The Cloud x we!park

อีกไม่กี่เดือน ชาวกรุงกำลังจะมีพื้นที่สาธารณะใหม่เอี่ยมเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง บริเวณ ‘พื้นที่ว่างซอยหน้าวัดหัวลำโพง’ เขตบางรัก ซึ่งเป็นโปรเจกต์นำร่องโครงการของ we!park กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมามองหาและตั้งใจชวนทุกคนลงมือสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับคนกับเมือง ให้เกิดขึ้นมากเท่าที่จะทำได้ ผ่านแนวคิด Win Win Solution ที่ให้ทุกคน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันได้ และเพื่อเพิ่มคุณภาพพื้นที่สีเขียวในเมืองตามหมุดหมาย Green Bangkok 2030 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เกิดขึ้นจริง

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

คอลัมน์ Public Space ชวน ยศ-ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกนักเคลื่อนไหว นั่งลงคุยถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นจบเกือบจบของการทำ Pocket Park แห่งนี้ และจะลากเส้นต่อจุดเล็กๆ ให้โอบล้อม เชื่อมกันทั้งเมืองได้อย่างไร

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

พื้นที่สาธารณะสีเขียว

หากพูดคำว่า ‘สวนสาธารณะ’ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงภาพสวนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งยศพลไม่ได้สนใจแค่เรื่องขนาด แต่ลงลึกไปถึงเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายโครงการ Green Bangkok 2030 ที่กรุงเทพมหานครตั้งไว้ ถ้าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากรจาก 6.9 เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะ 400 เมตร จากเดิม 13 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองจาก 17 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำอย่างไรบ้าง

อย่างที่เราๆ รู้กันดีว่า การหาพื้นที่ขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ในความเห็นของภูมิสถาปนิก การกระจายตัวจากพื้นที่ Pocket เล็กๆ ไปอย่างทั่วถึงทั้งเมือง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพพื้นที่สีเขียวชัดและขยับใกล้เป้าหมายขึ้น

เมื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐในฐานะ we!park ยิ่งทำให้ยศทราบข้อมูลว่า มีคนจำนวนไม่น้อยบริจาคที่ดินให้กรุงเทพมหานคร และแสดงเจตจำนงมอบเพื่อเป็นสวนสาธารณะ ฉะนั้น จึงมีพื้นที่เล็กๆ ที่ศักยภาพสูงพอสำหรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะอยู่อีกมาก เช่นเดียวกับบริเวณพื้นที่ว่างซอยหน้าวัดหัวลำโพง อีกทั้งยังมีเรื่องภาษีที่ดินใหม่ซึ่งปรับขึ้นทุก 3 ปี คงดีกว่าหากไม่ปลูกมะนาวและสมัครใจนำพื้นที่มาสร้างประโยชน์โดยอาจไม่ต้องยกให้ แต่มอบเป็นระยะเวลาที่ต้องการได้ ส่วนงบประมาณ นอกจากของภาครัฐแล้ว ยังมีงบ CSR ของเอกชน ซึ่งหากคิดเห็นตรงกัน และนำมาใช้กับโปรเจกต์ที่ Win Win ทุกฝ่าย เขาเลยมองเห็นโอกาสและศักยภาพที่จะผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง

ขอคั่นเวลาด้วยการอธิบายนิยามคำว่า พื้นที่สาธาณะสีเขียว (Green Public Space) สักครู่ คำว่าพื้นที่สาธารณะ (Public Space) โดยความหมายคือที่ที่ทุกคนเข้าใช้งานได้โดยอิสระ ไม่มีแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ มี 4 ประเภท คือ ถนน พื้นที่สาธารณะแบบเปิดโล่ง สิ่งอำนวยความสะดวกแบบสาธารณะ และพื้นที่ธุรกิจที่เป็นสาธารณะ ส่วนพื้นที่สีเขียว (Green Area) คือพื้นดินที่ปกคลุมด้วยหญ้า ต้นไม้ ไม้พุ่มหรือพรรณพืชอื่นๆ จะทั้งพื้นที่หรือบางสวนก็ได้ และยังรวมถึงสวนสาธารณะ สวนชุมชน และสุสานด้วย

ดังนั้นเมื่อนำทั้งสองรวมกันเป็น พื้นที่สาธารณะสีเขียวจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงและทำกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายใจ สร้างความสัมพันธ์ของผู้คน และฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติให้สอดคคล้องกับระบบนิเวศเมืองไปด้วย

พื้นที่ที่ชวนทุกคนมามีส่วนร่วม

เมื่อได้พื้นที่สร้างโปรเจกต์นำร่องอย่างบริเวณพื้นที่ว่างซอยหน้าวัดหัวลำโพง กระบวนการถัดมา คือวิเคราะห์ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะหรือสวนระดับชุมชน ไปจนถึงบทบาทอื่นๆ ระดับไหนได้บ้าง หากมีชุมชนโดยรอบ ก็ต้องวิเคราะห์ต่อว่าชุมชน โดยเฉพาะ Stakeholder (ผู้มีส่วนได้เสีย) มีความพร้อมทำกระบวนการการมีส่วนร่วมไหม จากนั้นดูว่ารัฐหรือเขตเห็นด้วยหรือไม่

ข้อสำคัญที่สุดคือความพร้อมของ Stakeholder เพราะหากคนไม่ได้มีส่วนร่วม ปัจจัยสำคัญที่จะมาหนุนพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ภาคส่วนที่คาดหวังให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย วิชาชีพ และประชาสังคม

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

“เราคิดกลไกที่ทำงานกับนักศึกษา คนรุ่นใหม่ เช่น สร้างโจทย์ทำเวิร์กช็อป ผลจากเวิร์กช็อปนำไปสู่ไอเดียตั้งต้น ไปชวนชุมชนพูดคุยว่าจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น ฝ่ายลงพื้นที่คือทีมชุมชนจะเริ่มทำความคุ้นเคย พา Stakeholder มานั่งคุยกัน ดูปัญหาความเป็นไปได้ หรือสิ่งที่ชุมชนอยากได้ในการพัฒนาก่อนหานักออกแบบ โดยการจัดประกวดแบบและตัดสินโดยการโหวต แต่บริเวณพื้นที่ว่างซอยหน้าวัดหัวลำโพงซึ่งเป็นโปรเจกต์นำร่อง ยังไม่ได้ประกวดแบบ หลังทำเวิร์กช็อปกับนักศึกษา เรานำแบบนั้นไปพัฒนาต่อ โดยทีมของ Shma Soen” 

ยศพลอธิบายถึงกระบวนการพูดคุยเรื่องความต้องการของทุกฝ่ายกว่า 5 ครั้ง มีทั้งการคุยแบบ Focus Group คุยกับชุมชนก่อนไปคุยกับกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ เจ้าของโรงแรม ได้พัฒนาเป็นแบบล่าสุดที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย หลังจากนั้นจัดกิจกรรมทดลองและกระตุ้นการใช้งานในพื้นที่ในรูปแบบ Mock-up Park นำความคิดเห็นมาปรับแบบอีกรอบ

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน
ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

สิ่งที่น่าสนใจของการมีกลไกคนกลางอย่าง we!park คือตอนเปิดใช้แล้วไม่ได้แปลว่าสวนเสร็จสมบูรณ์ ยังเปิดโอกาสให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามความต้องการที่เพิ่มเข้ามาได้ ต่างจากพื้นที่ของรัฐที่แทบเข้าไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้

พื้นที่ที่ถูกใจทุกคน

แบบก่อสร้างล่าสุดภายในพื้นที่ 0.65 ไร่ของสวนสาธารณะซอยหน้าวัดหัวลำโพง ประกอบไปด้วยพื้นที่ 3 ส่วน

ส่วนแรก พื้นที่ออกกำลังกาย มีลู่จ็อกกิ้งวนรอบสวน ระยะสั้นเพียงพอให้ลุงๆ ป้าๆ ได้ยืดเส้นยืดสาย มีที่นั่งสำหรับผู้สูงวัย โอบล้อมด้วยสวน 3 แบบ สวนดอกริมรั้ว สวนนิเวศ และสวนผ่อนคลาย

ส่วนที่ 2 พื้นที่ทำกิจกรรม มีลานข้างบ้าน ลานพบปะ ลานสนุก ลานนวดเท้า

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

และส่วนที่ 3 ศาลาพักผ่อน ศาลาต้นไม้ ศาลาข้างบ้าน ศาลาชิงช้า ศาลาสุขภาพ โดยที่ถูกอกถูกใจเด็กๆ ครู และผู้ปกครอง เห็นจะเป็นศาลาทำการบ้าน ไว้ใช้ระหว่างรอผู้ปกครองมารับอย่างปลอดภัยและไม่ไกลหูไกลตา

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน
ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

ด้วยอยากให้บรรยากาศดูบ้านๆ เหมือน Neighborhood เขาหยิบพวกประตูบานเฟี้ยมหรือระแนงมาเป็นตัวประกอบของสวน ใช้สีเหมือนไม้ให้ดูอบอุ่น ช่วยสร้างความคุ้นเคยในพื้นที่ และเข้าไปสำรวจในชุมชนว่ามีพรรณไม้อะไรที่ปลูกก็นำมาปลูก และไม่ลืมเพิ่มไม้ดอกสีสันสดใสแบบที่คุณป้าอยากได้ ใช้พืชพรรณที่ให้ร่มเงาเป็นอาหารสัตว์เล็กๆ มีพืชสมุนไพร พื้นบ้าน รวมถึงพันธุ์กลิ่นไม้หอมอ่อนๆ สร้างบรรยากาศ

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

“กระบวนการที่ดีจะสะท้อนกายภาพที่ดี ลักษณะสังคมที่ดี และความยั่งยืน” 

ยศพลอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการมีส่วนร่วม เขาบอกว่าการทำลานกิจกรรมนั้น หวังผลให้เป็นพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์ระดับชุมชน เพราะโดยรอบมีทั้งร้านกาแฟ คอนโดมิเนียม โรงแรม วัด สถานศึกษา เมื่อเพื่อนบ้านรู้จักกัน เกิดการพูดคุย ประณีประนอม แบ่งปันกันใช้ ไปจนถึงร่วมกันวางแผนดูแลรักษา

“ก่อนหน้านี้กิจกรรมอย่างรำเทศกาลต่างๆ จะจัดในชุมชน ซึ่งพื้นที่ก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ถ้าเรามีโอกาสมาจัดตรงนี้ Stakeholder หรือเพื่อนบ้านก็จะได้มาช่วยกัน ส่วนเรื่องการดูแล เราไม่ได้มองปลายทางแค่สีเขียว เลยเป็นการวางแผนว่าเราจะดูแลร่วมกันยังไง บ้านที่อยู่ติดกับสวน จะถือกุญแจช่วยเปิด-ปิด ไหม Too Fast To Sleep คุณเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมงช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลความปลอดภัยได้หรือเปล่า หรือถ้ามีกิจกรรมที่บางทีจัดในอาคาร คุณมาจัดตรงนี้ได้ อนันดา มีลูกบ้าน มีสมาชิกนิติ มาร่วมทำอะไรได้

“นี่แหละคือการเชื่อมความสัมพันธ์ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ ผมเลยคิดว่ามันไม่ได้เป็นแค่การทำสวน แต่เป็นการสร้างสังคมผ่านการทำสวนสาธารณะ อย่างที่เราใช้คำว่า we!park เพราะทุกคนมาร่วมกัน”

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

พื้นที่เชิงทดลองระดมทุน

โปรเจกต์สวนสาธารณะสีเขียวซอยหน้าวัดหัวลำโพง คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนพฤษภาคม ในส่วนของโครงสร้าง งบประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์มาจากกรุงเทพมหานคร ส่วนที่เหลืออีก 4.8 เปอร์เซ็นต์เปิดระดมทุนสาธารณะในรูปแบบแบบ Crowdfunding ทาง เทใจ – TaejaiDotcom

ยศพลให้เหตุผลในการเปิดระดมทุนว่า เป็นโปรเจกต์เชิงทดลองเพื่อเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันให้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงชุมชนโดยรอบเท่านั้น โดยส่วนที่เปิดรับเป็นพวกอุปกรณ์เครื่องเล่น เครื่องออกกำลังกาย โต๊ะ ม้านั่ง

“คนอาจยังไม่ชินกับระดมทุนสร้างสวน แต่ทุกขั้นตอนจะถูกสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ หรือเป็นคู่มือที่เราจะแนะนำต่อกับทางกรุงเทพมหานคร ชุมชน หรือใครก็ตามที่เห็นโอกาสในการนำไปต่อยอด ส่วนหนึ่งอยากให้กรุงเทพมหานครรับพิจารณาด้วยว่า ถ้าคุณแก้กฎระเบียบบางอย่าง เช่น ถ้าเปิดโอกาสให้มีการตั้งกองทุน เปิดให้มีกิจกรรมแบบหารายได้ในพื้นที่ อาจทำให้คนสนใจหรือมาสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้เมืองมากขึ้น

“นี่เป็นสเต็ปต่อไป อยู่ๆ เราจะไปบอกเขาว่าต้องแก้อย่างนี้ก็ไม่ได้ ข้อดีตอนนี้คือเราทำงานร่วมกับ กทม. ตั้งแต่กระบวนการแรก เขาก็จะเห็นว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร สุดท้ายเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และได้เห็นร่วมกันว่า ถ้าแต่ละคนแก้ไขหรือมีบทบาทในการทำให้ทิศทางดีขึ้น มันก็น่าจะดี”

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

พื้นที่ที่สร้างคน

อีกภาพที่น่าสนใจคือกระบวนการมีส่วนร่วมกับนักศึกษา ซึ่งเป็นเหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ ไม่เพียงเติบโตผ่านการเรียนรู้ในเชิงทักษะหรือวิธีการทำพื้นที่สาธารณะ แต่ได้เรียนรู้ชีวิตกับคน ได้เห็นโลกในหลากหลายมุม

“ถ้าคุณต้องไปคุยกับชุมชน จะคุยยังไงให้สร้างความเข้าใจ ไปเดินในชุมชน เจอปัญหาความยากอะไร เห็นปัญหาติดขัดอะไรในกระบวนการของรัฐ พอเห็นหลายๆ มุมก็ต้องคิดให้รอบ เรื่องนี้ทั้งส่งต่อทักษะและทัศนคติ ซึ่งเราหวังว่าเมล็ดพันธุ์จะเบ่งบานในอนาคต 

“ตอนเราเป็นนักศึกษา ก็อยากเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา แต่นึกในใจว่า เฮ้ย เราจะทำไปทำไม หรือ จะทำได้ยังไง เลยคิดว่าถ้าเปิดโอกาสเปลี่ยนพลังคุกรุ่นตรงนั้นให้ออกไปในทิศทางที่สร้างอิมแพ็ค และนอกจากเชื่อมช่องว่างระหว่าง Stakeholders ของเอกชนกับรัฐ มันเชื่อมช่องว่างของเจเนอเรชันที่วิธีคิดแตกต่างกันมาก ข้อขัดแย้งต่างๆ ก็จะน้อยลง”

ในอนาคต ยศมองว่าการทำงานโดยมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือสถาปัตยกรรมเท่านั้น เขาอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้แบบที่ถนัด ไม่ว่าเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม เช่น เด็กๆ ที่เรียนด้านมานุษยวิทยาหรือสังคมศาสตร์ รู้วิธีคุยกับเด็กที่เรียนบัญชี เรียนกฎหมาย บูรณาการร่วมได้หมด รวมถึงคนที่ทำงานด้านอื่นๆ เช่น นักออกแบบกราฟิกหรือนักออกแบบแสง ก็มาช่วยดีไซน์ป้ายและไฟในสวนได้ เป็นต้น

“ล่าสุดนักศึกษาเรียนอักษรฯ สมัครเข้ามาเลกเชอร์ เขามาบอกว่ามีทักษะด้านนี้ และอยากช่วยทำอะไรบ้าง ผมว่าเราน่าจะเริ่มเห็นทิศทางมากขึ้น” 

พื้นที่ที่สร้างเมือง

พื้นที่สาธารณะสีเขียวเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตในเมืองอย่างแยกไม่ออก พูดกันตามตรง เรามองเห็นปัญหาได้แจ่มชัดกว่าทางแก้ แต่หากกวาดตามองออกไปรอบๆ เราก็จะพบหลายคน หลายกลุ่ม ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คุณภาพชีวิตในเมืองดีขึ้น

“ตอนนี้ผมไม่ได้คิดว่าเราอยู่ในเมืองที่เราได้ใช้ชีวิต เราอยู่ในเมืองที่เราดิ้นรน และมันเป็นการดิ้นรนที่เราต้องจ่ายด้วยนะ ถ้าไม่ได้สร้างเมืองที่มันใช้ชีวิตได้ด้วยกันอย่างสุนทรีย์ เอาแค่เรื่องพื้นฐานอย่างอากาศบริสุทธิ์ ได้หายใจ เดินสะดวก ซึ่งเป็นพื้นฐาน เราจะทำยังไงกับปัญหานี้ทั้งหมด

“สุนทรีย์ของการมาพบปะ พุดคุย นั่งสนทนา ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ผมคิดว่ามันห่างหายจากชีวิตของคนไทยไปนานมาก พูดแล้วก็นึกไม่ออกว่าครั้งล่าสุดนี่ตอนไหน ผมยังทันยุคที่สนามหลวงไปนอน ไปเล่นว่าวได้ ผมว่าเมืองที่มีอิสระปลอดภัย ก็เป็นเรื่องเดียวกัน

“พอจุดประกายก็ปลุกสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง คือโปรเจกต์นี้มันเปิดทั้งพื้นที่ เปิดทั้งกลไก ว่าเราพร้อมทำให้มันยั่งยืนด้วยกลไกวันนี้ ไม่ใช่ว่าคุณมาเพื่อเป็นแค่คนใช้พื้นที่นะ คุณต้องมาร่วมคิดสร้างอะไรบางอย่าง เราไม่ได้บอกว่าใครมีหน้าที่พลเมืองมากน้อยต่างกัน ผมว่าแต่ละคนมีเหตุปัจจัยและความพร้อมไม่เหมือนกัน ถ้ามีโอกาส ผมเชื่อว่าทุกคนก็พร้อมทำ

“เราแค่ไปกระตุ้นว่าเพื่อไปถึงเป้าหมาย ต่างฝ่ายต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไร รัฐต้องเปลี่ยนบทบาท ชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำอะไร เอกชนต้องทำอะไร ภาควิชาชีพต้องทำอะไร 

“เราอยู่ในยุคที่มีความหวังนะ เพราะผมเห็นพลังต่างๆ เห็น Movement ยังไงผมก็ยังหวัง”

เช่นกัน เราเองก็หวัง และลงมือทำในแบบของเราอยู่

ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ที่ดินบริจาคสู่พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ที่ทุกคนสร้างด้วยกัน

ภาพ : we!park

Writers

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Avatar

ปัณณ์ เสริมชัยวงศ์

โตมาในเมืองใหญ่ รักในการเดิน คอยมองหาเรื่องราวใหม่ๆ ให้เรียนรู้ในทุกวัน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน