เมื่อ 3 ปีก่อน เราชวน หมู-อัญชลี ศรีไพศาล Lifestyle Designer ผู้จริงจังกับงานอดิเรกแสนรักขนาดบินไกลไปเรียนรู้ศาสตร์การห่อของถึงญี่ปุ่น ให้เธอหยิบกระดาษพร้อมริบบิ้นมาห่อของขวัญในคอลัมน์ Staycation มาแล้วครั้งหนึ่ง
ครูพี่หมูบอกกับเราในคราวนั้นว่า เธอตั้งใจให้อินสตาแกรม curiouspig เป็นเสมือน ‘ที่ส่งการบ้าน’ เพื่อผลักดันกึ่งบังคับให้ตัวเองห่อของ พร้อมท้าทายตัวเองด้วยโจทย์และวิธีการใหม่ๆ ที่ต่อยอดไปจากความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา

โจทย์และวิธีการใหม่ๆ ที่ครูพี่หมูว่า กระโดดไปไกลและท้าทายให้การห่อของเป็นมากกว่างานอดิเรก ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การห่อของพาเธอให้ได้ไปร่วมงานกับแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก เธอรับหน้าที่เป็นผู้ห่อของขวัญเพื่อมอบให้ลูกค้าคนพิเศษ โดยไม่ใช่หีบห่อแบบสำเร็จรูปที่เตรียมไปจากบ้าน แต่เป็นการรังสรรค์ขึ้นจากเครื่องสำอางที่เขาเลือกซื้อ บวกกับบุคลิกที่โดดเด่นของเขาหรือเธอคนนั้น
และครูพี่หมูก็ยังได้ฝากอีกหนึ่งผลงานไว้ที่ The Cloud กับของที่ระลึกที่เราใช้ตอบกลับผู้อ่านที่ส่งโปสการ์ดมาหากันผ่านคอลัมน์ Wish You Were Here ตอนนั้นชาวก้อนเมฆให้โจทย์ครูพี่หมูไปว่า เราอยากได้ของที่ระลึกสำหรับผู้อ่านที่คราฟต์และไม่ซ้ำใคร จึงได้ออกมาเป็น Craft Letter from The Cloud ซองจดหมายทำมือที่ครึ่งหนึ่งเป็นลายเมฆ อีกครึ่งเป็นลายตัวอักษร ใช้วิธีการพับล็อกที่ออกแบบมาให้คลี่ออกง่ายและนำไปใช้ต่อได้ ส่วนด้านในมีซองเล็กลายท้องฟ้าต่างวัน เวลา และฤดูกาล ซึ่งผู้รับนำไปใช้งานได้อีกไม่จำกัดรูปแบบ

ความมุ่งหมายแรกที่ทำให้ครูพี่หมูหยิบจับกระดาษมาห่อเป็นของสารพัดแบบ เริ่มมาจากเธออยากพาตัวเองออกมาให้ไกลหน้าจอคอมพิวเตอร์ แม้ว่าวันนี้งานอดิเรกจะพาเธอมาไกลและมีโจทย์ที่หลากหลายขึ้น แต่ครูพี่หมูก็ยังยกให้การห่อของเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วชุบชูจิตใจเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิต นั่นก็เพราะเธอยังสนุกสนานกับการได้จับเอาไอเดียมาแปลงเป็นหีบห่อ ได้เห็นพัฒนาการ แถมยังได้ค้นพบเทคนิคการห่อแบบใหม่ๆ ด้วยตัวเอง
ชวนมือหนึ่งเรื่องการห่อของมาเยือน The Cloud ทั้งที เราเลยขอให้ครูพี่หมูหยิบเทคนิคการห่อของขวัญขั้นพื้นฐานมาให้ผู้อ่านที่อยากแปลงร่างเป็น ‘นักห่อ’ ทั้งหลายได้ฝึกฝีมือ ห่อของขวัญที่ครูพี่หมูจะมาสอนวันนี้ทำได้ด้วยวิธีการแสนง่าย แถมยังนำไปใช้ได้กับของขวัญต่างขนาด ต่างรูปทรง ทั้งหมด 8 ชิ้น ได้แก่ ปากกา ธนบัตร กระเป๋าสตางค์ หนังสือ เสื้อ ผ้าพันคอ นาฬิกาติดผนัง ไปจนถึงผลไม้ขนาดเล็ก

โดยความพิเศษที่เราอยากกาดอกจันตัวใหญ่ๆ ให้ทุกคนจดไว้ใช้ คือวิธีห่อที่จะสอนต่อไปนี้เริ่มจากใช้กระดาษขนาด A4 เพียง 1 แผ่น ไม่จำเป็นต้องใช้เทปใดๆ และสามารถเพิ่มขนาดกระดาษให้ใหญ่ขึ้นได้ไม่จำกัด ส่วนเทคนิคหลักๆ ก็ใกล้เคียงกัน แค่ดัดแปลงและเพิ่มเติมไปตามขนาดของสิ่งของที่จะใช้ห่อเท่านั้นเอง เริ่ม!
อุปกรณ์
- กระดาษ ใช้ได้ตั้งแต่กระดาษเอกสาร นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในบ้าน หากใช้กระดาษที่มีความหนาประมาณ 70 – 80 แกรม จะพับและห่อง่ายกว่า
- ริบบิ้นหรือเชือก
หมายเหตุ : กรณีต้องต่อกระดาษ อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพิ่มเติม ได้แก่ กรรไกร ไม้บรรทัด และเทปกาว

วิธีการห่อ
ปากกา ธนบัตร กระเป๋าสตางค์
- วางกระดาษตามแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ตามความถนัด วางสิ่งของที่ต้องการห่อลงไป จะไว้ตรงกลางหรือที่มุมใดมุมหนึ่งของกระดาษก็ได้


- เมื่อได้มุมวางสิ่งของที่ถูกใจ ให้พับด้านบนและด้านล่าง (แนวนอน) ของกระดาษลงมาให้คลุมสิ่งของจนรอบ ค่อยๆ กรีดกระดาษตามรอยที่วัดขนาดไว้ (อย่าพับจนชิดขอบเกินไป เหลือช่องว่างระหว่างกระดาษกับสิ่งของไว้เกือบ 1 เซนติเมตรกำลังดี)


- พับกระดาษด้านแนวตั้งให้คลุมรอบสิ่งของ จะพับจากด้านซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้ โดยพับด้านหนึ่งต้องถูกพับลงมามากว่า เพื่อให้ปิดทับกันได้สนิท จากนั้นค่อยๆ กรีดกระดาษตามรอยที่วัดขนาดไว้


- ใส่สิ่งของที่ต้องการห่อไว้ด้านใน เพิ่มเติมเทคนิดให้กระดาษที่อยู่ด้านบนได้ตามความคิดสร้างสรรค์ที่มี จะพับให้สั้นลงหรือพับมุมข้างก็ได้ทั้งหมด

- ใช้ริบบิ้นหรือเชือกพันรอบซองในแนวตั้ง ผูกเป็นปมหลวม 1 ครั้ง และผูกเป็นโบว์รูปแบบตามชอบอีก 1 ครั้ง เป็นอันเสร็จ



สิ่งสำคัญมากที่คนรักการพับกระดาษห้ามลืม คือต้องกรีดกระดาษตามรอยก่อนลงมือพับจริงทุกครั้ง เพื่อให้กระดาษออกมาเนียนกริบ ไร้รอยยับยู่ยี่นั่นเอง
สำหรับวิธีการที่ว่าไปเป็นพื้นฐานของการห่อสิ่งของที่มีขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 และไม่หนามาก อย่างเช่นปากกา ธนบัตร กระเป๋าสตางค์ และครูพี่หมูยังขนวิธีห่อของชิ้นใหญ่กว่าและมีรูปทรงที่แตกต่างกันไป ทั้งหนังสือ เสื้อ ผ้าพันคอ นาฬิกาติดผนัง ไปจนถึงผลไม้อย่างแอปเปิ้ลมาฝากด้วย
หนังสือ
หากเลือกจะมอบหนังสือเป็นของขวัญให้กัน ปัญหาที่ผู้ให้ส่วนใหญ่ต้องประสบคือไม่ถูกใจถุงหรือกระดาษที่ห่อมาจากร้านค้า ปัญหานั้นจะหมดไป เพียงคุณเลือกกระดาษที่ถูกใจ หรือเป็นกระดาษที่สื่อความหมายคล้ายกับหนังสือเล่มนั้นก็ได้ แล้วห่อตามขั้นตอนและเทคนิคดังนี้ (เพิ่มเติมอุปกรณ์ : ที่เจาะกระดาษ)
- เลือกกระดาษหรือต่อกระดาษให้มีขนาดพอดีกับหนังสือ
- วางกระดาษตามแนวนอน วางหนังสือตามลงไป เหลือมุมด้านข้างของหนังสือเอาไว้ด้านหนึ่งประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร และอีกด้านเหลือไว้ให้มีขนาดมากกว่าความหนาของหนังสือทั้งเล่ม

- พับด้านข้างที่สั้นกว่าสอดเข้าไปใต้ปกหนังสือ ส่วนด้านยาว พับทบให้ทับปกของสันหนังสือขึ้นมาด้านบน


- ใช้ที่เจาะกระดาษเจาะกระดาษที่อยู่เหลือสันหนังสือ

- สอดริบบิ้นหรือเชือกและร้อยเป็นรูปแบบตามชอบใจ


เสื้อและผ้าพันคอ
สำหรับของขวัญอย่างเสื้อและผ้าพันคอ เป็นของที่หากจะมอบเป็นของขวัญมักต้องหากล่องหรือถุงใส่ อันที่จริงสิ่งของประเภทนี้ก็มอบให้กันโดยใช้กระดาษห่อได้ โดยมีวิธีการไม่ต่างไปจากสิ่งของชนิดอื่นๆ ที่กล่าวมา แต่เทคนิคที่จะทำให้ห่อของชิ้นนี้ทนทานและใช้งานได้จริงอยู่ตรงที่การเลือกกระดาษขนาดใหญ่พอดี รวมถึงการใช้เชือกหรือริบบิ้นที่หนาขึ้นมาหน่อย หรืออาจเพิ่มจาก 1 เป็น 2 เส้น เพื่อตอบโจทย์ให้หิ้วมอบให้ผู้รับได้สะดวกขึ้น




นาฬิกาติดผนัง
ใครว่าการห่อนาฬิกาติดผนังจะต้องใส่ในกล่องสี่เหลี่ยมเท่านั้น วันนี้เราวิธีสร้างสรรค์ห่อกระดาษที่จะทำให้การจับได้นาฬิกาในงานปีใหม่พิเศษขึ้นมาหลายสิบเท่า วิธีการก็แสนง่าย ใช้อุปกรณ์เท่ากันกับตอนห่อของชิ้นเล็ก เพิ่มเติมแค่สกิลล์การพับมุมกระดาษก็พอ
ที่ต้องเพิ่มการพับมุมกระดาษเข้าไป ก็เพราะนาฬิกาติดผนังมักหนาและเป็นทรงกลม เราจึงต้องแปลงซองกระดาษที่สอนวิธีไปก่อนหน้าให้เป็นทรงกล่อง โดยแทรกไปในขั้นตอนก่อนพับกระดาษด้านแนวนอนมาคลุมรอบสิ่งของ แทนที่จะพับทบกันไปเฉยๆ ให้หยิบรอยพับด้านล่างมาทำมุม 90 องศากับขอบกระดาษ ทำแบบนี้กับทั้ง 4 ด้าน เราก็จะได้ซองทรงกล่องสำหรับใส่นาฬิกาติดผนังหรือของชิ้นหนาแล้ว



ครูพี่หมูแนะนำว่า สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ แก้ปัญหารอยยับด้านข้างซองได้จากการกรีดกระดาษให้เรียบก่อนห่อจริง แต่ถ้าใครมีฝีมือพอตัว จะขยุ้มด้านข้างให้ออกมาเป็นลักษณะพองๆ ก็สวยเก๋ไม่เบา
ผลไม้ขนาดเล็ก : แอปเปิ้ล
และก็มาถึงวิธีห่อของอย่างสุดท้ายที่ได้โจทย์มาจากตัวแทนทีมงานที่เป็นลูกหลานแดนมังกร เนื่องจากชาวเรามีธรรมเนียมว่าต้องหยิบส้ม 3 ใบไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ทุกปี ก็เลยอยากมีห่อกระดาษสวยๆ บรรจุผลไม้มงคลบ้าง และในที่สุดครูพี่หมูก็ทำฝันของชาวเราให้เป็นจริง!
ครูพี่หมูบอกแนะเคล็ดลับว่า ถ้าเชี่ยวชาญการห่อสิ่งของต่างๆ ตามที่สอนมาทั้งหมดแล้ว วิธีการห่อส้มหรือผลไม้ขนาดเล็กชนิดไหนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด วิธีการคือให้ยึดหลักใกล้เคียงกับการห่อวัตถุทรงกลม (คล้ายนาฬิกาติดผนัง) แต่ปรับจากทรงกล่องเป็นทรงถุง ด้วยการใช้กระดาษที่ขนาดยาวขึ้นจนพอบรรจุผลไม้ทั้งหมด และเหลือพื้นที่สำหรับพับทบด้านบนให้มากกว่าซองประเภทอื่นเท่านั้นเอง



อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงกำลังวางแผนหากระดาษใบสวยมาสร้างซองสำหรับห่อของขวัญของตัวเองอยู่แน่ๆ ขอให้ทุกคนสนุกกับงานอดิเรกชิ้นใหม่ และติดตามการต่อยอดไอเดียสู่การห่อของสุดสร้างสรรค์โดยครูพี่หมูได้ที่อินสตาแกรม curiouspig หรือถ้าใครอยากติดตามเบื้องหลังการสร้างงานที่เอ็กซ์คลูซีฟ (กว่าอินตาแกรมแรก) กดติดตามครูพี่หมูเพิ่มได้ที่ curiouspig_days