จากปากซอยวังเดิม 3 เขตบางกอกใหญ่ ตรงเข้าไปสักอึดใจ จะได้พบตึกทรงโมเดิร์น 2 ชั้น ติดประตูกระจกใสราวจะเชื้อเชิญผู้คนที่เดินผ่านมาให้เยี่ยมหน้าชมความงามของภาพเขียนที่แขวนอยู่ด้านใน

รองมาจากงานศิลป์และโปสเตอร์นิทรรศการที่ดูเด่นสุดในสายตา ทุกคนที่แวะผ่านมาคงจะได้เห็นชื่อสถานที่ซึ่งดีไซน์ขึ้นด้วยฟอนต์สุดชิกว่า ‘House of Upa-In’ ตามป้ายหน้าทางเดินเข้า

คำบรรยายในบัญชีอินสตาแกรมกล่าวว่า ที่นี่เป็นทั้งโรงเรียนศิลปะ พิพิธภัณฑ์ และเสื้อผ้าของแต่งบ้าน บ่งบอกตัวตนคนอยู่ในบ้านนี้ได้ชะงัดนักว่าพวกเขามีใจรักในงานศิลป์เพียงไร

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

คนไทยที่อยู่ในแวดวงศิลปะคงได้รู้เรื่องราวของ ‘ครอบครัวอุปอินทร์’ มาบ้าง จากชื่อ-นามสกุลของ อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรภาพเหมือนผู้ถวายงานรับใช้ราชสำนักมานานปี จุ่มสีน้ำมันเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ตลอดจนภาพบุคคลอื่น ๆ มาค่อนชีวิต เป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ดังคำประกาศเกียรติคุณบนแผ่นป้ายโลหะหน้าบ้าน

หากเป็นผู้สนใจศิลปะแนวนามธรรม ก็อาจจะคุ้นเคยกับผู้มอบนามสกุลนี้ให้อาจารย์ลาวัณย์มากกว่า นั่นคือ อาจารย์สมโภชน์ อุปอินทร์ ผู้บุกเบิกงานคิวบิสม์ (Cubism) แก่วงการศิลปะไทย

ส่วนคนไหนที่นิยมด้านแฟชั่นการแต่งกาย ชื่อที่น่าจะคุ้นเคยที่สุดคงเป็น อิศร์ อุปอินทร์ สไตลิสต์ชั้นแนวหน้าของสยามประเทศ ผู้เป็นลูกแท้ ๆ ของอาจารย์สมโภชน์กับอาจารย์ลาวัณย์

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

ซึ่งบ้านหลังนี้ก็คือรวงรังที่สมาชิกครอบครัวศิลปินคนดังอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกเป็นเวลานานกว่า 46 ปี นับตั้งแต่คู่รัก สมโภชน์-ลาวัณย์ อยู่ในวัยหนุ่มสาว ส่วนอิศร์ยังเป็นแค่เด็กตัวน้อย

“บ้านนี้อยู่กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เพื่อนที่เป็นสถาปนิกออกแบบให้ค่ะ” อาจารย์ลาวัณย์เปิดเผยความหลังที่ยังสดใสในความทรงจำ

“ตอนจะแต่งงาน คุณแม่ครูอยากปลูกบ้านให้ ก็บอกว่าไม่อยากรบกวน เพราะส่งเสียเราเรียนจนกระทั่งสำเร็จมา มีงานทำนะ ถ้าปลูกบ้านที่จะอยู่เอง เราก็อยากปลูกด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง คิดว่าเก็บเงินสัก 4 – 5 ปีก็คงจะปลูกบ้านได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ตั้ง 9 ปี ต้องไปเช่าบ้านอยู่ค่ะ แต่บ้านคนที่เขาให้เราเช่า เขาปลูกให้เราเป็นเรือนหอเลย พอเขารู้ว่าเราจะแต่งงานและเราไม่มีบ้าน เขาปลูกบ้านให้เช่า และเขาคิดเดือนละ 500 ตลอดเลยค่ะ”

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

เหตุนี้คู่สามีภรรยาสายอาร์ตจึงได้เลือกบ้านเช่าในเขตบางกอกน้อยเป็นที่สร้างชีวิตใหม่ อิศร์ได้ลืมตาดูโลกที่บ้านหลังนั้น ก่อนย้ายมาอยู่บ้านที่บางกอกใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของผู้เป็นแม่

อาจารย์ลาวัณย์เล่าถึงชีวิตช่วงเริ่มต้นในบ้านหลังนี้ว่า เธอกับสามีต่างก็ทำงานในบ้านหลังนี้ ปักหลักเขียนภาพบนขาตั้งร่วมห้องเดียวกัน บางเวลาก็หันหน้าเข้าหากัน แต่บางเวลาก็หันหลังชนกัน แม้อยู่ใกล้กันเพียงเอื้อมมือสัมผัสถึงตัวอีกฝ่าย แต่ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งมั่นต่องานตรงหน้า คนหนึ่งเขียนภาพเหมือนบุคคล อีกคนเขียนภาพคิวบิสม์ ไม่พูดไม่จากันเพื่อให้เวลาและสมาธิแก่งานของกันและกัน

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

อิศร์โตมาท่ามกลางบรรยากาศในครอบครัวแบบนี้ ถึงตัวเขาจะไม่ได้ยึดด้านการวาดรูปเป็นอาชีพอย่างที่พ่อแม่ทำ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งศิลปะ เขาหันมาเอาดีด้านงานออกแบบเสื้อผ้า คอยขับเคลื่อนเบื้องหลังให้กับนายแบบ นางแบบ ดีกรีซูเปอร์โมเดลมานักต่อนัก ทั้งเคยทำงานให้กับนิตยสารแฟชั่นหลายเจ้า ก่อนที่ธุรกิจการพิมพ์หนังสือจะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยผลกระทบที่ได้รับจากโควิด-19

“พี่เคยเป็นสไตลิสต์อิสระ สมัยก่อนก็ทำหนังสือแนว สุดสัปดาห์ ใครเรียกทำอะไรก็ทำ พี่จะทำอย่างพวกนิตยสาร แพรว เป็นแนวประสานอย่างนี้ครับ แล้วพอนิตยสาร ดิฉัน ปิดตัวไป มันก็กระทบต่อพี่ ประกอบกับโควิดอีก ทุกอย่างมันก็สลด เรารู้สึกเบื่อ อยากทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้จำเจกับแฟชั่นมาก เพราะมันวนแล้ว เหมือนวนไป 3 ทศวรรษแล้ว วนแล้ววนอีกอย่างนี้ครับ” อิศร์กล่าว

เท้าความไปเมื่อหลายปีก่อน บ้านอุปอินทร์เคยต้อนรับแขกจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งบินลัดฟ้ามาเพื่อติดต่อขอซื้อภาพเขียนของอาจารย์สมโภชน์ไปจัดแสดงด้วยเหตุผลซึ่งเขาไม่เคยคาดคิด

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“ที่ National Gallery Singapore เขาจะจัดนิทรรศการรวมผลงานศิลปะของประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ เหมือนเป็นประตู 5 บาน แล้วเขาเลือกชื่อสมโภชน์ เพราะคุณพ่อเป็นตัวแทนของประเทศไทย เป็นคนแรก ๆ ที่นำศิลปะตะวันตกอย่างคิวบิสม์มาผสมผสานในไทย เขาเลือกรูปแนวคิวบิสม์รูปหนึ่งไป เพราะรูปนั้นเคยไปแสดงที่ญี่ปุ่นมาแล้วรอบหนึ่ง”

อิศร์ตื่นเต้นมาก เพราะแต่ไหนแต่ไรมาที่ผลงานคุณพ่อของเขาตกอยู่ใต้ร่มเงาของคุณแม่ผู้โด่งดังกว่า ด้วยงานแนวคิวบิสม์เป็นงานที่ดูยาก ต้องใช้ปรัชญาและความเข้าใจลึกซึ้งในการตีความ ทั้งยังแฝงด้วยแนวคิดทางการเมืองอันแยบคาย ไม่เหมือนงานวาดฝีมืออาจารย์ลาวัณย์ที่ใครเห็นก็ประเมินได้ว่าภาพนั้นสวยหรือไม่สวย เหมือนหรือต่างจากบุคคลผู้เป็นแบบเพียงใด เขาฝันอยากให้งานของพ่อบังเกิดเกล้าได้สร้างชื่อเสียงบ้าง รวมทั้งหวังจะได้เงินมาเป็นค่ารักษาคุณพ่อที่ขณะนั้นกำลังป่วยหนักใกล้เสียชีวิต

แต่การเจรจากลับไม่ลงตัว เพราะทางสิงคโปร์ต้องการที่จะซื้อขาด ขณะที่ตัวเขาเริ่มลังเล

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“เงินก็อยากได้นะ แต่เรารู้สึกว่าผลงานคุณพ่อมันเป็นสมบัติของชาติ แล้วคงจะเสียดายมากถ้างานนี้หายไป ในสัญญานั้นเราก็ค่อนข้างเสียเปรียบ พอฟังหลาย ๆ คน ในที่สุดเราก็ไม่ขาย แต่ให้เช่ายืมไป ที่นั่นมีระบบการจัดการที่ดีมาก งานของคุณพ่อได้จัดแสดงตรงหน้าทางเข้าเลย”

ถึงจะได้รับภาพวาดฝีมืออาจารย์สมโภชน์คืนมาหลังจบงาน แต่อิศร์ก็พบว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คือชื่อเสียงของสมโภชน์ อุปอินทร์ ชื่อเสียงของบิดาผู้ล่วงลับดังระบือขึ้นมาในชั่วข้ามคืน นักสะสมมากมายเทียวไปเทียวมาที่บ้านเขาเพื่อขอซื้อภาพเขียน เป็นบรรยากาศที่อิศร์ไม่ต้องการให้เลือนหายไป ยิ่งเมื่อคำนึงถึงสถานะศิลปินแห่งชาติของคุณแม่ ซึ่งยังขยันเขียนภาพอยู่เป็นประจำแม้วัยจะล่วงเลยจวนเข้าเลข 9 บุตรของศิลปินทั้งสองเลยนึกอยากมีที่รวมผลงานของบุพการีจัดแสดงต่อสาธารณชนบ้าง

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“พูดกันง่าย ๆ พี่เป็นเกย์ ไม่มีลูก เราอาจจะสืบทอดตระกูลอุปอินทร์ไม่ได้ แต่ที่อยากสืบทอดนามสกุลนี้คือผลงาน หลายอย่างที่ตอนแรกได้แต่คิด หลังจากนั้นก็มีคนยื่นมือเข้ามาช่วย มาแลกเปลี่ยนทัศนคติคุยกัน ทำให้เราคิดว่าอยากทำมันให้เป็นจริงขึ้นมา”

อิศร์เลือกที่จะเปิดบ้านอุปอินทร์บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผลงาน ซึ่งคุณแม่ก็ไม่ขัดข้อง หนำซ้ำยังสนับสนุนวิธีการสืบสานศิลปะของครอบครัวอย่างเต็มที่ แม้จะต้องปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ โดยยินยอมให้คนนอกเข้ามารุกล้ำความเป็นส่วนตัวในบ้านพวกตน

ห้องชั้นล่างของบ้านอุปอินทร์ดัดแปลงเป็นแกลเลอรีกับสตูดิโออย่างละห้อง เป็นส่วนที่ผู้เยี่ยมชมได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้ ส่วนหนึ่งจะเป็นนิทรรศการถาวรที่อิศร์ใช้จัดแสดงภาพของพ่อกับแม่ อีกส่วนเป็นนิทรรศการเวียนที่ให้ศิลปินคนอื่นหมุนเวียนนำงานออกมาแสดง

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“ความฝันของคุณพ่อพี่คือเขาอยากมีห้องเหมือนห้อง ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี แต่ว่าบ้านเราเล็ก ทำเป็นเหมือนห้องอาจารย์ศิลปไม่ได้ ก็จะให้ห้องนี้เป็นห้องนิทรรศการเวียน แล้วก็จะย้ายห้องคุณพ่อไปทำข้างใน ตรงที่คุณพ่อสะสมเครื่องดนตรีต่าง ๆ จะเป็นห้องชีวิตคุณพ่อ และนำผลงานเข้าไปอยู่ตรงนั้น” ลูกชายอาจารย์สมโภชน์ชี้แจงแผนการที่จะทำ

ส่วนห้องและพื้นที่ทำงานของอาจารย์ลาวัณย์ อิศร์ได้ย้ายไปอยู่ด้านในซึ่งง่ายต่อการเดินเหินและเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้รองรับวัยของคุณแม่ที่เพิ่มมากขึ้น ห้องที่เคยใช้เป็นที่เขียนภาพ Portrait มาก่อนจะกลายเป็นห้องรับแขก ใช้ต้อนรับสาธารณชนผู้มาเยือนแทน

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

นอกจากเขียนภาพขายเอง สิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้และรอยยิ้มให้กับศิลปินแห่งชาติวัยย่าง 88 ปี คือการได้เปิดโรงเรียนสอนศิลปะขนาดเล็กให้กับเด็กและเยาวชน

“ที่จริงมีสอนอยู่แล้ว มีคนมาเรียนสีน้ำมันกับคุณแม่อยู่คนสองคน สมัยก่อนจะมีเด็กในชุมชนพวกนี้แหละ เข้าวิ่งเล่นและก็มีสอนสีเทียน เขาก็นั่งเขียนกัน สนุกดี”

การได้ถ่ายทอดวิชาความรู้นับเป็นความสุขเล็ก ๆ ของอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสูงวัยรายนี้ บุตรชายที่เคยมีชีวิตที่ต้องระหกระเหินทำงานไกลบ้านเป็นนิจ จึงเลือกยุติอาชีพเดิมของตัวเอง ละทิ้งโอกาสที่จะได้เงินมหาศาล มาอยู่บ้านเพื่อดูแลแม่ในบั้นปลายชีวิต 

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลของการเปิดบ้านอุปอินทร์

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“พี่คงออกไปทำงานนอกบ้านไกลไม่ได้แล้วหลังจากนี้ เพราะว่าคุณแม่อายุมากขึ้น อาจจะต้องการการดูแลกับความเอาใจใส่มากขึ้น จะปล่อยแกไปก็รู้สึกว่าเราเคยสูญเสียพ่อไปแล้วคนหนึ่ง ถ้าไม่ดูแลเองมันอาจจะ เออ รู้สึกต้องทำตรงนี้ครับ… เราก็สร้างตัวให้มันครอบคลุมค่าใช้จ่ายเราได้ เราก็พอใจแล้ว ไม่ถึงกับต้องโหยฟู่ฟ่า แต่ขอให้ดำเนินชีวิตกินอยู่สบายพอ”

รายรับที่ได้จากการเปิดสอนศิลปะนับว่าก็ไม่น้อยนัก ทว่าด้วยค่าเล่าเรียนที่จำเป็นต้องบวกต้นทุนค่าอุปกรณ์เข้าไปด้วย ผู้ปกครองและบุตรหลานหลายคนจึงต้องโบกมือลาบ้านอุปอินทร์ไป คนต้นคิดที่จะเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงเรียนสอนศิลปะอย่างอิศร์ยังพยายามเต็มที่ในการลดต้นทุนบางด้าน เพื่อเปิดโอกาสให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อยให้เข้ามาทำกิจกรรมในบ้านของตนได้มากขึ้น

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

“พี่เกิดมาเพราะพ่อกับแม่อยู่ในวงการศิลปะ เขาก็ช่วยให้ศิลปะเป็นสิ่งดีกับคนจริง ๆ ทำให้คนมีจิตใจที่นุ่มนวล การทำอะไรให้คนมีศิลปะเป็นพื้นฐาน มันจะมีแบบแผนที่ดีไม่ว่าคุณจะทำอะไร เมื่อเป็นศิลปะมันจะมีรสนิยม เรื่องการแต่งตัว การพูดการจา การประกอบอาหาร การจัดวางทุกอย่าง มันเป็นศิลปะหมดเลย ถ้ามีพื้นฐานที่ดี คนก็จะเริ่มเห็นอะไรที่ไม่สวยของประเทศมันสวยขึ้น เพราะงั้นมันก็เริ่มจากเด็ก ถ้าเด็กที่เขามีโอกาสคลุกคลีกับความสวยงามบ้างตอนเด็ก ๆ เขาก็อาจจะทำให้ประเทศมันดีขึ้น หรือชุมชนที่มันสวยขึ้น ตอนนี้ชุมชนหลาย ๆ ชุมชนก็สวยขึ้นเยอะ”

House of Upa-In แกลเลอรีและโรงเรียนศิลปะในบ้านคู่รักจิตรกร ‘ลาวัณย์-สมโภชน์ อุปอินทร์’

เพื่อเป็นการหารายได้เข้ามาเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่ สไตลิสต์อิสระยังนำวิชาออกแบบของตัวเองมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ House of Upa-In ที่มีอยู่หลายอย่าง โดยมากเป็นการนำภาพวาดของทั้งอาจารย์สมโภชน์และอาจารย์ลาวัณย์มาดีไซน์เป็นสินค้าอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า ผ้ากันเปื้อน ฯลฯ นางแบบกิตติมศักดิ์ที่มักสวมใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล นอกจากอาจารย์ลาวัณย์ซึ่งในอดีตเคยเป็นนางเอกละครและครูสอนศิลปะทางโทรทัศน์มาก่อน

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

ตั้งแต่วันแรกที่สองแม่ลูกเปิดบ้านในซอยวังเดิม 3 ของพวกเขาให้เป็นกึ่งพื้นที่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2562 จวบจนวันนี้ที่เรามาล้อมวงสนทนากับอาจารย์ลาวัณย์และอิศร์ ก็เป็นเวลาร่วม 4 ปีเต็ม ชื่อ ‘บ้านอุปอินทร์’ เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นทุกขณะ จะด้วยงานคิวบิสม์ของคุณพ่อก็ดี งานภาพเหมือนของคุณแม่ก็ดี หรือแม้แต่แบรนด์เสื้อผ้าของตกแต่งบ้านโดยคุณลูก ล้วนมีส่วนช่วยให้บ้านหลังนี้ได้รับการโจษจันโดยคนสายอาร์ต ศิลปินมากหน้าหลายตาต่อคิวรอใช้แกลเลอรีเป็นที่อวดผลงานที่ตนเองภูมิใจนำเสนอ เช่นเดียวกับกิจกรรมเวิร์กช็อปและคลาสเรียนที่จัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามวาระและโอกาส

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่อิศร์จะหยุดยั้งการพัฒนาบ้านของครอบครัวแต่เพียงเท่านี้

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

“พี่ว่ามันดีขึ้นตามลำดับ รู้สึกฟ้าเปิดขึ้น แต่ก็ยังมีอะไรที่เราต้องปรับปรุงต่อไปหลายอย่าง คือถ้าพอใจไหมก็บอกว่าพอใจ เกินคาดด้วยซ้ำไป เพราะไม่คิดว่าคนไทยจะยอมรับแบบนี้ อย่างเช่นรัฐบาล ตอนแรกเรารู้สึกว่ารัฐบาลจะต้องไปกับบ้านที่เป็นไทย ๆ บ้านหุ่นกระบอกอะไรต่าง ๆ ที่เป็นไทย เราดีใจที่รัฐบาลยังมองศิลปะที่เป็นแขนงอื่นบ้าง แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรอีกหลายอย่าง แต่บางทียังไม่พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง คิดว่าหลังจากปลายปีนี้ ถ้ามีองค์กรเข้ามาช่วย หรือว่ามีเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนบ้าง เราก็จะสนุก เช่นเรื่องสี เรื่องอุปกรณ์ พอเรามาช่วยกัน ค่าคอร์สต่าง ๆ ก็ถูกลง คนที่จะมาเรียนอะไรก็มีโอกาสกว้างขึ้น”

ทั้งนี้ อิศร์ยังคิดเปิดบ้านอุปอินทร์อีกส่วนหนึ่งที่แยกไปจากแกลเลอรีให้เด็ก ๆ ในย่านวิ่งเข้ามาวาดรูประบายสีเล่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

ส่วนอาจารย์ลาวัณย์นั้น เธอมีแต่รอยยิ้มเมื่อเราถามถึงความเห็นที่มีต่อความคิดบรรเจิดของลูก

“อะไรทั้งหมด อิศร์เขาก็เป็นคนทำทั้งนั้นเลยค่ะ” จิตรกรหญิงกลั้นหัวเราะพลางไขความในใจ “รู้สึกดีค่ะ ห้องแสดงเราเป็นห้องเล็ก ๆ นะคะ ก็จะช่วยศิลปินรุ่นใหม่ที่เขาทำงานไม่มากนัก ศิลปินใหม่ ๆ งานเขาก็ไม่เยอะใช่ไหมคะ แต่ว่าต้องแสดงงานของทั่ว ๆ ไป ที่มีอยู่นี่เป็นห้องใหญ่มาก ก็จะแสดงไม่ได้ ของเราทำเล็ก ๆ เอง ช่วยให้ศิลปินใหม่ ๆ มีโอกาสแสดงงานต่อสังคมมาก และเราเองด้วยค่ะ เราก็อยากจะแสดงงานน้อย ๆ ค่ะ ก็เลยคิดจะมาทำครึ่งหนึ่ง”

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

ทั้งสองมีการกระซิบกระซาบว่ากว่าบ้านอุปอินทร์จะมีวันนี้ได้ แม่กับลูกต้องผ่านสมรภูมิการถกเถียงกันเองบ่อยครั้ง ก่อนที่อิศร์จะยิ้มเอ่ยความในใจที่มีต่อมารดามาทั้งชีวิต

“ส่วนใหญ่คุณแม่เขาก็จะปล่อยให้ทำ จริง ๆ พี่ต้องขอบคุณเขา เขาไม่เคยจะห้ามให้เราลองอะไรใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งที่เขาเปิดโอกาสให้เลือกอาชีพเอง บางทีพ่อแม่รุ่นนี้อาจบังคับเราให้เราไปทำนู่นทำนี่ โชคดีที่มีพ่อแม่เป็นศิลปินที่ให้เราเลือกเองว่าอยากทำอะไรก็ทำไป ตอนนี้ฉันทำแฟชั่นไม่เกี่ยวกับพ่อกับแม่ฉันเลย เขาก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้บ่นอะไรเลย ไม่ได้มายุ่งด้วยว่าเราจะทำอะไร”

ฟังดูไม่ต่างจากเส้นทางชีวิตของอาจารย์ลาวัณย์ที่เลือกเดินไปบนความเชื่อของตนแม้แต่น้อย

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

“คนที่เข้ามาที่นี่ พี่ว่าอย่างน้อยเขาก็ได้ความสุขนะ คนเข้ามาส่วนใหญ่เขาก็สนุก เพราะบ้านนี้มันมีบรรยากาศ บางทีเราเปิดเพลงคลาสสิกให้คนฟัง คนเข้ามาก็บอกว่าเขาชอบ ได้มีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนที่ไม่คิดว่าเขาจะมีความสุขหรือเขาจะชอบในสิ่งนี้ เขาได้มาเห็นแล้วเขาชอบแค่นี้เราก็รู้สึกสบายใจแล้วก็สุขใจ เราจะบอกว่าที่นี่เป็นบ้านศิลปินที่มีศิลปินตัวเป็น ๆ อยู่ ปกติถ้าเป็นเมืองนอกก็จะเป็นบ้านของคนที่ตายแล้ว คนมาก็จะไม่ได้จิตวิญญาณของคนที่อยู่อาศัย”

อิศร์ อุปอินทร์ ไม่อายที่จะเปิดเผยให้เราฟังว่า เป้าหมายในภายหน้าของบ้านอุปอินทร์ คือการยกบ้านหลังนี้ให้อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ

“ชื่อ อุปอินทร์ นี้เป็นตัวแทนของลูกที่จะอยู่ต่อไป สมมติพี่ตายไป มันก็จะยังมีชื่อนี้อยู่ หลังจากนั้นสมมติพี่อายุเยอะไป ก็อาจจะปล่อยให้รัฐบาลเขามาดูแล ในวันนี้พี่รู้สึกว่า เฮ้ย ฉันมีลูกแล้ว เหมือนว่าลูกของฉันได้เกิดแล้ว เขาจะโตไปแบบไหนเราก็ยังไม่รู้ คาดว่าเขาคงเป็นลูกที่ดี”

ฟังคำพูดปิดท้ายของทายาท 2 ศิลปินดัง เราคิดว่าถ้อยคำนั้นคงเป็นคุณสมบัติที่บ่งบอกตัวอิศร์ได้ไม่มากก็น้อย สำหรับลูกที่ตั้งมั่นจะสานฝันของพ่อผู้ล่วงลับให้เป็นจริง และคำนึงถึงความสุขในชีวิตแม่ผู้ชราไว้เหนือกว่าความสุขส่วนตนทั้งปวง

บ้านครอบครัวศิลปินแห่งชาติที่แปลงโฉมเป็น House of Upa-In พิพิธภัณฑ์ รร.สอนศิลปะ ร้านขายงานศิลป์ โดยลูกชายที่อยากสร้างอนุสรณ์ให้พ่อ
House of Upa-In บ้านอุปอินทร์
  • บ้านเลขที่ 8 ซอยวังเดิม 3 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 16.00 น.
  • 02 465 3926
  • House of Upa-In
  • house_of_upa_in

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์