ราว 10 ปีก่อน ที่พักราคาย่อมเยาอย่างโฮสเทลซึ่งขายที่พักเป็นเตียง ตกแต่งสวยเก๋ตามคอนเซปต์ต่างๆ เน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และมีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย คือธุรกิจดาวรุ่งสุกสกาวในวงการท่องเที่ยวไทย ที่พักขนาดเล็กแบบนี้เกิดขึ้นมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ จนกลายเป็นรูปแบบที่พักที่คนรุ่นใหม่คุ้นชิน

ค.ศ. 2020 เศรษฐกิจทั่วโลกสาหัสจากโรคระบาด การท่องเที่ยวซบเซา โฮสเทลซึ่งเคยคึกคักก็ได้รับผลกระทบหนักหน่วง ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้มีสายป่านยาวหรือเปิดมาเนิ่นนานจนมีทุนสำรองแน่นหนา โดยเฉพาะโฮสเทลในกรุงเทพฯ ที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก การปิดประเทศทำให้ชีพจรของที่พักเล็กๆ สะดุด จนบางที่ต้องเลิกกิจการไปโดยสิ้นเชิง

แล้วอนาคตของโฮสเทลจะไปทางไหน จะเป็นอย่างไรต่อ

เราพกคำถามนี้ไป ‘งานสาร(ะ)ทุกข์สุขดิบ Ep.3 คนทำโฮสเทล’ ซึ่ง The Yard Bangkok ที่พักน่ารักย่านอารีย์จัดขึ้น โดยชักชวนคนทำธุรกิจโฮสเทลมาทานอาหารเย็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงและกำลังใจกัน งานนี้มีชาวธุรกิจที่พักมาร่วม 10 กว่าราย แต่ละฝ่ายแบ่งปันเรื่องราวการสู้ไม่ถอยอย่างออกรสชาติ บ้างปิดโรงแรมไปทำธุรกิจอื่น บ้างเปิดบางส่วนและหาธุรกิจเสริม แต่ละที่สรรหาวิธีฝ่าฟันต่อลมหายใจไปตามกำลังและทรัพยากรของตน 

เราคัดเลือกเรื่องราวจากเจ้าของที่พัก 11 ราย มาเล่าสู่กันฟัง

นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหากิจการ แต่เป็นการแบ่งปันแนวทางสู้วิกฤต และส่งต่อพลังงานสร้างสรรค์ให้แก่กัน 

ขอเอาใจช่วยธุรกิจทั้งหลาย ด้วยไอเดียสู้สุดใจ 11 รายการ ดังนี้ 

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล
11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล
11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

1. สร้าง DIY Restaurant ให้เช่าสวนและห้องพักเพื่อจัดกิจกรรมนานาประเภท 

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

“อยากทำร้านอาหารเลย เพราะคุยกับกลุ่มร้านอาหาร เขาขาดทุนแค่เดือนเดียว หลังจากนั้นก็ขายของได้ปกติ”

ส้ม-อติพร สังข์เจริญ ผู้ก่อตั้ง The Yard หรือบ้านญาติเปรยเมื่อเปิดงาน เธอเล่าว่าช่วงแรกแก้ปัญหาโฮสเทลด้วยการทำรถพุ่มพวง ขายวัตถุดิบเกษตรออร์แกนิกในย่านอารีย์ ช่วงแรกๆ กระแสตอบรับจากชาวอารีย์ดีมาก แต่พอคลายล็อกดาวน์เข้าสู่สถานการณ์ปกติ คนกลับออกไปใช้จ่ายตามเดิม ดังนั้นต้องหาวิธีทำธุรกิจใหม่ 

เธอยังเปิดโฮสเทลตามปกติทั้งรายวันและรายเดือน แต่มีบริการอื่นๆ เข้ามา ทั้งเปิดร้านอาหารแบบ DIY Restaurant ให้คนมาใช้พื้นที่สวนกว้างๆ ของโฮสเทลเป็นลานบาร์บีคิวหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งปาร์ตี้ แสดงดนตรี จัดเวิร์กช็อป สอนโยคะ จัดประชุม ถ่ายหนังและโฆษณา นอกจากนี้ยังปรับปรุงห้องพักแบบเตียงให้กลายเป็นห้องทำงาน Co-Working Space จะเข้ามานอนพัก กิน ดื่ม เรียน เล่น สังสรรค์ ใช้ชีวิตและพื้นที่ของโฮสเทลได้เต็มที่ตลอดเวลา

Facebook : The Yard Bangkok

2. เปิดเป็นที่พักระยะยาว และทำแซนด์วิชตามสั่งกับคาเฟ่ Slow Bar

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

Wander Wonder เป็นโฮสเทลในอาคารพาณิชย์ริมสถานีรถไฟฟ้า BTS อุดมสุข ของ มอส-ปวิตรา จันทร์สุหร่าย ซึ่งเปิดตัวใหม่เอี่ยมอย่างไปได้สวยในช่วงต้นปี แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา สถานการณ์ COVID-19 ก็พรากลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปเกือบทั้งหมด มอสรีบปรับโฮสเทลของเธอเป็นที่พักรายเดือน รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และ Netflix พร้อมสรรพในตัว ตอบโจทย์ทั้งนักท่องเที่ยวที่ตกค้างในไทยช่วงแรกๆ และคนไทยที่ทำงานในเมือง ต้องการที่พักสะดวกสบายใกล้รถไฟฟ้า 

จุดเด่นของที่พักใหม่เอี่ยมนี้คือเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เธอและแขกสามารถพูดคุยและจองห้องผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้น มี Digital Door Lock ไม่ต้องใช้กุญแจห้อง ทำทุกอย่างเป็นดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานต้อนรับประจำการ ลดทั้งเวลาและความเสี่ยงติดเชื้อจากการพบปะ นอกจากนี้เธอยังเปิดคาเฟ่ Slow Bar และรับทำแซนด์วิชแบบเดลิเวอรี่ทั้งขายปลีกและขายส่งร้านกาแฟและออฟฟิศต่างๆ ซึ่งรับทำวันต่อวันแบบพรีออเดอร์เท่านั้น ลูกค้าสามารถเลือกไส้แซนด์วิชได้ตามชอบเพราะเธอมีตัวเลือกให้หลากหลายครบถ้วน

“หลังจากเจอโควิด เราหันมาเรียน Digital Marketing จริงจัง ยิงโฆษณาทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะหาทางออกไม่ได้ เราก็ต้องมาทางนี้ ได้ลูกค้าจากการยิง Ads พอสมควร ตอนนี้พอเริ่มดีขึ้นก็มีคนถามเรื่องคาเฟ่เยอะ” เจ้าของธุรกิจหน้าใหม่แบ่งปันเรื่องราวการสู้ไม่ถอยของเธอ

Facebook : Wander Wonder 八WW

3. เปิดร้านขนมปังยีสต์ธรรมชาติ ปิดโฮสเทล และเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นห้องพัก

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

แน็ก-ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ เจ้าของ If you want hostel ที่พักน่ารักขนาด 40 เตียงในสุโขทัย ซึ่งมีจุดเด่นที่การรับอาสาสมัครชาวต่างชาติมาทำงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตัดสินใจปิดธุรกิจเดิมลง และกำลังจะเปลี่ยนบ้านของตัวเองที่อยู่ห่างจากที่เดิมไป 700 เมตร ให้กลายเป็นที่พักขนาดเล็กไม่เกิน 4 เตียงแทน 

“จุดเด่นของโฮสเทลเราคือการรับอาสาสมัครมาเป็นพนักงาน แขกเดินเข้ามาเป็นลูกค้า เดินออกไปเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม และเราใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ แต่เราเป็นเพื่อนกับคนสี่สิบคนไม่ไหว ต้องจ้างพนักงานเยอะมาก วิธีปรับคือทำให้มันเล็กลง เพื่อให้คุณค่าที่เราต้องการไปถึงทุกคน”

แน็กเล่าว่าแม้ปิดธุรกิจห้องพัก แต่ Rush lush cafe (รัตน์ รัตน์ คราฟต์คาเฟ่) คาเฟ่ขนมปังยีสต์ธรรมชาติซึ่งเปิดเฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ ยังคงอยู่ ก่อนหน้านี้เขาเคยรับอาสาสมัครเชฟชาวต่างชาติมากินอยู่ที่สุโขทัย มาสอนทำขนมและกาแฟจนคาเฟ่แข็งแรง คาเฟ่จึงยังอยู่ได้ด้วยองค์ความรู้ที่ได้มาจากเพื่อนๆ ส่วนเวลาที่เหลืออีก 4 วันต่อสัปดาห์ ชาวสุโขทัยรุ่นใหม่ทุ่มเวลาให้กับการทำโปรเจกต์เพื่อสังคมต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัดบ้านเกิด 

เป้าหมายของเขาไม่ใช่การสร้างธุรกิจที่ให้ผลกำไรสูงสุด เมื่อรูปแบบเดิมไปต่อไม่ไหว จึงปรับตัวลดต้นทุนเหลือแค่สิ่งจำเป็น พร้อมผันตัวไปทำสิ่งใหม่ๆ ที่ยังสอดคล้องกับความเชื่อและความชอบของตนเอง

Facebook : If you want hostel Sukhothai – อีฟ ยู วอนท์ โฮสเทลสุโขทัย

4. เปิดครัวให้เช่าเป็น Cloud Kitchen และเปิดเป็นที่พักพร้อมอาหารเสร็จสรรพ

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

Hom Hostel & Cloud Kitchen ธุรกิจที่พักบริเวณสุขุมวิท 3 นานาสแควร์ ของ ตูน-ภาวลิน มาสะกี มีจุดเด่นเรื่องอาหาร โมเดลธุรกิจเธอโดดเด่นมาก ตูนเล่าว่าช่วงวิกฤต COVID-19 ใหม่ๆ เธอระดมทุนบริจาคเงินทำข้าวให้คนเร่ร่อนและคนที่ลำบาก 100 วัน ประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ 3 เดือน 

หลังจากนั้นเธอเปิดพื้นที่ห้องครัวให้เช่าถึง 10 ห้อง ให้ร้านอาหารมาเช่าพื้นที่ Cloud Kitchen ทำอาหารแยกกัน แขกมาที่เดียวได้กินหลายร้าน หรือถ้าสั่งอาหารส่งจากที่เดียวก็ส่งฟรีระยะ 0 – 3 กิโลเมตร เมื่อสั่งครบ 300 บาท นอกจากนี้ยังเปิดให้คนมาเช่ารายวันเพื่อทำครัว เช่น ทำ Live Cooking ถ่ายรายการ มาทดลองเมนูก่อนไปสอบเป็นเชฟ รวมถึงจัด Chef’s Table ได้อีกด้วย ที่พักก็สามารถจองเตียงเป็นที่พักสำหรับเชฟได้โดยเฉพาะ

“ธีมของเราตั้งแต่ก่อนปิดตัว คือเป็นที่อยู่ของคนชอบทำอาหาร เป็นครัวใหญ่ๆ ที่ทุกคนมาทำอาหารและกินข้าวกันได้ แล้วก็มีสวนผักใหญ่ ให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกันผ่านอาหารอยู่แล้ว ยังมีลูกค้ากลับมาหาเราทุกปีเพราะคอนเซปต์นี้ เราชอบเรื่องอาหาร รู้สึกว่าไอ้พวกนี้ยังอยากเก็บ ยังไม่เลิก”

ตูนตั้งใจทำห้องรายเดือน ปิดโฮสเทลไปเลย และจะเปิดใหม่เมื่อนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศ เป็นโฮสเทลที่มีแค่ 8 เตียง แขกที่พักจะได้ Voucher ราคา 50 บาท สำหรับกินมื้อเช้าหรือมื้อเย็นฟรี เน้นอาหารเป็นหลัก ไม่เล่น Price War แข่งลดราคาห้องกับที่พักอื่นๆ เพราะตูนรู้สึกว่าสงครามนี้เธอไม่มีวันสู้ได้ จึงต้องหาทางอยู่กับสถานการณ์

“เราเชื่อว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังพักโฮสเทลใกล้รถไฟฟ้า แต่มีอายุแล้ว แต่ไม่อยากกินเหล้า ไม่ปาร์ตี้โหวกเหวก ต้องการที่ที่มีความเป็นส่วนตัว เราเลยตัดใจไม่ขาด จะปล่อยตรงนี้ก็ไม่คุ้ม เพราะสุดท้ายวันหนึ่งคนจะกลับมา ก็เลยคิดว่าทำ Cloud Kitchen ไปก่อน ซึ่งได้ผลตอบรับดี”

Facebook : Hom Hostel & Cloud Kitchen

5. เปลี่ยนโฮสเทลเป็นจุดแวะพัก อาบน้ำ ชาร์จแบต ระหว่างรอรถบัส

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel, ธุรกิจโฮสเทล

TALES Khaosan โฮสเทลของสองพี่น้อง วิวรรณ และ แวววรรณ สิริวเสรี ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการหายตัวไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติในถนนข้าวสาร โชคดีที่เจ้าของที่ช่วยลดค่าเช่าให้ พวกเธอเปิดทั้งโฮสเทล คาเฟ่ และพื้นที่ให้เช่า ด้วยทำเลใกล้จุดขึ้นรถบัสไปเกาะสมุยและเกาะพงัน บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ทำให้มีนักท่องเที่ยวไทยที่ชอบไปเที่ยวดำน้ำมาผ่านหน้าที่พักพวกเธอเป็นประจำ วิวและแววจึงเปิดที่พักให้เป็นที่อำนวยความสะดวกชั่วคราว ทั้งให้อาบน้ำ ชาร์จแบตมือถือและกล้อง นอกจากนี้แขกยังจองที่พักแบบเป็นเตียงเดี่ยว หรือปิดห้องเหมาทั้งชั้นได้อีกด้วย

Facebook : TALES Khaosan

6. เปิดคลินิกเพื่อสุขภาพ ทำร้านอาหารโฮมเมด และให้คนเช่าพื้นที่เป็นส่งไปรษณีย์

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

ผึ้ง-ผานิต อร่ามกุล และ เต็ม-โชติรัตน์ อภิวัฒนาพงศ์ เจ้าของ Yim Bangkok โรงแรมหน้าตาสวยเก๋ย่านห้วยขวาง ผันตัวไปทำ Thrive Clinic คลินิกเพื่อสุขภาพอย่างเต็มตัว นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารโฮมเมดแนวครอบครัว ใช้ผักออร์แกนิก วัตถุดิบคัดสรร และไม่ใส่ผงชูรส ซึ่งกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ตัวที่พักเปิดเป็นห้องพักรายเดือนเช่นเดียวกับโรงแรมอื่นๆ พวกเขาตั้งใจเปิดพื้นที่บางส่วนให้คนเช่าสำหรับส่งไปรษณีย์ ในอนาคตครอบครัวนี้ยังตั้งใจเปิดคลินิกสาขาย่อยในตัวโรงแรม เรียกได้ว่าเน้นไปจับกลุ่มคนรักสุขภาพแบบเต็มตัว

Facebook : Yim Bangkok

7. เปิดร้านเบเกอรี่ออนไลน์ และขาย Voucher โรงแรม 

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

“คนมักคิดว่าแถวรัชดาจะมีแต่คนจีน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่พักโฮสเทลเราคือชาวยุโรปและอเมริกัน คนเอเชียไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ พวกยุโรปเขามองหาโฮสเทลเพราะถูกจริตกับเขา คนไทยก็ไม่ค่อยพักโฮสเทลมาก ยังห่วงเรื่อง Privacy เยอะ เราก็พยายามปรับมาหาลูกค้าคนไทยทั้งรายวันและรายเดือน”

บอย-ปิยะ เทพสุธา และ ปุ้ย-วิภาพร เทพสุธา เจ้าของ Siamaze Hostel ย่านรัชดาภิเษก 17 เล่าเรื่องกลุ่มลูกค้าก่อนช่วง COVID-19 เมื่อโรคระบาดเข้ามา พวกเขาหันไปทำเบเกอรี่ Black magic snacks อย่างต่อเนื่องจริงจัง ซึ่งขายได้เรื่อยๆ (เราชิมแล้ว อร่อยมาก) นอกจากนี้ยังเปิดที่พักรับกลุ่มคนไทย โดยขาย Voucher เป็นแพ็กเกจสุดคุ้มให้ได้เงินสดเข้ามาหมุนในธุรกิจก่อน ยิ่งเป็นลูกค้าเก่าก็จะยิ่งได้ราคาพิเศษเข้าไปอีก

Facebook : Siamaze Hostel Bangkok

8. เปิด Healthy Smoothie Bar และเปิดโรงแรมให้เป็นพื้นที่ขายของชุมชน

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

ณัฏ-ณัฏฐิมา วิชยภิญโญ เป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่ง ทั้ง The Quarter Bangkok ที่ราชเทวี The Quarter Residence ที่พญาไท ทั้งยังมี Bed&Breakfast ที่เขาหลัก พังงา เป็นโรงแรมแบบ Pay as you wish แถมโฮมสเตย์บ้านนาฮอมฮักที่น่าน 

“มีคนสอนว่าอย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว นี่ก็ว่าแยกแล้วนะ (หัวเราะ) เขาหลักปิดเป็นที่แรกเพราะต่างชาติเข้ามาไม่ได้ ที่น่านเป็นที่พักแนวเพื่อสังคม ก็ปิดไปเหมือนกัน ที่กรุงเทพฯ เราไม่ได้ปิดเพราะพนักงานยังอยู่ มีสองตึกใกล้ๆ กัน ตอนแรกเราจะปิดตึกหนึ่ง โยกมาที่เดียวเพื่อให้ค่าใช้จ่ายเหลือน้อยที่สุด รีบยอมแพ้ตัดแขนตัดขาเพื่อรักษาชีวิต เราอยากคืนตึก แต่พนักงานไม่ยอม บอกว่านี่ก็บ้านเขาเหมือนกัน”

พนักงานของ The Quarter ช่วยกันหาธุรกิจเพื่อมารองรับค่าเช่าตึก เริ่มทำอาหารมาขาย รับข้าวกล่อง ขนม และของท้องถิ่นจากเพื่อนบ้านมาวางขายหน้าร้านติดถนนใหญ่ เป็นเหมือนซูเปอร์มาเก็ตชุมชนเล็กๆ ต่อมาเมื่อเมืองเริ่มกลับมาเปิด เลยปรับล็อบบี้เป็นร้านน้ำผลไม้ Juice Mood ที่ใช้ผลไม้แท้และน้ำผึ้งคุณภาพ ทั้งยังทำผลไม้แพ็กแช่แข็ง Ready to blend 11 เมนู สำหรับส่งให้ร้านอาหารและคนชอบกินน้ำปั่นซื้อกลับไปทำกินเองที่บ้าน ช่วยลดเวลาการซื้อและสต็อกกักตุนผลไม้ และลด Food Waste อย่างได้ผล 

The Quarter เป็นโฮสเทลแรกๆ ที่เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์พักเป็นรายเดือน จึงชิงปรับตัวเป็นที่พักระยะยาวก่อนใครเพื่อน และยังหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มาต่อสู้ให้กิจการยังก้าวต่อไปได้

9. ปรับใช้โฮสเทล 3 สาขาตามลักษณะการเข้าใช้งานของลูกค้า

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

เพน-จารุภา สุนทรปกาสิต เป็นเจ้าของโฮสเทล 3 สาขาที่ถนนข้าวสารและราชเทวี เธอเปิดสาขาแรกใน ค.ศ. 2014 และขยายสาขาทุกสองปีจนถึง ค.ศ. 2018 โดยเน้นรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาตลอด เมื่อเจอวิกฤตปิดประเทศ เพนใช้วิธีแก้ไขปัญหาในแต่ละจุดต่างกันไป 

Bed Station ข้าวสาร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจำเป็นต้องปิดตัวลงก่อนเพื่อคุมต้นทุน แต่ใช้เป็นสถานที่รับจัดอีเวนต์ Private Pool Party และขายเป็นห้องเดี่ยว ขณะที่ Bed one block ราชเทวี ใกล้รถไฟฟ้า ทั้งสะดวกสบายและสะอาด เน้นขายผู้เข้าพักชาวไทยในราคาย่อมเยา ส่วน Bed Station ราชเทวี รีโนเวตเป็นคาเฟ่ ตอบรับนักศึกษาและการทำกิจกรรมพบปะเป็นกลุ่ม ชนิดจบมีตติ้งแล้วจองห้องนอนรวมกันให้สุขอุราได้ไปเลย

Facebook : Bed Station Hostel

10. เปิดคาเฟ่ในที่พักข้างโรงพยาบาล เน้นบริการผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

สองพี่น้อง นิว-ปิติ และ นิก-ปิยะ ถาวรวงษ์ เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องนอน ราว 4 ปีที่แล้ว ทั้งคู่ขอนำตึกบริเวณสี่แยกอรุณอัมรินทร์ ใกล้โรงพยาบาลศิริราช มาทำเป็นโฮสเทลชื่อยักษ์เฮาส์

“ตอนเริ่มเราคิดว่าถ้าทำโฮสเทลแข่งกับข้าวสาร เราสู้ Red Ocean นั้นไม่ได้แน่ๆ เลยคิดว่าต้องเปลี่ยนเป้าหมาย ข้าวสารเขาเน้น Solo Traveller เน้นคนอายุประมาณสิบแปดถึงยี่สิบห้าที่พักเป็นเตียง งั้นเรามีห้องเดี่ยว แต่แชร์ส่วนกลางและห้องน้ำรวม เพิ่มเงินนิดเดียวก็ได้ความเป็นส่วนตัวขึ้น ก็ยังอยู่ใน Red Ocean เหมือนกัน แต่ทุกคนจับปลาหมึก เราขอจับกุ้งที่เป็น Group Traveller แทน” นิกเท้าความหลังของโฮสเทล ซึ่งมีจุดขายเป็นยักษ์ผู้พิทักษ์แบบไทยๆ ที่จะเสกให้ทุกคนหลับสบาย

โดยปกติยักษ์เฮาส์รับแขกที่พักระยะยาวอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ใกล้โรงพยาบาล นอกจากนักท่องเที่ยวที่อยากได้ที่พักใกล้เกาะรัตนโกสินทร์ ยังมีลูกค้าที่เป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยจากต่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน นักศึกษาแพทย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ธุรกิจห้องพักจึงยังพอไปได้แม้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยักษ์เฮาส์ยังมีร้านอาหารและคาเฟ่ที่สั่งเดลิเวอรี่ได้ 

“ช่วงตอนโควิดใหม่ๆ ผมเรียกพนักงานมาคุย กางตัวเลขกันว่าเรามีเท่านี้ แล้วคาดว่ารายได้คงไม่เกินเท่านี้ ซึ่งขอความร่วมมือจากทุกคน พนักงานไม่ใช้ลิฟต์ ยินดีที่จะเก็บผ้ามารีดพร้อมกันทีเดียว เขารักงานของเขา เราก็ไม่อยากทอดทิ้งเขา ซึ่งมันก็ขาดทุนในเดือนมีนา เมษา แต่ช่วงหลังๆ ก็ดีขึ้นตลอด เรื่องนี้ทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเลยครับ” นิกกล่าวอย่างมีความหวัง

Facebook : Yaks House Hostel

11. สร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อแก้ปัญหากิจการท้องถิ่น ทั้ง Locall และ mutual +

ปิดท้ายด้วย Once Again Hostel ที่พักสุดสร้างสรรค์ย่านป้อมมหากาฬที่ก่อตั้งโดย ศานนท์ หวังสร้างบุญ โดยสร้าง Locall แพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่ช่วยร้านค้าในชุมชนและวินมอเตอร์ไซค์ท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ทางโฮสเทลเคยช่วยทำเมนูภาษาอังกฤษและโปรโมตร้านอาหารรอบๆ อยู่แล้ว ทีมงานที่สนใจช่วยเหลือเจือจุนคนท้องที่เลยปิดโรงแรมชั่วคราว และรวบรวมสรรพกำลังมาช่วยเหลือร้านค้าและวินมอเตอร์ไซค์ที่ขาดรายได้ จากย่านประตูผีก็ขยับขยายไปหลายที่จนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ดูแลครอบคลุมถึง 12 ย่านใน 5 จังหวัดประเทศไทย

ล่าสุดเขายังอยู่เบื้องหลังการผลักดันแพลตฟอร์มใหม่ mutual+ ร่วมกับสองวิศวกรหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง เป็นพื้นที่ Co-Living ที่พักแห่งอนาคต รวมโฮสเทลและโรงแรมขนาดเล็กแบบเปิดเป็น ‘บ้าน’ ที่มีกว่า 4 หมื่นเตียง เหมาะกับกลุ่ม Digital Nomad และคนรุ่นใหม่ที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน และอยากได้พื้นที่ใช้ชีวิตสร้างสรรค์ร่วมกัน มีทั้งบริการแบบขายห้องเดี่ยวและห้องรวมตามงบประมาณและจุดประสงค์ของผู้เข้าพัก

11 ไอเดียเอาตัวรอดของโฮสเทลไทย จากเจ้าของที่พัก 11 รายในกรุงเทพฯ และสุโขทัย, Hostel

“หลักๆ mutual+ เห็นว่าโฮสเทลนิยมรับคนต่างชาติ พอมีโควิดรายได้จึงแทบเป็นศูนย์ แต่เรามองว่าโฮสเทลมีสถานที่และบริการต่างๆ ที่ดีมากอยู่แล้ว น่าจะหาคนไทยมาพักได้โดยผลักดันเป็นที่พักรายเดือน โดยเราดูแลทั้งให้คำแนะนำพาร์ตเนอร์ที่พักว่าควรปรับปรุงอะไรบ้างที่จำเป็น โดยปรับให้น้อยที่สุดแต่ทำให้คนไทยรู้สึกอุ่นใจที่จะเข้าพัก มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และเราก็พยายามสร้างตลาดใหม่โดยผลักดันให้คนไทยหันมาพักโฮสเทล ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่มากๆ แต่เราก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ และยังได้ผลแม้ในวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแล้ว” 

แสตมป์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์นอนโฮสเทลเป็นรายปีตลอดชีวิตมหาวิทยาลัยขยายความไอเดีย “ที่พักรายเดือนแบบโฮสเทลยืดหยุ่นเรื่องการเข้าพัก จ่ายเงินเดือนต่อเดือน ไม่ต้องทำสัญญายาวๆ หลายเดือนหรือเป็นปีอย่างหอพัก และยังรวมค่าน้ำค่าไฟและการทำความสะอาดให้ด้วย ถึงการอยู่แบบแชร์กันจะไม่เป็นส่วนตัวเท่าห้องเดี่ยว แต่มีบริการสะดวกสบายหลายอย่างที่เพิ่มเข้ามาทดแทน ทำให้เราได้ใช้ชีวิตในทำเลดี เดินทางได้สะดวกขึ้น และค่าใช้จ่ายถูกลง ยิ่งคนที่ชอบคุยกับคนใหม่ๆ ก็ได้เข้าสังคมเจอเพื่อนใหม่ด้วย” 

ด้าน Once Again Hostel ที่เปิดมาหลายปี ศานนท์แอบบอกว่าเขาจะรีโนเวตใหม่ จากโฮสเทลขนาดเล็กให้มีลักษณะเป็นโรงแรม จับกลุ่มคนที่โตขึ้น และเพิ่มมูลค่าด้วยบริการและกิจกรรมมอบประสบการณ์ต่างๆ ที่ทางที่พักยินดีจัดสรรให้

Facebook : Locall Thailand

Facebook : mutual+

Facebook : Once Again Hostel

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ