเดียวก็ไม่ได้ ควรจะมีหอศิลป์อื่นที่สนับสนุนวงการช่างภาพในแง่ของการนำเสนองาน จัดแสดงงาน แม้กระทั่งมีการให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปในเรื่องการเริ่มสะสมงาน หรือเรื่องลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ” ผ้าป่านเล่าปัญหาทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กของวงการนี้ให้ฟัง

กว่า 6 เดือนของการเริ่มต้น พร้อมให้ทุกคนทำความรู้จักศิลปะภาพถ่ายกันแล้ว

Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน
Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน
Hub of Photography ชุมชนที่ตั้งใจขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย และเป็นพื้นที่ของคนรักกล้องทุกคน

พื้นที่ที่เป็นมากกว่าแกลเลอรี่

Hub of Photography ไม่ได้มีเพียงพื้นที่จัดนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังรวบรวมความต้องการหลายๆ ด้านของช่างภาพและคนรักภาพถ่าย เพื่อสนับสนุนการทำงานและความคิดที่จะพัฒนาต่อยอดได้มากยิ่งขึ้น ทางทีมผู้ก่อตั้งปรึกษาหารือกันถึงภาพของแกลเลอรี่ที่อยากให้เกิดขึ้น จนกลายเป็น HOP ที่มีพื้นที่กิจกรรมทั้งหมด 5 โซนด้วยกัน

‘HOP PHOTO GAELLERY’ ห้องจัดแสดงนิทรรศการหลักที่จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ซึ่งทีมผู้ก่อตั้งอยากให้เป็นมาตรฐานของการจัดพื้นที่แสดงงานต่อๆ ไปด้วย ทั้งสามคนตั้งใจกับพื้นที่ตรงนี้มากๆ ช่วยกันออกแบบระบบไฟ เลือกกระเบื้อง คำนึงถึงความสว่างที่เหมาะสม และควบคุมอุณหภูมิสีของไฟที่จะส่งผลต่อภาพจัดแสดง เรียกได้ว่าพิถีพิถันทุกองศา สำหรับทุกอย่างในห้องจัดแสดงที่มาจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของทั้งสามคน 

ทอมถามเราถึงความรู้สึกเมื่อเข้าไปในพื้นที่ เราตอบไปว่า ในห้องจัดแสดงดูสบายตาและเป็นมิตรมาก ซึ่งปกติเวลาที่เราเดินชมงานนิทรรศการหลายแห่ง จะรู้สึกเดินแล้วตัวเกร็งๆ บางทีก็ไม่แน่ใจว่าต้องเอาตัวเองไปวางไว้ตรงไหนในพื้นที่นั้น แต่สำหรับ HOP เรารู้สึกต่างออกไป ทอมดูอิ่มอกอิ่มใจกับความเห็นของเราอยู่ครู่ใหญ่ เพราะเหมือนได้รับการยืนยันด้วยหูของตัวเองว่า รายละเอียดเล็กๆ ที่พวกเขาตั้งใจออกแบบ มีคนเห็นและสัมผัสมันได้จริงๆ

‘WHOOP!’ พื้นที่นี้อาจจะไม่ได้ใหญ่มากเท่าห้องจัดแสดงหลัก แต่เป็นแกลเลอรี่ที่ ‘ทุกคน’ สนุกกับมันได้ WHOOP! เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้ามาแสดงนิทรรศการ เพราะทีมผู้ก่อตั้งอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของทุกๆ คน

‘FOTO INFO Learning Center’ สตูดิโอที่อยากเชิญชวนทุกคนมาทดลองถ่ายภาพ โดยมีทีม FOTOINFO เข้ามาช่วยดูแลอุปกรณ์และให้ความรู้ ตลอดจนเทคนิคการถ่ายภาพ ทั้งถ่ายภาพสินค้าและการจัดแสงในรูปแบบต่างๆ

‘HOP Club’ ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนตื่นเต้นกับส่วนนี้มาก พวกเขาถือว่า พื้นที่นี้จะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งในการสนับสนุนให้ช่างภาพเติบโตต่อไป ในพื้นที่มีทั้ง Photobook Gallery ห้องสมุดภาพที่ทำงานร่วมกับคนมากประสบการณ์อย่าง ปิ่น-วิทิต จันทามฤต Vacilando และ เชน สุวิกะปกรณ์กุล Hardcover, Serindia Gallery คัดเลือกหนังสือมาเป็นจำนวนหลายร้อยเล่ม รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับร้านหนังสือต่างๆ และ Merchandise Gallery ร้านจัดจำหน่ายสมุดภาพของศิลปิน 

เราเข้าไปทดลองเปิดอ่านดูแล้ว ถ้าชอบ อยากอุดหนุน ก็สแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินให้กับศิลปินโดยตรง และหยิบสมุดภาพเล่มนั้นกลับบ้านได้เลย

‘Common Space’ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลงแล้ว พื้นที่ตรงนี้จะมีเวิร์กชอปจาก Gift Lee ช่างภาพที่จะชวนพูดคุยถึงการทำให้ศิลปะและการถ่ายภาพเป็นเรื่องเข้าใจง่าย สำหรับคนที่เริ่มต้นถ่ายภาพโดยเฉพาะ นอกจากกิจกรรมให้ความรู้แล้ว ก็จะมีกิจกรรมเปิดตลาดกล้อง อุปกรณ์ถ่ายภาพ และร้านพิมพ์ภาพมาออกบูทด้วย

ชุมชนภาพถ่ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยบนห้างซีคอนสแควร์ ที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพถ่ายไทยทัดเทียมระดับสากล
ชุมชนภาพถ่ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยบนห้างซีคอนสแควร์ ที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพถ่ายไทยทัดเทียมระดับสากล

SELFPRESSION แนะนำตัวตนผ่านภาพถ่ายสู่คนใหม่ๆ

“เราอยากสื่อสารกับทุกๆ คนว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เพราะว่าเราสร้างสิ่งนี้เพื่อวงการช่างภาพ เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงให้คนรู้ว่าการรวบรวมช่างภาพในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแสดงงานภาพถ่ายที่เฉพาะเจาะจงความชอบของพวกเราเท่านั้น ก็เลยรวบรวมช่างภาพหนึ่งร้อยคน จากหลากหลายสาขา หลากหลายอายุและเพศ มีต่างประเทศด้วย” ผ้าป่านอธิบายถึงช่างภาพที่ชักชวนมาจัดแสดงงาน ซึ่งทางทีมก็ขยายชุมชนออกไปมากขึ้นด้วย

สำหรับนิทรรศการการเปิดตัว ทางทีมผู้ก่อตั้งทั้งสามได้ลงมือคัดเลือกภาพถ่ายด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าเนื้อหาของงานเป็นภาพจำนวน 100 ภาพ แต่ความจริงแล้ว ภาพทั้งหมดนั้นมาจาก 99 ช่างภาพเท่านั้น ส่วนอีกภาพหนึ่งที่เหลือ ทาง HOP ตั้งใจให้เป็นกระจกที่สะท้อนตัวคนที่ถ่ายภาพใบนั้นเอาไว้ในห้อง WHOOP!

“ระหว่างทางของการจัดนิทรรศการ SELFPRESSION เป็นกระบวนการทำงานที่น่าสนใจมากๆ เพราะเราสามคนมาจากคอมมูนิตี้ของวงการช่างภาพที่ต่างกัน ส่วนตัวผมเอง ผมได้รู้จักช่างภาพจากคอมมูนิตี้ของอีฟ คอมมูนิตี้ของผ้าป่าน เราช่วยผลักดันพวกเขา ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเรียนรู้กระบวนการทำงานและวิธีการเติบโตของแต่ละคน” 

และด้วยความที่เราก็มีความสนใจด้านภาพถ่ายเช่นกัน เราลองถามถึงเรื่องการเปิดรับภาพถ่ายจากคนที่ไม่ใช่ช่างภาพมือโปรหรือบุคคลทั่วไปดู เผื่อว่าวันหนึ่งเราหรือผู้อ่านสนใจ จะได้ติดตามและส่งภาพเข้าไปที่ HOP บ้าง

“หลังจากนี้เราจะมีการ Open Call สำหรับบุคคลทั่วไป เราอยากรู้จักทุกคนนะคะ อยากรู้จักช่างภาพทุกคน อยากรู้จักทั้งช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพมือสมัครเล่น และอยากรู้จักคนที่รักในงานภาพถ่าย เพราะฉะนั้น เราพยายามจะสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดเครือข่ายขึ้น ช่างภาพจะเดินมาหาเราอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องเดินไปหาพวกเขาเหมือนกัน” 

เราอยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพอีกครั้ง เผื่อจะร่วมแบ่งปันเรื่องราว ณ พื้นที่แห่งนี้กับเขาบ้าง

ชุมชนภาพถ่ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยบนห้างซีคอนสแควร์ ที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพถ่ายไทยทัดเทียมระดับสากล

มาตรฐานที่อยากไปให้ถึง

นอกจากห้องผนังสีขาว กระเบื้องลายไม้ที่มีความอบอุ่นสบายตาแล้ว Hub of Photography ยังอยากเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนศิลปิน ทั้งงานจัดแสดง งานขาย งานแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองต่างๆ อีกด้วย

“ป่านว่าการที่มีพื้นที่ทางกายภาพแบบนี้ พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหมือนกับจุดที่ไปย้ำเตือนบรรดาช่างภาพที่เป็นเพื่อนๆ เราเนี่ยแหละว่า เฮ้ย คอมมูนิตี้ที่เราจะสร้าง มันเริ่มเห็นแล้วว่าเราจะไปทางไหน แล้วมันจะเติบโตไปแบบในลักษณะไหน พอพื้นที่มันเปิดแล้ว เลยเหมือนเป็นระลอกสองที่สร้างความตื่นเต้นให้คนอยากมาพื้นที่นี้

“ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ช่างภาพ เพราะว่ากลุ่มภัณฑารักษ์ที่เราเชิญมาดูพื้นที่ เราก็จะคุยในแง่ของลักษณะการทำงานจริงๆ ในแง่ของตัวแกลเลอรี่ เหมือนได้มาตรฐานเดียวกับของเมืองนอกว่า โอเค ศิลปินจะมาแสดงต้องมีการคัดเลือกภาพแบบไหน มีวิธีการติดตั้งยังไงให้ได้คุณภาพ หรือว่าระบบไฟอะไรที่จะนำเสนองานศิลปินได้ดีที่สุด หรือการจะมีเงินทุนสนับสนุนศิลปินในการผลิตงาน มีค่าจ้างผู้ดูแลหรือเหล่าภัณฑารักษ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่เมืองนอก แม้ว่าในเมืองไทย อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น แต่เราพยายามจะทำให้มาตรฐานตรงนี้ทัดเทียมกับของเมืองนอก” 

ผ้าป่านย้ำถึงการผลักดันช่างภาพหน้าใหม่ไปสู่เวทีโลกได้มากขึ้น ที่ผ่านมามีช่างภาพไทยจำนวนไม่น้อยได้รับโอกาสในการจัดแสดงงานระดับสากล ผู้ก่อตั้งทั้งสามมองเห็นศักยภาพคนไทยที่จะพัฒนา และต่อยอดผลงานเพื่อทะยานสู่ระดับโลก และมาตรฐานเหล่านี้ ทีมงานรีบออกตัวกับเราก่อนว่า HOP ไม่ใช่ที่แรกๆ ที่สร้าง โอ๋-ปิยะทัต เหมทัต และ มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้จัดงาน Photo Bangkok พยายามจะสร้างเทศกาลภาพถ่ายด้วยเช่นกัน 

นี่จึงไม่ใช่การเดินทางในการเพิ่มมาตรฐานการจัดแสดงงานศิลปะอย่างโดดเดี่ยวแน่นอน

ชุมชนภาพถ่ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยบนห้างซีคอนสแควร์ ที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพถ่ายไทยทัดเทียมระดับสากล

ผลลัพธ์ของการสร้างพื้นที่และรู้จักผู้คนที่หลากหลาย

แน่นอนว่าการสร้างอะไรบางอย่างมักมีผลลัพธ์ตามมาเสมอ ทั้งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและผลลัพธ์ที่มาจากความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึก ‘สนุก’ และ ‘มีความสุข’ ที่ได้ลงมือทำสิ่งที่พวกเขาเคยฝันเอาไว้

“ความสนุกของผมน่าจะเป็นการที่เราได้ออกจากคอมฟอร์ตโซนจริงๆ เพราะว่ามันเป็นโปรเจกต์ใหญ่มาก ระหว่างทางเราได้เรียนรู้ เราได้สะท้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่า เราทำอะไรเพื่อขับเคลื่อนวงการภาพถ่ายได้บ้าง ในขณะเดียวกัน เราได้ค้นพบศิลปิน ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้รู้จักคนในวงการอื่นที่ทำงานด้านนี้มาอย่างยาวนานหรือเพิ่งเริ่มต้น แล้วเราใช้ประสบการณ์และพื้นที่ตรงนี้เพื่อสนับสนุนเขาได้จริงๆ ผมถือว่าเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของผม แต่ไม่แน่ใจว่าทั้งสองคนสนุกด้วยรึเปล่า” ทอมพูดทีเล่นทีจริงพร้อมเสียงหัวเราะ แต่ทำให้เราเห็นความตั้งใจของเขาอย่างชัดเจน

“อีฟสนุกตรงที่ไอเดียไม่ถูกจำกัด เวลาเราคิดจะทำอะไรแล้วสุดท้ายเราทำได้ มันท้าทายมากๆ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ แต่เราก็ยังต้องทำมันต่อไปเรื่อยๆ” อีฟแบ่งปันความรู้สึกที่ท้าทายความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม

“คำถามทำให้ตาเป็นประกายมากค่ะ” ผ้าป่านตอบทันทีด้วยแววตาสุกสกาว 

“ระหว่างทำ เราคิดเรื่องนี้หลายรอบมาก มันเป็นความฟินที่ว่า ตอนฉันแสดงงานแล้วฉันอยากได้สิ่งนี้ มันต่อยอดจากความต้องการในฐานะศิลปิน พอโตขึ้น เรามีมุมมองที่เปลี่ยนไป เราไม่ได้มองในมุมที่เป็นศิลปินอย่างเดียว พอเราเดินทาง เราเติบโตเพราะได้เห็นสิ่งต่างๆ มาเยอะ ก็รู้สึกว่าอยากให้ประเทศไทยมีบ้าง พอมันมี แล้วเกิดขึ้นจากที่เรามีคนร่วมออกแบบด้วย เราไม่ได้ฟินคนเดียว มีพี่ทอมกับอีฟฟินด้วย ป่านว่านี่คือความสุขของคนทำงาน” 

นอกจากทุกคนจะได้รับประโยชน์อย่างล้นหลาม ทีมผู้ก่อตั้งก็ได้รับบทเรียนเช่นกัน ทั้งออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ได้เจอความท้าทายที่เข้ามาพร้อมๆ กัน ได้คิดในมุมมองที่กว้างขวางขึ้นในฐานะผู้คัดเลือกผลงาน

ทอมย้ำกับเราอย่างจริงจังว่า เขาอดใจรอไม่ไหวที่จะได้เห็นปาร์ตี้ของชุมชนนี้ เพื่อนพี่น้องในวงการรวมถึงคนใหม่ๆ ที่สนใจในศิลปะภาพถ่ายมาพูดคุย พบปะ สังสรรค์กัน เมื่อวิกฤตการณ์คลี่คลายไปแล้ว

แม้ท้ายที่สุดแล้ว สถานที่นี้จะไม่อาจขับเคลื่อนวงการภาพถ่ายทั้งหมดได้ เพียงแต่พื้นที่แห่งนี้จะเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้คนเข้าใจ มองเห็น และหลงรักเสน่ห์ของภาพถ่ายมากขึ้น

ชุมชนภาพถ่ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยบนห้างซีคอนสแควร์ ที่อยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพถ่ายไทยทัดเทียมระดับสากล

HOP : Hub of Photography 

ที่ตั้ง : ชั้น 3, MUNx2 Seacon Square Srinakarin ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ (แผนที่)

เปิดบริการ : ทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น.

Facebook : HOP Hub of Photography

Instagram : @hubogphotography

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล