1 พฤศจิกายน 2021
4 K

พูดถึงหัวหิน คงจะนึกถึงเมืองชายทะเลที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

หัวหินครั้งแรกของเราคือการนั่งรถไฟนำเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์กับครอบครัว แล้วค่อยอัปเลเวลโดยการนั่งรถทัวร์จากขนส่งสายใต้ใหม่ (ในตอนนั้น) นอนพักใกล้วัดหัวหิน เล่นน้ำที่หาด เดินผ่านโรงแรมเซ็นทรัล (ในตอนนั้น) กินอาหารทะเล และจบด้วยการนั่งรถไฟขบวนหัวหิน-ฉะเชิงเทรา มาลงที่มักกะสัน เป็นประจำเกือบทุกปีจนเป็นกิจวัตรหลักของครอบครัวนี้

จะว่าไปแล้วหัวหินเป็นหนึ่งในจุดหมายของใครหลายคน ด้วยความเป็นเมืองชายทะเลที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ค่อนข้างสงบแต่ไม่เงียบสงัด อาหารอร่อย มีความเป็นท้องถิ่นสูง และเดินทางได้ง่าย จึงไม่แปลกที่จะเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยม ซึ่งมีฉากหลังเป็นความคลาสสิกในยุคเฟื่องฟูของวัฒนธรรมการตากอากาศ หลังจากมีการคมนาคมที่สะดวกสบาย หนึ่งในนั้นคือรถไฟสายใต้

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

ก่อนจะเกิดเป็นหัวหินนั้น ชุมชนดั้งเดิมตั้งรกรากอยู่ใกล้เขาตะเกียบตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 3 ที่นี่มีหาดทรายสวยงามแซมด้วยแนวหินกระจายไปทั่ว ดินโดยทั่วไปก็เหมาะกับการทำการเกษตร ชาวบ้านที่ตั้งรกรากทำการเกษตรและประมงเลี้ยงชีพ หมู่บ้านนี้เรียกว่า ‘บ้านสมอเรียง’ จนกระทั่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร) ได้ทรงสร้างตำหนักแสนสำราญสุขเวศน์ ก็ได้มีการเรียกชื่อพื้นที่หาดที่เต็มไปด้วยหินนี้ว่า ‘หัวหิน’

จนเมื่อทางรถไฟสายใต้จากบางกอกน้อยสร้างมาถึงปลายทางที่เพชรบุรี และต่อขยายปลายทางลงใต้เพื่อไปมลายู ส่วนหนึ่งของทางรถไฟได้ผ่านชุมชนหัวหิน และมีสถานีรถไฟเหมือนกับชุมชนขนาดใหญ่รายทางอื่นๆ ทำให้หัวหินยิ่งเริ่มมีการตั้งรกรากของชุมชนมากขึ้นกว่าเดิมจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่

การมาถึงของรถไฟใน พ.ศ. 2454 ไม่ได้เพียงแค่ทำให้หัวหินเจริญเติบโตในแง่ของเมือง แต่ยังนำวัฒนธรรมการท่องเที่ยวตากอากาศให้เดินทางมาถึงชุมชนแห่งนี้อีกด้วย

การเติบโตของหัวหินก้าวกระโดดหลังจากที่รถไฟสายใต้เดินทางมาถึงนั้น พอจะบอกเล่าได้ว่ารถไฟได้นำพาความเจริญมาที่นี่ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงความเจริญด้านการคมนาคม แต่ยังมีสิ่งที่รถไฟพามาถึงและยังคงหลงเหลือสิ่งนี้ให้เห็น ได้สัมผัส จนถึงปัจจุบัน

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

‘หัวหิน’ สถานีทรงคุณค่า

สถานีรถไฟสีครีมตัดแดง ป้ายสถานีสีขาวขอบสลักลวดลายวิจิตรสีแดง พร้อมตัวหนังสือสีดำรูปลักษณ์ไม่เหมือนสถานีไหนๆ เรียกได้ว่าเป็นภาพจำของสถานีรถไฟหัวหินก็ว่าได้

ถ้าพูดถึงสถานีรถไฟที่สวยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย สถานีหัวหินก็อยู่ในลิสต์นี้ด้วย

หลายคนคงเข้าใจว่าสถานีหัวหินสร้างขึ้นด้วยความวิจิตรตั้งแต่แรก แท้จริงแล้วอาคารที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นสถานีรถไฟ

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่
สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่
สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

สถานีรถไฟหัวหินที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นอาคารหลังที่ 2 อาคารหลังแรกไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นรูปแบบใด คาดว่าเป็นเพียงอาคารไม้เล็กๆ แบบพิมพ์นิยมของการสร้างสถานีรถไฟยุคนั้น

อาคารสถานีที่วิจิตรเดิมเป็นอาคารไม้ที่ประกอบขึ้นเพื่อจัดงาน ‘สยามรัฐพิพิธภัณฑ์’ ที่สวนลุมพินีใน พ.ศ. 2468 แต่ไม่ได้มีการจัดจริง เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตก่อนการจัดงาน งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์จึงถูกยกเลิก และได้นำมาประกอบขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีหัวหินที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

สถานีหัวหินสร้างด้วยไม้ รูปแบบได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนที่นิยมมากในอังกฤษ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวหลังคาทรงปั้นหยา มุขกลางเป็นแบบจั่วตัด มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว โครงสร้างอาคารเป็นกรอบเสารับคาน โครงเคร่าและไม้กรุผนังทาสีตัดกันจนเห็นความแตกต่างชัดเจน เสามีการเซาะร่องเป็นลวดลาย และประดับหัวเสาเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก ตัวสถานีทาสีขาวครีมตัดกับสีแดง ป้ายสถานีมีเอกลักษณ์ทั้งตัวอักษรและกรอบที่สลักอย่างวิจิตร สอดคล้องกับตัวอาคารสถานี

ด้วยความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์นี้ จึงได้รับพิจารณาคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น ‘อาคารอนุรักษ์ดีเด่น’ เมื่อ พ.ศ. 2525

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’ สวยสง่า

ด้านทิศใต้ของสถานีหัวหิน ห่างจากอาคารสถานีไปเล็กน้อย มีพลับพลาทรงจตุรมุขทรงไทยประยุกต์ตั้งอยู่ พลับพลานี้ไม่ใช่อาคารสถานีหัวหิน แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถานี

พลับพลานี้มีชื่อว่า ‘พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

เดิมทีเป็นอาคารสถานีรถไฟหลวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เรียกกันว่า ‘พลับพลาสนามจันทร์’ ทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟหลวงเหมือนกับสถานีจิตรลดาที่กรุงเทพฯ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต กรมรถไฟได้รื้อตัวพลับพลาสถานีสนามจันทร์มาเก็บรักษาไว้ จนใน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำพลับพลากลับมาประกอบใหม่ และย้ายไปตั้งไว้ที่สถานีหัวหิน เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับในการเสด็จทางรถไฟของพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการแปรพระราชฐานที่วังไกลกังวล

พลับพลาได้ประกอบเสร็จ ทำพิธีเปิดโดย สมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้นก็ได้มีการตั้งชื่อพลับพลาใหม่ว่า ‘พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’

ทั้งสถานีหัวหินและพลับพลาจึงเป็นอีกสถานที่ซึ่งถ้าใครมาหัวหินแล้ว ก็ไม่ควรพลาดแวะไปเยี่ยม ไปทักทายอาคารเก่าทรงคุณค่าทั้งสอง

สถานีหัวหิน อาคารไม้จากงาน 'สยามรัฐพิพิธภัณฑ์' สมัย ร.6 ที่ไม่ได้จัด สู่สถานีโฉมใหม่

โรงแรมรถไฟหัวหิน’ สุดโอ่อ่า

การมาถึงของรถไฟไม่ได้พาแค่ผู้โดยสารเดินทางมาถึง แต่ยังพาวัฒนธรรมการพักตากอากาศชายทะเลมาหัวหินด้วย

วัฒนธรรมนี้เริ่มมาจากชนชั้นสูงในยุคนั้นรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ได้มาซื้อที่ดินและสร้างตำหนัก สร้างบ้านพักตากอากาศเป็นจำนวนมาก เมื่อความนิยมในการตากอากาศชายทะเลมีมากขึ้น กรมรถไฟจึงได้เริ่มธุรกิจโรงแรม นั่นคือ ‘โรงแรมรถไฟหัวหิน’ ที่เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมชั้นนำแห่งแรกๆ ของไทยก็ว่าได้

โรงแรมรถไฟหัวหินถูกสร้างขึ้นริมชายหาด บนถนนเส้นตรงที่ตัดมาจากสถานีรถไฟหัวหิน รูปแบบของโรงแรมนั้นมีลักษณะและสิ่งอำนวยความสะดวก เหมือนกับโรงแรมตามสถานที่ตากอากาศในต่างประเทศ

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้

ตัวโรงแรมออกแบบโดย นายเอ. รีกาซซี (A. Rigazzi) นายช่างสถาปนิกชาวอิตาลีที่ทำงานให้กับกรมรถไฟ เป็นสไตล์โคโลเนียล หลังคาสูง ลวดลายตกแต่งด้วยไม้สัก มีห้องพักหลากหลาย ห้องอาหาร บาร์ เครื่องครัวชุดกระเบื้องนำเข้าประทับตราครุฑ พื้นประดับด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายคล้ายกับตึกบัญชาการรถไฟ และโรงแรมราชธานีที่สถานีกรุงเทพ

ในปัจจุบัน โรงแรมรถไฟหัวหินได้เปลี่ยนเป็นโรงแรม Centara Grand Beach Resort and Villa Huahin บนพื้นที่เดิม และโรงแรมเองก็ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารดั้งเดิมของโรงแรมรถไฟหัวหิน

ถ้าใครอยากพักในบรรยากาศของโรงแรมรถไฟ ให้เลือกห้องพักที่อยู่ในตึก Railway Wing ซึ่งยังคงมีกลิ่นอายดั้งเดิมของอดีตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวห้อง โซนจิบน้ำชายามบ่าย ระเบียงทางเดิน ราวระเบียง ราวบันได กระเบื้องบนพื้น หรือแม้แต่สัญลักษณ์ล้อปีกของการรถไฟที่ประดับอยู่บนกระจกตามทางเดิน

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้

นอกจากบรรยากาศที่พักแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมากับรถไฟและยังคงอยู่ที่โรงแรมแห่งนี้ นั่นคือเมนูสุดพิเศษที่เริ่มต้นจากบนตู้เสบียงของรถด่วนสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ในยุครุ่งเรือง นั่นคือเมนูข้าวผัดรถไฟ

ข้าวผัดรถไฟที่เราเห็นสูตรตามอินเทอร์เน็ตว่าเป็นข้าวผัดคลุกกับเต้าหู้ยี้ บ้างก็บอกว่าซอสเย็นตาโฟ บ้างก็บอกว่าซีอิ๊วดำ บ้างก็บอกว่าซอสพริก ถือว่าไม่ใช่สูตรแท้ดั้งเดิม เพราะสูตรดั้งเดิมที่ผัดกันโช้งเช้งบนตู้เสบียงรถไฟนั้น ใช้วัตถุดิบเฉพาะที่ในยุคนั้นต้องนำเข้ามาอย่างเดียว

ข้าวผัดรถไฟสูตรแท้คลอดมาจากบนรถไฟนั้น จะต้องมีองค์ประกอบก็คือ ใช้เนื้อหมูหรือไก่ มีกุนเชียง หอมใหญ่ ถั่วลันเตา มะเขือเทศ และของแท้นั้นต้องใช้ซอสมะเขือเทศเข้มข้นยี่ห้อ MICA ผัดลงไปกับข้าวเท่านั้น

เรายังสามารถลิ้มลองรสชาติจากเมนูซิกเนเจอร์บนรถเสบียงสู่โรงแรมรถไฟนี้ได้ที่ห้องอาหาร Railway Restaurant ของโรงแรม Centara Grand Beach Resort and Villa Huahin หรืออดีตโรงแรมรถไฟแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งเชฟของโรงแรมเองก็ได้คงสูตรนี้เอาไว้ พร้อมเพิ่มกิมมิกของโรงแรมด้วยการเพิ่มกุ้งย่างและมะม่วงหิมพานต์เข้าไปด้วย

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
ข้าวผัดรถไฟ สูตรของโรงแรม Centara 
ภาพ : โรงแรม Centara Grand Beach Resort and Villa Huahin 

รถไฟนำเที่ยว’ ขวัญใจนักเดินทางวันหยุด

ในยุคแรกๆ รถไฟที่พาคนจากกรุงเทพฯ​ ไปหัวหินเป็นรถด่วน มีให้บริการตู้เสบียง น่าจะถือได้ว่าเป็นขบวนรถไฟที่เริ่มต้นตั้งไข่ด้วยอิทธิพลจากการท่องเที่ยวชายทะเล และพักตากอากาศในแบบค้างคืน

วันเวลาผ่านไป รถด่วนหัวหินไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่ยังคงมีรถไฟนำเที่ยวให้บริการแทน และปรับรูปแบบจากไปค้างคืนให้เหลือไปเช้าเย็นกลับ (ถ้าใครจะนั่งไปวันหนึ่ง ไปนอนค้างและกลับอีกวันหนึ่งก็ได้)

ประสบการณ์แรกกับหัวหินของเราก็เริ่มต้นมาจากรถไฟนำเที่ยว มันพานักท่องเที่ยวออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า มาถึงหัวหินช่วงสาย เล่นน้ำให้สบายอุราแล้วออกจากหัวหินในช่วงบ่าย และถึงกรุงเทพฯ ในช่วงหัวค่ำ

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้

ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการเปิดหาดสวนสนประดิพัทธ์ที่อยู่ในพื้นที่พักฟื้นกองทัพบกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ รถไฟนำเที่ยวชายทะเลหัวหินก็ได้ขยับขยายปลายทางออกไปอีกหน่อยหนึ่ง จนกลายเป็นรถไฟนำเที่ยวชายทะเลหัวหิน-สวนสนประดิพัทธ์ จนถึงทุกวันนี้ แม้ปลายทางเปลี่ยน แต่ราคาก็ยังสบายกระเป๋าเหมือนเดิม

รถไฟนำเที่ยวหัวหิน-สวนสนฯ ออกวิ่งทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ล้อเริ่มหมุนจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในช่วงเช้าตรู่ 6 โมงครึ่ง ผ่านสามเสน บางซื่อ บางซ่อน ศาลายา ไปหยุดแวะนครปฐม 40 นาทีให้สรรหาของกินอร่อยๆ เป็นมื้อเช้า หรือใครใคร่ไหว้พระปฐมเจดีย์ก็ตามสบาย จากนั้นมันก็จะวิ่งปุเลงๆ ต่อไปจนถึงชะอำ หัวหิน และสวนสนประดิพัทธ์ จากชานชาลารถไฟเดินไปไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงทะเล พอถึงเวลาบ่าย 3 โมงมัน จะกลับมารับนักท่องเที่ยวเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สนนราคาค่าโดยสารรถพัดลม 120 บาท และรถแอร์ 240 บาท ถือว่าสบายกระเป๋ามากทีเดียว

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้

รถไฟกับหัวหิน

ในระยะร้อยปีที่ผ่านมา หลังจากทางรถไฟสายใต้ผ่านหัวหิน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย หัวหินกับรถไฟกลายเป็นเมืองที่ผูกกันไว้อย่างเหนียวแน่น หลายสถานที่ในหัวหินเลือกจะสร้างรูปแบบที่คล้ายคลึงกับสถานีรถไฟหัวหินขึ้นมา จนกลายเป็นสัญลักษณ์เมือง รวมถึงป้ายชื่อถนน ป้ายซอย หรือแม้แต่การกระจายอัตลักษณ์ของสถานีหัวหินไปยังสถานีรถไฟทุกสถานีในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้มีธีมขาว-แดง เพื่อสื่อว่า ‘ขณะนี้รถไฟของเรากำลังเดินทางอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์’

แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงจากทางเดี่ยวสู่ทางคู่ การเก็บอาคารสถานีเก่าเอาไว้และรีโนเวตให้แข็งแรงเพื่อใช้งานต่อ ยังคงแนวคิดความเป็น ‘สถานีรถไฟสีขาวแดง’ พิมพ์เดียวกับหัวหินไม่ต่างจากเดิม

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
สถานีสวนสนประดิพัทธ์ สถานีใหม่ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ใช้รูปแบบอาคารคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแบบเก่า ผสมผสานกับสีสันของสถานีหัวหิน

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานีรถไฟหัวหินก็จะปรับรูปแบบไปอีก ตามโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ชุมพร ทางรถไฟที่ผ่าใจกลางเมืองหัวหินถูกปรับให้กลายเป็นทางยกระดับ สถานีรถไฟหัวหินก็ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเยื้องห่างกันไปนิดเดียว

สถานีใหม่สร้างให้เป็นรูปแบบร่วมสมัย และดึงอัตลักษณ์ของสถานีหัวหินออกมา ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานของเก่าและของใหม่ สีสันของสถานี รวมถึงเสาตอม่อทางรถไฟยกระดับ ที่สลักลวดลายเดียวกันกับเสาไม้ในอาคารสถานีรถไฟหัวหินหลังปัจจุบัน

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้
หลังคาชานชาลาสถานีหัวหินแห่งใหม่

ส่วนสถานีหัวหินเดิมนั้น ยังคงเป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่วันที่ทางรถไฟตัดมาถึง วันที่ตัวสถานีได้ประกอบร่างขึ้นมาใหม่ วันที่มีโรงแรมรถไฟ วันที่ผู้คนเริ่มตากอากาศชายทะเล วันที่พลับพลาพระมงกุฎเกล้ามาอยู่เคียงคู่สถานี วันที่เรายืนอยู่ตรงนี้ และจนถึงวันที่สถานีแห่งใหม่เปิดใช้งาน

น่าจะบอกได้ว่าหัวหินคือส่วนหนึ่งของรถไฟ และรถไฟก็เป็นส่วนหนึ่งของหัวหินเช่นกัน

นั่งรถไฟไปหัวหิน ดูสถานีรถไฟยุควิกตอเรียน พลับพลาสนามจันทร์ที่ย้ายมา และชิมข้าวผัดรถไฟสูตรดั้งเดิมของแท้

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ช่วงเวลาที่ถ่ายรูปกับสถานีรถไฟหัวหินได้สวยงามที่สุด คือช่วงบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงช่วงเย็น แสงอาทิตย์จะอยู่ด้านทิศตะวันตก ส่องเข้าด้านหน้าสถานี ขับสีขาว-ครีม ตัดแดงให้ออกมาเด่นมาก
  2. หากใครแวะไปทางเขาตะเกียบ ยังมีสถานีรถไฟหนองแกที่บูรณะอาคารเก่าให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง บรรยากาศช่วงเย็นดีมาก น่านั่งเล่นบนชานชาลาดูรถไฟวิ่งผ่านไปมาได้
  3. รถไฟสายใต้ทุกขบวนจอดที่สถานีหัวหิน จึงง่ายต่อการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่แล้ว จากกรุงเทพฯ มีรถออกในช่วงบ่ายถึงค่ำ หากจะเดินทางกลางวันจะมีเที่ยวรถค่อนข้างน้อย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ