12 พฤศจิกายน 2020
4 K

ก่อนรถม้าลำปางจะเป็นพาหนะให้บริการนักท่องเที่ยวเช่นทุกวันนี้ ผมเพิ่งได้รู้มาว่า สมัยก่อนมันเคยเป็นบริการขนส่งสาธารณะยอดนิยมในชีวิตประจำวันของชาวลำปาง ไม่ว่าจะรับส่งนักเรียนและผู้โดยสารทั่วไป บรรทุกข้าวของเครื่องใช้จากสถานีรถไฟนครลำปาง กระทั่งขนพัสดุภัณฑ์ส่งที่ทำการไปรษณีย์ แถมจัดเป็นพาหนะสุดคลาสสิกที่ยังคงวิ่งกรุบกรับๆ บนท้องถนนลำปางไม่ต่างจากเมื่อ 104 ปีที่ผ่านมา

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

ผู้ไขเรื่องราวเหล่านี้ให้ผมฟัง คือ บั้ม-ว่าที่ร้อยเอกสุพจน์ ใจรวมกูล สารถีรถม้าที่เก่งกาจประวัติศาสตร์และรวยอารมณ์ขันที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ครั้งแรกที่เจอกัน มองจากภายนอกผมเดาไม่ออกเลยว่า ชายผิวเข้ม ไว้หนวดเคราเฟิ้ม สวมเสื้อม่อฮ่อมและผูกผ้าขาวม้ารอบเอวคนนี้มีบทบาทเป็นถึงเลขาสมาคมรถม้าลำปาง แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือการที่ได้มาทราบภายหลังว่า เขาเป็นนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและครูภูมิปัญญาด้านม้าตัวยง ซึ่งสืบสานขนบการดูโฉลกม้าโบราณ รวมถึงเป็นช่างตีเกือกม้าลากรถที่หลงเหลืออยู่คนสุดท้ายของจังหวัดลำปางอีกด้วย

เหตุนี้บ่ายวันอาทิตย์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีธุระปะปัง ผมจึงพาตัวเองมานั่งพิงพนักเก้าอี้ไม้ภายในโรงจอดรถม้ากึ่งโรงเรือนตีเกือกม้าบรรยากาศร่มรื่นริมแม่น้ำวัง ถามสลับฟังบั้มบอกเล่า ‘ประวัติ’ และ ‘ศาสตร์’ ฉบับประสบการณ์ของตัวเองกันบ้าง

1

เด็กชายใจกล้า

“เราขึ้นหลังม้าตั้งแต่ห้าขวบ พออายุได้สักแปดขวบ พ่อก็ให้จับสายขับและฝึกควบคุมรถม้า จนประมาณชั้นปอหกก็แอบพ่อไปออกรถเอง” บั้มเริ่มต้นเท้าความกลับไปช่วงเวลาหนึ่งในวัยเด็กที่เขาจำได้แม่น

วันนั้นท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ออกมาร่วมกิจกรรมฉลองวันพ่อแห่งชาติและพ่อของเขาไม่อยู่บ้าน เขาจึงสบโอกาสแอบพาเจ้าบุญทอง ม้าลากรถตัวเก่งออกไปหาค่าขนม แล้วแผนก็เป็นไปตามคาด เขาได้รับเงินค่าเสี่ยงแสนคุ้มค่ามา 50 บาท นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตของเด็กชายใจกล้าที่ออกรถม้าโดยไม่มีพ่อนั่งเคียงข้าง ถัดมาอีกหนึ่งปีเขาจึงกลายเป็นสารถีรุ่นเล็กที่มีรถม้าของตัวเองขับรับส่งผู้โดยสารหลังเลิกเรียนและทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

แต่ถึงแม้จะเติบโตมาในครอบครัวสารถีและครูฝึกม้า หรือเคยหารายได้จากการขับรถม้าจนมีค่าขนมมากกว่าบรรดาเพื่อนฝูง ทว่าความฝันอยากเห็นครอบครัวสุขสบายกว่านี้ ก็ผลักให้เขาต้องเข้าไปล่าเงินในเมืองกรุงอยู่พักใหญ่ ก่อนได้งานทำเป็นครูสอนวิชาการงานอาชีพอยู่จังหวัดตาก โดยระหว่างนั้นเอง หากได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เขามักหาจังหวะยามว่างออกรถม้าสม่ำเสมอ

แล้ว 19 ปีในเส้นทางอาชีพครูก็ยุติด้วยเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม

“เราแค่รู้สึกว่าถ้าใช้ชีวิตกินเงินเดือนแล้วไม่มีเวลาให้ครอบครัว สู้เรากลับบ้านดีกว่า เพราะขับรถม้าก็พอหาเงินได้ไม่ลำบาก สำคัญคือมีเวลาให้ลูก ให้ภรรยา และดูแลพ่อด้วย” บั้มอธิบายเพิ่มเติมว่า

“อีกอย่างตอนเป็นครูเราตั้งกลุ่มอนุรักษ์ศิลปะฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง ขี่ม้า และตีมีด มีลูกศิษย์ลูกหาสนใจมาเรียนรู้เยอะมาก จึงทำให้ฉุกคิดถึงอาชีพขับรถม้าที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเรามา ซึ่งปัจจุบันใกล้จะสูญหายเต็มที เนื่องจากในจังหวัดลำปางมีรถม้าราวเก้าสิบห้าคัน แต่คนขับจริงๆ มีแค่ประมาณเจ็ดสิบคน

“ลองเทียบดูสิว่าคนไทยมีเกือบเจ็ดสิบล้านคนใช่ไหม ดังนั้น เราคืออาชีพหนึ่งในล้านนะ ไม่ใช่อาชีพธรรมดา พอชัดเจนกับคุณค่าและตัวตนตรงนี้ มันก็เกิดแรงกระตุ้นให้อยากกลับบ้านมาอนุรักษ์อาชีพขับรถม้าอย่างยั่งยืน รวมถึงสืบทอดภูมิปัญญาการตีเกือกม้า ซึ่งขณะนั้นเหลือเพียงลุงหลานคนเดียวที่ยังทำอยู่”

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

2

ผู้สืบทอด

ไม่เกิน 5 นาทีถ่านไฟในเตาเผาเหล็กก็คุโชนด้วยเครื่องเป่าลมสมัยใหม่ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้แทน ‘สูบเส่า’ อุปกรณ์เป่าลมโบราณ บั้มคาดผ้ากันเปื้อนหนังทับเสื้อม่อฮ่อมพร้อมสวมรองเท้าบูตที่ดูหนาหนัก ยืนเล็งเหล็กเส้นใต้กองถ่าน จนเมื่อมันเปลี่ยนเป็นสีแดงฉานจึงคีบขึ้นมาวางบนทั่ง ก่อนยกค้อนตีหนักแน่นและแม่นยำเพื่อให้ได้เหล็กแบนตามขนาด แล้วคีบกลับไปซุกไว้ใต้กองถ่าน… รออีกครั้ง

นี่เป็นกระบวนการแรกของการตีเกือกม้า งานที่ต้องอาศัยความร้อนสูง แต่จิตใจต้องเย็นยิ่งกว่า เพราะกว่าจะได้เกือกม้าแต่ละชิ้นต้องลงแรงกันถึง 10 ขั้นตอน ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ความรู้ที่ตกตะกอนและคิดค้นโดยช่างฝีมือพื้นบ้าน ผู้หยิบยืมต้นแบบจากเกือกม้าของอังกฤษมาต่อยอดพัฒนาด้วยต้นทุนภูมิปัญญาการทำค้อน

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

ใน พ.ศ. 2459 รถม้าเริ่มเข้ามีมาบทบาทในเมืองลำปาง โดย พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายเป็นผู้นำเข้ามาจากกรุงเทพฯ ต่อเมื่อถึงยุคสมัยของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) ผู้ว่าราชการคนแรกของจังหวัด ก็ได้มีการสร้างถนนคอนกรีตทำให้เท้าของม้าซึ่งเคยชินกับทางดินได้รับบาดเจ็บ กระทั่งมีผู้เสนอให้สวมเกือกม้าเพื่อแก้ไขปัญหา เกือกม้าชุดแรกจึงถูกส่งมาจากอังกฤษ ก่อนจะมีช่างทำค้อนแห่งชุมชน ‘บ้านกาดเมฆ’ ทดลองประดิษฐ์ขึ้นเองจนประสบผลสำเร็จ เป็นเกือกม้าที่ทนทาน มีขนาดและรูปทรงพอเหมาะกับเท้าของม้าลากรถ

หากเทียบกับค้อน เกือกม้านับมีขั้นตอนการทำยุ่งยากน้อยกว่า แต่ด้วยสนนราคาชุดละ 40 บาท ผลตอบแทนจึงไม่อาจคุ้มค่า ประกอบกับในเวลาต่อมาที่เกือกม้าสำเร็จรูปจากอังกฤษ เยอรมนี และจีน กลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งคนขับรถม้าเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นจากการหันมาให้บริการนักท่องเที่ยว เกือกม้าทำมือจึงค่อยๆ ลดความนิยมลง เช่นเดียวกับช่างตีเกือกม้า ซึ่งท้ายสุดเหลือเพียง ลุงหลาน ณ จันตา สารถีรถม้าชาวชุมชนบ้านหม้อ

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง
ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

“เวลาไปออกรถม้า เราชอบแวะไปนอนอ่านหนังสือที่บ้านลุงหลาน ทุกครั้งที่เจอกันแกจะชอบจ๊อยซอ (การขับลำนำแบบพื้นบ้านล้านนา) แล้วก็เล่าเรื่องการทำเกือกม้าให้ฟังอยู่บ่อยๆ จนพักหลังแกบ่นว่ายกค้อนไม่ไหวแล้ว ลูกหลานก็ไม่มีใครสืบต่อ เราเลยเอ่ยปากขอแกสอนให้

“เพราะมองว่าความสมบูรณ์ของรถม้ามันจะสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่แค่ตัวรถ ม้าก็ต้องสมบูรณ์ เราจึงจำเป็นต้องรู้ตำรับยาสมุนไพรที่ใช้รักษาม้าและเรื่องสุขภาพร่างกายของมัน เกือกม้ามีหน้าที่หลักคือปกป้องเท้าให้ม้าสามารถฝ่าทุกอุปสรรคในการวิ่ง มันคือการใส่ใจดูแลสุขภาพของม้าอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่รักษาเอาไว้ อนาคตภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมมาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในวิถีรถม้าลำปางคงสูญหายแน่”

หลังจากนั้นบั้มจึงเริ่มต้นศึกษาวิธีการทำและปรับเครื่องมือบางส่วนให้การทำงานสะดวกและมีคุณภาพ อาทิ ประยุกต์ใช้เครื่องเป่าลมแทนสูบเส่า หรือเปลี่ยนมาใช้ทั่งใหญ่ที่เฉพาะเจาะจงกับงาน จนเมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อม เขาเปิดเตาแรกโดยมีลุงหลาน และ พ่อครูบุญตัน แก้วเสมอใจ คอยเป็นครูแนะนำเรื่องเทคนิคต่างๆ ทั้งการดูอุณหภูมิความร้อน การตี การเซาะ และส่งรูตะปู

แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้างตามประสามือใหม่ แต่ด้วยความอุตสาหะฝึกฝน ตลอดจนได้รับความเกื้อกูลจากช่างใส่เกือกม้า (อาชีพเฉพาะทางมีหน้าที่ตัดแต่งเล็บม้าและสวมเกือกให้ม้า) ที่นำผลงานต้นแบบไปทดลองใช้ พร้อมกับชี้จุดอ่อนสำหรับปรับปรุงพัฒนา ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เขาจึงสามารถผลิตเกือกม้าที่มีคุณภาพมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่าเกือกม้าสำเร็จรูป

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

3

เกือกม้าทำมือ

บั้มเอื้อมหยิบเกือกม้าหลากรูปแบบในชั้นวางของเก่าคร่ำคร่า มุมจัดเก็บเครื่องมือช่างที่วางเรียงรายคล้ายระเกะระกะ ทว่าจัดแบ่งสัดส่วนอยู่ในที

“ของผมได้ความหนา แข็งแรง ทนทาน เพราะเราทำเผื่อใช้เองด้วย ส่วนของอังกฤษคนขับรถม้าที่นี่นิยมสุด เพราะคุ้มค่ากว่าของจีนที่ถึงราคาถูก แต่บางมาก”

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

เกือกม้าสำเร็จรูปและเกือกม้าทำมือถูกนำมาวางเทียบเคียงให้ดูบนโต๊ะเพื่ออธิบายความแตกต่าง ก่อนที่บั้มจะเสริมว่า นอกจากเรื่องความหนาที่ทำให้เกือกม้าทำมือมีอายุการใช้งานนานกว่า 1 เดือนครึ่ง (เกือกม้าอังกฤษมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1 เดือน ส่วนเกือกม้าจากจีนมีอายุการใช้งานราว 2 สัปดาห์)

ในส่วนพื้นเกือกก็มีรายละเอียดต่างชัด โดยเกือกม้าทำมือจะมีพื้นผิวขรุขระและร่องลึก ซึ่งเปรียบได้กับดอกยางช่วยในเรื่องยึดเกาะถนนและเสริมแรงเบรกได้ดีกว่า รูสำหรับตอกตะปูที่รับหัวตะปูจนแนบสนิทกับพื้นเกือกเพื่อลดการสึกหรอ แถมช่องตะปูยังจัดวางในองศาเฉียงพอเหมาะ ช่วยให้ตอกตะปูง่ายและไม่แทงโดนเนื้อม้า รวมถึงจุดเด่นที่ออกแบบตกแต่งทรงเกือกให้ได้ความโค้ง ความกว้าง หรือความยาว เข้าสัดส่วนกับรูปเท้าแต่ละแบบตามต้องการ เพื่อการสวมใส่ที่กระชับ สบาย และดีต่อสุขภาพของม้า

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง
ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

แม้จะฟังดูมีข้อดีหลายอย่าง แต่จากประสบการณ์ในระยะ 2 ปี ก็ทำให้บั้มพบคำตอบว่า เหตุใดช่างตีเกือกม้าลำปางต่างพากันแขวนค้อน

เพราะใน 1 สัปดาห์ หากนับเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงเต็ม ตัวเขาเองผลิตได้เกือกม้าสูงสุดราว 40 ข้าง จัดแบ่งเป็นชุดได้ 10 ชุด สำหรับม้า 10 ตัว และจำหน่ายในราคาชุดละ 400 บาท เทียบกับการออกไปขับรถม้าบริการนักท่องเที่ยวที่ทำรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 400 บาท การตีเกือกม้าเป็นอาชีพจึงถูกมองเป็นงานที่สูญเสียเวลามากเพื่อแลกกับรายได้ไม่คุ้มค่า ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ไม่ทันต่อความต้องการของตลาด เกือกม้าสำเร็จรูปจึงกลายเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับคนขับรถม้า

ทว่าปัญหาเหล่านี้กลับไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ต้องถอดใจ เมื่อวันหนึ่งเขาได้พบกับพ่อครูชราน่าเลื่อมใส ผู้ต่อเติมพลังใจให้กล้าก้าวต่อไปในเส้นทางสายอนุรักษ์อย่างมั่นคง

4

ทำเพราะรักษ์

“เราเป็นครูมาสิบเก้าปี แต่เพิ่งจะมาเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำว่า ครู” บั้มเกริ่นนำพลางเล่าต่อว่า ในยามที่ชีวิตคลับคล้ายคลับคลาจะเจอทางตัน เขาได้พบกับแสงสว่างอย่างไร

“มีอยู่ช่วงหนึ่งเราสนใจอยากเรียนรู้ศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง เลยออกตามหาคนที่สอนกระบวนท่าฟ้อนแบบลำปางดั้งเดิมได้ จนมาเจอกับ พ่อครูแว่น ทำอิ่นแก้ว ตอนนั้นท่านอายุเก้าสิบเก้าปีแล้ว และมีอาการเจ็บหัวเข่าด้วย แต่เมื่อเราไปขอเรียนท่านก็ลุกขึ้นมาสอน นี่คือเหตุการณ์ที่ประทับใจเรามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เข้าใจเลยว่านี่แหละคือความเป็นครู ความเป็นครูไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานศึกษา ไม่ได้วัดกันที่โล่รางวัลครูดีเด่นหรือเน้นเอกสาร แต่ครูแท้ คือครูผู้ให้ ผู้สร้างคนโดยไม่หวังผลตอบแทน”

พ่อครูแว่นกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้บั้มชัดเจนในเป้าหมายของชีวิต ที่ตั้งใจส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นปลายทางหลักและวางค่าของเงินตราเป็นทางรอง พร้อมหันมาปรับสมดุลของการงานชีวิต โดยใช้เวลาช่วงเช้าออกให้บริการรถม้าเป็นอาชีพหลัก และกลับมาตีเกือกม้าทุกๆ เย็น เพื่อส่งลูกค้าประจำกลุ่มเล็กๆ ในจังหวัด อีกทั้งพยายามสร้างสรรค์ช่องทางการเผยแผ่ใหม่ๆ อาทิ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก ‘ตาข่ายดักฝันจากเกือกม้านำโชค’ หรือรับผลิตเกือกม้าขนาดพิเศษสำหรับประดับตกแต่งร้านสไตล์คาวบอย

นอกจากจะเป็นสารถี ช่างตีเกือกม้า บั้มยังเป็นหนึ่งในจำนวนสมาชิกไม่กี่สิบชีวิตของทีมงานดูโฉลกม้า

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

“ทุกวันนี้ถ้าใครจะไปซื้อม้าสักตัว พวกเราก็จะชวนกันไปช่วยดูว่าม้าตัวไหนลักษณะดีควรซื้อ หรือตัวไหนไม่ควรซื้อเพราะอาจสร้างเรื่องยุ่งยากและนำโชคร้ายเข้าบ้าน มันเป็นความเชื่อของคนเลี้ยงม้าสมัยโบราณที่ยังคงมีอยู่ในกลุ่มของคนขับรถม้าลำปาง”

สำหรับการดูโฉลกม้ามีจุดสังเกตหลักๆ อย่างลักษณะขวัญ ใบหน้า สีสัน และหาง เพื่อประกอบความเข้าใจ บั้มจึงเปิดคอกจูงเจ้ารัษฎา ม้าลากรถหน้าตาใสซื่อ ใจดี และเป็นมิตร ที่ตั้งชื่อตาม ‘สะพานรัษฎาภิเศก’ แลนด์มาร์กเปี่ยมมนตร์เสน่ห์คู่เมืองลำปางออกมาเป็นนายแบบโชว์โฉลก

“อย่างขวัญบริเวณหน้าผากตรงนี้เรียกว่าขวัญทัดดอกไม้ กลางหลังขนสีขาวรูปทรงสามเหลี่ยมโบราณเรียกที่นั่งพระอินทร์ และมีขนสีขาวข้อเท้าตรงข้อเท้าทั้งสี่ข้างเรียกตีนเต้าสี่ โดยรวมเป็นม้าลักษณะดี มีความเป็นสิริมงคลครับ”

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง
ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

ส่วนโฉลกม้าที่ควรหลีกเลี่ยง บั้มยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น ม้าหน้าจระเข้ หรือมีลักษณะใบหน้าเชิดขึ้นจะเป็นม้าปลิ้นปล้อน มีขวัญพันขึ้นจากขาเรียกขวัญจอมตรวน อาจหาเรื่องเสี่ยงคุกตารางให้เจ้าของ หรือม้าหางหนู ลักษณะหางแหลมลงคล้ายหางวัวจะเป็นม้าขี้สะดุ้งตกใจกลัวง่าย เป็นต้น พร้อมขมวดสาระของการดูโฉลก ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวม้าให้กับเจ้าของ และจัดเป็นองค์ความรู้ที่สมควรได้รับการสานต่อด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันบั้มเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนเรียนรู้ ‘บ้านม้าท่าน้ำ’ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนเลี้ยงม้า สารถี ศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง

รวมถึงเคล็ดวิชาการตีเกือกม้า โดยมีรูปแบบกิจกรรม ทั้งเยี่ยมชมพร้อมเวิร์กช็อปสำหรับนักท่องเที่ยว และเปิดห้องเรียนสำหรับผู้ที่ตั้งใจอยากร่ำเรียนเป็นสัมมาอาชีพ ซึ่งอย่างหลังไม่คิดค่าใช้จ่าย

“ถ้าเราเก็บเงินเราคือลูกจ้าง ไม่ใช่ครู ขอแค่มาด้วยใจรักจริงๆ ยินดีสอนให้ฟรีครับ เพราะว่าตอนนี้เราอายุสี่สิบสามปีแล้ว ถ้าทำไปอีกยี่สิบสามสิบปี มีคนมาต่อมือแค่สักคน ก็ถือว่าโชคดี มีความสุขละ”

บั้มยิ้มกว้าง เขามีความเชื่อส่วนตัวว่ายิ่งให้จะยิ่งได้รับและหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์ไม่ใช่ทุน แต่คือการหยัดยืนเพื่อจุดประกายสู่คนรุ่นต่อไป

ว่าที่ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ครูผู้กลับบ้านมาเป็นสารถีและช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง, รถม้า ลำปาง

ใครสนใจอยากแวะเวียนสัมผัสวิถีชีวิตคนเลี้ยงม้า ทดลองแปลงร่างเป็นสารถี หรือเรียนวิชาการตีเกือกม้ากับบั้ม ติดต่อได้ที่ บ้านม้าท่าน้ำ 210/1 ถนนป่าไม้ ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08 6658 6198 และ Facebook : เที่ยวลำปาง นั่งรถม้า กับ บ้านม้าท่าน้ำ Lampang Travel By Barn Ma Tha Nam

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ