คราวที่แล้วผมพาไปทำความรู้จักกับพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวเมียนมา และผมได้เกริ่นถึงพระมหามัยมุนีจำลองในประเทศไทยไปบ้างแล้ว วันนี้ผมจะขอพาทุกท่านขึ้นเหนือไปทำความรู้จักกับพระมหามัยมุนีจำลองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยกันที่ ‘วัดหัวเวียง’ ครับ

วัดหัวเวียงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2406 ตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอนและเป็นวัดที่ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ใช้ทำกิจกรรมสำคัญตามประเพณีทางพุทธศาสนา และที่สำคัญไปกว่านั้น วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองอย่าง ‘พระเจ้าพาราละแข่ง’ อีกด้วย

เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง

วัดหัวเวียงแห่งนี้มีอาคารหลักคือวิหารพระเจ้าพาราละแข่ง อาคารไม้ที่แบ่งพื้นที่ของอาคารออกเป็น 2 ส่วน สังเกตได้จากปยาทาดหรือส่วนยอดที่ทำเป็นหลังคาซ้อนชั้นเหมือนปราสาทจำนวน 2 ยอด ยอดแรกเป็นปยาทาดแบบพม่า ส่วนอีกยอดหนึ่งเป็นปยาทาดมีโดมด้านบน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกแบบอังกฤษ และแน่นอนว่า 1 ใน 2 ยอดคือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เพราะหลังคาซ้อนชั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอาคารและสิ่งที่อยู่ภายใน

เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง
เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง

คิดว่าพระเจ้าพาราละแข่งประดิษฐานอยู่ใต้ยอดไหนครับ ยอดแบบพม่า หรือยอดแบบอังกฤษ

คำตอบก็คือ ยอดแบบอังกฤษครับ ส่วนยอดแบบพม่าที่อยู่ด้านหน้าเป็นส่วนที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม

ทีนี้พอเราเข้าไปข้างใน ก็จะพบกับพระพุทธรูปประธานของวิหารหลังนี้ นั่นก็คือ พระเจ้าพาราละแข่ง คำว่า ‘พาราละแข่ง’ อาจจะฟังดูแปลก ออกเสียงก็ยาก จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคำๆ นี้ไม่ใช่ภาษาไทยแน่นอน ‘พาราละแข่ง’ เป็นภาษาไทใหญ่ มีความหมายว่า ‘พระพุทธรูปยะไข่’ 

แล้วพระพุทธรูปองค์นี้เกี่ยวข้องอะไรกับยะไข่ เหตุใดจึงใช้ชื่อนี้ เหตุผลนั้นแสดงออกผ่านองค์พระพุทธรูปแล้วครับ เพราะพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นโดยมีพระมหามัยมุนีซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติสร้างขึ้นในดินแดนยะไข่เป็นต้นแบบนั่นเอง (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ในบทความเรื่องพระมหามัยมุนีนะครับ)

เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง

ในบรรดาพระมหามัยมุนีจำลองในประเทศไทย พระเจ้าพาราละแข่งถือเป็นองค์ที่เก่าที่สุด เพราะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2460 หลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่วัดพระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์เพียง 33 ปี ตำนานการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้กล่าวไว้ว่า ใน พ.ศ. 2460 จองโพหญ่าและจองหวุ่นนะ สองพ่อค้าวัวพร้อมด้วยคณะเดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์เพื่อจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ในการสร้างได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าเม็ดข้าวโพด ที่จองโพหญ่าพบอยู่ในเชี่ยนหมากเมื่อครั้งเดินทางไปค้าขายและพักแรมในป่าเอาไว้ในพระเศียรของพระพุทธรูป

เมื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้แล้วเสร็จก็ได้ถอดแยกออกเป็น 9 ชิ้น บรรทุกลงเรือ 9 ลำ น้ำหนักรวม 999 กิโลกรัม (อะไรจะมีเลข 9 มากขนาดนั้น) ล่องมาตามแม่น้ำสาละวิน ก่อนจะบรรจบกับแม่น้ำปายและอัญเชิญขึ้นที่ท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นนำไปประกอบที่วัดพระนอน เชิงดอยกองมู (ที่มีพระธาตุดอยกองมูอยู่ข้างบนนั่นล่ะครับ) ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดหัวเวียงจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง

พอเรามองไปยังพระเจ้าพาราละแข่ง พบว่าท่านมีความคล้ายคลึงกับต้นฉบับที่เมืองมัณฑะเลย์อยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะการเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์เป็นสำริดขัดเงา พระวรกายท่อนบนไม่ทรงจีวร แต่กลับมีลักษณะหลายประการของพระพุทธรูปในศิลปะมัณฑะเลย์ เช่น พระพักตร์รี มีกรอบพระพักตร์ สบงมีริ้ว และประดิษฐานตามแบบศิลปะมัณฑะเลย์ 

อ้าว แต่แบบนี้ก็ไม่เหมือนพระมหามัยมุนีองค์จริงน่ะสิ แล้วจะเรียกว่าเป็นองค์จำลองของพระมหามัยมุนีได้อย่างไร คำตอบก็คือ ได้ครับ เพราะการจำลองในสมัยก่อนไม่ใช่การก๊อปปี้ชนิดที่ต้องเหมือน 100 เปอร์เซ็นต์แบบทุกวันนี้

การจำลองแบบโบราณคือการจำลองเอาลักษณะสำคัญของสิ่งนั้นๆ มา เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญของชาวล้านนา ที่มีการจำลองอยู่ในแทบทุกจังหวัด เรื่อยมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงมาถึงจังหวัดสมุทรสาครเลยทีเดียว ซึ่งการจำลองพระพุทธสิหิงค์นั้นก็จำลองเพียงลักษณะสำคัญ เช่น เป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา สิงห์หนึ่ง ที่จะต้องประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ชายสังฆาฏิสั้น เท่านั้น ไม่ใช่การถอดพิมพ์เหมือนที่ทำกันในปัจจุบัน

นอกเหนือจากวิหารพระเจ้าพาราละแข่งแล้ว ภายในวัดยังมีอุโบสถและเจดีย์แบบพม่าอยู่ด้วย ซึ่งถ้าสังเกตที่อุโบสถดีๆ จะมีเห็นว่ามีปยาทาดแบบพม่าคล้ายกับที่วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง แน่นอนว่านั่นคือสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของอุโบสถหลังนี้นั่นเอง วัดหัวเวียงยังมีจองหรือวิหาร ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ของวัดที่นำเอาวิหาร ศาลาการเปรียญ ห้องเรียน และกุฏิพระ มารวมไว้ในอาคารหลังเดียว เป็นอาคารที่พบได้ทั่วไปตามวัดพม่าทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าพระพุทธรูปภายในจองก็ประดิษฐานอยู่ใต้ปยาทาดเช่นกัน

ดังนั้น หากใครไปวัดพม่าแล้วเห็นยอดปยาทาดแบบนี้ ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าข้างใต้นั้นจะต้องมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่อย่างแน่นอน แต่ภายในจองมักประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ โดยองค์ประธานจะเป็นองค์ที่อยู่ตรงกลางและมีขนาดใหญ่ที่สุดครับ

เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง
เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง
เมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง

จริงๆ ยังมีวัดในประเทศไทยอีกหลายแห่งที่มีพระมหามัยมุนีจำลอง ไม่ว่าจะเป็นวัดไทยวัฒนาราม จังหวัดตาก หรือวัดทุ่งโป่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงบางองค์ที่แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อว่าใช่ แต่จากรูปแบบลักษณะแล้วน่าจะได้รับอิทธิพลแน่ๆ อย่างวัดไชยมงคล หรือวัดจองคา จังหวัดลำปาง ใครอยากลองเทียบว่าแต่ละองค์เหมือนหรือไม่เหมือนองค์ต้นตำรับที่มัณฑะเลย์ก็ตามไปชมได้นะครับ


เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดหัวเวียงตั้งอยู่ภายในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนใกล้กับสนามบินแม่ฮ่องสอนเลยครับ ซึ่งภายในตัวเมืองยังมีวัดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุดอยกองมู วัดพระนอน วัดจองกลาง วัดจองคำ ที่ต่างก็มีความสวยงามน่าไปชมแทบทั้งสิ้น เดินทางได้ทั้งโดยรถส่วนตัว จักรยาน หรือจะเดินเท้าก็ได้ถ้าไหว
  2. แม้พระมหามัยมุนีองค์จริงที่ประเทศเมียนมาจะมีการล้างพระพักตร์ทุกวัน แต่ที่นี่กระทำเพียงปีละครั้งเท่านั้นในช่วงวันวิสาขบูชาครับ ใครอยากเห็นพิธีกรรมนี้ลองหาจังหวะไปชมได้ครับ
  3. ในบทความมีคำแปลกๆ คำหนึ่งคือคำว่า ‘ปยาทาด’ คำๆ นี้มีความหมายตรงกับคำว่า ‘ปราสาท’ หรือก็คือเป็นคำเรียกปราสาทในแบบพม่าสไตล์นั่นเองครับ
  4. ส่วนใครอยากอ่านเรื่องราวของวัดหัวเวียงเพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือสัก 2 เล่มครับ เล่มแรกคือ พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า ของ สุระ พิริยะสงวนพงศ์ และ ล้านนา Art & Culture ของ สุรชัย จงจิตงาม ได้ครับ อาจจะไม่ได้มีเรื่องวัดนี้มากนักแต่ก็มีเรื่องราวแวดล้อมที่เกี่ยวข้องมากพอสมควรเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ