ค.ศ. 1937 คือ ปีก่อตั้ง ‘ห่วงเส็ง’ ร้านนำเข้า-จำหน่ายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยและอุปกรณ์งานฝีมือ 

ค.ศ. 2037 คือ อนาคตอีก 15 ปีที่ห่วงเส็งจะมีอายุกิจการครบ 100 ปี 

ค.ศ. 2022 คือ ปีที่เรานั่งสนทนาอย่างออกรสกับทายาทรุ่นสอง-รุ่นสาม ถึงที่มาที่ไปธุรกิจครอบครัว 85 ปี – ยืนระยะยาวนาน เป็นที่รู้จัก เป็นที่รัก และตั้งเป้าหมายจะเป็นกิจการเล็ก ๆ ที่อยู่จนถึงร้อยปีให้ได้!

คุณแม่รุ่งฤดี หวังชูเชิดกุล ทายาทรุ่นสอง และ ธเนศ หวังชูเชิดกุล ลูกชายคนเล็ก พ่วงตำแหน่งทายาทรุ่นสามของ ‘ห่วงเส็ง’ พาเราเดินทัวร์ร้านใหม่ย่านนนทบุรี ขนาดร้านกำลังอบอุ่น มีข้าวของงานฝีมือครบครัน แถมจำหน่ายในราคามิตรภาพสุด ๆ ซึ่งเป็นที่รักของคนทำงานฝีมือมาตั้งแต่รุ่นอากง รักมากขนาดว่า ลูกค้าอายุ 92 ที่เคยเป็นลูกค้าตั้งแต่ยุคแรก หาร้านโฉมใหม่จนเจอ และกลับมาอุดหนุนกันอีกครั้ง หรือบางคนยอมเรียกบริการเดลิเวอรี่ด่วนจี๋จากพี่ ๆ ไรเดอร์ เพียงเพื่อเข็มเย็บผ้าราคา 15 บาท เพียงเล่มเดียว (แน่นอนว่าราคาส่งแพงกว่าเข็มแน่นอน)

ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี

ในวันนี้ ห่วงเส็ง กลับมาคึกคักเหมือนสาวแรกแย้ม เพราะได้ลูกชายของทายาทรุ่นสองเข้ามาช่วยดูแลกิจการ ปรับเปลี่ยนร้านค้าลงแพลตฟอร์มออนไลน์ จนยอดขายช่วงสถานการณ์โควิด-19 พุ่งกระฉูดอย่างก้าวกระโดด

นอกจากทำความรู้จักกับพื้นที่ใหม่ ธเนศตั้งเป้าฟื้นธุรกิจให้กลับมามีชื่อเสียงเหมือนรุ่นอากง

เขากลับไปหยิบสินค้าจากแบรนด์ดั้งเดิมมาจำหน่ายอีกครั้ง เพื่อสานต่อและสืบทอดความตั้งใจของกิจการครอบครัว นั่นคือ ‘การเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์งานฝีมือที่ครบถ้วนที่สุดในประเทศไทย’ 

เรื่องราวต่อไปนี้คือความจริงใจในการทำธุรกิจให้คงกระพันตลอด 85 ปี ของ ‘ห่วงเส็ง’

ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี

ห่วงเส็ง แปลว่า เจริญรุ่งเรือง

ก่อนนั่งล้อมวงสนทนา คุณแม่รุ่งฤดี พาเราเดินลัดเลาะผ่านนานาอุปกรณ์งานฝีมือ ก่อนจะหยุดหน้าภาพถ่ายขาวดำในกรอบไม้สีธรรมชาติ พร้อมผายมือแนะนำให้รู้จัก อากงเอี๊ยว แซ่อึ้ง และภรรยา ซึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ของเธอ

ที่สำคัญ ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ‘ห่วงเส็ง’ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยและอุปกรณ์งานฝีมือทั้งปลีก-ส่ง

“เตี่ยเป็นคนก่อตั้ง แกติดเรือมาจากเมืองจีนตั้งแต่อายุ 19 มาแบบลำบาก เสื่อผืนหมอนใบ เขาพูดไม่ผิดหรอกค่ะที่บอกว่า ‘กินเกลือ’ แกกินข้าวต้มกับเกลือจริง ๆ แต่อาศัยว่าเป็นคนขยันและไม่ใช้เงิน ทีแรกก็เป็นลูกจ้างอยู่แถวบางลำพู พอมีเงินตั้งตัวก็เช่าแผงเล็ก ๆ แถวปากตรอกตลาดยอด รับถ้วยชามมาขาย ขายไปขายมาลูกค้าถามหาด้ายบ้าง เข็มบ้าง แกก็หาเข็มกับด้ายมาขาย ไม่ว่าลูกค้าจะถามหาอะไร แกจะพยายามตามหามาให้” ลูกสาวย้อนความทรงจำ

ย่างเข้าวัย 30 อากงเอี๊ยวแต่งงาน และขยับขยายแผงจิ๋ว ๆ สู่การเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง สมัยนั้นนำเข้าไหมพรมจากประเทศญี่ปุ่นมาขาย ลูกสาวกระซิบว่าขายดีมาก ต้องสั่งสินค้าทุก 3 เดือน ครั้งละประมาณ 500 – 1,000 ปอนด์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวญวน เพราะนิยมซื้อไหมพรมไปถักเสื้อขายตามย่านสำเพ็งและเยาวราช

ซึ่ง ห่วงเส็ง ก็ทำไหมพรมขายเองด้วย ตีแบรนด์ ‘ตราอูฐ’ คุณแม่รุ่งฤดีบอกว่า ถ้าเป็นคนยุคนู้นต้องรู้จัก!

ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี

คุณพ่อ คุณแม่ เลี้ยงลูกด้วย ค้าขายด้วย จนตั้งตัวได้ก็เริ่มขยายสาขา สาขาแรก ขายสินค้าเย็บปักถักร้อยและเสื้อชั้นในสตรี สาขาสอง ขายเสื้อผ้าเด็กอ่อน จนกระทั่งลูก ๆ เติบโตเป็นหนุ่มสาว ก็เปิด ‘ห้างสรรพสินค้าบางลำภู’ ขึ้นมา 

โดยยุบทั้งสองสาขาและขยับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้างสรรพสินค้าแทน แต่วันดีคืนดีกลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่ออัคคีภัยมาเยือน เปลวเพลิงลุกโชนกวาดความรุ่งเรืองของย่านการค้าราบเป็นหน้ากลอง ‘ห้างสรรพสินค้าบางลำภู’ ก็ด้วย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘ห่วงเส็ง’ ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในสถานที่ใหม่บริเวณวัดบัวขวัญ 

เราชวนทายาทรุ่นสองย้อนถึงยุครุ่งเรืองเมื่อ ราว 40 – 50 ปีก่อน เธอยินดีเล่าให้ฟัง

“สมัยก่อนร้านเย็บปักถักร้อยไม่ค่อยมีคนทำ เราเป็นเจ้าแรกของบางลำพูและเป็นเจ้าแรกที่ขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยเยอะที่สุด เยอะขนาดที่ว่าห้องแถวสี่ห้องไม่พอเก็บของ ลูกค้าเป็นร้อย ๆ ยืนเลือกของกันแน่นร้าน

“ยืนขายตั้งแต่เช้ายันมืด ไม่มีเวลากินข้าว ต้องรีบกิน รีบขายของ ตอนนั้นมีคนช่วยขายเกือบ 20 คน แล้วลูกค้าไม่ได้มีแค่นักเรียนหรืออาจารย์ แต่นักร้อง ดารา เป็นลูกค้าเราเยอะมาก ช่วงกลางคืนนักร้องจะมาซื้อลูกปัด ซื้อเลื่อม เอาไปปักเสื้อ อย่าง คุณผุสดี วงศ์กำแหง เป็นลูกค้าประจำเลย ดาราช่อง 4 บางขุนพรหม ไม่มีใครไม่รู้จัก”

ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี
ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี

คุณแม่รุ่งฤดียืนยันระดับความรุ่งเรืองของกิจการด้วยน้ำเสียงสนุก และเสริมว่าลูกค้าจากหน่วยงานราชการก็แวะเวียนมาไม่ขาดสาย แถมยังมีลูกค้าต่างจังหวัดที่ซื้อของไปขายต่อ และส่งสินค้ามาแล้วเกือบทุกจังหวัด

เราถามทายาทรุ่นสอง-ทายาทรุ่นสาม ว่าเป็นเพราะอะไรห่วงเส็งถึงมีลูกค้าจากทั่วประเทศขนาดนี้

“ขายถูก” คุณแม่รุ่งฤดีตอบทันที “ของเยอะ มีครบทุกอย่าง ยุคสมัยก่อน เราขายถูกกว่าสำเพ็งอีก ปัจจุบันก็ยังถูกกว่า เพราะเรานำเข้าสินค้าเอง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง” นี่คงเป็นท่าไม้ตายที่ครองใจลูกค้า ถูก ครบ จบในที่เดียว 

ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน

คุณแม่รุ่งฤดีช่วยครอบครัวดูแลร้านมาตั้งแต่อายุ 12 นับรวบประสบการณ์อาชีพของแม่ค้าคนนี้ก็ปาเข้าไป 60 ปีพอดิบพอดี ทำเอาเรานึกสงสัยว่าเธอสั่งสมคำสอนใดจากพ่อ-แม่ จนหล่อเลี้ยงกิจการครอบครัวได้นานถึง 85 ปี 

“เตี่ยสอนเราแค่ 3 อย่างเท่านั้นเอง ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน” ทายาทรุ่นสองพูดด้วยแววตาภูมิใจ 

“ห่วงเส็งอาศัยขายของเยอะ กำไรน้อย สมัยก่อนคนมาขโมยของ เตี่ยก็ทำเป็นไม่มอง บางคนซื้อของจากที่อื่นแล้วเอามาเปลี่ยนที่ร้าน เตี่ยก็ยอมให้เปลี่ยน เผื่อวันหลังเขาจะกลับมาซื้อร้านเรา อะไรยอมได้ก็ยอม หยวนได้ก็หยวน

“และเราตั้งราคาขายพอให้ร้านอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าร้านเรามีของครบ แล้วจะขายเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ ถ้าเป็นแบบนั้นลูกค้าคงมาซื้อเราแค่หนเดียว แต่ที่นี่เราตั้งราคายุติธรรมกับลูกค้าเสมอ อาศัยความจริงใจ ไม่อย่างนั้นห่วงเส็งคงอยู่ไม่ได้ อีกอย่าง ถ้าลูกค้าซื้อของร้านเราไปแล้วไม่ถูกใจ เราก็ยินดีให้เขามาเปลี่ยนคืน” คุณแม่รุ่งฤดีเล่า

หญิงวัย 72 หัวใจยังสาว บอกว่าเธอเกิดมาเพื่อเป็นแม่ค้า – เธอเป็นแม่ค้าแบบไหน เราถามกลับทันที

ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี
ห่วงเส็ง ร้านอุปกรณ์งานฝีมือที่เลือกของดีที่สุดในโลกให้ลูกค้า และตั้งใจอยู่ถึง 100 ปี

“ชอบแนะนำค่ะ ลูกค้าบางคนมาแล้วหลง ตั้งใจจะมาซื้อของอย่างหนึ่ง แต่ดันได้อย่างอื่นกลับไปแทน หรือบางคนมาพร้อมปัญหา เราก็แนะนำและช่วยแก้ปัญหาให้ด้วยประสบการณ์ที่เราเก็บเกี่ยวมาเรื่อย ๆ ทั้งชีวิต”

“เราศึกษาไปพร้อม ๆ กับการเห็นปัญหาของลูกค้า เวลาเขาต้องการให้ช่วยหาสินค้าหรือแก้ปัญหา เราตอบได้ทันที และไม่ว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร ขอให้บอก เราจะเสาะหามาให้ได้ และการที่ผมมายืนขายของหน้าร้าน ทำให้ผมเห็นความต้องการของลูกค้า เขาจะถามว่าอันนี้มีมั้ย อันนู้นมีมั้ย ถ้าสินค้าไหน ยี่ห้อไหน ห่วงเส็งยังไม่มี ผมจะรีบติดต่อบริษัทผู้ผลิตโดยตรงเพื่อนำเข้าสินค้านั้น ๆ มาตอบความต้องการของลูกค้า” ทายาทรุ่นสามเผยความมุ่งมั่น

ห่วงเส็งในยุคสมัยอากง ลูกชายคนโตทำหน้าที่แสวงหาและนำเข้าผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากประเทศญี่ปุ่น บินไปถึงแหล่ง สนทนากับหลากหลายบริษัท เข้าถึงเทรนด์ก่อนใครเพื่อน ก่อนจะหอบสารพัดสินค้ากลับประเทศไทย

สองแม่ลูกกระซิบว่า ไหมพรมและลูกปัด ขึ้นแท่นสินค้าขายดี (มาก) เพราะสมัยนู้นเมืองไทยยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิต ลูกปัดเม็ดจิ๋วหลิวที่หล่อจากแก้วจึงถูกนำเข้าจากฮิโรชิมา คุณภาพดีจนต้องยกนิ้วโป้งทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เพราะสินค้ายังอยู่ยงคงคงกระพันมาถึงทุกวันนี้ สภาพดี สีเยอะ (มาก) พร้อมให้คุณอุดหนุนกลับไปใช้งาน 

ระหว่างเล่าความหลัง คุณแม่หยิบลิ้นชักไม้ที่แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมหลายสิบช่องมาวางบนเคาน์เตอร์กระจก ภายในบรรจุลูกปัดแก้วหลายสิบสี ส่องประกายเงาแวบเหมือนใหม่ ทว่ามีอายุเก่าแก่ก่อนเราเกิดเสียด้วยซ้ำ

สมัยนั้น ลูกปัดแก้วราคากี่บาทคะ – ความใคร่รู้ทำงาน เราเผลอถามราคากับแม่ค้าตรงหน้า

“พวงละ 1 บาท 50 สตางค์ ยุคนั้นทองบาทละ 400” เธอตอบฉะฉาน

“แล้วทุกวันนี้ขายพวงละกี่บาทคะ” – “40 บาทค่ะ” แม่ค้าตอบทันที 

ราคาขายยังคงเป็นธรรม เมื่อเทียบกับสินค้าคุณภาพเยี่ยม ส่วนกำไรที่ตกอยู่ในมือลูกค้า คือ ‘คุณค่า’ ของสารพัดข้าวของ ที่ ณ วันหนึ่งเคยเป็นที่ต้องการของผู้คน ผ่านกาลเวลาบ่มเพาะพร้อมเรื่องราวเบื้องหลังมากกว่า 80 ปี

ไม่เพียงลูกปัดแก้ว ห่วงเส็งยังมีสินค้าตั้งแต่ยุคอากงจำหน่ายอีกเพียบ ที่เราถูกใจเป็นพิเศษ ขอแนะนำหนังสืองานฝีมือจากประเทศญี่ปุ่น มีให้เลือกเย็บปักถักร้อยหลากหลายรูปแบบ ด้ายยี่ห้อ DMC จากประเทศฝรั่งเศส เป็นด้ายยุคสมัยแรกในหลอดกระดาษ น่าแปลกที่สียังสด เงางาม และเส้นด้ายยังตึงเปรี๊ยะ (ขายเริ่มต้นเพียงไจละ 5 บาท)

“ในวันที่ของเก่าสมัยอากงขายออก คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างคะ” เราถามคำถามแสนธรรมดา

“ดีใจมากเลย” คุณแม่รุ่งฤดีตอบทันที พร้อมรอยยิ้มแสนพิเศษที่ดูก็รู้ว่าออกมาจากหัวใจจริง ๆ

“เคยมีลูกค้ามาซื้อของที่ร้าน เขาบอกว่า ‘ที่นี่ร้านโบ’ เราก็งงว่าโบอะไร ‘โบราณไงป้า’” คุณแม่หัวเราะชอบใจ “พวกนี้ของเก่าทั้งนั้นนะคะ ของเก่าแต่ไม่เสื่อมสภาพ สมัยก่อนพี่ชายคนโตเป็นคนนำเข้า-ส่งออกเป็นประจำ”

เหมือน 14 อีกครั้ง

หลังจากย้ายร้านมาเปิดบริเวณวัดบัวขวัญ คุณแม่รุ่งฤดีรับหน้าที่ดูแลกิจการ โดยมีลูกชายสองคนช่วยอีกแรง ขอหมุนเวลาย้อนกลับไปราว 15 ปีก่อน สินค้างานฝีมือภายในร้านเป็นสินค้าผลิตภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เสริมกับสินค้าสมัยก่อตั้งร้าน ขอย้ำด้วยความจริงใจว่า สินค้ารุ่นเดอะในสต็อกเก่าแก่ คุณภาพยังยอดเยี่ยมเหมือนวันแรกที่ถูกบรรจุหีบห่อข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศไทย (กระซิบว่าแค่เขามาเลือกและฟังเรื่องราวก็สนุกจนไม่อยากกลับ)

ณ วันนี้ ห่วงเส็งถูกส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นสามสานต่อและสืบทอด จนกลับมาสดใส แรกแย้มอีกครั้ง

“ตั้งแต่พูดได้ ผมก็ขายของแล้วครับ” ธเนศเปรย “ผมเกิดในห้าง วิ่งเล่นในห้าง เลิกเรียนก็กลับมาขายของ ผมเลยรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างในร้านเป็นอย่างดี” – “เขาซึบซับและเห็นมาตั้งแต่เกิดค่ะ” คุณแม่เสริมทันทีด้วยความภาคภูมิ

ธเนศเรียนจบบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาจับอาชีพแรกด้วยสายงานนำเข้า-ส่งออกกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ก่อนจะไปทำอาชีพโบรกเกอร์ 5 ปี และกลับมาเปลี่ยนโฉมห่วงเส็งให้ซู่ซ่าเหมือน 14 อีกครั้ง 

“จากการทำงานที่ปูนซีเมนต์ไทย ผมได้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับต่างประเทศโดยตรง ได้ความรู้ในการนำเข้าและส่งออก เป็นการเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ดีมาก เพราะบริษัทเขามีระบบการจัดการที่ดี พอผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกด้านจนพร้อม ก็ตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจของครอบครัวเต็มตัว” ธเนศเกริ่นด้วยแววตาเป็นประกาย 

“ผมเข้ามาดูแลกิจการได้ 15 ปีแล้วครับ ขอย้อนกลับไปสมัยอากง เราเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์งานฝีมือจากทั่วโลก ไม่ว่าไหมที่ดังที่สุดอย่าง DMC, Cosmo หรือ Olympus ซึ่งผมอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม เลยนำเข้าสินค้าแต่ละแบรนด์จากทั่วโลกอีกครั้งให้เหมือนที่อากงบุกเบิก ปัจจุบันห่วงเส็งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายทั่วประเทศอย่างเป็นทางการของทั้งสามแบรนด์ ผมรับรองว่าถ้าลูกค้ามาที่นี่ ผมมีให้เขาทุกอย่างจริง ๆ ทุกสีและทุกยี่ห้อในโลก” เขายิ้ม

ตอนท้ายประโยคของธเนศคุณอาจเลิกคิ้วสงสัย ‘มีจริงหรอ’ การันตีว่าจริงทุกประการ นอกจากยี่ห้อที่คัดคุณภาพ สีก็มีให้เลือกครบครัน เรียกว่าบริษัทแม่มีกี่สี ห่วงเส็งมีหมด! ขนาดว่าไหมหนึ่งรุ่นมี 500 กว่าสี ที่นี่ก็มี 500 กว่าสี นี่แค่รุ่นเดียว ยี่ห้อเดียวนะ ซึ่งไหมหนึ่งแบรนด์ยังแตกย่อยเป็นหลายรุ่น แต่ละรุ่นก็มีสีให้เลือกมากน้อยไม่เท่ากัน ที่สำคัญดันมีทุกสี เอากับเขาสิ ถูกใจคนรักงานทำมือเป็นที่สุด ไม่ลูกค้าที่น่ารักก็พี่ ๆ พนักงานจัดสต็อกต้องตาลายกันไปข้าง 

“อีกแบรนด์ที่ผมนำกลับเข้ามาคือ แบรนด์ Clover เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทุกอย่างเกี่ยวกับงานฝีมือจากประเทศญี่ปุ่น สมัยก่อนอากงเป็นเจ้าแรกที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย แต่ด้วยห่างหายไปเกือบ 20 ปี ผมก็เลยต้องใช้ความพยายามติดต่อเขากลับมา จนวันนี้เรามีสินค้าทุกอย่างของ Clover ใหม่ล่าสุดเหมือนกับที่ญี่ปุ่นมี”

ธเนศกลับมาฟื้นความหลัง กลับมามอบชีวิตให้ห่วงเส็ง และกลับมามอบโอกาสใหม่ในพื้นที่ออนไลน์

“ผมทำออนไลน์ได้ประมาณ 4 ปี ทำเองทุกอย่างครับ” ลูกชายคนเล็กหัวเราะ “ถ่ายรูปเอง โพสต์เอง ตอบข้อความเอง ผมว่าเป็นจังหวะดีในการเรียนรู้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ทำให้ห่วงเส็งเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยียุคนี้ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ช่องทางออนไลน์ของเราเติบโตแบบก้าวกระโดดจริง ๆ เพราะว่าทุกอย่างในประเทศชัทดาวน์ คนต้องอยู่บ้าน

“กลุ่มลูกค้าก็เปลี่ยนไปครับ ทุกวันนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่บ้านแล้วเบื่อ ต้องการหางานอดิเรกทำ แล้วก็มีพ่อ แม่ที่อยากให้ลูกหัดทำงานฝีมือ ไม่อยากให้ลูกติดมือถือ พวกชุดคิทก็เลยขายดี ช่วยฝึกมือ ฝึกประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ”

“ยุคนี้เป็นยุคจิ้ม ยุคก่อนเป็นยุคจับ” ทายาทรุ่นสองเสริมด้วยน้ำเสียงสนุก หลังจากทายาทรุ่นสามเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ “พอลูกไปขายออนไลน์ ก็เป็นการเปิดอีกตลาดหนึ่ง เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยเข้าร้านนะ มีลูกค้าบางคนบอกให้ลูกพามา มาจับ มาดู แต่ลูกก็สวนว่าทำไมต้องมา อยากได้อะไรก็จิ้ม ๆ เอา แต่สุดท้ายเขาก็มานะ”

“การกลับมาของห่วงเส็ง ผมอยากทำให้คนไทยที่รักในงานฝีมือได้ใช้สินค้าดี มีคุณภาพ ราคาเข้าถึงได้ ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่แทบไม่มีใครเดินทางออกนอกประเทศ ผมยิ่งต้องนำสินค้าเข้ามาให้คนไทยได้ใช้เหมือนเดิม ในราคาเดิม”

พวกเขาให้คำมั่นกับลูกค้าและยืนหยัดเพื่อลูกค้าอย่างจริงใจมาตลอด 85 ปี 

ร้านที่ขายของดีที่สุดจากทั่วโลก

เข็มเย็บผ้าที่ดีที่สุดในโลกจากฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ทำจากเหล็กชนิดเดียวกับดาบซามูไร 

ด้ายที่ดีที่สุดในโลกจากประเทศฝรั่งเศส

สายวัดขนาดที่ดีที่สุดจากเยอรมนี ใช้ได้ตลอดชีวิต (ยกเว้นหาย) ฯลฯ 

เหล่านี้คือสินค้าที่มีขายในห่วงเส็ง ซึ่งธเนศเป็นคนเฟ้นหาของดีที่สุดจากการนำเข้าสินค้าเย็บปักถักร้อยและงานฝีมือจากหลายประเทศทั่วโลก 

โดยธเนศจะบินไปเลือกสินค้าเองถึงถิ่น ไม่ว่าเอเชียหรือยุโรป บางทีก็กดสั่งผ่านแคตตาล็อก และอัปเดตเทรนด์ให้คนรักงานฝีมืออยู่เสมอ เช่น หนังสืองานฝีมือจากญี่ปุ่น สำนักพิม์วางแผงวันแรกวันไหน ที่นี่มีวางขายวันนั้น

“ลูกค้าอยากได้อะไร ผมทำให้หมด ขอให้บอก… ทำให้” ธเนศพูดสิ่งที่ห่วงเส็งทำและเป็นมาตลอด

“ผมเลือกสินค้าโดยดูจากตลาด อย่างที่บอกว่าผมเห็นมาตั้งแต่เกิด ผมเข้าใจทุกความต้องการของลูกค้า และพยายามหาของดีมีคุณภาพมาให้ลูกค้าใช้ ถ้าไม่ดีก็ไม่ขาย หรือสินค้าไหนแพงเกินดี ผมก็ไม่สั่งมาขายเพราะมองว่ามันไม่สมเหตุสมผล จากประสบการณ์ ผมรู้ว่าสินค้าคุณภาพประมาณนี้ เหมาะสมกับราคาประมาณนี้แล้ว”

นอกจากกดสั่งสินค้าโดยดูจากความต้องการของลูกค้าแล้ว ธเนศยังเลือกกดสั่งสินค้าจากความชอบของตัวเองด้วย เราเดาแทนว่า ขนาดเขาเห็นของชิ้นนั้นด้วยตายังใจเต้นระรัว เมื่อของมาถึงมือลูกค้าคงรู้สึกไม่ต่างกัน 

อุปกรณ์งานฝีมือยุคสมัยนี้ ก็ชวนอะเมซิ่งร้องว้าว แปลก เก๋ สนุก แถมอำนวยความสะดวกให้สายคราฟต์ไม่ต้องหลังขดหลังแข็งหรือจำเจกับสีสันเดิม ที่สำคัญ ทำได้โดยไม่ต้องมีพื้นฐาน เพราะมีชุดคิทฉบับทำง่าย ที่เราเห็นแล้วอยากแนะนำให้ครอบครอง คือ ชุดปะ-ชุนพื้นฐานพร้อมอุปกรณ์จากแดนอาทิตย์อุทัย กระจุกกระจิก กุ๊กกิ๊ก ได้ฟื้นคืนชีพของเก่าให้กลับมามีชีวิตที่สอง ซึ่งเทคนิคเหล่านั้นก็หยิบยืมไปตกแต่งเสื้อผ้า กระเป๋า ถุงเท้า ฯลฯ ให้น่ารักเป็นเท่าตัว

มาที่นี่ตัวเปล่าได้เลยใช่มั้ยคะ มีของให้เลือกเพียบเลย – เราแซวสองทายาทต่างวัย

“กลับไปตัวเปล่าด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะเงินหมด” ทายาทรุ่นสามแซวเรากลับด้วยเสียงหัวเราะ

รักษาสัญญายิ่งชีพ

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของห่วงเส็ง คือ การรักษาสัมพันธ์กับเพื่อนคู่ค้าจากหลายประเทศทั่วโลก

 “ทำอย่างไรถึงยังมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้” เราโยนคำถามเรียบง่ายให้ทั้งคู่

“คุยกันด้วยความจริงใจ” คุณแม่ตอบ “ต้องซื่อสัตย์” ลูกชายตอบ ก่อนขยายความ “ในการทำงานกับคู่ค้าต่างประเทศต้องซื่อตรงครับ เพราะเราไม่เห็นหน้ากัน ทุกอย่างคือคำมั่นสัญญา เราต้องรับผิดชอบทุกคำที่คุยกับเขา”

“ห่วงเส็ง รักษาสัญญานั้นมาตลอด 85 ปี” เรายังไม่ทันเอ่ยจบประโยค คุณแม่พูดขึ้นทันที “รักษายิ่งชีพเลยค่ะ” 

นอกจากสายสัมพันธ์คู่ค้าที่เหนียวแน่นเช่นเกลียวด้าย สายสัมพันธ์ของพนักงานก็เหนียวแน่นไม่แพ้กัน

“ผมเคยเป็นลูกจ้าง พอกลับมาทำก็เข้าใจการเป็นพนักงานประจำมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของพนักงานในทุก ๆ ด้าน ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ผมพยายามช่วยเขาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ช่วยได้”

“รักษาเอาไว้ ลำบากกว่า เด็กที่นี่เราอยู่กันมา 30 กว่าปีแล้วค่ะ” คุณแม่รุ่งฤดีพูดสวน

“รักษาคนกับรักษากิจการ อันไหนยากกว่ากันคะ” เราถามทันที

“พอกันเลยค่ะ” ทายาทรุ่นสองตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “คนก็ต้องรักษา เราต้องให้ใจกับเขา”

“พนักงานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรามาก ๆ ครับ” ทายาทรุ่นสามเสริม

ตั้งใจเป็นกิจการ 100 ปี

อีก 15 ปีที่ห่วงเส็งจะมีอายุกิจการครบ 100 ปี เราถามสองทายาทถึงอนาคตที่หลายกิจการอยากไปให้ถึง

“ต้องครบ 100 ปี รุ่นผมครับ” ธเนศตั้งเป้าหมาย

“ผมจะทำให้เราเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์งานฝีมือที่ครบถ้วนที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้คนรักงานฝีมือมีอุปกรณ์หลากหลาย ในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งทุกวันนี้ผมมั่นใจว่ามีครบ ผมดำรงและรักษาสิ่งนี้ต่อไป”

“เราอยากอยู่ให้ถึง ตั้งใจรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อรอวันนั้นค่ะ” คุณแม่รุ่งฤดีเอ่ยด้วยรอยยิ้ม “เราจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จะรักษาชื่อเสียงเอาไว้ ยังไงก็ไม่เลิก เพราะเป็นอาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ จะทำจนกว่าไม่มีแรงเดินค่ะ

“ม๊าบอกเลยถ้าชอบงานฝีมือ มาร้านเราไม่ผิดหวังค่ะ เมื่อวานมีลูกค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าซื้อมาตั้งแต่สมัยอยู่บางลำพู ปีนี้เขาอายุ 92 คิดถึงห่วงเส็ง เลยให้ลูกช่วยหาว่าอยู่ที่ไหน และขอให้ลูกพามาให้ได้สักครั้ง มาถึงแล้วเขาดีใจมาก เขาพูดว่า ‘ฉันซื้อตั้งแต่สมัยเธอเด็ก ๆ เลยนะ’ และบอกว่าวันหลังจะให้ลูกพามาอีก ลูกค้าเราน่ารักค่ะ”

“คุณแม่ชอบขายของครับ ไม่หยุดแม้แต่วันเดียว ไม่สบายก็ยังมา” ลูกชายแซว

“มันคือความสุขค่ะ ทุกวันนี้ม้ามีความสุขมากกับการขายของและมาเจอลูกค้า รักทุกอย่างที่เป็นห่วงเส็ง ตื่นแต่เช้ามากราบคุณพ่อคุณแม่ด้วยความคิดถึงและความดีใจ ถ้าไม่มีทั้งสองท่าน ก็คงไม่มีเราและห่วงเส็งในทุกวันนี้”

“ในวันนี้ห่วงเส็งเปลี่ยนไป เปลี่ยนเพราะโลก พฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยี ทำให้กลับมาทันสมัย กลับมาเป็นหนุ่มสาวที่สดใสและกว้างไกลมากขึ้น” ธเนศจบบทสนทนา

Lessons Learned

  • การเป็นกิจการที่มีคนรัก นอกจากอาศัยเวลา ยังต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการปรับตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เก่าแก่ มีเรื่องราว แต่ต้องไม่แช่แข็ง 
  • แม้ไม่ชำนาญงานฝีมือ แต่การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจนเข้าใจถึงเรื่องราวของสินค้าอย่างลึกซึ้งและพร้อมแนะนำ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดให้ลูกค้าอย่างคนเข้าใจ ทำให้ลูกค้าอยากบอกต่อและกลับมาใช้บริการซ้ำ
  • ความซื่อตรงและซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและคู่ค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ห่วงเส็งดำเนินกิจการนานถึง 85 ปี

ห่วงเส็ง (Huang Seng)

ที่ตั้ง : 285, 168 หมู่ 9 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี (แผนที่)

เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น. 

โทรศัพท์ : 094 935 1987

เว็บไซต์ : www.huangseng.com

Facebook : Huang Seng

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน