27 มิถุนายน 2024
1 K

200 ปีก่อนเหตุการณ์ในซีรีส์ Game of Thrones สู่ศึกชิงบัลลังก์เหล็ก อำนาจของตระกูลทาร์แกเรียน (Targaryen) กำลังสั่นคลอน ความขัดแย้งภายในที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองของผู้ปกครอง 7 อาณาจักรในดินแดนเวสเทอรอส (Westeros) นำมาสู่ House of The Dragon ซีรีส์จาก HBO ที่สร้างขึ้นตามจากนวนิยาย Fire & Blood ของ George R. R. Martin ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและสถานที่หลายแห่งซึ่งอ้างอิงถึงกันระหว่างซีรีส์ทั้งสอง จึงเป็นความท้าทายในการถ่ายทอดฉากภูมิทัศน์และภาษาทางสถาปัตยกรรมผ่านช่วงเวลาที่แตกต่างกัน 

จิม เคลย์ (Jim Clay) คือผู้กำกับศิลป์ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบฉากของสถานที่สำคัญ ๆ ในซีรีส์ House of The Dragon อย่างสถาปัตยกรรมอันทรงพลังบนเกาะดรากอนสโตน (Dragonstone) ปราสาทป้อมปราการบนเกาะดริฟต์มาร์ก (Driftmark) และเรดคีป (Red Keep) ปราสาทพระราชวังของเมืองคิงส์แลนดิ้ง เมืองหลวงของ 7 อาณาจักร 

งานออกแบบฉากของเคลย์ไม่ได้เพียงจำลองฉากใหม่ขึ้นมา แต่เขาขยายความและต่อยอดจากรากฐานฉากเดิม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย จากซากปรักหักพังหลังสงครามสู่ยุคเฟื่องฟูของเมืองในอดีต

กระบวนการออกแบบเริ่มต้นจากการร่างภาพในสมุดสเกตช์ พร้อมกับการค้นคว้าสถานที่จริง ทั้งปราสาท โบราณสถานต่าง ๆ ไปจนถึงก้อนกรวดแปลกตาข้างถนน เพื่อนำทั้งหมดมาก่อสร้างเป็นปราสาทหินขนาดมหึมา จากนั้นก็ส่งต่อไปยัง Concept Artist เพื่อสร้างภาพร่าง (Rendering) ออกมาเป็นรูปทรงโมเดล 3 มิติ ซึ่งรวมทั้งบรรยากาศ สัมผัส และกลิ่นที่ซ่อนอยู่ในฉากและสถานที่เหล่านั้นเอาไว้ 

จากไอเดียบนกระดาษเปล่าสู่ฉากที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เคลย์ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา (Psychological Climate) ซึ่งอาจเปรียบได้กับการสร้างภูมิอากาศในฉากหนังที่มีส่วนเข้าไปเติมเต็มเรื่องราวในบทภาพยนตร์และการแสดงของนักแสดง

รูปแบบสถาปัตยกรรมทุกยุคสมัยปรับตัวไปตามกาลเวลา การย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลา 100 กว่าปีก่อนหน้าตามบทหนังจึงสะท้อนพลวัตของสังคม เทคโนโลยี และอิทธิพลทางวัฒนธรรม ในสังคมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

ภาพรวมสถาปัตยกรรมยุคกลางของยุโรปใน Game of Thrones ที่เราคุ้นเคยถูกผลักย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นยุคโรมันและไบแซนไทน์ ความหนาและหนัก (Massive) ของโครงสร้างขนาดใหญ่ การเล่นแสงเงาที่ชัดเจนกว่าระหว่างพื้นที่มืดกับสว่าง มีส่วนสำคัญในการกำหนดโทนสีของสภาวะสงครามที่กำลังคุกรุ่นได้อย่างลงตัว

Castles of Power

ปราสาทพระราชวังประจำตระกูลของบ้านชนชั้นนำ ผู้ปกครองชาวเมือง หอคอยสูงระฟ้า (Skyscraper) ตั้งตระหง่านตามยุทธศาสตร์ป้องกันเมือง ป้อมปราการและหอคอยวางไว้เพื่อเฝ้าระวังข้าศึก

รั้วกำแพงหินสูงที่ทอดยาวไป เพื่อสกัดการเดินทางเข้ามาถึงชั้นในของปราสาทของผู้มาเยือน และองค์ประกอบในการป้องกันตนเองของปราสาทกลายมาเป็นรูปทรงของอาคาร

ที่อยู่อาศัยกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองการปกครอง สะท้อนถึงบทบาทคู่ขนานของผู้อยู่อาศัย ทั้งในฐานะผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัว บ้านกึ่งสถานที่ราชการที่ผสมผสานโถงบัลลังก์ ห้องประชุมสภา ห้องบัญชาการ เข้ากับที่อยู่อาศัยของสมาชิกราชวงศ์ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางและห้องพักมากมายของนายทหาร อัศวิน และข้าทาสบริวาร 

ปราสาทเป็นสถานที่ที่มีนัยทางอำนาจเหมือนกับตึกสูงระฟ้าที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและอิทธิพล ฉากปราสาทของแต่ละตระกูลที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ House of the Dargon ต่างมีสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงยุคเดียวกัน ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอัตลักษณ์ของการตกแต่งภายใน บ้างตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเมือง บ้างบนยอดเขาสูง บ้างตั้งอยู่ยื่นออกไปตามชายขอบหน้าผาตามฝั่งทะเล

1
Dragonstone

เริ่มที่ฉากปราสาท Dragonstone บนเกาะดรากอนสโตน 

บ้านต้นกำเนิดของบรรพบุรุษตระกูลของทาร์แกเรียนนี้ตั้งอยู่บนเกาะภูเขาไฟ ณ ปากอ่าว Blackwater ปราสาทเป็นส่วนที่ออกแบบขึ้นมา แต่ฉากหลังถ่ายทำจากสถานที่จริงบนยอดเขาหินที่ซับซ้อนกันอย่าง Monsanto ในประเทศโปรตุเกส ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นไปเท่านั้น 

ปราสาทหินสีดำที่เป็นเหมือนเงามังกรขนาดใหญ่ มืดทะมึน และน่าสยดสยองนี้ สร้างขึ้นโดยชาว Valyrians ผู้มีพลังเวทมนตร์ ควบคุมไฟมังกร หลอมหิน และปรับรูปร่างได้ ใช้เทคนิคในการทำให้ผิวสัมผัสของพื้นและผนังคล้ายกับพื้นผิวไร้รอยต่อของหินภูเขาไฟที่เคยมีลาวาไหลผ่านไป 

ฉากสะพานที่ทอดยาวมาตามเชิงเขาริมชายฝั่ง สร้างเหวธรรมชาติเขย่าขวัญผู้มาเยือน อีกทั้งยังมีเงาและเสียงมังกรที่พรางตัวอยู่บนกลุ่มเมฆเหนือหัว ดังที่เห็นใน Game of Thrones โดยตำแหน่งที่แท้จริงของสะพานอ้างอิงมาจากการเชื่อมเกาะบนชายฝั่ง Biscay ในประเทศสเปน

รูปปั้นมังกรล้อมรอบประตู กรงเล็บมังกรถือคบเพลิง และหางที่สร้างเป็นโค้งบันได อากาศเค็มและกลิ่นควันกำมะถันของท่าเทียบเรือใต้ปราสาท 

ป้อมปราการกลางของ Dragonstone คือหอคอยขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘Stone Drum’ เสียงกลองหินตีกึกก้องในห้องโถงระหว่างคลื่นพายุฝนโหมกระหน่ำ ชั้นบนสุดของหอคอยคือห้องโถงบัญชาการ ห้องเพดานสูงมีหน้าต่างบานใหญ่ 4 บาน กลางห้องมีโต๊ะหิน (Painted Table) ขนาดกว่า 15 เมตร แกะสลักแผนที่โดยละเอียดของเวสเทอรอส

 ซีนหนึ่งในหนัง โครงร่างของแผนที่จะลุกโชนขึ้นมาเหมือนเปลวไฟ ผ่านหินอำพันโปร่งแสงเมื่อวางเทียนไฟใต้โต๊ะ ความโล่งความว่างเปล่าในห้องขนาดใหญ่นี้เปลี่ยนบรรยากาศของห้องไปในทันทีที่ย่างก้าวเข้ามา

2
Driftmark

ปราสาท High Tide คือบ้านของตระกูล Velaryon ตระกูลเก่าแก่สืบสายเลือดจากชาว Valyria อาณาจักรโบราณที่ล่มสลาย ภายใต้การปกครองของ Lord Corlys ผู้โด่งดังในนาม ‘อสรพิษทะเล’ และภรรยาผู้มีเชื้อสายทาร์แกเรียนและได้ฉายาว่า ‘ราชินีผู้ไม่เคยได้เป็น’ 

ป้อมปราการริมทะเลแห่งนี้เชื่อมต่อกับเกาะ Driftmark ด้วยทางเดินบนสันทราย ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในยามน้ำขึ้นสูง คลื่นน้ำทะเลกลายเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติที่ล้อมรอบและสกัดการเข้าถึงของปราสาท 

อีกด้านหนึ่งของฝั่งมีท่าเรือ Spicetown ที่เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมง ต่างกันกับปราสาท Dragonstone ปราสาท High Tide ก่อสร้างด้วยหินสีขาวซีดหลังคาทองแดงที่เปล่งประกายเหมือนอาคารที่สวมมงกุฎ หน้าต่างบานใหญ่ เพดานสูง และซุ้มโค้งประณีต ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ ความงดงามแบบสถาปัตยกรรมโรมันที่ผสมเข้ากับองค์ประกอบทางคริสต์ศาสนา

Hall of Nine คือชื่อของโถงใหญ่ภายในปราสาทที่ได้รับการขนานนามตามการเดินเรือออกสำรวจ 9 ครั้งของลอร์ดคอร์ลิส ซึ่งทำให้เขามั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติจนสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นมาได้ ภายในโถงเต็มไปด้วยคอลเลกชันล้ำค่าจากการออกเรือผจญภัยไปยังดินแดนห่างไกล ผนังสีฟ้าครามสะท้อนแสงราวกับผืนน้ำทะเล บัลลังก์ไม้ขนาดมหึมาตั้งตระหง่าน รายล้อมไปด้วยรูปปั้นสัตว์ทะเลที่สื่อถึงพลังอำนาจของท้องทะเลและอิสรภาพเหนือคลื่นลมของชาวเรือ 

3.
King’s Landing

กำแพงหินหนาเตอะ หลังคาจั่วสีแดงสดมองไปสุดลูกหูลูกตา ตรอกซอกคับแคบ ซอยที่ซ้อนกันไปมา กำแพงเมืองที่โอบล้อมเมืองไว้อย่างแน่นหนา นี่คือ King’s Landing เมืองหลวงของ 7 อาณาจักรแห่งเวสเตอรอส ในซีรีส์ Game of Thrones เมือง Dubrovnik ประเทศโครเอเชีย ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากเมือง King’s Landing ส่วนในซีรีส์ House of the Dragon เมือง Cáceres ประเทศสเปน ได้รับหน้าที่ถ่ายทอดความรุ่งเรืองในยุคก่อนการล่มสลายของราชวงศ์ Targaryen

Red Keep ปราสาทหินสีแดง ตั้งสูงตระหง่านอยู่ปลายเนินเขา Aegon จรดชายฝั่งทะเล สร้างด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมยุคกลางจากหลายประเทศในยุโรป ด้วยโครงสร้างยุคใหม่ที่ช่วยให้ก่อสร้างได้สูงกว่าหอคอยทั่วไปในยุคกลางที่คาดว่ามีความสูงราว 21 ถึง 30 เมตร แต่ปราสาทหลังนี้น่าจะมีความสูงมากกว่า ในนัยหนึ่ง ความสูงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ Targaryen อีกทั้งยังแสดงลำดับความสำคัญของบุคคลโดยส่วนที่สูงที่สุดก็คือหอคอยกษัตริย์ 

ทะเลด้านหนึ่งกลายเป็นเกราะป้องกันการโจมตีตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการวางยุทธศาสตร์ที่ตั้ง และมันยังมอบความเป็นส่วนตัวอันน้อยนิดให้สมาชิกผู้อยู่อาศัยด้วย ปราสาทมีม่านกำแพงขนาดใหญ่ แบ่งแยกโซนชั้นนอกและชั้นใน กำแพงและป้อมปราการไต่ระดับกันขึ้นไปแบบชั้นซ้อนชั้น หอกลองทั้ง 7 กระจายตัวรอบปราสาทพร้อมส่งสัญญาณเตือนภัย หน้าตาของปราสาทหลอมรวมพื้นที่อยู่อาศัยเข้ากับองค์ประกอบทางรูปทรงเพื่อรักษาความปลอดภัย 

ปราสาทแดงหลังนี้ไม่ใช่แค่บ้านของราชวงศ์เท่านั้น แต่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง ในฉากโซนที่อยู่อาศัยอย่างห้องนอนของกษัตริย์นั้น เราเห็นโทนแสงของฉากที่เปลี่ยนไปจากความมืดสู่ความสว่าง เพราะความสูงและตำแหน่งของห้องเป็นตัวกำหนดคุณภาพการอยู่อาศัย หากจินตนาการเปรียบเทียบกับห้องของบริวารข้ารับใช้ที่อยู่ด้านล่างของปราสาท เราจะรับรู้ได้ถึงแสงสว่างที่ค่อย ๆ ลดน้อยลง ราวกับว่าแสงสว่างนั้นมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและสถานะทางสังคม

ฉากห้องบัลลังก์เหล็ก Iron Throne ในท้องพระโรงใหญ่นำมาแปลงใหม่ โดยเพิ่มจำนวนดาบที่บิดเบี้ยวหลอมละลายไหลลงมาตามบันไดยกระดับทั้ง 2 ฝั่งของเก้าอี้เหล็กในเวอร์ชัน House of the Dragon 

ส่วนในห้องประชุมสภา Small Council ยังคงเป็นห้องที่เรียบง่าย มีโต๊ะยาวและเก้าอี้ในสัดส่วนห้องประชุมเมื่อเทียบกับโถงบัลลังก์เหล็กที่มีความเป็นทางการ เพดานสูง ตำแหน่งของระดับสายตา หน้าต่างบานใหญ่หลังบัลลังก์ และความว่างเปล่าของพื้นที่ภายในที่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกตัวเล็กลง ห้องต่าง ๆ ในปราสาทหลังนี้ประกอบเข้าด้วยกันเหมือนเขาวงกต มีทั้งห้องใต้ดิน ทางเดินลับ และซอกหลืบที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อน ให้ความรู้สึกถึงการถูกเฝ้าสังเกตและเกมการเมืองที่แฝงตัวอยู่ 

ลานกว้าง บันไดกลาง และซุ้มทางเดินเชื่อมต่อ (Arcades) ในมุมมองหนึ่งเป็นเพียงพื้นที่เชื่อมต่อ ซึ่งมักถูกละเลยในงานออกแบบ ในหลายซีนของซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเสียงกระซิบและบทสนทนาลับจากพื้นที่เหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเกมทางการเมืองอย่างแท้จริง 

เรามักคิดว่าการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ เกิดขึ้นในโถงบัลลังก์เหล็กหรือในห้องประชุม แต่ในความเป็นจริง ผู้ใช้งานมักแลกเปลี่ยนความคิดกันหลังเดินออกจากห้องประชุมหรือระหว่างพักเบรก เพราะฉะนั้นการออกแบบช่วงต่อพื้นที่เหล่านี้นั้น สถาปนิกควรมองให้เป็นมากกว่าทางเดินเส้นตรงที่มีความกว้าง 2 เมตร พื้นที่แบบนี้ในอาคารสาธารณะหรือสถานที่ราชการสร้างโอกาสให้เกิดบทสนทนาและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด เหมือนกับการใช้องค์ประกอบอย่างซุ้มโค้ง (Arch) และ โดม (Dome) เพื่อสร้างสัญลักษณ์ถึงความอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โมเดล 3 มิติแบบจำลอง Old Valyria บ้านเกิดของต้นตระกูลทาร์แกเรียนอันเป็นที่เล่าขานถึงความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรือง เป็นงานอดิเรกของกษัตริย์ Viserys ผู้ล่วงลับ ซึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านบันทึกข้อมูลและสร้างประกอบมันขึ้นมา การล่มสลายของเมืองจากเหตุภูเขาไฟระเบิดทำลายล้างทั้งเมืองในชั่วพริบตา เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกับการล่มสลายของ Pompeii ในโลกความเป็นจริง ซึ่งถูกทำลายล้างจากการระเบิดของภูเขาไฟ Vesuvius ในปี 79 บทเรียนในสภาวะสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้นของตระกูลทาร์แกเรียน ความมืดและฉากที่ยิ่งสงบในขณะที่พายุกำลังก่อตัว ปราสาทที่พำนักของชนชั้นปกครองที่ภาษาทางสถาปัตยกรรมใช้ความสำคัญกับการป้องกันภัยจากการรุกราน องค์ประกอบงานออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอยในยามศึกสงคราม รูปทรงป้อมปราการ หอคอยเฝ้าระวัง เส้นซิกแซ็กของแนวกำแพงป้องกัน ประตูเข้าเมืองที่แข็งแกร่ง ล้วนออกแบบมาเพื่อป้องกันการรุกราน สะท้อนให้เห็นความตระหนักถึงอันตรายและความจำเป็นในการปกป้องตนเอง สภาวะสงครามที่กำลังจะมาถึง ซึ่งประชาชนธรรมดาจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ข้อมูลอ้างอิง
  • Images from HBO
  • www.dezeen.com/2022/10/21/house-of-the-dragon-jim-clay-set-design
  • www.re-thinkingthefuture.com/rtf-architectural-reviews

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ