25 ธันวาคม 2019
26 K

หากหมุนเข็มนาฬิกาถอยหลังไป 100 ปี วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมาจะไม่ใช่เพียงวันใดวันหนึ่ง แต่เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจดจำว่าได้ทรงสูญเสียบุคคลที่พระองค์ทรงเรียกว่าเป็น ‘พี่’ และนับว่าเป็น ‘กัลญาณมิตร’ “ผู้มีความรักและภักดีหาที่เปรียบได้โดยยาก” ดังที่พระองค์ทรงว่าไว้ในพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาทเสือป่า

พระรูปปั้นเหมือนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี
พระรูปปั้นเหมือนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี

บุคคลที่ว่าไม่ใช่เป็นเพียงใครคนหนึ่ง แต่เป็นฟันเฟืองสำคัญของงานราชการในราชสำนักสยามตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนรัชกาลที่ 6 ผู้ไม่เคยอยู่เบื้องหน้ายามสยามพลิกหน้าประวัติศาสตร์ประเทศ แต่ทุ่มทั้งพระชนม์ชีพทรงงานเบื้องหลังให้สยามประเทศพลิกผ่านหลายเหตุการณ์สำคัญ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี 1 ใน 4 พระราชโอรสพระองค์โตและพระราชโอรสรุ่นแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปเรียนต่างประเทศ และเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสในพระองค์รัชกาลที่ 5 

พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม

ทั้งทรงเป็นราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และเลขานุการคณะรีเยนต์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน องคมนตรี และราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุลประวิตร และเสด็จทวดที่ คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด ไม่เคยได้เห็นหน้าค่าตาหรือแม้กระทั่งทันฟังเรื่องราวของพระองค์ยามเมื่อเป็นเด็กชาย หลานของท่านตา หม่อมเจ้าจิตร์ปรีดี ประวิตร พระโอรสพระองค์ที่ 2 ของพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดมที่เกิดแต่หม่อมชื้น ประวิตร ณ อยุธยา

รัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระรูปกับพระทายาทสายสกุลกัลยาณมิตร

ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา หลังพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดมสิ้นพระชนม์ นอกจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีพันธกิจอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุของไทย น้อยนักที่จะมีใครบอกเล่าให้เรารู้จักหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ทรงนำองค์ความรู้ที่ทรงร่ำเรียนจากชาติตะวันตกมาปรับใช้พัฒนาสยามประเทศได้

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

คุณสรวิชเองก็ตระหนักถึงข้อนี้ อดีตนักเรียนอังกฤษผู้สนใจประวัติศาสตร์นานาชาติเพราะความสนุกในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ในฐานะเหลน จึงเริ่มตามหาเอกสารโบราณตามร่องรอยพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และสะสมไว้กว่าร้อยชิ้น แล้วบันทึกความรักเป็นหนังสือ รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด หนังสือที่รวมเอกสารชิ้นหายากที่เกินจะคิดว่าชีวิตนี้จะได้เห็น และถ่ายทอดความระลึกถึงเป็นตัวหนังสือที่เล่าเรื่องเสด็จทวดอย่างที่เสิร์ชเอนจิ้นไหนก็ให้คำตอบไม่ได้

เปิดเอกสารโบราณร้อยปีคุยกับ สรวิช ภิรมย์ภักดี เรื่องทวด 1 ใน 4 โอรส ร.5 รุ่นแรกที่ไปเรียนยุโรป
เปิดเอกสารโบราณร้อยปีคุยกับ สรวิช ภิรมย์ภักดี เรื่องทวด 1 ใน 4 โอรส ร.5 รุ่นแรกที่ไปเรียนยุโรป

หาที่ยึดให้มั่น เราจะพาคุณไปคุยกับคุณสรวิช ภิรมย์ภักดี หนึ่งในทายาทราชสกุลประวิตร เพื่อนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ทำความรู้จักต้นราชสกุลประวิตรผู้ไม่เคยถูกสถาปนาว่าเป็นบิดาแห่งสถาบันไหน แต่เป็นบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยความเรียบง่ายและคุณงามความดีที่ไม่ควรถูกลืม

รูป-ร่าง

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มหนานี้คือรูปรูปเดียว พระรูปของจริงของเสด็จทวดที่แม้กระทั่งทายาทราชสกุลประวิตรก็เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรก ซึ่งคุณสรวิชได้รับจาก คุณอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจํากระทรวง เพื่อนร่วมงานสมัยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ ของสะสมชิ้นแรกทำให้คุณสรวิชคิดตั้งแต่วันนั้นว่า เขาจะต้องทำหนังสือให้ได้

“สิ่งที่ดีใจที่สุดที่ได้มาอันแรกเลยคือพระรูปของจริง เพราะนอกนั้นก็เป็นรูปพิมพ์ใหม่ ที่เขียนเหมือนกันว่าพิมพ์จากฟิล์มกระจกเดิมก็จริง แต่ว่าเป็นของสมัยใหม่ และพอได้เอกสารเก่ามา ได้เห็นลายพระอภิไธย ลายพระหัตถ์ ของรัชกาลที่ห้ารัชกาลที่หกแล้วคือหนาวเลย คิดเลยว่าต้องทำหนังสือ”

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

“ของชิ้นไหนหรือว่าเอกสารฉบับไหนที่ค้นพบแล้วทำให้คุณรู้จักเสด็จทวดมากที่สุด” เราสงสัยถึงสายสัมพันธ์ระหว่างทวดกับเหลนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่ในอีกฟากหนึ่งของเวลา ทายาทรุ่นเหลนคนนี้กำลังทำความรู้จักคุณทวดผ่านกระดาษโบราณแผ่นแล้วแผ่นเล่า

ใบพระราชทานพระนามพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม

“ชิ้นเดียวนี่ไม่มี เพราะว่ามันต่อกันเหมือนจิ๊กซอว์จนกลายเป็นสามมิติขึ้นมาว่าพระองค์ทรงเป็นคนยังไง” คุณสรวิชตอบทันที

แล้วพระองค์ทรงเป็นคนยังไง เราเชื่อว่าใครหลายคนคงสงสัยเช่นกัน

“ในฐานะเหลน ทราบอยู่แล้วว่าเราไม่เคยเจอกัน (หัวเราะ) เรื่องราวของท่านผมคิดว่าไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่มีใครเล่าเรื่องของท่านเลย ผมก็เลยต้องไปค้นคว้าเองว่าท่านเป็นยังไง เท่าที่อ่านเอกสารหลายฉบับ ท่านดูจะเป็นคนเงียบๆ ทำงานอย่างเดียวจริงๆ ตื่นเช้าขึ้นมา ไปทำงาน ทำงานเต็มวันแล้วก็กลับบ้าน พอกลับมาถึงปุ๊บถ้าเกิดมีงานอะไรท่านก็วิ่งกลับไปอีก เรื่องงานรู้สึกว่ามาเป็นที่หนึ่ง

งานแปลเอกสารเกี่ยวกับกล้องบันทึกภาพของเยอรมนี

“ท่านจะค่อยๆ ทำงาน แต่ว่าละเอียดครับ เป็นคนที่ทำของท่านไปเรื่อยๆ แต่ทำเสร็จ ทำงานหลังฉากทั้งหมดเลย งานที่ไม่มีใครนึกถึงมาก แต่ถ้าเกิดขาดงานตรงนี้ทุกอย่างก็จะไม่เดิน ท่านเป็นตัวต่อ และท่านก็เป็นนักภาษาศาสตร์ รวมถึงเป็นนักโซเชียล ชอบเข้าสังคม รู้จักเจ้านายในราชวงศ์ต่างประเทศหลายพระองค์ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของลูกรัชกาลที่ห้า และเป็นคนที่รักครอบครัว อันนี้ลูกๆ เขาเขียนถึงว่าตอนเด็กๆ ได้ของอะไรจากพ่อบ้าง”

ไกลบ้าน

แล้วเป็นลูกกษัตริย์ต้องทำอะไรบ้าง… 

ด้วยยุคนั้นเป็นยุคที่สยามจำเป็นต้องพัฒนาประเทศให้เท่าทันประเทศยุโรป แน่นอนว่าการศึกษาจึงเป็นคำตอบ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้คนที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาช่วยงานได้โดยเร็ว จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยส่งพระราชโอรส 4 พระองค์โต คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และ พระองค์เจ้าจิรประวัตรวรเดช ไปเรียนหนังสือยังยุโรป

พระวรกายที่เล็กกว่านักศึกษาชาวอังกฤษ

โดยมีพระราชประสงค์แต่จะให้ได้วิชาความรู้ ไม่ทรงมุ่งหมายให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียง วิชาชั้นต้นที่จำเป็นต้องเรียนให้ได้รู้จริงก็ต้องเป็นภาษา วิชาเลข เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้เขียนหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย และเรียนเลขให้คิดใช้ได้ในการต่างๆ

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

“ลูกสี่คนเกิดใกล้กัน แต่คนละแม่ พออายุไล่เลี่ยกันก็ไปด้วยกันเลย โตด้วยกันในวัง เริ่มเรียนพื้นฐานโรงเรียนในวังด้วยกัน แล้วในที่สุดก็ออกมาเรียนที่โรงเรียนข้างนอกกับครู ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน ครูหนึ่งในนั้นก็คือเจ้าพระยายมราช จากนั้นก็บวช ชีวิตไปด้วยกันทั้งสี่คน

“จนมาถึงพระราชพิธีโสกันต์ที่เหลือสาม เอกสารทุกที่บอกว่ามีแค่สามพระองค์ ไม่มีพระองค์เจ้าประวิตรฯ เหลือสามเพราะอะไร ก็เพิ่งทราบเองว่าจะทำพิธีได้ต้องอายุเลขคี่ น้อยสุดคือเก้าขวบ โตสุดคือสิบสาม ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ ก็จะเป็นเก้า สิบเอ็ด สิบสาม เท่านั้นที่ทำพระราชพิธีได้

“ตอนที่ทำนี่องค์โตสองพระองค์อายุสิบเอ็ดแล้ว องค์เล็กสุด พระองค์เจ้าจิรประวัติฯ อายุเก้าพรรษา พระองค์เจ้าประวิตรฯ อายุสิบพรรษา จึงมีรูปแค่สามพระองค์ในพิธีนั้น แล้วพระองค์เจ้าประวิตรฯ นี่มาทำพิธีอีกปีหนึ่งตอนอายุสิบเอ็ดพรรษา มาเจอเอกสารทีหลัง กว่าจะหาเจอก็เหนื่อย แต่รูปยังไม่ได้นะ ต้องมี แค่ผมยังไม่เจอ”

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

พระราชโอรส 4 พระองค์นี้เป็นรุ่นแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไปเรียนยุโรป การเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะไปเรียนต่อ น่าจะเป็นเป็นเรื่องใหญ่ของยุคสมัยนั้นไม่น้อย

คุณสรวิชเล่าว่า ตอนเสด็จ บันทึกประจำวันของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้อธิบายทุกอย่าง เพราะพระองค์ทรงบันทึกว่า เป็นเรื่องลำบากมาก สมัยก่อนต้องลงเรือออกแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่สิงคโปร์ เพราะตอนนั้นสิงคโปร์เป็นจุดหลักในการเปลี่ยนเรือ

“ตอนที่สี่พระองค์นี้เสด็จก็ประทับเรือพระที่นั่งไปจากวังหลวงออกไปที่อ่าวไทย พอถึงอ่าวไทยก็เปลี่ยนไปลงเรือยนต์ที่วิ่งไป-กลับกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ แล้วนั่งเรือจากสิงคโปร์ผ่านศรีลังกา อินเดีย อ้อมขึ้นไปทางอียิปต์เข้าคลองสุเอซ ไปออกเมดิเตอร์เรเนียน ใช้เวลาเป็นเดือน

รูปหมู่ที่อังกฤษ ถ่ายที่กรุงลอนดอน

“พอเข้ายุโรปแล้วก็หยุดที่อิตาลี พักที่ฝรั่งเศสนิดหนึ่ง เพราะว่ามีสถานทูตของเราอยู่ที่นั่น จากนั้นจึงจะข้ามไปอังกฤษ พอข้ามไปอังกฤษแล้วไม่ใช่ว่าเข้าโรงเรียนได้เลย เพราะว่าภาษาก็ยังไม่ได้ แล้วต้องมีคนตามเสด็จไปหลายคนด้วย เพื่อที่จะไปดูแล หนึ่งในนั้นก็คือเจ้าพระยายมราช เพื่อไปสอนภาษาไทย”

“สอนภาษาไทย” ไม่ใช่ไปเมืองนอกแล้วต้องเรียนภาษาต่างประเทศเหรอ-เราคิด

“ใช่ ต้องมีครูภาษาไทยไปด้วย ไม่ให้ลืมภาษาของตัวเอง ระหว่างอยู่อังกฤษก็เรียนภาษาไทย รวมทั้งภาษาและวิชาของอังกฤษด้วยในเวลาเดียวกัน” คุณสรวิชตอบ 

“ที่นั่นทั้งสี่พระองค์ประทับที่บ้านพักหลังหนึ่ง มีครูมาสอนตั้งแต่เช้ายันเย็นเพื่อให้เข้าระบบอังกฤษ พูดง่ายๆ พอเข้าระบบอังกฤษแล้วก็ดูอายุ ถึงจะดูว่าจะสอบเข้าโรงเรียนไหนได้ จะสอบหรือไม่สอบ แล้วแต่ว่าจะไปทางไหน เพราะครูก็จะเป็นคนบอกอีกว่าแต่ละพระองค์เหมาะกับสายไหน พาไปดูทุกอย่างที่ควรจะต้องดู แม้กระทั่งเรื่องการเมืองการปกครอง แล้วให้นำของพวกนั้นกลับมาพัฒนาประเทศ สมัยรัชกาลที่ห้าถึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุด มีอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นตามแบบโลกพัฒนาแล้ว

ร.6 และคณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส

“รัชกาลที่ห้ามีพระราชประสงค์หาคนมาทำงานด้านไหน ก็จะทรงดูว่าคนไหนเหมาะสมกับงานไหนมากที่สุด ไม่ใช่แค่ลูกนะฮะ สมัยก่อนมีข้าราชบริพาร ลูกของข้าราชบริพารก็ส่งไปด้วย มีการเขียนรายงานว่าคนไหนเหมาะด้านไหน ทรงส่งคนใกล้ตัวทั้งหมดไปเปิดโลก พูดง่ายๆ

“และพอเรียนแล้วไม่จำเป็นต้องจบ เรียนไปเรียนมาทรงตรัสว่าพอแล้ว ใช้เงินหลวงเยอะไปแล้ว ถึงเวลากลับมาทำงานได้แล้ว ไอ้ปริญญาบัตรอะไรพระองค์ไม่ได้สนพระราชหฤทัย นี่ยุคแรกนะฮะ ยุคที่สองหลังจากที่ทุกคนทำงานลงตัวหมดแล้ว พระราชโอรสพระองค์เล็กๆ ก็เริ่มมีปริญญาบัตรทางด้านนั้น เรียนด้านนี้ เข้าโรงเรียนดังๆ แบบอีตัน แฮร์โรว์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ออกซ์ฟอร์ด แต่ว่ารุ่นแรกคือให้ไปเปิดโลกทัศน์”

กลับบ้าน

พระที่นั่งอมรพิมานมณี

วันที่ ๑๕ กันยายน รศก๒๘ ๑๑๔

(พ.ศ. ๒๔๓๘)

ถึง ประวิตร

ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคมนั้นแล้ว รพีได้กลับมาถึงนี่แล้วดูแขงแรงสบายดี เว้นแต่เพราะพ่อต้องการคนใช้เต็มที จึงได้ลงมือทำงานตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ดูเขาทำงานขยันมาก

แต่ถึงทำมากก็เหมือนทำได้น้อย เพราะต้องมาเรียนใหม่ ในการที่เป็นการพัวพันกันยืดยาวมา ต้องมาเรียนคำไทยที่เป็นคำใหม่ๆ มาก แต่ภาษาเก่าไม่ได้ลืมเลย ทำให้พ่อมีใจค่อยแขงแรงขึ้น นึกว่าสักสามเดือนเป็นอย่างช้าคงจะปล่อยมือได้ ปรารบอยู่แต่เรื่องกลัวจะเจ็บไข้ งานที่ทำนั้นตั้งอยู่ในที่นักเรียนราชเลขานุการ พระกิติกรพึ่งได้เข้ารับการเป็นไดเร็กเตอร์ศึกษาธิการในเดือนนี้เหมือนกัน ได้ทราบจากรพีว่า เจ้าบอกว่าจะตามเข้ามาในเร็วๆ นี้ ก็เปนที่พอใจ

ขออย่าให้รออยู่ที่ล่วงกำหนดที่ได้ผัดไว้แต่ก่อน จะได้มาฝึกหัดทำการได้เรวๆ ด้วยการของเรามากขึ้นมากนัก แต่คนไม่ใคร่จะพอใช้เลย มีแต่ตัวคนมากแต่ไม่เอาการ ฤาทำการไม่ได้เป็นพื้น ในหมู่นี้พ่อค่อยห่างเจ็บไข้ ดูดีขึ้น เว้นแต่เมื่อสบายขึ้น การงานก็มากขึ้นเหมือนกัน เราต้องการล่ามฝรั่งเศษเสียจริงๆ ในเวลานี้ ถึงจะมีผู้รู้อยู่บ้างก็พูดไม่ออก หาคนไว้ใจก็ยาก พวกเราถึงว่าเข้าใจตัวหนังสืออยู่บ้าง ก็ฟังพูดไม่ทัน แลโปรเนาวสไม่ใคร่ถูก ทั้งเรื่องที่มันมาพูดนั้น ก็มักนอกลู่นอกทางเป็นพื้นด้วย จึงเป็นการลำบากแลต้องการตัวเจ้านัก ถ้าจะมาเมื่อใดขอให้บอกล่วงน่าสำหรับเรื่องที่อยู่จะได้จัดให้พรักพร้อม

จุฬาลงกรณ์

พระองค์เจ้าประวิตรฯ ทรงมีครูมาถวายการสอนที่บ้านพัก และช่วงหนึ่งเสด็จเข้าเรียนที่ Newington Academy ที่เอดินบะระ สกอตแลนด์ จากนั้นก็เสด็จกลับมาศึกต่อที่ลอนดอน โดยคณะที่ปรึกษาด้านการศึกษาในรัชกาลที่ 5 ต่างเห็นพ้องว่าควรเรียนด้านภาษาเพื่อกลับไปช่วยงานด้านอักษรแด่พระราชบิดา และในช่วงสุดท้ายทรงไปศึกษาภาษาที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่างานมีเยอะกว่าคน เรื่องหนึ่งคือ ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ จึงได้มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าประวิตรฯ เรียกตัวกลับสยาม เพราะทรงเห็นว่าศึกษาพอเพียงแล้ว ไม่ทรงสนเรื่องปริญญาบัตร ขอเพียงมีความรู้ความสามารถพอทำงานพัฒนาประเทศ

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

“รัชกาลที่ห้าจึงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าประวิตรฯ ว่ามีพระราชประสงค์ให้รีบกลับมาเพื่อมาคุยกับพวกฝรั่งเศส เพราะว่าครึ่งหนึ่งพระองค์ไม่เข้าใจ ทูตฝรั่งเศสมาเข้าเฝ้าท่านเนี่ย ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่นั่งคุยกันออกนอกเรื่องหมดเลย และอีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์คือเรื่องที่จริงๆ แล้วรัชกาลที่ห้ามีพระราชประสงค์จะคุย 

“เหมือนเป็นเกมการคุย คนที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาก็จะงง ต้องนั่งเพ่งความสนใจว่าตกลงเขาพูดว่าอะไร คนที่แปลแปลผิดแปลถูกแค่ไหนเราก็ไม่รู้ และพระองค์ก็ไม่ทรงรู้ว่าเขาพยายามจะแอบแฝงเรื่องอะไร เพราะตอนนั้นเราเพิ่งผ่าน รศ. 112 ที่ฝรั่งเศสบุกเข้ามา แล้วความสัมพันธ์ก็ยังไม่ดี ถ้าเกิดเราด้อยกว่าเขาเขาก็จะเอาเปรียบได้ งานหลักของพระองค์เจ้าประวิตรฯ ที่ผมเห็นจึงทั้งเป็นล่าม แปลเอกสาร เขียนหนังสือ ฯลฯ” คุณสรวิชเล่า

รูปหน้าหนังสือพิมพ์ Le Monde ข่าว ร.ศ. 112

Work for Home

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบการปกครองเพียงปีเดียวก่อนที่พระองค์เจ้าประวิตรฯ เสด็จกลับจากยุโรป งานแรกของพระองค์เจ้าประวิตรฯ อยู่ในกรมราชเลขาธิการ และเป็นงานเดียวตลอดพระชนม์ชีพ รวม 23 ปี ภายใต้ 2 รัชกาล ทรงเริ่มต้นจากช่วยทรงพระอักษรให้รัชกาลที่ 5 จนได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นสภานายกกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ ก็เป็นประธานกรรมการหอสมุดแห่งชาติ

พระองค์เจ้าประวิตรฯ ทรงถ่ายรูปบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี

ทั้งยังได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสเมืองบันดุง เมืองโซโล ในชวา และครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายูครั้งที่ 4

พอถึง ร.ศ. 115 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากท่าราชวรดิฐเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พร้อมคณะรีเยนต์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยมีพระองค์เจ้าประวิตรฯ ทรงหน้าที่เลขานุการคณะฯ

คณะรีเยนต์

พระองค์เจ้าประวิตรฯ ถวายงานในกองราชเลขานุการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจนสวรรคต จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็นราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ยังทรงเป็น 1 ใน 2 สมาชิกราชวงศ์ที่ได้เป็นสมาชิกจิตรลดาสโมสร กลุ่มที่รวมบุคคลซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด

ร.6 กับพระองค์เจ้าประวิตรฯ และข้าราชบริพาร

“เหตุการณ์สำคัญไหนของประเทศที่คนไทยควรรู้ว่าพระองค์เจ้าประวิตรฯ อยู่เบื้องหลังบ้าง” เราถาม

“ผมไม่มีหลักฐานว่ามันเป็นเหตุการณ์ไหน แต่เผอิญโชคดีผมเคยอยู่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็เคยอยู่ในส่วนงานเลขาอธิบดีและรัฐมนตรีช่วงหนึ่ง งานทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานนั้นๆ ต้องมาคุยกับเราในฐานะเลขา แล้วเราก็ต้องไปบรีฟทุกอย่างให้นายฟังว่ามันเป็นยังไง ผมจึงได็รู้ว่างานเลขาฯ ค่อนข้างสำคัญมากๆ เพราะว่าคือตัวเชื่อมของงานทุกอย่าง”

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

แล้วบุคคลที่ต้องทรงเป็นตัวเชื่อมในนานางานราชการของราชสำนักสยามในยุคที่เร่งรุดพัฒนาประเทศจะต้องแบกรับขนาดไหน-เราคิดตาม

ตลอดเวลาที่พระองค์เจ้าประวิตรฯ ทรงดำรงพระชนม์ชีพ ทรงอุทิศเวลาทุกนาทีแก่งานราชการ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีความสนิทสนมกัน เมื่อถึง พ.ศ. 2462 พระองค์เจ้าประวิตรฯ ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระวักกะพิการ (ไตวาย) สิริพระชันษาได้ 44 ปี และตอนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวว่า

“พอข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดีได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว, รู้สึกตัวชาและนั่งตลึงอยู่เป็นครู่ใหญ่. ทั้งนี้เปนเพราะข่าวอันนั้นได้มาถึงโดยมิได้คาดหมายเลยว่าจะมีมา, นับว่าเปนของปัจจุบันทันด่วนอย่างยิ่ง…นอกจากที่พระองค์ท่านเปนพี่ ยังได้เป็นกัลยาณมิตร์ผู้มีความรักและภักดี หาที่เปรียบได้โดยยาก…หนังสือนี้ข้าพเจ้าขออุทิศถวายเปนพลี และเปนพยานแห่งความรักใคร่ไมตรีอันข้าพเจ้ามีอยู่ในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี…”

A Book’s Publishing

97 ปีให้หลังจากวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2462 คุณสรวิชใช้เวลารวบรวมภาพถ่ายและเอกสารโบราณเกี่ยวกับพระองค์เจ้าประวิตรฯ กว่า 2 ปี จนได้ลงมือเรียงเอกสารทั้งหมดนั้นแล้วเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาชื่อ รฤกแห่งที่รักจากเหลนแด่ทวด ด้วยตัวเองทุกหน้าเมื่อ พ.ศ. 2561 หนังสือเล่มนี้ใช้ใจทำทุกขั้นตอนและใช้เวลากว่า 1 ปี 

เปิดเอกสารโบราณร้อยปีคุยกับ สรวิช ภิรมย์ภักดี เรื่องทวด 1 ใน 4 โอรส ร.5 รุ่นแรกที่ไปเรียนยุโรป

“มันเกิดจากการที่เราเริ่มหาว่ามีคำถามอะไร พอหาไม่เจอ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็เลยยิ่งทำให้อยากรู้จักท่านมากขึ้น เอกสารส่วนใหญ่ก็ได้จาก คุณปรก อัมระนันทน์ ซึ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งท่าน ทั้งพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ห้าตอนตั้งชื่อ การ์ดอวยพรวันเกิดตอนอายุสามสิบ แล้วก็พวกเอกสารที่ได้เหรียญตรา เครื่องราชย์ต่างๆ

“อีกชุดหนึ่งได้จาก คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ นักประวัติศาสตร์คนจริงคนหนึ่งที่สะสมของเก่าเยอะมาก แกมีสำเนาเอกสารที่เป็นพระราชหัตถเลขาจากรัชกาลที่ห้าถึงพระองค์เจ้าประวิตรฯ สมัยที่ท่านเสด็จไปยุโรปครั้งแรก อันนั้นคือตัวที่ให้เนื้อหาหนแรกเลยที่ทำให้ผมเริ่มรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นคนยังไง เพราะว่ามันมีสำนวนของการเขียน ตัวเอกสารพวกนี้เลยทำให้เรารู้จักท่านมากขึ้น” คุณสรวิชเล่าถึงการทำความรู้จักเสด็จทวดผ่านตัวหนังสือให้เราฟัง

พระราชหัตถเลขา

“ในหนังสือคุณสรวิชบอกว่า ‘ไม่ต้องครอบครองตัวจริงก็ได้ เนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง’ นี่เป็นเหตุผลที่ทำหนังสือรึเปล่า” เราถาม

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

“เหตุผลที่จะทำก็คืออยากจะทำอยู่แล้ว เพราะว่าอยากจะเผยแผ่เกี่ยวกับพระองค์เจ้าประวิตรฯ เพราะเป็นหนึ่งในสี่พระราชโอรสพระองค์โตของรัชกาลที่ห้าแต่ไม่มีคนรู้จัก ที่รู้เพราะว่าอะไร เพราะถ้าเข้าไป sanook.com นี่ทุกคนถามกันหมดเลย ผมเห็นหลายที่มากที่เขียน พอไปหาเอกสารในห้องสมุดก็ยิ่งยากอีก นึกว่าในห้องสมุดน่าจะมีเยอะ ปรากฏว่ามีน้อยมาก พอได้เอกสารของคุณไพศาลย์มาก็เลยรู้สึกว่าทำหนังสือได้”

“แล้วทำไมถึงเลือกทำหนังสือ ไม่เลือกทำสิ่งอื่น”

“ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่อยู่นานกว่าอย่างอื่น” คุณสรวิชตอบ

ในช่วงหนึ่งของบทสนทนา คุณสรวิชบอกเราว่า “ผมชอบมาสาย พอสนใจอะไรปุ๊บ คนที่บอกเล่าได้ก็มักจะเสียชีวิตไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกัน พระองค์สุดท้ายที่ใกล้ชิดเสด็จทวดที่สุดที่เหลืออยู่และพอจะบอกเล่าได้คือพระธิดาของพระองค์ หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ซึ่งท่านเป็นนักเขียนนามปากกา ‘ดวงดาว’

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ภาพ : http://www.soravij.com/

“ผมก็เจอท่านนะ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจเลย ไม่เคยคิดอยู่ในหัวว่าจะถาม จนท่านเสียชีวิตไป ยายตัวเองก็เหมือนกัน ยายแต่งงานเข้ามาในประวิตร แม้ไม่ทันเจอพระองค์เจ้าประวิตรฯ เพราะตอนแต่งงานก็ท่านสิ้นไปนานแล้ว แต่ก็อาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าอะไรต่ออะไรมาเหมือนกัน

“มีอีกคนก็คือพี่เลี้ยงแม่ ซึ่งเลี้ยงผมและน้องด้วย นั่นก็อีกคนที่รู้เรื่องราวเยอะเพราะอยู่ในวังของประวิตรมาตั้งแต่ต้น แต่ผมไม่ได้ถามอะไรเลย และคนสมัยก่อนจะไม่ค่อยเล่าถ้าไม่ถาม เสียดายเหมือนกันที่อย่างน้อยมีสามคนที่น่าจะถามได้แต่ไม่ได้คุยกัน แล้วทางลูกหลานของแต่ละคนก็ไม่ได้ถาม ไม่มีใครสนใจเหมือนกัน ก็เลยเป็นศูนย์”

นอกจากเพื่อทำความรู้จักเสด็จทวดผู้ทรงมีพระชนม์ชีพเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งของการทำหนังสือเล่มนี้จึงเพื่อให้ลูกหลานราชสกุลประวิตรได้รู้ที่มาของตัวเอง คุณสรวิชว่า หากไม่ได้ทำ รุ่นต่อไปก็ยิ่งไม่รู้ อย่างน้อยๆ ก็จะได้มีอะไรที่ส่งต่อกันไปได้

คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิงห์

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้จักพระองค์เจ้าประวิตรฯ มากขึ้น เราจะได้อะไรหลังได้อ่าน รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด บ้าง-เราถามเจ้าของตัวหนังสือของหนังสือเล่มที่ว่าทิ้งท้าย

“เรื่องรู้จักท่านผมว่าเรื่องเล็ก เพราะว่าอย่างที่บอก ท่านไม่ได้มีบทบาทเด่นมากในระดับระเทศ ผมเลยใส่เรื่องราวหรือรูปภาพเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยนั้นให้ดูด้วยว่า เฮ้ย คนเมืองนอกสมัยก่อนมาเที่ยวเมืองไทยเขาไปเที่ยวไหนกัน ดูอะไรกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงจัดเลี้ยงให้ยังไงบ้าง ที่ไหนบ้าง พาไปไหนบ้าง มันจะเห็นภาพของเมืองไทยอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น

“นอกจากนั้น สิ่งที่ผมหวังก็คืออยากให้สร้างความสนใจที่จะรู้เกี่ยวกับสมัยนั้นมากขึ้น หรือเกี่ยวกับประเทศของเรามากขึ้น เพราะว่าประเทศของเรารวยทุกด้านนะ ทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์ ทุกอย่างเลย แล้วผมว่าคนสมัยนี้ไม่เห็นคุณค่า หรือภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Take it for granted บางทีเรารู้สึกว่ามันอยู่ตรงนี้ใกล้ตัว จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ รู้เมื่อไหร่ก็ได้ สรุปแล้วอีกสิบปีต่อมาก็ยังไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้รู้ ยังไม่ได้ไป”

ภาพ : คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี และ หอสมุดแห่งชาติ

สำหรับท่านที่สนใจสามารถหาซื้อหนังสือ รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด ได้ที่ Open House Bookshop by Hardcover ชั้น 6 ศูนย์การค้า CENTRAL EMBASSY ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ (Kinokuniya) เอเชียบุ๊คส (Asia Books) หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.singhaonlineshop.com ในราคา 679 บาท

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ