16 พฤศจิกายน 2022
11 K

‘เก็บ หรือ ทิ้ง’

คุณจะตั้งคำถามเหล่านี้เมื่อสิ่งของชิ้นนั้นมีคุณค่ามากพอให้ลังเล

‘เก็บ’

ครูหมู-วลัยพร ใจหนักแน่น หลานสาวของ พระศรีสมุทโภค (อิ่ม ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย เจ้าของ บ้านเจ้าเมือง ต้นตระกูลยมจินดา คนปัจจุบัน เลือกเช่นนั้นกับสมบัติทุกชิ้นที่รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและของเก่าที่เธอเลือกสะสมเอง

ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบบนถนนสายเล็กยาวกว่า 700 เมตร บ้านเรือนหลังเก่ายังมีลมหายใจ ชาวยมจินดา จังหวัดระยอง ยังมีเรื่องให้เล่าขาน แต่ใครไหนเลยจะเล่าเรื่องได้ดีไปกว่าตระกูลที่มีเจ้าเมืองมากถึง 3 รุ่น และชื่อถนนหลายเส้นยังถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติพวกเขา

เดินหลบเข้าซอยไปเพียงไม่กี่เมตร บ้านไม้ทรงปั้นหยาหลังงามยังคงตั้งอยู่ที่เดิมตั้งแต่ พ.ศ. 2475 สร้างโดย ท่านอิ่ม ยมจินดา บุตรชายของ พระยาศรีสมุทโภคไชยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนแรกและทวดของครูหมู

ครั้งนี้ The Cloud ชวนเธอเปิดบ้าน ชมสมบัติในกรุเก่า ฟังเรื่องเล่าที่ทั้งสนุกและเพลินของตระกูลประวัติศาสตร์ ดูหอกง้าวประดับฝาผนังที่เคยใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาแต่โบราณ แม้แต่พื้นเอียง ๆ ของบ้านยังมีที่มา และเสาบ้านสีดำแปลกตาก็มีคำอธิบาย

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

House of Yomjinda
บ้านเจ้าเมือง

เราเคยแต่เดินชมห้องที่เปลี่ยนเป็นคลังสมบัติล้ำค่า แต่ครั้งนี้เราเดินอยู่ในบ้านที่แม้กระทั่งตัวบ้านเองก็นับเป็นสมบัติหนึ่งในนั้น

คุณแม่วันสุข ยมจินดา เป็นลูกสาวของท่านอิ่ม เธอยกครูหมูวัย 8 เดือน ให้อยู่ในความดูแลของพี่สาว 2 คนคือ วาจา ยมจินดา และ ทองล้วน ยมจินดา นอกจากนี้ยังมี คุณยายบาง ยมจินดา อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน

หลังคุณตาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2485 บ้านหลังนี้ก็ตกทอดมาสู่คุณยายบาง คุณป้าวาจา และมาถึงเธอในปัจจุบัน

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

ความเจริญก้าวหน้าด้านการคมนาคมทำให้การสัญจรทางน้ำถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ หน้าบ้านที่ติดกับแม่น้ำระยองจึงกลับกลายเป็นหลังบ้าน อู่ต่อเรือไม้ที่มีอยู่หลายแห่งต้องปิดกิจการ ไม่นานสะพานก็สร้างขึ้น เรือไม้จึงแล่นออกสู่ปากอ่าวไม่ได้อีกต่อไป

เรามองเป็นความโชคดีที่ยังมีบ้านเก่าให้คนรุ่นใหม่มาเยี่ยมชม ครูหมูบอกว่าในอดีต คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเก่าไม่ได้รับความนับหน้าถือตา ผิดกับปัจจุบันที่คนกลับมาสนใจของโบราณกันมากขึ้น สิ่งที่มีคุณค่าอยู่แล้วจึงมีคุณค่ายิ่งกว่าเก่า โดยเฉพาะมูลค่าทางใจที่มากกว่าตัวเงิน

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย
เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

บ้านเจ้าเมืองถูกฉาบด้วยสีเขียวอ่อนอมฟ้าหลังการปรับปรุงซ่อมแซม เธอมีศัตรูตัวฉกาจคือ ‘ปลวก’ ที่ตั้งทัพพร้อมรบทุกปี ทำเอาครูหมูหมดเงินไปมหาศาลเพื่อพิทักษ์สมบัติทั้งหมด

ตัวพื้นบ้านทำจากไม้กระท้อนซึ่งหาได้ยากในสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ลายฉลุโบราณทำมือทั้งหมด เมื่อสร้างปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีลายฉลุเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญประดับ

“เสานี้คือไม้ตะเคียน ปกติต้องอยู่นอกชานเพราะทนแดดทนฝน แต่เมื่ออยู่ด้านนอกหลายปีเกิดการผุพัง เราเลยตั้งใจอนุรักษ์ของเก่าโดยนำมาปิดเสาที่ถูกปลวกกิน ส่วนรั้วไม้ด้านนอกที่เอาไว้กันเด็กหล่นก็เป็นไม้ตะเคียน เป็นเสาที่คุณตาเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน”

ผ่านมาเกือบ 100 ปี บ้านทรุดลงตามกาลเวลา ครูหมูจึงต้องให้ช่างมาหนุนบ้าน เมื่อหน้าแล้งเดือนเมษา ช่างได้พายเรือเข้าไปใต้ถุนช่วงน้ำลดเพื่อซ่อมแซม และได้พบกับเสาตะเคียนพอดี

เราพิจารณาพื้นและบอกเธอว่า ตอนนี้บ้านของเธอเอียง

เธอบอกว่าที่เห็นเอียงแบบนี้ถูกต้องแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนคุณตาสร้างระเบียงโดยยกหัวสูง ปลายเท้าต่ำ โดยใช้ลูกมะนาววางให้กลิ้งตามความลาดชัน เมื่อใครมานอนจะได้รู้ว่าฝั่งไหนคือหัวและเท้า แต่เมื่อครูหมูหนุนบ้านใหม่ ความเอียงจึงลดลง

ครูหมูอธิบายลักษณะบ้านโบราณของคนมีฐานะว่า มีห้องนอนเพียงห้องเดียว ภายในมีประตู 2 บาน เรียกว่า ประตูหน้าและประตูลับ เมื่อมีการปล้นจึงใช้ประตูลับเป็นทางหนี นอกจากนี้บ้านธรรมดาเมื่อเงยหน้ามองจะเห็นคานของบ้าน แต่บ้านคนมีฐานะจะมีฝ้าไม้กั้น

ส่วนด้านบนเพดานมีช่องลับเป็นเหมือนห้องใต้หลังคา เธอเคยให้ช่างปีนขึ้นไป แต่ตอนนี้เมื่อมองเองกลับหาไม่เจอ

“เฟอร์นิเจอร์ด้านในที่เห็นเป็นของโบราณทั้งหมด ไม่เก่า เราไม่เก็บ แต่จะมีในส่วนที่ซื้อมาเพื่อสะสมกับของประจำตระกูล โดยเฉพาะพวกตู้ไม้ ตู้คาวหวาน พวกนี้เป็นของที่คุณตาทำขึ้นมาเอง” 

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

House of the Collector
คลังสมบัติของนักสะสม

ครูหมูและสามีเก็บของสะสมร่วมกันมากว่า 40 ปี พวกเขาไม่เลือกประเภท แต่ต้องเก่าจริงเท่านั้น 

นอกจากตะเกียง วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม เครื่องเล่นแผ่นเสียง ถ้วยชามรามไห ที่ล้วนแต่โบราณ ของชิ้นใหญ่อย่างกล้องคลุมโปง Large Format ที่เห็นในละครเรื่อง สี่แผ่นดิน ก็วางโชว์อยู่ที่มุมในสุดของบ้าน พร้อมด้วยหีบโบราณ เครื่องชั่งทอง ชั่งหมู ไปจนถึงเชี่ยนหมากที่เจ้าของกินค้างไว้ก่อนจะเสียชีวิต อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่เหมือนเดิมและเหลือเท่าเดิมมาตลอด 80 ปี

หากรวมสิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมหาศาลทั้งหมดคงไม่อาจนับได้ว่าอายุกี่สหัสวรรษ

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

หิ้งบรรพบุรุษ

ภาพทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในยุคนั้น เว้นแต่เพียงภาพของคุณทวด หรือท่านเกตุที่เป็นภาพวาด

รูปบนสุดในกรอบไม้คือ ท่านเกตุ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพระยาศรีสมุทโภคไชยโชคชิตสงคราม เจ้าเมืองระยองคนแรก

รูปที่สองรองลงมาคือ คุณหญิงลำเจียก ภรรยาของท่านเกตุ

รูปที่สามคือ ท่านอิ่ม คุณตาของครูหมู และเจ้าของสมบัติโบราณหลายชิ้นในบ้านหลังนี้

รูปที่สี่ด้านล่างสุดคือ คุณยายบาง ภรรยาที่เสียชีวิตไปใน พ.ศ. 2514

หอกและง้าว

นับตั้งแต่สมัยคุณทวดที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 – 4 เจ้าเมืองสมัยโบราณต้องร่วมรบทัพจับศึกกับพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้ราชทินนามว่า พระยาศรีสมุทโภคไชยโชคชิตสงคราม

หอกและง้าวด้านหลังหิ้งคืออาวุธโบราณที่ใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของต้นตระกูล เพื่อดื่มสาบานแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน

ทุกเสาร์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม เทศบาลนครระยองจัดงาน ‘ภูมิบุรี ศรีระยอง’ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และมีการขอเปิดบ้านยมจินดา เพื่อนำผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองเข้ามาแสดงความเคารพ ในฐานะที่บรรพบุรุษของตระกูลเป็นผู้สร้างถนนยมจินดา และเป็นเจ้าเมืองระยองมาหลายรุ่น

แม้จะมีคนเคยมาขอหอกและง้าวชุดนี้ แต่ครูหมูก็ไม่ให้ เพราะถือเป็นของประจำตระกูลที่ควรอยู่คู่บ้านต่อไป

เปิดบ้านเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย ตระกูลยมจินดา คลังสมบัติเก่าที่ชมได้แต่ไม่มีวันขาย

ตู้คาวหวานและตู้ไม้

ตู้คาวหวานออกแบบเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม เปิด-ปิดได้ทั้ง 4 ประตู มองได้รอบทิศ เอาไว้เก็บสำรับอาหาร ตู้แต่ละหลังมีอายุกว่าร้อยปี สร้างโดยคุณตาของครูหมู

ตู้ไม้ข้างกันมีลักษณะยกออกได้เป็น 2 ท่อน ไม่มีตะปู แต่ใช้สลัก เมื่อครั้งมีนักสะสมมาเยี่ยมเยือนได้ให้ข้อมูลว่า นี่คือตู้เสื้อผ้าที่ได้แบบมาจากฝรั่งเศส

ปัจจุบันด้านในกลายเป็นที่เก็บของสำคัญ มีตั้งแต่ช้อนส้อมทองเหลืองที่คุณตาเคยใช้ ไม้เท้าหัวพญานาค กระถางต้นไม้โบราณ กระโถนประจำตำแหน่งของคุณทวด ประดับด้วยลายมังกร 5 ขา ซึ่งเป็นกระโถนสำหรับขุนนาง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินมี 9 ขา

นอกจากนี้ยังมีชุดผ้าเยียรบับของคุณตา ซึ่งใส่ตอนที่เข้าร่วมโต๊ะเสวยกับรัชกาลที่ 5 และหนังสืองานศพ แจกในพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณตาที่วัดเก๋งหรือวัดจันทอุดมเมื่อ พ.ศ. 2485 ปัจจุบันคือโรงพยาบาลระยอง ซึ่งด้านในยังมีเจดีย์หนึ่งองค์ที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร ถือเป็นสมบัติที่บรรพบุรุษของตระกูลสร้างเอาไว้ 

โอ่งเขียวไข่กาและโอ่งจีน

โอ่งเขียวไข่กาบ่งบอกว่าเจ้าของเป็นคนมีฐานะ ในอดีตคุณตาใช้รองน้ำฝนสำหรับดื่ม เพราะให้ความรู้สึกเย็นชื่นใจ แต่จะเอาโอ่งนี้ไว้แจกจ่ายน้ำหน้าบ้านให้คนแปลกหน้าก็คงไม่ใช่ เธอบอกว่าในอดีตมีคุณไสยที่เรียกว่า ยาสั่ง หากเอาโอ่งใหญ่ไปตั้งไว้ก็คงโดนยาสั่งกันถ้วนหน้า

ส่วนโอ่งที่เก็บน้ำได้เย็นกว่าคือ โอ่งจีน ซึ่งขนส่งมาทางแพ ด้านในเป็นเนื้อสีเขียวคล้ายหยก มีคนมอบให้คุณตาเป็นเครื่องบรรณาการ

บานแพนก

อ่านว่า บาน-พะ-แนก คือจารึกกฎหมายในอดีตเขียนโดยอารักษ์ลายมือสวย ว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่ดิน ที่นา รวมถึงลงโทษ หนีบขมับ หนีบเล็บ เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2410 สมัยปลายรัชกาลที่ 4

เครื่องแก้วเจียระไน

ของเก่าสุดโปรดจากอังกฤษที่เธอซื้อจากลูกศิษย์มายกตู้ หนึ่งในนั้นมีเครื่องแก้วทรงแปลกตาที่ดูคล้ายอุปกรณ์คั้นน้ำส้มไม่ก็ที่เขี่ยบุหรี่ สุดท้ายมีผู้มีความรู้มาเฉลยว่าสิ่งนี้คือ ที่เก็บแหวน

House of Memories
ความทรงจำที่ไม่มีวันขาย

ครูหมูได้รับคำชมจากผู้มาเยือนว่า นี่คือบ้านที่เก็บของเก่าไว้เยอะและเป็นระเบียบ ทุกอย่างจัดไว้เป็นหมวดหมู่ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กที่ตั้งโชว์อยู่ในตู้

ในอดีต ของโบราณไม่เคยอยู่ในความสนใจของเธอ ทั้งยังมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตนเองกลับเป็นผู้ถวิลหาของเก่าที่เคยอยู่ในความทรงจำ

“เราย้อนนึกถึงวันที่ไปแอบดูโทรทัศน์ในตลาดเก่า ดูได้ไม่นาน 6 โมงเย็นต้องเข้าบ้าน เพราะเป็นผู้หญิง คุณป้าไม่อยากให้อยู่นอกบ้านมืด ๆ ค่ำ ๆ ต่อมาคุณป้าซื้อทีวีขาวดำ พอทำงานเองก็ซื้อทีวีสี แต่ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนา เรากลับถวิลหาของเดิม ทีวีขาวดำมันหายไปไหน”

นอกจากสิ่งของที่เคยถูกทอดทิ้งไป ครั้งหนึ่งครูหมูคิดจะรีโนเวตบ้านยมจินดาเสียใหม่ ชนิดที่เงินพร้อม แปลนพร้อม สถาปนิกพร้อม ช่างรับเหมาก่อสร้างพร้อม แต่เมื่อตกดึก เธอกลับฝันเห็นคุณทวดหญิงมานั่งขวางทางและบอกว่า ห้ามรื้อบ้านเด็ดขาด แต่ให้ซ่อมแซมได้

หลังจากครูหมูตื่น เธอล้มเลิกแผนการเดิมและตัดสินใจสร้างบ้านอีกหลังไว้ข้างกัน ซึ่งปัจจุบันคือ ‘ครัวครูหมู’ ร้านอาหารระยองโบราณที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

ในฐานะเจ้าบ้านและลูกหลานของตระกูลเก่าแก่ เธอทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยความคิดอันมุ่งมั่นที่ใช้เวลาบ่มเพาะมาหลายสิบปี

“ของทุกชิ้นมีความหมายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราไม่ขายแน่นอน ขายเป็นเงินก็เอาไปใช้หมด แก่ขนาดนี้จะใช้เงินอะไรเยอะแยะ จริงไหม”

หากใครตั้งใจมาเยี่ยมบ้านเก่า อย่าลืมแวะทานอาหารสูตรโบราณที่บางจานคือของโปรดเจ้าเมืองระยองมาตั้งแต่อดีต หรือหากใครแวะมาทานอาหารก็อย่าลืมขอครูหมูเข้าชมบ้านยมจินดาที่อยู่ใต้หลังคาเดียวกัน แล้วอย่าลืมชวนเธอไปเป็นไกด์ เพราะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะทำให้การไปเที่ยวระยองครั้งนี้สนุกกว่าเดิม

Facebook : บ้านเจ้าเมือง ต้นตระกูลยมจินดา

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ชาคริสต์ เจือจ้อย

ช่างภาพอิสระและนักปั่นจักรยานฟิกเกียร์ ชอบสั่งกระเพราหมูสับเผ็ดน้อยหวานๆ