เพื่อให้สอดคล้องกับตัวซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว ญาติ และพี่น้อง ผมคงต้องลำดับญาติ House of the Dragon ว่าเป็นซีรีส์ที่มี ‘อายุน้อยกว่า’ แต่มีศักดิ์เป็น ‘พี่’ ของซีรีส์ที่เปลี่ยนโลกโทรทัศน์ไปตลอดกาลอย่าง Game of Thrones โดยพี่ผู้น้องคนนี้ได้สานต่อความสำเร็จเดิม ด้วยการทำลายสถิติยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นในทุก ๆ อีพี 

ทั้งยังมีรูปลักษณ์และนิสัยที่ดึงดูด น่าค้นหา แตกต่างจากคนน้องที่อายุมากกว่า กับได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากน้องอายุมากคนนั้น จนสร้างแฟนหน้าใหม่และดึงผู้ชมหน้าเก่ากับนักอ่านต้นฉบับนิยายให้กลับมายังโลกใบเดิมอีกครั้ง แถมยังรู้ว่าต้องเป็นตัวเองอย่างไรถึงจะนิสัยไม่เหมือนกันเกินไป แต่ดูก็รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจแง่มุมและประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งเห็นด้วยตาเปล่าและแทรกอยู่ในซีรีส์ House of the Dragon ครับ อาจยาวหน่อย แต่พยายามเก็บให้ครบที่สุด เพราะเนื้อหาบทความจะมีตั้งแต่ฉากหน้าอย่างเรื่องครอบครัว อำนาจของผู้หญิง & คนเป็นแม่ ระบบชายเป็นใหญ่ที่กดทับทุกคน ไม่เพียงแต่ผู้หญิง ความถูกต้อง และหน้าที่ ไปจนถึงเรื่องของสายเลือด และฉากหลังที่โดดเด้งเป็นสามมิติไม่แพ้ฉากหน้าอย่าง ‘อำนาจแห่งมังกร’ ที่มนุษย์ไม่ควรข้องเกี่ยว

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ House of the Dragon ซีซั่น 1**

ภาระหน้าที่

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

“เอกอน (Aegon) มีนิมิต เขาฝันเห็นจุดจบของมนุษยชาติ ความมืดมิดอันไม่สิ้นสุดจากแดนเหนือ และหากปรารถนาจะมีชีวิตรอด จะต้องมีตระกูลทาร์แกเรียน (Targaryen) นั่งอยู่บนบัลลังก์เหล็ก ไม่ว่าจะราชาหรือราชินีก็ตาม คนคนนั้นต้องแกร่งพอที่จะรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้กับความหนาวเหน็บและความมืดนี้ มันคือหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่จะต้องแบกรับ ที่ใหญ่กว่าทั้งตัวข้า ตัวเจ้า และบัลลังก์ เอกอน ทาร์แกเรียน เรียกนิมิตของเขาว่าบทลำนำแห่งเหมันต์และอัคคี (The Song of Ice and Fire) และลูกหลานของสายเลือดนี้ คือเจ้าชายแห่งพันธะสัญญา (The Prince That Was Promised)”

ว่ากันด้วยเรื่องหน้าที่ หน้าที่ที่ใหญ่ที่สุดในซีรีส์เรื่องนี้คงไม่พ้นการที่ตัวละครเอกอย่าง เรนีร่า (Rhaenyra) รัชทายาทที่ต้องรับช่วงต่อความลับจากรุ่นสู่รุ่นที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัย เอกอนผู้พิชิต ราชาคนแรกผู้หลอมสร้างบัลลังก์เหล็กและรวม 7 อาณาจักรเข้าไว้ด้วยกัน จนถึงพ่อของเธอ และเธอที่จะต้องแบกรับสิ่งนี้ 

ความลับใหญ่นี้หรือเจตนาในการพิชิตอาณาจักรตั้งแต่แรกเริ่ม เกิดจากการร่วมเป็นผู้สร้างซีรีส์ของ George R.R. Martin ผู้แต่งหนังสือต้นฉบับ ที่ใส่รายละเอียดนี้เข้ามาผูกโยงกับกริช Catspaw ใน Game of Thrones ที่ อาย่า สตาร์ค (Arya Stark) ใช้เปลี่ยน Night King ให้เป็นบิงซูใน Game of Thrones ซีซั่นสุดท้าย 

ทั้งยังเปลี่ยนความเข้าใจทั้งแฟนนิยายและแฟนซีรีส์ Game of Thrones กับผู้อ่าน Fire & Blood ไปตลอดกาล ด้วยการนิยามคำว่า ‘A Song of Ice and Fire’ ใหม่ จากเดิมที่เรา ๆ เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของ จอน สโนว์ (Jon Snow) ที่เป็นลูกครึ่งมนุษย์แดนเหนือ (น้ำแข็ง) และมังกร (ไฟ) หรือเป็นเรื่องของ จอน สโนว์ (ตัวแทนน้ำแข็ง) และ แดเนริส (Daenerys) (ตัวแทนไฟ) ซีรีส์เรื่องนี้คือการยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของมังกร (ไฟ) และ White Walker หรือกองทัพคนตาย ซอมบี้หิมะที่นำโดย Night King มาโดยตลอด

หน้าที่นี้นำไปสู่ภาระอันหนักอึ้งของเด็กหญิงอายุ 13 – 14 ผู้ไม่ได้ต้องการเป็นราชินี แต่กลับคู่ควรที่สุดในช่วงเวลานั้น แทนที่จะเป็นองค์ชายเดมอน (Daemon) ผู้เป็นอา และการคู่ควรกับเป้าหมายที่ต้องสานต่อนี้ มีอุปสรรคอยู่ที่ระบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ในยุคกลาง (ที่จะพูดถึงในภายหลัง) เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยคาดหวังให้เป็นบุตรชายคนโตหรือผู้ชายเท่านั้นที่นั่งบัลลังก์เหล็ก และปมปัญหาเรื่องนี้ที่เรนีร่าต้องการพิสูจน์และแบกรับไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนซีรีส์ House of the Dragon

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

นอกจากเรื่องหน้าที่ของเรนีร่าแล้ว หน้าที่ของวิเซริส (Viserys) ก็สำคัญเช่นเดียวกันครับ วิเซริสเป็นตัวละครหนึ่งที่สวมบทบาททั้งราชาของประชาชน ผู้ได้รับมอบหมายภารกิจ และยังเป็นสามี กับพ่อของลูก ๆ ตาของหลาน ๆ ความเป็นหลายอย่างในเวลาเดียวกันนี้ทำให้วิเซริสไม่ต่างจาก Spider-man ฉบับของ Tobey Maguire ในภาค 2 ที่พยายามดึงใยแมงมุมหน้าขบวนและไม่ให้รถไฟชื่อตระกูล ‘ทาร์แกเรียน’ ที่มีผู้โดยสารคือคนในตระกูลและผู้คนในอาณาจักรต้องตกราง นี่คือบททดสอบใหญ่หลวงของคนเป็นราชา ซึ่งต้องเจอปัญหาปวดหัวมากมาย ทั้งทางการเมืองและดราม่าภายในครอบครัวตัวเอง กับน้อง กับลูกสาว ไหนจะลูกและราชินีคนใหม่จากฝั่งไฮทาวเวอร์ (Hightower) อย่างอลิเซนต์ (Alicent) เพื่อนสนิทลูกสาวที่เกิดจากการเลือกด้วยความรู้สึกมากกว่าเหตุผลและความสมควร นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายและยากจะรับมือเกินจินตนาการ

สิ่งที่วิเซริสต้องทำคือทำหน้าที่เลือกคู่ครองและสืบสายเลือด ซึ่งได้คำแนะนำจากคนรอบตัวและที่ปรึกษาที่ดีอย่าง ลอร์ด ลีโอเนล สตรอง (Lord Lyonel Strong) แล้วให้แต่งงานกับ ลีอานา เวแลเรียน (Laena Velaryon) แต่เขากลับเลือกผิด ก่อให้เกิดเป็นทาร์แกเรียนอีกฝั่งที่กลับแว้งมาขัดแย้งกับเป้าหมายและการแต่งตั้งรัชทายาทซะเอง และแม้ในสายตาเขาทุกคนจะเป็นครอบครัว แต่หารู้ไม่ว่าทาร์แกเรียนได้ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่งตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาเอ่ยปากเลือกคู่ครองคนนี้แล้ว

Paddy Considine นักแสดงผู้รับบทนี้กับผู้สร้างบอกว่า ที่วิเซริสดูแก่กว่าเดมอนมากและมีสภาพอย่างที่เห็นเป็นเพราะโรคเรื้อนชนิดหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน้าที่ต่าง ๆ นี้ของวิเซริสมันน่าปวดหัวและกัดกินเขาในเชิงกายภาพมากแค่ไหน และเขามีเพียงหน้ากากทองคำ (น่าตลกร้ายที่คนชื่อวิเซริสอีกคนใน Game of Thrones ก็ถูกราดหน้ากากทองคำลงบนหัวเช่นเดียวกัน) กับไม้เท้า ช่วยให้เขาทำหน้าที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวและอาณาจักรไว้ด้วยกัน แต่มันก็ขาดสะบั้นลงด้วยความตาย กับการทิ้งบอมบ์ก่อนไปด้วยการเอ่ยชื่อ ‘เอกอน’ ซ้ำกับเอกอนผู้พิชิต 

ทำให้นอกจากเพศชายที่มีภาษีดีกว่าเพศหญิงในยุคนั้นแล้ว คณะเขียวมีเหตุผลของตัวเองเพิ่มด้วยการมองว่านี่เป็นคำสั่งเสีย และกลายเป็นเหตุผลข้อสำคัญอันชอบธรรมในการผลักดันให้ลูกชายคณะเขียวอย่าง เอกอนที่ 2 ที่ใช้ทั้งชื่อผู้พิชิต ใช้ทั้งดาบ Blackfyre ของเขา สวมมงกุฎของเขา และถูกแต่งตั้งต่อหน้าประชาชนโดยสังฆราช กลายเป็นผู้ช่วงชิงบัลลังก์เหล็กจากพี่สาวต่างมารดา

ก่อนจากไป วิเซริสพยายามทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวอย่างดีที่สุด ด้วยการลุกจากเตียงด้วยสภาพเจียนตายมานั่งบัลลังก์ในช่วงเวลาที่ลูกสาวต้องการเขาที่สุด ทำให้ทุกคนช็อกและขนลุกไปตาม ๆ กัน (ทั้งตัวละครและคนดู) ดังที่ผู้กำกับตอนที่ 8 กล่าวไว้ว่า “วิเซริสไม่ได้เดินไปหาบัลลังก์ เขาเดินไปหาลูกสาวของเขา” นั่นทำให้เขาได้รับฉายา ‘Viserys, The Peaceful’ ชายผู้ประนีประนอม

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

แต่เรื่องหน้าที่ไม่ได้จบลงแค่ตระกูลทาร์แกเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งที่เกี่ยวข้องกับทาร์แกเรียนเองอย่างคู่ เรนีร่า และ เซอร์ เลอนอ เวแลเรียน (Ser Laenor Velaryon) กับเรนีร่า และ เซอร์ คริสตัน โคล (Ser Criston Cole) และ เซอร์ ฮาร์วิน สตรอง (Ser Harwin Strong) ก็เช่นเดียวกันครับ และทุกคนที่กล่าวไปเกี่ยวข้องกับประเด็นการสมรส ความรัก และหน้าที่

เรนีร่าและเลอนอแสดงความหัวใหม่ภายใต้ยุคมายด์เซ็ตโบราณ ด้วยการทำหน้าที่แต่งงาน แม้เลอนอจะไม่ได้ชอบผู้หญิง และเรนีร่าจะไม่ได้รักเขาก็ตาม นี่เป็นการแก้มือจากการตัดสินใจพลาดของวิเซริสที่เธอพอจะทำได้ เพื่อรวม 2 ตระกูลสายเลือดเวแลเรีย (Velyria) โบราณเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเธอทั้งคิดถูกและคิดผิด เมื่อดูจากผลลัพธ์ในภายหลัง 

ที่ว่าคิดถูกและคิดผิด เพราะมันทำให้ เซอร์ คริสตัน โคล เกิดอาการงอแงไม่พอใจ นำไปสู่การย้ายฝั่งและด่าสบถ ทำหน้าแสยะใส่ฝั่งคณะดำบ่อยครั้ง รวมไปถึงการที่รสนิยมไม่ตรงกันกับความต้องการเรื่องบนเตียง และการให้กำเนิดบุตร (ตามที่ตัวละครได้กล่าวไว้) นำเรนีร่าไปสู่การแอบคบหลบ ๆ ซ่อน ๆ กับเซอร์ ฮาร์วิน สตรอง และเด็กผมน้ำตาลบุตร 3 คน คือ เจซ (Jace) ลุค (Luke) และ จอฟฟรีย์ (Joffrey) ที่ถูกล้อว่า ‘แข็งแรง’ ไปตลอดชีวิต และยังเป็นปมขัดแย้งที่ทำให้เกิดความครหาในอาณาจักร กับทำให้ 2 คณะเริ่มบาดหมางกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ท้ายที่สุด ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวไป นำไปสู่บทสรุปตามที่ เมสเตอร์ เอมอน (Master Aemon) กล่าวไว้กับ จอน สโนว์ ใน Game of Thrones ว่าLove Is The Death Of Duty กับที่ทีเรี่ยน แลนนิสเตอร์ (Tyrion Lannister) เคยพูดต่อประโยคว่า “But Somtimes Duty Is The Death Of Love” ครับ เพราะหากไล่เรียงดูก็จะพบว่า การสร้างเหตุการณ์ตายปลอมของเซอร์ เลอนอ นั้นแหวกขนบตรงเป็น “Death of the Duty is Love” และเขาได้ใช้ชีวิตกับ เซอร์ คาร์ล (Ser Qarl) คู่รักอย่างที่ปรารถนาโดยปราศจากหน้าที่ ความจำเป็น และพันธะที่ต้องแบกรับในชื่อเวแลเรียนและทายาทแห่งดริฟต์มาร์ค (Driftmark) ในขณะที่ของ เซอร์ คริสตัน ความรักที่มากล้นทำให้เขาผิดหวังและสิ้นสุดการเป็นองค์รักษ์องค์หญิงเรนีร่า และสำหรับเซอร์ ฮาร์วิน หน้าที่องค์รักษ์องค์หญิงนำไปสู่ความรักที่ไม่อาจควร และการทำพลาดในฐานะทั้งพ่อคนและองค์รักษ์องค์หญิง นำไปสู่ความตายที่เป็นจุดสิ้นสุดของความรักเช่นเดียวกัน

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

สองพี่น้องฝาแฝด Erryk กับ Arryk Cargyll ก็เช่นเดียวกันครับ เรื่องราวของสองคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฝาแฝดในตำนานยุคกลางอย่าง Balin และ Balan โดยในเรื่องนี้ ทั้งสองคนยึดถืออุดมการณ์คนละอย่าง และมีความถูกต้องในแบบที่แตกต่างกัน นำไปสู่การที่ต้องห้ำหั่นกันเอง เพราะ Erryk ผู้รับใช้เอกอนที่ 2 อย่างใกล้ชิด และมองเห็นว่ามันจะเลวร้ายขนาดไหนหากคนนี้ได้ขึ้นครองบัลลังก์ จึงได้เลือกข้างคณะดำและขโมยมงกุฎของวิเซริสไปให้เรนีร่า ผู้เป็นรัชทายาทที่แท้จริงพร้อมถวายคำสัตย์ 

ในขณะที่ Arryk เชื่อว่าหากสาบานตนไว้แล้วก็ต้องรักษาสัญญา และรับใช้เชื่อฟังคำสั่งจนกว่าชีวิตจะหาไม่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หรือก็คือคนหนึ่งเชื่อใน ‘ความถูกต้อง’ และคนหนึ่งเชื่อใน ‘หน้าที่’ ที่โดยรวมแล้วคือเป็นความถูกต้องในแบบฉบับของตัวเองนั่นเองครับ เป็นเหตุผลให้ทั้งสองมายืนประจันหน้ากัน และอาจมีฉากปะทะกันในภายภาคหน้า

สายเลือดมังกร บุตร และการสมรส

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

สายเลือดเวแลเรียโบราณของทาร์แกเรียนที่เหลือรอดเพียง 2 ตระกูล คือทาร์แกเรียนและเวแลเรียน ตระกูลหนึ่งคุมเวหา อีกตระกูลคุมทะเล และสำหรับทาร์แกเรียน ตระกูลผู้ผูกติดภาพตัวเองเข้ากับมังกรและเป็นตระกูลเดียวในตระกูล Dragonlord ที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ล่มสลาย ‘Doom of Valyria’ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องรักษาความบริสุทธิ์เอาไว้

ในเรื่องการสมรส เรื่องนี้เป็นเรื่องของหน้าที่ ผลประโยชน์ และอำนาจ และเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญในโลก Game of Thrones ที่หากตัดสินใจพลาด อาจตายทั้งโคตรได้ และหากตัดสินใจถูก ก็อาจรุ่งโรจน์ได้ จึงต้องตัดสินใจอย่างรอบและใช้เหตุผลให้มากที่สุด (เราเห็นในทั้งสองเรื่องแล้วว่าตัดสินใจพลาดแล้วจะเป็นยังไง) 

สำหรับทาร์แกเรียนที่มีธรรมเนียมแต่งงานด้วยกันเองในเครือญาติ (Incest) เป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือด แสดงถึงการผูกขาดอำนาจให้อยู่ภายในตระกูล ไม่ไหลออก และไม่ถูกแทรกแซงโดยคนนอกเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่จะว่าใครที่ทำเช่นนี้ ย่อมมีความเสี่ยงทั้งสูญเสียคนรักกับบุตรในท้องจากการพิกลพิการหรือเป็นคนวิกลจริต แต่ดูเหมือนสำหรับทาร์แกเรียน มันเป็นความเสี่ยงที่พวกเขายอมรับและจำเป็นต้องทำ

ความสัมพันธ์แบบ Family-drama ในซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งพี่ชายน้องชายและพ่อกับลูกสาว ที่มีวิเซริส เดมอน กับเรนีร่า เป็นแกนกลางมาโดยตลอด ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดี เหินห่าง และมีความเป็น Dysfunctional Family ยิ่งเลวร้ายเมื่อ อลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์ สมรสกับวิเซริส จากนั้นตระกูลหอคอยแทรกเข้ามาอยู่ในราชวงศ์และมีอำนาจ จากการสร้างทาร์แกเรียนของฝั่งตัวเอง ทำให้เกิดเป็นเอกอนที่ 2 เอมอน และ เฮเลน่า โดยมีเอกอนเป็นแคนดิเดตผู้ท้าชิง

เช่นเดียวกัน ในขณะที่ตระกูลไฮทาวเวอร์รู้ว่าสิ่งนี้ทำให้พวกเขามีอำนาจ เรนีร่าก็รู้ว่าใครที่ปกป้องเธอได้ และการสมรสกับเดมอนผู้เป็นอาดูเป็นทางเลือกที่ดีสุดครับ ด้วยความเป็นเดมอนที่ทั้งเกรี้ยวกราด ดูคุกคาม คนยำเกรง และเชื่อในการทำสิ่งที่ต้องทำ อาจะปกป้องเธอ ลูก ๆ และตระกูลทาร์แกเรียนฝั่งคณะดำได้ ซึ่งเรนีร่ายอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง (ฉากคลอดลูกในอีพีสุดท้ายเห็นได้ชัดว่าเธอรับมือในฐานะสิ่งที่ต้องทำและต้องเกิดขึ้น) เพราะแลกมากับอำนาจและความเป็นปึกแผ่น ทั้งหมดเพื่อหน้าที่ที่จะต้องทำต่อไป คือการสานต่อเจตนารมณ์ของเอกอนผู้พิชิต

บุตรคนรอง

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 อำนาจแห่งสายเลือด มังกร และแม่ในระบอบปิตาธิปไตย

ในซีรีส์ House of the Dragon บุตรคนรองดูจะมีบทบาทโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญครับ ตั้งแต่ คอร์ลิส เวแลเรียน (Corlys Velaryon) ที่สร้างชื่อด้วยตัวเอง เดมอน ทาร์แกเรียน น้องชายราชาที่ได้กลายเป็นราชาแห่งทะเลแคบจากศึกที่ Stepstones จนถึง เวมอนด์ เวแลเรียน (Vemond Velaryon) ผู้ประนามรัชทายาทต่อหน้าทุกคนในท้องพระโรง ไปจนถึง เอมอน ทาร์แกเรียน ของฝั่งคณะเขียว

ที่โดดเด่นที่สุดก็คงไม่พ้น เดมอน 1.0 และ เดมอน 2.0 (เอมอน ทาร์แกเรียน) ที่เหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน หากไม่นับว่าเดมอนมีลูกตาสองข้าง ทั้งคู่ดูมีความคู่ขนานกันอย่างน่าประหลาด ตั้งแต่ผมยาว เป็นตัวละครที่อีกฝั่งเกรงกลัวและรู้สึกถึงภัยคุกคาม ใช้หินเป็นอาวุธ ไม่เกรงกลัวใคร ทำตัวเงียบ ๆ คอยสังเกต บ้าระห่ำ ตายเป็นตาย ฝีปากจัดจ้าน ตัวผอมสูง นิยมสายเลือดบริสุทธิ์ และคุณลักษณะที่สำคัญ ทั้งคู่ต่างรักพี่และยืดหยัดเพื่อพี่ในช่วงเวลาที่จำเป็น ดังที่เราจะเห็นว่าเดมอนพยุงวิเซริส เป็นฉากบ่งบอกว่าเขาต้องการแค่นี้อย่างที่เคยได้พูดไว้ ว่าอยากอยู่ข้าง ๆ คอยปกป้องพี่เพื่อไม่ให้พี่ดูอ่อนแอ และไม่เคยคิดจะชิงบัลลังก์แต่อย่างใด ในขณะที่ฉากงานเลี้ยง เอมอนลุกขึ้นยืนและคอยหันเก้าอี้มองตลอดเวลาที่คู่ครองของพี่ (เฮเลน่า น้องสาวตัวเอง) เต้นรำกับหนุ่มสตรอง

ดูท่า George R.R. Martin จะมีความชอบพอลูกคนรองไม่น้อยเลยครับ (อาจชอบในความสามารถและการที่ต้องพิสูน์ตนเองของลูกคนที่สอง เพราะ เอกอนที่ 1 ก็ลูกคนรองเช่นกัน) และมอบบทบาทสำคัญที่น่าจับตามองให้ แบบที่เรียกได้ว่าถ้าหากอีพี 1 – 5 เป็นอีพีของเดมอน อีพี 6 – 10 คืออีพีของเอมอน สองตัวละครที่แม้แต่ชื่อยังมีตัวอักษรเท่ากัน และสลับ D หน้าชื่อ Daemon ไปไว้ข้างหลัง จะได้เป็น Aemond ดูก็รู้ว่าผู้แต่งต้องการสร้างเดมอนมาให้ฝั่งเขียวเพื่อคานอำนาจเดมอนของคณะดำ ในมุมมองของผม คณะเขียวไม่ได้โชคดีที่มีเวการ์ (Vhagar) มังกรตัวใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่โชคดีที่มี เอมอน vs. เดมอน ครับ (และโชคร้ายที่ไอ้ลูกคนนี้ก่อเรื่องด้วยเช่นกัน)

ส่วนถ้าจะพูดถึงความแตกต่างของสองตัวละครนี้ ก็เห็นจะเป็นการที่เดมอนไม่เคยต้องการบัลลังก์ นอกจากโอกาสอยู่ข้าง ๆ พี่และการยอมรับจากพี่ตัวเอง ในขณะที่เอมอนในอีพี 8 พูดกับ เซอร์ คริสตัน และแสดงจุดประสงค์ชัดเจนว่า ที่ตัวเองอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และศึกษาปรัชญา มีฝีมือดาบและมังกรตัวใหญ่ที่สุด (ทั้งยังไม่บ้ากามและไม่ติดแอลกอฮอล์) คู่ควรกว่าพี่ 

หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าคนหนึ่งจะต้องการบัลลังก์และอีกคนไม่ต้องการ ทั้งสองตัวละครนี้ในฐานะลูกคนรองมีดีและเฉียบขาดกว่าพี่ชาย และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อตระกูลอย่างเห็นได้ชัดครับ แต่เอมอนยังห่างชั้นกับเดมอนอีกมาก ฉากที่ทั้งคู่มองหน้ากันในงานเลี้ยงเลยให้ความรู้สึกเหมือนเดมอนมองตัวเองในอดีต และเด็กคนนี้ก็ดูจะเป็นแฟนคลับตัวยงที่ดูชื่นชม ผสมอยากปะทะกับเขาซะเหลือเกิน

3 สตรี 3 จุดยืน บทบาทของความเป็นมารดาและปิตาธิปไตย

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

ประเด็นปิตาธิปไตยเด่นชัดตั้งแต่ฉากแรกของซีรีส์ House of the Dragon ที่เปลี่ยนรายละเอียดจากในหนังสือ ให้แคนดิเดตรัชทายาทของกษัตริย์เฒ่า เจแฮริส (Jaehaerys) ที่ 1 ซึ่งเคยเป็นระหว่าง เลอนอกับวิเซริส ให้เป็นเรนีส (Rhaenys) กับวิเซริส ทั้งหมดก็เพื่อความเด่นชัดว่าผู้หญิงในยุคนั้นถูกมองข้ามแค่ไหน และคนดูต่างรู้ดีว่า ยิ่งดูไป เรนีสเป็นตัวละครที่เล่นเกมเป็น เฉียบขาด และมีชั้นเชิงสมเป็นราชินี แต่แทนที่จะได้ครองบัลลังก์ เธอที่เหมาะสมกว่าได้รับเพียงฉายา ‘The Queen Who Never Was’ ที่ถูกขนานนามให้อย่างไม่เคยต้องการ ฟังทีไรทั้งสะใจและเจ็บใจในเวลาเดียวกัน

นอกจากปิตาธิปไตยในระบบแล้ว บทบาทของสตรีและความเป็นแม่ยังโดดเด่นไม่แพ้กันครับ สาเหตุที่ซีรีส์มีฉากคลอดให้เห็นเยอะจนมีคนล้อว่าเป็นซีรีส์ทำคลอด ก็เพราะเป็นฉากที่จำเป็นต้องมี นอกจากฉากเหล่านี้ ผู้สร้างตั้งใจให้คนดูไม่ว่าเพศไหน ได้เข้าใจความเจ็บปวดของการเกิดเป็นผู้หญิงยุค Medieval ที่ถูกนำภาพลักษณ์ไปผูกโยงกับการคลอดบุตร ผู้กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และทำหน้าที่อย่างไม่ขัดขืน ในขณะที่ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวและได้รับการยอมรับกับสิทธิ์มากกว่า โดยไม่เกี่ยวกับความสามารถแต่อย่างใด โดยของเฉพาะผู้หญิงที่สมรสแบบ Incest และมีความเสี่ยงสูงด้วยแล้ว มันคือสมรภูมิรบดี ๆ นี่เองของฝั่งสตรี ดังที่เราจะเห็นว่าฉากทำคลอดเรื่องนี้ดูสมจริง เจ็บปวด และในอีพีแรกมีการตัดสลับคู่ขนานกับการต่อสู้ในสนามประลอง

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

ความเป็นมารดาเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่เสมอ และความเป็นสตรีเป็นเพศที่มีอำนาจในตัวเองต่อสงครามสงครามหนึ่งตั้งแต่ยุคโบราณยันโมเดิร์น และสำหรับเรื่องนี้ ทั้งในฐานะแม่ของลูก ภรรยาของสามี และราชินีของพระราชา เราจะสังเกตเห็นว่าตัวละครหญิงแบ่งเป็น 3 คนและประเภทในระบบนี้อย่างชัดเจนเลยครับ

เรนีร่า ทาร์แกเรียน คือผู้ไม่ยอมจำนน เธอได้รับตำแหน่งรัชทายาทเพราะพ่อมองว่าคู่ควร หรือเป็นหน้าที่และความจำเป็น แต่ก็มีเรื่องให้ต้องพิสูจน์อีก และเมื่อมีโอกาส เธอเป็นตัวละครที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ ไม่ยอมจำนนกับระบบที่กดทับอยู่นี้ ฉากหนึ่งที่ผมชอบคือฉากที่เรนีร่าเรียก เบล่า ทาร์แกเรียน ไปประชุมด้วย เธอปฏิบัติกับเบล่าต่างจากที่แต่ก่อนตอนเป็นเด็ก ตัวเองเคยรินไวน์ให้เองและไม่มีสิทธิ์ออกเสียง การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงที่เรนีร่าตั้งใจ ดูจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้แล้วครับ

เรนีส ทาร์แกเรียน เป็นตัวละครที่คั่นกลางระหว่างทั้งสอง เธอเข้าใกล้ความเป็นราชินีที่สุด ในขณะเดียวกันก็อยู่ไกลจากมันที่สุด ด้วยความเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่ระบอบระบบนี้ยังคงอยู่ เรนีสเข้าใจสรรพสิ่งดี เธอรู้ดีว่าต่อสู้ไปก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เลยเล่นไปตามเกมด้วยการเสนอลูกสาวให้แต่งงานกับวิเซริส แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเข้าใกล้บัลลังก์มากไปด้วยการส่งลูกชายให้แต่งงงานกับเรนีร่า เพราะมันอันตราย ดูเหมือนสิ่งสำคัญที่สำหรับเรนีสคือครอบครัวมากกว่าอำนาจที่คนต่างก็แย่งชิง จึงทำให้เธอไม่ดิ้นรนต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมอยู่ใต้มันเช่นกันครับ บทสนทนาของเรนีสและเรนีร่าในอีพีแรก ๆ นั้นดูเหมือนเธอแซะและดูถูก แต่ก็ปนการท้าให้ทำและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่เช่นเดียวกันครับ

และในตอนท้ายที่เรนีสเห็นว่าเรนีร่าเป็นผู้คู่ควรบัลลังก์ที่สุด กับเหตุผลที่ว่าหลาน ๆ ก็อยู่ฝั่งนี้ เธอผู้ไม่เคยเลือกข้างและถือไพ่เหนือกว่าทั้งสองคนเสมอ กับเป็นตัวแปรสำคัญที่ใครดึงไปมีภาษีดีกว่าอีกฝั่งอย่างมาก (ทั้งกองเรือและมังกร Meleys) จึงตัดสินใจเชียร์สามีและเลือกฝั่งคณะดำ นอกจากนี้เรนีส ยังฉลาดตรงที่เธอจบสงครามได้ด้วยการพูดแค่คำว่า ‘Dracarys’ แต่เลือกนำข่าวมาแจ้งเรนีร่าแทน เพราะสงครามนี้ไม่ใช่ของเธอ

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

อลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์ เป็นตัวละครที่ถือว่ามีมิติและมีเหตุผลกว่าในหนังสือเป็นอย่างมากครับ อลิเซนต์ถูก ออตโต (Otto) ผู้เป็นพ่อเชิดและนำไปวางบนรางที่พ่อปูไว้ตั้งแต่ต้น เธอเป็นหนึ่งในเหยื่อของปิตาธิปไตยเช่นเดียวกัน และเป็นตัวอย่างของสตรีผู้เพียบพร้อมทั้งในหน้าที่ ปฏิบัติกับสามีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่รังเกียจ และคอยดูแลข้าง ๆ เรื่อยมา ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาที่ดีของวิเซริส แต่ความเพียบพร้อมนี้ที่ทำให้เธอเป็นราชินี ก็ทำให้เธอเป็นตัวละครที่อยู่ใต้ ข้างใน และข้างหลังระบอบปิตาธิปไตยอย่างชัดเจนเช่นกัน ดังเช่นที่อลิเซนต์ได้เสนอเรนีสว่า สตรีสามารถควบคุมบุรุษ (ทั้งผู้เป็นพ่อและลูกหลาน) ได้ ซึ่งนั่นเป็นความจริงเกี่ยวกับอำนาจของสตรีและมารดา แต่ในขณะเดียวก็สะท้อนตามคำที่เรนีสพูดไว้ว่า ไม่ต่างอะไรกับการถูกกักขังและสร้างหน้าต่างในกำแพงระบอบนี้เพื่อดูวิวเท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าจะยืนจุดไหน ทั้งสามตัวละครถือว่ามีจุดยืนของตัวเอง และต่างแข็งแกร่งในแบบของตัวเอง เรนีร่าเลือกสายประนีประนอมเหมือนพ่อของเธอ ดูเหมือนยอมคน ดูอ่อนแอ แต่จริง ๆ แข็งแกร่งตรงที่ทิ้งความบาดหมางและแบกรับทุกอย่างนี้เอาไว้ได้ ยังคงสู้ต่อไปด้วยวิธีการที่คิดว่าเหมาะสม 

เรนีสไม่ยอมใคร อย่างที่จะเห็นว่าเธอไม่คุกเข่าให้เรนีร่าสักครั้ง แต่การเลือกฝั่งคือการยอมรับไม่ต่างกันแล้ว (อินเนอร์ควีนของคนนี้แรงอย่างเห็นได้ชัด) ในขณะที่อลิเซนต์ จากคนที่เคยถูกพ่อควบคุมและแม้จะยืนอยู่บนเส้นทางของพ่อและหันหลังไม่ได้ เธอไม่ยอมถูกพ่อเชิดและเป็นเครื่องมือของพ่ออีกต่อไป เราได้เห็นเหตุผลกับจุดยืนของตัวละครนี้ชัดเจนเช่นกัน แตกต่างกับอลิเซนต์ในฉบับหนังสือเลยครับ

มังกร อำนาจที่ไม่อาจควบคุมได้

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

มังกรถูกใช้ในการพิชิต 7 อาณาจักรโดยเอกอนผู้พิชิต และผู้ใช้ในการรวมอาณาจักรจนสงบสุขโดย เจแฮริสที่ 1 ผู้ประนีประนอม แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ลูกหลานของเขาอย่าง Maegor ผู้เหี้ยมโหดนำมังกรมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความกลัว จนกระทั่งล่าสุด ลูกหลานของพวกเขาเหล่านั้นกำลังจะใช้มังกรห้ำหั่นกันเอง

ดังที่ วิเซริส ทาร์แกเรียนที่ 1 เคยกล่าวไว้ว่า “ความคิดที่มนุษย์ควบคุมมังกรได้เป็นภาพลวงตา มังกรเป็นขุมอำนาจที่มนุษย์ไม่ควรไปแตะต้อง และหากไม่มีมัน เราไม่ต่างอะไรไปจากคนธรรมดา” และดังที่ลูกหลานอย่างแดเนริส ทาร์กาเรียน เคยกล่าวไว้ว่า “zaldrīzes buzdari iksos daor (มังกรไม่ใช่ทาส)” ไม่มีใครเข้าใจพลังที่เหนือความเข้าใจ เหมือนที่มนุษย์พยายามเข้าใจไขปริศนาของโลก ดวงดาว จักรวาล และความเป็นไปของสรรพสิ่ง ที่บางอย่างเราทำสำเร็จ และบางอย่างไม่ ซึ่งในซีรีส์ House of the Dragon มังกรคือสิ่งนั้นที่ไม่ได้เข้าใจไปซะหมด แต่มนุษย์บางกลุ่มใช้มันในการขึ้นสู่อำนาจและครองอำนาจเหนือมนุษย์ผู้อื่น ที่ถ้าถอดฟิลเตอร์ความแฟนตาซี มันคือ Privilage บางอย่างที่พร้อมกับสายเลือดดี ๆ นี่เองครับ

แนวคิดที่ว่าเฉพาะทาร์แกเรียนเท่านั้นที่ควบคุมและขี่มังกรได้ไม่เป็นความจริง เชื้อสายเวแลเรียโบราณเท่านั้นที่จะขี่มังกรได้ก็ไม่เป็นความจริงพอ ๆ กับเรื่องที่ว่าพวกเขาถูกไฟเผาไม่ตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างมาเพื่อให้ภาพลักษณ์สายเลือดนี้ดูแข็งแกร่งไร้เทียมทาน (กรณีของแดเนรีสเป็นเวทมนตร์ ที่ผสมจากเลือดบูชายัญและการฟักไข่มังกร เกิดขึ้นครั้งนั้นครั้งเดียว และในนิยายเธอไม่ได้ทนไฟได้ แต่ซีรีส์ทำให้คนดูเข้าใจผิดมาตลอด) เพราะประวัติศาสตร์ Westeros และ Essos เคยมีทั้งผู้ขี่มังกรที่ไม่ใช่สายเลือดเวแลเรีย และมีผู้ขี่มังกรที่ถูกไฟ (บางคนไฟมังกร) เผาตายเช่นกัน

จึงกล่าวได้ว่านี่คืออุบายที่สร้างตั้งแต่สมัยที่ชาวเวแลเรียผมเงิน-ขาว ตาสีม่วง (ในหนังสือ) ค้นพบมังกร ที่ว่ากันว่ามาจาก Shadowlands และคนจากที่นั่นเป็นคนสอนวิธีควบคุมด้วยแตร กับภาษา High Valyrian ซึ่งการฟักไข่และให้มังกรโตพร้อมกันกับการใช้ภาษา เป็นอีกหนึ่งการผูกขาดอำนาจมังกรนี้ไว้กับสายเลือดนี้ 

แม้กระทั่งภาพลักษณ์สีผมก็ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วชาวเวแลเรียอย่างทาร์แกเรียนเจ็บได้ ตายเป็น สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นฉากที่วิเซริสโดนบัลลังก์บาด เลือดสีแดงที่เหมือนมนุษย์ทั่วไปคือหลักฐานว่าทาร์แกเรียนไม่ใช่พระเจ้า และเขาที่แม้จะนั่งบัลลังก์ สวมมงกุฎ แต่การที่ไม่มีมังกรยิ่งชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น

เมื่อไม่มีมังกร วันหนึ่งคนจึงไม่กลัวมังกรอีกต่อไป และเกิดเป็นเหตุการณ์กบฏโรเบิร์ตที่นำไปสู่การยึดอำนาจ การหลบหนีไปสั่งสมกองทัพของแดเนรีสและเกิดศึกชิงบัลลังก์ใน Game of Thrones ในที่สุด

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

สิ่งที่เพิ่งจะเล่าไปนี้สะท้อนให้เห็นชัดสุดในซีซั่นแรก ก็ตรงปมใหญ่ที่ทำทั้งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและปมที่เป็นชนวนเริ่มต้นสงครามอย่างเป็นทางการ ทั้งหมดเริ่มจากการกระทำของตัวละคร เอมอน ทาร์แกเรียน ที่เริ่มจากการเคลมสิทธิ์มังกรเวการ์ ในงานศพของผู้ขี่คนก่อนอย่าง ลีอาน่า เวแลเรียน การกระทำนี้นำไปสู่เหตุการณ์สูญเสียตาในการทะเลาะกับเด็กสตรอง และเขาได้ฉายา ‘เอมอน’ ตาเดียว กับวลี “ตาแลกมังกร คุ้มแล้ว” ที่นำไปสู่เหตุการณ์ในตอนจบซีซั่น นั่นคือการอยากได้อะไรก็ต้องได้ และการขี่เวการ์บินไล่อาเร็กซ์ (Arrax) และลุคนั้นเอง นำไปสู่การเสียชีวิตของ ลูเซรีส เวแลเรียน (Lucerys Velaryen) และสีหน้าโกรธแค้นของเรนีร่าที่เป็นดั่งระฆังสงครามจากฝั่งดำ

เหตุการณ์นี้บ่งบอกว่ามนุษย์และทาร์แกเรียนบางคนหลงคิดไปว่าตัวเองควบคุมมังกรได้ และเอมอนเป็นหนึ่งในนั้นที่คิดเช่นนั้น การขี่มังกรตัวใหญ่ที่สุดในโลกทำให้เขาหยิ่งผยองและมั่นใจ แต่มังกรไม่ใช่ทาส ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่จะฟังคำสั่งเสมอไป ผมชอบรายละเอียดตรงนี้ที่ซีรีส์เปลี่ยนจากในฉบับหนังสือที่เอมอนจงใจสังหารลุคครับ เพราะมันเพิ่มมิติและความซับซ้อนของตัวละคร อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนหรือดูน่าเกรงขามเพียงใด ทาร์แกเรียนยังคงเป็นมนุษย์ธรรมดา และ เอมอน ทาร์แกเรียน ยังคงเป็นแค่เด็กที่เอาแต่ใจและมีปมอยากเอาชนะเสมอ

สุดท้ายแล้วเอมอนไม่สามารถโทษได้ว่าเป็นความผิดของเวการ์ และสงครามทั้งหมดเริ่มจากความบาดหมางระหว่างสายเลือดมังกรด้วยกัน และมันสะท้อนถึงวลีในตอนต้นที่ว่า “ไม่มีอะไรทำลายทาร์แกเรียนได้นอกจากตัวมันเอง” 

ตระกูลผู้ขี่มังกรที่ไร้เทียมทานใดดินแดน Westeros แต่มีศัตรูที่น่ากลัวที่สุดคือผู้ขี่มังกรและมังกรด้วยกันเอง และการแก่งแย่งชิงดีนี้คือความเป็นไปโดยธรรมชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่ห่างไกลคำว่าเพอร์เฟกต์อย่างมนุษย์

บทสรุป House of the Dragon ซีซั่น 1 ว่าด้วยอำนาจแห่งสายเลือด มังกร ไฟ และความเป็นแม่ในปิตาธิปไตย โดยเพจ Watchman

ในภาพรวมของซีรีส์ House of the Dragon ซีซั่นแรก แม้จะ Time Skip บ่อย และเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียที่การเล่าเรื่องเร็วชนิดที่เร็วยิ่งกว่า Game of Thrones ซีซั่น 7 หลายเท่า กระชับ แต่ขาดการลงรายละเอียดและการลงลึกเกี่ยวเหตุผลของตัวละคร เหตุการณ์ ปฏิกริยา ผลลัพธ์ และความเป็นไปของเหตุการณ์ต่อจากนั้น นั่นก็ดูจะเป็นเอกลักษณ์ของ House of the Dragon ไปซะแล้วครับ และผู้สร้างสัญญาว่าจากนี้จะไม่มีการแคสต์นักแสดงใหม่และเร่งเวลาอีกต่อไป เพราะตอนนี้เรื่องราวสงครามมังกรเริงระบำที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นแล้ว และ Pacing ของซีซั่นต่อ ๆ ไปจะคงเส้นคงวาเหมือน Game of Thrones ซีซั่นกลาง ๆ

House of the Dragon เป็นซีรีส์ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นภาคแยก Game of Thrones เนื่องด้วย Fire & Blood หนังสือต้นฉบับที่เป็นเรื่องราวภาคก่อนหน้า (Prequel) บอกเล่าเรื่องราว 300 ปีก่อนเหตุการณ์ในนิยาย A Song of Ice and Fire หรือซีรีส์ Game of Thrones แต่เห็นได้ชัดเลยครับตั้งแต่เริ่มทำความรู้จักในอีพีแรก ว่าเรื่องนี้เป็นซีรีส์ Stand Alone ที่ไม่ใช่ Game of Thrones ที่เรารู้จัก

แต่ในขณะเดียวกัน นี่แหละครับคือ Game of Thrones และสาเหตุไม่ใช่แค่เพราะชื่อตระกูลคุ้น ๆ บรรยากาศเคย ๆ แต่ความเป็น Game of Thrones และความถึงลูกถึงคนสไตล์ HBO อย่างความรุนแรง เพศ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ความเป็นพันธมิตรและการทรยศหักหลัง และความสมจริงที่ไม่มีใครเพอร์เฟกต์และเป็นตัวเอก มีแต่ตัวละครสีเทาในโลกที่ทุกคนตายได้ มีด้านดีและด้านแย่ กิเลสตัณหา มีด้านเสน่ห์หาและน่ารังเกียจ กับตัดสินใจด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในหลาย ๆ ครั้ง ถูกนำมาเล่าใหม่ด้วยสไตล์พงศาวดาร และแนวทางแบบ Family-drama โดยมีแกนคือปิตาธิปไตยหรือลัทธิชายเป็นใหญ่ ที่เป็นสิ่งที่ผู้สร้าง Ryan J. Condal และโปรดิวเซอร์ Miguel Sapochnick มองว่าน่าสนใจ และเป็นสาเหตุที่ทำไมถึงต้องเป็นช่วงเวลานี้ แทนที่จะเป็นช่วงเวลาอื่นใน 300 ปี

ในหนังสือ คณะดำค่อนข้างมีความเป็นตัวเอก และคณะเขียวค่อนข้างมีความเป็นตัวร้ายชัดเจน ในขณะที่ฉบับซีรีส์จะเป็นไปอย่างที่ George R.R. Martin พูดเอาไว้ว่า “เรื่องนี้จะมีแต่คนสีเทา และจะไม่มีตัวละครให้เราชอบอย่าง Arya Stark” ด้วยการพยายามบาลานซ์ให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีดีมีชั่ว และมีเหตุผลกับมุมมองเป็นของตัวเอง ซึ่งแม้จะยังรู้สึกว่าเน้นเทไปทางคณะดำมากกว่าอยู่ดี แต่ก็ถือว่าขยายมุมมองจากหนังสือต้นฉบับได้ดีมากเลยล่ะครับ ทั้งตลอดที่ผ่านมา โดยเฉพาะอีพี 9 – 10 ที่พูดถึงเหตุผลที่ต้องสู้ของทั้งสองฝั่ง เมื่อให้เห็นรอบด้านแล้ว อยู่ที่คนดูจะตัดสินว่าทีมใคร หรือรอดูโศกนาฏกรรมกับสงครามนี้อย่างเป็นกลางและหลังจากที่ทั้งสองฝั่งมีเหตุผลให้ห้ำหั่นและประกาศสงคราม เตรียมพบกับสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบที่ถูกกล่าวขานมานานในในโลก A Song of Ice and Fire ที่ชื่อ ‘ศึกมังกรเริงระบำ (The Dance of Dragons)’ ศึกของ ทาแกร์เรียน vs ทาแกร์เรียน ที่นำไปสู่การล่มสลายของตระกูลทาร์แกเรียนผู้เรืองอำนาจและการสูญพันธุ์ของมังกรในที่สุด ใน House of the Dragon ซีซั่น 2 – 3 หรืออาจถึง 4 โดยซีซั่นต่อไปจะกลับมาสานต่อความค้างคาอีกครั้งในช่วงฤดูร้อนปี 2024 ครับ

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ