7 กุมภาพันธ์ 2020
5 K

นอกจาก ‘พ่าน’ ในภาษาเหนือจะหมายถึงความกลัว พ่านยังเป็นชื่อของชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดน่าน ที่มีลำห้วยใหญ่ไหลผ่านถึง 3 ลำห้วย นั่นคือห้วยจัน ห้วยพาย และห้วยพ่าน ลำห้วยทั้งสามไหลมาบรรจบกลายเป็นห้วยพ่านขนาดใหญ่ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน

ตามความเชื่อของคนในชุมชน พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งอาศัยของภูติ ผี และวิญญาณป่าเขา เพราะชาวบ้านที่อพยพจากอำเภอบ่อเกลือ อำเภอเปือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มาตั้งรกรากที่ลำห้วยแห่งนี้มักได้ยินเสียงโหยหวนและเสียงคำรามอันน่าเกรงขามดังก้องไปทั้งป่า ชาวบ้านจึงขนานนามลำห้วยนี้ว่า ‘ห้วยพ่าน’ 

แม้จะถูกจดจำในชื่อของลำห้วยแห่งความหวาดกลัว แต่ชาวห้วยพ่านก็ก้าวผ่านความกลัว และทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นต้นแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งแรกในจังหวัดน่าน

พวกเขาทำได้อย่างไร เราทดความสงสัยนี้ไว้ในใจ พร้อมออกเดินทางไปตามคำชวนของชาว Local Alike ในทริปท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยพ่าน ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เพื่อหาคำตอบ

01

ข้ามผ่านสะพานวัดใจ

อาการผวาขณะนั่งอยู่ในรถที่กระแทกขึ้นลงเป็นระลอกๆ ราวกับแล่นอยู่บนคลื่นหินจากบ้านห้วยยางลัดเลาะไปตามภูเขามุ่งสู่ชุมชนบ้านห้วยพ่านหายไป เมื่อเสียงเครื่องยนต์หยุดลงตรงกิโลเมตรที่ 7 พอดี เรามองออกไปนอกหน้าต่างรถ ภาพแรกที่เห็นคือกลุ่มใบหน้าแต้มรอยยิ้มของชาวบ้านห้วยพ่านและทีมงาน Local Alike มารอต้อนรับอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว

“เป็นอย่างไรบ้าง เดินทางเหนื่อยไหม” ผู้ใหญ่บ้าน หรือสมบูรณ์ ใจปิง เอ่ยถามพวกเรา

“ไม่เหนื่อยค่ะ / ระทึกดีครับ” ผู้ใหญ่บ้านหัวเราะกับคำตอบที่ได้รับราวกับรู้ล่วงหน้าว่าจะได้ยินอะไร

หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ผู้ใหญ่บ้านก็พาพวกเราเดินข้ามสะพานแขวนไปยังทางเข้าชุมชน 

สะพานแขวนข้ามแม่น้ำน่านเส้นนี้รู้จักกันดีในอีกชื่อคือ ‘สะพานวัดใจ’ เพราะเมื่อก่อนทางเดินบนสะพานไม่ได้เดินได้สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ คู่รักส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวที่นี่ต้องเดินจับมือเดินกันไปบนสะพานที่แกว่งไปแกว่งมา ทั้งยังสูงและหวาดเสียว หากข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้โดยไม่ปล่อยมือกัน ถือว่าต่างฝ่ายต่างรักกันจริง

เดินข้ามมาได้ครึ่งทาง ผู้ใหญ่บ้านชี้ให้พวกเรามองลงไปข้างล่าง พร้อมเล่าว่าใต้สะพานนี้คือ ‘แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาถาวร’ ซึ่งเป็นบริเวณที่ลำห้วยไหลมาบรรจบกับลำน้ำน่าน ตั้งแต่สบน้ำห้วยพ่านไปจนถึงสบน้ำห้วยจัน รวมความยาวประมาณ 300 เมตร พันธุ์ปลาที่พบที่นี่ล้วนเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาพลวงหิน ปลากา ปลาแก้มช้ำ ปลาแขยง ปลาหลาด หรือ ปลากระทิง

ใครที่เป็นสายรักน้ำ รักปลา คงสนุกกับการถ่ายภาพฝูงปลาที่แหวกว่ายไปมาอยู่ในลำน้ำเบื้องล่าง แต่สำหรับคนที่กลัวความสูง อาจไม่ถูกใจวิวจากมุมนี้สักเท่าไหร่ และคงเกิดอาการขาสั่นกันบ้างเล็กน้อย

02 

น้ำใสไหลเย็นเห็นผืนป่า

หลังจากข้ามสะพานมา พวกเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำที่นี่ใสมาก ใสจนเห็นปลาเป็นฝูง ผู้ใหญ่บ้านที่เดินนำอยู่ข้างหน้าหันมายิ้มรับคำชม พร้อมบอกว่า “ไม่ใช่เห็นแค่ปลานะ แต่เห็นไปถึงป่าเลย” 

ผู้ใหญ่บ้านอธิบายให้เราฟังต่อว่า หากอยากรู้ว่าป่าที่ไหนสมบูรณ์ ให้ดูที่แหล่งน้ำ เพราะป่าเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร การที่ลำน้ำที่นี่เป็นสีใส ไม่ใช่เป็นสีแดงหรือแห้งขอด นั่นก็เพราะป่าข้างบนไม่ถูกทำลาย ทำให้มีปริมาณต้นไม้เพียงพอต่อการสร้างความชุ่มชื้นและทำให้ฝนตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ผิดจากที่ผู้ใหญ่บ้านว่า เพราะชุมชนบ้านห้วยพ่านโอบล้อมไปด้วยป่าไม้หลายประเภท ทั้งป่าปลูก ป่าชุมชน ป่าเต็งรังที่มีทั้งต้นเต็งและต้นรังซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เปลือกหนา หากเกิดไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ป่าชนิดนี้จะฟื้นฟูระบบนิเวศได้เอง นอกจากนี้ยังมีป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีพืชหลัก 5 ชนิด ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ป่า และชิงชัน ขึ้นแซมในป่า ช่วยสร้างความชื้นและความหลากหลายทางระบบนิเวศ

03 

ไพรสัชศาสตร์ – ไพรสัชกร

ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับขุมทรัพย์ในชุมชนจนเพลิน รู้ตัวอีกผู้ใหญ่บ้านก็พาเราเดินมาจนถึง ‘ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติห้วยพ่าน’ ซึ่งถือเป็นจุดเช็คอินจุดแรกของเหล่านักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึง

คงกลายเป็นธรรมเนียมสากลไปแล้วสำหรับการเสิร์ฟเครื่องดื่มต้อนรับให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน แต่สิ่งที่ทำให้ชุมชนบ้านห้วยพ่านต่างจากที่อื่นคือ Welcome Drink ของที่นี่ทำมาจากสมุนไพรที่หาได้จากขุมทรัพย์ธรรมชาติในชุมชน

หลังจากดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อเรียกความสดชื่น และนั่งพักจนหายเหนื่อย ผู้ใหญ่บ้านจึงเชิญปราชญ์ชาวบ้านและพระอาจารย์ หรือที่คนทางภาคเหนือเรียกกันว่า ‘ตุ๊’ มาเล่าถึงการเลือกใช้สมุนไพรเพื่อปรุงเป็นยารักษาโรคกันภายในชุมชน

ตุ๊เริ่มต้นเล่าว่า เมื่อครั้งมาปฏิบัติธุดงควัตรที่นี่เคยป่วยเป็นโรคเกาต์ มีอาการบวมขึ้นระหว่างขา แข้ง และข้อต่อ ก็ได้เห็ดหลินจือแดงกับลางเย็น ตัวลางเย็นจะตัดรสขมของเห็ดหลินจือแดงได้ เวลาที่ดื่มเข้าไปจะคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการเคล็ดขัดยอก และบรรเทาอาการบวม

ถ้าจะบอกว่าลางเย็นเป็นพระเอกในหมู่สมุนไพรป่าก็คงไม่เวอร์เกินไป เพราะนอกจากจะช่วยรักษาโรคเกาต์ ยังช่วยรักษาอาการร้อนใน ปากบวม หากปากเป็นน้ำใสขึ้นมา ให้กัดสมุนไพรตัวนี้สดๆ หรือจะเอาไปต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ รวมถึงช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อนได้อีกด้วย

นอกจากนี้ปราชญ์ชาวบ้านยังบอกกับพวกเราอีกว่า ทั้งเสลดพังพอนและมะตูมกาขาว บรรเทาอาการปวดจากรอยกัดของสัตว์มีพิษได้ เช่น ตะขาบ แม่งป่อง และงู โดยนำเสลดพังพอนตัวผู้ที่มีหนามแหลมยาวที่ลำต้น หรือเสลดพังพอนตัวเมียมาเคี้ยวให้ละเอียด และแปะไว้ตรงแผล ส่วนมะตูมกาขาวนั้นให้นำเปลือกไปต้ม ขยำ และนำไปแปะไว้บริเวณที่โดนกัด

แม้ชาวบ้านจะโชคดีมียารักษาชั้นดีอยู่ใกล้ตัว ก็ใช่ว่าจะหยิบมาใช้สอยได้ตลอดเวลา เพราะมีฤดูกาลผลิดอกออกผลของสมุนไพรเป็นข้อจำกัด เช่น มะนาวควายถึก ใช้ยอดอ่อนทาส่วนที่เป็นเนื้อติ่งให้หลุดออก ใช้ลอกฝ้าก็ดี หรือจะใช้เม็ดทานกับน้ำผึ้ง เพื่อรักษาพวกติ่ง มะเร็งมดลูก ซิส แต่ก็ต้องรอถึง 3 ปี กว่าจะออกลูก 1 ครั้ง

เราที่นั่งฟังไปกระดกน้ำสมุนไพรในแก้วกระบอกไม้ไผ่ไป อดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งตุ๊และคุณลุงปราชญ์ชาวบ้านท่านรู้วิธีใช้ต้นสมุนไพรที่มีขนาดเล็กน้อยนิด แต่มีฤทธิ์เป็นสรรพคุณมหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร จึงตัดสินใจถามออกไป

ตุ๊เล่าว่าท่านอาศัยประสบการณ์ครั้งเมื่อเคยเป็นทหารพรานเก่า ตอนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้ก็มีบันทึกไว้บ้าง ส่วนคุณลุงปราชญ์ชาวบ้านนั้นท่านฟังและเรียนรู้เอาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน

ก่อนแยกย้ายกันไปพักตามโฮมสเตย์ของชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านใจดีก็แกะมะมื่นหรือลูกกระบก อัลมอนด์ป่าสัญชาติไทยที่เป็นได้ทั้งอาหารของควายและคนให้พวกเราทานเล่น ลูกกระบกที่ผ่านกรรมวิธีการอบ เผาปนกับกองฟืน หรือคั่วให้สุก มีรสชาติเค็ม มัน เหมาะจะเป็นขนมคบเคี้ยวแบรนด์ธรรมชาติแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ

04

ตู้เย็นข้างบ้าน 

อรุณใหม่เบิกฟ้า เราและเพื่อนร่วมโฮมสเตย์สปริงตัวขึ้นจากที่นอน เก็บหมอนมุ้งอย่างรวดเร็ว เพราะมีนัดไปเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน ดิน น้ำ และป่า 

เมื่อถึงเวลานัดหมาย พวกเรากระโดดขึ้นท้ายรถกระบะที่กำลังจะออกเดินทางไปยังลำน้ำห่วยพ่าน แต่วันนี้มีผู้ร่วมทริปตัวน้อยๆ เดินทางไปกับเราด้วย ดูจากเครื่องมือเครื่องไม้ที่เหล่าพรานน้อยพกมา ทั้งข้อง สวิง หน้ากากดำน้ำ และปืนฉมวกที่ทำจากไม้ไผ่ ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าวันนี้ต้องมีอะไรสนุกๆ ให้ทำแน่

ระหว่างทางผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าชาวบ้านที่นี่แทบจะไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหาร เพราะได้วัตถุดิบจากตู้เย็นข้างบ้านมาตลอด ตู้เย็นที่ว่าคือลำน้ำห้วยพ่าน เมื่อไหร่ที่ว่างเว้นจากการทำนาหรืองานอื่นๆ ในชุมชน ชาวบ้านจะขับรถขึ้นไปบนภูเขา เดินลัดเลาะไปตามลำห้วยเพื่อหาปูหาปลามาทำเป็นอาหารแบ่งกันกินภายในชุมชน

เมื่อได้ทำเลที่เหมาะสม ปลาชุกชุม เหล่าพรานน้อยไม่พูดพร่ำทำเพลงแสดงฝีมือจับปลาหาปูให้พวกเราดู เริ่มจากใช้มือแบ่งดินเป็นร่องเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลออก จะได้เห็นปลาชัดและจับง่ายขึ้น บางคนก็สวมหน้ากากดำน้ำ ดำลงไปส่องปลา แล้วใช้ปืนฉมวกไม้ไผ่ล็อกเป้าหมาย ส่วนใครที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์มา ก็หากิ่งไผ่มาทำเป็นคันเบ็ด แล้วใช้กุ้งตัวจิ๋วเป็นเหยื่อตกปลาก็ยังได้

เห็นเด็กๆ สนุกสนาน หัวเราะลั่นเสียงดังก้องป่า มีหรือเราจะยอมยืนดูอยู่อย่างเดียว เพราะไม่เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ เราจึงอาสาเป็นสมุนที่ทำหน้าที่หาปู หาปลาตามซอกหินเล็กๆ แทน คลำกันคนละมือ เขี่ยกันคนละไม้ จับได้ก็เอารวมกันไว้ในข้อง พอเอารวมกันก็เพียงพอจะเป็นมื้อเที่ยงของวันนี้ได้

ฝั่งผู้ใหญ่บ้านและบรรดาพ่อๆ ที่หายไปสักพักก็เดินกลับมาพร้อมกับกระบอกไม้ไผ่ พร้อมเอ่ยชวนพวกเราว่า “มาหลามปลากันเถอะ”

หลามปลา คือการปรุงอาหารโดยใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นภาชนะ พวกเรานำปลาและปูที่หาได้มาดึงไส้หรือส่วนที่กินไม่ได้ออก แล้วค่อยเอาไปใส่รวมกันในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ เติมน้ำลงไป ปรุงรสด้วยพริกกับเกลือ แล้วจึงนำไปเผาไฟ รอจนสุกแล้วค่อยเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ

บรรดาแม่ๆ ที่ตามขึ้นมาทีหลัง ก็หอบหิ้วเสบียงเลี้ยงท้องจากบ้านขึ้นมาร่วมวงกินอาหารที่ภัตราคารริมห้วยพ่านกับพวกเราด้วย

วิถีชีวิตแบบนี้เป็นเหมือนโครงงานชีวิตให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทุกครั้งที่พวกเขาติดสอยห้อยตามพ่อๆ แม่ๆ ขึ้นมาที่นี่ พวกเขาจะได้ซึบซับวิธีการหาอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้อง ทดลองว่าสมุนไพรแต่ละชนิดใช้ประโยชน์อย่างไร เห็นคุณค่าของทรัพยากร และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

05

จิตศึกษา : วาดปลาดาว

ลงจากภูเขามาด้วยท้องที่อิ่มแปล้ ทีมงาน Local Alike ก็ชวนพวกเราไปทำกิจกรรมสบายๆ ยามบ่ายอ่อนๆ เพื่อย่อยอาหารที่ ‘โรงเรียนบ้านดินห้วยพ่าน’ ซึ่งสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของคนในชุมชนล้วนๆ ด้วยหวังให้เด็กๆ ในชุมชนมีการศึกษาที่ดี และไม่ต้องเดินทางไปเรียนถึงในเมือง ทั้งยังออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นของชุมชนเอง โดยใช้ชื่อว่า ‘มรดกห้วยพ่าน’ ด้วยการผสมผสานระหว่างการเรียนแบบฉบับของห้วยพ่านเองกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุด จึงไม่มีการเรียนการสอน แต่ก็ยังมีพี่ๆ วัยอนุบาลและประถมศึกษาที่อยากมาร่วมกิจกรรมกับพวกเราด้วย 

คุณอ่านไม่ผิดหรอก เรียก ‘พี่’ น่ะถูกแล้ว เด็กๆ ที่นี่มีคำนำหน้าชื่อว่าพี่ ไม่ว่าจะเรียนอยู่ระดับชั้นสูงสุด หรืออายุน้อยที่สุด ทุกคนล้วนเป็นพี่ ฟังเขาเรียกกันแบบนี้ มันดูน่ารักดีเหมือนกันนะ

การเรียนการสอนของที่นี่แบ่งเป็นระดับชั้นเหมือนที่อื่นๆ แต่ต่างกันตรงที่โรงเรียนแห่งนี้มีครูผู้สอนเพียงคนเดียว การจะดูแลนักเรียนไปพร้อมๆ กันจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ครูมล-ศรัณย์พร รัตสีโว จึงเลือกกิจกรรมที่พี่ๆ ทุกคนทำร่วมกันได้และฝึกสมาธิของเด็กๆ ไปในตัว นั่นคือกิจกรรมวาดปลาดาว

‘วาดปลาดาว’ คือชื่อเล่นที่พี่ๆ ใช้เรียกกิจกรรม ‘Body Scan’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแนวจิตศึกษาที่ช่วยเสริมสร้างพลังสงบ ผ่อนคลายอารมณ์ เรียกสติ พร้อมเปิดจิตรับการเรียนรู้ในครั้งต่อไป

ทุกเช้าหลังเข้าแถวเคารพธงชาติ และก่อนเริ่มต้นคาบแรกในช่วงบ่าย ครูมลจะชวนพี่ๆ มาล้อมวงวาดปลาดาวด้วยกันกลางห้องเรียน การวาดปลาดาวไม่ใช่จับปลายดินสอแล้วขีดเส้นไปมาบนหน้ากระดาษ แต่เป็นนอนหงายไปบนพื้น แล้วค่อยๆ หลับตาไปทีละคน หากทุกคนยังไม่อยู่ท่าที่นิ่งและสงบ พี่ๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่เป็นผู้นำกิจกรรมในแต่ละวันก็จะไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมต่อ ซึ่งบ่ายนี้ผู้นำกิจกรรมของเราคือพี่สาววัย 5 ขวบ

เมื่อพวกเราเอนกายลงนอนครบทุกคน ครูมลจึงมารับช่วงต่อจากผู้นำกิจกรรมด้วยการบอกให้ทุกคน ค่อยๆ หลับตา จากนั้นเสียงดนตรีช้าๆ เคล้าเสียงน้ำไหลก็เริ่มบรรเลงขึ้น 

ในช่วงที่เราหลับตาอยู่ในห้วงดนตรี ครูมลจะคอยบอกให้เราปลดล็อกร่างกายไปทีละส่วนตามจังหวะหายใจเข้า-ออก ตั้งแต่ระหว่างหัวคิ้วเรื่อยไปจนจรดปลายเท้า และคอยพูดเสมอว่าทุกคนเป็นคนดี พร้อมทำสิ่งดีๆ เสมอ

หลังเสร็จกิจกรรม ครูมลบอกกับเราว่าเสียงดนตรีที่มีทำนองช้าๆ เคล้าไปกับเสียงน้ำไหลนั้น เป็นเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำ ช่วยเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย ง่ายต่อการบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในจิตใต้สำนึก เราจึงไม่รู้สึกแปลกใจ ว่าทำไมพี่ๆ ที่นี่ถึงเป็นเด็กที่ร่าเริงและจิตใจดี

06

ตี้นี่ห้วยพ่าน

“จากใต้ขึ้นเหนือ จะมาเล่นๆ แค่ให้เห็นธรรมชาติก็คงไม่ได้” เราพูดกับเพื่อนร่วมทริปขณะเดินออกจากโรงเรียนบ้านดิน พร้อมกวาดสายตา ช่วยกันมองหาสถานที่หรือกิจกรรมที่ครั้งหนึ่งเราต้องทำ หากได้มาเยือนห้วยพ่าน

แต่ใครล่ะ จะรู้ดีเท่าเจ้าถิ่น พวกเราเดินตรงไปหาพี่ๆ ที่กำลังจับกลุ่มวิ่งเล่นกัน เพื่อขอคำแนะนำเรื่องแลนมาร์กเจ๋งๆ ที่บ่งบอกว่านี่แหละห้วยพ่าน 

ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที พี่ๆ ก็จูงมือพาพวกเราวิ่งบ้างเดินบ้างมาถึงสะพานข้ามลำน้ำห้วยพ่าน สะพานเส้นนี้ต่างสะพานแขวนที่เราเดินข้ามมาในวันแรก เพราะเป็นสะพานที่สร้างจากการนำไม้ไผ่มาเรียงซ้อนต่อกันไปเรื่อยๆ จนถึงฝั่งทางเข้าชุมชน พูดง่ายๆ คือชุมชนนี้มีทางเข้าสองทาง

พี่ๆ เล่าว่าบริเวณสะพานข้ามลำน้ำกลางชุมชนคือจุดที่คนนิยมมาเล่นน้ำมากที่สุด นักท่องเที่ยวที่ล่องแพลอดใต้สะพานแขวนเข้ามาในชุมชน ก็มักจะสนุกกันต่อด้วยการกระโดดลงน้ำที่สะพานไม้ไผ่นี้ 

การันตีโดยเจ้าถิ่นตัวจริงขนาดนี้ มีหรือเราจะพลาด พวกเรารีบกลับไปยังโฮมสเตย์เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า และตรงดิ่งกลับมาเพื่อเล่นน้ำที่นี่ ขอบอกว่าน้ำที่นี่ใสและเย็นสดชื่นจับขั้วหัวใจจริงๆ เราที่เป็นลูกทะเล มีความคุ้นเคยกับน้ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งชอบใจแทบจะไม่อยากขึ้นจากน้ำไปเลย

07

ขวัญเอย ขวัญมา

กว่าจะฉุดตัวเองขึ้นมาจากน้ำที่ใสเย็นได้ ตะวันก็เกือบจะลับขอบฟ้าไปแล้ว เรากับเพื่อนๆ รีบกลับไปอาบน้ำ แต่งตัว เพื่อไปทานอาหารมื้อเย็นร่วมกับทุกคนที่โรงเรียนบ้านดิน แต่ค่ำคืนนี้พิเศษกว่าคืนที่ผ่านมา เพราะชาวห้วยพ่านได้เตรียมการแสดงพื้นบ้านของชุมชนและพิธีฮ้องขวัญให้กับพวกเราด้วย

เปิดฉากกันด้วยละครสั้นของเหล่าพี่ๆ ตัวน้อยในชุดชนเผ่าลัวะ แม้เนื้อเรื่องจะดำเนินไปด้วยทีมพากย์ภาษาเหนือ และไม่มีคำบรรยายเป็นภาษากลางให้อ่าน แต่ก็เรียกเสียงหัวเราะและความเอ็นดูจากพวกเราได้ไม่น้อย

ต่อด้วยการแสดงพื้นบ้านจากแม่ๆ รุ่นใหญ่ที่มีชื่อว่ารำพิหรือตีพิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีกินโสลด 

‘พิ’ ในที่นี้คือเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ ชาวบ้านจะตีพิให้ดังก้องไปทั่วหุบเขา เพื่อบอกผีป่าผีลำห้วย ผีเจ้าที่ที่ดูแลและคอยปกปักรักษา และยังเป็นการเรียกขวัญข้าวมายังแปลงนา หลังจากเสร็จการแห่ขบวนตีพิ ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อดื่มกินฉลองและจัดทำเครื่องเซ่นเลี้ยงผี

ส่งท้ายด้วยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับทุกคน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ช่วยเรียกขวัญและสติให้กับผู้มาเยือนที่นี่ โดยมีบายศรีวางไว้ตรงหน้าผู้รับการเรียกขวัญ และมีผู้นำทำพิธีที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหมอสู่ขวัญ เป็นผู้ผูกข้อมือด้วยฝ้ายขาว พร้อมอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข

ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้อยู่คู่กับคนในชุมชนมาเนิ่นนานแล้ว เพราะชุมชนห้วยพ่านเป็นชุมชนที่เกิดจากการรวมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ กลุ่มไทลื้อชาวเมือง และกลุ่มพื้นเมืองบ้านด่าน ที่อพยพหนีความรุนแรงจากสงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2509 วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมจึงหลอมรวมเอาความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นไว้อย่างกลมกลืน นั่นคือการเคารพนับถือวิญญาณ และความเชื่อเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ

08

เกี่ยวเถิดนะแม่เกี่ยว อย่ามัวชะแง้แลเหลียว เคียวจะบาดก้อยเอย

“ฉับ ฉับ ฉับ แบบนี้ใช้ได้รึเปล่าคะ” เรายกเคียวออก ชูรวงข้าวที่โดนแสงตะวันตกกระทบจนเห็นเป็นสีทองที่อยู่ในกำมือให้แม่ๆ ดู

“ได้จ่ะ แต่ต้องเลื่อนตำแหน่งที่เกี่ยวให้สูงขึ้นมาจากโคนต้นข้าวอีกหน่อยนะ” ป้าพา หนึ่งในบรรดาแม่ๆ ที่ขึ้นเขามาช่วยกันเกี่ยวข้าว และเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ที่เราพักแนะนำเรา

ใช่แล้ว เช้าวันสุดท้ายของทริปท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยพ่าน เรายืนอยู่กลางทุ่งนาขั้นบันได เพื่อเรียนรู้การเกี่ยวข้าวกับชาวบ้านในชุมชน

แม่ๆ เกี่ยวข้าวไปเล่าให้เราฟังไปว่าที่ห้วยพ่านจะเริ่มเกี่ยวข้าวกันช่วงต้นเดือนตุลาคม ชาวบ้านจะขึ้นมาบนภูเขา แล้วแบ่งกันไปตามพื้นที่นา เนื่องจากการทำนาที่นี่เป็นแบบนาปี และใช้วิธีดำนา ทำให้กอข้าวที่ขึ้นมาเรียงกันระเบียบ สวยงาม และง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ต้องแยกข้าวไว้เป็นกอๆ เพื่อตากข้าวให้แห้ง โดยทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จึงมัดกอข้าวเหล่านั้นรวมกันด้วยไม้ไผ่ที่นำมาฉีกเป็นเส้นเล็กๆ

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการตีข้าว ชาวบ้านจะใช้ตอกซึ่งเป็นเครื่องมือตีข้าวที่ทำมาจากไม้ไผ่ มัดโคนกอข้าวไว้แล้วฟาดลงบนพื้น เพื่อให้เมล็ดข้าวร่วงลงมา เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สนุกสุด แต่ก็ที่ต้องใช้กำลังแขนมากที่สุดเหมือนกัน เล่นเอาเราที่ไม่เคยลองตีข้าวมาก่อน ปวดแขนไปหลายวันเลยทีเดียว

09

พ่านพ้นความกลัว

เราและเพื่อนร่วมทริปเก็บกระเป๋า สลับกับเงยหน้าขึ้นมามองกัน แม้ไม่มีคำพูดอะไร แต่รู้กันในใจว่าไม่มีใครอยากจากที่นี่ไป

ตลอด 3 วัน 2 คืน ที่ได้ลองใช้ชีวิตตามแบบฉบับของชาวห้วยพ่าน ทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง วิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นไปในรูปแบบของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การจับปลาตามฤดูกาล ไม่ตัดไม้ทำลายป่าไม้ และรักษาแหล่งน้ำ เป็นเหมือนการรักษาท่อน้ำเลี้ยงของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีอาหารกิน มียารักษาโรคไว้ใช้ยามเจ็บป่วย

นอกจากนี้ชุมชนยังคำนึงถึงเรื่องระบบการศึกษาของชุมชน ด้วยการสร้างหลักสูตรโรงเรียนทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับภาคปฏิบัติไม่น้อยไปกว่าภาคทฤษฎีขึ้นมา เพื่อให้ลูกหลานได้เล่าเรียนและนำความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามัคคีของคนในชุมชน ที่ช่วยการคิดหาแนวทางที่จะพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนที่ดูแลตัวเองได้

ก่อนออกเดินทาง บรรดา พ่อๆ แม่ๆ และพี่ๆ ตัวน้อยๆ พากันเดินมาส่งพวกเราและทีมงาน Local Alike พร้อมอวยพรให้เราเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ทั้งยังมอบตาเหลว เครื่องสานจากไม้ไผ่ที่ประกอบด้วยไม้ไผ่ 7 ชิ้น เป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งไม่ดีให้กับพวกเรา

เรากล่าวขอบคุณทั้งชาวบ้านและทีมงาน Local Alike ที่ช่วยดูแลเราตลอดทริป ระหว่างที่รถแล่นออกจากชุมชน เราหันหลังกลับมามองเพื่อบันทึกภาพสถานที่แห่งนี้ไว้ใจอีกครั้ง สิ่งที่เราเห็นคือหมอกแห่งความกลัวค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป ภาพชุมชนที่น่าอยู่ เข้มแข็ง และมีความยั่งยืนก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ