หลังจากมหากาพย์แฟนตาซีศึกชิงบัลลังก์ Game of Thrones จบไปเมื่อปี 2019 ที่ 8 ซีซั่น ไม่ว่าชื่อเสียงเรียงนามซีซั่นสุดท้ายจะเป็นที่โจษจันเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าเราคิดถึงซีรีส์เรื่องนี้ไม่น้อยและโหยหาอะไรที่มี ‘ความ Game of Thrones’ อีก

ทำให้หลังจากเวลาผ่านไปปีสองปี ช่อง HBO ก็ประกาศพัฒนาภาคแยกหลายเรื่องโดยให้ผู้แต่ง A Song of Ice and Fire (นิยายต้นฉบับ) อย่าง George R.R. Martin เป็นผู้คุมทีม ผลลัพธ์คือซีรีส์ 1 เรื่องจาก 5 เรื่องได้ถูกหยิบมาทำตอนไพล็อต (อีพีแรกเพื่อให้เห็นภาพและช่องอนุมัติสร้างทั้งซีซั่น) ในขณะที่เรื่องอื่นยังพัฒนาอยู่จนถึงตอนนี้ 

เรื่องที่ถูกคัดเลือกให้ทำคือ ‘The Long Night’ หรือ ‘Bloodmoon’ ที่ว่าด้วยยุคของวีรบุรุษและเรื่องราวต้นกำเนิด White Walkers หน่วยอีกา และตระกูล Stark (หมาป่า) และมีนักแสดงนำคือดาราเบอร์ใหญ่อย่าง Naomi Watts กับ Jamie Campbell Bower (Vecna จาก Stranger Things) แต่น่าเสียดายครับ หลังจากที่ถ่ายทำตอนแรกเสร็จเรียบร้อย และช่องทุ่มทุนไปถึง 30 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว ๆ 1 พันล้านบาทไป ซีรีส์โดนลงดาบประหารและไม่ได้มีชีวิตไปต่อ

และเรื่องราวที่ไม่ได้คาดคิดก็ได้เกิดขึ้น หลังจาก The Long Night ถูกแคนเซิลไปไม่นาน จู่ ๆ HBO ก็ประกาศว่าจะสร้าง ‘House of the Dragon’ เรื่องราวของบ้านมังกรตระกูล Targaryen เมื่อราว ๆ 200 ปีก่อนเหตุการณ์ใน Game of Thrones ที่ดัดแปลงจาก ‘Fire & Blood’ หนังสือนอกเวลาของ George R.R. Martin ที่จบไปแล้วและโครงเรื่องชัดเจน แบบที่มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับซีซั่น 8 

House of the Dragon มาพร้อมกับการประกาศสร้างฟูลซีซั่น ซีซั่นแรกมี 10 อีพี โดยที่ไม่ต้องถ่ายทำตอนไพล็อตแต่อย่างใด และนั่นแหละครับ คำถามคืออะไรทำให้ HBO มั่นใจถึงเพียงนี้ และอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนที่ทั้งเป็นแฟน Game of Thrones และไม่เคยดูมาก่อน ควรดูซีรีส์เรื่องนี้ จะขอไล่เรียงตั้งแต่สิ่งที่อยากให้รู้เกี่ยวกับซีรีส์ รวมไปถึงพรีวิวคร่าว ๆ จากผมที่ได้มีโอกาสชมอีพีแรกของซีรีส์เรื่องนี้ล่วงหน้าแล้วแบบไม่สปอยล์ครับ

House of the Dragon : เจาะลึกปฐมบทตระกูลทาร์แกเรียน ก่อนหวนสู่โลก Game of Thrones 

“นี่คือเรื่องราว 172 ปี ก่อนเหตุการณ์กบฏโรเบิร์ตและ Daenerys Targaryen จะถือกำเนิด เรื่องตระกูล Targaryen ที่เป็นเจ้าของบัลลังก์เหล็กและมังกร ผู้ไม่มีผู้ใดโค่นล้มพวกเขาได้นอกจากพวกเขาเอง”

เรื่องราวในหนังสือ Fire & Blood บอกเล่าผ่านบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแห่งมหาทวีป Westeros ของ Archmaester แห่ง Citadel ที่เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ทาร์แกเรี่ยนกับบัลลังก์เหล็กถูกหลอมโดย Aegon Targaryen ที่ 1 สมัญญานามผู้พิชิต และ Aegon ที่ 3 สมัญญานามผู้ทำลายมังกร (และมรดกที่ Aegon คนแรกสร้างมา) 

House of the Dragon บอกเล่าเรื่องราวที่กินคาบหลายปี ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีการลงรายละเอียดแบบฉายภาพย้อนความ บ่งบอกว่าพวกเขาไม่ใช่แค่ตัวละครในเรื่องเล่าในหนังสือ แต่เป็นมนุษย์ผู้มีมิติ ชีวิตจิตใจ และความปรารถนาในใจที่นำไปสู่การกระทำนั้น ๆ โดยที่ไม่มีใครเป็นคนดี 100 เปอร์เซ็นต์ และใครก็ตายได้ ตามสัจธรรมแห่งโลก Game of Thrones

House of the Dragon : เจาะลึกปฐมบทตระกูลทาร์แกเรียน ก่อนหวนสู่โลก Game of Thrones 

ซีรีส์ไม่ได้เริ่มต้นจากต้นกำเนิดตั้งแต่ Aegon ที่ 1 นะครับ แต่เลือกเล่าจากกลางทางที่ ‘ต้นกำเนิดของจุดจบ (The Beginning of The End)’ แทน ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของลูกหลาน Targaryen ในยุคที่มังกรบินยั้วเยี้ยถึง 9 ตัวในซีซั่นเดียว (จากที่เราจะได้เห็นทั้งหมด 17 ตัวสำหรับทั้งเรื่อง) จนนำไปสู่ยุคมังกร 0 หลังจากเหตุการณ์มังกรเริงระบำ

House of the Dragon เริ่มต้นตั้งแต่การประกาศแต่งตั้งรัชทายาทของ Jaeharys Targaryen ที่ 1 ที่เลือก Viserys เป็นกษัตริย์คนต่อไป แทนที่จะเป็นพี่สาวคนโตอย่าง Rhaenys Targaryen เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง จากนั้นต่อมาเมื่อถึงเวลาต้องเลือกรัชทายาท กษัตริย์ Viserys Targaryen ที่ 1 แหวกขนบเดิม ๆ ด้วยการเลือกลูกสาวอย่าง Rhaenyra Targaryen แทนที่จะเป็น Daemon น้องชายของเขา นำไปสู่การแตกหักระหว่างเพื่อนรักตั้งแต่เด็ก และการเล่นเกมระหว่างผู้มีมังกร ตระกูล Targaryen กับตระกูล Hightower ผู้ไม่มีมังกรแต่มีกองทัพ ผู้สนับสนุน และบุตรสาวของตระกูลมีลูกให้ Targaryen เยอะกว่า 

นำไปสู่การลงเอยด้วยเปลวเพลิง ซากศพผู้คน และซากศพมังกร ซึ่งจากที่เห็นในซีซั่นแรก เราจะได้เป็นพยานเหตุการณ์ในซีรีส์ตั้งแต่ Rhaenyra เป็นเด็ก โตจนมีลูก และลูกของคนรุ่นเธอเติบโต

House of the Dragon : เจาะลึกปฐมบทตระกูลทาร์แกเรียน ก่อนหวนสู่โลก Game of Thrones 

ทีมผู้สร้างเรื่องนี้คือ George R.R. Martin หรือผู้แต่งมาเอง กับ Ryan J. Condal ผู้เขียนบทหนัง Rampage และ Hercules อีกทั้งยังได้ Miguel Sapochnik ผู้กำกับอีพีที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและความเล่นใหญ่จนทำโลกฮือฮาอย่าง Hard Home, The Battle of the Bastards, The Winds of Winter และ The Long Night โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ขาดไม่ได้คือ Ramin Djawadi ผู้อยู่เบื้องหลังดนตรีประกอบสุด Epic ของ Game of Thrones ที่เราได้ยินจนติดหู และบางคนฟังวนซ้ำแม้ซีรีส์จะจบไปแล้ว รวมถึงสกอร์ดนตรีประกอบซีรีส์ Westworld ด้วย

ก่อนสร้างทาง HBO กับผู้สร้าง ผู้กำกับเองออกมาพูดว่า พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้ว และตั้งใจจะทำให้ออกมาดีที่สุด จากที่ได้ดูไปก็เหมือนพวกเขาทำได้จริงครับ ต้องพูดว่าถ้าตัวอย่างและภาพที่ปล่อยออกมาดูดียังไง ของจริงก็ทำได้คุณภาพออกมาเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนคำถามสำคัญกับทางฝั่งผู้ผลิตก่อนที่จะสร้างซีรีส์เรื่องนี้จะเป็น “อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนดูชอบ Game of Thrones” 

มังกรไฟ ใช่ ซีจีกับฉากอลังการ ใช่ White Walkers ก็ใช่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ทำให้คนหลงรัก Game of Thrones ตั้งแต่แรกไม่ใช่สิ่งที่ได้จากงบประมาณมหาศาลเหล่านี้ซะทีเดียว (แม้ไม่ปฏิเสธว่าองค์ประกอบแฟนตาซีอย่างมังกร ซอมบี้น้ำแข็ง เทพไร้หน้า และอื่น ๆ จะเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยที่มีอิทธิพลให้สนใจและอยากดูต่อก็ตาม) 

แต่คือ หนึ่ง ความสีเทาของตัวละคร ไม่มีใครดีใครชั่ว 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนเป็นมนุษย์ สอง บทสนทนาและการดำเนินเรื่องที่ทั้งคมคาย ตลกร้าย เข้มข้น และสนุกเพลิดเพลิน แม้ดูตัวละครเฉย ๆ สาม ความถึงลูกถึงคนด้านภาพและเนื้อหา สี่ ความสมจริงที่ว่าโลกไม่ปราณีใคร และไม่มีใครเป็นตัวเอก ทุกคนตายได้

การกลับไปตั้งคำถามนี้นำไปสู่การสร้าง House of the Dragon ให้เป็นซีรีส์เกมการเมืองอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะนำมังกรและบ้านมังกรออกมาขายโต้ง ๆ เสมือนคำสัญญาว่าเราจะได้เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่เสน่ห์ของ House of the Dragon ยังคงอยู่ที่การเล่นเกม การเดินหมากคำพูดและกระทำที่อาจพลิกสถานการณ์ได้ตลอดเวลา และมีคนเป็นผู้เล่นหลัก 

ถึงแม้ในหนังสือ Fire & Blood ตระกูล Targaryen มีมังกรไฟที่ดูเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท ‘อำนาจสูงสุดในกำมือ’ แล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะง่าย House of the Dragon เล่าเรื่องในยุคที่โชติช่วงที่สุดของตระกูลมังกร เหมือนในช่วงที่กรุงโรมรุ่งเรืองที่สุด ก่อนเดินทางไปสู่การล่มสลายเพราะอำนาจที่ไม่อาจควบคุมได้และมากเกินไป จนเกิดกระบวนการต่อต้านทั้งจากภายในและภายนอก และดับสูญด้วยตัวเอง

House of the Dragon : เจาะลึกปฐมบทตระกูลทาร์แกเรียน ก่อนหวนสู่โลก Game of Thrones 

ผู้สร้าง Ryan J. Condal นิยามว่าซีรีส์ House of the Dragon เป็น ‘ละครดราม่าครอบครัวสุดซับซ้อนที่มีความเชกสเปียร์ (Complex Shakespearean Family Drama)’ ดูเป็นคำบรรยายที่เที่ยงตรงมากที่สุดครับ และผมจะขอเสริมให้อีกนิดว่า มันคือซีรีส์ Succession ของช่องเดียวกันที่มาในตระกูล Medieval-Fantasy 

เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อถอดฟิลเตอร์แฟนตาซีออก House of the Dragon มีความเป็น (Dysfunctional) Family Drama เพียว ๆ เลยครับ แต่เมื่อนำมันไปซ้อนหน้าเลนส์แล้ว มันว่าด้วยเรื่องของคนที่เกิดมาโดนไฟเผาไม่ไหม้ และมีสิทธิ์ครองบัลลังก์กับมังกรที่ยังสนิทชิดเชื้อและญาติดีกันเองไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับความสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งมีอาวุธ ชุดเกราะ และกองทัพพร้อมจะโค่นล้มในวันที่พวกเขาอ่อนแอที่สุด

ในช่วงที่ผมได้มีโอกาสกับภาษณ์ผู้กำกับผู้สร้างด้วยตัวเอง ผมได้ถามคำถามที่สงสัยใคร่รู้มาก ๆ ว่า ในหนังสือมีเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปถึง 300 ปี และมีวัตถุดิบมากมาย ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าเรื่องในช่วง 200 ปีก่อน Game of Thrones ครับ 

Ryan J. Condal กับ Miguel Sapochnik ทั้งสองคนตอบผมว่า “เพราะในสมัยนั้นมีแต่มังกร และอำนาจของพวกเขาล้นพ้นจนแทบแตะต้องไม่ได้ แต่ในยุคสมัยนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนมากกว่า ทั้งคนที่มีมังกรและคนที่ไม่มีมังกร สามารถโค่นอีกฝ่ายเพื่อชิงบัลลังก์เหล็กได้”

House of the Dragon : เจาะลึกปฐมบทตระกูลทาร์แกเรียน ก่อนหวนสู่โลก Game of Thrones 

นั่นดูจะเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดว่า ‘ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการเน้นไปที่ตัวละคร’ (ขอแสดงความยินดีกับคนชอบ Game of Thrones เพราะเหตุนี้ด้วยนะครับ) โดยทั้งสองคนอธิบายว่าตัวละครจะแตกต่างกัน ตรงที่เรื่องนี้จะไม่มีคนดี และตัวละครที่เราจะรักได้สุดอย่าง Arya Stark เลย ทุกตัวละครเป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง กิเลส ความอิจฉาริษยา ความหลงผิด และความเห็นแก่ตัวในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น แม้กระทั่งความห่วยแตกและผิดพลาดในฐานะมนุษย์ที่เป็นเหตุผลให้มนุษย์เป็นมนุษย์นั่นเองครับ

ตัวละครหลักใน House of the Dragon เป็นตัวแปรสำคัญประกอบไปด้วย Viserys ที่ 1 ชายผู้เป็นคนดีแต่ไม่ใช่กษัตริย์ที่ยอดเยี่ยม เจ้าหญิงและองค์ชายรัชทายาท Rhaenyra และ Daemon Targaryen (คู่รักหลานอาอีกคู่) กับฝั่งของตระกูล Hightower ที่ประกอบไปด้วย Otto และ Alicent Hightower มือขวากษัตริย์และลูกสาว ผู้เป็นเครื่องมือในการเล่นเกมชิงบัลลังก์กับอดีตเพื่อนสนิท รวมไปถึงฝั่งของ Velarion ที่เป็นสืบทอดเชื้อสาย Valyria นำโดย Corlys Velarion กับ Rhaenys Targaryen ที่มีฉายา ‘The Queen Who Never Was’

ตัวละครเหล่านี้ฟาดฟันและเดินหมากกัน โดยทั้งหมดโคจรอยู่กับเรื่องอำนาจ โลหิต มังกร และอัคคี ตามสโลแกนที่พาดหัวไว้ตอนต้น กับยังชูประเด็นที่น่าสนใจอย่าง ‘ปิตาธิปไตย’ หรือลัทธิชายเป็นใหญ่ และการโค่นล้มมันหรือความเชื่อที่จะสนับสนุนมัน ด้วยตัวละครหญิงสุดแกร่งอย่าง Rhaenyra และ Alicent ด้วยอำนาจของความแกร่ง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเพศและอำนาจแห่งความเป็นมารดา 

ถึงแม้เราจะไม่ได้ชอบใครสุดในแง่ตัวละครโปรด ก็เชื่อว่าเราจะได้ชอบแต่ละตัวละคร ในแง่มุมที่เป็นตัวเองได้อย่างสมจริง มีมิติ และมีแนวโน้มจะเกิดการแยกข้างกันไม่น้อยครับ ในฐานะคนดูที่เป็นพยานเหตุการณ์ เพราะแม้แต่ตัวละครที่ถ่ายทอดความน่ารังเกียจ ชั่วร้าย น่าขยะแขยงอย่าง Daemon Targayen ของ Matt Smith การแสดงของเขากับมิติตัวละครที่เผยให้เห็น ทำให้เขาเป็นตัวละครที่ผมชอบที่สุดจากที่ได้ดูอีพีแรก

House of the Dragon ซีรีส์ภาคก่อน Game of Thrones เพื่ออรรถรสเต็มเปี่ยม มังกรเริงระบำ อัคคี และโลหิต เพื่อหนึ่งบัลลังก์เหล็ก

จากที่ได้ดูไป House of the Dragon ค่อนข้างจะมีกลิ่นอายที่แตกต่างจาก Game of Thrones พอสมควรครับ ตรงที่เนื้อเรื่องและผู้คน/ตัวละครข้างในนั้น มีความเข้มข้นและซีเรียสกว่ามาก

ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเนื้อเรื่องไม่มีตัวละครสไตล์สร้างสีสันอย่าง Tyrion Lannister, Lord Varys และ Littlefinger แต่ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะตัวละครที่เลือกใช้เล่าเรื่อง กับรสมือการกำกับและตัวบทที่แม้จะเป็นการพากลับสู่โลกของ Game of Thrones แต่ก็ยังมีองค์ประกอบที่ทั้งเหมือนทั้งต่างปน ๆ กันไป เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้ คือซีรีส์ยังคงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์และความขลังอยู่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาเรากลับไปยังสถานที่เดิมที่คุ้นตา แต่แตกต่างไปในช่วงเวลา ให้ได้เห็นได้เทียบการเปลี่ยนแปลงชัดเจน 

ไปจนถึงเพลงประกอบชวนขนลุกและการอ้างอิงถึงตระกูลที่เราคุ้นเคย ส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือฉากโหด คำหยาบ กับฉากเซ็กส์อย่างโจ่งแจ้งไม่เซ็นเซอร์ รวมไปถึงบรรยากาศที่ทุกตัวละครตายได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหลักหรือรองหรือตัวประกอบ เพราะนั่นคือซิกเนเจอร์ของซีรีส์ HBO กับ Game of Thrones กับวิถีทางในการถ่ายทอดความดิบเถื่อนและเรียลอย่างโหดร้ายสู่สายตาผู้ชมครับ

สำหรับอีพีแรกถือว่า Promising ผมอาจไม่ได้ใช้คำว่า ‘ดีมาก’ หรือ ‘ดีแน่นอน’ นะครับ แต่ที่พอจะพูดได้ มันเป็นคำสัญญิงสัญญาที่น่าเชื่อถือเลยทีเดียวครับ ว่าเรากำลังจะได้ดู The Next Game of Thrones เวอร์ชั่นมีมังกรมากกว่า มีดีในแบบของตัวเองด้วยรูป รส กลิ่น เสียง ที่แตกต่าง แต่รู้สึกคุ้นเคยอย่างมากในเวลาเดียวกัน 

ค่อนข้างน่าสนใจตรงที่พอมีโครงต้น กลาง ปลายครบจบจากหนังสือ Fire & Blood อีกทั้งยังบอกว่า มีบางจุดที่ซีรีส์จะไม่เหมือนหนังสือในรายละเอียด ผู้สร้างและ George R.R. Martin จะถ่างโครงเรื่องเหล่านั้นออก แล้วเสริมเติมแต่ง ดัดแปลง อย่างไรให้เหมือนและแตกต่าง โดยที่คนที่ได้ชมเรื่องราวที่มีปลายทางแน่นอนแล้ว (โดยเฉพาะผู้อ่านหนังสือมาแล้ว) สามารถตื่นเต้นและเอ็นจอยไปกับมันได้ครับ

รับชม House of the Dragon ซีซั่น 1 ได้ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ทาง HBO GO ครับ

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ