“ถ้าจะไปเที่ยวจังหวัดบ้านเธอ เธอว่าเราพักที่ไหนดี…”

เป็นคำถามที่เด็กต่างจังหวัดผู้ย้ายมาใช้ชีวิตในเมืองกรุงประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และแม้จะเกิดและโตที่ภูเก็ต เกาะสวาทหาดสวรรค์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก คำถามข้างต้นก็ยังยากสำหรับเราอยู่ดี ในเมื่อมีบ้านอยู่ในจังหวัดนี้ ก็คงไม่แปลกหากเราจะไม่มีความรู้เรื่องที่พัก ต้องขอโทษเพื่อน ๆ ด้วยที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ไม่ได้

การพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมหน้าใหม่ในวันนี้ ช่วยให้เรามีคำตอบดี ๆ เกี่ยวกับที่พักในภูเก็ตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

ลูกพีช – พิชชากร พานิชวงศ์ คือสาวภูเก็ตรุ่นใหม่ผู้มีความตั้งใจควบคู่ไอเดียแหวกแนว ทั้งที่ภูเก็ตอุดมไปด้วยชายหาดอันน่าหลงใหล เธอกลับเลือกปลูกโรงแรมซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ในฝันไว้ใจกลางเมือง ยิ่งไปกว่านั้น โรงแรมที่สาวผมยาวในชุดสีขาวปลุกปั้น ก็ไม่ใช่โฮสเทลขนาดกระทัดรัดสำหรับนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเหมือนอย่างที่พักส่วนใหญ่ในย่านเมืองเก่า หากแต่เป็นบูทีกโฮเทลสุดประณีตสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องราวและสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

ไม่ไกลจากถนนถลาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอแห่งเก่าไม่ถึง 200 เมตร โรงแรมสีครีม 4 ชั้น 14 ห้อง รูปทรงไม่เหมือนใครตั้งเด่นเป็นสง่า เฝ้าคอยนักท่องเที่ยวและกาลเวลามาแต่งแต้มความทรงจำ นี่คือ Hotel Verdigris ที่พักเปี่ยมอัตลักษณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสุภาพสตรีลึกลับของภูเก็ตเมื่อวันวาน 

Deserving – ควรค่า

“เราเชื่อว่า ถ้ารักอะไรมาก ๆ เราก็เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี” พิชชากรขึ้นต้นบทสนทนา

จุดเริ่มต้นของ Hotel Verdigris ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความคลั่งไคล้ชื่นชอบ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากให้กลับมาอยู่บ้าน แต่พิชชากรไม่ต้องการสืบทอดธุรกิจครอบครัว ทันทีที่เรียนจบ เธอจึงต้องขบคิดกับตัวเองว่า เธอจะทำอะไรได้บ้างในจังหวัดบ้านเกิด

เนื่องจากตกหลุมรักวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก พิชชากรจึงสมัครเป็นคุณครูมัธยมให้กับโรงเรียนนานาชาติที่เธอเป็นศิษย์เก่า ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความฝันก็ค่อย ๆ ก่อตัวทีละเล็กละน้อย

นอกเหนือจากการสอนหนังสือ สิ่งที่ชาวภูเก็ตผู้นี้สนใจคือเมืองเก่า ทุกครั้งที่ไปเที่ยวยุโรป เธอมักหลีกหนีที่พักหลังใหญ่เพื่อไปพักผ่อนหย่อนใจในโรงแรมขนาดเล็ก ด้วยอยากสัมผัสวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้ได้ใกล้ชิดที่สุด พิชชากรค้นพบว่า ทุกสถานที่ล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เสน่ห์แห่งวัฒนธรรม ตลอดจนมรดกจากคนรุ่นก่อน ซึ่งกาลเวลาไม่อาจลดทอนคุณค่าได้

เพราะเหตุนี้ ตลอดระยะ 6 ปีหลังเรียนจบ เธอจึงหมกมุ่นฝุ่นตลบอยู่กับความพยายามในการสร้างสรรค์โรงแรมขนาดเล็กกลางย่านเมืองเก่า แต่ก็ไม่เคยลืมที่จะแบ่งเวลาไปสอนหนังสือ พูดง่าย ๆ ว่า ศึกษาสิ่งที่สนใจเป็นงานหลัก ทำสิ่งที่รักเป็นงานเสริม หากผนังสีครีมและพื้นหินอ่อนตรงหน้ามีชีวิต พวกมันคงกระซิบโดยพร้อมเพรียงว่า พิชชากรแต่งแต้มพวกมันด้วยความหลงใหลและตั้งใจจริง

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

“พ่อแม่ก็เตือน คนก็ถามบ่อยมากว่าทำไมไม่เปิดโรงแรมติดชายหาด ราคานี้นอนริมทะเลดีกว่า สำหรับเรา หน้าหาดมีโรงแรมดี ๆ ที่ภูเก็ตสมควรมีเรียบร้อยแล้ว แต่ในตัวเมืองยังขาดบูทีกโฮเทลบางแบบ”

คุณครูผู้เป็นเจ้าของโรงแรมเล่าถึงเมืองเก่าภูเก็ตที่มีเสน่ห์และเรื่องราวไม่แพ้ ‘Old Town’ ในประเทศไหน ๆ จังหวัดนี้ไม่ได้มีดีเพียงน้ำทะเลใส ๆ และหาดทรายทอดยาว หากยังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒธรรมของการผสมผสานระหว่างความเป็นไทย จีน และชาติตะวันตกซึ่งสะท้อนผ่านวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-ยูโรเปียนที่ยากจะเลียนแบบ

สำหรับคนที่เกิดและโตที่นี่อย่างเราและพิชชากร ภูเก็ตไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นบ้านที่มีชีวิตของผู้คน เป็นชุมชนที่ยังมีลมหายใจ หากคนภูเก็ตอยากกินโรตี พวกเราก็ยังต้องมากินที่ถนนถลาง หากอยากซื้อเพชร เราก็ยังแวะมาหยิบจับที่ย่านเมืองเก่า เหล่านี้คือวิถีชีวิตที่คนท้องถิ่นอาจคิดว่าไม่น่าสนใจในสายตาผู้มาเยือนมากเท่าการเล่นน้ำอาบแดด แต่หากเราสื่อสารอย่างใส่ใจมากพอ ความเป็นอยู่อันมีเอกลักษณ์นี้ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวตกหลุมรักได้เช่นเดียวกัน

“เมืองเก่าภูเก็ตมีเสน่ห์ไม่ได้ต่างจากยุโรปเลย มีภาษา อาหาร และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นของเราเองเยอะมาก เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นในภาคใต้ เราอยากให้ทุกคนมีโอกาสชื่นชมมรดกเหล่านี้ พื้นที่ตรงนี้ควรค่าที่จะมีโรงแรมของเราอีกแห่งหนึ่ง” เธอว่าอย่างนั้น

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

Retelling – เล่าใหม่

ในเมื่ออยากปลูกโรงแรมในย่านเมืองเก่า เหตุใดเล่าจึงไม่นำตึกเก่าจริง ๆ มาสร้างเป็นโรงแรม

ชื่อว่าผู้อ่านเองก็น่าจะสงสัยไม่ต่างจากผู้เขียน

ในทางปฏิบัติ การปรับสภาพอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีให้เป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานครบถ้วนตามข้อบังคับนั้นทำได้ยาก บางหลังพื้นที่ไม่มากพอ บางตึกก็สร้างทางหนีไฟลำบาก หรือหากจะซื้อหลายอาคารต่อกันก็ดูเป็นการลงทุนที่มากเกินจำเป็น ท้ายที่สุด พิชชากรจึงตัดสินใจซื้อที่ดินเปล่าแปลงสุดท้ายแถวย่านเมืองเก่า เพื่อนำมาปลูกปรับขยับเหลาจนได้เป็นโรงแรมอย่างที่เห็น

“เราไม่อยากสร้างสถาปัตยกรรมเลียนแบบของเก่า เราสร้างของใหม่ให้เหมือนของเก่าไม่ได้อยู่แล้ว ต่อให้ออกแบบเหมือนเป๊ะ ๆ ก็ไม่มีเสน่ห์ของสิ่งเก่าอยู่ดี เราจะไม่ทำ บ้านชินประชา อีกหลัง”

ดังนั้น สิ่งที่พิชชากรทำจึงเป็นการรังสรรค์สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ โดยนำองค์ประกอบของอาคารชิโน-ยูโรเปียนดั้งเดิมมาเติมแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ ซึ่งสะท้อนเรื่องราวของภูเก็ตในอดีตที่ควรค่าแก่การเล่าใหม่อีกครั้งในยุคปัจจุบัน น่าสนใจไม่น้อยเพราะสิ่งที่เธอใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมคือบุคคลที่มีตัวตนจริงบนหน้าประวัติศาสตร์

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

มาร์ทีนา โรเซลส์ (Martina Rozells) คือสาวชาวภูเก็ตเชื้อสายไทย-โปรตุกีส ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ประวัติของเธอค่อนข้างลึกลับคลุมเครือ ถูกบอกเล่าแตกต่างกันไปตามแต่ละบันทึกและจดหมายเหตุ บ้างบรรยายว่าหน้าตาของเธอละม้ายคล้ายชาวจีนรูปร่างผอม บ้างอ้างว่าเธอดูเหมือนชาวยุโรปที่มีลักษณะค่อนข้างท้วม ใจความเดียวที่บันทึกทุกเล่มว่าไว้ตรงกันคือมาร์ทีนาเป็นภรรยาของนักเดินเรือคนสำคัญผู้บุกเบิกเกาะปีนังอย่าง กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Francis Light)

“เด็กภูเก็ตส่วนมากต้องเคยได้ยินชื่อกัปตันฟรานซิส ไลท์ เขาเคยสร้างคุณงามความดีไว้ถึงขนาดที่พระเจ้าตากสินพระราชทานยศให้เป็นพระยาราชกปิตัน แต่สิ่งที่น้อยคนจะรู้คือเรื่องราวของภรรยาที่อยู่เคียงข้างกัปตันผู้นี้” พิชชากรพูดด้วยแววตาเป็นประกาย

การเป็นสุภาพสตรีเลือดผสมของมาร์ทีนา โรเซลส์ แสดงถึงการเฉลิมฉลองซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ต่างจากการผสมผสานของสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน เจ้าของที่จึงมั่นใจในทันทีว่า มาร์ทีนาคือคาแรคเตอร์ที่ถูกต้องที่สุดในการสร้างเป็นที่พักประดับเมืองเก่าภูเก็ต

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

“คีย์เวิร์ดในการสร้าง Hotel Verdigris คือ ‘Retelling a story lost in time’ เหมือนเรื่องราวของคุณมาร์ทีนาที่อาจสูญหายไปตามกาลเวลา แต่เราก็อยากนำมาเล่าใหม่ มรดกต่าง ๆ ของภูเก็ตก็เหมือนกัน คำศัพท์บางคำ อาหารบางอย่าง ผู้คนอาจหลงลืมไปแล้ว เราอยากเชิญชวนให้คนหันกลับมาสนใจและใส่ใจมันอีกครั้ง”

แม้เป็นเพียงรายละเอียดยิบย่อยของที่พัก พิชชากรก็ตีความจากตัวตนของมาร์ทีนาแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นสีสัน บรรยากาศ หรือเฟอร์นิเจอร์ เธออยากให้ผู้ที่ตบเท้าเข้าสู่โรงแรมค่อย ๆ รู้จักกับผู้หญิงคนนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เรื่องราวของมาร์ทีนาไม่ได้ถูกบันทึกบนหน้าจดหมายเหตุมากนัก ภาพวาดที่พอหาได้ก็หลากหลายเกินจะพิสูจน์ว่าภาพไหนคือตัวจริง พิชชากรจึงต้องตีความสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกด้วยตัวเอง

ผลลัพธ์ที่ได้คือการใช้ศิลปะสไตล์อาร์ตเดโค (Art Deco) ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตจับคู่กับวัสดุทองเหลือง สื่อถึงความเป็นลูกครึ่งโปรตุเกสที่มีกลิ่นอายแบบจีน เป็นความสง่างามที่ไม่มีวันหมดอายุเฉกเช่นตึกเก่าภูเก็ต

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

Verdigris – สนิมเขียว

“ใช้คุณมาร์ทีนาเป็นแรงบันดาลใจขนาดนี้ ทำไมไม่ตั้งชื่อโรงแรมว่ามาร์ทีนาล่ะครับ” – เราถาม

“ต้องถามก่อนว่าคุณรู้จักคำว่า ‘Verdigris หรือรึเปล่าคะ” เจ้าของโรงแรมยิ้มร่า ถามเรากลับ

Verdigris แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า ‘สนิมเขียว’ ซึ่งเป็นผลของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่อทองแดง ทองเหลือง หรือบรอนซ์ ผุกร่อนและสัมผัสกับน้ำหรืออากาศเป็นเวลานาน 

ในปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างมากมายที่ได้รับอิทธิพลจากปฏิกิริยานี้ อาทิ เทพีเสรีภาพที่อเมริกาหรือหลังคาของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งสองแปรสภาพจากสีทองแดงเงางามสู่สีครามอมเขียว

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

“เราตั้งใจใช้ชื่อนี้ เพราะคนจีนสมัยก่อนใช้ Verdigris เป็นเม็ดสีในการระบาย สนิมเขียวที่ได้แต่ละครั้งจึงไม่เหมือนเดิม บางทีอมเขียว อมเทา อมแดง คาดเดาไม่ได้ คล้ายกับเรื่องราวชีวิตของคุณมาร์ทีนาที่เราก็สรุปไม่ได้ว่าเธอเป็นคนยังไงกันแน่” สาวผู้หลงรักประวัติศาสตร์เมืองเก่าเล่าที่มาของชื่อโรงแรมให้เราฟัง 

พิชชากรจริงจังกับการถ่ายทอด Verdigris อย่างถึงที่สุด เธอพยายามนำสนิมเขียวจริง ๆ มาประกอบร่างสร้างเป็นองค์ประกอบภายในตัวอาคาร ดูเป็นความต้องการที่ทำได้ยาก แต่เธอก็ทำได้จริงด้วยความช่วยเหลือของ Underwood Art Factory หนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านของตกแต่งที่นำเสาแบบเดียวกับตึกเก่าภูเก็ตซึ่งทำจากทองแดงไปเร่งปฏิกิริยาจนกลายเป็นสนิมเขียว นักท่องเที่ยวจึงได้พบกับสนิมเขียวแท้ ๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงที่พัก

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

ผมถูกสะกดไว้ด้วยความสวยงามของเสาเขียวกลางล็อบบี้ ที่เพียงต้นเดียวก็มีหลากหลายเฉดสีอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่เขียว ฟ้า ไปจนถึงสีแดงเดิมของทองแดง ความไม่แน่นอนบนเสาที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีไม่ต่างจากคาแรกเตอร์ของมาร์ทีนาที่ลึกลับคาดเดาไม่ได้ แต่ยังงดงามผ่านกาลเวลาได้ในแบบของตัวเอง

Synergy – ทำงานเป็นทีม

มีความตั้งใจ มีที่ดิน มีชื่อโรงแรม แถมยังมีคอนเซ็ปต์ สเต็ปต่อไปคือการทำให้ไอเดียทั้งหมดเกิดขึ้นจริง โจทย์ของพิชชากรห่างไกลคำว่าง่าย ไหนจะต้องสร้างสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลขึ้นมาใหม่ ไหนจะต้องผสมผสานตัวตนของคุณมาร์ทีนาและศิลปะแบบอาร์ตเดโคเข้าไปเสริม 

ที่สำคัญ สนิมเขียวและความเป็นภูเก็ตวันวานก็ต้องสอดแทรกอยู่ในรายละเอียด

พิชชากรเล่าว่านี่คือการทำงานเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะให้เครดิตแก่สถาปนิกเพียง 1-2 คน ขั้นตอนเริ่มต้นจาก ธรัช​ ศิวภัก​ดิ์​วัจนเลิศ ผู้เข้ามาดูแลการออกแบบรูปทรงตึกและเลย์เอาท์ของโรงแรม นับเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เพราะที่ดินแปลงนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมพื้นผ้าที่จะปลูกอาคารได้ง่าย ๆ 

“เขาเสนอมาหลายอัน แต่เราจิ้มแบบไม่ต้องเลือกว่าเอาอันนี้ เพราะนี่เป็นแบบเดียวที่ทำให้เรามี ‘ฉิ่มแจ้’ ในอาคารได้”

ตึกแถวของภูเก็ตในอดีตไม่มีหน้าต่างไว้รับแสงหรือระบายอากาศ คนสมัยก่อนจึงนิยมปลูกบ้านโดยมี ฉิ่มแจ้ หรือช่องว่างกลางหลังคาเพื่อช่วยให้อากาศหมุนเวียน ทั้งยังใช้รองรับน้ำฝนได้ด้วย 

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

พิชชากรขอนำเอกลักษณ์นี้มาไว้ที่ Hotel Verdigris แม้จะเป็นฉิ่มแจ้ที่ไม่ได้เปิดโล่ง เพราะมีหลังคากระจกใสปกคลุม แต่คุณสมบัติในการรับแสงยังคงอยู่ เราเงยหน้าดูสามเหลี่ยมด้านเท่าเหนือบันไดวนที่มีบ่อปลาวางเด่นสง่าอยู่เบื้องล่าง ต่อให้ไม่ตั้งใจสังเกตก็คงเห็นได้ไม่ยากว่า Hotel Verdigris ใช้หินอ่อน สีโทนขาวดำ และลักษณะเลขาคณิตด้านเท่าแทบจะทุกซอกมุม 

“เราเลือกใช้ศิลปะแนวอาร์ตเดโคโดยตีความจากคุณมาร์ทีนา ความเป็นอาร์ตเดโคมาพร้อมรูปทรงเรขาคณิตและดีไซน์สีขาวดำ จะเห็นเลยว่าทางเดินของทุกชั้น ยกเว้นชั้นล่างสุดเป็นหินอ่อนที่ตัดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าทั้งหมด”

เราประทับใจในความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งหินอ่อนของเจ้าของที่พักผู้นี้ พิชชากรลงทุนนั่งแกรบไปตามหาหินอ่อนแทบทุกโรงงานหินในจังหวัดนนทบุรี เพียงเพราะเธอต้องการให้ลายหินอ่อนบนขั้นบันไดมีความต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นบนจนถึงชั้นล่าง

“เราอยากให้ขั้นบันไดออกมาเหมือนงานจิตรกรรมมากที่สุด อยากให้เหมือนสีน้ำค่อย ๆ ไหลลงชั้นล่าง หมายความว่าต้องเป็นหินก้อนเดียวกัน ลายต้องไม่เกินความกว้างของขั้นบันไดด้วย ท้าทายมาก แต่ก็ดีใจที่หาเจอ”

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

ศิลปะอาร์ตเดโคให้ความรู้สึกหรูหราน่าค้นหาตามแบบฉบับยุโรป แต่เลือดเนื้ออีกครึ่งหนึ่ง มาร์ทีนา โรเซลส์ยังเป็นคนภูเก็ตแท้ ๆ พิชชากรจึงนำไม้มาใช้เป็นวัสดุเพิ่มความอบอุ่นในการพักผ่อนตามแบบฉบับของคนเอเชียโบราณ เตียงซึ่งประกอบขึ้นจากโครงเหล็กของทุกห้องจึงมีไม้เป็นส่วนเสริมเพิ่มความสบาย เจ้าของโรงแรมยังย้ำอีกว่า Hotel Verdigris ใช้ไม้จริงทั้งโครงการ

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'
Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

เราชื่นชมความงามของอาคารภายในไปจนถึงห้องพัก บอกได้คำเดียวว่านี่คือการรวมพลังที่ประสบความสำเร็จของยอดฝีมือด้านการออกแบบ ทั้ง พงศ์พรภรณี พึ่งบุญ ณ อยุธยา ที่เข้ามาดูแลภาพรวมการออกแบบภายใน โดยมี ณิชกุล กุลวานิชย์ ช่วยเติมเต็ม ด้านคุณ Zachary Underwood ก็รับผิดชอบการออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์จนทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของที่นี่มีทัศนียภาพเฉพาะตัว

Original – ต้นฉบับ

Hotel Verdigris เพิ่งจะเปิดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยตรงหน้าดูราวกับมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี พิชชากรย้ำกับเราว่า ถ้าจะ ‘Retelling Story’ ยังไงก็ต้องนำของเก่ามาช่วยเล่าเรื่องด้วย เฟอร์นิเจอร์เก่าที่เธอภูมิใจที่สุดคือตู้ที่สั่งซื้อจากปารีส ความพิเศษของสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นนี้คือการเป็นตู้ทรงจีนที่ออกแบบโดยนักทำเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังชาวยุโรป ตรงตามคาแรกเตอร์ของโรงแรมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองทวีป

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'

“เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น ถ้าไม่ตั้งใจทำก็ตั้งใจเลือกมาเองกับมือ ทุกวันที่เรามาโรงแรมรู้สึกเหมือนเข้าพิพิธภัณฑ์ ชื่มชนว่าชิ้นนี้สวยจัง ชิ้นนั้นสวยจัง คนที่มาพักก็อาจจะชื่นชมอะไรแบบนี้เหมือนกัน”

“แปลว่าลูกค้าถามได้เลยใช่มั้ยว่าชิ้นนี้มีเรื่องราวยังไง” – เราถาม

“ถามได้เลย ทุกชิ้นมีเรื่องราวของมัน เรายินดีเล่าให้ฟัง แต่ขอเวลาสักสี่วันได้ไหม” พิชชากรเล่าไปหัวเราะไป เราฟังแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้เช่นกัน

นอกจากเฟอร์นิเจอร์อันเลอค่า อีกสิ่งที่ตรึงความสนใจเราไว้แทบตลอดเวลาคือภาพวาด ใครจะเชื่อว่าโรงแรมความสูงเพียงสี่ชั้นจะเก็บรวบรวมจิตรกรรมไว้กว่า 500 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาพที่วาดขึ้นใหม่โดยฝีมือของ ครูใหญ่-ถาวร เมรุรัตน์ ศิลปินมากความสามารถแห่งเกาะภูเก็ต

Hotel Verdigris ร.ร.ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองเก่าภูเก็ต ดีไซน์จากเลดี้ลึกลับและ 'สนิมเขียว'
บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

“เราชอบความออริจินัล มันคือคุณค่าที่เราอยากให้ลูกค้าได้เห็น Kru Yai อาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่า เขาเป๊ะมากเรื่องรายละเอียดของสถาปัตยกรรม คนที่มาพักจะได้มองรูปภาพผ่านสายตาของคนที่อยู่ในพื้นที่จริง” 

ศิลปะใน Hotel Verdigris ไม่ได้จำกัดแค่เพียงภาพวาดสถาปัตยกรรมที่ติดอยู่บนฝาผนัง แต่ยังมีการถ่ายทอดจินตนาการลงบนเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะหัวเตียงภายในห้องพักทุกห้องได้รับการตบแต่งด้วยสีน้ำมัน ฝีมือ เกรียงรัตน์ เทพบุตร คนภูเก็ตแท้ ๆ ที่ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณของชาวบาบ๋า-ย่าหยา (วัฒนธรรมผสมผสานระหว่างชาวมลายูและชาวจีน) จนออกมาเป็นภาพสัญลักษณ์อย่างหงส์และดอกโบตั๋น

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

Book Chamber – ห้องสมุด

นอกจากจะมีสระว่ายน้ำสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของโรงแรมสนิมเขียวคือห้องสมุดที่บรรจุองค์ความรู้หลากหลายแขนง ตั้งแต่ความรู้ทั่วไปจนถึงเรื่องราวน้อยใหญ่ของภูเก็ตในอดีต

ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก พิชชากรจึงแน่วแน่ที่จะลดจำนวนห้องพักลงหนึ่งห้องเพื่อสร้างเป็นห้องสมุดส่วนกลาง หากนักท่องเที่ยวเกิดอยากรู้ความเป็นมาของเกาะก็แค่เดินเลาะเข้าไปอ่านด้วยตนเอง

“การค้นหาประวัติของภูเก็ตเป็นเรื่องยาก คนภูเก็ตแท้ ๆ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องไปหาจากไหน นักท่องเที่ยวบางคนอาจจะอยากรู้ว่า เอ๊ะ ทำไมตึกเก่าตรงนี้คล้ายกับที่ปีนัง ถามพนักงาน พนักงานก็อาจจะตอบได้ไม่ครบ เราเลยอยากรวบรวมให้ครบที่สุดในห้องสมุด”

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

เราทอดสายตาอย่างสบายอารมณ์ขณะชื่นชมหนังสือแต่ละเล่ม เล่มหนึ่งที่เตะตาคือ History of Phuket หนังสือภาษาอังกฤษที่หาซื้อไม่ได้ในไทย จนพิชชากรต้องสั่งซื้อพิเศษจากลอนดอน เธอมองว่า หากห้องสมุดมีเพียงหนังสือภาษาไทยก็คงไม่เพียงพอที่จะสื่อสารมรดกทางวัฒธรรมของภูเก็ตสู่สายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ มากไปกว่านั้น ถ้าหากใครเปรื่องปราดข้อมูลของจังหวัดภูเก็ตอยู่แล้ว ห้องสมุดแห่งนี้ก็ยังมีนวนิยาย บทกวี หนังสือท่องเที่ยว หรือกระทั่งคู่มือวิทยาศาสตร์ให้หยิบจับตามชอบใจ ยังไงก็ต้องมีสักเล่มที่เป็นเพื่อนคลายเหงาของเราอย่างแน่นอน

ตรงมุมหนึ่งของห้องสมุดคือกรุหนังสือเก่าที่คุณพ่อของพิชชากรเป็นเจ้าของ เธอบอกว่าน่าจะดี หากคนที่มาที่นี่ได้รู้ด้วยว่าคนภูเก็ตอ่านหนังสืออะไรบ้าง

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

Lovestoned – คลั่งรัก

“เรารักโรงแรมนี้มากเหมือนเป็นลูกของเรา แปลว่าคนที่มาพักที่นี่ก็น่าจะรักลูกของเราเหมือนกัน เวลารักใคร เราทำยังไง เราก็ต้องอยากดูแลเขาให้ดีที่สุด ให้ไปรับที่สนามบินมั้ย ให้ไปส่งที่ไหนหรือเปล่า พรุ่งนี้อยากกินอะไร เรียกว่าดูแลแบบคนคลั่งรักเลยล่ะ” พิชชากรยิ้มเขิน ๆ

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

ไม่แน่ใจว่าการเป็นคุณครูในโรงเรียนมัธยมช่วยเพาะบ่มนิสัยชอบดูแลคนอื่นของเธอหรือไม่ แต่นี่คือความใส่ใจที่น่ารักน่าชัง ไล่เรียงตั้งแต่การช่วยโทรจองร้านอาหารเจ้าดัง บริการรับส่งในย่านเมืองเก่า ไปจนถึงการแจกแบบฟอร์มให้ลูกค้าเลือกว่าอยากรับประทานอาหารภูเก็ตเมนูไหนเป็นมื้อเช้า ด้วยวิธีการนี้ ลูกค้าจะได้รับประทานที่ต้องการจริง ๆ ที่สำคัญยังเป็นการลดปริมาณเศษอาหารที่อาจต้องเหลือทิ้งแต่ละมื้ออีกด้วย

“ถ้าเราบริการในสิ่งที่ลูกค้าเลือก แนวโน้มที่อาหารจะเหลือก็น้อยลง เราเลยอยากตามใจเขาจริง ๆ ยากแค่ไหน เราก็จะพยายามหามาให้ได้”

“ที่ว่ายากนี่เช่นเมนูอะไรเหรอครับ”

“ล่าสุดมีลูกค้าอยากกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวมันไก่เบตงก็มีคนเคยสั่ง ยากหน่อย แต่เราก็ยังหามาได้ ยังไม่เจอเมนูที่ยากเกินความสามารถนะ” เจ้าของโรงแรมตอบพร้อมยื่นแบบฟอร์มสั่งอาหารให้เราดู

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

แผ่นกระดาษในมือคือสิ่งสะท้อนความคลั่งรักได้เป็นอย่างดี เริ่มที่การแนะนำเมนูท้องถิ่น เขียนอธิบายอย่างเป็นกันเองว่าเมนูขึ้นชื่อคืออะไร ร้านไหนเป็นที่นิยม แต่หากลูกค้ามีเมนูในใจก็เขียนไว้ในช่อง ‘Request’ ด้านล่าง พนักงานของที่นี่จัดให้ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“เราไม่ได้ทำอะไรมากเลย แค่คิดว่าเราดูแลคนที่เรารักยังไง ก่อนนอนก็อาจจะมีการ์ดบอกฝันดี ตื่นเช้าก็บอกสวัสดีตอนเช้า ไม่ได้มีอะไรแฟนซี มีแค่ความใส่ใจ”

Market Feasibility – ความเป็นไปได้ทางการตลาด

แม้การเยี่ยมชม Hotel Verdigris กำลังจะจบลง แต่เรายังคงมีคำถามคาใจ

นี่คือบูทีกโฮเทลขนาดค่อนข้างใหญ่ใจกลางเมือง เจ้าของที่พักใส่ใจในทุกรายละเอียดตั้งแต่การตีความ การพยายามเลือกหินและงานศิลป์มาเล่าเรื่อง การแสวงหานักออกแบบมือหนึ่งที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไปจนถึงการสร้างห้องสมุดและดูแลลูกค้าดุจสมาชิกในครอบครัว ทุกกระบวนการเหล่านี้น่าจะใช้ต้นทุนที่สูงมาก เพราะเหตุใดพิชชากรจึงเชื่อว่า โรงแรมของเธอจะไปรอด

“ทีแรกเราก็สงสัยนะว่าจะมีแต่คนรู้จักมานอนรึเปล่า แต่กลายเป็นว่ามีคนติดต่อเข้ามาพักจริง ๆ แปลว่ายังมีนักท่องเที่ยวที่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมเมืองเก่าภูเก็ต ยอมจ่ายเงินมาพักกับเราแทนที่จะไปพักหน้าหาด ถึงยอดจองจะไม่เต็ม แต่ก็ไม่เคยน้อย ดีเหมือนกัน เหมือนเราได้รักษาความลึกลับให้ตรงกับคาแรคเตอร์ของคุณมาร์ทีนาด้วย”

“งั้นถ้า The Cloud เขียนถึง โรงแรมจะหมดความลึกลับมั้ย” – เราถามยิ้ม ๆ 

“ไม่ค่ะ เป็นโรงแรม ก็ต้องมีคนมานอนบ้าง” พิชชากรหัวเราะ

ความลึกลับที่เจ้าของที่พักเอ่ยถึงไม่ใช่ไม่พยายามตามหาลูกค้าเลย ถ้าผู้อ่านเข้าเว็บไซต์หาที่พัก Hotel Verdigris ก็จะปรากฏให้เห็นได้ไม่ยาก เพียงแต่วิธีส่งเสริมการขายของที่นี่ไม่ใช่การประโคมข่าวหรือเชิญผู้มีชื่อเสียงมาพัก แต่เป็นการนำเสนอลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่น่าค้นหา พิชชากรรู้ดีว่านักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจกับเมืองเก่าภูเก็ตมาก เพียงแต่หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภูเก็ตมีสถาปัตยกรรมเหล่านี้ด้วย

“โรงแรมอื่นอาจจะทำ Financial Feasibility เป็นสิ่งแรก แต่สิ่งแรกที่เราทำคือ Marketing Feasibility เราเชื่อว่า ถ้าเราขายอะไรแล้วมีคนซื้อ ยังไงธุรกิจก็ไปรอด ถ้าสินค้าดี เขาจะมีแนวทางการขายของเขาเอง”

 ได้เวลาอันสมควร เราบอกลาที่พักสนิมเขียวของสุภาพสตรีที่ตั้งใจ ใส่ใจ และมีความรักที่สดใสให้ลูกค้าที่แวะมาเยี่ยมเยือน

“ถ้าจะไปเที่ยวจังหวัดบ้านเธอ เธอว่าเราพักที่ไหนดี…”

ครั้งหน้าถ้ามีคนถาม เรามีหนึ่งบทความแทนคำตอบให้เขาแล้ว

บูทีกโฮเทลสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ใกล้เมืองเก่าภูเก็ต ที่สร้างโดยตีความจากตัวตนของ มาร์ทีนา โรเซลส์ ภรรยากัปตันฟรานซิส

Hotel Verdigris

ที่ตั้ง : 145 ถนนเยาวราช ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000 (แผนที่)

โทรศัพท์ : 076 530 629

Facebook : Hotel Verdigris

Instagram : hotelverdigrisphuket

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

Avatar

อธิวัฒน์ สุขคุ้ม

เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ทำเพจรีวิวชื่อ ‘วาดแสง’ ชอบในการท่องเที่ยว เขา ทะเล ถ่ายภาพ กล้องฟิล์ม แคมปิ้ง รักอิสระ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด