10 กันยายน 2021
5 K

บรรยากาศในบัสกา (รถบัส) ไร้แอร์ คึกคักด้วยผู้คนจากเมืองมูเซ (Muse) น้ำคำ (Namhkam) แสนหวี (Hsenwi) และล่าเสี้ยว (Lashio) ที่ต่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางของตน ข้าวของบรรดามีถูกจัดวางจนแทบไม่มีทางเดิน โชคยังดีที่ที่นั่งริมหน้าต่างยังไม่มีเจ้าของ ฉันนั่งลงประจำที่ก่อนรถแล่นออกจากล่าเสี้ยว ทิ้งร่องรอยของเมืองที่มีสีสันและเศรษฐกิจอันกำลังรุ่งเรืองไว้เบื้องหลัง 

อีก 75 กิโลเมตรต่อจากนี้ ดินแดนจากเรื่องราวในนวนิยาย สิ้นแสงฉาน ที่ถ่ายทอดโดย Inge Sargent ภรรยายอดรักชาวออสเตรียของ เจ้าฟ้าจ่าแสง จะปรากฏตรงหน้า ฝ่าเท้าน้อยๆ ของฉันกำลังจะได้ก้าวเดินไปในเมืองที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐฉาน ลมพัดเย็นสบาย ทิวทัศน์สองข้างทางเต็มไปด้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สมแล้วที่รัฐฉานคือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของเมียนมา เข้าสู่ย่านชุมชน รถเริ่มจอดส่งผู้โดยสารเป็นระยะ ‘สีป่อ’ คงใกล้เข้ามาแล้ว 

จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ

วิถีแห่งสีป่อ

พลบค่ำ พระอาทิตย์คล้อยต่ำ แสงสีส้มทองสะท้อนผืนน้ำ บัสกากำลังข้ามสะพานเข้าสู่เมือง เมื่อก้าวลงจากรถ อากาศเย็นๆ เข้าสัมผัสผิว นี่คงเป็นการต้อนรับก่อนทำความรู้จักกับสีป่ออย่างเป็นทางการ 

แผนที่ถูกกางขึ้น เพื่อเป็นผู้นำทางไปบนถนนลาดยางอันเงียบสงบ สู่ที่พักซึ่งเป็นจุดหมายแรกของค่ำคืนนี้ Lily Guest House อบอุ่นและเข้าใจง่าย เพราะเจ้าของเคยเข้ามาทำงานที่จังหวัดลำพูน จึงรู้สึกผูกพันและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยด้วยมิตรจิตมิตรใจอย่างเพื่อนแท้ ความรู้สึกปลอดภัยไร้กังวลเข้ามาสร้างความมั่นใจว่าจะนอนหลับฝันดี 

ยามเช้าที่สีป่อ อากาศเย็นสบาย จักรยานจากบริการของเกสต์เฮาส์เข้ามาร่นระยะเวลาในการเดินทาง นอกจากหาของกินรองท้องก่อนตะลุยเที่ยว การไปเดินตลาดสดคือสิ่งสำคัญสำหรับทุกทริป เพราะที่แห่งนี้สะท้อนภาพวิถีไม่ลวงหลอก ไม่ต้องสร้างภาพเพื่อให้ใครหลงรัก หากแต่ดำเนินไปตามปกติชีวิตของผู้คน

จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ
จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ

ร้านรวงต่างๆ สร้างขึ้นอย่างง่ายด้วยการนำไม้มาทำเป็นเพิงหลังคามุงสังกะสี บริเวณลานด้านนอกเป็นแผงขายของที่ปูด้วยผืนพลาสติกบนพื้นดิน มีบางร้านที่กางร่มขนาดใหญ่ไว้บังแสงแดด หญิงชาวสีป่อต่างช่วงวัยออกมาจับจ่ายสินค้าสำหรับบริโภค เพราะมีข้าวของมากมายที่จำเป็นสำหรับแต่ละครัวเรือน เช่น เส้นหมี่ ซอสปรุงรส ข้าวสาร กุนเชียงสีแดงสดขนาดเท่านิ้วชี้ เนื้อสัตว์ทั้งหมู ไก่ และปลา เครื่องเทศหลากสีสันมากชนิด พืชผักผลไม้ขนาดใหญ่ ดอกไม้สวยสดวางขายอยู่อย่างดาษดื่น พร้อมแม่ค้าที่ต่างปะทานาคาไว้บนหน้า แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีหลายลาย เสียงพูดคุยและไถ่ถามกันสื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในลักษณะคนพื้นถิ่น การเดินตลาดในต่างถิ่นยังทำให้พบสิ่งแปลกตาสำหรับคนไกลแต่ไม่แปลกใจสำหรับคนเมียนมา นั่นคือ ตาชั่งแขวนโบราณที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

ทุกครั้งที่เดินออกจากตลาดสดของแต่ละเมืองมักได้บทเรียน เพราะทำให้เห็นชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ได้พบเห็นคลังอาหารประจำถิ่น และนี่เองที่ทำให้ตลาดสดเต็มไปด้วยเสน่ห์อันดึงดูด เป็นเสมือนเครื่องฉายภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์และปากท้องอย่างชัดแจ้งตามความเป็นจริง 

จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ

ข้าวก้นบาตรจากวัดอ่องเจดีย์

บางครั้งการเดินทางตามแผนที่วางไว้ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้เหมือนกัน เช่นวันนี้ จากความตั้งใจแรกที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมชมหอคำเจ้าฟ้า สถานที่สำคัญของเมือง เพียงแค่หน้าประตูก็ต้องปรับแผนกะทันหัน เพราะคำว่า Close for Today ก่อนลาจากจึงถือโอกาสถ่ายภาพกับหน้าประตู เพื่อรำลึกถึงเรื่องราวของเจ้าฟ้าจ่าแสง รวมถึงเจ้าฟ้าองค์อื่นๆ ของรัฐฉาน 

ไหนๆ แผนการก็ล่มแล้ว การท่องเที่ยวของวันนี้จึงเป็นแบบฟรีสไตล์ แวะเข้าวัดวาอารามที่มีอยู่มากมาย ชมสถาปัตยกรรมเพื่อปลอบประโลมใจ ‘วัดอ่องเจดีย์’ อยู่ไม่ไกลจากหอคำเจ้าฟ้า ตั้งอยู่บนเนิน เจดีย์สีทอง จึงตระหง่านแลเห็นมาแต่ไกล บรรยากาศในวัดช่วง 11.00 น. คึกคักด้วยผู้คน ส่วนใหญ่เป็นสีกาสูงวัยที่ต่างนุ่งขาวห่มขาวมาถวายอาหารเพลแด่พระสงฆ์และสามเณร ฉันจึงถือโอกาสนี้เข้าไปนมัสการพระสงฆ์ในศาลาการเปรียญ

เมื่อกราบไหว้เรียบร้อยแล้ว ไม่รู้ด้วยท่าทางแบบไทยหรือหน้าตาส่อภาษา แต่ก็ทำให้หลวงพี่ท่านหนึ่งที่นั่งเคี้ยวหมากอยู่เอ่ยถามเป็นภาษาไทยขึ้นว่า 

“นี่มาจากเมืองไทยรึ ไปเที่ยวไหนมาบ้างแล้วที่สีป่อ” 

แม้สำเนียงจะไม่ใช่อย่างไทยแท้ แต่ก็มั่นใจได้ว่าหลวงพี่รูปนี้พูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำทีเดียว อารามตกใจเมื่อได้ยินภาษาคุ้นหูในต่างถิ่นทำให้ฉันเบิกตาโต ยกมือขึ้นไหว้อย่างอัตโนมัติ พร้อมพูดว่า

“ใช่ค่ะ ไปหอคำเจ้าฟ้ามาแต่ไม่เปิด หลวงพี่พูดภาษาไทยคล่องจังเลยนะคะ”

ไม่น่าเชื่อว่า หลวงพี่อินตะการ์ จะเคยมาใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยกว่า 10 ปี ในฐานะพนักงานของโรงงานสับปะรดแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลวงพี่พูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว พร้อมเล่าความประทับใจเมื่อครั้งทำงานในโรงงานให้ฟังว่า 

“ตอนอยู่โรงงานที่ประจวบฯ ไปแบบถูกกฎหมายนะ ได้ไปกรุงเทพฯ ด้วย โอ้โห ที่นั่นเมืองใหญ่ เจริญมาก แต่รถเยอะ หัดพูดภาษาไทยก็จากเพื่อนๆ คนไทยในโรงงาน สมัยนั้นไปทำงานที่เมืองไทยกันเยอะ มีเจ้านายพาไป พอกลับมาที่บ้านก็บวชจนตอนนี้ ฉันชอบเมืองไทย คนใจดี ของกินเยอะ อร่อยด้วย เดี๋ยวลองกินอาหารที่นี่ดูว่าอร่อยเหมือนที่ประเทศไทยมั้ย” 

วันนี้หลวงพี่เมตตาคนไทยที่ไปเที่ยวเมืองสีป่อ เอ่ยปากเชื้อเชิญให้กินอาหารร่วมกัน ฉันยกมือไหว้แทนคำขอบคุณในน้ำใจ และคิดอิจฉาลิ้นตนเองที่ได้ลาภปากชิมรสอาหารไทยใหญ่ขนานแท้จากฝีมือคนพื้นถิ่น ซึ่งจัดหามาถวายพระด้วยอานิสงส์แห่งศรัทธาในศาสนาพุทธ

จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ

อาหารจำนวนมากถูกนำมาจัดวางเต็มโต๊ะ อุดมสมบูรณ์แบบที่หากินไม่ได้จากร้านอาหารในเมือง สำหรับมื้อนี้มีผัดผักทั้งจืดและเผ็ด ความเผ็ดของรสอาหารมีไม่มากเท่าอาหารไทย แต่ก็ตัดเลี่ยนได้เป็นอย่างดี เพราะรสของอาหารทุกชนิดเน้นไปทางรสมัน ส่วนข้าวคล้ายข้าวไร่ คือลักษณะของเมล็ดค่อนข้างอวบ เมื่อเคี้ยวจะมีความหนึบเล็กน้อย 

บรรยากาศของมื้ออาหารในวันที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนต่างวัย ไม่เพียงอร่อยลิ้นและอิ่มท้อง แต่รสชาติของมิตรภาพที่แทรกอยู่ในข้าวทุกคำ และรสอาหารทุกสัมผัส ได้ซึมผ่านสู่จิตใจ จนถ่ายทอดออกมาเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่มีให้แก่กัน 

หลังกินอาหารอิ่ม เหล่าสีกาต่างช่วยกันยกจานอาหารไปล้างทำความสะอาด ฉันจึงตามไปสมทบและช่วยงานจนแล้วเสร็จ ก่อนเข้าไปกราบลาหลวงพี่และได้รับขนมกับน้ำผลไม้ติดมือมาเป็นเสบียง การได้รับอาหารเช่นนี้นับว่าวิเศษมาก เพราะเมืองสีป่อไม่ว่าจะมีเงินมากมายเพียงใด ก็ใช่ว่าจะหาซื้ออาหารได้ง่ายดาย เพราะร้านขายขนมและอาหารนั้นหายากเสียเหลือเกิน 

“พรุ่งนี้ถ้าไม่ได้ไปไหน ตอนเพลก็แวะมาที่วัดอีกนะ มากินอาหารที่นี่อีกสักมื้อ” คำทิ้งท้ายจากหลวงพี่

ฉันยิ้มรับพร้อมกล่าวคำขอบคุณอย่างสำรวม แต่ในใจนั้นแสนจะลิงโลด พร้อมให้คำมั่นกับตัวเองว่า ‘โอกาสทองแบบนี้จะพลาดได้อย่างไรเล่า’ และนี่ก็ทำให้ก่อนเวลา 11 โมงตรงของวันรุ่งขึ้นฉันมาที่วัดอ่องเจดีย์อีกครั้ง

ณ ริมน้ำดุทวดี

จากนิยายสิ้นแสงฉาน สัมผัสวิถีสีป่อแห่งเมียนมา เดินตลาด กินข้าวก้นบาตร ปิกนิกริมน้ำ

แม่น้ำดุทวดีอยู่ไม่ไกลจากเกสต์เฮาส์ที่พักมากนัก อย่างน้อยก็ในระยะทางที่เดินได้สบาย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดร่มลมตกเช่นตอนนี้ สีป่อเป็นเมืองเล็กๆ ค่อนข้างเงียบเหงาเร็ว ร้านรวงต่างๆ ทยอยปิดตั้งแต่ยังไม่ถึง 5 โมงเย็น แต่ช่วงเวลานี้กลับทำให้สีป่อทรงเสน่ห์ในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นเป็นเพราะลูกจ้างแรงงานที่ต่างกำลังเดินทางกลับบ้าน บ้างขึ้นรถ บ้างเดิน ต่างโบกมือโบกไม้ให้กัน เหมือนเป็นสัญญาว่าพรุ่งนี้เราจะมาพบกันอีกครั้ง ฉันชอบมองและเดินเคียงข้างไปกับพวกเขาเหล่านั้นจนถึงทางแยกจึงเลี้ยวออกมาบนถนนที่นำไปสู่ริมน้ำดุทวดี หวังนั่งรับลมเย็นๆ มองสายน้ำไหล

บริเวณรอบๆ สันเขื่อนริมน้ำเต็มไปด้วยผู้คน เด็กชายชาวเมียนมารวมกลุ่มกันมาอาบน้ำยามเย็น เสียงหัวเราะครื้นเครงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ไม่ไกลกันมีหญิงวัยกลางคนนำเสื้อผ้าและผงซักฟอกมาซักล้างทำความสะอาด เธอมีสมาธิง่วนอยู่กับงานที่กำลังทำ แต่เมื่อมองขึ้นมาสบสายตากันก็กลับยิ้มให้อย่างใจดี ใจหนึ่งก็อยากจะลงไปพูดคุยกับเธอ แต่อีกใจก็ยั้งไว้ เพื่อให้พื้นที่แก่สายตาได้สังเกตชีวิตอื่นๆ ริมน้ำแห่งนี้

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

ไกลออกไปทางฟากเดียวกัน บ้านเรือนจำนวนไม่น้อยปลูกสร้างกระจายอยู่ทั่วไป ราวตากผ้าทำจากไม้แบบง่ายๆ ตั้งอยู่ริมตลิ่ง เสื้อผ้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกนำมาตากรอแสงแดด ทำให้แห้งสำหรับพร้อมนำไปสวมใส่ ผู้คนมากมายทั้งชายหญิงออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันริมฝั่ง กลุ่มผู้หญิงนุ่งกระโจมอกมาอาบน้ำ กลุ่มผู้ชายจับกลุ่มพูดคุย เด็กๆ ต่างวิ่งเล่น ในขณะที่บางคนกำลังนำเรือขนาดเล็กเข้าจอดเทียบท่าก่อนกลับบ้าน กิจกรรมยามเย็นของชาวสีป่อ ณ ริมฝั่งน้ำดุทวดี สะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทได้เป็นอย่างดี และภาพชีวิตเหล่านี้ทำให้รู้สึกคิดถึงบ้าน

ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศโดยรอบ หนูน้อยวัย 2 ขวบผมสั้น สวมชุดกระโปรงสีฟ้า ปะทานาคาไว้บนหน้า ใส่รองเท้าแตะเอกลักษณ์อย่างเมียนมา วิ่งเข้ามาทักทายโดยมีแม่คอยเดินตามอยู่ด้านหลัง เรา 3 คนต่างภาษาแต่ว่าแสดงออกถึงความพร้อมที่จะพูดคุยกัน คุณแม่ยังสาวจึงเชื้อเชิญให้ฉันไปนั่งตรงเสื่อที่ปูอยู่ริมเขื่อน 

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

ปิกนิกเล็กๆ ของสองแม่ลูกมีทั้งขนมและของเล่น จากการสนทนาภาษาอังกฤษปนเมียนมาเจือไทย ทำให้ได้ความว่า ทุกเย็นเธอจะพาลูกมาวิ่งเล่นบริเวณนี้ เพราะว่าอากาศเย็น เห็นเรือแล่นไปมาในน้ำ และนอกจากนี้ ยังมีเด็กๆ มาวิ่งเล่นให้ลูกสาวตัวน้อยของเธอได้ทักทายและพูดคุยเช่นที่เกิดกับฉันอยู่ตอนนี้ ความเย็นเริ่มก่อตัวเป็นสัญญาณว่าฉันควรกลับที่พัก 

ก่อนโบกมือร่ำลา กลุ่มเด็กชายเดินลงมาจากบ้านหลังใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงจากสันเขื่อนเข้ามาทักทาย มีบางคนพอพูดภาษาไทยได้ พวกเราจึงร่วมสนทนากันจนรู้ว่า ที่พวกเขามารวมตัวกันอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่นั้นก็เพื่อมาเรียนพิเศษ ทุกคนมีความฝันจากบ้านเพื่อมาเก็บความรู้เอาไปใช้ศึกษาต่อ หลายคนอยากไปเรียนที่ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ แต่มีคนหนึ่งในกลุ่มอยากมาเมืองไทย เพราะคิดถึงพี่สาวที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ พร้อมโชว์รูปพี่สาวและเล่าให้ฟังว่า พี่สาวเป็นคนใจดีและส่งเงินมาให้ที่บ้านใช้ไม่ขาดมือ และเขาดีใจมากที่พี่สาวได้ทำงานแต่งตัวสวยๆ อยู่เมืองไทย 

ก่อนแยกย้าย เขาพูดทิ้งท้ายว่าถ้าเจอพี่สาว ฝากบอกด้วยนะว่า “ผมและพ่อแม่คิดถึงเขามาก”

มูซาเอ้ หนูน้อยคนเก่ง

แม้ในเดือนมีนาคม อากาศที่สีป่อจะยังเย็นสบายในตอนเช้าและยามค่ำคืน แต่ตอนกลางวันแสงอาทิตย์แรงกล้าก็ทำให้อยากหาเครื่องดื่มอร่อยๆ ดื่มดับกระหายสร้างความสดชื่น และแน่นอน แหล่งรวบรวมของกินที่มากที่สุดก็หนีไม่พ้นตลาดแห่งเมืองสีป่อ 

ร้านรถเข็นริมทางเตะตาเข้าอย่างจัง เพราะมีคนรุมล้อมอยู่มากมาย นั่งเก้าอี้พลาสติกหลากสีดูดเครื่องดื่มเย็นๆ ฉันลองเข้าไปสอดส่องพบแม่ค้าหน้าตาใจดียิ้มต้อนรับ เท่าที่สังเกตร้านนี้มีเครื่องดื่มยอดนิยม 2 ชนิด วิธีการปรุงก็แสนเรียบง่าย เพียงนำน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ (เหมือนน้ำแข็งกั๊กสมัยก่อนของชนบทในประเทศไทย) ใส่เข้าไปในถุงไนลอน จากนั้นจึงใช้ไม้ทุบให้แตกเป็นก้อนขนาดเล็ก นำไปใส่ในแก้วที่ผสมนมสดกับน้ำสตรอว์เบอร์รี่และนมข้นคนให้เข้ากัน จากนั้นเติมผลสตรอว์เบอร์รี่เชื่อม บีบน้ำมะนาวสดและโรยมะพร้าวอ่อนไว้ด้านบน ส่วนอีกชนิดใส่แป้งเส้นยาวสีเขียว (ลักษณะคล้ายลอดช่องสิงคโปร์) เติมน้ำกะทิและน้ำแข็งลงไป โรยด้านบนด้วยขนมปังชิ้นเล็กๆ และมะพร้าวอ่อน

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

หลังจากรอจนได้คิวก็มีหนูน้อยน่ารักเหมือนมารูโกะจัง การ์ตูนยอดฮิตยุค 90 เดินเข้ามาถามเพื่อรับออเดอร์ ฉันสั่งมาลองทั้ง 2 แบบ เมื่อลองลิ้มก็รู้สึกว่าอร่อยแบบแตกต่าง จนเลือกยากว่าควรเทใจไปทางไหน ชนิดแรกก็รสชาติเปรี้ยวหวานคล้ายโยเกิร์ตรสสตรอว์เบอร์รี่ กินแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น ส่วนอีกชนิดเหมือนกินลอดช่องสิงคโปร์ลาดน้ำกะทิ ท็อปด้วยมะพร้าวอ่อนรสชาติหอมหวานละมุน กว่าจะรู้ตัวก็กินไปจนหมดทั้ง 2 แก้ว ฟังดูอาจรู้สึกว่าเครื่องดื่มนี้แสนธรรมดา แต่สำหรับในสีป่อแล้ว เครื่องดื่มนี้พิเศษมาก เพราะหาร้านแบบนี้ไม่ได้เลย 

หนูน้อยคนเดิมเดินมาเก็บเงินจากลูกค้าในร้านด้วยท่าทางคล่องแคล่ว ฉันจึงลองชวนเธอสนทนาจนทราบว่า เธอชื่อมูซาเอ้ อายุ 6 ปี พูดภาษาอังกฤษตอบโต้ได้อย่างดีมาก เมื่อลูกค้าเริ่มซาจึงถือโอกาสคุยกับผู้เป็นแม่ ที่ชื่นชมลูกสาวอยู่ตลอดเวลา เพราะมูซาเอ้จะมาช่วยแม่ทำงานทุกวันหยุดเรียน คอยดูแลลูกค้า เก็บเงิน เก็บแก้วพร้อมทั้งล้างทำความสะอาด เมื่อได้ฟังคงทำอะไรไม่ได้นอกจากยกนิ้วโป้งด้วยความชื่นชมว่า “เธอช่างเก่งจริงๆ แม่หนูน้อยมูซาเอ้”  

สุดยอดพาหนะ มิตรภาพจากใจพี่ประเสริฐ

บนถนนในสีป่อมีเรื่องราวน่าประทับใจเกี่ยวกับผู้คนแตกต่างกันออกไป เช่นถนนสายนี้อันเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนเรียงรายลักษณะคล้ายอาคารพานิชย์ 2 ชั้น ฉันเดินไปเรื่อยๆ จนพบร้านขายทองรูปพรรณจึงลองเข้าไปชื่นชม ต่างหู สร้อยคอ สร้อยแขน แหวน กำไล วางขายในตู้กระจกโครงไม้ และด้วยความนิยม มีชาวเมียนมาจำนวนมากกำลังเลือกซื้อหาทองคำเหล่านี้ 

ไม่นานนักเจ้าของร้านเดินเข้ามาทักทายด้วยภาษาไทย พร้อมแนะนำว่าชื่อ ประเสริฐ และเอ่ยปากเชื้อเชิญให้เข้าไปดูวิธีการทำ ภายในร้านพบโต๊ะพร้อมอุปกรณ์สำหรับทำทองวางอยู่ เหล่าช่างทั้งหลายทำหน้าที่อย่างตั้งใจ มีทั้งกำลังขึ้นรูปทอง เกลากลึงให้เรียบร้อย ในขณะที่บางคนกำลังสร้างลวดลายให้เกิดขึ้น ผลงานทุกชิ้นล้วนมีความสวยงามและรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ 

กลิ่นหอมของชาโชยมาตามลม พร้อมเสียงเรียกให้ไปนั่งดื่มร่วมกันที่โต๊ะไม้หน้าร้าน การสนทนาเริ่มต้นจากการแนะนำตัวเอง ก่อนเล่าเรื่องสถานที่เที่ยวต่างๆ ที่ไปมาบ้างแล้วในสีป่อ ระหว่างนั้นขนมหวานหน้าตาคล้ายข้าวซอยตัดทางภาคเหนือของไทยก็ถูกยกมาวางตรงหน้า เมื่อได้ลองชิม พบว่ารสชาติคล้ายคลึงกันต่าง เพียงแต่ขนมที่นี่มีสีขาวนวล การกินขนมหวานเสมือนการเปลี่ยนฝั่งแลกเปลี่ยนเรื่องราวของอีกฝ่าย และพี่ประเสริฐได้เริ่มเล่าถึงเมืองไทยว่า

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

“ทุกๆ ปีพี่และครอบครัวจะไปเที่ยวเมืองไทยเป็นประจำ เพราะชอบเมืองไทยที่มีข้าวของให้ซื้อหาจำนวนมาก แล้วของกินก็มากมาย ขายกันทั้งวันทั้งคืน ส่วนใหญ่เวลาไปก็จะเที่ยวในกรุงเทพฯ เพราะลูกและภรรยาชอบซื้อเสื้อผ้าและขนมกลับมา และอีกสาเหตุหลักสำคัญที่ต้องไปที่นั่น เป็นเพราะว่าต้องไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือบางปีถ้ามีอาการเจ็บป่วยก็จะบินไปรักษา ต้องยอมรับเลยว่าหมอและโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ดีมาก” 

สำหรับฉัน ข้อมูลที่ได้รับสร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก แต่ที่ทำให้ตื่นเต้นยิ่งกว่าคือ การที่พี่ประเสริฐเอื้อเฟื้อให้หยิบยืมมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้ท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ในเมืองสีป่อโดยไม่คิดมูลค่า จึงถือเป็นสุดยอดพาหนะจากน้ำใจชาวพื้นถิ่น ก่อนออกเดินทาง พี่ประเสริฐช่วยเช็กปริมาณน้ำมันและบอกเทคนิคเล็กน้อยในการขับขี่ เมื่อกุญแจอยู่ในมือ สภาพรถก็พร้อมแล้ว คงไม่ต้องรออะไร ติดเครื่องสตาร์ทรถเดินหน้าตะลุยสีป่อให้ไกลออกไปกว่าเท้าเดินและแรงถีบจากจักรยานจะพาไปถึง

เที่ยวบ้านฉาน

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

เมื่อแรงทะยานมีมากเท่าแรงรถ วันนี้จึงเป็นวันแห่งการตะลุยให้ทั่วสีป่อ เริ่มต้นฉลองมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยการขี่ขึ้นเขา แม้ระยะทางค่อนข้างยากลำบาก และต้องคอยลุ้นกับเส้นทางคดเคี้ยว แต่ในที่สุดก็มาถึง บนเนินเขาแห่งนี้มีวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ ฉันลองเดินโดยรอบไม่พบพระสงฆ์ แต่พบหนุ่มสาวคู่หนึ่งนั่งพูดคุยกันอย่างกระหนุงกระหนิงบนแคร่ไม้ ฉันจึงเดินต่อไปเพื่อเก็บภาพถ่ายจากมุมสูง ยามมองลงมา พบว่าสีป่อเป็นเมืองที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้ สายน้ำ และบ้านเรือนที่ปลูกสร้างเกาะกลุ่มกัน ถัดออกมาจึงเป็นแหล่งปลูกพืชผักและสตรอว์เบอร์รี่ 

อยู่รับลมเย็นจนหนำใจก็คว้ามอเตอร์ไซค์ขี่ลงมา ท่องไปเรื่อยๆ จนมาต้องใจกับควายน้อยที่เล็มหญ้าอยู่หน้าเรือน เคียงข้างมาด้วยกลุ่มหญิงชาวไร่แบกจอบ ถือกระติกน้ำเดินมุ่งหน้าเข้าไปยังบ้านหลังหนึ่ง ฉันขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปอย่างช้าๆ และจอดรถลองเข้าไปพูดคุยได้ความแบบคร่าวๆ ว่า พวกเขากำลังมุ่งหน้าเข้าไร่ 

หญิงชาวไร่เดินแถวเรียงหนึ่งโดยมีฉันรั้งท้าย เมื่อถึงแปลงข้าวโพด ทุกคนพร้อมใจใช้จอบถางหญ้า ฉันเองก็คอยเก็บเศษหญ้าอยู่ข้างๆ คอยส่งยิ้มให้กันเป็นระยะ บรรยากาศการทำไร่ร่วมกับเพื่อนต่างแดนถึงแม้จะร้อนและเหนื่อย แต่นับว่าเป็นกิจกรรมสร้างมิตรภาพ ละลายเส้นแบ่งระหว่างเราและเขาให้เลือนหายไปได้ไม่มากก็น้อย

ตะวันคล้อยต่ำเป็นสัญญาณให้รู้ว่าเวลาอาหารเย็นมาถึงแล้ว หญิงชาวไร่ทำท่าทางให้ฉันหยุดทำงาน และเดินร่วมกันกลับไปยังบ้านหลังเดิม ปิ่นโตอาหารถูกเปิดออกฉันจึงลากลับ เพราะคิดว่าถึงเวลาที่มอเตอร์ไซค์จะได้กลับคืนสู่มือเจ้าของแล้ว 

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

นั่งรถไฟไปปยินอูลวิน (Pyin Oo Lwin)

สถานีรถไฟสีป่อยามเช้าเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งคนพื้นถิ่นและนักท่องเที่ยวหลากชาติ หลายภาษา ที่ต่างมารอขึ้นรถไฟไปยังเมืองต่างๆ โดยมีมัณฑะเลย์เป็นสถานีปลายทาง แต่สำหรับฉัน เป้าหมายอยู่ที่เมืองรถม้าหรือปยินอูลวิน 

รถไฟค่อยๆ เคลื่อนขบวนออกจากสีป่ออย่างช้าๆ ที่นั่งริมหน้าต่างยังคงเป็นของฉัน ทิวทัศน์ข้างทาง บ้านเรือนที่คุ้นตา เด็กน้อยริมทางนั่งโบกมือให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ จนเข้าสู่เขตเทือกเขา สีป่อค่อยๆ ห่างออกไปมากขึ้น ผิดกับความรู้สึกที่ยังคงชิดใกล้ด้วยความคิดถึงเหมือนเช่นทุกวันนี้ 

หลายๆ ครั้งเมื่อพูดว่า “คิดถึงสีป่อ” คำพูดที่ถ่ายทอดออกมาไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่ แต่คือความรู้สึกที่แฝงฝังถึงผู้คนที่นั่น ทั้งข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ ที่ยังคงหวังให้สีป่อและผู้คนที่นั่นสุขสบายดี

หญิงสาวริมหน้าต่างฝากคิดถึงสีป่อ (Hsipaw) เมียนมา ข้าวก้นบาตร รอยยิ้ม และสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของคนใจดี

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

โสภา ศรีสำราญ

โสภา ศรีสำราญ

ลูกหลานลาวครั่งที่พันพัวอยู่กับวงการอาหารและงานเขียนหลากแนว ชื่นชอบงานศิลปะ วัฒนธรรม รักการท่องเที่ยวและการตีสนิทกับผู้คนในทุกที่ที่ไปเยือน