เราไม่อาจรับรู้ได้เลยว่า ผู้คนมากหน้าหลายตาที่เพิ่งยื่นมือรับกุญแจ และเดินเข้าไปพักผ่อนภายในห้องพักของโรงแรมนั้นเป็นใคร มาจากไหน สิ่งเดียวที่เราสังเกตได้คือสีหน้าท่าทางของพวกเขาขณะกำลังถูกต้อนรับ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ประตูของห้องนั้นถูกไข มันก็ไม่ต่างอะไรจากการแยกตัวออกไปเป็นส่วนตัว การกระทำทุกอย่างถูกปิดตายอยู่ภายในห้อง มีเพียงผู้รู้เห็นเรื่องลึกลับภายในนั้นเพียงผู้เดียว นั่นคือ โรงแรม 

เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์สไตล์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ที่คับคั่งไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาอย่างไม่อาจคาดเดาบุคลิกได้ สีเทาอันหม่นหมองภายในภาพยนตร์ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสีขาวกับดำ ไม่เพียงเป็นตัวตั้งค่าบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจของเรื่องราว แต่ยังเป็นสีประจำนิสัยของเหล่าตัวละครสีเทาที่ไม่มีใครดีเลวอย่างแท้จริง ทุกคนต่างตกเป็นเหยื่อให้กับสีเทาอันสว่างไสวที่มีเงาตกกระทบอันดำมืดกว่าทุกสิ่งอย่าง ‘Hotel Noir’ ของ ตุ้ย-เจด็จ ศาสตร์ขำ เองก็เช่นกัน 

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

ผู้คนในห้องพักจำนวน 8 ห้อง ของตึก 3 ชั้นที่หันหน้าเข้าหากันนั้นเป็นใคร มาจากไหน เราไม่มีทางรู้ สิ่งเดียวที่รู้คือ โรงแรมแห่งนี้กักเก็บความลึกลับของเหล่าแขกผู้มาเยือนเอาไว้อย่างหนาแน่น และแผ่ออกมาผ่านบรรยากาศที่คงยากจะหาที่ไหนมาเปรียบเทียบ นอกเสียจากภาพยนตร์เรื่อง Rear Window (1954) ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจและดลใจให้ตุ้ยสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา แต่ก็เป็นการน่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่เคยได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จึงขอมอบหน้าที่การบอกเล่าทั้งหมดให้กับตุ้ย ถึงความเป็นโรงแรมที่มีพื้นฐานอยู่บนฟิล์มนัวร์อย่างน่าสนใจ

Draft Script and Screenplay

“เวลาเราทำโรงแรม มีคนเข้ามามากมาย เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แล้วโรงแรมก็เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างลับ มันเหมือนกับคนในฟิล์มนัวร์ เลยคิดคอนเซ็ปต์ให้ตรงกับเรื่องราวพวกนี้ ทุกคนอาจจะมีเรื่องของตัวเองซ่อนอยู่ มันเป็นความคิดสนุก ๆ ในการเริ่มต้นครับ” คอนั่งฟิล์มนัวร์เปรยกับเราถึงต้นความคิด

นั่นคือคำบอกเล่าของตุ้ยผู้เป็นเจ้าของและผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้แต่เพียงผู้เดียว เขาคือชายผู้หลงเสน่ห์ฟิล์มนัวร์เข้าอย่างเต็มเปา เราพอจะสังเกตได้จากการตั้งชื่อโรงแรมตามสไตล์หนังอันแสนมืดหม่นที่ไม่อาจรู้ได้ตั้งแต่แรกพบว่า ตัวละครไหนเป็นคนดี ตัวละครไหนเป็นคนเลว 

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

เช่นเดียวกับการทำโรงแรมของตุ้ย เขาเองก็ไม่รู้ว่าแขกของเขานั้นเป็นใครมาจากไหน ทุกคนต่างมีความลึกลับเป็นเครื่องแต่งกายติดตัวเหมือนกันทุกคน พร้อมด้วยหน้ากากความเป็นแขกที่มีสีหน้าเหมือนกันหมด ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกปลดเปลื้องออกเมื่อเข้าสู่ห้องพัก ตุ้ยนำแนวคิดและความชอบดังกล่าวมาผสมผสานเข้าด้วยกัน บรรยากาศอันน่าพิศวงของมนุษย์ที่มีโรงแรมเป็นที่ตั้ง และความชอบหนังฟิล์มนัวร์ตั้งแต่สมัยที่ยังไปหาซื้อแผ่นจากห้างฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพฯ ก็ดูจะฝังลึกเข้าไปในสมองส่วนความทรงจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน หากหนังเรื่อง Rear Window คือหนึ่งในหลักใหญ่สำคัญของการสร้างสถานที่นี้ขึ้นมา พี่ชายของเขาเองก็มีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่ากัน ถ้าจะบอกให้ถูกต้องตามข้อมูล สิ่งนั้นคงเป็น Guest House ชื่อ บ้านเสลา ที่เคยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีพี่ชายของเขาเป็นเจ้าของ

เปรียบเสมือนครู สอนให้เขาครูพักลักจำผ่านการซึมซับบรรยากาศ ณ ที่แห่งนั้น

“เมื่อก่อนพื้นที่ย่านนิมมานฯ ยังไม่เจริญเท่าวันนี้ พี่ชายเราเปิดเกสต์เฮาส์ชื่อ บ้านเสลา เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นเรายังเด็ก วิ่งเล่นอยู่ที่เกสต์เฮาส์ แล้วมีความรู้สึกว่า เออ เราชอบ ชอบอยู่กับลูกค้า ชอบเจอฝรั่ง ชอบเจอผู้คนมากมาย นั่นเป็นสิ่งที่เราซึบซับจากเกสต์เฮาส์มาตลอด”

ด้วยความบังเอิญหรืออย่างไร ที่ดินเปล่าซึ่งติดกับบ้านของเขาประกาศขาย แม้ราคาแรง แต่ด้วยความคิดที่ว่า “ตรงนี้ต้องเป็นของเรา” ยิ่งผลักดันให้เขาอยากได้สิ่งนั้นไม่แพ้ไปกว่าเหล่าตัวละครในหนังฟิล์มนัวร์ที่ต้องการได้ผลประโยชน์ แม้จะเป็นความเสี่ยงราคาแพงก็ตาม

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

อีกมุมหนึ่ง คงเป็นเรื่องแกมบังคับที่เขาต้องซื้อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกันแบบเชื่อมถึงในปัจจุบัน หากมีผู้อื่นมาซื้อแล้วกลายเป็นสถานบันเทิง เรื่องวุ่นวายอาจถูกยกระดับจากการอยู่อาศัยของแขกในโรงแรมกลายเป็นความลำบากในการอยู่อาศัยของตนเอง ท้ายที่สุด เขาจึงครอบครองที่ดินตรงนี้พร้อมด้วยความคิดตั้งต้นว่า “ต้องทำเป็นโรงแรม” ภายใต้งบจำกัด ไม่มีลิฟต์ ไม่มีสระว่ายน้ำ แต่เขาชอบดูหนังเป็นทุนเดิม และมีความรู้ด้านออกแบบ/ตกแต่งภายใน เป็นปริญญาตรีใบที่ 2 จากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียเป็นทุนหลักติดตัว การสร้างโรงแรมแห่งนี้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีพื้นฐานอยู่บนความชอบของตัวเอง ความสุขของลูกค้า และบรรยากาศความลึกลับของโรงแรมที่โชยไปด้วยกลิ่นของฟิล์มนัวร์

“ผมคิดว่าถ้าสิ่งที่ชอบมาใส่ในงาน มันจะสนุกกับการบริหาร ก็เลยติดมาตั้งแต่แรก คิดว่าถ้าเราชอบอะไรแล้วทำควบคู่กัน มันจะไปได้เรื่อย ๆ เราก็อิ่มเอิบใจ ถ้าเจอคนที่จูนตรงกัน” 

Storyboard and Production

“ธีมการออกแบบเป็นของฮิตช์ค็อก เรื่อง Rear Window เป็นฆาตกรรมที่มองเห็นกันสองฝ่าย เห็นฆาตกรรมผ่านหน้าต่างตัวเองไปอีกฝั่งหนึ่ง ผมออกแบบให้มีคอร์ตตรงกลาง ห้องนี้จะมองเห็นอีกฝั่งหนึ่ง” ตามที่กล่าวไปข้างต้น ตุ้ยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์แบบสุดลิ่มประตู การมองเห็นการฆาตกรรมจากหน้าต่างฝั่งตรงข้ามแลดูจะเป็นความลึกลับ เขย่าขวัญ และพิศวง จนเขาเองยังอดใจไม่ได้ที่จะนำมาเป็นจุดขายหลักของตัวอาคาร ซึ่งมีเขาเป็นผู้ออกแบบแต่เพียงผู้เดียว

มันดูไปได้ดีกับขนาดพื้นที่ที่จำกัด การสร้างตึกที่หน้าต่างหันหน้าชนกัน มีพื้นที่ตรงกลางเป็นช่องว่าง มีต้นไม้ใหญ่ขนานไปกับตึก ยิ่งช่วยบดบังการเข้าถึงของแสงอาทิตย์ ส่งผลให้บรรยากาศของอาคารที่ต้องพึ่งแสงไฟสลัว ๆ อันน้อยนิด ยิ่งสร้างเสริมบรรยากาศได้ตามชื่อนัวร์แบบไม่ขาดตกบกพร่อง

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

แม้ว่าหลายครั้งหลายคราวลูกค้ามักไม่รู้ตัว ว่ามองเห็นฝั่งตรงข้ามของตนได้ผ่านผ้าม่านและมู่ลี่ที่กั้นไว้ ซึ่งคงถือเป็นโชคดีของแขกที่ไม่ต้องตกกระไดพลอยโจนไปกับเหตุการณ์อันแสนลึกลับของห้องฝั่งตรงข้าม ที่อาจทำให้ปวดขมับได้เมื่อต้องรับรู้อย่างไม่ตั้งใจ 

ส่วนสไตล์ของตึก ตุ้ยแทบจะยกตึกอิฐที่เห็นได้ตามมหานครนิวยอร์กมาตั้งเอาไว้ที่เชียงใหม่อย่างไรอย่างนั้น เพราะเคยติดสอยห้อยตามพี่ชายไปอยู่ที่เขตบรูกลินในสมัยวัยเรียน ผนวกเข้ากับการตกแต่งสไตล์ยุโรปที่ติดตามาจากสถาปัตยกรรมในภาพยนตร์อีโรติกสัญชาติฝรั่งเศสหลาย ๆ เรื่องที่ตุ้ยชอบดูไม่แพ้ฟิล์มนัวร์ ก็ค่อย ๆ ขัดเกลารสนิยมของเขา จนแสดงออกผ่านการออกแบบให้กลายเป็นตึกหลังงามหลังนี้

“Noir เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ดำ ๆ มืด ๆ ดาร์ก ๆ ฝ้าออกแนวฝรั่งเศสนิดหนึ่ง กระเบื้องก็เรียงเป็นลายฝรั่งเศส ท่อน้ำทิ้ง ท่อระบายอากาศก็ออกยุโรปนิด ๆ โดยรวมจะมีความฝรั่งเศสปนมาด้วย”

ทว่าการก่อสร้างย่อมไม่ราบรื่น เมื่อต้องนำตึกจากนครมหานครนิวยอร์กมาตั้งไว้ในซอยนิมมาน จังหวัดเชียงใหม่ และตุ้ยยังเลือกใช้เป็นอิฐปั้นมือที่มีรูปทรงไม่ค่อยสมมาตร แต่ก็เป็นเสน่ห์ พ่วงมาด้วยปัญหาที่เกิดจากผู้รับเหมาที่มีความเคยชินกับการฉาบปูนให้เรียบเนียนสวยงาม ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเขา จนต้องยืนคุมแบบไม่ให้คลาดสายตา

“ฉาบปูนแบบยุโรปไม่ต้องเรียบก็ได้ อิฐไม่ต้องเรียงเป็นลายอิฐเป๊ะก็ได้ ผู้รับเหมาเขาอาจจะติดความเพอร์เฟกต์ แต่เราบอกว่าไม่ต้องการแบบเพอร์เฟกต์ ก็ต้องยืนคุมช่างก่อเวลาก่ออิฐทุกก้อน”

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

ผลจากการมีวิชาด้านการตกแต่งและออกแบบภายในมาโดยตรง เขาจึงย่อมรู้ดีกว่าใครว่า วัสดุแบบไหนจะส่งผลดีกับโรงแรม ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีกับลูกค้าด้วย ซึ่งสิ่งนั้นคือ สัจจะวัสดุ (การแสดงถึงเนื้อแท้ ที่เป็นการโชว์พื้นผิวของวัสดุโดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาปิดทับ)

เขาอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่า “สัจจะก็หมือนเนื้อแท้ของวัสดุ ปูนจริง ๆ อิฐจริง ๆ หินจริง ๆ พยายามหลีกเลี่ยงวัสดุสังเคราะห์ทั้งหลาย เราใช้ไม้จริง ๆ เหล็กจริง ๆ มันค่อนข้างเป็นสัจจะ” 

กระนั้นเองตุ้ยก็เสริมว่า ทุกอย่างต้องมีตรงกลางตามความเหมาะสม สัจจะวัสดุอาจไม่เหมาะสมกับทุกพื้นที่ในโรงแรม อาจต้องมีวัสดุเทียมเข้ามาปะปนเพื่อการดูแลรักษาตามการใช้งาน โดยเฉพาะในห้องพัก ถ้าหากนำไม้จริง ๆ ไปปูพื้นในห้องที่ลูกค้าอาจทำน้ำหกใส่ หรือกระเป๋าลากจนกระทบกระเทือน ความยากในการดูแลรักษา ความเสียหายและความถี่ในการเปลี่ยนวัสดุ เห็นจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย นำไปลงแรงกับตรงอื่นได้จะดีกว่า เพราะฉะนั้นวัสดุสังเคราะห์จึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

จำนวนห้องมีทั้งหมด 8 ห้อง ชั้น 2 และชั้น 3 ชั้นละ 4 ห้อง โดยมีห้อง Deluxe 7 ห้อง และห้อง Executive 1 ห้อง พร้อมกับการตกแต่งห้องที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนตายตัวเลยว่า 

“ห้องของเราจะต้องมีลักษณะคล้ายโฮมเธียร์เตอร์”

นั่นคือสิ่งที่ตุ้ยบอกทันทีเมื่อพูดถึงห้องพัก การจัดวางทีวีให้ตรงกับเตียงหรือโซฟา หากเป็นห้อง Executive และยังเอาโต๊ะออกไปจากห้องทั้งหมด เพื่อให้แขกได้พักผ่อนจริง ๆ เหมือนเป็นการแปะป้าย Do not work in here แบบอ้อม ๆ

“เราจัดห้องให้เป็นสตูดิโอโฮมเธียร์เตอร์ มีม่านปิดหน้าประตูให้ มีไฟ Low Light เหมือนในโรงหนัง ถ้าดูหนังอยู่แล้วปิดไฟ ก็มีไฟ Low Light ด้านใต้ให้ เราเลียนแบบโรงหนังไว้ในห้องนอนเลยครับ”

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

แต่ถ้าหากแขกคนไหนต้องการโต๊ะทำงาน ทางโรงแรมมีห้อง Common ให้บริการอยู่ที่ชั้น 1 เพราะถึงเขาจะหลงเสน่ห์ในฟิล์มนัวร์แค่ไหน แต่ความสะดวกสบายของแขกต้องไม่ถูกลืม

“อ่างล้างหน้าก็จะใช้แบบยุค 80 90 ที่มันลอยตัว เราไม่ได้ใส่เคาน์เตอร์แบบสวย ๆ เหมือนสมัยใหม่ แต่เรามีความโมเดิร์นเข้ามา เช่น มีน้ำร้อน มี Touch Switch ที่หัวเตียง เหมือนเป็นการมิกซ์กันระหว่างใหม่กับเก่า คิดว่าน่าจะเป็นเสน่ห์ในห้องพักของเราด้วย”

กองเซ็นเซอร์

สำหรับตุ้ยแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดในการออกแบบเห็นจะไม่ใช่การพยายามให้ตรงใจกับความชอบของตนเองหรือเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด แต่เป็นการออกแบบเพื่อให้ผ่านกองเซ็นเซอร์ที่มีชื่อว่า ‘เทศบาล’ เสียมากกว่า เพราะด้วยกฎการจัดเรตของเทศบาลที่เยอะและยาก จนกว่า Hotel Noir จะสมบูรณ์ดีก็แก้แบบกันไปนักต่อนักเป็นเวลากว่า 1 ปี และใช้พื้นที่ของตัวเองไม่ได้ครบถ้วน 100% ด้วยข้อบังคับของเทศบาลที่บอกว่า คุณต้องมีพื้นที่โล่งสีเขียว 40% แต่ละชั้นห้ามมีความสูงเกินจากที่กำหนดไว้

การซ่อนแอร์ กรีดคาน ระยะข้างเคียง และระยะเปิดหน้าต่าง ถึงแม้ในตอนนี้อาจกลายเป็นเรื่องติดตลกระหว่างเล่าให้ฟังสำหรับตุ้ยไปแล้ว แต่เชื่อเลยว่า ในช่วงเวลานั้นคงน่าปวดหัวไม่น้อย ทั้งกับการถูกจำกัดตึกให้เหลือเพียงแค่ 3 ชั้น และการถูกจำกัดพื้นที่จนเหลือเพียงแค่ 60% จากทั้งหมด

“เหมือนเทศบาลมาช่วยออกแบบ คล้ายคนทำหนังที่มีกองเซ็นเซอร์มาคุม” เขาหัวเราะ

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

Spoiler Alert!

อันที่จริงแล้ว Hotel Noir เป็นโรงแรมที่เต็มไปด้วยความลับ ซึ่งเกิดจากความสนุกระหว่างออกแบบของตุ้ยไม่มากก็น้อย โดยสิ่งที่เขาดูสนุกสนานและเล่นใหญ่กับมันที่สุด คือ หน้าต่างฝ้าที่จะทำให้เห็นเงาคนในห้องน้ำแบบในภาพยนตร์เรื่อง Psycho (1960) ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

“มีห้องน้ำอยู่ห้องหนึ่ง เป็นห้องเดี่ยว เราอยากสนุก งั้นเจาะตรงนี้แล้วกัน ติดกระจกฝ้ามันก็จะเห็นเงา (ฮา) คนอาบน้ำ ก็เลยต้องใส่ม่านปิด ออกแบบไปด้วยสนุกไปด้วย เพราะออกแบบเอง”

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่

แต่คงจะอีโรติกเกินไปหากแขกต้องมาอาบน้ำโชว์เรือนร่างผ่านกระจกฝ้า เขาจึงไม่ลืมที่จะติดมู่ลี่สำหรับปกปิดและป้องกันความเป็นส่วนตัวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของแขก

อีกอย่างหนึ่งคือ ตู้เซฟที่เขาซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ในห้อง แล้วแต่ว่าแขกจะหาเจอหรือไม่ ซึ่งข้างในก็ไม่ได้มีอะไรแม้จะหาเจอก็ตาม ทว่าสิ่งที่เป็นความลับและเรื่องราวกลับใหญ่โตที่สุดเห็นจะเป็นรีโมตทีวีที่ซ่อนอยู่ในหนังสือ และก็อาจจะซ่อนเนียนไปสักหน่อย จนบางครั้งลูกค้าก็หาไม่เจอ

“เรื่องรีโมต หลัง ๆ เราต้องไกด์ลูกค้า เพราะลูกค้าเคยโวยวาย เฮ้ย ทำไมไม่มีรีโมตให้ หาไม่เจอ จนเช็กเอาต์ออกไปก็ยังหาไม่เจอ ก็เลยต้องไกด์บอก เคยโดนลงคอมเมนต์ Agoda ซะเละเลย”

Hotel Noir โรงแรมคอนเซ็ปต์ Film Noir ที่ยกอาคารอิฐสไตล์นิวยอร์กมาไว้ที่นิมมานฯ เชียงใหม่
เบื้องหลัง แรงบันดาลใจ และความนึกสนุกของการออกแบบ ‘Hotel Noir’ โรงแรมนัวร์ ๆ คอนเซ็ปต์จัดย่านนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่

ห้องน้ำเองก็มีลูกเล่นให้หวือหวากันเล็กน้อยกับประตูที่เนียนไปกับกำแพง จึงจำเป็นต้องผลักประตูเข้าไปอีกทีหนึ่งเพื่อพบกับอ่างอาบน้ำและห้องฝักบัว ในแง่หนึ่งมันก็เป็นแนวทางการบริหารพื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งลูกเล่นที่ทั้งเวิร์กและไม่เวิร์ก แต่อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้การทำงานของเขาระหว่างออกแบบสถานที่แห่งนี้เจือปนไปด้วยความสนุก และหวังว่าเหล่าแขกผู้แบกความลึกลับเข้ามาในโรงแรม จะรู้สึกประทับใจในความลึกลับที่มอบกลับคืนให้เช่นกัน

Neo-Noir Era

สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจของ Hotel Noir คือการบริการ เพราะถึงแม้ตัวเองจะมีคาแรกเตอร์จัดขนาดไหนก็ตาม แต่ทุกอย่างยืดหยุ่นได้เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า เช่น หากมีลูกค้ารู้สึกกลัวบรรยากาศมืดสลัว ๆ ทางโรงแรมยินดีและพร้อมจัดเตรียมโคมไฟให้เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ ตุ้ยมองว่าความยืดหยุ่นนี้ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการบริการ พร้อม ๆ กันนั้นก็เป็นการเรียนรู้ถึงข้อด้อยของโรงแรมตัวเองไปด้วย 

ถ้ามีลูกค้าขอหมอนข้าง เขาก็ยินดีจะหาและจัดเตรียมให้ในทันที

ซึ่งความยืดหยุ่นนี้เอง ชวนให้เรารู้สึกว่า Hotel Noir ไม่ต่างอะไรจากหนังในยุค Neo-Noir สักเท่าไหร่ ความยืดหยุ่นที่มากขึ้นกว่ายุคสมัยก่อน ที่แต่เดิมจะว่าด้วยเรื่องของอาชญากรรมและด้านมืดในจิตใจผู้คน แต่นีโอนัวร์เสริมความยืดหยุ่นและเข้าร่วมกับหนังแนวอื่น ๆ หรือประเทศอื่น ๆ ให้ออกมาเป็นแนวทางที่ร่วมสมัยมากขึ้น ไม่ได้ตายจากไปตามกาลเวลา

เบื้องหลัง แรงบันดาลใจ และความนึกสนุกของการออกแบบ ‘Hotel Noir’ โรงแรมนัวร์ ๆ คอนเซ็ปต์จัดย่านนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างจากงานบริการของโรงแรมเป็นสิ่งที่ตุ้ยซึมซับมาจากเกสต์เฮาส์ของพี่ชาย การดูแลแขกคือสิ่งที่โรงแรมแห่งนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เปรียบแขกเสมือนกับญาติของตน ไม่เก็บเงินประกันความเสียหาย หากมีปัญหาอะไร คุยกันได้เสมอ แม้แต่ของหายก็ต้องได้คืน

แม้บรรยากาศอันลึกลับของ Hotel Noir จะจัดจ้านในความเป็นตัวของตัวเองขนาดไหน แต่การเป็นโรงแรมที่ดี คือการสร้างความสะดวกสบายให้แก่แขกผู้มาพักอย่างถึงที่สุด ซึ่งตุ้ยก็ให้ความสำคัญกับจุดนั้นไม่แพ้ไปกว่าบุคลิกของโรงแรมที่เขาปลุกปั้นสร้างมันขึ้นมาเองกับมือ

เบื้องหลัง แรงบันดาลใจ และความนึกสนุกของการออกแบบ ‘Hotel Noir’ โรงแรมนัวร์ ๆ คอนเซ็ปต์จัดย่านนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่

Hotel Noir

ที่ตั้ง : 5 8 ถนนนิมมานเหมินท์ ตำบลสุเทพ อำเอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

โทรศัพท์ : 06 4351 7007

Facebook : Hotel Noir  

 

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย