28 พฤศจิกายน 2019
48 K

“เราว่ามันน่าตื่นเต้นที่คนไม่ต้องไป Art Space เพื่อดูงานศิลปะ แต่มาโกดังแทน”

เรามาที่ Warehouse 26 เป็นครั้งแรกเพื่อสัมภาษณ์ ญารินดา บุนนาค สถาปนิกไดเรกเตอร์ของ Imaginary Objects และผู้ร่วมดีไซน์สเปซ House of La Dolce Vita in Scooter 2019 พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดที่เล่าเรื่องราว ประวัติความเป็นมา รวมถึงความสุขและความสนุกของไอคอนนิกสกูตเตอร์เวสป้า แบรนด์สัญชาติอิตาลีที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอิสระตั้งแต่จำความได้

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

โกดังเก่าที่ครั้งแรกเคยเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ในซอยสุขุมวิท 26 ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะสีลูกกวาด ในรูปแบบที่เราแทบจะไม่เคยเห็นในเมืองไทยมาก่อน เป็นพิพิธภัณฑ์ในฝันของคนที่ชอบการถ่ายรูป เพราะไม่ว่าจะไปยืนตรงไหน ก็ถ่ายรูปแล้วสวยไปหมด 

ห้องแรกในพิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ เริ่มจากการเล่าว่าครั้งแรกที่เวสป้าออกสู่สายตาประชาชน โครงสร้างของรถเหมือนกับตัวต่อ แต่โปรโตไทป์แรกก่อนหน้านั้นท่ีช่ือ MP5 คล้ายคลึงกับโดนัลด์ ด๊ัก หลังจากนั้นเวสป้าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ในทุกยุคทุกสมัย โดยพิพิธภัณฑ์เล่าผ่านวิธีการสื่อสารหลายรูปแบบ มีทั้งชิ้นงานแบบ Interactive การสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ไปจนถึงไฮไลต์ห้องกระจกที่เข้าไปได้ครั้งละไม่เกิน 5 คนเท่านั้น

เรานั่งคุยกับญารินดาตรงคาเฟ่สีเขียวมิ้นล้วนด้านหน้าถึงแรงบันดาลใจและเบื้องหลังของ House of La Dolce Vita in Scooter 2019 คอนเซปต์ที่พูดถึงชีวิตที่หอมหวาน ความสุข และเรื่องราวของเวสป้า ไปจนถึงการทำรีเสิร์ชเพื่อออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่จะถ่ายรูปออกมาได้สวยอย่างภาพที่เห็น ซึ่งน่ารักดีเหมือนกันเพราะญารินดาบอกกับเราตั้งแต่แรกเลยว่า

“เราเซลฟี่ไม่ค่อยเป็น ไม่รู้ว่ามุมสวยของตัวเองคืออะไร (หัวเราะ)”

สถาปนิก/ภัณฑรักษ์

“มันเริ่มจากที่เวสป้าอยากทำ Exhibition ด้วยกลุ่มลูกค้าสมัยนี้ที่ใช้เวสป้า การที่เราจะทำการตลาด โดยใช้โฆษณาทั่วไปมันน่าเบื่อแล้ว เสพไปชั่วครั้งชั่วคราว โดยที่ไม่ได้ความรู้ ไม่ได้ความบันเทิงอะไร เลยคุยกันว่าเป็นไปได้ไหมถ้าจะทำ Pop-up Museum ขึ้นมา แล้วอีกอย่างหนึ่ง มันมีกระแสของการถ่ายรูป ถ่ายเซลฟี่ ที่เกิดขึ้นในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา” 

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ามีพิพิธภัณฑ์เซลฟี่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมี 

“สเปซที่คนถ่ายรูปสวยก็คือเรื่องนึง แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่า คือสเปซที่คนสามารถเดินเข้ามาแล้วมีอารมณ์ร่วม สนุก การออกแบบที่ให้คนอยู่ กับออกแบบที่ให้คนถ่ายรูป มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะทำสองอย่างนี้พร้อมกันให้น่าสนใจได้ยังไง”

ญารินดาตื่นเต้นกับโปรเจกต์นี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน จะมีใกล้เคียงก็เป็นโปรเจกต์ทำพื้นที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไป

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

“ส่วนใหญ่ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์จะต้องมีความเป็นกลาง มีความนิ่ง เพราะงานศิลปะมันจะเปลี่ยนไปทุกปี ทุกงานจึงต้องสามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้ ถ้าลองสังเกตพื้นที่ศิลปะ ที่ที่เพอร์เฟกต์ที่สุด เขาจะเรียกว่า White Cube Gallery เป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว จะเอางานของแจ็กสัน พอลล็อก มาลง เอางานของแอนดี้ วอฮอล มาลง หรืองานของยาโยอิ คุซามะ มาลง มันก็ได้หมด แต่ Pop-up Museum นี้คือกลับกัน มันเป็นโอกาสให้เราได้ออกแบบสเปซ ให้ได้เล่าเรื่องของเวสป้า สามารถที่จะลำดับการรับรู้เพื่อนำคนไปสู่เรื่องราวเหล่านั้นได้ เหมือนเราออกแบบสตอรี่บอร์ดของหนังเรื่องนึง จะทำยังไงให้สถาปัตยกรรมและคอนเทนต์ของนิทรรศการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ โปรเจกต์นี้เลยแตกต่างจากการออกแบบพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ธรรมดา ซึ่งมันสนุกมาก มันเหมือนเราได้เป็นทั้งสถาปนิกและภัณฑรักษ์ไปในตัว”

จากโกดังประกอบรถยนต์เก่า สู่พื้นที่ศิลปะแสนสนุก

โกดังนี้เป็นตึกเก่าที่มีเรื่องราวน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อก่อนเคยเป็นสถานที่ต่อรถยนต์ยุโรปแบรนด์หนึ่ง ลักษณะของอาคารจึงมีกลิ่นอายของความเป็นอุตสาหกรรมอยู่ แถมยังเชื่อมโยงกับรถสกูตเตอร์เวสป้าเหมือนจับวางอย่างไรอย่างนั้น

“เราอยากเก็บโครงสร้างเดิมไว้ตั้งแต่แรก เพราะจริงๆ แล้ว การอนุรักษ์อาคารเก่ามันสำคัญมาก มันมีเสน่ห์ ยิ่งโกดังที่มีเรื่องราวมาก่อน อย่างโครงสร้างไม้ เสา หรือแม้แต่หลังคา เป็นของเดิมหมด แต่มันก็มีความยากเรื่องการวางงานระบบ 

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์
ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

“ถ้าเรามองวัฒนธรรมการเซลฟี่ส่วนใหญ่ สิ่งที่เด่นที่สุดคือ คน สถาปัตยกรรมนี่เป็นแบ็กกราวนด์ ไม่เด่นเลย หน้าเด่น (หัวเราะ) หรือถ้าเราไปงานแสดงศิลปะ สิ่งที่เด่นที่สุดจะเป็นงานอาร์ต สถาปัตยกรรมก็เป็นแบ็กกราวนด์อีก แต่ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิก เราก็เลยมีความเห็นแก่ตัวนิดนึง เราอยากให้สถาปัตยกรรมเด่นด้วย เลยคิดว่าทำยังไงให้สถาปัตยกรรมมันเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่าเรื่อง

“เลยต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวโครงสร้างมันเข้ามาอยู่ในโกดังนี้ได้ เราไม่อยากให้มันเป็น White Cube Gallery เข้ามาเป็นแกลเลอรี่ติดโชว์งานซ้ายขวา แต่เราอยากให้มันมีลำดับการเล่าเรื่องราว มันเลยเป็นการเอาสถาปัตยกรรมเข้ามาใส่ในสถาปัตยกรรมอีกที”

ความคลาสสิก กับ ความโมเดิร์น

การตีความประวัติความเป็นมาของยานยนต์สองล้อให้ออกมาเป็นนิทรรศการสนุกๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งต้องแสดงออกมาผ่านสถาปัตยกรรมและโครงสร้างด้วยแล้ว ญารินดาและทีมต้องทำรีเสิร์ชหลายเรื่อง ไปจนถึงมีการหยิบจับเทคนิคทางศิลปะต่างๆ มาใช้ เพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลได้ครบถ้วน ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความสนุกให้กับคนมาดูด้วยเช่นกัน

“ถ้าลองมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของการโปรโมตเวสป้า เราจะคุ้นเคยกับภาพเวสป้าในประเทศอิตาลี อย่างเรื่อง Roman Holiday เราก็จำว่าเวสป้าเป็นพาหนะเมือง แต่เมืองเองมันมีความคลาสสิก เราก็เลยหยิบเอาภาษาของสถาปัตยกรรมคลาสสิกอย่างซุ้มประตูโค้ง หรือว่าความสมมาตรมาเล่น แต่เราไม่อยากให้มันคลาสสิกจ๋า เพราะฉะนั้นก็เลยทอนมันลง ให้กลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตแทน เป็นวงกลม เป็นเส้นตรง โดยยังมีกลิ่นของความคลาสสิกอยู่ แต่มันจะมีความสนุก มีความโมเดิร์น ความขี้เล่นมากขึ้น

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์
ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

“จากจุด A ไปจุด B ไม่ควรจะเป็นจากหนึ่งห้องสี่เหลี่ยม ไปอีกหนึ่งห้องสี่เหลี่ยม เรารู้สึกว่ามันจะน่าสนใจกว่า ถ้าสามารถจัดแสดงงานได้หลายๆ แบบ อย่างเช่น หนึ่ง เป็นห้องเล็กๆ สอง อาจจะเป็นทางเดินแคบๆ ที่สามารถมองลงไปยังห้องด้านล่างได้ สาม ถ้าเป็นเนิน เป็นสนาม ที่เราสามารถสไลด์ลงไปได้ มีห้องปิดมืด มีโถงสูง เราพยายามจะทำให้ตัวสเปซต่างๆ ที่ใช้เล่าเรื่องมันมีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง เพื่อที่จะเล่าเรื่องราวแต่ละเรื่องได้อย่างเหมาะสม บางห้องก็เหมาะกับการถ่ายรูปโคลสอัพ บางห้องก็เหมาะกับการถ่ายมุมเดียว จุดเดียว ไปถ่ายมุมอื่นจะดูไม่รู้เรื่อง บางห้องอาจจะเป็นช็อตไกล ให้เห็นแบ็กกราวนด์เยอะๆ คนอาจจะตัวเล็กหน่อย 

ญารินดา บุนนาค ทำโกดังเก่าเป็นมิวเซียมเซลฟี่สีดีขนาดกะทัดรัดที่เล่าประวัติสกูตเตอร์

“ส่วนคอนเทนต์หลักๆ ทีมเวสป้าได้เล่าไทม์ไลน์มาในระดับนึง หรือในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวกับสเปซ เขาให้โจทย์มาว่า อยากให้คนเห็นว่าการประกอบเวสป้าสักคันทำยังไง เราก็รู้แล้วว่า ถ้าจะจำลองโรงงานผลิต มันต้องเป็นสเปซที่กว้าง โล่ง โถงสูง ซึ่งพื้นที่โกดังก็เอื้ออำนวยอยู่ แต่ในการเรียงลำดับ เราก็ต้องให้ห้องนั้นไปอยู่ข้างล่างที่เป็นพื้นที่กว้าง หรือบางอย่างเราอยากให้เป็น Interactive Exhibition ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป แต่คนที่มาอยู่ก็สามารถมีส่วนร่วม เลยลองคิดว่ามันมีส่วนไหนที่เราสามารถแปลงเป็นเครื่องเล่นให้คนมีส่วนร่วมได้ อย่างตรงทางเดินที่ทีรูปแอปเปิ้ล เราใช้เทคนิค Anamorphosis ที่ถ้าเราเล็งจากจุดๆ นึง รูปนี้มันถูกต้องนะ แต่พอเราขยับนิดเดียวมันอาจจะโดนยืด โดนหด บิดเบี้ยว เหมือนเล่นกับมุมกล้อง”

ความหอมหวานของชีวิต

แค่เห็นสีสันพาสเทลที่ทำให้นึกถึงลูกกวาดก็รู้ถึงความหอมหวานของชีวิตแล้ว ยังไม่นับร้านคาเฟ่ด้านข้างที่ทาสีเขียวมิ้นสีเดียวไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งโคมไฟที่ประดับตกแต่ง 

House of La Dolce Vita in Scooter 2019

“รูปแบบคอนเทนต์ที่นี่สามารถเสพได้หลายรูปแบบ จะผ่านการเล่น ผ่านการเดินดูโดยที่อาจจะไม่ต้องแสกน QR Code อ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้นะ เราสามารถมองนิทรรศการนี้เป็นศิลปะเชิงนามธรรม เป็นประติมากรรม โดยไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับประวัติเวสป้ามากขึ้นเลยก็ได้เหมือนกัน มันคืออิสระที่เราจะตีความได้ต่างๆ นานา และอีกอย่างในแง่ของการถ่ายรูป เราทำไว้ให้หลายรูปแบบ ขนาดของห้อง เราพยายามจะใส่รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เข้าไป ที่เราบอกว่าสนุกมากกับการออกแบบเพราะมันไม่มีข้อจำกัดเลย จะเล่ายังไงก็ได้ ตอนทำเราดูไปจนถึงว่า ถ้าเกิดคนโพสต์อินสตาแกรมเป็นรูปเรียงตามห้องที่เราออกแบบไว้ จะเป็น Photo Essay ออกมายังไง เพราะฉะนั้น Photo Essay ที่เล่าเรื่องโดยคนถ่ายรูปก็อาจจะไม่เหมือนกับการเรียงลำดับของคนที่เดินดูคอนเทนต์ ประสบการณ์ก็น่าจะต่างกัน การตีความเลยมีได้หลายแบบ

House of La Dolce Vita in Scooter 2019
House of La Dolce Vita in Scooter 2019

“La Dolce Vita คือความเป็นเด็กในตัวเราแหละ”

สำหรับเรา ห้องที่ประทับใจที่สุดคงเป็นโถงทางเดินรูปแอปเปิ้ลที่ใช้เทคนิค Anamorphosis ซึ่งญารินดาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากสมัยเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วได้ไปอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ช่วงสั้นๆ สำนักสงฆ์ที่เมืองนั้นมีภาพศิลปะที่ใช้เทคนิคเดียวกันนี้อยู่ ซึ่งทำให้คนดูมีส่วนร่วมกับงานศิลปะด้วยการขยับตัวเพื่อมองรูปในมุมต่างๆ ไปโดยอัตโนมัติ 

House of La Dolce Vita in Scooter 2019

ส่วนห้องที่ญารินดาชอบมากที่สุดก็คือ…

“พูดยาก แต่ถ้าในแง่ของสถาปัตยกรรม เราชอบมุมบนทางเดินที่มองลงไปเห็นห้องที่เป็นโรงงาน มันได้เห็นเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแง่ของพื้นที่ มันพันมันทับกันอยู่ จำได้ว่าตอนที่เขียนแปลนครั้งแรก ก็ดูแปลนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะมันวนทับกันอยู่ ทางเดินบน ทางเดินล่าง มันซ้อนกัน ถ้าดูในแปลนเหมือนเป็นเขาวงกต 

House of La Dolce Vita in Scooter 2019
House of La Dolce Vita in Scooter 2019

“เราเคยคุยกับเพื่อนๆ หลายหนว่า คนไทยส่วนใหญ่จะเห็นค่าของสถาปัตยกรรมน้อยหน่อย จะไม่ค่อยสนใจสถาปัตย์ฯ ส่วนใหญ่จะสนใจงานออกแบบภายใน แฟชั่น แต่ไม่ค่อยรู้สึกถึงพลังของพื้นที่ที่ดีว่า มันสามารถทำให้เราสงบ สามารถทำให้เรามีส่วนร่วม ครั้งนี้เราโชคดีมากที่มีโอกาสได้ใช้สถาปัตยกรรมในการเล่าเรื่อง”

ก่อนออกมาจาก House of La Dolce Vita in Scooter 2019 ในวันนั้น ญารินดา ผู้ที่ไม่ถนัดการถ่ายรูปเซลฟี่เลยแม้แต่น้อยทิ้งท้ายกับเราว่า 

“เดี๋ยววันนี้เขาจะมาติดไฟเพิ่มอีกร้อยดวง เพราะตอนนี้ถ่ายรูปแล้วหน้ายังดำ เมื่อวานมาลองเทสต์กันก็ เฮ้ย มันยังสว่างไม่พอสำหรับการเซลฟี่หรือเปล่าเนี่ย (หัวเราะ)”

นอกจากเรื่องราวการเดินทาง ความสนุก และความสุข ของไอคอนนิกสกูตเตอร์เวสป้า ที่ผู้เข้าชมจะได้รับกลับไปแล้ว Exhibition นี้ยังต้องการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าชมงานได้ด้วยการสร้าง Digital Art Museum บนอินสตาแกรม @houseofldvs เพื่อเก็บเรื่องราวทั้งหมดไว้ในนั้น

House of La Dolce Vita in Scooter 2019 จัดขึ้นที่โครงการ Warehouse 26 สุขุมวิท 26 ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2563 บัตรเข้าชมราคา 190 บาทสามารถซื้อบัตรได้ท่ี bit.ly/HouseofLDVS ได้แล้ววันนี้

เวลาทำการ วันอังคาร – วันศุกร์ 11.00 น. – 20.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ 10.00 น. – 19.00 น.

Have a Scoot Day!

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan